สถานการณ์ข้าวไทย ทำไมเราเสียแชมป์โลก?

ทุกวันที่ 5 มิ.ย.คือ “วันข้าวและชาวนาไทย” ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีมาถึง 15 ปีแล้ว (มติเมื่อ 6 พ.ค.2552 ยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เพื่อให้เป็นหมุดหมายของการดำเนินตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2550 – 2554 ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความพยายามตอกย้ำว่าข้าวมีความสำคัญต่อประเทศและสังคมไทย สำคัญต่อวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิต รวมทั้งเป็นความมั่นคงทางอาหาร และชาวนาเป็นวิถีและอาชีพที่สำคัญที่เรียกได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ดังนั้น นโยบายหรือมาตรการใดที่เกี่ยวกับข้าวย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นไปของสังคมไทยอย่างมาก


แต่ปัจจุบัน เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า “กระดูกสันหลัง” เริ่มผุกร่อนลง จากปัญหาที่รุมเร้า หนี้สิน ต้นทุนการผลิตที่สูง ชาวนาสูงวัย ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง แล้วยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของภูมิอากาศ ร้อน แล้ง น้ำท่วม โลกเดือด ชาวนาไทยก็พยายามปรับตัวอยู่ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ทันทั้งสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง และโลกของการค้า

เราโดนประเทศเพื่อนบ้านแซงหน้าทั้งในเรื่องคุณภาพของข้าว และปริมาณการผลิตต่อไร่

อย่างการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก ในงานThe World’s Best Rice ข้าวหอมมะลิเคยชนะการประกวด 7 ครั้ง เพราะข้าวที่หุงสุกแล้ว เมล็ดข้าว อ่อนนุ่ม แต่ร่วนน้อยกว่าและมีกลิ่นหอมมาก แต่ปีที่แล้ว พ.ศ.2566 ข้าวเวียดนาม โฮ กวางชี หรือ ST25 ชนะเลิศ ซึ่งปีที่แล้วภาคเอกชนไทยอ้างว่าไม่ได้ส่งข้าวเข้าประกวด ส่วนถ้าย้อนไปในปี 2565 ผู้ชนะก็เป็นข้าวกัมพูชา สายพันธุ์หอมผกาลำดวน

เปรียบเทียบลักษณะเมล็ดข้าวหอมมะลิ หอมผกาลำดวน และST25

การผลัดกันแพ้ชนะดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ

แต่ถ้ามองข้าวที่ได้รางวัลของเวียดนามและกัมพูชาแล้วพบว่า ข้าวเวียดนามได้รับการสนับสนุนการวิจัยโดยหน่วยงานวิจัยของรัฐเวียดนามในระดับจังหวัด เกิดจากการเรียนรู้ต่อยอดไปสู่ข้าวพันธุ์ผสม ระหว่างข้าวหอมมะลิ ข้าวบาสมาติและข้าวญี่ปุ่นผสมจนได้เมล็ดเรียวยาว มีความหอม เวลารับประทานจะเหนียวนุ่ม ขณะที่ข้าวกัมพูชา “ผกาลำดวน” ชนะการประกวด 5 ครั้ง เป็นกลุ่มข้าวหอมมะลิเมล็ดยาว มีกลิ่นหอมมาก เป็นการทำงานของกัมพูชาทำงานกับสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI)  วิจัยร่วมกันยาวนานถึง 10 ปี  จนทำให้ ผกาลำดวน กลายเป็นหนึ่งตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของผู้ซื้อต่างประเทศ

จะเห็นว่า ข้าวแต่ละชาติจะไปได้ไกลแค่ไหน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการให้ความสำคัญของนโยบายภาครัฐในเรื่องของการพัฒนาพันธุ์ข้าว

หากย้อนกลับมามองบ้านเราจะพบว่าไทยมีการประกวดและรวบรวมพันธุ์ข้าวตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติรวบรวมพันธุ์ข้าวกว่า 20,000 เชื้อพันธุ์เอาไว้ ขณะที่เพื่อนบ้านเราเวียดนามเพิ่งรวบรวมมาเมื่อประมาณ 20 ปี  ส่วนหนึ่งเขาก็เรียนรู้ไปจากไทย และให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว เนื่องจากแต่ละพันธุ์อาจจะต้องใช้เวลายาวนาน 8-10 ปี

หันมามองมามองนโยบายของรัฐบาลไทย ทุ่มเงินให้กับภาคเกษตรเยอะมาก อย่างปี 2566 งบอุดหนุนชาวนาสูงถึง 54,000 ล้านบาท แต่พอมาดูงบพัฒนาพันธุ์ข้าวซึ่งเป็นต้นทางในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของข้าวไทยกลับน้อยมากและดูเหมือนจะลดลงเรื่อยๆ

ส่วนในแง่ของคุณภาพข้าว แหล่งต้นทางอย่างเมล็ดพันธุ์เป็นกระดุมเม็ดแรกที่จะให้ผลผลิตข้าว นอกจากกระบวนการดูแลและสิ่งแวดล้อมแล้ว พบว่าปริมาณผลผลิตต่อไร่ของไทยก็น้อย ต้นสูงด้วยเมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตข้าวอื่น ๆ

ที่ผ่านมารัฐไทยก็พยายามพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ดีให้เกษตรกรได้ใช้และผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการของชาวนาที่ต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว ทั้งปีอยู่ที่ 1,364,800 ตัน ผ่านการทำงานของกรมการข้าว กับศูนย์วิจัยข้าว 29 ศูนย์ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว 31 ศูนย์  ศูนย์ข้าวชุมชน 4,625 แห่ง แต่สุดท้ายเมล็ดพันธุ์ที่พัฒนาได้ ก็ยังไม่ถึงเป้า เพราะ ทำได้เพียง 95,000 ตัน หรือราว 7% บางส่วนซื้อมาจากภาคเอกชน ภาควิชาการหรือส่วนอื่นๆ แต่ส่วนใหญ่ก็ไปซื้อขาย แลกเปลี่ยนกันเอง ราคาเมล็ดพันธุ์ ก็มีตั้งแต่ 18 – 25 บาท/กิโลกรัม ถ้าคิดจากราคาต่ำสุด มูลค่าตลาดเมล็ดพันธุ์อยู่ที่ราว ๆ  24.57 ล้านบาท

การตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ข้าว ภาพโดย: กรมการข้าว

จนปี พ.ศ. 2566 มีการอนุมัติงบประมาณ 1.2 พันล้านบาท เพื่อยกเครื่องการผลิต และการกระจายเมล็ดพันธุ์ลงไปที่ศุูนย์วิจัยข้าว และศูนย์ข้าวชุมน และมีข่าวการถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบเรื่องนี้ กรมการข้าวได้ออกมาชี้แจงเรื่องการใช้งบประมาณว่าใช้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี เครื่องจักรกลต่างๆ เพราะที่มีอยู่เก่ากว่า 40 ปีแล้ว และยังเป็นงบอุดหนุนให้เกษตรกร จากการทำงานผ่านศูนย์ข้าวชุมชน 212 ศูนย์ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.thaipbs.or.th

โดยเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีการเปิดตัวพันธุ์ข้าวใหม่ 10  สายพันธุ์ ที่มีทั้งข้าวสาลี ข้าวพื้นแข็ง ข้าวพื้นนิ่ม ที่เหมาะสมกับพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อขยายพันธุ์ส่งต่อให้เกษตรกร แต่การให้เกษตรกรเปลี่ยนพันธุ์ข้าวและการขยายพันธุ์ก็ต้องใช้เวลาจากกระบวนการที่มีหลายขั้นตอน และต้องผ่านการทดลองปลูกในพื้นที่เพื่อดูความเหมาะสมในการเจริญเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.thaipbs.or.th/news/clip/202180

ในส่วนคู่ขนานชาวนาก็พยายามพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อให้เหมาะกับพื้นที่ของตัวเอง อย่างในภาคเหนือตอนล่าง มูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ พัฒนาข้าวคุณภาพดี 9 สายพันธุ์ ช่อราตรี ขาวเกยไชย ชำมะเรียงแดง ชำมะนาด หอมเลื่องลือ นิลสวรรค์ แก้วพิชิต ข้าวเจ้าR18 ข้าวเจ้าF14

แปลงเก็บรวบรวมและทดลองปลูกข้าวของชาวนาในเครือข่ายมูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์

หรือเครือข่ายชาวนาภาคอีสานพัฒนาข้าวต่างๆ ขึ้นมา แต่ก็ยังได้รับการสนับสนุนน้อย แถมยังไม่เป็นที่ยอมรับ การขึ้นทะเบียนพันธุ์ก็ใช้งบประมาณสูง

ชวนไปหาคำตอบในการพัฒนาข้าวของชาวนาไทยในตอนที่ 2 ฉบับบหน้า

แชร์บทความนี้