Wrapped Up 2024  Citizen Innovation รวมนวัตกรรมเด็ดจากภาคพลเมือง 

การพัฒนาในสังคมให้ดีกว่าเดิม จะต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือภาคพลเมือง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน แก้ปัญหามิติต่างๆ ในสังคมให้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบันประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและแก้ปัญหามากขึ้น (civic engagement) โดยใช้ความรู้ ประสบการณ์ของชุมชน บวกกับเครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนความคิดเห็นหรือตัดสินใจร่วมกับท้องถิ่น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตย สามารถเพิ่มความโปร่งใส และนวัตกรรมภายในชุมชนได้

ทีมงานห้องทดลองปัญญารวมหมู่ (PI) โดยสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ได้รวบรวมคัดสรรเนื้อหางานที่น่าสนใจ โดนเด่น มาให้ผู้อ่านได้ชมได้ดูกันอีกครั้ง โดยจัดแบ่งลักษณะของกลุ่มงาน 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ นวัตกรรมด้านการจัดทำข้อมูลและการสำรวจ นวัตกรรมการด้านการรับมือภัยพิบัติ นวัตกรรมด้านการสื่อสารชุมชน และนวัตกรรมการแก้ปัญหา

นวัตกรรมด้านการจัดทำข้อมูลและการสำรวจ

ปัจจุบันมีกลุ่ม Active Citizen ทั้งจากภาคประชาชน นักศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ หรือหน่วยงานท้องถิ่นที่พร้อมจะขับเคลื่อน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข พัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปด้วยกันในหลากหลายพื้นที่ทั่วภูมิภาค โดยนำเอาองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ เข้ากับเทคโนโลยีต่างๆ มาเป็นเครื่องมือในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ในการสื่อสารประเด็นต่างๆ การติดตามนโยบายของรัฐ ภาคพลเมืองจับตาเลือกตั้ง รวมถึงการทำฐานข้อมูล เพื่อให้คนอื่นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

การสำรวจ เก็บข้อมูล สัมภาษณ์นิเวศใกล้บ้านหรือ วิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen Science) เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ประชาชนเป็นผู้ปฏิบัติการหลัก ทำงานร่วมกับนักวิชาการและท้องถิ่น ในการบันทึกฐานข้อมูล (data baseline) สำคัญ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชน ซึ่งจะสามารถนำเอาข้อมูลที่ได้มาใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น เพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศ หาตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของนิเวศ หรือผลกระทบด้านสุขภาพ เป็นต้น

ผลงานตัวอย่างเช่น พบเจอปลาหมอคางดำ ระบาดหนักในหลายพื้นที่จากการรายงานเข้ามาของเครือข่ายสภาเกษตรกรจังหวัด แต่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่ชัดได้ว่ากระจายตัวอยู่ตรงจุดไหนบ้าง จึงเกิดแคมเปญร่วมกับสำนักเครือข่ายฯ สำรวจพิกัดปลาหมอคางดำ โดยเครื่องมือ C-site เพื่อระบุตำแหน่งของปลาหมอคางดำ

อีกตัวอย่างจากกลุ่มนักรบผ้าถุง ที่เปลี่ยนบทบาทจากชาวบ้านมาสู่นักวิจัยไทบ้าน ในการสำรวจเก็บข้อมูลความหลากหลายของสัตว์น้ำในท้องทะเลชายฝั่งจะนะ จังหวัดสงขลา ทั้งชนิดพันธุ์กุ้ง หอย ปู ปลา และชนิดพันธุ์สัตว์น้ำอื่นๆ จนเกิดเป็นฐานข้อมูลที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรและเศรษฐกิจในชุมชน จนไปถึงการปกป้องรักษาวิถีชีวิตในชุมชน

นวัตกรรมด้านการรับมือภัยพิบัติ

วิกฤตโลกรวนในตอนนี้ยิ่งเห็นภาพชัดเจนขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งช่วงหน้าแล้งที่แล้งจัด ส่วนหน้าฝนปริมาณน้ำฝนเยอะและมาเร็วจนตั้งรับไม่ทัน สร้างผลกระทบและความเดือดร้อนกับประชาชนในหลายด้าน กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทุกส่วนต้องหันมาพูดคุยและหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน

ในส่วนภาคพลเมืองเองไม่รอช้า มีการขยับพูดคุยถึงความสำคัญของการวางแผนรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา หาแนวทางการปรับตัวที่เหมาะมาแชร์ร่วมกัน มีการใช้องค์ความรู้ท้องถิ่นมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาร่วมกัน

วังวนฝุ่นเหนือ กลายเป็นภัยพิบัติหนึ่งที่เจอในแต่ละปีช่วงเดือนก.พ.-เม.ย. จะเร็วหรือสั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ทีมห้องทดลองปัญญารวมหมู่ (PI) ได้สำรวจสถานการณ์ฝุ่นควัน วิเคราะห์จากข้อมูลระบบติดตาม PM2.5 โดย GITSDA ระหว่างวันที่ 1 มค. 67 – 15 พ.ค.  67 เพื่อทำความเข้าปัญหาในภาพรวมมากขึ้น และทำเป็นภาพเพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายและสื่อสารในช่องออนไลน์

อีกด้านจากทางฝั่งหน่วยงานท้องถิ่นเอง ที่นอกจากทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ดีขึ้น ยังมีการทดลองใหม่ๆ ที่จะช่วยประชาชนในพื้นที่ บริการให้ยืมเพื่อลมหายใจ คือ บริการให้ยืมเครื่องฟอกอากาศเพื่อลมหายใจของผู้ป่วยติดเตียงของเทศบาลตำบลสันทรายหลวง นำร่องด้วยเครื่องฟอกอากาศจำนวน 100 เครื่อง โดยมีคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนเป็นผู้พิจารณาให้ความช่วยเหลือและตัดสินใจให้ยืมเรื่องนี้โดยรับข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รพสต.ที่ทำงานร่วมกันกับทีมอาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.

น้ำท่วม ภัยพิบัติที่หนักและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย จากอิทธิพลพายุยางิ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ต่อมาคือน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งหนักกว่าปีไหนๆ โดยปัจจัยเกิดจากสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำที่ยังไม่ครบถ้วน ทั้งด้านข้อมูล เครื่องมือ การสื่อสาร จึงทำให้เกิดการรับมือไม่ทัน 

โมเดลรับมือโลกรวน โดย ดร.จตุพร เทียรมา อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จากงาน เกษตรกรปั่นป่วน เมื่อโลกเดือด-โลกรวน กระทบการผลิตอาหาร ได้นำเสนอแนวทางในการรับมือสภาพอากาศที่แปรปรวนพร้อมกับข้อเสนอในการปรับตัวรับมือของเกษตรกรและระดับนโยบาย รวมถึงทดลองจัดการสภาพแวดล้อมเกษตรระดับครัวเรือนสู้โลกร้อน

ช่วงเผชิญเหตุ มีจัดทำแคมเปญปักหมุดดระบบข้อมูล เพื่อรู้พิกัดความต้องการและเชื่อมประสานส่งต่อความช่วยเหลือ ร่วมกับ C-Site ไทยพีบีเอส ตั้งแต่ภาคอีสาน-เหนือ-ใต้ หรือ ยิ้มสู้ ระบบจับคู่อาสาสมัครและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในการฟื้นฟูที่อยู่อาศัย โดย C-site ไทยพีบีเอส WEVO สื่ออาสา และภาคีความร่วมมือฯ จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่/  ยิ้มสู้ชาวนา ระบบ Matching ส่งต่อเมล็ดพันธุ์

hatyaicityclimate.org เว็บไซต์ระบบเตือนภัยน้ำท่วมหาดใหญ่  โดยมูลนิธิเครือข่ายเมืองภาคใต้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SCCCRN) ต่อยอดมาตั้งแต่หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2553 ไอเดียเกิดจากการประชุมกับอบจ.สงขลา ที่หน้าสวนสาธารณะ มีกล้อง CCTV เพื่อจัดการรถวิ่งจราจร เป็นไอเดียต่อว่าน่าจะเอามาจัดการน้ำฝน เอากล้องไปจับตามจุดที่สําคัญของคลองที่ส่งผลเรื่องน้ำ ให้คนอ่านวิเคราะห์สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นแล้วก็เตือนตัวเอง

นอกจากนี้มีงานศึกษาวิจัย ของภาคีเครือข่ายอย่างสกสว. ศึกษา เครื่องมือเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ต่อได้ในการวางแผน รับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เช่นงาน การจัดการน้ำเพื่อรับมือกับน้ำแล้ง น้ำท่วม ภายใต้สภาวะโลกรวน  หรือ การปรับตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม-น้ำแล้งด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เป็นต้น

นวัตกรรมด้านการสื่อสารชุมชน

นอกจากการทำข้อมูล การศึกษาวิจัยหาแนวทางแก้ปัญหาใหม่ๆ แล้ว การสื่อสาร เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้ประเด็นถูกขับเคลื่อนในสังคมมากขึ้น โดยการสื่อสารหรือการเล่าเรื่อง ที่เจ้าของประเด็นในแต่ละพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็น รวบรวมและถ่ายทอดข้อมูล สร้างความหมายใหม่ร่วมกัน นอกจากจะได้ข้อมูลที่ไปใช้ประโยชน์ได้แล้ว ยังทำให้เรื่องเล่าเหล่านี้เป็นที่รู้จักในสาธารณะมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างกิจกรรมสำรวจชุมชนย่านนางเลิ้ง โดย community-lab องค์กรที่ทำงานพัฒนากับคนในชุมชน มีโจทย์คือการทำฐานข้อมูลของชุมชน จึงจัดกิจกรรมร่วมกับสำนักเครือข่ายฯ และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สนใจการทำงานกับชุมชนและอยากต่อยอดสื่อสาร มาทำกิจกรรมร่วมกันโดยใช้ c-site โดยทีม Public Intelligence ในการบันทึก จัดเก็บข้อมูลสำคัญ และความทรงจำร่วมของชุมชนในลักษณะของ storytelling maps ร่วมกัน

ชุมชนบางคล้า  จ.ฉะเชิงเทรา เป็นชุมชนที่รายล้อมด้วยการพัฒนา EEC โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใกล้เข้ามา ขณะเดียวกันชุมชนยังคงวิถีชีวิต เศรษฐกิจเดิมเอาไว้อยู่ โจทย์ท้าทายสำคัญของชุมชนคือ จะเตรียมพร้อม รับมือในทิศทางไหนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรายล้อมในพื้นที่  

ทีมนิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสำรวจเรียนรู้พื้นที่บางคล้า โดยใช้เครื่องมือ C-site ในการทำข้อมูลชุมชน มิติประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน ความเปลี่ยนแปลงย่าน และนำไปสื่อสารต่อในพื้นที่ออนไลน์

ส็อกแส็ คืออะไร นักรบผ้าถุงมาจากไหน ชวนทุกคนหยิบมือถือมาส่องดูให้รู้ว่าพวกเธอคือใคร ? มาจากไหน ? จะไปทางไหนกัน นิทัศน์ออนไลน์ งานเชิงทดลองสนุกของทีมพีไอ ห้องทดลองปัญญารวมหมู่ เนื่องในการจัดฉายภาพยนตร์สารคดี : นักรบผ้าถุง เริน เล และแสงตุหวัน Sarong Warrior Documentary ภาพยนตร์สารคดี โดย : ON THE REC. กีรติ โชติรัตน์ และ เชี่ยววิทย์ พัฒนสุขพันธ์

ถึงตอนนี้เรารู้จัก ปลาหมอคางดำ กันแค่ไหน ? จากสถานการณ์การแพร่ระบาดปลาหมอคางดำที่สร้างผลกระทบอย่างหนักแก่เกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และระบบนิเวศ จึงรวบรวมผลงานเกี่ยวข้องเอาไว้ ทั้งการสำรวจเก็บข้อมูลการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ รายงานทีวี จัดวงสนทนามาเอาไว้ที่นี่ 

จักรวาลหมอลำ ขุมพลังทางเศรษฐกิจจากภาคอีสาน งาน data visualization ที่จะพาไปรู้จักกับจักรวาลหมอลำในภาคอีสาน มีที่มาที่ไปอย่างไร มีต้นทุกวัฒนธรรมสำคัญอะไรที่พัฒนาต่อไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

นวัตกรรมด้านการแก้ปัญหา

จากความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานกองทุนสนับสุนการวิจัย (สกว.) และ สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส จนเกิดเป็นกิจกรรม Hackathon วิกฤตปลาหมอคางดำ : แลเลสาบสงขลา

ผลจากการระดมความคิดเห็นของผู้คนที่หลากหลายที่มารวมตัวกันในงาน ช่วยเปิดทางให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการจัดการปัญหาปลาหมอคางดำในประเทศไทย ทั้งยังเป็นการตอกย้ำแนวคิดปัญญารวมหมู่ ที่เชื่อว่า ‘รวมกัน ฉลาดกว่า’

จากข้างต้น จะเห็นว่านวัตกรรมแต่ละกลุ่มประเภท แสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมที่เกิดจากภาคพลเมืองในหลายส่วน ทั้งคนทั่วไป ชุมชน ผู้เชี่ยวชาญแม้แต่ท้องถิ่นมาช่วยกันแนวทางแก้ไขปัญหาของชุมชนให้พัฒนาและดีกว่าเดิม โดยมีการใช้ข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจปัญหาหรือชุมชนมากขึ้น มีเทคโนโลยี เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ มาเป็นเครื่องมือเข้ามาช่วย รวมถึงรูปแบบการสื่อสารที่ทำให้อื่นๆ รู้จักและเห็นปัญหามากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ งานข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ทีมงานคัดเลือกขึ้นมาให้ผู้อ่านได้เห็นไอเดีย และตัวอย่างที่ประชาชนเป็นผู้กระทำการหลัก (Actor) ในการแก้ปัญหาสังคม และเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นการทำงาน ออกแบบที่เกิดจากล่างสู่บน (Bottom-up) มากในสังคมนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ปิดทิ้งท้ายฝากติดตามการทำงานใหม่ๆ จากพวกเราทีมห้องทดลองปัญญารวมหมู่ (PI) หรืออยากเสนอประเด็นที่ควรทำ ได้ที่เพจ Your Priorities

ผู้เขียน : อรกช สุขสวัสดิ์

แชร์บทความนี้