อ่านประสบการณ์ คนพื้นที่ชุ่มน้ำทามรับมือภัยพิบัติช่วงน้ำหลากและแล้ง

‘โลกร้อน’ สู่ ‘โลกรวน’ คำเหล่านี้มักได้ยินคนพูดถึงมากในช่วงที่ผ่านมา เป็นคำอธิบายถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่ร้อนจัด ปริมาณฝนตกหนักจนทำให้เกิดภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ

ประเทศไทยเองกำลังเผชิญความเสี่ยงในหลายมิติจากปรากฏการณ์โลกรวน จากรายงานดัชนีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศ Global Climate Risk Index 2021 โดย German Watch จัดอันดับพบว่า ไทยมีความเสี่ยงเป็นอันดับ 9 ของโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การเกิดน้ำท่วมและน้ำแล้งสลับไปมาซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Niño) และลานิญา (La Niña) ที่ทำให้ฝนตกหนักกว่าปกติและอุณหภูมิลดลงทั่วประเทศ

จากภาพข้างต้นเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลในปี 2019 และช่วงข้อมูลตั้งแต่ปี 2000-2019 จัดลำดับว่าประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (extreme weather event) เช่น พายุ ลูกเห็บ น้ำท่วม โดยถ้ามีสีเข้มหรือค่าเฉลี่ย 1-10 หมายถึงมีความเสี่ยงสูง ไล่ไปตามลำดับ
จากภาพข้างต้นเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลในปี 2019 และช่วงข้อมูลตั้งแต่ปี 2000-2019 จัดลำดับว่าประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (extreme weather event) เช่น พายุ ลูกเห็บ น้ำท่วม โดยถ้ามีสีเข้มหรือค่าเฉลี่ย 1-10 หมายถึงมีความเสี่ยงสูง ไล่ไปตามลำดับ

ปรากฏการณ์น้ำหลากและน้ำแล้ง กลายเป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่ไทยเผชิญ เป็นประจำทุกปีในทุกภูมิภาคของประเทศไทย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเกิดได้ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงต้นเดือนมกราคม และบางพื้นที่อาจเจอมากกว่า 1 ครั้งในรอบปี 

ข้อมูลชุดนี้เกิดจากการนำภัยพิบัติ 3 ประเภทในพื้นที่ประเทศไทย ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ ภัยแล้ง น้ำท่วม และความร้อนมาประเมินสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 6 ภาคส่วนคือ การจัดการน้ำ เกษตรและอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่องเที่ยว สาธารณสุข และการตั้งถิ่นฐาน จากนั้นนำมาเทียบเคียงกับเงื่อนไขและจุดที่ตั้งของแต่ละจังหวัด จนนำมาซึ่งข้อมูลโลกร้อนระดับจังหวัด

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน จากรายงานแห่งชาติฉบับที่ 4 (NC4) จัดทำโดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมและ UNDP  พบว่า เป็นพื้นที่ที่เสี่ยงทั้งท่วมและแล้ง โดยส่วนบริเวณริมฝั่งเขตลุ่มน้ำมูล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดอุทกภัยขึ้นบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปี

ชวนสำรวจอีสาน ทำไมถึงเจอทั้งท่วมและแล้ง

ก่อนอื่นทำความเข้าใจลักษณะการเกิดน้ำท่วมแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะสำคัญ คือ น้ำป่าไหลหลากหรือน้ำท่วมฉับพลัน (Flash flood) มักเกิดในที่ราบต่ำหรือที่ราบลุ่มใกล้เชิงภูเขา เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่วนที่สอง คือ น้ำท่วมหรือน้ำท่วมขัง (Inundation) เกิดจากปริมาณน้ำฝนสะสมจำนวนมากไหลบ่าในแนวระนาบจากที่สูงไปยังที่ต่ำ หรือเกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องไหลลงสู่ลำน้ำระบายออกปากแม่น้ำไม่ทัน ทำให้เอ่อท่วมที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตร เส้นทางจราจรถูกตัดขาดเป็นสภาพน้ำท่วมขังในเขตเมืองใหญ่ที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน 

ที่ภาคอีสานนั้นมีความเสี่ยงสูงจากน้ำท่วม เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ดินส่วนใหญ่เป็นดินทราย ไม่อุ้มน้ำ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนจึงเกิดน้ำท่วมได้ง่าย และไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ เมื่อถึงฤดูแล้งจึงเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ดังนั้น หลายพื้นที่ในอีสานจึงประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในปีเดียวกัน การสร้างเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ก็มีข้อจำกัดอาจส่งผลต่อคุณภาพน้ำในบริเวณใกล้เคียง

แม่น้ำมูลเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ของภาคอีสาน ไหลผ่านหลายจังหวัดรวมถึงศรีสะเกษ โดยการระบายน้ำจะไหลจากซ้ายไปขวาออกสู่แม่น้ำโขงทำให้ความรุนแรงของ
อุทกภัยขึ้นอยู่กับระดับน้ำในแม่น้ำโขง โดยหากระดับน้ำสูงจะสามารถระบายน้ำได้ช้า ความเสียหายจะ
รุนแรงและยาวนานกว่ากรณีที่ระดับน้ำต่ำ

นอกจากนี้อีสานยังติดกับ 3 ลุ่มน้ำหลัก คือ ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่รวมกว่า 100 ล้านไร่ ซึ่งมีการใช้ประโยชน์และประสบปัญหาผลกระทบทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง 

ยกตัวอย่างที่จังหวัดศรีสะเกษ ติดอยู่กับลุ่มน้ำมูล ประชาชนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรมทำนาปีและนาปรัง คนที่นี้มีประสบกับเหตุการณ์ภัยพิบัติรุนแรงครั้งสำคัญในปี 54 และ 65 เจอภาวะน้ำท่วมขังนานหลายเดือน เป็นจังหวัดที่พบพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมากเป็นอันดับ 3 ของภาค และส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอราศีไศล ซึ่งมีเขื่อนราษีไศลตั้งอยู่
ภาพถ่ายดาวเทียม Pléiades (เปลยาด) ของ GISTDA เปรียบเทียบก่อนและหลังน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอราษีไศลตลอดริมฝั่งแม่น้ำมูล จังหวัดศรีสะเกษบริเวณอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ วันที่ 5 ตุลาคม 65 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมลุ่มต่ำ บ้านเรือนประชาชน และเส้นทางการจราจร

อีกด้านในศรีสะเกษมีระบบนิเวศที่รู้จักกันในชื่อ ป่าบุ่งป่าทาม ตู้กับข้าวของคนทาม ที่ขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากร เป็นระบบนิเวศที่เจอกับสภาวะน้ำหลากและแล้ง แต่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้ในการทำมาหากิน สร้างรายได้ตลอดปี

สิ่งท้าทายสำหรับระบบนิเวศนี้นอกจากลดลงของพื้นที่ป่าไม้และพืชพันธุ์ คือ การบริหารจัดการน้ำที่ยังไม่เป็นระบบ การปล่อยน้ำจากเขื่อน รวมถึงปัจจัยจากสภาพภูมิอากาศที่ผันผวน ทำให้ชุมชนคนทามราษีไศลต้องปรับตัว ทดลองการทำเกษตรใหม่ๆ ให้เท่าทัน ชวนอ่านประสบการณ์ที่น่าสนใจไปพร้อมๆ กัน

บุ่งทาม คือ ลักษณะพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงในฤดูฝนที่เกิดช่วงน้ำหลาก โดยภายในพื้นที่ทามเป็นที่ลุ่มและมีน้ำขังตลอดทั้งปี เพราะเป็นแอ่งน้ำบึงหรือกุด

ทำความรู้จัก “ตู้กับข้าว” ของคนป่าบุ่งป่าทาม

ป่าบุ่งป่าทาม (Wetlands) คือระบบนิเวศน์ขนาดใหญ่และอุดมสมบูรณ์ในภาคอีสานจนได้ชื่อว่า มดลูกของแม่น้ำอีสาน เป็นตู้กับข้าวที่กระจายอยู่ทั่วภาคอีสานตามริมแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำสงคราม โดยป่าบุ่งป่าทามในลุ่มน้ำมูลมีประมาณ 75,000 ไร่ มีมากที่สุดเมื่อเทียบกับลุ่มน้ำอื่นๆ อย่างลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมหาสารคาม เพราะเป็นลำน้ำขนาดใหญ่และมีภูมิประเทศสองฝั่งแม่น้ำเป็นพื้นที่บุ่งทามเป็นจำนวนมาก รวมถึงยังพบป่าบุ่งป่าทามในเขตลำน้ำสาขาด้วย เช่น ลำชี ห้วยทับทัน และลำเซบาย เป็นต้น

บริเวณที่มีป่าบุ่งป่าทามปกคลุมอยู่ค่อนข้างหนาแน่นและต่อเนื่องเป็นผืนใหญ่พบเพียงแห่งเดียวคือ พื้นที่ท้ายเชื่อนราษีไศล เนื้อที่ประมาณ 30,000 ไร่ รวมพื้นที่น้ำ จัดว่าเป็นป่าบุ่งป่าทุ่มที่เป็นผืนต่อเนื่องและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่บริเวณ ต.ดอนแรก ต.หนองบัวทอง อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ และต.ด่าน ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ แบ่งลักษณะของป่าบุ่งป่าทามออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่

  1. โนนทาม,ดอนทาม เป็นพื้นที่สูงของทามน้ำจะไม่ท่วมหรือนานครั้งจะท่วม เป็นแหล่งชุมชุมของสัตว์ในฤดูน้ำหลาก สำหรับเลี้ยงสัตว์ ปลูกข้าวไร่
  2. เลิง พื้นที่ราบลุ่มลงไปสู่ผิวแม่น้ำมูลหรือกุด สำหรับขุดมันแซง ปลูกพืชผักสวนครัว
  3. ฮอง,หนอง มีคูขนาบสองข้างและมีน้ำไหลหรือเป็นรองน้ำ เป็นแหล่งใส่ไซจับสัตว์น้ำ
  4. กุดหรือหลง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงร้องน้ำมูลตามวัฏจักรการไหลในช่วงระยะเวลาต่างๆ ทำให้แม่น้ำเปลี่ยนทางเดินแนวทางน้ำเก่า เรียกว่า กุด บางแห่งเรียกหนอง
ที่มาภาพ : คนทามราษีไศล

ขณะที่วิถีการดำรงชีวิตของชุมชนในอดีตก่อนการสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา (ก่อนพ.ศ. 2532) นั้นเน้นพึ่งพาทรัพยากรในป่าทามเพื่อหาอาหาร สร้างรายได้และแลกเปลี่ยนทางสังคมวัฒนธรรม ชุมชนทำอาชีพเกษตรกรรมใช้พื้นที่ป่าทามปลูกข้าวนาปี และปลูกผักเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ หอมแดง พริก ข้าวโพด และถั่วฝักยาว เป็นต้น

การเก็บของหาป่า เนื่องจากพื้นที่ป่าทามมีความอุดมสมบูรณ์ในทุกช่วงฤดู จึงมีพืชผักหลายชนิดขึ้นให้เก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี เช่น พืชผัก เห็ด ปู ปลา หอย มันแซง ไม้ใช้สอยในครัวเรือนเป็นสิ่งที่หาได้ทั่วไป รวมถึงเลี้ยงวัวควายในป่าทามตามธรรมชาติ

การทำเกษตรในป่าบุ่งป่าทามนั้น มีลักษณะผสมผสาน ปลูกพืชผักหลากหลายชนิด โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับช่วงฤดูกาล ทั้งน้ำหลาก น้ำท่วม น้ำลด และน้ำแล้ง ตามความเหมาะสมของระบบนิเวศย่อยไม่ว่าจะเป็นโนน ดอน ฮองหรือกุดเพื่อเอาไว้กินและขาย ซึ่งจะปลูกในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น ริมกุด ริมหนอง ริมฮอง โดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำเหล่านี้มารด

ศรี- อัมพรรณ นทะศร บทบาทหนึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายคนทามราษีไศล คอยขับเคลื่อนเรื่องสิทธิชุมชนและกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล อีกด้านเป็นเกษตรกรทำนา ปลูกพืชผักสวนครัวอินทรีย์ที่ตลาดนัดสีเขียวคนทาม

ศรีเล่าว่า เป็นคนที่นี่ตั้งแต่เกิด ทำไร่นา มีอาชีพเสริม คือ หาของป่าในป่าบ่งป่าทาม จะมีอาหารตามฤดูกาลตามธรรมชาติ ทั้งปลา หอย กบ ไม้ฝืน หน่อไม้ มันแซง หลากหลายในมิติของอาหารป่าทาม

ศรี- อัมพรรณ นทะศร เครือข่ายสมาคมคนทาม อ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ

“เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเหมือนตู้กับข้าว เราเรียกพื้นที่ป่าทามอย่างนั้น เพราะว่ามีทุกอย่างปลาอาหารที่มีอยู่ในตู้กับข้าว เป็นอาหารตามฤดูกาลที่สร้างให้เรา”

ศรีกล่าวว่า พอเขื่อนเข้ามาชีวิตก็เปลี่ยนไป จากที่เคยหาของในป่าก็เหลือน้อย หรือเลี้ยงวัวควายในป่าทามให้เกี่ยวหญ้านากินก็ไม่มีแล้ว ภาวะโลกรวนทำให้น้ำท่วมบ่อยขึ้น บริเวณกว้างขึ้น ก็ต้องปรับตัวมาเอาพืชผักในป่ามาปลูกเองในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง

ภาพอาหารป่า จากป่าบุ่งป่าทามในอดีต

“จากแต่ก่อนหนึ่งอาทิตย์น้ำก็ลด ทุกวันนี้ถ้าท่วมทีนาน 2-3 เดือน ต้องปรับตัวตลอดเวลาว่าพื้นที่ไหนที่เหมาะกับทำเกษตร แต่พอทำน้ำก็มา ก็ต้องเปลี่ยนหาที่ปลูกใหม่วนไปอย่างนี้”

ตู้กับข้าวของชุมชนที่เต็มไปด้วยอาหารตามฤดูกาลตามธรรมชาติ ตอนนี้ต้องเปลี่ยนไปจากการเข้ามาของเขื่อน ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าลดลง รวมถึงฟ้าฝนแปรปรวน คาดเดาไม่ได้อย่างเคย ทั้งสองปัจจัยกลายเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญที่ชุมชนต้องหันมาปรับตัวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

รู้เท่าทันปรับตัวให้เข้ากับโลกรวน หันมาทำเกษตรยั่งยืน

ที่อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เจอทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง เนื่องจากปัจจัยหลัก 2 ด้าน คือ ขาดการจัดการแบบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถวางแผนการผลิตได้ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ทำให้พื้นที่มีความเสี่ยงและเปราะบาง 

อีกทั้งยังมีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ในเขตชลประทาน จำนวน 200,279 ไร่ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลาง จำนวน 16 อ่าง พื้นที่ชลประทาน 104,469 ไร่ เขื่อนขนาดใหญ่ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา พื้นที่ชลประทาน 95,810 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำขนาดใหญ่โขงชีมูล

เขื่อนราษีไศล มีทั้งหมด 7 บานประตูในการระบายน้ำ

สำหรับกรณีเขื่อนราษีไศลที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในที่ราบลุ่มราษีไศลนั้น สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2535 และเก็บกักน้ำเพื่อการชลประทานในปี พ.ศ. 2536 ได้ท่วมและทำลายป่าบุ่งป่าทามถึง 438,437 ไร่ จาก 1,249,709 ไร่ 

ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามของพื้นที่ป่าทามในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบ ครอบคลุม 142 หมู่บ้าน 21 ตำบล 8 อำเภอ 3 จังหวัดในสุรินทร์ร้อยเอ็ดและศรีสะเกษ (สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม 2540)

จากที่กล่าวมา การทำเกษตรกรรมในพื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม ชุมชนจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในความหลากหลายทางระบบนิเวศ ทั้งจากการสังเกต เรียนรู้จนเกิดเป็นประสบการณ์ นำมาปรับการใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรอย่างยั่งยืน

ปลา- ปราณี มรรคนันท์ เครือข่ายสมาคมคนทาม อ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ

ปลาเล่าว่า ประสบการณ์เดิมที่เคยคาดคะเนปริมาณมวลน้ำใช้ไม่ได้ ในปี 65 พื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลางเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ชุมชนหลายครัวเรือนได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศล  อพยพครอบครัว สัตว์เลี้ยง ข้าวในยุ้งขนขึ้นที่สูง เกี่ยวข้าวไม่ทัน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดสถานการณ์นี้ คือ 1. เขื่อน ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ ทำให้ไม่สามารถวางแผนได้ 2. การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและภูมิอากาศที่ผันผวน

“มานั่งคุยทบทวนกันว่าจะมีข้าวกินได้อย่างไร จะทำนาหนีน้ำท่วมอย่างไร พบว่า หนึ่งปรับช่วงเวลาปลูกข้าวที่เหมาะสมกับพันธุ์ข้าว พื้นที่นิเวศทามดินมีความอุดมสมบูรณ์มีเพียงน้ำกับนาก็สามารถปลูกข้าวได้ เช่น ข้าวหอมสยาม ข้าวมะลิ 105 และข้าวเหนียวพันธุ์กข 6 ที่หว่านไม่เกินเดือนธันวาคมสามารถให้ผลผลิตและเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคมได้ สองเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะกับพื้นที่ พื้นที่ลุ่มต่ำมากน้ำจะลดช่วงมกราคม-มีนาคม ควรปลูกข้าวนาปลังช่วงนี้”

การทดลองพัฒนาข้าวที่อายุต่างกัน จะมีความต่างของระยะการเจริญเติบโต ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ข้าวไวต่อช่วงแสง (ข้าวนาปี) เช่น ข้าวขาวดอกมะลิ 105  และข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง (ปลูกได้ตลอดปี) เช่น ข้าว กข.33 มีอายุ 100 วัน

นอกจากนี้ ยังมีสอนการดูแอพพลิชันที่ทางมหาวิทยาลัยทำให้ ในการวางแผนตอนจะเกี่ยวข้าว เช่น ดูว่าภายใน 3 วันที่จะเกี่ยวแล้วตากมีฝนไหม ถ้าอีกสองวันฝนจะมาก็รีบเก็บข้าวก่อน ความรู้แบบนี้ชาวบ้านก็ต้องรู้ และเริ่มขยาย อย่างน้อยก็ทำให้เราตัดสินใจเลือกสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับช่วงได้

บริเวณศูนย์เรียนรู้สมาคมคนทามราษีไศล ทดลองเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ก่อนช่วงน้ำท่วม

ปลาเล่าถึงส่วนผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศว่า ตอนแรกไม่รู้จะทำยังไง เพราะพืชผักสวนครัวได้รับผลกระทบเยอะหลายอย่าง พืชผักเหมือนโดนลวกไหม้ เลยตั้งคำถามกับชาวบ้านให้เริ่มสังเกตสิ่งรอบตัวพืชพักไหนที่ทนทานที่สุด

“หลายคนถ้าเป็นผักสวนครัวถ้าไม่มีร่มให้คือลวกหมดเลย ต้นกันเกลา ต้นหว้าขนาดเป็นต้นไม้ใหญ่ยังตาย ร้อนมาก มะพร้าวยังเหี่ยว ต้องขยับมาไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ถึงจะอยู่ได้ เลยตั้งโจทย์กันว่า ถ้างั้นขยายต้นไม้ที่เป็นไม้ร่มเงา เหมือนในศูนย์การเรียนรู้คนทาม ส่วตัวที่ชอบคือต้นขี้เหล็ก อุหภูมิสี่สิบองศาทน ไม่เหี่ยวเฉาเลย”

ศรีเสริมต่อว่า ปี 2565 เป็นปีที่ปรับตัวเยอะสุด ต้องทำนาอย่างเดียว ไปหาของในป่าไม่ได้เพราะน้ำท่วมเยอะ ขณะเดียวกันก็มองวิกฤตเป็นโอกาส เป็นการปรับตัวสำคัญ ร่วมมือกับสมาชิกในเครือข่ายสมาคมคนทามจัดทำ “ตลาดสีเขียวคนทาม” เพื่อให้ชุมชนนำพืชผักที่ปลูกเอง ไม่ใช้สารเคมีมาขายสร้างรายได้ 

สมาคมคนทามเกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายชาวบ้าน 2 องค์กร เครือข่ายองค์กรชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ป่าทามแม่น้ำมูน (เครือข่ายฝั่งเขื่อนราษีไศล) และเครือข่ายฮักแม่มูนเมือองศรีสะเกษ (เครือข่ายฝั่งเขื่อนหัวนา) ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ส่วนหนึ่งของโครงการโขง ชี มูน โครงการผันน้ำขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอีสาน

“ก่อนหน้าเป็นสมัชชาคนจน ตอนนี้สมาคนทามทำหน้า 2 อย่างคู่กัน คือ งานเย็น งานพัฒนาต่างๆ และงานเคลื่อนไหวเรียกร้องค่าชดเชย เป็นงานร้อน”

อีกด้านสิ่งที่ต้องปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แม่ศรีบอกว่า ปรับเรื่องการปลูกพืชผัก แต่ก่อนแม่ศรีกับชาวบ้านไม่เคยคิดว่าใต้ต้นไม้ใหญ่จะปลูกอะไรได้ คนก็พยายามตัดออกไม่ให้ขึ้น ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างมันสำปะหลัง แตงโม แต่ตอนนี้อากาศร้อนจัดปลูกที่โล่งผลผลิตไม่ขึ้น เลยทดลองหันมาปลูกพืชผักใต้ต้นไม้ใหญ่

“เดี๋ยวนี้ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศหมดเลย ไม่ว่าจะข้าว จะใส่หลายสายพันธุ์มากอย่างข้าวอายุสั้นสำหรับช่วงที่น้ำขึ้นก็จะได้เกี่ยวทัน ใส่อีกสายพันธุ์ไว้เผื่อว่าถ้ามันท่วมจริงจัง ข้าวที่เกี่ยวก่อนก็ได้กิน ถ้าแล้งนี่ไม่เท่าไหร่เขาจะมีสูบน้ำมาให้ แต่ถ้าท่วมนี่มันหนัก ก็เตรียมรับมือว่าเราต้องปลูกข้าวหลายๆ ช่วงเพื่อว่าก่อนที่น้ำจะมาจะได้เกี่ยวทันใส่ยุ้งไว้ แต่พอน้ำมาลดลงเสร็จก็ทำนาตามไปอีกรอบ”

รวมถึง จากการทดลองพูดคุยกับคนในชุมชนร่วมกัน จึงจัดกิจกรรม ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ จากเหตุการณ์น้ำท่วม ความเสียหายและผลกระทบทำให้ไม่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกในฤดูกาลหน้า การทำผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ คือการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ ส่งต่อให้กับเกษตรกรได้ฟื้นฟูหลังน้ำลดได้

ระบบนิเวศป่าบุ่งป่าทาม ที่อำเภอราษีไศลซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์หลากหลาย ทำให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ ทำมาหากินสร้างรายได้จากผลผลิตทางเกษตร ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่เจอกับน้ำท่วมขังเป็นเวลานานนอกจากปริมาณฝนที่มากขึ้นจากภาวะโลกแปรปรวนแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องการบริหารจัดการน้ำของรัฐ การเปิดปิดระบายน้ำของเขื่อน ที่คนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหาร ทำให้ไม่สามารถวางแผนการรับมือและการผลิตได้

ดังนั้น ชุมชนจึงต้องปรับตัว รวมกลุ่ม พูดคุย ทดลองหาแนวทางการรับมือจากประสบการณ์การเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ปี 65 ไม่ว่าจะทดลองปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ให้เหมาะกับช่วงฤดูกาล จัดตั้งตลาดสีเขียว เพื่อเป็นพื้นที่กลางให้ชุมชนนำผลผลิตมาขายผ่าน สมาคมคนทาม ในการทำกิจกรรมร่วมกัน 

ที่มา

สมาคมคนทาม

บทความ ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้มีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก

ผู้ให้ข้อมูล

ปราณี มรรคนันท์ เครือข่ายสมาคมคนทาม อ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ

อภิรักษ์ สุธาวรรณ์ สมาชิกเครือข่ายคนทามราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ

อัมพรรณ นทะศร สมาชิกเครือข่ายคนทามราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ

แชร์บทความนี้