EP.2 ทำไมเศรษฐกิจลำปางถึงไม่ไปไหน?

เศรษฐกิจลำปางอาจไม่ได้มีบทบาทสำคัญในแผนที่เศรษฐกิจของประเทศ แม้จะดำเนินไปอย่างช้า ๆ และดูมีเสถียรภาพ แต่การกระจายตัวของภาคเศรษฐกิจที่ไม่มีความโดดเด่น ทำให้จังหวัดขาดทิศทางในการพัฒนาที่ชัดเจน สะท้อนถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่หยุดนิ่งไม่ก้าวไปข้างหน้า 

จากการวิเคราะห์ของหอการค้าจังหวัดลำปาง พบว่ามีปัจจัยสำคัญ 3 ประเด็นหลักที่ฉุดรั้งศักยภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดอยู่ ได้แก่ โครงสร้างประชากรที่ไม่สมดุล การกระจุกตัวในภาคเศรษฐกิจมูลค่าต่ำ และการลดบทบาทของอุตสาหกรรมพลังงาน

1) โครงสร้างประชากรไม่สมดุล ลำปางมีสัดส่วนผู้สูงอายุมาก แต่จำนวนประชากรวัยเด็กกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง ประชากรวัยทำงานที่มีภาระดูแลผู้สูงอายุภายในครอบครัว มักไม่มีความพร้อมในการมีลูกหรือเลือกวิถีชีวิตครอบครัวขนาดเล็ก ทำให้แรงงานรุ่นใหม่ที่ควรเป็นกำลังหลักในระบบเศรษฐกิจกลับหดตัวลงเรื่อย ๆ สถานการณ์นี้จึงเป็นวัฏจักรซ้ำซากที่ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้อย่างสมบูรณ์

2) การกระจุกตัวในภาคเศรษฐกิจมูลค่าต่ำ ประชากรส่วนหนึ่งยังคงอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ไม่มาก เช่น เกษตรกรรมแบบดั้งเดิมหรือการค้ารายย่อย ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงกลับมีแรงงานอยู่น้อย นอกจากนี้ สินค้าหลายชนิดที่ผลิตจากลำปาง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากไม้ ผ้า หรือเซรามิกที่มีชื่อเสียง กลับไปสร้างมูลค่าเพิ่มในพื้นที่อื่น เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือในต่างประเทศ ลำปางจึงได้รับส่วนแบ่งจากห่วงโซ่มูลค่าน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

3) การลดบทบาทของอุตสาหกรรมพลังงาน โรงไฟฟ้าแม่เมาะซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และแหล่งจ้างงานหลักของจังหวัด กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายระดับโลกในการลดการปล่อยคาร์บอนและการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน บทบาทของอุตสาหกรรมนี้จึงมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่เหมืองแม่เมาะเองก็มีกำหนดปิดตัวในอีก 30 ปีข้างหน้า เนื่องจากปริมาณถ่านหินที่กำลังจะหมดลง ทว่าลำปางยังไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจทางเลือกใหม่เพื่อมาทดแทนได้

ภาคเกษตรกรรม: การขาดแคลนเทคโนโลยีและโอกาสในเกษตรมูลค่าสูง

ภาคเกษตรกรรมในลำปางยังคงติดอยู่กับการผลิตแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ไม่ได้มีการพัฒนา ทำให้เกิดการสร้างรายได้ต่ำ ในขณะที่การทำเกษตรมูลค่าสูง เช่น การแปรรูปหรือใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมที่สร้างรายได้มากกว่า กลับถูกจำกัดด้วยต้นทุนที่สูง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ เครื่องมือ หรือโรงเรือน ทำให้เกษตรกรไม่มีทุนลง อีกทั้งการขาดองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาและเทคโนโลยีที่ยังกระจายไม่ทั่วถึงทำให้การเกษตรในลำปางยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากนัก และไม่สามารถแข่งขันในระดับที่สูงขึ้นได้

ภาคการท่องเที่ยว: ความซ้ำซ้อนและขาดการเชื่อมโยง

ปัญหาหลักในการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวในลำปางยังคงเป็นเรื่องระยะทางที่ห่างไกลเกินกว่าจะเชื่อมโยงกันได้ ทำให้การเข้าถึงนักท่องเที่ยวและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปได้ยาก แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของลำปางแต่ละแห่งมีระยะทางห่างไกลกันเกินกว่า 20-30 กิโลเมตร และไม่มีรถโดยสารประจำทางหรือโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวก นอกจากนี้ กิจกรรมท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ยังมีความซ้ำซ้อนกัน ทำให้ขาดเอกลักษณ์ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างทั่วถึง 

ภาคอุตสาหกรรม: อุตสาหกรรมพลังงานที่รอวันนับถอยหลัง

ในอีกไม่ถึง 30 ปี ถ่านหินจะหมดลง ส่งผลให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะต้องปิดตัว ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจของจังหวัดและแรงงานท้องถิ่นจำนวนมาก ปัจจุบัน บริษัทที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะจ้างแรงงานในพื้นที่ประมาณ 1,000 คนในแต่ละบริษัท ตามข้อกำหนดเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงนี้เป็นวาระจำเป็นในการสร้างโอกาสทางอาชีพใหม่ ๆ และพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มีความยั่งยืน สิ่งสำคัญคือต้องมีนโยบายรองรับ เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบและวางรากฐานเศรษฐกิจใหม่ทดแทนบทบาทของอุตสาหกรรมพลังงานที่กำลังลดลง

ปัญหาภาพรวมอีกอย่างหนึ่งคือ ลักษณะการทำงานตามลำดับขั้นจากรัฐสู่ประชาชนเป็นหลัก (Top Down) ทว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนจำเป็นต้องดำเนินงานแบบสองทาง ทั้งการทำงานจากภาครัฐที่กำหนดนโยบายและภาคประชาชนที่เสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ (Bottom Up) มาพบกันตรงกลางผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า

ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิด พร้อมกับความรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการเริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาจังหวัดลำปางให้ก้าวหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

อ้างอิง

พีระรักษ์ พิชญกุล, 19 พฤศจิกายน 2024

พชรดนัย จานชา, 19 พฤศจิกายน 2024

ดร.พรนับพัน วงศ์ตระกูล, 20 พฤศจิกายน 2024

ชลธานี เชื้อน้อย, 6 ธันวาคม 2024

แชร์บทความนี้