ความจริงที่ตากใบ ไร้มนุษยธรรม ความชอบธรรมสิ้นสูญ

บทความโดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกวุฒิสภา , ตุลาคม 2547

หมายเหตุ : กองบรรณาธิการ local ได้รับบทความ “ความจริงที่ตากใบฯ”ของ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ซึ่งเขียนและเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม2547 ในสมัยที่ผู้เขียนยังทำหน้าที่วุฒิสภา และเป็น 1 ใน คณะกรรมาธิการที่เดินทางลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ ที่เกิดเหตุ ทางกองบก.เห็นว่า เป็นงานเขียนที่น่าสนใจ แม้บริบททางสังคม การเมืองปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 20 ปีก่อน จึงขออนุญาต ผู้เขียน นำมาเผยแพร่ซ้ำโดยไม่ตัดทอนเนื้อหาใดๆ

การสลายการชุมนุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมประท้วง ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ทำให้มีประชาชน เสียชีวิต 85 คน โดยเฉพาะพบว่า มีถึง 78 คน เสียชีวิตบนรถบรรทุก ขณะขนส่งจากอำเภอตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี สังคมไทยตกอยู่ในอาการ “ช็อค” เกิดความคลางแคลงสงสัยว่าเกิดอะไร ขึ้นที่อำเภอตากใบกันแน่ 

หลังเกิดเหตุ คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาจำนวน 3 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาปัญหาความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้ ได้เดินทางลงไปตรวจสอบ ข้อเท็จจริงในพื้นที่ โดยส่วนตัว ผมพบ “ความจริงที่ตากใบ” ดังต่อไปนี้  

1) กวาดจับโดยไตร่ตรองเตรียมการไว้ก่อน

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทางการได้เตรียมการจะจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน โดยได้ถ่ายภาพผู้ชุมนุมด้านใน ทั้งวีดีโอและภาพนิ่ง เพื่อกำหนดตัวบุคคลที่ทางการต้องการจับกุมเอาไว้ก่อน ระหว่างเจรจากับผู้ชุมนุมนั้น ก็ได้มีการเตรียม รถจีเอ็มซี จำนวน 4 คัน จากค่ายอิงคยุทธบริหารไปรอที่หน้าอำเภอตากใบ เพื่อเตรียมไว้ขนคนจำนวน 100 คน แต่ก่อนการสลายชุมนุม ตัวบุคคลที่ทางการต้องการจับกุมนั้นกระจายตัวไปฝูงชนที่เข้ามาร่วมชุมนุม เจ้าหน้าที่ของทางการจึงใช้วิธีปิดล้อม กวาดจับกุมไว้ทั้ง 1,300 คน เพื่อ “ตะแกงร่อน” เอาคน 100 คน ที่กำหนดตัวไว้เดิม แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อกวาด จับกุมแล้วได้มีการให้ผู้ชุมนุมถอดเสื้อมัดมือไพล่ เกลือกกลิ้งไปตามพื้นดิน ทำให้ไม่สามารถเลือกจับกุมเฉพาะตัวคน 100 คน ที่ทางการเชื่อว่าเป็นแกนนำได้ จึงกวาดจับไปทั้งหมดประมาณ 1,300 คน  

ข้อสังเกต นายกรัฐมนตรีได้แถลงว่า การสลายการชุมนุมได้กระทำหลังจากพยายามเจรจรกับผู้ชุมนุม แต่ด้วยเกรงว่าจะค่ำมืด เกิดการจลาจล ลุกลาม เผาเมือง จึงตัดสินใจสลายการชุมนุม โดยถือปฏิบัติตามหลักวิชาการ และใช้ความละมุนละม่อม ถ้อยแถลงของนายกฯ จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

2) กระทำการขนย้ายเหมือนมิใช่มนุษย

การขนผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวไว้โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากอำเภอตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร ใช้รถทหารจำนวน 25 คัน และรถตำรวจกับรถเช่าอีกจำนวนหนึ่ง ขนผู้ชุมนุมประมาณ 1,300 คน โดยยัดแน่น อัดกันอยู่ในรถ

มีการจับประชาชนที่ถูกมัดมือไพล่หลัง ร่างกายอ่อนเพลียจากถูกปะทะในระหว่างสลายการชุมนุมและอยู่ระหว่างถือศีลอด โดยส่งขึ้นไปบนรถ บังคับให้นอนคว่ำบนพื้นรถ ขณะที่มือยังถูกมัดไพล่หลัง มีการวางประชาชนนอนซ้อนทับกันเป็น ชั้น ๆ 4-5 ชั้น โดยใช้เวลาเดินทางนานถึง 5-6 ชั่วโมง โดยต้องถูกมัดมือไพล่หลัง นอนคว่ำหน้า ทับกันไปอย่างนั้นตลอดเวลาเดินทาง

คนที่นอนคว่ำหน้าอยู่แถวล่างสุด (ถูกคนทับอยู่ 3-4 ชั้น) เมื่อใกล้ตาย ขาดอากาศหายใจ กล้ามเนื้อถูกกดทับทำลาย ร้องขอความช่วยเหลือ ก็ถูกทหารที่ควบคุมไปกับรถที่ขึ้นไปเหยียบด้านบน และใช้พานท้ายปืนตีพร้อมกับพูดว่า “จะได้ให้พวกมึงรู้ว่า นรกมีจริง”

ข้อสังเกต การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทางการเป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอย่างไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่เคารพสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ใช้วิธีทารุณกรรม ขนย้ายผู้ชุมนุมโดยไม่ตระหนักว่า ประชาชนผู้ชุมนุมเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์

3) รู้ว่ามีคนตาย แต่ไม่ป้องกันการตายเพิ่ม

รถบรรทุกคนคันแรก เดินทางไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เวลา ประมาณ 18.00 – 19.00 น. พบว่ามีคนตายอยู่ชั้นล่างสุด 1 คน เมื่อได้สอบถามนายทหารผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับแม่ทัพจนถึงระดับปฏิบัติการ ไม่มีผู้ใดแจ้งเตือนรถคันหลัง ๆ ว่าการขนคนโดยมัดมือไพล่หลัง ให้นอนคว่ำซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ เป็นเหตุให้มีคนตาย จะได้แก้ไขเสียตั้งแต่ต้นทางและกลางทาง เพราะรถขนคนค่อย ๆ ทยอยกันเดินทางมา บางคันเข้ามาถึงตี 2 ตี 3  

 ข้อสังเกต  การทราบว่าวิธีปฏิบัติดังกล่าวทำให้คนตาย แต่กลับไม่พยายามแจ้งเพื่อป้องกันแก้ไข ในขณะที่ยังมีเวลากระทำได้ทันท่วงที เท่ากับการปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จึงควรถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาจงใจ ในรถขนคนคันหลัง ๆ จึงมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น โดยคันที่เสียชีวิตมากที่สุด มีคนตายถึง 23 คน ซึ่งคนตายส่วนใหญ่เป็นคนที่ถูกมัดมือไพล่หลัง บังคับให้นอนคว่ำ ถูกทับอยู่ชั้นล่างสุดของแต่ละคัน

4) สภาพผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาล

สภาพร่างกาย ถูกกดทับจนกล้ามเนื้อถูกทำลาย บวม เขียว เซลล์กล้ามเนื้อที่ถูกทำลายเข้ากระแสเลือด ส่งผลให้ไตวาย บางรายอาการสาหัส ต้องฟอกเลือกในโรงพยาบาลที่สงขลา บางรายมีร่องรอยบาดแผล ถูกยิงที่ขา ที่หน้าท้อง ที่แก้มทะลุปาก ลิ้นขาด ที่บริเวณลำตัว อื่น ๆ บางรายถูกซ้อมถูกเตะเข้าที่เบ้าตา แขนขาหัก ฯลฯ 

ข้อสังเกต  ผู้บาดเจ็บให้ข้อมูลตรงกันกับผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขังอื่น ๆ ว่า ถูกจับนอนซ้อนทับกัน 4-5 ชั้น ส่วนมากที่อาการหนักจะเป็นคนที่ถูกทับอยู่ชั้นล่าง ๆ และในการสลายชุมนุมนั้น เจ้าหน้าที่ยิงตรงในแนวระนาบและยิงขึ้นฟ้า ไม่ได้ยิงขึ้นฟ้าอย่างเดียวเหมือนที่นายกรัฐมนตรีพูด   นอกจากนี้ ขณะที่มีการขนคนมาที่ค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น มีแพทย์อยู่ในค่ายเพียง 1 คน กับพยาบาลประมาณ 8-10 คน เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ต้องดูแลผู้ชุมนุมที่อ่อนเพลียและในสภาพบาดเจ็บกว่า 1,300 คน  

5) สภาพที่กักขัง และคนถูกกักขัง

เมื่อเปรียบเทียบค่ายอิงคยุทธฯ ค่ายเสนาณรงค์ และโรงพยาบาลปัตตานีแล้ว พบว่า ค่ายอิงคยุทธฯ มีปัญหามากที่สุด โดยจนถึงขณะที่ไปตรวจเยี่ยม (3วันหลังเกิดเหตุ) ประชาชนก็ยังไม่ได้อาบน้ำ ไม่ได้ชำระล้าง ทำความสะอาดร่างกาย ไม่มีเครื่องใช้ไม้สอย สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ผ้านุ่ง ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ

ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่ง เมื่อถูกจับกุมแล้ว ถูกเจ้าหน้าที่บางส่วนบังคับเอากระเป๋าสตางค์ นาฬิกา โทรศัพท์ติดตามตัว ของมีค่า บัตรเอทีเอ็ม บัตรประจำตัวประชาชนไป หากระบบการทำงานสะเปะสะปะอย่างนี้ คงจะไม่ได้คืน

ในบรรดาผู้ถูกกักขังนั้น มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี อยู่ไม่น้อย (เกือบ 10%) ขังรวมอยู่กับผู้ใหญ่บางคนเป็นนักเรียน เรียนอยู่โรงเรียนแสงทอง โรงเรียนจริยธรรมศึกษา ผู้ถูกกักขังที่ได้พบ พูดภาษาไทยได้ดี หลายคนจบชั้น ป.6 บางคนจบอนุปริญญา หรือกำลังเรียนอยู่ก็มี ถามว่า รู้จัก สว.ทองใบ ทองเปาว์ไหม ก็รู้จักดี มิหนำซ้ำยังถามกลับมาว่า ระยะนี้ไม่ค่อยเห็นรายการของผู้เขียนออกทีวี

ข้อสังเกต  ข้อเท็จจริงผิดจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อธิบายต่อสังคมว่า คนพวกนี้ไม่พูดภาษาไทย พูดอาหรับ  

6) ต้องมีการกล่าวโทษ

การดำเนินการจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 85 คน โดยเป็นการเสียชีวิตระหว่างการขนย้ายถึง 78 คน เป็นความเสียหายร้ายแรง ประชาชนถูกทำให้เสียชีวิตในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐ ยิ่งมัดมือไพล่หลัง บังคับให้นอนคว่ำหน้า ประชาชนยิ่งดูแลตนเองได้ยาก เจ้าหน้าที่รัฐยิ่งต้องรับผิดชอบดูแลให้ความปลอดภัย แต่กรณีนี้กลับมีการละเลย ปฏิบัติอย่างทารุณ ควรถูกกล่าวโทษอย่างน้อย ฐานกระทำการ โดยประมาทเลินเล่อ ทำให้ถึงแก่ความตาย โดยเฉพาะ เป็นการตายหมู่  

ซ้ำร้าย ยังอาจมีเจตนาทำให้คนตาย เพราะเมื่อทราบว่ามีคนตาย และทราบเหตุที่ทำให้เกิดการตาย เพราะขนคน ซ้อนทับกัน 4-5 ชั้น แล้วก็ยังไม่มีการสั่งการแก้ไขป้องกันในรถคันหลัง ๆ ทำให้มีคนตายเพิ่มจำนวนมากรวมทั้งอคติของเจ้าหน้าที่ที่แสดงออกผ่านการกระทำต่อประชาชน ก็มีผลต่อการสูญเสียด้วยเช่นกัน  

นอกจากนี้ ทางการรายงานว่า มีการค้นพบอาวุธปืน เอ็ม 16 ปืนอาก้า ระเบิดสังหาร มีด ซึ่งอ้างว่าถูกค้นพบนอกตัวผู้ชุมนุม อยู่ในน้ำบ้าง อยู่ข้างนอกบ้าง แต่ไม่มีการพิสูจน์ว่า อาวุธดังกล่าวใช้งานได้หรือไม่

เพราะเมื่อเกิดเหตุปะทะระหว่างการสลายการชุมนุม หากผู้ชุมนุมครอบครองอาวุธและพร้อมใช้งานจริง แต่เหตุใดผู้ชุมนุมไม่ใช้อาวุธเหล่านั้นทำร้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอาจทำให้เกิดการสูญเสียมากกว่านี้

ความชอบธรรมในการบริหารประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

หากจะพิจารณาความชอบธรรมของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดประเทศ ผมมีความเห็นดังต่อไปนี้

(1) พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ส่งสัญญาณให้ใช้ความรุนแรงในหลายโอกาสหลายนโยบายของการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นสงครามยาเสพติดที่มีการฆ่าตัดตอนกว่า 2,800 ศพ ส่วนหนึ่งก็ด้วย การชี้แจงและมอบหมายนโยบายที่ชี้นำให้เกิดการใช้ความรุนแรงของนายกรัฐมนตรี ยิ่งกรณีปัญหาภาคใต้นี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้ปฏิเสธ แนวทางสันติวิธีของรองนายกฯ จาตุรนต์ ฉายแสง แต่ใช้นโยบายแข็งกร้าว ชี้นำความรุนแรงว่า “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” “บ้ามาก็บ้าไป” “จะปราบให้สิ้นซาก” “at any cost at any price” “มันเหมือนอาการคนใกล้ตาย ต้องรุนแรงหน่อย” ฯลฯ 

รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีอย่างเข้มแข็ง แต่ พ.ต.ท. ทักษิณ ได้ใช้อำนาจไปอย่างแข็งกร้าว กระทั่งว่า ปัจจุบัน ทักษิณ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรงแล้ว ถึงขนาดสื่อมวลชนใช้ขนาน นามว่า “ทักษิณทมิฬ”  

(2) การดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าว การประชาสัมพันธ์ของรัฐที่ ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้เกิดจากโจร ผู้ไม่หวังดี พวกมุสลิมหัวรุนแรง พวกโจรกระจอก พวกวัยรุ่นติดยา และมาลงท้ายที่พวกแบ่งแยกดินแดน ได้สร้างความเกลียดชัง หวาดระแวงระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ดังจะเห็นได้จากการแสดงความเห็นของประชาชนในรายการวิทยุ โทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต ถึงกับยุยงให้ใช้กำลังปราบปรามให้ตาย มากกว่านี้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกเกลียดชังความร้าวฉานและความรู้สึกได้กินลึกจนยากจะเยียวยาได้ เพราะปัจจุบันไดัแบ่งแยกพวกเป็น “ พวกเรา ” และ “ พวกมัน ” แล้ว  

(3) พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังเสริมสร้างกำลังให้ผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดน โดยไม่ตั้งใจ เพราะข้อมูลทุกฝ่ายประเมินตรงกันว่า แนวคิดเรื่องแบ่งแยกดินแดนในประเทศไทยยังคงมีอยู่ แต่เป็นแนวคิดของคนจำนวนน้อย และน้อยลงเรื่อย ๆ แต่เมื่อนโยบายของรัฐบาลนี้ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จับ อุ้ม ฆ่า และใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง จากกรณีกรือเซะถึงกรณีตากใบ ทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้รับความเห็นใจ และมีคนถูกผลักให้เข้าร่วมมากขึ้น  

(4) ความรุนแรงที่เกิดจากการบริหารประเทศในช่วง 3 ปีเศษที่ผ่านมา กลายเป็นช่วง “เกือบ 4 ปี เกือบ 4 พันศพ” ทั้งสงครามยาเสพติด 2,800 ศพ ความรุนแรงในภาคใต้อีกเกือบ 1 พันศพ ซ้ำยังไม่มีทีท่า ว่าความรุนแรงจะลดลง การดำเนินนโยบายที่บกพร่องดังกล่าว อาจนำมาซึ่งขบวนการก่อการร้ายสากล ภาคใต้จะระอุ ปะทุเป็นไฟ และ เกรงว่ากองกำลังของประเทศมหาอำนาจก็จะอาศัยเป็นช่องเข้าดำเนินการในประเทศของเรา

(5) การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ทำให้เกิดความรุนแรงและคนตายมากมายถึงเพียงนี้นำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียงของประเทศไทยในเวทีโลก ถูกมองว่าคนไทย ประเทศไทย เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน

ประเทศไทยยังต้องอยู่ต่อไป สันติประชาธรรมของไทยจะต้องคงอยู่ ประเทศไทยยังมีคนที่รับผิดชอบต่อไปได้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ท่านหมดความชอบธรรมในการบริหาร ประเทศต่อไปแล้วครับ  

**********************

แชร์บทความนี้