เรียบเรียง : Local Correspondent นพพร ทาทาน
วิถีชีวิตของชาวล้านนามีประเพณีวัฒนธรรมมากมาย ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ นับหลายร้อยปี ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมหลายอย่างได้รับการรักษามาถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังมีอีกไม่น้อยที่เริ่มสูญหายไปจากคนรุ่นใหม่ บางคนอาจะยังไม่มีโอกาสได้รับรู้ด้วยซ้ำว่ามีประเพณีแบบนี้ ซึ่งหนึ่งในวัฒนธรรมและประเพณีที่คนรุ่นหลังควรศึกษาและสืบทอดไม่ให้สูญหายไปจากแผ่นดินล้านนา ประเพณีนั้นก็คือ“ตานต๊อด” ที่ยังพบได้ในพื้นที่จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ตาก พะเยา มักทำในช่วงหลังเกี่ยวข้าว เข้าฤดูหนาว
ชุมชนบ้านต๊ำม่อน โดย พระครูสุวัฒน์สังฆโสภณ เจ้าอาวาสวัดต๊ำม่อน ต.บ้านต๊ำ อ.เมือง จ.พะเยา ได้เล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ จึงมีการปลูกฝังเยาวชนในพื้นที่ให้มีกิจกรรมที่ทำเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องตลอดมา หนึ่งในหลายๆกิจกรรมนั้นคือการ “ ตานต้อด “ ซึ่งได้หายไปจากสังคมคนเมืองเหนือและในชุมชนบ้านต๊ำม่อนไปอย่างน่าเสียดาย จึงคิดฟื้นอนุรักษ์และสืบสานส่งต่อให้เยาวชนรุ่นต่อรุ่น
พระครูสุวัฒน์สังฆโสภณ เจ้าอาวาสวัดต๊ำม่อน ต.บ้านต๊ำ อ.เมือง จ.พะเยา
“อาตมาได้ฟื้นฟูการ ตานต้อด มากว่า 10 ปีแล้ว ไม่อยากให้มันสูญหายไป เริ่มต้นพาเด็กๆ ในชุมชนมาเรียนรู้เรื่องการตานต้อด ให้รู้กระบวนการขั้นตอน และประโยชน์ของการตานต้อดแล้วลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งแต่ละขั้นตอนมันแฝงไปด้วยการลดความเห็นแก่ตัว การเสียสละและการแบ่งปันทั้งสิ้น เริ่มจากการประชุมเพื่อหาคนที่ลำบาก ยากจนในชุมชน แล้วช่วยกันโหวตว่าใครจะได้รับการตานต้อด จัดเตรียมข้าวของ รวมกลุ่มกันเพื่อเดินทางไปบ้านของผู้รับตาน การแอบเอาสิ่งของไปไว้หน้าบ้านผู้รับไม่ให้รู้ตัว จนกระทั่งผู้รับได้รับของและให้ศีลให้พร เดินทางกลับและตั้งวงสรุปในสิ่งที่ได้เรียนรับรู้ รับรู้ ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับบ้าน จากการทำอย่างนี้ตามวาระ ตามโอกาสที่จะเอื้ออำนวย ทำให้คนที่ขาดแคลน ลำบาก ยากจน และคนป่วยติดเตียง ได้รับการดูแล ช่วยเหลือ สร้างความรักสามัคคีในชุมชน ตลอดจนเด็กๆ ได้เรียนรู้การเรื่องความเสียสละแบ่งปัน และที่สำคัญประเพณีวัฒนธรรมการตานต้อดก็ได้รับการเรียนรู้ สืบสานและส่งต่อให้คนในชุมชน” พระครูสุวัฒน์สังฆโสภณ กล่าวทิ้งท้าย
การตานต้อด หรือทานทอด เป็นประเพณีที่แสดงถึงเป็นการช่วยเหลือ สงเคราะห์ ความเอื้ออาทรของชาวบ้านที่มีต่อคนทุกข์ยากในชุมชน เป็นการทำบุญด้วยใจไม่หวังผลตอบแทน นิยมจัดในฤดูหนาวช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือในช่วงเทศกาลลอยกระทง หรือจะจะทำเมื่อไหร่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเดือดร้อนของเพื่อน พระสงฆ์ ที่ลำบาก ขาดแคลน ไม่มีการกำหนดตายตัว
ผู้นำในการตานต้อด จะเป็นใครก็ได้ เช่นพระสงฆ์ ผู้นำชุมชน หรือคนที่มีฐานะอันดีและพร้อมที่จะบริจาคช่วยเหลือคนลำบากยากจนในชุมชนก็สามารถทำได้ทั้งนั้น
ขั้นตอน พิธีกรรมในการตานต้อด จัดประชุมชาวบ้านในชุมชน เพื่อหาบุคคลที่ลำบากยากจนสมควรได้รับการช่วยเหลือ นัดหมายเวลาที่จะเดินทาง ในการจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ที่จะนำไปตานต้อด ซึ่งอาจจะใช้ศาลาวัด ศาลากลางหมู่บ้าน บ้านผู้นำหรือบุคคลที่จะเป็นผู้นำในการตานต้อดก็ได้
สิ่งของที่จะนำไปตานต้อด จะเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องมือ อุปกรณ์ของใช้ที่จำเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง สบู่ ยาสีฟัน เสื้อ ผ้า รองเท้า หรืออื่นใดตามที่ชาวบ้านเห็นสมควร และอาจจะมีเงินหรือต้นเงินที่ชาวบ้านร่วมบริจาคด้วยก็ได้
เวลาที่นิยมจะเดินทางไปตานต้อด โดยมากจะใช้เวลาในช่วง 20.00-22.00 เป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงที่มืด ทำให้คนรับทานไม่เห็นกลุ่มชาวบ้านผู้ให้ทาน ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของการตานต้อด คือการให้ทานโดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่หวังแม้กระทั่งจะให้ผู้รับทานได้ทราบว่ากลุ่มผู้ให้ทานมีใครบ้าง
เมื่อไปถึงบ้านผู้รับทาน กลุ่มผู้ทำทานจะย่องเข้าไปบริเวณหน้าบ้านไม่ให้เกิดเสียงดัง แล้ววางของข้าวของเครื่องใช้ เสร็จก็จะมีการจุดเทียนเพื่อให้เกิดเสียงสว่างให้ผู้รับทานเห็น กลุ่มผู้ให้ทานพากันแอบ หรือหลบในมุมมืด เพื่อไม่ให้ผู้รับทานเห็นหน้าหรือทราบว่าเป็นใคร แล้วจุดประทัดหรือใช้ก้อนหินขว้างไปที่ประตูบ้านเพื่อให้ผู้รับทานเห็นข้าวของเครื่องใช้
ผู้รับทานเปิดประตูออกมาก็จะพบของทานเหล่านั้น และจะถามลอยๆ ว่าของพวกนี้เป็นของผีหรือคน 2-3 ครั้ง จนแน่ใจว่าของนั้นเป็นของผู้รับทาน ผู้รับทานก็จะกล่าวให้ศีลให้พรกับกลุ่มผู้ให้ทาน ผู้ให้ทานยกมือไหว้รับพร จากนั้นก็ค่อยๆเดินทางออกไปจากบ้านผู้รับทานแบบเงียบๆ กลับบ้านเรือนของตน เป็นเสร็จพิธี
ผู้คนปัจจุบันเต็มไปด้วยการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดตามภาวะเศรษฐกิจ สังคมแห่งการเอื้ออารีต่อกันมันเริ่มหดหายและเจือจางไป ซึ่งขาดความอาทรเสียสละแบ่งปันให้กันและกัน ที่ผ่านมามีความพยายามในการฟื้นฟู และการจัดการความรู้ประเพณีตานต๊อด เช่น มหาวิทยาลัยพะเยาร่วมกับกลุ่มเยาวชนจัดกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีที่ตานต๊อดในทุก ๆ ปี
การตานต๊อดไม่เป็นเพียงแค่ประเพณีเท่านั้น แต่หากเป็นสิ่งที่คนสมัยก่อนแฝงไว้ซึ่งคำสอนมากมายที่ให้คนในชุมชนและสังคมรู้จักการให้ รู้จักการแบ่งปัน ความมีน้ำใจไมตรีและคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งนำมาซึ่งความรักความสามัคคีของคนในชุมชน เป็นสายสัมพันธ์ที่คนโบราณผูกโยงใยกันไว้อย่างเหนียวแน่น บ้านเมืองจึงเกิดความเป็นปึกแผ่นร่มเย็น เป็นวิถีแห่งความรักสงบของชาวล้านนา
ข่าวพลเมือง : นักข่าวพลเมือง : รู้รักษ์ประเพณีตานต๊อด จ.พะเยา
ข่าวพลมือง : ตานต๊อด หรือ ทานทอด เป็นประเพณีล้านนาเพื่อการสงเคราะห์ จ.เชียงราย