
“ผืนป่าที่มันอุดมสมบูรณ์ มันเสียแล้วเสียเลย มันไม่ใช่ปลูกขึ้นมาทดแทนใหม่ได้ เราอาจจะปลูกป่าได้ก็จริงแต่เราปลูกระบบนิเวศที่มันอุดมสมบูรณ์แบบนี้ไม่ได้”
อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
หนึ่งในคำตอบของ พี่บัว อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จากการตั้งคำถามถึงความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ที่จะมีโครงการอ่างเก็บน้ำ ในวันที่เราลงพื้นที่ “บ้านพุระกำ” เพื่อดูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอและอัพเดตสถานการณ์โครงการอ่างเก็บน้ำในพื้นที่
![]()
อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ถือเป็นความโชคดีของเราที่ได้พบกับพี่บัว อรยุพา นักอนุรักษ์จากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้ที่คอยอยู่เคียงข้างชาวบ้านมาตั้งแต่เริ่มมีโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง พี่บัว อธิบายถึงโครงการดังกล่าวให้เราฟังว่า “โครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง” เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ที่ถูกเสนอโดยกรมชลประทาน เป็นโครงการเพื่อการชลประทาน การเกษตร อุปโภค บริโภค บรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กับผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณตอนล่างของอ่าง
โครงการนี้ใช้พื้นที่สำหรับทำอ่างเก็บน้ำและพื้นที่ก่อสร้างหัวงานเขื่อนรวม 3,123 ไร่ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ซ้อนทับเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่น้ำภาชี ฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี และพื้นที่โครงการรับประโยน์ ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฝั่งซ้ายแม่แม่น้ำภาชี
![]()
“เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี” มีเนื้อที่ทั้งหมด 489.31 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 305,820 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านบึง ตำบลบ้านคา กิ่งอำเภอบ้านคา และตำบลท่าเคย ตำบลสวนผึ้ง ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีพื้นที่ทางทิศใต้ติดกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี และทิศตะวันตกติดประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา
ลักษณะพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มียอดเขาที่สูงที่สุดคือ เขาพุน้ำร้อน สูงประมาณ 1,062 เมตร มีพื้นที่ราบบ้างแต่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบแคบ ๆ ตามลำห้วยใหญ่เป็นพื้นที่ป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ และมีคุณค่าทางระบบนิเวศ
“ผมว่าถ้าเทียบความอุดมสมบูรณ์นะ ไม่ต่างจากพวกแก่งกระจานก็พอกันครับเพราะว่าโซนที่หน่วยพิทักษ์ป่าหนองตาดั้งดูแลอยู่นี้ ถ้าภาชีถือว่าอุดมสมบูรณ์มาก ความเขียวทางแผนที่ชี้วัดเป็นจุดสีเขียวและติดกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยก็ยังมีสัตว์ป่าหลายชนิดเดินข้ามอยู่ เพราะเราไม่ได้ปิดกั้นเขตแดนเป็นเส้นทางธรรมชาติ สัตว์ยังเข้าออกกันได้”
เสือ คำลือ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าหนองตาดั้ง
สิ่งที่โดดเด่นของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีก็คือมีสัตว์ป่าต่าง ๆ ที่หายาก ไม่ว่าจะเป็นสมเสร็จ เก้งหม้อ โดยส่วนใหญ่พบบริเวณตอนล่างของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ส่วนเลียงผาจะพบในบริเวณภูเขาสูงชันทั่วไปของพื้นที่ อีกทั้งยังพบกระทิง หมี ส่วนใหญ่อยู่บริเวณป่าดิบแล้งตอนล่างของเขตฯ ส่วนเสือ เก้ง กวาง และสัตว์เล็ก ๆ พบกระจายทั่วไปของพื้นที่
พี่บัว อรยุพา บอกกับเราว่า พื้นที่ป่าแห่งนี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี แค่มองไปก็เห็นแล้วว่าป่าสมบูรณ์ แต่ตัวที่เป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างดี คือหลังจากที่จะมีโครงการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ก็ได้มีชุมชนร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีและมูลนิธิสืบฯ เข้าไปติดกล้องถ่ายภาพสัตว์ป่าในพื้นที่ เราได้ภาพสัตว์ป่ามาเยอะมาก มันแสดงให้เห็นว่าคนที่นี่อยู่กับป่า รักษาป่า ไม่ต้องพูดอะไรมาก เพราะจากข้อมูลที่ได้ เราเห็นสมเสร็จ กระทิง เก้ง กวางมีหมด ถือว่าสมบูรณ์มาก
และที่สำคัญคือพื้นที่แห่งนี้เป็น “ป่าต้นน้ำ” โดยเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำภาชี น้ำจากลำห้วยต่าง ๆ จะไหลมารวมเป็นแม่น้ำภาชีที่ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง แล้วไหลลงสู่แม่น้ำแควน้อย ที่อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี รวมเป็นแม่น้ำแม่กลอง แล้วไหลย้อนมาผ่านตัวจังหวัดราชบุรี
ลำน้ำภาชีและห้วยพุระกำเป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำหลายชนิด เป็นแหล่งอาหารให้กับชาวบ้าน โดยชาวบ้านจะใช้วิธีการจับกุ้ง จับปลาแบบดั้งเดิมไม่ใช้ไฟช็อต ทำให้ปลาขยายพันธุ์ได้ มีความมั่นคงทางอาหารและไม่ทำลายระบบนิเวศ
ต้นน้ำภาชีมีการหล่อเลี้ยงชาวบ้านตั้งแต่พุระกำ หนองตาดั้ง ห้วยกระวาน ห้วยน้ำหนัก สวนผึ้งและลงไปถึงบ้านบ่อ อำเภอสวนผึ้ง หล่อเลี้ยงหลายชีวิต เรียกว่าเป็นแม่น้ำสายหลักของคนสวนผึ้งเลยก็ว่าได้ครับ
เสือ คำลือ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าหนองตาดั้ง
นักวิชาการมาสำรวจ เราเดินสำรวจในเส้นลำน้ำนั้นใช้เวลา 2 วัน เจอไป 29 ชนิด โดยปลา 9 ชนิด เป็นปลาที่บ่งบอกว่าน้ำที่นี่มีคุณภาพดีมาก เราเจอปูตะนาวศรีในพื้นที่ รวมถึงปูสวนผึ้ง ซึ่งเป็นปูเฉพาะถิ่นของราชบุรี
อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
หากป่าต้นน้ำกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ
จะเกิดอะไรขึ้น ?
พี่บัว เล่าต่อให้ฟังว่า ตามตัวประเมินรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม พื้นที่ป่าที่ต้องสูญเสียไปที่จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งหมดประมาณ 3,000 กว่าไร่ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ป่าจริง ๆประมาณ 2,000 ไร่
สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ผืนป่าหายไป สัตว์ป่าที่เราสำรวจเจอ ต้องได้รับผลกระทบแน่ ๆ มันไม่ใช่ว่าสัตว์ป่ามันจะเคลื่อนย้ายไปได้อย่างอิสระ บางทีการที่สัตว์เคยอยู่ที่ที่นึงแล้วมันมีความจำเป็นต้องย้ายไปที่อื่น ในพื้นที่อื่นมันมีเจ้าถิ่นอยู่ มันก็เกิดการแก่งแย่งกันอีก เพราะฉะนั้นที่นี่มันเป็นบ้านของเขา อันนี้เป็นบ้านของสัตว์ป่า
เราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่เรามองว่า ทุกวันนี้พื้นที่ป่าประเทศไทยมันลดลง ลดลงอย่างต่อเนื่อง เราท่องกันมาหลายปีแล้วว่า ประเทศไทยมีป่า 102 ล้านไร่ แต่ปี พ.ศ. 2566 ที่ประกาศเมื่อต้นปี พ.ศ.2567 พื้นที่ป่าประเทศไทยเหลือ 101 ล้านไร่แล้ว เพราะฉะนั้นโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น บางทีอาจจะต้องย้อนถามกลับไปว่า มันมีความจำเป็น มีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหนแล้วมันคุ้มกับสิ่งที่จะเสียไปหรือเปล่า
หากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง นอกจากที่น้ำจะท่วมพื้นที่ป่าแล้ว ชาวบ้านพุระกำที่ได้ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตร่วมไปกับแนวทางการอนุรักษ์ป่าจากภาครัฐอย่างเคร่งครัดจนได้เป็นพื้นที่นำร่องคนอยู่ร่วมกับผืนป่าและสัตว์ป่า โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้ที่อาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่ป่าแห่งนี้มาช้านาน ย่อมต้องถูกอพยพโยกย้ายเพื่อทำการสร้างเขื่อนแห่งนี้อีกด้วย
ป่าหายไป ชุมชนที่มีเครื่องการันตีว่าอยู่ป่าแบบรักษาป่า ก็ต้องถูกอพยพโยกย้ายและเขาไม่ได้ถูกอพยพโยกย้ายครั้งแรก น่าจะ2-3ครั้งแล้วที่เขาต้องย้าย มันก็เลยมีคำถามว่า 1.จะให้เขาย้ายไปอีกถึงเมื่อไร และ 2.เขาเป็นคนที่อยู่ป่าแล้วได้รางวัลการันตรีในการอยู่ป่า รักษาป่าเยอะมาก แล้วทำไมเราถึงไม่เลือกทำงานกับคนกลุ่มนี้ คนที่เหมือนเป็นรั้วป้องกันป่าให้อย่างดี ทำงานกับภาครัฐได้อย่างดี เราน่าจะอยู่ร่วมกับคนกลุ่มนี้ ทำงานกับคนกลุ่มนี้ จับมือด้วยกันในการปกป้องรักษาผืนป่ามรดกโลกแห่งนี้ไว้
อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร