“อุ้มพระดำน้ำ” ประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่สืบทอดกันมาเกือบ 500 ปี ในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ซึ่งเป็นวันสารทไทยของทุกปี และได้รับรางวัลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อ ปี พ.ศ.2565 เป็นประเพณีที่สะท้อนความผูกพันของคนกับสายน้ำ รวมถึงความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จากตำนานเล่าขานเกี่ยวกับพระพุทธมหาธรรมราชากับประเพณีสำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 6 ตุลาคม 2567 ไฮไลต์สำคัญๆของงานจะมีพิธีรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา, พิธีบรวงสรวงเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสี่ยงทางทิศและคำอธิฐาน พิธีแห่ทางบก-ทางน้ำ และพิธีอุ้มพระดำน้ำ
พิธีอัญเชิญแห่ทางน้ำจากท่าน้ำวัดไตรภูมิไปยังท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร
วันนี้ (2 ตุลาคม 2567) เวลา 09.39 น. มีพิธีอัญเชิญแห่ทางน้ำ จากท่าน้ำวัดไตรภูมิไปยังท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร จากนั้นเวลา 10.49 น. โดยประมาณ มี “พิธีอุ้มพระดำน้ำ” ณ บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร นำโดยกรมการเมืองฝ่ายเวียง วัง คลัง นา และผู้ทำพิธีอุ้มพระดำน้ำ คือ นายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งปีนี้มีความพิเศษคือมีการดำน้ำถวายพระพรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ (72 พรรษา) จำนวน 3 ครั้ง ในทิศใต้ ใต้ ใต้ และดำน้ำตามทิศที่เสี่ยงทาย 6 ครั้ง คือ เหนือ เหนือ ใต้ ใต้ ใต้ เหนือ
พิธีบวงทรวงและเสี่ยงทายทิศดำน้ำ
หลังจากประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำแล้ว ขบวนเรือจะมีการโยนข้าวต้มลูกโยน กล้วยไข่ กระยาสาท และของมงคลที่ร่วมประกอบพิธีหลายอย่าง โดยผู้ร่วมพิธีที่อยู่บนฝั่งจะรอรับของมงคลเหล่านั้น บางก็หงายร่มที่พกพามาเพื่อให้ได้ซึ่งของมงคลเหล่านั้น สร้างสีสันให้กับงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ เป็นอย่างมาก
ซึ่งเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ที่พุทธอุทยานเพชบุระ (องค์พระใหญ่) มีพิธีรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา เนื่องในงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ จ.เพชรบูรณ์ ประจำปี 2567 รวมพลังมหาศรัทธาจากประชาชนชาวเพชรบูรณ์ โดยมีนางรำจำนวน 3,500 คน พร้อมใจกันร่ายรำถวาย “พระพุทธมหาธรรมราชา” หรือ “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา” พระพุทธเจ้าบรมครูแห่งโอสถ
นางรำจำนวน 3,500 คน พร้อมใจกันร่ายรำถวาย “พระพุทธมหาธรรมราชา” หรือ “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา
เด็กหญิงรินรดา วรรณเกษม (น้องเมญ่า) อายุ 9 ปี ฑูตเยาวชนการท่องเที่ยวและกีฬา ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ ปี 2022 หนึ่งในทีมนางรำ น้องกล่าวว่า
“หนูสมัครเข้าร่วมรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชาตั้งแต่ปีแรก รำมาทุกปี รู้สึกภูมิใจที่ได้เข้าร่วมรำถวาย เพราะเมญ่าศรัทธาต่อองค์พระพุทธมหาธรรมราชาและรับรู้ได้ถึงความศรัทธาของชาวเมืองเพชรบูรณ์ เพราะแต่ละปีจะมีผู้ร่วมรำถวายมากขึ้นทุกๆปี ปีนี้มีผู้ร่วมรำถวายมากถึง 3,500 คน ซึ่งมากกว่าทุกปีเลยคะ“
รินรดา วรรณเกษม (น้องเมญ่า) ฑูตเยาวชนการท่องเที่ยวและกีฬา ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ ปี 2022 และทีมทีมนางรำ
วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ช่วงเช้ามีพิธีบวงสรวงเทพยดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดไตรภูมิ นำโดย ดร.เสกสรร นิยทเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ พร้อมทำการเสี่ยงทางทิศและคำอธิษฐานที่จะใช้ในการประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำแต่ละครั้ง โดยมีนายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เพชรบูรณ์ รักษาราชการแทน สำหรับผลการเสี่ยงทายทิศและคำอธิษฐานในการประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2567 ทั้ง 6 ครั้ง ได้แก่ เหนือ เหนือ ใต้ ใต้ ใต้ เหนือ
ช่วงค่ำ มีขบวนแห่ทางบก โดยนายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการ จ.เพชรบูรณ์ อัญเชิญ “พระพุทธมหาธรรมราชา” ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบก พร้อมแห่ไปรอบเมืองเพชรบูรณ์ ท่ามกลางชาวเพชรบูรณ์และนักท่องเที่ยวที่พากันเฝ้ารอชมขบวนแห่ราว 17 ชุดการแสดงกันอย่างหนาแน่น โดยในปีนี้มีผู้ร่วมขบวนแห่ถึง 2,000 กว่าคน นับเป็นประวัติศาสตร์งานอุ้มพระดำน้ำ จ.เพชรบูรณ์ ไฮไลต์ของพิธีเปิดงานด้วยการใช้โดรนอัญเชิญพวงมาลัยเพื่อส่งให้รักษาการแทนผู้ว่าฯ ถวายแด่องค์พระพุทธมหาธรรมราชา
สำหรับ “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” ในปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 6 ตุลาคม 2567 ณ พุทธอุทยานเพชบุระ วัดไตรภูมิ และวัดโบสถ์ชนะมาร อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ โดยมีทั้งขบวนแห่รอบเมือง พิธีอุ้มพระดำน้ำ นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันพายเรือทวนน้ำ การแสดงแสงเสียงตำนานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ และเทศกาลอาหารอร่อย ณ ลานกิจกรรมผาเมือง-ถนนคนเดินเมืองเพชรบูรณ์อีกด้วย
ภาพจาก: คุณธวัชชัย อินทรศร ประชาสัมพันธ์เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์
ภาพและข้อมูล: จารุวรรณ อุ่นแก้ว