ปลุกครามปัตตานี ด้วยงานวิจัยฯ และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทุนชุมชน

“ครามเป็นพืชเจริญเติบโต ได้ดีในพื้นที่บริเวณริมชายฝั่ง ดินร่วนปนทรายสภาพดินเค็ม และน้ำไม่ท่วมขัง การวิจัยเริ่มต้นด้วยการสำรวจต้นครามธรรมชาติในพื้นที่ ตำบลรูสะมิแล ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก่อน”

นราวดี โลหะจินดา

นราวดี โลหะจินดา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ สังกัด สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เชื่อมร้อยครามกับประวัติศาสตร์ของเมืองปตานี

“พบว่าในพื้นที่รูสะมิแล มีต้นครามแยกคร่าว ๆ ได้ 2 สายพันธุ์ ทั้งฝักตรงและฝักงอ นอกจากนี้พื้นที่นาเกลือ ตำบลตันหยงลุโละ และอำเภอปานาเระ ตลอดแนวชายฝั่งทะเลถึง จังหวัดนราธิวาสก็ได้พบต้นครามเช่นกัน จากนั้นเริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์มาทดลองปลูก ซึ่งไปปลูกในที่นาของชาวบ้านหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว”

“ช่วงแรกของการปลูกไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งทำให้น้ำขังต้นครามอายุ 60 วัน ทิ้งใบ ทำให้พบว่าครามนั้นเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก จากนั้นจึงเริ่มทดลองปลูกอีกในปีต่อมา รอบนี้ถือว่าประสบความสำเร็จได้ครามตามที่ต้องการ”

แปลงปลูกครามที่นราวดี โลหะจินดา ทดลองและพัฒนา

“ต่อมาได้ย้ายมาปลูกในพื้นของมหาวิทยาลัย เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ส่งต่อให้กลุ่มคน ที่สนใจขยายพันธุ์และเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาและผู้ที่สนใจ นอกจากได้ศึกษาลองผิดลองถูกเอง พร้อมศึกษาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้วระหว่างการศึกษาก็ได้องค์ความรู้จากผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ เครือข่าย ที่ทำให้การศึกษาเพราะเห็นถึงความตั้งใจที่อยากฟื้นฟูครามปัตตานี ให้มันกลับมาให้ได้อีกด้วย”

ปัตตานีในอดีตเป็นเมืองท่าสำคัญในยุคการค้าทางเรือ ต่อเนื่องมาถึงยุคการล่าอาณานิคม มีบันทึกชาวต่างชาติ บรรยายถึงสินค้าเข้าและสินค้าออกของเมืองปัตตานีไว้หลากหลาย นอกจากนี้ยังบรรยายถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การแต่งกายการใช้ผ้า จากบันทึกการเดินเรือของเจิ้งโห พุทธศตวรรษที่ 19

“ประชาชนในท้องถิ่นทำเกลือจากน้ำทะเลและเหล้าจากต้นสาคู นอกจากนี้ยังมีผลผลิตอย่างอื่น เช่น น้ำผึ้ง น้ำตาลทราย เครื่องหอม ผ้าขาวที่เรียกว่า ผ้าบาคูลา ผู้หญิงชอบนุ่งผ้าสีขาวและกระโจมอกด้วยผ้าสีน้ำเงิน” บันทึกอ้างถึงการใช้ผ้าสีน้ำเงิน และมีเอกสารที่กล่าวถึง คราม เป็นสินค้าส่งออกของเมืองปัตตานี “สินค้าท้องถิ่นที่ปัตตานีที่เป็นที่ต้องการของพ่อค้า ชาวโปรตุเกสได้แก่ ข้าว ดีบุก งาช้าง กำยาน คราม ครั่ง และไม้ฝาง”

มีข้อมูลสำคัญที่กล่าวถึงคราม ในปี พ.ศ.2184 “สินค้าท้องถิ่นปัตตานี เป็นที่ต้องการของพ่อค้าชาวโปรตุเกส ได้แก่ ข้าว ดีบุก งาช้าง กำยาน คราม ครั่ง และไม้ฝาง นอกจากนี้สินค้าจากจีนและญี่ปุ่นพวกเครื่องถ้วยชาม แพรไหม และทองแดงก็เป็นที่ต้องการของพ่อค้าโปรตุเกส เพื่อซื้อไปจำหน่ายในประเทศแถบตะวันตกอีกทอดหนึ่ง”

ปัจจุบันมีการวิจัยเพื่อฟื้นฟูและต่อยอดครามที่อยู่ในรอบอ่าวปัตตานี นำมาใช้งานในงานผ้าย้อมครามและ การนำองค์ความรู้ไปใช้งานออกแบบสร้างสรรค์ ของบรรดานักออกแบบ เป็นการนำสิ่งที่อยู่ในพื้นที่สร้างสรรค์ งานและต่อยอดธุรกิจ และส่งต่อความรู้ทางวิชาการสู่การปฏิบัติแก่ชุมชนและกลุ่มชาวบ้านได้นำไปใช้งาน ส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมงานสร้างสรรค์ สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา ศิลปินเซรามิกมลายู คือหนึ่งในคนที่ทำงานฟื้นฟูครามปัตตานีในครั้งนี้ ด้วยการสร้างคุณค่าผ่านลวดลายและผู้คน

เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา

“หลังจากที่เราได้กลับมาบ้านเริ่มทำงานกับชุมชน เริ่มสัมผัสถึงวิถีชีวิตความเป็นรากเหง้าของเราเอง ก็มีแรงบรรดาลใจที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในพื้นที่ ในขณะเดียวกันเราก็อนุรักษ์สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามในอดีตควบคู่กันไป”

“เรารู้สึกอยากจะกลับมาพัฒนาสร้างมูลค่าของดินให้มีมูลค่ามากขึ้น ก็เลยเกิดเป็นงานเซรามิคในครั้งแรกเมื่อ13-14 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นเราก็เริ่มสัมผัสว่ามัน ไม่ใช่แค่งานเซรามิคที่จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ ยังมีอีกหลาย ๆ วัตถุดิบ และทักษะเชิงช่างของคนในพื้นที่ก็มีมากมายทั้งงานหัตถกรรม เรารู้สึกว่าอันนี้แหละที่จะเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ ที่เราเริ่มจะสนใจหลาย ๆ ศาสตร์ของงานหัตกรรม”

“หลังจากเราได้ร่วมงานกับ Pattani Decoded ที่จัดขึ้นโดย Melayu Living ในพื้นที่ปัตตานีทำให้ผมได้รู้จัก อาจารย์นราวดี โลหะจินดา นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ สังกัดสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาจารย์ได้พูดถึงเรื่องคราม มันทำให้เราตื่นเต้นหัวใจพองโตในเวลานั้น”

“ผมชอบครามมานานมากแล้ว พอ ๆ กับเซรามิค”

เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา และนราวดี โลหะจินดา ตรวจดูครามที่เลี้ยงไว้

“แต่ว่าไม่คิดจะต่อยอดไม่คิดจะรื้อฟื้น เพราะว่าไม่คิดว่ามันจะมีในพื้นที่ แต่พึ่งมาทราบจากอาจารย์นราวดี ว่าครามที่พบมันเป็นครามพื้นเมืองของปัตตานี อยู่กับเรามา 200-300 ปีมาแล้วเคยมีคุณค่า เคยเป็นสินค้าที่ส่งออกของปัตตานี”

เรารู้สึกว่าตื่นเต้นมากรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นจุดปักหมุดเมื่อปีที่ผ่านมา เราเริ่มสนใจศึกษาจนมาวันนี้เอาเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองมาปลูกในแปลงบ้านเรา ทำเป็นฟาร์มในพื้นที่ที่เราจัดการได้ เริ่มนำมาใช้ ก่อหม้อครามโดยมีที่ปรึกษา คืออาจารย์ตุ๊กตา วาสนา แผลติตะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ค่อยมาดูแลให้ความรู้เกี่ยวกับครามและการก่อหม้อคราม”

“จนวันหนึ่งเราก็เข้าใจว่าหม้อครามคืออะไร ต้องการอาหารอะไรในการเลี้ยงดู เพราะว่ามันคือจุลินทรีย์ที่เราต้องเข้าใจมัน ไม่ใช่แค่น้ำสีแต่คือสิ่งมีชีวิตที่ต้องอ่อนโยนกับเขาและเข้าใจเขา ทำให้เรารู้สึกว่านี้คือจิตวิญญาณในการก่อหม้อคราม”

ลวดลายผ้าครามที่ใช้แม่พิมพ์จากไผ่ในพื้นที่

“แม่พิมพ์ลายที่เรานำมาใช้คือแม่พิมพ์จากไม้ไผ่ที่ได้จากคนในพื้นที่ และสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ด้วย ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เรากำลังคิดค้นนั้นคือนวัตกรรมควบคู่กับครามที่เรารื้อฟื้นกลับมา ได้เป็นอัตลักษณ์ที่เป็นงานของเรา การพิมพ์ผ้าที่แม่พิมพ์มาจากไม้ไผ่กับครามพื้นเมืองปัตตานีก็อยากที่จะถ่ายทอดความรู้นี้ต่อไป”

ด้านสุพัตรา คำตั๋น ประธานกลุ่มวิสาหกิจพื้นบ้านมัดย้อม By ซายัง เริ่มศึกษาเรื่องสีธรรมชาติเพื่อผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมที่ทางกลุ่มทำอยู่ก่อนแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สีเคมี จนได้พบเจอกับนราวดี โลหะจินดา นักวิจัยเรื่องครามปัตตานี เติมความรู้เกี่ยวข้องกับ สีธรรมชาติจากคราม หรือ หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกต้นครามว่า “ปาหงสือแน” โดยคำว่า “สือแน” แปลว่า “สีคราม”

กลุ่ม “มัดย้อม by ซายัง” หรือกลุ่มสตรีสันติสุข เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของสตรีแม่บ้านในพื้นที่ ต.คลองมานิง อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่ต้องการหารายได้เสริมและหาเวลาว่างให้ครอบครัว ในช่วงแรกกลุ่มทำงานโดยการรับทำตัดเย็บเสื้อผ้ามุสลิม แปรรูปกระเป๋าจากผ้าปาเตะ

สุพัตรา คำตั๋น กับลวดลายผ้าครามที่ทางกลุ่มใช้แม่พิมพ์โบราณลวดลายมลายู

“ทางกลุ่ม มัดย้อม by ซายัง ไม่มีไครที่รู้จักคราม มาก่อน และไม่รู้เลยว่า ที่ปัตตานีบ้านเรานั้นก็มีครามเช่น เดียวกัน จากนั้นได้มีการสอบถามผู้เฒ่าคนแก่ในพื้นที่ก็พบ ว่ามีการเล่าต่อ ๆ มาว่าในอดีตมีการ ทำสีธรรมชาติจากคราม โดยการนำไปต้มเพื่อนำมาย้อมผ้า แต่ความรู้รวมถึงกระบวนการทำได้สาบสูญไป ตามกาลเวลา หลังจากได้ข้อมูลประเภทของครามปัตตานี ที่มี 2 ชนิด ฝักตรง และฝักงอที่รวมไปถึงการเรียนรู้เบื้องต้นในกระบวนการทำคราม”

จากการศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง โดยการเดินทางไปยังแหล่งเรียนรู้คราม ที่ จ.สกลนคร เพื่อนำมาพัฒนาครามในพื้นที่ ปัจจุบันสุพัตรา และกลุ่ม“มัดย้อม by ซายัง” ประสบความสำเร็จ ในการผลิตชิ้นงานจากครามปัตตานี ได้แก่ ผ้ามัดย้อมคราม และผ้าปาเตะพิมพ์เทียนจากลวดลายโบราณ ที่ใช้สีจากครามปัตตานี

“เราอยากจะนำเสนอเรื่องราว #ครามปัตตานี ให้แก่ผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่ได้รู้จัก ลวดลายลังกาสุกะ บนเนื้อผ้าสีครามปัตตานีที่เป็นอัตลักษณ์ ไปเผยแพร่เพื่อขับเคลื่อนเรื่องราวการค้าขายครามในอดีตกลับมาให้เป็นสินค้าส่งออกของปัตตานี ไม่ใช่แค่ปัตตานีหรือสามจังหวัดเท่านั้น เราอยากให้คนทั่วประเทศได้รู้จักครามปัตตานีเช่นกัน”

สุพัตรา คำตั๋น

“ปัจจุบันครามปัตตานีมีน้อยและหายากไม่เหมือนกับครามที่อื่น ในเรื่องราคาตอนนี้ครามปัตตานีมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้มีคนสนใจมาก แต่ยังไม่มีคนทำแบบจริงจัง คนทำน้อยคาดว่าถ้าทำกันจริงจังหรือว่ามีกลุ่มที่ทำจริงจัง มันจะเป็นพืชเศรษฐกิจจะมีรายได้เพิ่มให้กับคนในพื้นที่มากขึ้น”

สุพัตรา คำตั๋น

เรื่อง : อรรณพ เจ๊ะสุโหลง
ภาพ : อรรณพ เจ๊ะสุโหลง

แชร์บทความนี้