การจัดการน้ำเพื่อรับมือกับน้ำแล้ง น้ำท่วม ภายใต้สภาวะโลกรวน 

ความสำคัญของการจัดการน้ำภายใต้สภาวะโลกรวน  

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ได้รับการบรรจุเป็นประเด็นสำคัญของโลก รวมถึงเป็นประเด็นที่การดำเนินธุรกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ต้องพิจารณา โดยมุ่งเน้นลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเตรียมมาตรการปรับตัวเพื่อรับสภาพภูมิอากาศที่จะเปลี่ยนแปลงไปทั้งในช่วงเวลาอันใกล้และไกล ซึ่งต้องมีมาตราการส่งเสริมสนับสนุนในระยะต้นและการบังคับใช้ในระยะยาว  

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกก่อให้เกิดผลกระทบสำคัญที่สร้างปัญหาหลายประการ อาทิ การแปรปรวนของพายุฝน หิมะ และลูกเห็บ โดยปริมาณ พื้นที่ และเวลาของการเกิดฝนตกมีผลต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คน จำนวนฝนที่มากไปหรือน้อยไปอาจทำให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงได้ ในอดีตที่ผ่านมา ฝนตกอย่างมีแบบแผนที่เหมาะสมและสามารถคาดการณ์ได้ว่า ฝนจะตกระหว่างที่เกษตรกรหว่านพืชผลจนถึงเวลาเก็บเกี่ยวได้ แต่ในปัจจุบันโลกและมหาสมุทรร้อนขึ้นกว่าอดีต การระเหยของน้ำและละอองน้ำในอากาศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดฝนโดยรวมที่อาจเพิ่มและรุนแรงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ ปริมาณฝนแต่ละท้องที่จะแตกต่างกันแบบผกผันและคาดการณ์ได้ยากขึ้น แบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ทำนายว่าในอนาคตประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรจะได้รับฝนมากขึ้น แต่การพยากรณ์ฝนในระดับพื้นที่ดังกล่าวยังมีความแน่นอนอยู่มาก เนื่องจากสภาพอากาศมีความแปรปรวนและซับซ้อนมาก

ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่รุนแรง เช่น คลื่นความร้อน พายุฝนรุนแรง ภัยแล้ง เป็นตัวอย่างของภัยธรรมชาติที่อาจจะมีมากขึ้นหรือน้อยลงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอกาศ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศกล่าวไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะนำไปสู่สภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ความเสี่ยงที่จะเกิดการกัดเซาะ ดินถล่มหรือน้ำท่วม มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีฝนตกหนัก ซึ่งเป็นอันตรายต่อพืชผลทางการเกษตรและสาธารณูปโภค อันนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางร่างกายของมนุษย์ การเกิดน้ำท่วมยังทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนและเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคบางชนิดมากขึ้น ในทางกลับกันหากฝนตกน้อยลงจะทำให้เกิดภัยแล้งที่สามารถสร้างความเสียหายต่อพืชผลและปศุสัตว์ รวมทั้งระบบนิเวศเสื่อมโทรม 

ในปี ค.ศ. 2020 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อหลักวันน้ำโลกประจำปี คือ “Water and Climate Change” (น้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เพื่อแสดงให้เห็นว่าน้ำได้รับผลกระทบหรือมีส่วนช่วยอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ปัจจุบันได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อทุกสิ่งมีชีวิตในโลก โดยรณรงค์การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้อยู่กับเราอย่างยั่งยืนและการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ บนใจความหลักว่า “เรารอไม่ได้” และมีนโยบายเชิงปฏิบัติการที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ และน้ำสามารถช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เช่น เพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจก ปลูกพืชป้องกันน้ำท่วมและลดการพังทลายของหน้าดิน กักตุนน้ำฝนสำหรับหน้าแล้ง เป็นต้น ขณะที่งานสัปดาห์น้ำโลกในปี ค.ศ. 2022 ให้ความสนใจกับ “น้ำบาดาล” และเน้นย้ำความสำคัญของน้ำในชีวิตประจำวัน และประเด็นของน้ำที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติภายใต้หัวข้อหลัก “Seeing the Unseen: The Value of Water” เพื่อยกระดับความตระหนักในเชิงสาธารณะ เชิงนโยบาย และเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโอกาสและความเสี่ยงของการจัดการกับน้ำบาดาลภายใต้บริบทของการบรรลุ SDG 6 (น้ำสะอาดเเละการสุขาภิบาล) 

 ในประเทศไทยได้ยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น โดยมีเนื้อหาประกอบด้วย แผนลดก๊าซเรือนกระจก (ผ่านกลไกระบบการออกใบอนุญาตการระบายก๊าซเรือนกระจก ระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิต ระบบภาษีคาร์บอน) แผนปรับตัว (แผนแม่บทการปรับตัวแห่งชาติ ) มาตรการส่งเสริมการดำเนินการ และมีกองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเครื่องมือใหม่ในการบริหารจัดการ ซึ่งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นประเด็นหนึ่งในภาคส่วนหลักในแผนแม่บทการปรับตัวแห่งชาติด้วย

ที่มา https://www.un.org/en/climatechange/science/climate-issues/water

ยุทธศาสตร์และแผนงานที่เกี่ยวข้อง 

  • ยุทธศาสตร์/แผนปฏิบัติการ 

ประเทศไทยมียุทธศาสตร์และแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน โดยส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวถ้อยแถลงใน High Level Special Event “Catalyzing Implementation and Achieving of the Water Related SDGs” ว่าไทยพร้อมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเร่งบรรลุเป้าหมายว่าด้วยเรื่องน้ำในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อปี 2558 ณ อาคารสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 ที่ผู้นำประเทศต่าง ๆ ได้ให้การรับรองจะสานต่อดำเนินการและขับเคลื่อนความพยายามของประชาคมโลกในการดำเนินด้านน้ำที่ครอบคลุมมากขึ้นตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 6 นอกจากการมีน้ำดื่มที่ปลอดภัยและสุขาภิบาลที่พอเพียงแล้ว ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพน้ำและการบริหารจัดการน้ำเสีย การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำอย่างมีบูรณาการ และการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวกับน้ำ  

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการดำรงชีพมาโดยตลอดในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับน้ำ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสียมีการเปลี่ยนแปลงและสร้างผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น รัฐบาลจได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี (พ.ศ. 2558-2569) เพื่อวางกรอบการดำเนินการอย่างเป็นระบบครบวงจร เน้นการมีส่วนร่วมและความร่วมมือของภาคประชาชนในแต่ละท้องถิ่น และจัดทำพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ควบคุมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้ในทุกมิติ โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดว่าจะมีผลกระทบด้านน้ำ ได้แก่ การแปรปรวนของฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงของความเข้มข้นและความถี่ของฝน การเกิดเหตุการณ์วิกฤติ และการขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งนำไปสู่ปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง ดินถล่ม (มากขึ้นในบางพื้นที่) และแผ่นดินหาย อันเนื่องจากน้ำท่วมขัง ชายฝั่งเปลี่ยนแปลง 

สำหรับรัฐบาลปัจจุบัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่าความแปรปรวนของสภาพอากาศและโรคอุบัติใหม่นอกจากจะเป็นภัยพิบัติที่สร้างผลกระทบโดยตรงต่อมนุษยชาติแล้ว ยังส่งผลทางอ้อมให้เกิดกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับใหม่ ๆ ที่ส่งต่อรูปแบบการค้าและการท่องเที่ยวของโลก สภาวะอากาศสุดขั้วที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ได้สร้างความเสี่ยงให้กับเกษตรกรไทยจำนวนมากที่รัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือเพื่อลดผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชน สำหรับประชาชนในภาคการเกษตร รัฐบาลจะสร้างรายได้ในภาคการเกษตรโดยใช้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยบูรณาการองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ ใช้การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยนวัตกรรมแม่นยำ การวิจัย สนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและเศรษฐกิจ

  • คณะทำงาน

เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดประโยชน์สูงสุด ลดผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรง อาทิ น้ำท่วมฉับพลัน และภัยแล้งจากสภาวะเอลนีโญ โดยมีแนวทางการดำเนินงานแบบบูรณาการและเป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) จึงมีคำสั่ง เรื่อง แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์โครงการสำคัญเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรง” โดยมี นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธานอนุกรรมการ และนายอภิชาต อนุกูลอำไพ เป็นรองประธานอนุกรรมการ  

หน้าที่และอำนาจ 1) พิจารณา ศึกษา ทบทวนแผนงานโครงการสำคัญด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และคุณภาพน้ำ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน 2) พิจารณาจัดทำแผนยุทธศาสตร์โครงการสำคัญเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 3) ออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสาร หลักฐานหรือวัตถุใด ๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ ตามความจำเป็นต่อคณะอนุกรรมการฯ 4) พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานได้ตามที่เห็นสมควรและเท่าที่จำเป็น และ 5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือประธานกรรมการมอบหมาย

  • แผนด้าน ววน. 

            สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ได้จัดทำ  แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 โดยใช้แนวทางตามกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และมีศักยภาพเพียงพอในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมรองรับความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยในยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม 

เป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์ดังกล่าว คือ ให้สังคมไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีความพร้อมในการรองรับภัยรูปแบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับการจัดการทรัพยากรและการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายึความเป็นกลางทางคาร์บอน ท้องที่มีสมรรถนะสามารถแก้ปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยการประยุกตใช้ผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยแผนงานสำคัญตามจุดมุ่งเน้นของนโยบาย (Flagship) ได้แก่ การเร่งแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศเพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน 

ตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 

  • การปรับตัวของชุมชนผู้ใช้น้ำ (แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานบริหารจัดการน้ำ วช. ปี 2562-2566)

การบริหารจัดการน้ำในโครงการชลประทาน ประกอบด้วย การมีแหล่งน้ำต้นทุน การประมาณความต้องการใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ การกระจายน้ำ การติดตามสภาพน้ำ เพื่อการปรับปรุงในแต่ละรอบซึ่งจะต้องตกลงกันระหว่างเจ้าหน้าที่ชลประทานและตัวแทนผู้ใช้น้ำในพี้นที่ ที่ผ่านมาด้วยกำลังคนและปริมาณน้ำต้นทุนที่จำกัด ทำให้ปริมาณน้ำชลประทานเกิดความไม่เพียงพอ กลุ่มผู้ใช้น้ำต้นคลองอาจใช้น้ำมากจนกลุ่มผู้ใช้น้ำท้ายคลอมีน้ำไม่พอ ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ชลประทานและระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำด้วยกันเอง 

การนำระบบเซนเซอร์ความชื้นในดินและ IoT ในการส่งข้อมูล ทำให้สามารถรู้ความชื้นของดิน ปริมาณความต้องการใช้น้ำ (หักลบข้อมูลฝน) ที่ต้องการเพิ่มตามจริง และเวลาที่ควรได้น้ำได้ดียิ่งขึ้น (เมื่อดินมีความแห้งถึงจุดควบคุม) การติดตั้งเครื่องวัดระบบน้ำตามคลองทำให้รู้ว่าน้ำเดินทางถึงไหนและเท่าไรได้ตามจริง ระบบอัติโนมัติปิดเปิดประตูระบายน้ำทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่สะดวกขึ้น แก้ไขปัญหาได้ทันกาล ส่งผลให้งานที่ต้องส่งน้ำซ่อมลดลง แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที สร้างความไว้วางใจระหว่างเจ้าหน้าที่ชลประทานและกลุ่มผู้ใช้น้ำได้ดีขึ้น ขณะที่การพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำโครงการชลประทานท่อทองแดงให้รู้จักข้อมูลความชื้นในดิน ระดับน้ำในคลองตามจุดต่าง ๆ ทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำประมาณความต้องการใช้น้ำเพิ่มเป็นจริงมากขึ้น กำหนดเวลาสูบน้ำได้ตรงเวลา วางแผนการเพาะปลูกได้ตามปริมาณน้ำที่มี (ทั้งที่เก็บเอง น้ำบ่อตื้น และน้ำชลประทาน) ทำให้กำหนดพืชที่ปลูกได้ดียิ่งขึ้น มีพืชเกษตรทางเลือกเพิ่มรายได้ 

ผลของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เกิดความเข้าใจ ความไว้วางใจ การวางแผนร่วม การประหยัดน้ำและลดการสูญเสียการส่งน้ำได้มากกว่าร้อยละ 20 เกษตรกรปรับตัวและหารายได้เพิ่มจากเกษตรทางเลือก (แหนแดง สมุนไพร สะเดา มะนาว ฯลฯ) ได้อีก 1,634 – 35,756 บาทต่อไร่ ซึ่งเป็นผลจากการใช้มาตรการเชิงโครงสร้าง (ระบบเซนเซอร์ประตูระบายน้ำอัตโนมัติ) มาตรการที่ไม่ใช้โครงสร้าง (การจัดสรร การส่งน้ำตามเกณฑ์) และการใช้หลักธรรมภิบาล (พัฒนาคน กติกา) และการเข้าร่วมในการปรับระบบบริหารจัดการน้ำระดับโครงการชลประทาน 

•  ระบบติดตามและประเมินการบริหารจัดการภัยแล้งของประเทศไทย (ผศ. ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2563)

ปัญหาการขาดแคลนน้ำจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขาดการบริหารจัดการที่มีเอกภาพทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ (ก่อนการเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังการเกิดภัย) โดยเฉพาะด้านภัยแล้งยังมีช่องว่างหลักที่สำคัญคือ การขาดข้อมูลในการวางแผนการตัดสินใจสั่งการ ได้แก่ (1) ขาดข้อมูลในมิติของการบูรณาการด้านน้ำ เศรษฐกิจ และสังคม ในรูปแบบของตัวเงินหรือมูลค่า GDP ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจในเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพ (2) ขาดข้อมูลการติดตามและประเมินผลของการดำเนินงานตามมาตรฐานนานาชาติ และ (3) ขาดตัวชี้วัดที่เป็นตัวแทนการดำเนินงานทั้งการป้องกันและบรรเทาความเสี่ยงจากภัยแล้ง เช่น ความมั่นคงด้านน้ำ ธรรมาภิบาลด้านน้ำ และความสามารถในการฟื้นตัวจากภัยแล้ง ภายใต้มาตรฐานนานาชาติที่เข้ากับบริบทของประเทศไทย

   งานวิจัยนี้จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดช่องว่างของข้อมูลในการวางแผนการตัดสินใจสั่งการด้านภัยแล้ง โดยีผลลัพธ์ประกอบด้วย (1) พัฒนาระบบการประเมินความเสียหายของภัยแล้งในรูปแบบตัวเงินและแผนที่ ที่เป็นเครื่องมือและฐานข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายของคณะทำงานภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2) วิเคราะห์และประเมินการดำเนินนโยบายภัยแล้งที่ผ่านมา ภายใต้มาตรฐานและกรอบของนานาชาติ (3) ตัวชี้วัดความมั่นคงด้านน้ำ ธรรมาภิบาลด้านน้ำ และความสามารถในการฟื้นตัวจากภัยแล้ง และ (4) การขยายผลสู่หน่วยงาน รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่หน่วยงานรับประโยชน์ให้แก่หน่วยงานด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ  20 ปี ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

  • การบริหารจัดการรองรับภัยแล้งต้นแบบของพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำชลประทานขนาดกลาง (นายสุวัฒน์ พาหุสุวัณโณ กรมชลประทาน ปี 2564)

ภัยแล้งเป็นปัญหาเร่งด่วนในประเทศไทยเนื่องจากมีความต้องการใช้น้ำมากขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของโลก งานวิจัยจึงศึกษาวางแนวทางหรือรูปแบบใหม่ในการบริหารจัดการน้ำชลประทาน โดยนำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ใช้งานจริงอยู่ในกรมชลประทานมาประยุกต์ใช้ รวมถึงใช้ข้อมูลอุตุ-อุทกวิทยา ลักษณะดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน ข้อมูลอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลความต้องการน้ำ เป็นต้น ที่รวบรวมจากกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลอุตุ-อุทกวิทยาด้วยวิธีการทางสถิติ พยากรณ์น้ำท่าในอนาคต ตลอดจนวิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำของพืช ด้านเศรษฐศาสตร์ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งพัฒนาการสื่อสารแบบ 2 ทาง ระหว่างหน่วยงานกรมชลประทานกับเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ ด้วยการใช้ LINE Application สื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย จำนวนทั้งหมด 20 แห่ง

ผลจากการศึกษา ประกอบด้วย ลักษณะการไหลของน้ำท่าเข้าอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำ ความต้องการน้ำของทุกกิจกรรม เศรษฐศาสตร์ด้านการเกษตร แนวทางการบริหารจัดการน้ำ เน้นการประหยัดน้ำต้นทุน เพื่อสนับสนุนรองรับภัยแล้ง เครื่องมือการพยากรณ์และการจัดสรรน้ำ และระบบสื่อสารอย่างชาญฉลาด ที่สามารถให้ผู้ใช้น้ำแจ้งความต้องการใช้น้ำให้กับระบบ

  • การพัฒนาศักยภาพชุมชนในการปรับตัวต่อปัญหาภัยแล้ง/การบริหารจัดการน้ำ (ศ. ดร.จำลอง โพธิ์บุญ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ปี 2564)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาศักยภาพของชุมชนและเป้าหมายในการปรับตัวและรับมือกับปัญหาภัยแล้ง/การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตลอดปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานของชุมชน 2) พัฒนาศักยภาพชุมชนด้านการปรับตัวต่อปัญหาภัยแล้ง/การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากผลกระทบของภัยแล้งอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการพึ่งตนเองและกระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ 3 แห่ง ได้แก่ ชุมชนสายทอง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ชุมชนบ้านม้า อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และชุมชนตาขัน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง พร้อมกับวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อศักยภาพในการปรับตัว/การจัดการทรัพยากรน้ำจากผลกระทบของภัยแล้ง

ผลการศึกษาพบว่าชุมชนมีศักยภาพในการปรับตัวและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระดับหนึ่ง โดยชุมชนสายทองเน้นการพัฒนาพื้นที่ให้พร้อมเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการทำเกษตรตลอดทั้งปี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในและภายนอกชุมชน มีศูนย์สาธิตวิถีการเกษตรแบบใหม่เน้นการใช้น้ำน้อย ปลูกพืชหลายชนิด ขณะที่ชุมชนบ้านม้าเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำเกษตรและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า ส่วนชุมชนตาขันให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ในการเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ ปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด

ปัจจัยภายในสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการปรับตัวต่อปัญหาภัยแล้ง คือ ผู้นำชุมชนมีความเข้มแข็ง มีประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ สนใจเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ประชาชนในชุมชนมีความสามัคคี ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานทุกขั้นตอน และตระหนักต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ขณะที่ปัจจัยภายนอกที่สำคัญคือ การได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานท้องถิ่นในการดำเนินงาน และการสนับสนุนงบประมาณ อุปกรณ์ เครื่องจักร จากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

แนวทางการพัฒนาศักยภาพในการปรับตัวของชุมชน ได้แก่ 1) ขยายองค์ความรู้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และสร้างภูมิปัญญาให้กับประชาชนในชุมชนอย่างทั่วถึง 2) นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสมกับการใช้งานของคนในพื้นที่มาปรับใช้ในการพัฒนาศักยภาพของประชาชนและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และ 3) สร้างจิตสำนึกและความตระหนักของประชาชนต่อความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  • แนวทางการปรับตัวที่ใช้ระบบนิเวศเป็นฐานเพื่อการลดทอนความเสี่ยงจากอุทกภัย (นางศนิ ลิ้มทองสกุล สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 2564)

ปัจจุบันประเทศไทยได้ดําเนินการจัดการเพื่อลดความเสี่ยงจากอุทกภัยในทุกมิติ แต่แผนงานส่วนใหญ่ยังเป็นการบริหารจัดการที่ยึดหลักของการควบคุม และใช้เทคโนโลยีเชิงวิศวกรรมเช่น เขื่อน อ่างเก็บนํ้า พนังกั้นนํ้า ประตูระบายนํ้า สถานีสูบนํ้า ฟลัดเวย์ ซึ่งสร้างผลกระทบทางลบต่ออุทกวิทยาและระบบนิเวศของ ลุ่มนํ้าอันซับซ้อน และยังเป็นระบบที่ขาดความยืดหยุ่น การบริหารจัดการอุทกภัยเชิงบูรณาการนั้นนอกจากการจัดการเชิงวิศวกรรมแล้ว ยังต้องการจัดการที่ใช้ระบบนิเวศเป็นฐานอันเป็นระบบที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวและรับมือกับความเสี่ยงที่ยังหลงเหลืออยู่ คำนึงถึงความสัมพันธ์ของนิเวศลำน้ำอย่างเป็นองค์รวม

การจัดการภูมิทัศน์เพื่อสร้างความยืดหยุ่นหรือความสามารถในการฟื้นคืนคืนจากอุทกภัย คือแนวทางการจัดการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยที่ใช้ระบบนิเวศเป็นฐาน โดยเลือกศึกษาพื้นที่ลุ่มนํ้าปราจีนบุรีอันเป็นหนึ่งในลุ่มนํ้าที่เผชิญความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุทกภัยของประเทศไทย เพื่อนําเสนอแนวคิดและกลยุทธ์ในการสร้างโครงข่ายเชิงนิเวศเพื่อส่งเสริมการใช้ Nature-based solutions (NbS) โดยมุ่งศึกษาลักษณะ วิธีการ ผลสัมฤทธิ์ของ NbS ที่มีอยู่ปัจจุบัน ตรวจสอบปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนปัจจัยเกื้อหนุนของการใช้ NbS ในระดับพื้นที่ลุ่มน้ำและพื้นที่กรณีศึกษา เพื่อนำเสนอแนวทางหรือกลยุทธ์ การจัดการภูมิทัศน์ทั้งระดับลุ่มน้ำและระดับพื้นที่ ซึ่งจะสร้างความสามารถของชุมชนในการฟื้นตัวจากอุทกภัยโดยคํานึงถึงปัจจัยเชิงนิเวศและวัฒนธรรมท้องถิ่นควบคู่กันไป เพื่อบรรเทาผลกระทบของอุทกภัยอย่างเป็นองค์รวมและยั่งยืน

  • การศึกษาเรื่องเล่าและประสบการณ์เกี่ยวกับผลกระทบอุทกภัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมสู่ความสามารถในการรับมือภัยพิบัติอย่างยั่งยืนในจังหวัดอุบลราชธานี (รศ. ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2564)

จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ราบสูง มีลูกคลื่นลอนตื้นและที่ราบลุ่มเป็นส่วนใหญ่ ทั้งยังเป็นจังหวัดปลายทางในการไหลของน้ำจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนไหลงลงสู่แม่น้ำโขง จึงเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปราะบางในพื้นที่และเสี่ยงที่จะประสบอุทกภัยซ้ำซาก แม้จะมีมาตรการจัดการอุทกภัยในเขตเมืองและเขตชานเมือง แต่ยังขาดการเตรียมพร้อมรับมือและการนำบทเรียนในอดีตมาปรับปรุงอย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษาวิจัยนี้จึงต้องการสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมและสามารถแก้ปัญหาภัยพิบัติ เพื่อนำไปสู่การสร้างชุมชนต้นแบบจัดการภัยพิบัติในอนาคต โดยเป้าหมายสูงสุดในระยะยาวคือ “การสร้างเมืองอุบลราชธานีให้เป็นเมืองที่มีสภาวะความยืดหยุ่นหรือมีความสามารถในการจัดการความเสี่ยงน้ำท่วม”

ผลการศึกษาพบว่าประชาชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชนทั้งในเมืองและชานเมืองต่างประสบปัญหาน้ำท่วมรุนแรงและยาวนาน ไม่สามารถรับมือและช่วยเหลือตนเองได้อย่างเท่าทันและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพบว่าขาดการเตรียมความพร้อมด้านการสื่อสาร และส่งต่อความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยพิบัติเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้การสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า ป้องกัน และฟื้นฟู ซึ่งต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประสบภัยและผู้เกี่ยวข้อง 

คณะวิจัยมีข้อเสนอแนะว่าจังหวัดควรจัดตั้งศูนย์วิชาการที่เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับอุทกภัย ทั้งความรู้จากคนในชุมชนผู้มีประสบการณ์โดยตรงในการรับมือและได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมถึงความรู้ด้านนโยบายและกฎหมายจากภาควิชาการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอุทกภัย ขณะที่ศูนย์จัดการภัยพิบัติระดับจังหวัดควรให้ความสำคัญกับการจัดการภัยพิบัติตามหลัก 2P2R(ป้องกัน เตรียมพร้อม รับมือ และฟื้นฟู) โดยหลักบูรณาการของคน ทรัพยากร และงบประมาณ เพื่อลดความเสี่ยงให้ทุเลาลง และเรียกร้องให้เกิดการแบ่งปันความรู้ ระบบ อุปกรณ์ และทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ นอกจากนี้ควรแจ้งข่าวสารอุทกภัยและการเฝ้าระวังอย่างทันท่วงที และมีการสื่อสารที่ชัดเจนในทิศทางเดียวกันด้วยข้อมูลที่แม่นยำ รวมถึงมีช่องทางสื่อสารที่เข้าถึงได้สะดวก รวดเร็ว และเข้าใจง่าย เพื่อให้คนในพื้นที่รับรู้หรือคาดการณ์ได้ล่วงหน้าในการเตรียมการอพยพและจัดเตรียมการรับมือได้เองมากขึ้น

  • Fon Faa Arkat: สถานีแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมและสภาพอากาศอย่างแม่นยำด้วย AI สำหรับชุมชน (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) ปี 2566)

ประเทศไทยเกิดสถานการณ์น้ำท่วมในทุกปีจากปริมาณน้ำฝนสะสม พายุเข้าหรือเกิดน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้เกิดความเสียหายในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นที่เกษตรกรรมทำกินของประชาชน เช่น ชุมชนในเทศบาลตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และอีกหลายชุมชนทั่วประเทศไทยที่ประชากรมีวิถีชีวิตการทำเกษตรกรรมที่ผูกพันกับฝน เช่นเดียวกับพ่อค้าแม่ค้าที่จะค้าขายในตลาดได้น้อยลงในวันฝนตก ดังนั้นการทราบล่วงหน้าว่าฝนจะตกหรือน้ำจะท่วม จะช่วยเปลี่ยนชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้นได้โดยการเตรียมรับมือให้เหมาะสม แต่ปัจจุบันการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยารายจังหวัดไม่สามารถให้ความแม่นยำในระดับเทศบาล ไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ชุมชน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศให้เหมาะสมกับพื้นที่ชุมชน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น จึงพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ทำนายโอกาสในการเกิดฝนตกล่วงหน้าได้แม่นยำมากขึ้น และสอดคล้องต่อความต้องการของเทศบาลที่ได้รับผลกระทบ โดยมีจุดเด่นคือ เป็น Edge AI ที่ใช้ได้ในอุปกรณ์ขนาดเล็ก ราคาไม่แพง ศักยภาพขยายผลได้ดี ทำงานได้แม้ไม่มีอินเตอร์เน็ต ต่างกับปัจจุบันที่นิยมใช้ cloud AI ที่มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ยังใช้กระบวนการเรียนรู้เชิงลึกแบบใหม่ชนิด CNN ที่เหมาะสมกับการทำนายข้อมูลอนุกรมเวลาเหมาะสมกับการใช้ร่วมกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนและเข้าถึงได้ง่าย

ข้อเสนอเชิงนโยบาย (ทั้งระดับชาติ และระดับพื้นที่) 

แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่พึงมีภายใต้สภาวะโลกรวน 

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้สภาวะโลกรวนเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และต้องมีนโยบายที่ครอบคลุมทั้งด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ การสร้างพื้นที่สีเขียว และการป้องกันภัยจากสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจำเป็นต้องวางแผนนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับชาติ เพื่อให้เกิดผลการดำเนินงานที่เหมาะสม รวมทั้งต้องสนับสนุนนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับท้องที่ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ท้องถิ่น ทั้งนี้จะต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน รวมถึงความร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อทั้งภูมิภาคและระดับโลก โดยมีประเด็นเสนอดังต่อไปนี้

  1. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยสร้างและบำรุงรักษาระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้มีการใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพในทุกด้าน เช่น การใช้เทคโนโลยีในการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การใช้ระบบการนำน้ำไปใช้ในการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
  2. การสร้างหรือปรับปรุงสิ่งก่อสร้างที่มีความเชื่อถือได้ เช่น การสร้างเขื่อนที่มีการวางแผนอย่างเหมาะสม การสร้างทางระบายน้ำและการสร้างช่องระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากน้ำท่วม
  3. การสร้างพื้นที่สีเขียว เช่น ปลูกป่า พื้นที่สำหรับการรักษาน้ำ และพื้นที่สำหรับการกักเก็บน้ำฝน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมและน้ำแล้ง
  4. การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล เพื่อลดการผลิตไฟฟ้าที่มีปริมาณการใช้น้ำมาก เช่น  การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำที่มีประสิทธิภาพต่ำ และการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
  5. การสร้างระบบเตือนภัยและการจัดการวิกฤตการณ์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การสร้างระบบเตือนภัยจากน้ำท่วม ระบบการจัดการวิกฤตการณ์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น การสร้างฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ในอนาคต
  6. เพิ่มการมองผลกระทบและมาตรการรองรับทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ ทั้งในแง่พื้นที่และเวลา (สั้น กลาง ยาว) เพื่อลดความเสี่ยงและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน 
  7. พิจารณาสมดุลในแต่ละพื้นที่ (ระดับลุ่มน้ำ รวมทั้งการผันน้ำข้ามพรมแดม) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
  8. การจัดความสำคัญตามผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง โดยนำข้อมูลสภาพภูมิอากาศในอนาคตมาใช้ประเมินผลกระทบ (เริ่มจากโครงการขนาดใหญ่ก่อน) เพื่อเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงทั้งจากข้อมูลในอดีตและในอนาคตประกอบร่วมกัน
  9. การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างองค์กรอย่างเป็นระบบภายใต้ฉากทัศน์ของการพัฒนาในอนาคต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในอนาคตมีทั้งด้านปัจจัยจากสภาพภูมิอากาศและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จำต้องกำหนดบทบาทของหน่วยงานให้วางแผนแก้ไขปัญหาแบบเชิงเดี่ยว และปัญหาที่ต้องบูรณการร่วมแก้ไขกับหน่วยงานอื่นไปพร้อมกัน (ทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา) เพื่อให้แก้ไขปัญหาเบ็ดเสร็จร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดโครงสร้างขององค์กรรองรับร
  10. การปรับตัวทั้งยามปกติและภาวะวิกฤติ  เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพอากาศมีความรุนแรงมากขึ้น การปรับตัวเพื่อให้เกิดการสมดุลของน้ำต้องใช้มาตราการทั้งด้านโครงสร้าง ไม่ใช้โครงการสร้าง และการจัดการร่วมกัน โดยการใช้มาตรการร่วมให้สมดุลต้องออกแบบให้เหมาะสมทั้งในยามปกติและภาวะวิกฤติ รวมถึงความเหมาะสมด้านงบประมาณกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
  11. จัดระบบสำรองน้ำในฤดูแล้งและเก็บกักน้ำป้องกันน้ำท่วม รวมถึงมาตรการฉุกเฉิน พร้อมทั้งการวางแผนมาตรการการรองรับความเสี่ยง (น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเสีย และน้ำเค็มรุก) ทั้งนี้ ควรพิจารณาหาแนวทางลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ภาวะขาดน้ำในระยะยาว โดยอาศัยข้อมูลสภาพภูมิอากาศในอนาคตและการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ (การให้ความสำคัญตามข้อ 8)กำหนดมาตรการลดความเสี่ยงล่วงหน้า โดยใช้มาตรการทั้งด้านอุปสงค์ อุปทาน และการจัดการประกอบอย่างเหมาะสม ตลอดจนเพิ่มมาตรการเชิงระบบ(โครงสร้าง ไม่ใช้โครงสร้าง การจัดการ ธรรมาภิบาล) เพื่อรองรับความเสี่ยง โดยจัดระบบที่คำนึงถึงความยั่งยืน (ความคุ้มค่า การบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม) และยืดหยุ่นพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น
  12. การสร้างความรู้และร่วมดำเนินงานทั้งในระดับชุมชน จังหวัด ประเทศ และภูมิภาคโลก เพื่อการแก้ปัญหาลดภาวะก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวในระดับท้องที่ ซึ่งอาจดำเนินการร่วมกับการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด 
  13. การแลกเปลี่ยน ถ่ายโอนความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ จากภาควิชาการ สู่ภาคปฏิบัติ และ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคประชาชน เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  14. เพิ่มการประเมินเชิงยุทธศาสตร์น้ำที่มีเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งต่อปัญหาเดิมและปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งเพิ่มการประเมินเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม น้ำเพื่อการบริการ และน้ำเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศลำน้ำ) 
  15. ใช้กลไกการมีส่วนร่วมในการ่วมคิด วางแผน ดำเนินงาน วางแผนปรับตัวในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับประเทศ ลุ่มน้ำ จังหวัด และชุมชน โดยกำหนดแผนแก้ไขและป้องกันทั้งระดับประเทศ ลุ่มน้ำ (ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561) เพิ่มการกำหนดแผนน้ำระดับจังหวัด และชุมชน (ร่วมกับ อบต.) และมีกลไกที่จะบูรณาการแผนงานดังกล่าวด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

หัวข้อที่ควรเพิ่มเติมในแผนแม่บทด้านน้ำ ได้แก่ 

  • การรองรับความเสี่ยงใหม่บนฐานของภาพอนาคตของการพัฒนาในมิติต่าง ๆ โดยนำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแผนการพัฒนาพื้นที่ (ในภาพอนาคตต่างๆ มาประกอบ)
  • การตอบสนองต่อปัญหาและมีสมดุลในการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม ยั่งยืน ในรายพื้นที่ โดยกำหนดแผนและแผนปฏิบัติการรองรับความเสี่ยงใหม่ที่จะเกิดร่วมด้วย
  • การจัดลำดับความสำคัญจากมุมมองความเสี่ยงและความเปราะบาง โดยพิจารณาผลกระทบและโอกาสการเกิดทั้งในอดีตและอนาคต ภายใต้แผนและแผนปฏิบัติการที่จะมี
  • ระบบการจัดการในสภาวะฉุกเฉิน และระบบสำรองน้ำ ภายใต้แผนและแผนปฏิบัติการที่จะมี
  • การใช้ข้อมูล ความรู้และเทคโนโลยี/นวัตกรรมมาช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพได้มากขึ้น
  • การสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ เทคนิค ในกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อลดความเสี่ยงภัยและการปรับตัวที่เหมาะสม ใช้กลไก เวที หรือคลินิกการแจ้ง ร่วม และแก้ไขปัญหาจากตัวอย่างที่ดี แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้และประสบการณ์ (ทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านกลไกของรัฐ)
  • ประเด็นความเสี่ยง ผลกระทบใหม่ และระบบฉุกเฉิน/สำรองในการให้ความรู้และสื่อสารต่อชุมชนและสาธารณะ  ใช้กลไก เวที หรือคลินิกการแจ้ง ร่วม และแก้ไขปัญหาจากตัวอย่างที่ดี แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้และประสบการณ์ (ทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านกลไกของรัฐ)

สรุปข้อเสนอมาตราการ แผนงานระยะสั้น กลาง และความร่วมมือที่พึงมี (การจัดทำแผนงานและแผนปฏิบัติการให้ลงถึงระดับพื้นที่ (จังหวัด อปท. และชุมชน) โดยใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกัน โดยให้เชื่อมโยงกับกลไกของประเทศและลุ่มน้ำของ สทนช.)

1. มาตรการ

  • กำหนดมาตรการรองรับ และมาตรการสนับสนุนในการจัดทำแผนพัฒนา/ปฏิบัติการ ภายใต้ภาพฉายอนาคต 
  • จัดทำระบบข้อมูล เอกสารสนับสนุนในการจัดทำแผนฯ 
  • จัดทำรายงานการปรับตัวของภาคส่วนต่าง ๆ (รวมด้านน้ำ) เพื่อใช้เป็นข้อมูลสื่อสารและแลกเปลี่ยนในระดับต่าง ๆ ร่วมกับต่างประเทศ 

2. แผนงาน 

ระยะสั้น 

  • จัดระบบเตือนภัย 
    • จัดระบบสำรองน้ำ (ผังน้ำ บัญชีน้ำ แหล่งน้ำสำรอง) 
    • จัดกติกาการจัดการน้ำในพื้นที่ (การจัดสรรตามฤดูและปีน้ำ แผนฉุกเฉินสำรอง) 
    • จัดระบบการจัดการในสภาะฉุกเฉิน และระบบสำรองน้ำ

ระยะกลาง 

  • จัดระบบอนุรักษ์ป่า พัฒนาฝายทดน้ำ และดูแลคุณภาพน้ำ 
    • จัดทำแผนการจัดการน้ำในแผนพัฒนาจังหวัด (โซนนิ่ง) พร้อมมาตรการปรับตัว 
    • จัดทำแผนแม่บทการจัดการและพัฒนาน้ำ พร้อมมาตรการปรับตัว 

3. ความร่วมมือ ภายในประเทศ (เครือข่ายลุ่มน้ำ และสมัชชาในจังหวัด), ภูมิภาคอาเซียน  (คณะทำงานภายใต้ ASEAN Secretariat & ASEAN Plus),  เวทีโลก 

  • แลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ เทคโนโลยี  
  • ถ่ายทอดแนวคิด ประสบการณ์ และเทคโนโลยีทันสมัยซึ่งกันและกัน 
  • สร้างมาตรการฉุกเฉินสนับสนุนร่วมกัน ตลอดจนมาตรฐานการจัดการน้ำร่วมกัน 

 4. นวัตกรรมการปรับตัวเพื่อลดภัย ลดเสี่ยงที่มีและควรมี การปรับตัวที่ดีควรบูรณการมาตรการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทั้งด้านใช้โครงสร้าง ด้านไม่ใช้โครงสร้าง และด้านธรรมาภิบาล ตัวอย่างด้านน้ำท่วม น้ำแล้ง 

         กรณีน้ำผิวดิน (เพื่อสร้างความมั่นคง ลดภัย ลดเสี่ยง)

         ด้านโครงสร้าง          ปรับปรุงโครงสร้าง อาคาร เพื่อการจัดการในภาวะเสี่ยงที่มากขึ้น

         ด้านไม่ใช้โครงสร้าง    กำหนดเกณฑ์การใช้ที่ดิน พื้นที่รับน้ำ โครงสร้างสีเขียว ฯลฯ รองรับความ                                         

                                      เสี่ยงที่มากขึ้น

         ด้านธรรมาภิบาล      การเตรียมตัวของประชาชน/ชุมชน เตือนภัย มาตรการ สู้หรือหนีภัย 

                                   ตามเกณฑ์ความเสี่ยงใหม่

         กรณีน้ำใต้ดิน   (เพื่อสร้างสมดุล การใช้ เก็บกัก การเติมน้ำ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ)

         ด้านโครงสร้าง          มาตรการจัดการ ควบคุม การเจาะบ่อ ให้เหมาะสม ตามความต้องการ

                                   และสมดุลในอนาคต

         ด้านไม่ใช้โครงสร้าง  มีกลไกระบบการเติมน้ำเพิ่มความสมดุล (ทั้งแบบธรรมชาติ และมนุษย์ดำเนินการ)

         ด้านธรรมาภิบาล       มีระบบติดตาม เวรสูบ เตือนภัย ฯลฯ ล่วงหน้า

บทส่งท้าย

         การวางแผนและดำเนินการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาวะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องประเมินต้นทุนการปรับตัวและประเมินผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นตามแผนการปรับตัว ทั้งประโยชน์โดยตรง (ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ลดความสูญเสียและความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ) และประโยชน์ทางอ้อม (มูลค่าที่ดินที่สูงขึ้น เก็บภาษีได้มากขึ้น สร้างความเจริญรอบข้าง ฯลฯ) ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน เพื่อการลงทุนปรับตัวได้เหมาะสม คุ้มค่า นอกจากนี้เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย การปรับตัวจำต้องพิจารณานำระบบนวัตกรรมเข้าช่วยตั้งแต่ช่วงวางแผนที่สามารถบูรณการงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เซนเซอร์ IoT ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ฯลฯ เข้าช่วย เพื่อให้เกิดความถูกต้อง รวดเร็ว ติดตามผลได้ทันกาล สร้างความเข้าใจและรับรู้ได้ทั้งผู้ดำเนินการและผู้รับประโยชน์ร่วมกัน

เอกสารอ้างอิง 

  • สื่อ “สาร” ให้เข้าถึง: คู่มือนักข่าวสำหรับการรายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ชุดหนังสือเพื่อการศึกษาด้านวารสารศาสตร์, ค.ศ. 2019 โดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ 7. ปลาส เดอ ฟองเดอนัว, 75352 ปารีส 07 SP, ฝรั่งเศส และยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ และยูเนสโกสำนักงานจาการ์ตา ISBN: 978-92-9223-621-2 
  • แนวทางการบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โครงการ “การศึกษาวิเคราะห์และสังเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” วันที่ 14 ตุลาคม 2558 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล พญาไท กรุงเทพฯ โดย รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ
  • คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันที่ 11กันยายน 2566 
  • คำสั่งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่ 5/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์โครงการสำคัญเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรง 
  • ความท้าทายในการบริหารจัดการน้ำของไทยในบริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย รศ. ดร. สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จะลงในวารสารช่างพูด (PIES) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
  • World Water Day 2020 วันน้ำโลก-น้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, เว็บไซต์องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 ธันวาคม 2564. 
  • World Water Week 2022 – UN ชี้ภัยเเล้งที่ขยายวงกว้างทำคนทั่วโลกต้องการน้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงน้ำสะอาดยังคงมีอยู่มาก, SDG News เว็บไซต์ SDG Move 1กันยายน ค.ศ. 2022. 
  • แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566 – 2570, เว็บไซต์ สกสว.
แชร์บทความนี้