หมู่เฮา กึ๊ดว่า อะหยังของจาวเหนือ ตี้ปอจะเป๋น Soft Power กับเปิ้นได้ผ้อง ??
ลองทายดู และผ่อ ผลสำรวจตางนี้
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,346 ราย ระหว่างวันที่ 20 – 30 มีนาคม 2567 ในหัวข้อ “อัตลักษณ์ชาวเหนือกับการผลักดันเป็น Soft Power” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นต่อการผลักดันอัตลักษณ์ของชาวเหนือ เป็น Soft Power และข้อเสนอแนะต่อภาคส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.51 คิดว่า อัตลักษณ์ชาวเหนือสามารถผลักดันให้เป็น Soft Power ได้ มีเพียงร้อยละ 3.49 เท่านั้นที่คิดว่า ไม่สามารถผลักดันให้เป็น Soft Power ได้
ในด้านอัตลักษณ์ของชาวเหนือที่เป็นที่ชื่นชอบมากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ ภาษาเหนือ (ร้อยละ 55.42) รองลงมา อันดับ 2 วัฒนธรรมการกิน อาหารเหนือ (ร้อยละ 52.38) อันดับ 3 ประเพณี วัฒนธรรม (ร้อยละ 50.15) อันดับ 4 เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ร้อยละ 46.88) และอันดับ 5 แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (ร้อยละ 42.27) ตามลำดับ
ในด้านอาหารเหนือ เมนูเด็ดยอดนิยม อันดับ 1 ได้แก่ ข้าวซอย (ร้อยละ 54.61) รองลงมา อันดับ 2 น้ำพริกหนุ่มกับแคบหมู (ร้อยละ 53.19) อันดับ 3 ไส้อั่ว (ร้อยละ 51.71) อันดับ 4 ขนมจีนน้ำเงี้ยว (ร้อยละ 35.88) และอันดับ 5 แกงฮังเล (ร้อยละ 27.93) ตามลำดับ
โดยผู้ที่เห็นด้วยกับการผลักดันให้เป็น Soft Power ได้ให้ความเห็นว่า อัตลักษณ์ของชาวเหนือมีความโดดเด่น น่าสนใจ และแตกต่างจากภาคอื่น ๆ อีกทั้งมีศักยภาพที่จะผลักดันให้เป็น Soft Power ดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับชุมชน อย่างไรก็ตามควรศึกษาแนวทางการผลักดัน Soft Power จากต่างประเทศที่สำเร็จแล้ว เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น
ในด้านจุดอ่อน อัตลักษณ์ของชาวเหนือนั้นยังขาดการพัฒนา ส่งเสริมอย่างจริงจัง และควรปรับปรุงภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการท้องถิ่นให้ดูทันสมัย น่าสนใจ และดึงดูดผู้บริโภค
ในขณะที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการผลักดันให้เป็น Soft Power ได้ให้ความเห็นว่า ไม่ทราบ ไม่เข้าใจ Soft Power และพื้นฐานของอัตลักษณ์ชาวเหนือยังไม่แน่น จุดเด่นไม่ชัดเจน
ในด้านความเห็นต่อข้อเสนอแนะต่อภาคส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการส่งเสริมอัตลักษณ์ชาวเหนือเป็น Soft-Power มีประเด็นดังนี้
1) ด้านการสนับสนุนจากภาครัฐ ประชาชนให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power ของภาคเหนือ อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ
2) ด้านการส่งเสริมอัตลักษณ์ของชาวเหนือ ควรให้มีการนำเสนออัตลักษณ์ของชาวเหนือที่หลากหลาย เช่น อาหาร วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา การแต่งกาย เป็นต้น อีกทั้งการพัฒนาและต่อยอดอัตลักษณ์เหล่านี้ให้มีความทันสมัย น่าสนใจ และที่สำคัญคือการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงคุณค่าและกลับมาใช้ของอัตลักษณ์ของชาวเหนืออย่างภาคภูมิใจ
หมายเหตุ : ข้อมูลทั่วไปผู้ตอบแบบสอบถาม
- กลุ่มตัวอย่าง ภาคเหนือ ร้อยละ 40.79 ภาคกลาง ร้อยละ 20.80 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 17.90 ภาคใต้ ร้อยละ 20.51
- เพศชาย ร้อยละ 38.41 หญิง ร้อยละ 54.90 เพศทางเลือก ร้อยละ 6.69
- อายุ ไม่เกิน 20 ปี ร้อยละ 20.88 อายุ 21 – 30 ปี ร้อยละ 33.80 อายุ 31 – 40 ปี ร้อยละ 17.76 อายุ 41 – 50 ปี ร้อยละ 14.19 อายุ 51 ปีขึ้นไป ร้อยละ 13.37
- อาชีพ ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงานอื่นของรัฐ ร้อยละ 16.13 ธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ร้อยละ 14.93 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 13.52 เกษตรกร ร้อยละ 8.18 รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 11.29 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 33.28 อื่น ๆ ได้แก่ ว่างงาน เกษียณ ผู้สูงอายุ แม่บ้าน ร้อยละ 2.67
- รายได้ต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 45.17 ระหว่าง 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 29.42 ระหว่าง 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 11.89 ระหว่าง 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 5.94 ระหว่าง 40,001 – 50,000 บาท ร้อยละ 4.68 มากกว่า 50,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 2.90
ที่มา : แม่โจ้โพลล์