ชวนคุยโจทย์การจัดการน้ำเมื่อโลกปรับ ไทยต้องเปลี่ยนกับรศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์

รายงานธนาคารโลก (World Bank Group, 2022) รายงานความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศพบว่า ในกลุ่มสมาชิกอาเซียน ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงต่อภัยธรรมชาติเป็นอันดับที่ 5 โดยมีความเสี่ยงสูงต่อน้ำท่วม เป็นอันดับที่ 9 เสี่ยงสูงต่อภัยแล้ง เป็นอันดับที่ 29 มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดพายุหมุนเขตร้อน เป็นอันดับที่ 27 ในขณะที่ความสามารถในการรับมือหรือการจัดการน้ำยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (คิดจากตัวชี้วัด 4 ตัวคือ จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์, จำนวนผู้เสียชีวิตจากประชากร 100,000 คน, ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ, ความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดร้อยละของจีดีพี)

จากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้สถานการณ์น้ำปัจจุบันมีความแปรปรวน เกิดทั้งน้ำท่วมน้ำแล้งสลับกันไปและรุนแรงมากขึ้น เป็นอีกโจทย์สำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และทีมห้องทดลองปัญญารวมหมู่ สำนักเครือข่ายฯ ไทยพีบีเอส พาผู้อ่านชวนคุย ทำความเข้าใจเรื่องการจัดการน้ำในสภาวะโลกรวน และเครื่องมือที่จะมาช่วยในการตัดสินใจและรับมือกับสภาวะนี้ในระยะยาวให้ดียิ่งขึ้นกับ รศ. ดร. สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ

ทั่วโลกกำลังออกแบบอนาคตด้วย 3 แนวคิดใหม่ : ยั่งยืน หยืดหยุ่น ฉลาด

ก่อนอื่นจะเน้นกระบวนการโลกรวนแล้วการจัดการน้ำควรจะเป็นอย่างไร จริงๆ จากที่คณะทีมวิจัยไปทบทวนแนวคิดต่างๆ ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาประเทศไทยอย่างเดียว เป็นปัญหาของโลกว่า จากนี้ไปโลกจะร้อนขึ้นถึง 3-4 องศาในอีก 20 ปีข้างหน้าถ้าไม่ทำอะไรเลยจึงพยายามรณรงค์ให้อยู่ที่ 1.5 หรือ 2 องศา 

โลกร้อนคืออุณหภูมิของโลกบวมขึ้น พอบวมขึ้น ลมจะแรง น้ําก็จะระเหยมากขึ้น กระบวนการตรงนี้ทําให้การหมุนเวียนของลมของละอองน้ํา การตกของฝนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทําให้ฤดูกาลหรือว่าน้ําที่มีอยู่ การถ่ายเทความร้อนเร็วขึ้นกว่าในแต่ก่อน

แนวทางในบริบทโลกมี 3 ทาง ทางแรกช่วยรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นแนวคิดแบบ Green จะทำอย่างไรให้การผลิตสิ่งของแล้วใช้พลังงานฟอสซิลน้อยที่สุด อีกอย่างคือ การใช้ของที่จำเป็นเพื่อลดขยะของเสีย ทุกวันนี้ใช้วิธีการเผาขยะปล่อยมลพิษขึ้นอากาศ ฉะนั้นส่วนนี้คือจะทำยังไงให้บริโภคเท่าที่จำเป็นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วย 

อย่างที่สองคือ อุณหภูมิสูงขึ้นขึ้นจะเกิดภัยพิบัติทั้งแล้ง ฝน ท่วมต่างๆ มากขึ้น แบบนี้มนุษย์จะใช้ชีวิตต่ออย่างไร ก็เป็นเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นใหม่และลดความรุนแรงไปพร้อมกัน ใช้คำศัพท์เรียกว่า Resilience

“ในโลกกําลังจะหาสูตรนี้ อะไรที่เราจะทําได้ แทนที่เราจะต้องทํา พอเกิดภัย เรากลับมาฟื้นตัว ใช้ชีวิตปกติได้เร็วที่สุด”

(แผนที่ระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ภัยพิบัติ ของ GISTDA

อย่างสุดท้ายคือ Smart ตอนนี้มี google earth ที่สามารถกดดูรู้ว่าเส้นไหนควรหลีกเลี่ยง รถไม่ติด เช่นเดียวกับการปลูกข้าวในอนาคต 6 เดือนรู้ว่าน้ำอาจจะท่วม เปลี่ยนเป็นปลูกข้าว ในที่ดอนสูง ส่วนที่ต่ำเลี้ยงปลาแทน วางแผนตั้งแต่ก่อนทำ แต่ปัจจุบันไม่ได้วางแผนก่อน พอฝนตกน้ำมาก็เสียหายแล้ว รอจ่ายชดเชยซึ่งมันไม่ได้กำไรเพราะเสียหายไปแล้ว 

“เราอยากได้ภาพนี้เพื่อให้เกิดสมดุลใหม่ ในแต่ละประเทศจะต้องไปออกแบบสร้างความเข้าใจกับชุมชน หรือสร้างนโยบายภายใต้บริบทที่ทั้งเขียว แล้วก็ยั่งยืนได้”

ในปัจจุบันโลกรณรงค์ภายใน 2500 ควรจะเป็น net zero คือ ปล่อยก๊าซเท่าไหร่ ควรจะดูดซับ ให้บาลานซ์กันเช่น การปลูกต้นไม้หรือลดกิจกรรมสร้างคาร์บอน ก๊าซไม่ควรจะเพิ่มขึ้น ด้วย3 ตัวที่พูดก็คือเรื่องของ Green Resilience และ Smart นี่เป็นคําตอบของโลกที่จะทําให้เกิดสมดุลใหม่ในอนาคต จะกลายเป็นวงจรใหม่ที่โลกกําลังดีไซน์

(เป้าหมายไปสู่ Net Zero ในปี 2050 ที่มา : Think Forward)

ย้อนกลับมา 3 อย่างที่พูดก่อนหน้า ประเทศไทยยังมีการพัฒนาเป็นจุดๆ เช่น การรณรงค์ Net Zero  ภาคเอกชนก็ดีมาก ตัวอย่างของปตท. หรือ บริษัท SCG. เริ่มทำแผนธุรกิจใหม่ ถ้าทำเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงานที่อาศัยฟอสซิลมีแต่เจ๊ง แม้แต่ซาอุดิอาระเบียต้องมาทําโซลาร์แล้วก็พลังงานอย่างอื่น เพื่อจะเป็นรายได้ของเขาต่อไปในอนาคต

“ในโลกมีแนวโน้มการใช้ฟอสซิลลดลง เขาจึงเอาเงินที่มีอยู่ไปสร้างธุรกิจใหม่ๆ เช่น ขายพลังงานสะอาด แม้แต่ประเทศไทยเอง ผมคิดว่าภาคเอกชนตอนนี้ เริ่มปรับเอาโมเดลธุรกิจใหม่ที่มี 3 ตัวนี้ให้กลายเป็นธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้”

ต่อมาในแง่นโยบายจะมีแต่คำว่าเขียวและยืดหยุ่น แล้วคนทั่วไปจะปรับตัวอย่างไร อันนี้ยังเป็นโจทย์ที่จะต้องคิดและเข้าไปช่วย กลับมาที่เรื่องการจัดการน้ำ นึกถึงกรุงเทพฯ มีเว็บไซต์ต่างๆ เต็มไปหมด สามารถเปิดดูได้ฟรี แต่ถ้าอยู่ตำบลที่ห่างไกลออกไป จะดูยังไง เปิดดูก็ลำบาก ก็ต้องมีการใช้ภาษาที่คนเข้าใจได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลเอาความรู้ต่างๆ ไปถ่ายทอดให้ชุมชนปรับตัวในแบบตนเองได้ ไปสู่ 3 เป้าหมายเดิม

“อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งในการปรับตัว เรายังมีเป้าหมายอยู่ 3 อัน แต่ละภาคส่วนก็มีการปรับตัวที่ต่างกัน รัฐบาลก็ต้องติดตาม ให้ความรู้ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับที่เท่าทันไปด้วยกัน ต้องช่วยออกแบบให้ครบเพื่อจะไม่ได้ทิ้งใครไว้ทีหลัง”

ในระดับประเทศคิดว่างานวิจัยช่วยมากในเรื่องของข้อมูล และใน 4-5 ปีที่ผ่านมา กําลังทำในเรื่องของการทํานายอากาศที่ดีขึ้น แล้วก็พยายามที่จะมีวันแมพ (one map) ต่าง ๆ คิดว่าส่วนนี้เป็นความก้าวหน้าในระดับประเทศที่ผ่านมา

ปรับตัวอย่างไร ? เมื่อภัยพิบัติใกล้ตัวกว่าที่คิด 

ในระดับพื้นที่เนื่องจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นกลไกราชการหรือหน่วยงานยังรับข้อมูลจากส่วนกลางไป เพราะมีกฎหมายต้องรวมข้อมูลที่เดียวกัน แต่ไม่ย่อยภาษาให้คนในระดับท้องถิ่นเข้าใจว่าควรจะทำอย่างไร เช่น ในต่างประเทศ ส่วนกลางจะประกาศพื้นที่สีแดงสีเขียวตอนเกิดน้ำท่วมแบบหนึ่ง ส่วนท้องถิ่นจะเปลี่ยนเป็นสีอีกแบบหนึ่ง

“เพราะว่าสีที่ส่วนกลางกําหนดให้กับสีในพื้นที่อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ ความรู้ในการปรับแบบนี้ผมว่าเรายังไม่มีเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเอาข้อมูลส่วนกลางไปแล้วลงสีเหมือนกัน”

ยกตัวอย่างถ้าฝนตก 60 มม. ในพื้นที่เล็กแป๊บเดียวก็ท่วม ขณะที่พื้นที่ใหญ่ 60 มม.เท่ากันก็ไม่ท่วม แต่ใช้สีประกาศเดียวกัน ในแง่นี้ยิ่งต้องการให้การวิจัยในระดับพื้นที่ ย่อยความรู้ที่มีอยู่ให้เหมาะพอดีกับพื้นที่ สร้างศักยภาพและความสามารถในระดับต่างๆ ให้เท่าทัน เกิดการอ่านที่รู้เรื่อง วิเคราะห์แล้วปรับตัวได้

อีกอย่างคือช่องว่าง (gap) ตั้งแต่เรื่องของข้อมูล การอ่าน การวิเคราะห์ ยิ่งพื้นที่ห่างไกลก็จะมีช่องว่างมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่จังหวัดน่าน ทีมวิจัยเตือนว่าฝนตกจะเกิดน้ำท่วมหนัก เพราะโลกรวนจากที่เคยตก 100 มม. แต่ตก 200 มม. ขณะเดียวกันชาวบ้านจะมีความเคยชินจากน้ำท่วมครั้งก่อนๆ จึงมีการเตรียมความพร้อมตามที่เคยทำมา

“ชาวบ้านเขาก็จะบอกตอนที่เราท่วมหนักๆ ดูปี 54 สูงแล้วนะ เราป้องกันแบบนี้ ส่วนทีมงานก็บอกทําอย่างนี้เถอะ กลัวฝนมาเกิน คือเรายังไม่มีเกณฑ์ที่ว่าถ้าเกิน 54 คือเท่าไร สุดท้ายคลอง น้ำล้นตลิ่งเข้ามาในเทศบาลเลย”

ดังนั้นมูลเหตุอยู่ที่ 1. ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ 2. ระดับความเข้าใจไม่เท่ากัน ทำให้การเตรียมความพร้อมไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ดูเหมือนว่าคนในเขตภูมิภาคกับโรงเรียนใหญ่ ก็มีความสามารถในการปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ตามความเข้าใจและประสบการณ์ของแต่ละคนขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มี

“ผมคิดว่าทั้ง 3 ตัว (green, resilience, smart) เป็นตัวกําหนดการปฏิบัติ เรื่องของความรู้และการวางแผน เทศบาลรู้ว่าน้ำจะท่วมกว่า 30 ซม. เขาจะไปล้อมโรงพยาบาล โรงประปา และโรงไฟฟ้าก่อนคืออย่างน้อยท่วม แต่ต้องมีไฟมีน้ํา แต่ถ้าไม่รู้เลย มันท่วมหมด จะทํายังไงกับการเรียนรู้สถานการณ์ใหม่นี้”

เมื่อพูดถึงการจัดการน้ําภายใต้โครงสร้างน้ําปัจจุบันพยายามพูดถึงลุ่มน้ําลุ่มน้ําย่อย ในทางปฏิบัติไม่ได้มีงบมาก จะล้อมเฉพาะพื้นที่สำคัญเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่นล้อมช่วงโรงพยาบาลโรงไฟฟ้าหรือประปาก่อน เพื่อให้ว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วยอมท่วมส่วนหนึ่งไฟยังมีใช้

ดังนั้นการปฏิบัติจึงขึ้นอยู่กับความหนักของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ให้สามารถจะวางแผนแต่ละระดับได้ ยกระดับงบประมาณที่เหมาะสําหรับคำสั่งนั้นคิดว่า2 อย่างนี้มันต้องการอย่างที่ว่า ปรับเปลี่ยนไปสู่สมดุลใหม่ในระดับต่างๆ 

ยกตัวอย่างที่ญี่ปุ่น เมื่อก่อนใช้คำศัพท์ว่าตกหนัก ตอนนี้มีนิยามใหม่เรียก ฝนตามแนวปะทะ (การเปลี่ยนผ่านระหว่างมวลอากาศสองกลุ่มที่แตกต่างกันบนพื้นผิวโลก ซึ่งมีคุณลักษณะอุณหภูมิและความชื้นที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดเมฆและพายุได้) มีการทำนายล่วงหน้าให้ (predict) แต่ของไทยยังไม่มี พอพูดถึงฝนทุกคนจะเข้าใจตามที่เคยได้ยินมา แต่ปัจจุบันจะมีฝนตามแนวปะทะ ซึ่งจะอยู่ค้างนาน

อีกอันเรียกว่าฝนกองโจร ญี่ปุ่นใช้เรียกฝนที่ตกหนักเป็นช่วงสั้นๆ ในปริมาณมากกว่า 100 มม. ต่อชั่วโมงจากการก่อตัวของเมฆคิวมูโลนิมบัสโดยไม่สามารถคาดเดาได้

ในเชิงวิชาการจะต้องปรับตัวให้เข้าใจต่อปรากฎการณ์ใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการสื่อสารและการเตรียมตัว เมื่อเริ่มวิจัยว่าเป็นปรากฎการณ์ใหม่ ฝนเปลี่ยนรูปแบบ ตกไม่เหมือนเดิม หนึ่งเพราะอะไร สองมีการทำนายได้ไหม ซึ่งในไทยตอนนี้ยังไม่มีระบบทำนาย แต่เริ่มมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เฉพาะบ้างแล้ว

นอกจากนี้คือจะสื่อสารให้คนรับรู้อย่างไรให้นำไปสู่การปฏิบัติจริง ที่ญี่ปุ่น คนบอกฟังไม่รู้เรื่องเพราะคำว่าหนักแต่ละคนเข้าใจไม่เท่ากัน บางคนเข้าใจตามประสบการณ์ที่เคยเจอ ที่นั่นเลยแปลงเนื้อหาทางวิชาการมาทำเป็นการ์ตูนง่ายๆ ให้คนเข้าใจ

“ผมคิดว่า หนึ่งทางวิชาการต้องก้าวหน้าไปแต่ภาษากลับจะต้องง่ายขึ้นเพื่อให้เกิดการปฏิบัติได้ อันนี้ผมคิดว่าอาจจะเป็นช่องว่างใหญ่ๆ ก็ติงในภาควิชาการว่าต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย”

ส่วนกรณีของแล้งเนื่องจากมีเอลนีโญ ลานีญา ทำให้ฤดูกาลเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ที่ชัดเจนคือเมื่อก่อนเดือนพฤษภาคมจะต้องเริ่มมีฝนตก เกี่ยวข้าวเสร็จ เริ่มดำนาแรกนาขวัญ แต่ตอนนี้บางปีฝนตกหนักช่วงกรกฎาคม หมดเดือนตุลาคม บางปีฝนมาสั้นมายาว เริ่มเห็นภาพชัดขึ้น 

ดังนั้นต้องปรับเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะกับปีนั้นๆ ปัจจุบันเลือกตามราคาที่เชื่อว่าพันธุ์นี้จะขายดี แต่พอฝนไม่ตกตามที่คาดไว้ก็เสียหายหรือเก็บเกี่ยวไม่ได้ ปรากฏการณ์ทั้งสองด้านคือ น้ำท่วมปัญหาคือมาเร็ว ไปเร็ว เสียหายเยอะ แต่แล้งเทียบเหมือนมะเร็งจะค่อยๆ มาอยู่นานแล้วค่อยเกิดผล ซึ่งก็ไม่รู้จะเอาน้ำจากที่ไหนก็ต้องเตรียมเอาไว้ก่อนแล้ง

“การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมันทําให้ฤดูการเปลี่ยนแปลง แล้วก็มาก็มาหนัก ไม่มาก็ไม่มาสลับกันอีก ซึ่งจะทําให้ชีวิตเรารู้สึกว่าจะใช้ความเคยชินเดิมลําบากขึ้น”

กล่าวโดยสรุป ภาพอนาคตในเชิงการจัดการน้ำภาพใหญ่ ควรจะเก็บน้ำในเขื่อนมากน้อยแค่ไหนต้องวางแผนล่วงหน้า 2 ปี โดยดูว่าฝนมาเยอะมากน้อยแค่ไหน จะต้องประหยัดน้ำ เก็บน้ำไว้เผื่อสำหรับ 2 ปีข้างหน้า เนื่องจกปัจจัยสภาพภูิมอากาศที่แกว่งไปมา ฉะนั้นรัฐจะต้องรู้ว่ามีแหล่งต้นทุ้นเท่าไหร่ ออกแบบแบ่งกันใช้อย่างไรให้ทุกฝ่ายได้ใช้ร่วมกัน

สเต็ปต่อไป บูรณาการร่วมรัฐ ท้องถิ่น มหาวิทยาลัย

ภาพจำลอง (Scenario) ต่อไปในการเตรียมรับมือการจัดการน้ำภาพใหญ่ งานวิจัยพบว่าต้องมีการวางแผนล่วงหน้า 2 ปี เพราะปรากฏการณ์ที่แกว่งตัวไปมา ควรจะเก็บน้ำในเขื่อนมากน้อยแค่ไหน เผื่อไว้ใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้าถ้าเกิดแล้งจัด การเก็บน้ำเลยไม่ใช่การคิดแบบรายฤดูแต่ต้องเป็นปีล่วงหน้า สิ่งนี้คือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

“ตัวอย่าง ข้าวเป็นสินค้าที่มีประกันราคาข้าว มี 10 ไร่ ปีไหนน้ำดีอาจจะปลูกข้าวทั้งหมด แต่ถ้าแล้งก็ปรับ 5 ไร่ปลูกข้าว ที่เหลือทำอย่างอื่น ถ้ารัฐปรับคิดสร้างความเข้าใจ ส่งเสริมให้ชาวบ้านเกิดการผสมผสานอาชีพ ย้ายเงินที่อุดหนุน (subsidize) เงินช่วยเหลือไปจุดที่ควรจะเป็น”

หลักสำคัญคือ แต่ละพื้นที่ต้องมีการบริหารพื้นที่เก็บน้ำเป็นของตัวเองไม่ว่าจะบนดินหรือใต้ดิน โดยไม่พึ่งส่วนกลางอย่างเดียว ขณะเดียวกันการบริหารน้ำใต้ดินหรือบนดินยังแยกส่วนอยู่ อย่างความรู้น้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล มีการแยกกันเจาะ จากหลุมเล็กหลายๆ หลุมมาเชื่อมกัน พอสูบน้ำทีมันจะกลายเป็นการลดในพื้นที่ขนาดใหญ่ ชาวบ้านที่อยู่ตรงนั้นก็เดือดร้อน

“ดังนั้นจะต้องกำหนดว่าแต่ละบ่อควรห่างกันเท่าไหร่ ไม่ต่างคนต่างเจาะเพราะจะเกิดผลกระทบในระยะยาว ดูข้อมูลว่าแต่ละตำบลมีกี่บ่อเพื่อให้เกิดการบริหารร่วมกัน แม้แต่กรมน้ำบาดาลที่ดูแลภาพใหญ่ควรจะรู้ว่าตรงไหนควรใช้หรือไม่”

ปัจจุบันมีกฎหมายทั้ง พ.ร.บ. น้ํา และ ครม.น้ํา ที่จะรวม 3 กระทรวงได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดูแลป่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลเกษตรกร กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลเมืองเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดสมดุลการใช้ระหว่างต้นทุนกับความต้องการ โดยจับเอา 3 คำคือ green resilience smart มาใช้ แต่ปฏิบัติจริงยังมีความแตกต่างในแง่พื้นที่ การทำงานระหว่างกรมอยู่

กรณีเช่นจะไปขุดสระเล็กๆ เพื่อจะเติมน้ําในอุทยาน กรมอุทยานฯ ก็จะไม่ให้เพราะมองว่ามีผลต่อป่าไม้ หรือไม่ก็เกิดปัญหาอีกแบบ คือถ้ามีน้ำคนจะเข้าไปอยู่อาศัย เป็นเหตุผลที่เข้าไปทำไม่ได้ หรือจะไปทำฝายในแม่น้ำแห่งหนึ่งเพื่อจะเติมน้ำ ซึ่งเป็นอำนาจของกรมเจ้าท่า ก็ทำไม่ได้เพราะเหตุที่ว่ากีดขวางการเดินเรือ เป็นต้น

(โครงสร้างการบริหารจัดการจัดการน้ำในประเทศไทย ภาพ The Active)

ส่วนกรณีปัญหาข้ามพรมแดนที่เชียงรายหรือทางอีสานเป็นปัญหาที่ทั่วโลกเจอ ทางออกคือ win win เจรจาหาคำตอบที่มีประโยชน์ร่วมกันที่เขาได้เราได้ ตัวอย่างจากฝุ่น PM ที่สิงคโปร์กับมาเลเซีย ใช้วิธีศึกษา สำรวจ หานโยบายที่ตรงกันปรับอาชีพใหม่ใช้เวลากว่า 10 ปีจนตอนนี้ไม่มีฝุ่นแล้ว 

“เราควรจะรู้ล่วงหน้า 2 ปี ทุกอย่างเป็นเรื่องของการวางแผนที่จะต้องใช้ภาพอนาคตมาประกอบในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เพื่อลดความเสียหายอย่างจริงจัง ผมคิดว่าไม่ใช่แค่น้ําอย่างเดียวแต่ทุกอย่าง”

เพราะงี้ในแต่ละพื้นที่ตั้งแต่ส่วนกลาง จนถึงระดับย่อยยังมีช่องว่างอยู่ ซึ่งความรู้และการปรับตัว เป็น 2 ปัจจัยหลักที่จะทําให้การเปลี่ยนผ่านหรือการปรับตัวจากที่สมดุลเก่าไปสู่สมดุลใหม่ได้ไม่ช้าก็เร็ว ความเป็นพลวัต (dynamic) ของประเทศกับเกษตรกรต้องไปด้วยกัน ในภาพรวมทางสนช.เองพยายามเอาคอนเซ็ปต์เรื่อง strategic environment คือนอกจากเรื่องน้ําอย่างเดียว มองในเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วย เป็นมิติใหม่ที่พยายามใส่เข้าไปเพื่อให้การวางแผนการใช้น้ําใช้ได้กับทุกมิติ

ตัวอย่างพื้นที่ที่น่าสนใจอย่างภาคตะวันออก ชลบุรี ฉะเชิงเทราและระยองเพราะมีทั้งอุตสาหกรรมเกษตรทรัพยากร ภาคบริการเป็นตัวอย่างของการที่จะสร้างภาพนี้ให้ชัดเจนขึ้น แล้วพื้นที่อื่นสามารถเรียนรู้จากที่นี่ได้ ขณะที่พื้นที่ขนาดเล็กอย่างที่อบจ.น่านหรือขอนแก่น แก้ปัญหาแบบ multi proposition ทีมวิจัยลงไปส่งเสริมให้อบต. ใช้แผนที่เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นข้อมูลว่าฝายของแต่ละคนอยู่ตรงไหน มีทั้งหมดเท่าไหร่และต้องการน้ำเท่าไหร่ ถ้าขาดก็ลงทุนฝายขนาดเล็กๆ  พื้นที่เทศบาลเริ่มเรียนรู้การแก้ปัญหาแล้งแก้ท่วมเฉพาะหน้า ลงมือทำเอง

“เกิดความเข้าใจตรงกัน เริ่มจากแล้งคือ resilience เสร็จมา green ว่าต้องปลูกผักอะไรที่จะคุ้มทุน ต่อมาคือน้ำท่วมมีข้อมูลทำนายล่วงหน้าคือ smart ทำให้มีเวลาในการวางแผนที่ยาวขึ้น”

จากที่ไปทำ MOU กับมหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ ประเทศไทยมี 8,000 ตำบล ทีมทำอยู่ 10 ตำบลในการถ่ายทอดความรู้ ให้คนในพื้นที่เห็นก่อน จากนั้นดึงมหาวิทยาลัยเข้ามาอย่างม.เชียงใหม่หรือม.ขอนแก่น มาเป็นแม่งาน ตั้งโหนดทำงานร่วมกัน 

ส่วนในระดับปัจเจกบุคคลเจอทั้งสภาพอากาศเปลี่ยน อาชีพก็ต้องเปลี่ยน ฉะนั้นการเรียนรู้ตลอดชีวิจเป็นสิ่งจำเป็น สังคมต้องให้โอกาสความรู้ที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดล่วงหน้าได้ ทุกคนต้องมีความเป็น entrepreneur ระดับหนึ่งสามารถจะมีการพัฒนาตนเอง และการติดตามโลกที่ท่วงทันเป็นพื้นฐาน


เรียบเรียง : อรกช สุขสวัสดิ์

สัมภาษณ์ : ธีรมล บัวงาม, แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง

ภาพถ่าย : ก้องกนก นิ่มเจริญ, ปาลิตา พันธ์สุข

แชร์บทความนี้