Ome Jantasuwan เขียน
“ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมบริหารจัดการเมือง” นี่คือหนึ่งในสองยุทธศาสตร์สำคัญ “ด้านบริหารจัดการดี” จาก 9 ด้าน 9 ดีของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ว่ากว่า 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเข้ามารับตำแหน่งของคณะทำงานทีมชัชชาติ การมีส่วนร่วมของประชาชนยังคงเป็นปัญหาคำสำคัญอย่างต่อเนื่องเช่น ร่างผังเมืองกรุงเทพมหานครหรือการรื้อถอนชุมชนโดยไร้แผนรองรับ
“คนชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วม” คือเสียงจากชาวชุมชนวัดดวงแข ชุมชนแออัดติดสถานีรถไฟหัวลำโพง ที่กำลังต้องรับมือกับคำสั่งเขตปทุมวันให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวพัฒนาแทนที่การอยู่อาศัย เป็นความไม่มั่นคงในชีวิตที่พวกเขาไม่สามารถรวมกำหนดได้
ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มชาวบ้านจากชุมชนวัดดวงแขและเครือข่ายเพื่อนดวงแขน นัดรวมตัวที่ ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เพื่อแสดงเจตจำนงค์ไม่ย้ายออกจากพื้นที่ และต้องการสื่อสารถึงความไม่เป็นธรรมในกระบวนการที่ต้องการให้ชาวบ้านต้องย้ายออกไปจากพื้นที่
การรวมตัวและยื่นจดหมายข้อเรียกร้อง ส่งผลให้มีการเรียกประชุมด่วนเพื่อหารือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นี่นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี หลังมีคำสั่งเขตปทุมวันที่ กท.4403/1351 ที่ชาวบ้านชุมชนวัดดวงแขและเจ้าหน้าที่เขตปทุมวันได้มีโอกาสพูดคุยกันอย่างจริงจัง และมีศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเข้าร่วมด้วยในช่วงท้าย ๆ
จากการพูดคุย ในเบื้องต้นทางกรุงเทพมหานครได้รับจดหมายข้อเสนอจากชาวบ้านเข้าสู่สารระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ข้อสรุปจากที่ประชุมเห็นว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญก่อนคือเรื่องผลกระทบจากการก่อสร้างจากสำนักงานเขตที่อาจส่งผลกระทบกับชาวบ้านได้ ส่วนนี้ชาวบ้านให้ความร่วมมือในการก่อสร้างและรับรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่หากมีผลกระทบที่สร้างความเสียหายเช่น สิ่งก่อสร้างตกใส่หลังคาฯ ต้องสามารถร้องเรียนกับเขตได้ ส่วนเรื่องของคำสั่งเขตปทุมวันที่ กท.4403/1351 ที่เป็นปัญหาหลักยังไม่ได้ถูกพูดถึงทางออกแต่อย่างใด
ในที่ประชุม ชาวบ้านชุมชนวัดดวงแขยังคงยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่มีการย้ายออกเพราะนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมและหลังจากนี้จะมีการปรับปรุงชุมชนครั้งใหญ่ โดยหลังจากนี้จะมีการ Big Cleaning Day และปรับปรุงชุมชนให้เป็นพื้นที่สะอาดและปลอดภัยมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่สร้างใหม่ เพราะเขาเชื่อว่าความเจริญเมืองและชุมชนสามารถพัฒนาร่วมกันได้
ทั้งนี้ ชุมชนวัดดวงแข ตั้งอยู่ที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ชุมชนอยู่ติดกำแพงกับสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) มีพื้นที่ประมาณ 3.5 ไร่ มีจำนวนผู้อยู่อาศัย 75 หลังคาเรือน โดยมีวัดดวงแขเป็นสถานที่สำคัญของชุมชน ลักษณะของชุมชนเป็นชุมชนแออัดบ้านเรือนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้หรือสังกะสี อาชีพของผู้คนในชุมชนจะมีทั้งค้าขาย หาบเร่ พนักงงานทำความสะอาด รับจ้างทั่วไป เป็นต้น
อินทิรา วิทยสมบูรณ์ กลุ่ม Feeltrip เล่าว่า จากการลงพื้นที่ของกลุ่ม FeelTrip พบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชุมชนแห่งนี้มีการตั้งรกรากการอยู่อาศัยมาไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วอายุคนแล้ว บ้านหรือเรือนไม้ห้องแถวของเจ้าหน้าที่หลวงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นคำตอบถึงการอยู่อาศัยมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งบ้านเรือนเหล่านี้มีการออกทะเบียนบ้านรับรองด้วย ยังไม่รวมการค้นคว้าผ่านชุดเอกสาร ภาพถ่ายรวมถึงคำบอกเล่าของผู้คนในชุมชนเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าชุมชนวัดดวงแขมีวิถีชีวิต มีประวัติศาสตร์และมีผู้คนอยู่ในนั้น
จากคำสั่งเขตปทุมวันที่ กท.4403/1351 ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างโดยทางเขตให้เหตุผลว่าชุมชนตั้งบนพื้นที่สาธารณะข้างลำคลอง ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเกิดความไม่สบายใจขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเวลาที่ผ่านทำให้ชุมชนได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น โดยลำคลองที่เขตปทุมวันอ้างถึง จากแผนที่ในอดีตไม่พบลำคลองดังกล่าวแต่อย่างใด