ฟังเสียงประเทศไทย : Job แฟร์ การงานของคนสูงวัย

ข้อมูลปี 2565 ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยเรามีจำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงกว่า 50 ปีก่อน ครึ่งหนึ่ง ทำให้ในวันนี้ ประเทศไทยเรา ก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” เป็นที่เรียบร้อย และมีการคาดการณ์ว่า อีกไม่ถึง 10 ปี ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” 

นี่คือสิ่งที่เราทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมือ และร่วมกันสร้างระบบที่สามารถรองรับทั้งเรื่องของแรงงานที่กำลังลดน้อยลงไปในสังคมไทยและความมั่นคงทางด้านรายได้ในวัยสูงอายุ เพราะในวันนี้ เรามีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ยังมีแรง มีศักยภาพพร้อมทำงาน และยังคงรอคอยการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ​ และภาคเอกชนอยู่ 

เพื่อพลิกวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นให้กลายมาเป็นโอกาสที่ขับเคลื่อนสังคมไทยเดินหน้าต่อ ฟังเสียงประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่าย เชิญผู้สูงอายุที่กำลังมองหางาน และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน  รวมถึงภาคประชาสังคมมาร่วมออกแบบการงานของคนสูงวัย กับ JOB FAIR งานของคนชำนาญการ 2024 เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ Thai PBS

ภายในงาน สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ Thai PBS กล่าวว่า ในวันนี้ ถึงเวลาที่สังคมไทยคงต้องทำงานกับทุกช่วงวัย และคงจะเป็นภารกิจหนักของกรมกิจการผู้สูงอายุ ที่จะต้องผลักดันนโยบายสำคัญ การ UpSkill – Reskill ซึ่งจริง ๆ แล้วผู้สูงวัยบ้านเรามีทักษะชำนาญการอยู่แล้ว เพียงแต่หลังยุคโควิด-19 เราเจอภาวะความปกติ ทำให้เกิดความผันผวน โลกไปเร็ว การปรับตัวทุกวัยมีปัญหา แต่คนสูงวัยเป็นกลุ่มใหญ่ของสังคม ต้องการการดูแลจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐ 

เราอยากให้เกิดการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่จะช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถดำรงชีวิตต่อไปอย่างปกติสุข เมื่อก่อนเราคงมีความคิดว่า หลังจากอายุ 60 ปี เราจะทำอะไรต่อดี แต่ตอนนี้อายุ 65 ปี ยังสามารถทำงานได้ 

สิ่งที่อยากให้เกิดคือการมีหลักประกันทางสังคม ภายใต้การทำงานของสื่อสาธารณะเราจะทำให้เห็นว่า การทำงานของผู้ชำนาญการ กับวัยอื่น ๆ เป็นทิศทางใหญ่ของสังคม และต้องเกิดขึ้นโดยมีรัฐบาลเป็นแกนใหญ่ และหน่วยงานอย่างกรมกิจการผู้สูงอายุที่ช่วยหนุนเสริม 

Ted Talk 4 ภาคส่วน จิ๊กซอร์สำคัญ ขับเคลื่อนการงานสังคมสูงวัย –

เริ่มต้นที่ แรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ พูดถึงบทบาทการหนุนเสริมในเรื่องของการจ้างงานผู้สูงอายุที่กรมกิจการผู้สูงอายุกำลังดำเนินการว่า กรมกิจการผู้สูงอายุ อยู่ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปัจจุบันเรามีผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี กว่า 13 ล้านคน ตอนนี้เราเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์แล้ว 

ซึ่งในปี 2576 มีการคาดการณ์ว่า เราจะมีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 28% เรียกว่า ระดับสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงต้องขับเคลื่อนสังคมสูงวัยให้เข้มแข็งต่อไป 

ก่อนหน้านี้ตอนที่ท่านวราวุธ ศิลปอาชา มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ใหม่ ๆ ท่านชวนไปไขคำตอบ ที่มีคนบอกว่า การที่ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเยอะ แสดงว่ามีปัญหา เปรียบเสมือนสึนามิ ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีผู้สูงอายุถึง 1 ล้านคน ย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ตอนนี้มีเด็กแรกเกิดเป็นล้าน ซึ่งก็คือคนที่เป็น Baby Boomer ในยุคนี้ 

แรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ

ถามว่าการที่มีคำอายุ 60 ปี ขึ้นไปจำนวนเยอะ เป็นปัญหาหรือไม่ ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ไม่ป่วย ไม่ไข้ ดูแลตัวเองดี สวย หล่อ แข็งแรง เพราะเราเตรียมความพร้อมตัวเองอย่างดี มีเงินใช้เพราะทำงาน ผู้มากประสบการณ์ทุกวันนี้ต่อให้ไม่มีลูกเลี้ยงก็ใช้ศักยภาพของตัวเองมาทำงานให้มากที่สุด ดังนั้นนโยบายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมกิจการผู้สูงอายุ ในวันนี้เรายืนยันว่า การมีผู้สูงอายุมาก ๆ ไม่ใช่ปัญหา แต่แน่นอนว่าวิกฤตประชากรเกิด เพราะคนไม่อยากมีลูก เนื่องจากสถานการณ์สังคมไม่ค่อยดี วิกฤตเกิดที่เด็กเกิดใหม่ เกิดไม่ทัน เราต้องหนีวิกฤตนี้ไป ด้วยการทำให้ตัวเองแข็งแรงมากที่สุด และหนีความจน เพราะหลายคนบอกว่า พออายุ 60 ปี แล้วจะจน ซึ่งการจนเป็นวิกฤต 

วันนี้กรมกิจการผู้สูงอายุกำลังขับเคลื่อนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อแก้ไขปัญหาการทำงานของคนที่อายุ 60 ปี ขึ้นไป ให้บริษัทขยายอายุการจ้างงาน ส่วนบริษัทไหนที่ไม่เคยจ้างงานผู้สูงอายุ ให้เปิดโอกาสจ้างงานกับผู้อายุ รวมถึงการทำให้ผู้สูงอายุเป็น Active Aging เนื่องจากปัจจุบัน มีผู้สูงอายุที่เป็น Active Aging แค่ 90% เราทำงานกับหลายภาคส่วน ทำให้สังคมคิดใหม่ว่า ผู้สูงอายุไม่ใช่วิกฤต แต่เป็นพลัง ที่สำคัญภาครัฐต้องสนับสนุนทั้งงบประมาณ และการบูรณาการภาคีเครือข่าย และอีกส่วนที่สำคัญคือตัวผู้สูงอายุอยากให้แข็งแรงมากที่สุด 

ต่อกันที่ จารีรัตน์ จันทร์ศิริ เจ้าของเพจคุณยายจูลี่มีสาระ ยูทูบเบอร์สาย Health & Beauty มาแชร์ประสบการณ์การทำงานในวัย 60 ปี อดีตเคยทำงานมัคคุเทศก์พาต่างชาติท่องเที่ยวในประเทศไทย และเคยทำงานเป็นแม่บ้านมาก่อน ทำงานภาคสนามมาตลอดชีวิตไม่รู้เรื่องออฟฟิศ คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีใด ๆ สมัยก่อนใช้จดหมายในการสื่อสารกับต่างชาติ จนที่ทำงานให้เงินไปเรียน ตอนนั้นเชื่อว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งไม่จำเป็น เราคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำดีที่สุดแล้ว จนวันหนึ่งที่โลกมันหมุนเร็วจนเราตามไม่ทัน 

เรามีลูก เมื่อก่อนคิดว่าลูกโต ลูกต้องเลี้ยง แต่ปรากฎว่า ลูกโตเราก็ยังต้องเลี้ยงลูก สุดท้ายพออายุเยอะ เราทำอาชีพเดิมไม่ไหว ต้องออกจากงาน มามองโลกปัจจุบัน หันมาคุยกับลูก ถามว่าลูกเล่นอะไร เมื่อก่อนลูกเล่น Hi5 ก็ให้ลูกสมัครให้ และก็มา Facebook ตอนนั้นยังไม่มีรายได้ จนลูกโตไปอยู่ต่างประเทศ และมีหลาน ปรากฎว่าหลานเป็นโรคภูมิแพ้ แพ้อาหารเยอะมาก เช่น นม ซีฟู๊ด กลูเตน เคมี ซึ่งที่ประเทศออสเตรเลียมีเด็กที่เป็นโรคนี้เยอะมาก เราไปช่วยเลี้ยงหลาน และก็แชร์ประสบการณ์ว่าเลี้ยงหลานอย่างไร จนลูกแนะนำให้ไปทำเพจ เผื่อจะมีหลายได้ เราก็เลยทำเริ่มทำเพจ ทำผลิตภัณฑ์ ครีมอาบน้ำ น้ำนมข้าว 

ใครก็ตามที่หันมาทำเพจ เพื่อสร้างรายได้ อันดับแรก ต้องศึกษาตัวเรา ดูว่าตัวเองทำอะไรเก่ง ทำขนมเก่ง ก็ทำลงเพจ และขายแป้งขนมครก ทำสิ่งที่เราชำนาญ และนำมาต่อยอด เอาสิ่งที่เรามี มาต่อยอด เอามาให้ ให้ความรู้ ให้มิตรภาพ ยิ่งให้ยิ่งได้ อยากให้ผู้สูงวัย ผู้ชำนาญการทุกคนมาแชร์ประสบการณ์ให้กับลูกหลาน เผื่อลูกหลายจะได้นำไปใช้ต่อยอด ยึดความสุขก่อนเป็นอย่างแรก และอย่างอื่นจะตามมา  

จารีรัตน์ จันทร์ศิริ เจ้าของเพจคุณยายจูลี่มีสาระ ยูทูบเบอร์สาย Health & Beauty

อีกจิ๊กซอร์สำคัญการทำงานของชุมชน นำภูมิปัญหาท้องถิ่นมาสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ ปิลันธน์ ไทยสรวง ผู้ก่อตั้งแบรนด์ภูคราม จ.สกลนคร มาเล่าให้ฟังถึงการทำงานกับชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่อยู่ที่บ้าน ซึ่งตนทำงานตรงนี้มากว่า 10 ปี ทำงานผ้า เป้าหมายอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งคนที่เก็บภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ คือ คุณตา คุณยาย หรือ ป้า ๆ แม่ ๆ ของเราเอง ไม่ว่าจะเรื่องการทอผ้า ย้อมคราม เราเข้าไปเรียนรู้กับป้า ๆ แม่ ๆ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของตัวเอง

การทำงานกับคนเป็นศิลปะขั้นสูงสุดที่ได้เรียนรู้มา เราทำกระบวนการมีส่วนร่วม เปลี่ยนแนวคิด ดึงคุณค่าในตัวเองออกมา โดยใช้เรื่องผ้าเป็นกระบวนการ ให้ทุกคนเข้ามาร่วม โดยไม่แบ่งแยกวัย สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ ทุกคนต้องการคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นวัยไหน ก็อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่า สิ่งที่เราทำมาโดยตลอดคือ การทำให้ทุกคนเห็นเป้าหมายเดียวกัน กระบวนการที่ทำทั้งหมด กว่าจะเปลี่ยนโครงสร้างในใจคน เราใช้เวลาเกือบ 10 ปี ซึ่งจริง ๆ การทำงานกับใจคน ต้องใช้เวลา 8 ปี ถึงจะเริ่มเห็นผล 

ตอนทำงานแรก ๆ รู้สึกว่ายากมาก มีคนบอกว่า การทำงานชุมชน พาทำผลิตภัณฑ์ และหาตลาดให้แค่นั้นจบ แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่แค่นั้นเลย เราทำงานกับคนที่อยู่แบบนั้นอยู่แล้ว เขาทำงานแบบนั้นอยู่แล้ว แต่สำหรับเรา โจทย์ยากคือจะทำอย่างไรให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง โดยนำพาเขาไปเจอสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ให้ตระหนักรู้ว่า สิ่งต่าง ๆ มีคุณค่า ตัวเองมีคุณค่า ต้องดึงออกมา ทั้งหมดของการทำงานร่วมกับผู้คน สิ่งที่เราต้องให้คือ เวลาการพูดคุย และดึงเขาออกมาว่าเขาต้องการอะไร ดูไปยังจิตใจ ครอบครัว การใช้ชีวิต โครงสร้างของเขา ทำมาครบ 10 ปี จึงรู้ว่า ทุกอย่างต้องใช้เวลา   

ปิลันธน์ ไทยสรวง ผู้ก่อตั้งแบรนด์ภูคราม จ.สกลนคร

บทบาทของภาคเอกชนต่อการขับเคลื่อนการทำงานของสังคมสูงวัย แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพัธ์เอสเอ็มอีไทย สะท้อนว่า ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ทั้งโครงสร้างประชากร ท่ีวันนี้ประเทศเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่ทัศนคติ ความแตกต่างของเจเนอร์เรชั่นแต่ละช่วงวัยก็สำคัญ และเรื่องของเทคโลยีที่ทำให้เราเปลี่ยน ทุกวันนี้ผู้สูงวัย อย่างป้าจูลี่มีทักษะ มีความสามารถ เอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน และสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง อันนี้เป็นสิ่งที่เรามองว่า เป็นการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์กับชีวิต 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเรียนรู้ ที่หลังยุคโควิด-19 เรามีคลอสออนไลน์ดี ๆ จากแต่ละกระทรวง แต่ละหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เราสามารถเลือกพัฒนาทักษะไปในแต่ละด้านได้ และสุดท้ายคือเรื่องอาชีพ วันนี้จะมีอาชีพบางอย่างหายไป และอาชีพบางอย่างเข้ามาแทนที่ ความทันสมัย การปรับตัวเป็นสิ่งที่สำคัญ โครงสร้างสังคมผู้สูงอายุ มีงานสำรวจออกมาว่า มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี มีความต้องการพัฒนาแรงงานฝีมือทุกปี ซึ่งปีล่าสุดมีมากถึง 4 แสนรายที่ต้องการพัฒนาทักษะของตัวเอง 

เป็นที่น่าสนใจว่าผู้มางานทำ ที่เป็นผู้สูงอายุ มีกว่า 4.7 ล้านคน แบ่งเป็นเพศชาย 58% เพศหญิง 42% แต่วันนี้รู้สึกว่าพลังงานของเพศหญิงจะเยอะขึ้น เรามองเห็นว่าวันนี้สังคมผู้สูงอายุ ไม่ใช่ผู้สูงอายุอยู่บ้านเฉย ๆ แต่เราต้องทำงาน 

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพัธ์เอสเอ็มอีไทย

มี 5 เรื่องด้วยกัน ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน คือ 5 ส ประกอบไปด้วย 

1. การเตรียมความพร้อมในเรื่องสุขภาพ เพราะเราเข้าใจดีว่า สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราจะทำอะไรก็ได้ การเตรียมความพร้อม ดูแลสุขภาพ ออกกำลังการ และการเลือกรับประทานอาหาร ปลอดโรค ปลอดภัย 

2. เรื่องสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย บ้านอย่ามีสเต็ป อย่าล้ม 

3. สังคมที่ยอมรับผู้สูงอายุ ประหนึ่งผู้มีคุณค่าทางสังคม ในการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข 

4. เศรษฐกิจ วันนี้หน่วยงานต่าง ๆ พยายามผลักดัน พัฒนาเรื่องการทำงานของผู้สูงอายุ

5. ความสร้างสรรค์ ผู้สูงอายุคือผู้ที่ยังสร้างสรรค์ได้ ด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมในการขับเคลื่อนงานหรือธุรกิจของตัวเองให้มีความยั่งยืนต่อไป 

ประเทศไทยจะยั่งยืนได้ ผู้สูงอายุต้องมาช่วยเศรษฐกิจ และสังคมให้น่าอยู่ 

งานแบบไหนที่ดีต่อใจวัยเกษียณ –

ในวันนี้ประเทศไทยเรา ก้าวเข้าสูงสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว เรามีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ยังคงมีแรง มีศักยภาพในการทำงาน สร้างสรรค์สังคม แต่ต้องยอมรับว่า ระบบการทำงานในวันนี้ ยังไม่สามารถรองรับการทำงานของผู้สูงอายุได้ ส่งผลให้มีผู้สูงอายุจำนวนมากมีความไม่มั่นคงทางด้านรายได้ ต้องออกไปทำงานนอกระบบ เงินไม่พอใช้ มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นี่คือโจทย์ที่รายการฟังเสียงประเทศไทยชวนตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และนักวิชาการ มาร่วมกันออกแบบการงานของสังคมสูงวัย ประกอบด้วย

  • รศ. ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล
  • ชินวุฒิ อาศน์วิเชียร ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม อบต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี 
  • แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย
  • สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการช้าการช่าง

เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายกับระบบการจ้างงานผู้สูงอายุ 


เริ่มต้นที่ สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการช้าการช่าง กล่าวว่า ขาดสิ่งที่ภาครัฐต้องเป็นผู้เริ่มทำ ทุกวันนี้มีกี่งานที่ภาครัฐเปิดให้ผู้สูงอายุเข้ามาทำงาน อาจจะต้องเริ่มจากรัฐ และบอกกับสังคมว่าต้องตระหนักเรื่องของการจ้างงานผู้สูงอายุ ถ้ารัฐเริ่ม แล้วทำได้ดี มีประสิทธิภาพ สามารถส่งเสียงของคนได้อย่างเต็มท่ี คนที่รับฟังเขาซื้อแน่นอน

ส่วนที่ 2 แม้ว่าจะมีการจ้างงานผู้สูงอายุอยู่ แต่สิ่งที่เรายังขาด คือ เราดูแลผู้สูงอายุปกติ ยังไม่ได้ดูแลแบบครบวงจร สิ่งที่เป็นเงื่อนไขให้ผู้สูงอายุไม่สามารถที่จะใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ หรือสิ่งนั้นจะทำให้ลดศักยภาพเขา อย่างเช่น โรคภัยไข้เจ็บ สิ่งนี่เป็นความจำเป็นที่ต้องดูแล อย่างช้าการช่าง หรือจ้างวานข้า เราทำสิ่งนี้ขึ้นมาอีกระบบ เพื่อที่จะลดทอนสิ่งที่เป็นอุปสรรคการทำงานของเขา หรือแม้แต่เรื่องการเสริมศักยภาพให้เขาทำได้เท่าเทียมกับวัยแรงงานปกติ เช่น เทคโนโลยี วิธีการที่ทำให้งานมีคุณภาพ ตรงนี้คือสิ่งที่เราขาด แม้แต่การเตรียมตัวตายให้กับเขา เพราะในจ้างวานข้า หรือช้าการช่าง เรามีผู้สูงอายุที่เป็นใบเลี้ยงเดียวทั้งนั้น ถ้าไม่มีคนที่เข้าไปจัดการให้กับเขา หรืออย่างเช่น ถ้าเขาไม่สามารถทำงานได้แล้ว จะทำอย่างไร เพราะยังไงมันมีวันที่เราจะเดินไปเจอเขาแล้วเห็นว่าเขาไม่สามารถทำงานได้แล้ว เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้เราจะทำอย่างไร 

อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องงานอย่างเดียว เราอาจจะต้องเตรียมเรื่องของการแก่ชราจนถึงเชิงตะกอน มันต้องออกแบบสิ่งนี้ขึ้นมาให้ได้ 

สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการช้าการช่าง

ด้าน ชินวุฒิ อาศน์วิเชียร ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม อบต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นภาครัฐที่ใกล้ชิดกับประชาชน ซึ่งจริง ๆ แล้ว นโยบายของรัฐกำหนดอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่ได้เชื่อมกัน ท้องถิ่นเรามีประชากร มีผู้สูงอายุ แต่นโยบายของรัฐกำหนดว่า ควรจะส่งเสริมผ่านกลไกการทำงานของผู้สูงอายุ การจ้างงาน การพัฒนาฝีมือแรงงานต่าง ๆ แต่ไม่ได้ถูกเชื่อมโยงกับคนในพื้นที่จริง ๆ 

ถ้าวันนี้เราปรับพื้นที่ของเรา ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นตัวกลางในการ Job matching ทำให้กระบวนการมันเกิดขึ้น ตอนนี้เรามี ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพ.อส.) โรงเรียนผู้สูงอายุอยู่แล้ว เรามีชมรมผู้สูงอายุอยู่แล้ว ถ้าเราจะเติมเต็มคุณภาพชีวิต เรื่องของอาชีพ งาน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นี่คือส่วนที่ต้องเติมเต็ม 

นอกจากนี้ผู้สูงอายุของเราอยากจะสูงวัยในถิ่นเดิม อยากอยู่ดูแลลูกหลาน ไม่อยากไปอยู่ที่อื่น ถ้าเราใช้กลไกนี้ในการจัดการให้ผู้สูงอายุบอกปัญหาผ่านโรงเรียนผู้สูงอายุ ผ่านชมรมเรื่องของอาชีพ ถ้าเป็นต่างจังหวัดชนบท เขาไม่ได้มีความคิดว่า สูงวัยแล้วต้องหยุดงาน แต่จะมีทั้งคนนอกระบบ และคนในระบบที่ต้องเกษียณอายุ แต่จะมีประเด็นสำคัญคือเรื่องของรายได้ในการเรื่องชีพ เขาอาจจะไม่ต้องการทำงาน แต่อยากมีอาชีพ มีรายได้เสริม แต่เขาอาจจะไม่รู้ว่าเขาเชี่ยวชาญอะไร คนที่เข้าสู่ระบบจะรู้ 

ชินวุฒิ อาศน์วิเชียร ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม อบต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี

ดังนั้นถ้าเราใช้กลไก ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพ.อส.) หรือกลไกโรงเรียนผู้สูงอายุ หรือชมรมต่าง ๆ เป็นกลไกในการค้นหาความพร้อมความถนัดของเขา และพยายามดูทุนทางสังคม เช่น ดูสถานประกอบการในพื้นที่ของเรา ว่าที่ไหนมีการรับผู้สูงอายุบ้าง รวมทั้งผู้สูงอายุ ต้องพัฒนาศักยภาพให้ตรงกับความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน  

อย่างเช่นที่ท่างามเรามีการจ้างงานผู้สูงอายุในท้องถิ่นเหมือนกัน อย่างคนที่เคยเป็นพนักงานขับรถ พนักงานประปา พนักงานไฟฟ้า ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ไม่สามารถทำงานได้ ท้องถิ่นก็มารับจ้างเหมา เพื่อทำงานต่อ เพราะศักยภาพเขาสามารถทำต่อได้อยู่แล้ว หรือบางกลุ่มต้องการอาชีพเสริม แล้วเราเอาเขาไปเจอกลุ่มที่ทำอาชีพเสริม เช่น จักรสาน หรือแปรรูปกล้วย เอาเขาไปเรียนรู้ไปดู ถ้าเกิดถูกใจ ก็เอาไปต่อยอดอาชีพการทำงานที่บ้านก็ได้ หรือเอาไปเรียนรู้กลุ่มค้าขาย ก็ทำให้มันง่ายขึ้น นี่คือกระบวนการทำงานของท้องถิ่นที่มันเชื่อมโยง 

เรามีนโยบายสังคมสงเคาะห์เยอะ ไม่ว่าจะขึ้นทะเบียนฐานะยากจน เรื่องของการจัดการศพ ถ้าเราเปลี่ยนเป็นการขึ้นทะเบียนของคนที่ต้องการทำงานของผู้สูงอายุด้วย ก็จะทำให้เรารู้ปัญหาว่าผู้สูงอายุต้องการทำงานกี่คน และใช้กลไกของ พม. เข้ามาช่วยในการแก้ไข เติมเต็มสิ่งที่ขาดตรงนี้ 

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า เรื่องของการจ้างงานผู้สูงอายุในระบบ SMEs เรามองว่า การที่ภาครัฐเข้ามาช่วยสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมีการจ้างงานหรือมีการส่งเสริมผู้ประกอบการที่สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สิทธิประโยชน์ทางภาษี และไม่ใช่ภาษี เพื่อเป็นการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการ SMEs หรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 

ถ้าเราเอาเรื่อง Social Responsibility มาคุย และสามารถนำมาเป็นเครื่องมือ ให้ผู้สูงอายุมีงานทำ และเป็นผู้ประกอบการอย่างมีคุณค่า จะเป็นการลดภาระรัฐ และเม็ดเงินงบประมาณในการดูแลด้านอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าประเทศสิงค์โปรและญี่ปุ่น จะมีมาตรการในการดูแลผู้สูงอายุ ส่งเสริมการมีงานทำอย่างชัดเจน แต่ในประเทศทางแถบยุโรป จะมีรัฐสวัสดิการ แลกกับการเสียภาษีในช่วงวัยทำงาน หรือการเป็นผู้ประกอบการที่สูง เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เหล่านั้น 

สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หรือรัฐสวัสดิการต้องแลกมาด้วยการทำให้ภาครัฐ มีงบประมาณในการดำเนินกิจการต่าง ๆ และสามารถใช้ในการลงทุนสร้างผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับประเทศชาติ อย่างเช่น สำนักงานประกันสังคม หรืออย่างการจับคู่งานก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

วันนี้เรามีกรมการจัดหางาน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีภาคเอกชน ที่เป็นเครือข่ายอยู่ในแต่ละพื้นที่จำนวนมาก กลไกเหล่านี้ควรที่จะเอาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมในพื้นที่มาร่วมด้วย เพื่อทำการจับคู่งาน ซึ่งกระทรวงแรงงานเป็นเข้าภาพอยู่ การทำงานตรงนี้ต้องมีกระบวนการนำเข้าระบบ หากปล่อยให้เป็นการทำงานนอกระบบต่อไป การพัฒนาหรือส่งเสริม ก็จะยากลำบาก 

ส่วนเรื่องของการเป็นผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุเป็น SMEs เยอะ จริง ๆ ร้านขายอาหาร มีเจ้าของกิจการที่เป็นผู้สูงอายุเยอะมาก อายุ 70-80 ปี ก็ยังทำร้านอาหาร แม้จะเห็นลูกหลานมาดูแล แต่ร้านเหล่านั้นก็เปิดมานาน ทีนี้จะทำอย่างไร ที่จะเอากลไกเข้าไปหนุนเสริม สร้างองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยี ดิจิทัล สร้างการปรับตัว ส่งเสริมการตลาดและบริการผู้สูงอายุ อาจจะนำไปลดหย่อนภาษี เพื่อให้สินค้าที่ทำจากผู้สูงอายุ หรือบริการจากผู้สูงอายุ เหมือนที่อาลีบาบาทำกองทุน โดยทำโครงการเครดิตแต้มการใช้บริการผู้สูงอายุ

ถ้าเราดีไซน์ให้เข้ากับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนไทย เราสามารถเอาแนวคิดหรือว่ารูปแบบของต่างประเทศมาใช้ เพื่อสร้างงานในท้องถิ่น โดยถ้าทุกคนที่ใช้บริการงานผู้สูงอายุอาจจะได้เครดิตไปซื้อของ ใช้บริการต่อ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมของการพึ่งพาตนเอง เพื่อให้ผู้สูงอายุเปลี่ยนภาระเป็นมูลค่าเพิ่ม 

ด้าน รศ. ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า ในมุมนักวิชาการ สิ่งที่ยังขาด คือ การมีเป้าหมายที่ชัดเจน เรารู้ว่าเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ถ้าดูข้อมูลเราจะเห็นว่าสัดส่วนผู้สูงอายุที่มีงานทำสัดส่วนมันลดลง จากร้อยละ 38 ตอนนี้เหลือร้อยละ 36 ทั้งที่เรื่องนี้เราให้ความสำคัญทุกภาคส่วน แต่ทำไมมันถึงยังลดลง อาจจะเป็นเพราะเรายังคาดเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ เราจะตีความว่าผู้สูงอายุ คือกลุ่มคนที่อายุ 60 ปี ขึ้นไปทั้งหมดมันยาก 

ในทางวิชาการเราเสนอว่า เป็นกลุ่มอายุ 55-59 ปี ถ้าดูจากข้อมูล กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ลาออกจากงานค่อนข้างเยอะ เป็นลำดับที่ 2 ของช่วงอายุคนไทย ส่วนอันดับหนึ่ง คือ ช่วงอายุ 60 ปี สาเหตุมาจากการเกษียณ หรือหมดสัญญาจ้าง จะเห็นชัดว่า พออายุ 60 ปี จะหลุดจากการจ้างงานในทันที 

ในแง่ของเชิงวิชาการ สิ่งที่เราเสนอคือ รัฐเน้นกลุ่มเป้าหมาย 60-64 ปี ก่อนไหม แต่ไม่ได้แปลว่า ช่วงอายุอื่นเราไม่ให้ความสำคัญนะ แต่อันนี้เหมือนเป็นหัวหอก แล้วดูว่าถ้าเรามีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน นำมาสู่การเข้าใจบริบทและเงื่อนไขของผู้สูงอายุแต่ละกลุ่ม

รศ. ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล

เงื่อนไขและปัจจัยที่สำคัญของประชากรผู้สูงอายุแต่ละกลุ่ม คือ เรื่องความพร้อม การ Up Skill – Re Skill และความต้องการ สิ่งที่เราพบจากงานวิจัย มีผู้สูงอายุจำนวนมากมีความพร้อม แต่ไม่ต้องการ ด้วยเหตุผลอะไรหลาย ๆ อย่าง และอีกจำนวนมาก มีความพร้อม ไม่ต้องการ แต่จำเป็นต้องทำ ด้วยเหตุผลเรื่องการเงิน ซึ่งถ้าเรามีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน การออกแบบฉากทัศน์ต่าง ๆ หรือการสนับสนุนจะชัดเจนไปด้วย

เราพูดแทนกลุ่มธุรกิจไม่ได้ ไม่ใช่ทุกภาคส่วนจะเหมาะกับการจ้างงานผู้สูงอายุ มันมีงานศึกษาบอกอยู่ว่า กลุ่มไหนเหมาะสมกับการจ้างงานผู้สูงอายุ นโยบายการสร้างแรงจูงใจสำคัญ แต่การมีเป้าหมาย หรือกลุ่มเป้าหมายชัด จะทำให้ภาพชัดขึ้น 

ในส่วนของนโยบาย การเชื่อมโยง ไม่ใช่มองแค่เรื่องการจ้างงาน แต่มันเชื่อมโยงกับความมั่นคงทางรายได้ เราไม่ระบบบำนาญที่ครอบคลุม ถ้าดูข้อมูลในระยะยาว ไม่ว่าจะเรื่องเบี้ยยังชีพ การสนับสนุนสวัสดิการต่าง ๆ ของการทำงานผู้สูงอายุ ภาระเพิ่มสูงขึ้น การคาดหวังจะพึ่งพาจากสวัสดิการ มันอาจจะมีเพดาน 

ดังนั้น ถ้าเรามองเรื่องการจ้างงาน มันจะเชื่อมโยงกับเรื่องสวัสดิการ เรื่องรายได้ ความจำเป็น ความต้องการทำงานของผู้สูงอายุ และการออกแบบการจ้างงานจะเกิดความจำเพาะ และเจาะจง 

ซึ่งการจะฟังเสียงความต้องการของผู้สูงอายุ ภาครัฐอาจจะมีบทบาทในการเข้ามาทำ เพราะในการหาข้อมูลเชิงประจักษ์ในการมาช่วยตัดสินใจมันยาก  แต่ในวงวิชาการที่เราคุยกันมา มี 2 ปัจจัย คือ เรื่องความพร้อม สุขภาพ ปัจจัยความพร้อมของผู้สูงอายุในปัจจุบัน ไม่เหมือนปัจจัยความพร้อมของผู้สูงอายุเมื่อ 5 ปี ที่แล้ว เพราะเรื่องการศึกษา การพัฒนาสกิล การพัฒนาศักยภาพ แตกต่างกัน ซึ่งภาพรวมดีขึ้น แต่ยังมีกลุ่มที่ดีปานกลาง และไม่ดี ต้องไปแยกดูเป็นส่วน ๆ ความแต่ละกลุ่มมีความพร้อมอย่างไร 

อีกประเด็นคือความต้องการ ซึ่งมาพร้อมกับความต้องการ เพราะต้องการ หรือต้องการ เพราะจำเป็น ทางด้านเศรษฐกิจ 

กลไกท้องถิ่น ช่วยขับเคลื่อนการจ้างงานสูงวัย

ชินวุฒิ อาศน์วิเชียร ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม อบต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี มองประเด็นนี้ว่า ถ้าเป็นสเกลเล็ก ๆ ระดับพื้นที่ ท้องถิ่นก็สามารถช่วยได้ เพราะอย่างที่บอก ส่วนใหญ่สูงวัยอยากจะสูงวัยในถิ่นเดิม อยากจะอยู่บ้าน อยู่กับครอบครัว ถ้าออกไปข้างนอกก็อาจจะลำบาก วันนี้ถ้าเราสำรวจ เพื่อเชื่อมโยงกับกลไกที่มี อย่างเช่นวันนี้เรามีกองทุนผู้สูงอายุ มีการส่งเสริมกู้ยืมเรื่องการประกอบอาชีพ ก็ส่งเสริมในส่วนนี้ให้ชัดเจนขึ้น ให้เขามีรายได้ จากกลุ่มที่ต้องการทำงาน หรือต้องการอาชีพเสริม จากกลุ่มที่เขาส่งเสริมอาชีพในชุมชนอยู่แล้ว

ทำอย่างไรให้เชื่อมต่อกัน อาจจะต้องใช้กลไกของรัฐ หรือท้องถิ่น เข้าไปคุยเพื่อเชื่อมโยงกัน จับมาแมทซ์กัน ระหว่างกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการอาชีพ กับผู้ที่ทำพวก SMEs ที่เขาต้องการผู้สูงอายุ โดยกำหนดความต้องการให้ตรงกัน บาลานซ์เรื่องของเวลา การทำงาน และรายได้ ให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมเข้าไปจัดการ 

ดังนั้นกลไกท้องถิ่นสำคัญ เพราะสเกลเล็กและค่อนข้างเห็นผล ครบเบ็ดเสร็จ แต่ถ้าจะเชื่อมโยงระดับชาติ อาจจะต้องใช้กลไกนโยบาย หรือกลยุทธ์เรื่องสวัสดิการมาสู่กลไกการจ้างงาน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน มีรายได้ ลดภาระค่าใช้จ่ายลง แต่ถ้าวันนี้เราปรับใหม่ นโยบายอาจจะขยับไปอีกสักระยะ อนาคต ผู้สูงอายุท่านไหนที่ครบ 60 ปี แล้วประสงค์ที่จะดำเนินการทำงานประจำต่อ หรืออยากฝึกอาชีพ หารายได้ เราค่อยมาหนุนเสริม

รศ. ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า ส่วนของท้องถิ่น ระดับพื่นที่ แต่ท้องถิ่น อย่างเดียวทำงานไม่ได้ เรื่องการเชื่อมโยงกับภาพใหญ่ของการบาลานซ์กัน รัฐอาจจะต้องมีภาพให้ชัดว่าต้องการอะไร ยกตัวอย่าง ผู้สูงอายุ 60-70 ปี มีงานทำอยู่ร้อยละ 56 อีก 5 ปี อยากขยายให้ได้ร้อยละ 60 เพิ่มแค่ร้อยละ 4 แต่จะรู้ได้เลยว่าต้องเพิ่มกี่คน  

ในแง่ของกลไกต้องมีทั้งจากข้างบนลงมา มีวิสัยทัศน์ภาพของเราว่าอยากเห็นอะไร ต้องเดินไปทางนั้นก่อน ดูว่าจะวัดอย่างไร มันดีขึ้นจริง ให้ไปต่อจริงหรือไม่ มันจะชัด และจะไปเชื่อมต่อกับภาพใหญ่ของประเทศ จะชัดไปด้วย 

One Stop Service เกิดขึ้นได้ ต้องใช้ดาต้าร่วมออกแบบ 

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ฐานข้อมูล เราต้องย้อนกลับไปมองว่า 13.4 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่อ่านออกเขียนได้ 88% อีก 12% อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เราต้องออกแบบดีไซน์ ให้เหมาะสมกับเป้าหมาย ที่สำคัญถ้าดูข้อมูลจะพบว่า ใน 88% มีมากถึง 82% ที่จบการศึกษาระดับชั้นประถม และต่ำกว่าทั้งหมด มีเพียง 7% อยู่ระดับปริญญาตรี การออกแบบต้องไปดูเรื่องของอายุว่ามากน้อยแค่ไหน ทักษะความถนัดของผู้สูงอายุที่มี และความพร้อมในการทำงาน การจะเป็นผู้ประกอบการของผู้สูงอายุ 

จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่องหนี้นอกระบบ พบว่า 47% ของผู้สูงอายุเป็นหนี้นอกระบบ เฉลี่ย 55,000 บาทต่อราย คำถามทำไมวันนี้ผู้สูงอายุยังเป็นหนี้นอกระบบ ทั้งที่ในวัยนั้นควรจะมีความมั่นคง ไม่เป็นหนี้ อันนั้นเป็นเรื่องนอกระบบ ถ้ามองในระบบก็เป็นเรื่องของการส่งเสริมการจ้างงาน อัตราดอกเบี้ยควรจะ 0% หรือ 0.1% เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

‘ช้าการช่าง’ โมเดลการจ้างงานให้ผู้สูงอายุมีรายได้ มั่นคง

สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการช้าการช่าง กล่าวว่า ในการออกแบบการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องการจ้างงานผู้สูงอายุของมูลนิธิกระจกเงา เรามีคลัสเตอร์จากการไป matching งานเหมือนกัน เห็นด้วยกับอาจารย์เรื่องกลุ่มเป้าหมาย เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราไม่มีการแบ่งกลุ่มเป้าหมาย ไม่สามารถที่จะดูได้ว่าตลาดแรงงานมีอะไรอยู่ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ก็จะทำให้เกิดความวุ่นวาย เราต้องดูว่ามีกลุ่มผู้สูงอายุในรูปแบบใดบ้าง เช่น มีทักษะแบบไหน ศักยภาพขนาดไหน เหมาะกับงานแบบไหน ซึ่งมันจะตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาได้เลยทันทีแค่เราปรับเรื่องนี้ 

สำหรับโครงการช้าการช่าง ตอนแรก ๆ ที่เราทำก่อนจะเป็นช้าการช่าง เราเป็นจ้างวานฆ่ามาก่อนคือรับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงตลาดแรงงานได้แล้วมาทำการแบบกลุ่มเป้าหมายดูว่าใครทำอะไรได้บ้าง ซึ่งช้าการช่าง เป็นโครงการหนึ่งที่เราสำรวจข้อมูล แล้วก็เห็นกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ เห็นว่ามีผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งที่มีทักษะในงานช่าง เราก็เลยทำการสร้างงานขึ้นมาให้กับพวกเขาเหมือนกับเราเป็นฐานประกอบการ จ้างงานเขา แล้วก็ไปจับคู่หางานให้เขา 

แต่สิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญ ก็คือเรื่องของการตลาด ถ้าเราทำให้ตัว Concept มันชัดเจน นำไปสู่การเกิดประโยชน์ เช่น ไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพที่ดีขึ้นได้หลังเกษียณ ถ้าเราทำสิ่งนี้ให้ชัดเจน แล้วเอามาเป็นแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามา อย่างโครงการช้าการช่างเราทำสิ่งนี้ให้ชัดเรื่องของการจ้างงานผู้สูงอายุที่ช่าง เราคิดว่าเขามีศักยภาพอยู่ และคิดว่าศักยภาพที่เขามีอยู่มันน่าเสียดาย ถ้าทำให้เขาต้องอยู่บ้านเฉย ๆ ซึ่งมันตรงกับความต้องการของตลาด ตลาดวิ่งมาหาเราเอง แม้แต่บริษัทข้ามชาติก็วิ่งเข้ามา เขารู้สึกว่าสิ่งนี้ควรได้รับการสนับสนุนเพราะว่าคอนเซ็ปต์ของเราชัดมันขายได้ เขาก็ทำเรื่อง CSR ไปได้ด้วย

แก้โจทย์ Upskill & Reskill ให้ทันต่อความต้องการของตลาดแรงงาน

แสงชัย ธีรกุลวาณิช กล่าวในฐานะตัวแทนภาคเอกชน บอกว่าตอนนี้ผู้สูงอายุกระจายอยู่ในตามภูมิภาคต่าง ๆ แต่การ Upskill & Reskill นอกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จำเป็นเป็นตัวเชื่อมหลักยังมีอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค หรือเรียกว่า University Science Park หรือ Regional Science Park ที่อยู่ตามภูมิภาค แล้วก็มหาลัยต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ ตอนนี้กลไกนอกจากกระทรวงแรงงาน หรือว่า พม. การเข้าถึงการ Upskill อาจจะต้องเอามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีบทบาทในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมและออกแบบให้ตอบโจทย์กับกลุ่มท้องถิ่นในแต่ละท้องถิ่นที่จะไป โดยคำนึงถึงตลาด ในส่วนนี้จะไปอยู่ในสังกัดของกระทรวง อว. 

นอกจากนี้ยังมี สสว. ที่เป็นสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่ได้จำกัดแค่ผู้สูงอายุ อาจจะต้องเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาที่ไปขึ้นทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิชย์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าเป็นรายย่อยที่เป็นผู้สูงอายุ ภาครัฐทำเรื่อง Upskill หรือ Reskill โดยออกค่าใช้จ่ายให้ 80% ของวงเงิน เช่น 100 บาท ภาครัฐออกให้ 80 บาท จะมี Service provider ให้ อันนี้จะเป็นกลไกในการช่วยเรื่อง Upskill & Reskill

นอกจากนี้ยังมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่มีกองของผู้ประกอบการที่จะดูให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ ผู้สูงอายุในท้องถิ่นสามารถรวมตัวกันไป สมมติว่าอยากเรียนรู้เรื่องการประดิษฐ์ดอกไม้ เพื่อการส่งออก ก็สามารถรวมกลุ่มแล้วให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดช่วยค่าใช้จ่าย และหาวิธีในการฝึกอบรมให้แบบฟรี เป็นต้น 

จริง ๆ ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราขาดการคุยกัน จะเห็นได้ว่าหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นไหนจับมือร่วมการทำงานได้ดีก็จะสามารถพัฒนาท้องถิ่น และเครือข่ายร่วมกับสถาบันการศึกษา ในระดับมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษาได้ ก็จะมีประโยชน์ ในเรื่องของทักษะความเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงเรื่องของการส่งเสริมแหล่งทุน 

ข้อมูลเมื่อสักครู่ บอกว่าหนี้นอกระบบของผู้สูงอายุเฉลี่ย เกือบครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุ มีหนี้นอกระบบ รายละ 50,500 บาท ผมเข้าใจว่าเขาอาจจะมีบางส่วนเอาไปลงทุน บางส่วนเอาไปอุปโภค บริโภคนะครับ บางส่วนอาจจะเอาไปใช้หนี้เก่า เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เขาเรียนรู้การบริหารการเงิน บัญชีกระเป๋าซ้าย กระเป๋าขวา เงินได้ตรงไหนจะเก็บตรงไหนจะจ่าย

สิทธิพล ชูประจง เสริมต่อในประเด็นนี้ว่า ถ้าเราจัด Tarket ได้ก่อน Upskill & Reskill ก็จะตามมา เพราะว่ามันจัดระเบียบเรียบร้อยแล้ว ว่าเรามีคนแบบไหนบ้าง มีศักยภาพยังไงบ้าง มีความถนัดอะไรบ้าง มีความต้องการยังไงบ้าง 

ช้าการช่าง เรามีตัวบริษัทที่เค้าทําเรื่องเกี่ยวกับขายเฟอร์นิเจอร์เข้ามา ที่จะจ้างช่างเราในการทํางาน แต่ว่าสิ่งที่เค้ามาด้วยก็คือว่า เค้าพร้อมเลยที่จะ Upskill & Reskill ให้กับช่างที่เป็นช่างเฟอร์นิเจอร์ ช่างไม้ แม้ว่าเขาอาจจะเป็นช่างไม้เป็นช่างเฟอร์นิเจอร์กันมาแล้ว มีอยู่แล้ว แต่ว่าเค้าอาจจะต้องมีเรื่องการเรียนรู้ เครื่องมือใหม่เทคโนโลยีใหม่ ให้ตรงกับความต้องการของโลกสมัยใหม่ และตรงกับสินค้าของเขาอะไรแบบนี้ ผมคิดว่ามันต้องเริ่มจากตรงนี้เลย ถ้าเรามีความชัดเจนต่อกลุ่ม ว่าเรามีงานอะไรบ้างนะครับ ผมคิดว่าไอ้สิ่งเนี้ยมันจะวิ่งตามเข้ามา

ด้าน ชินวุฒิ อาศน์วิเชียร มองเรื่องของการ Upskill & Reskill ว่า ถ้าวันนี้ เรารู้ข้อมูลในส่วนของประชาชนผู้สูงอายุผมว่าไม่ยาก แต่สิ่งที่เราไม่ Matching  ชิ่งกันก็คือเรื่องของความต้องการของแรงงานที่ว่าเค้าต้องการแบบไหน ต้องการอะไร แล้วก็หาจุดกึ่งกลางอาจจะใช้กลไกของโรงงานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ มาเป็นตัวช่วยหนุนให้มันมาเจอกัน มันจะเป็นแบบเป็น Job Matching กัน เพราะตอนเนี้ยปัญหาที่เราพบก็คือว่า

วันนี้ประชาชน หรือผู้สูงอายุเนี่ยต้องการ บอกว่าต้องการนู่นนี่นั่น แต่ภาคเอกชนไม่ต้องการ สุดท้ายกลายเป็นว่าคนในชุมชนผู้สูงอายุท้องถิ่นเนี่ยก็กลายเป็นแค่ฝึกอาชีพ ทําสินค้าจําหน่ายแล้วมันก็แค่จบแค่นั้น มันไม่ไปต่อเรื่องของการมีงานทําอย่างยั่งยืน ในช่วงที่เค้าเหมาะสมกับการทํางานที่ยังทํางานได้อยู่

มันจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดว่าภาครัฐกําหนดแนวทางให้เอกชนเอื้อในเรื่องของการที่กําหนดกลุ่มเป้าหมายมาว่าต้องการแบบไหนแล้วลิสต์รายการหน่วยงานที่รับลูกไป อย่างเช่น กระทรวงแรงงาน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือว่าทางมหาวิทยาลัยเนี่ยช่วยกันเอา Upskill & Reskill มันจะทําให้เกิดประโยชน์ต่อกันได้ สุดท้ายแล้วก็ต้องโยงไปที่ภาครัฐ กำหนดให้ท้องถิ่นเก็บข้อมูลปัญหาความต้องการของผู้สูงวัยช่วงการทํางาน แล้วก็กําหนดมาที่ภาคเอกชนในการที่จะต้องช่วยกันอาจจะมีมาตรการ หรือว่าแรงจูงใจในการที่กําหนด Tarket ของผู้สูงอายุที่ต้องการในการทํางานมาว่าอะไรที่รับได้รับไม่ได้ 

อีกส่วนหนึ่งมาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการหางาน หรือว่านับถึงรายงานครับ เอามาแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่ทีนี้ปัญหาที่มันยากคือมันจะเชื่อมโยงข้อมูลกันยังไง เป็นโจทย์สําคัญเพราะว่าที่ผ่านมาเลยพบว่ามันค่อนข้างแยกส่วน พอมันแยกส่วน ต่างคนก็ต่างทํา สุดท้าย Goal มันก็ไม่ได้เป็นทางเดียวกันดังนั้น อาจจะต้องกําหนดร่วมกันระหว่างรัฐกับหน่วยงาน และภาคเอกชนน อันนี้เป็นโจทย์

ปิดท้ายที่ รศ. ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล มองประเด็นนี้ว่า ส่วนตัวคิดว่าเหมือนกรณีมหาวิทยาลัยเราจะเปิดหลักสูตรให้ผู้เรียนมาเรียนใช่ไหมครับ มันต้องแน่ใจก่อนว่ามันตอบโจทย์ความต้องการของเขา แต่คงไม่เฉพาะผู้เรียนเท่านั้น เมื่อกี้เมื่อสักครู่ท่าน ผอ. ได้พูดไปแล้ว ต้องดูฝั่งของ User  ด้วยว่ามันต้องเป็นในส่วนความต้องการของผู้เรียน และ User  ของคนที่จะใช้หรือคนที่จะเป็นนายจ้างด้วย ถ้าเราสามารถ Match เขาได้ก่อนว่าเขาต้องการแรงงานขนาดประมาณนี้ มี Skill ประมาณนี้ ซึ่งผู้สูงอายุอาจจะมีแล้ว แต่อาจจะขาดบางส่วนที่มันจําเป็นต้อง Top Up ถ้าเราไปดูตรงนั้นได้แล้วตอบโจทย์สิ่งที่ขาด ๆ อยู่ได้ Upskill & Reskill มันจะตรง แล้วมันก็จะไม่มีปัญหาที่บอกว่ามันไม่ตรงกับความต้องการ 

ผมอยากลิสต์อีกประเด็นนึงว่า เราพูดถึงการ Upskill & Reskill เราไม่อยากให้มองที่การ Upskill & Reskill ที่ประชากรอายุ 60 ปี มันควรจะมีการพูดตั้งแต่อายุซัก 45 ปี หรือ 40 ปี ขึ้นไป เพราะการ Upskill & Reskill มันไม่ใช่ว่า Upskill วันนี้หนึ่งสัปดาห์แล้วมี Skill ขึ้นมาทันทีใช่มั้ยครับ รวมไปถึงความต้องการของ Skill ของเราเองด้วย ไม่ใช่ว่าวันนี้เห็นแล้วว่าปีหน้าอยากทํางานนี้ ก็เลยไป Upskill & Reskill เราได้ ผมแค่อยากมองว่ามันอาจจะต้องเป็นเรื่องของการวางแผนด้วย โดยเฉพาะในช่วงประชากรที่อายุซัก 40 ปี หรือ 45 ปี ขึ้นไป ที่อาจจะต้องสร้าง

ความตระหนักให้กับตัวเองว่า 10 ปี ข้างหน้าเนี่ย คุณอาจจะต้องเกษียณหรืออาจจะเปลี่ยนงานแล้ว ด้วยความต้องการของคุณเองในอนาคตคุณอยากทําอะไร งานที่คุณอยากทํา Skill ที่คุณต้องการอาจจะต้องมีการ Up ต้องมีการ Re แล้วไม่ใช่ Up แล้ว Re ครั้งเดียวอาจจะต้องต่อเนื่องจนถึงอายุสัก 60 ปี พอถึง 60 ปีแล้ว มันก็จะเกิดความพร้อมขึ้นมา 

ในฝั่งของตัวนายจ้างเองก็คงต้อง Aware ผมเชื่อว่าสําประกอบการส่วนใหญ่ก็จะรู้ว่าสังคมผู้สูงอายุอนาคตเราจะมีแรงงานลดน้อยลงถ้าไม่พูดถึงแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้ามา หรือต้องมาฝึกเพิ่มขึ้นเนี่ย ถ้าจะการ Manage อันนึงให้ป้องกันเรื่องการขาดแรงงานก็คือคงต้องมองว่าแรงงานที่ยังสูงอายุขึ้นเรื่อย ๆ จะทํายังไงให้เค้าอยู่ได้นานขึ้นโดยที่ยังสามารถใช้ประโยชน์แล้วก็เป็นวิน ๆ ทั้ง 2 ฝ่ายได้ ซึ่งตรงเนี้ยควรต้องมองตั้งแต่อายุ 40 ปี ถึง 45 ปี 

ซึ่งเมื่อกี้เราคุยเรื่องการพัฒนาฐานข้อมูล กับเชื่อมโยง ผมคิดว่ามีความสําคัญแต่อยากเป็น Message อันนึงว่าไม่ได้เสนอว่าอยากให้มีการพัฒนาฐานข้อมูลใหม่นะครับ เพราะจริง ๆ เนี่ยผมเชื่อว่าอย่าง อปท.ในพื้นที่ก็มีฐานข้อมูลที่กองในส่วนของทะเบียนราษฎร์ ในส่วนของแรงงานหรือในส่วนของเบี้ยยังชีพมันจะมีข้อมูลพื้นฐานที่ สามารถมาดูได้ทั้งในเรื่องของอายุในเรื่องของทักษะประสบการณ์การทํางานตรงนี้เบื้องต้น สามารถเอามาใช้ในการวางแผนได้ 

ส่วนเรื่องของแหล่งทุน อาจจะเป็นโจทย์สำหรับผู้ชำนาญการหลายท่านที่อยากเป็นผู้ประกอบการต้องการ Upskill & Reskill บางคนมี Skill อยู่แล้ว แต่ไปไม่ถึงเพราะไม่มีเงินทุน คําถามคือวันนี้ภาพรวมของสังคมไทยในในแบบที่เราไม่ได้คิดเรื่องสูงอายุนะคะยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอยู่ 

มันมีเรื่องของ Credit Scoring เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีการประเมินทักษะที่ไม่ใช่ทางการเงิน แต่มันจะเป็นการประเมินทักษะของผู้สูงอายุในด้านขีดความสามารถต่าง ๆ เราคิดว่ากองทุนหมู่บ้าน กองทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเรื่องของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เอามากระจาย เม็ดเงินต่าง ๆ รวมถึงกองทุน สสว. ก็มี เร็ว ๆ นี้อาจมีเม็ดเงินในการที่จะมาทําเรื่องของการส่งเสริมให้กับผู้ประกอบการ SMEs ด้วย 

การให้ความสําคัญกับผู้ประกอบการที่สูงอายุ อาจจะต้องมีส่วนหนึ่งของเงินในแต่ละกองทุน เพื่อที่จะมาดูแลการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับผู้สูงอายุอาจจะเป็นอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ 0.1 – 0.5% ผู้สูงอายุสามารถที่จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทาง GDP ด้วยนะครับ เพราะว่าส่วนสําคัญก็คือยังมีอาชีพทําที่จะสามารถหารายได้ก็จะทําให้สภาวะเศรษฐกิจท้องถิ่นในแต่ละท้องถิ่นเติบโตได้ด้วย

ภาพอนาคตการทำงานของสังคมสูงวัย – 

หลังจากได้ฟังมุมมองจากวิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้ว ทางรายการมีฉากทัศน์ที่เป็นสารตั้งต้นของการพูดคุยในวันนี้ มาให้คนในวงได้ลองโหวตเลือกกันทั้งหมด 3 ฉากทัศน์

รัฐเห็นความสำคัญของกำลังแรงงานของคนสูงวัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมสถานประกอบการขยายการจ้างงาน ต่ออายุเกษียณ สร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่คนทำงาน โดยร่วมพัฒนาศักยภาพแรงงาน Upskill & Reskill อย่างเหมาะสม ด้วยฐานข้อมูลการศึกษาวิจัยที่เป็นระบบ สร้างทัศนคติสูงวัยในที่ทำงานไม่ใช่ภาระ และออกกฎหมาย หรือมีมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบการจ้างงานผู้สูงอายุ แต่ด้วยตำแหน่งงานที่มีอาจไม่เพียงพอรองรับ สังคมจึงต้องร่วมผลักดันเรื่องสวัสดิการสูงวัยถ้วนหน้าควบคู่ไปด้วย

หน่วยงานรัฐประสานความร่วมมือ บูรณาการการทำงานเพื่อส่งเสริมอาชีพคนสูงวัยอย่างเป็นระบบ เห็นความสำคัญของคุณค่า ภูมิปัญญา และศักยภาพของคนในชุมชน โดยร่วมกับรัฐท้องถิ่นในการสร้างอาชีพและรายได้ให้กลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งที่รวมกลุ่มและปัจเจก โดยทำงานเชื่อมกับคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญคือการกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นได้ใช้ศักยภาพและข้อมูลของพื้นที่ สร้างสรรค์งานที่เหมาะสมกับผู้คน บริบทสังคม และฐานทรัพยากร เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ดึงดูดการลงทุน และส่งเสริมตลาดงานในท้องถิ่น แม้รายได้อาจไม่สูง แต่ได้ทำงานอยู่ในชุมชน

อาชีพในสังคมสูงวัยยุคใหม่มีความหลากหลาย รัฐสถาบันการศึกษา ร่วมมือกับภาคเอกชนต่าง ๆ ในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อ Upskill & Reskill ส่งเสริมการสร้างรายได้ในกลุ่มคนสูงวัยเพื่อคนสูงวัย โดยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีศักยภาพและองค์ความรู้ในฐานะผู้ประกอบการ สถาบันการเงินเปิดช่องสำหรับสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ที่เหมาะสมกับคนสูงวัย โดยมีรัฐร่วมสนับสนุน เพื่อให้คนสูงวัยได้ปรับตัวเข้ากับตลาดงานยุคใหม่ อย่างไรก็ตามท่ามกลางการแข่งขันสูงและเปลี่ยนแปลงเร็ว แม้จะมีโอกาสทำเงินได้มาก แต่ความเสี่ยงคือสิ่งที่ต้องพร้อมรับ

ส่วนผลการโหวตภายในวงเสวนา จะมีด้วยกันทั้งหมด 2 ครั้ง ซึ่งในรอบแรกเราให้ผู้เข้าร่วมทำการโหวตก่อนที่จะได้รับฟังชุดข้อมูลจากวิทยากร และรอบสองคือหลังจากได้ฟังชุดข้อมูลที่วิทยากรได้แลกเปลี่ยนไปแล้ว โดยผลลัพธ์ที่ได้มีดังนี้ 

ในรอบแรกก่อนที่ทุกท่านในวงจะได้ฟังชุดข้อมูล มีคนโหวตให้กับฉากทัศน์ที่ 1 มากที่สุด 52% แต่ในรอบที่สองนั้น ผลโหวตได้เปลี่ยนไป ฉากทัศน์ที่ 2 กลายเป็นฉากทัศน์ที่มีคนโหวตเลือกมากที่สุด 43%

แล้วถ้าเป็นคุณจะเลือกฉากทัศน์ไหน ลองโหวตบอกเราหน่อย 

ทุกท่านสามารถติดตามเสวนารายการฟังเสียงประเทศไทยตอนนี้ได้แบบเต็ม ๆ ได้ที่ลิงก์ด้างล่างนี้เลย 

แชร์บทความนี้