เทคโนโลยีคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว นักวิจัยรวมทุกศาสตร์สร้างการยอมรับ

ถือเป็นการพัฒนาโจทย์วิจัยโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ที่ใช้เวลานานพอสมควร เพื่อวิเคราะห์สาเหตุปัจจัยที่ทำให้ข้าว ไม่งอก เกิดไม่สมบูรณ์ เติบโตไม่พร้อมกัน มีความท้าทายคือแก้ปัญหากับการทำนาปรัง และที่สำคัญทำอย่างไรชาวบ้านดงสารจะยอมรับเทคโนโลยี ค้นหาคำตอบได้ในโมเดลคลังเมล็ดพันธุ์ข้าว

ก่อนมีเทคโนโลยีต้นแบบคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว

ชาวบ้านดงสาร มีภูมิปัญญาด้านคัดพันธุ์ข้าว สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ องค์ความรู้เดิมคือ จะนำนาข้าวแปลงที่สวย ๆ อยู่กลางทุ่ง เก็บไว้เป็นพันธุ์ข้าวใช้ต่อปีถัดไป ด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ มีเทคโนโลยีในการทำนาข้าว ทั้งมีรถเกี่ยวข้าว รถสีข้าว หรือแม้แต่พื้นที่แปลงทำนา มีขนาดน้อยลงจาก 10 ไร่ เหลือ 5 ไร่ ล้วนแล้วเป็นปัจจัยที่เอื้อทำให้พันธุ์ข้าวปน

สิ่งที่ชาวบ้านยังขาด คือองค์ความรู้ด้านการคัดคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ส่งผลให้พบกับปัญหาข้าวไม่งอก เติบโตไม่สมบูรณ์ วิธีการเดิมที่ใช้คือก่อนหว่านกล้าจะนำเมล็ดมาแช่น้ำ เมล็ดลีบจะลอยขึ้นแล้วตักออก

พ่อเด่น ณัฐฏพล นิพันธ์ ชาวบ้านดงสาร กล่าวว่า “เรารู้แค่วิธีคัดพันธุ์ข้าว ถ้าข้าวปนสังเกตได้คือต้นข้าวจะโตต่างจากเพื่อน ส่วนการคัดเมล็ดพันธุ์ เราทำได้แค่แช่น้ำเอาเมล็ดลีบออก เมล็ดพันธุ์ข้าวเปรียบเหมือน พ่อ-แม่ บางครั้งอาจมีลูกที่ไม่แข็งแรง จึงเติบโตไม่ทันหรือเสียชีวิตก่อน ข้าวก็เช่นกัน”

บริบทพื้นที่ “ทุ่งพันขัน” มีการทำนาปรังทั้งหมดประมาณ 4,000 ไร่ มีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่คือ หนองคางฮูง กุดสิ้ว และหนองหมากแซว ในฤดูฝนน้ำจากแม่น้ำสงครามจะเข้าท่วมทั้งหมด ไม่สามารถทำนาปีไม่ได้จึงทำนาปรัง

การทดลองเทคโนโลยีตะแกรงร่อนคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว

ผู้ริเริ่มลองใช้เทคโนโลยี “ตะแกรงร่อน” คัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ย้ำอีกครั้ง ”คัดเมล็ดข้าว“ ไม่ใช่คัดพันธุ์ข้าวองค์ความรู้ต่างกันและใช้วิธีแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน ซึ่งชาวดงสารมีปัญหาทั้งสอง ถ้าจะซื้อเมล็ดพันธุ์ก็ไม่มีเงินทุนมากพอ

พ่อเด่น เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จัดประชุมเกษตรกรกลุ่มอาชีพเพาะเห็ดและทำนารวมกัน มีวิทยากรแนะนำขั้นตอนทำนา ที่ชาวนาลืมให้ความสำคัญคือ การคัดคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว พร้อมทั้งแนะนำตะแกรงร่อนเมล็ดพันธุ์ข้าว จึงลองเปิดใจใช้เทคโนโลยี

“ได้เสี่ยวแนะนำเทคโนโลยีตะแกรงร่อนคัดเมล็ดข้าวก่อนนำไปหว่าน ตอนแรกผมอยู่ห่าง ๆ นั่งฟังแล้วเข้าหูเลยสนใจ จึงตกลงเป็นเสี่ยวกันเพื่อแลกกับการลองใช้เทคโนโลยี”

พ่อเด่น พูดถึงที่มาการได้รับองค์ความรู้ใหม่ในการทำนา

หลังจากนำไปทดลองใช้ประโยชน์ เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมด้วยตนเอง ต้นข้าวแตกกอมากขึ้นได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น พอมานึ่งสามารถทานได้หอมนุ่มเหมือนข้าวนาปี จึงแนะนำชาวบ้านชวนมาคัดเมล็ดข้าวก่อนนำไปหว่านนาปรังในปีนี้

การพัฒนาและติดตั้งต้นแบบเทคโนโลยีคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว

นักวิจัยทีมเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้รับโจทย์จากหัวหน้าโครงการวิจัยโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง การพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว จากตะแกรงร่อน เพื่อช่วยลดกำลังแรงงานคน ในช่วงเดือนมกราคม 2567 จึงลงพื้นที่บ้านดงสารเพื่อพัฒนาโจทย์ตามความต้องการของพื้นที่

ได้พัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยมีนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีเครื่องกลและการผลิต คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ช่วยออกแบบโมเดลให้สามารถคัดเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ ขนาด 2.5 มิลลิเมตร แยกเมล็ดที่ไม่ผ่านออกมีขนาดเมล็ดเล็กกว่า 2.5 มิลลิเมตร นำไปสีนึ่งกินต่อได้ พร้อมทั้งแยกเมล็ดหญ้าได้ด้วย เหมือนเป็นแผนก QC เมล็ดข้าวพันธุ์ก่อนลงทำนา

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ได้ส่งมอบต้นแบบเทคโนโลยีคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาปรังมูลค่าสูง บ้านดงสาร พร้อมกับแนะนำขั้นตอนการใช้งาน

“ขอบคุณครับ จากใจจริงกลุ่มนาปรังดงสาร หวังว่าอุปกรณ์คัดพันธุ์ข้าวเครื่องนี้ จะช่วยให้กลุ่มข้าวนาปรังบ้านดงสารให้ความสำคัญในการทำนา และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจ ขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม”

ครูสุวรรณ บงศ์บุตร ประธานวิสาหกิจชุมชน ฯ กล่าวขอบคุณทีมนักวิจัย

“หวังเพียงให้พ่อ-แม่บ้านดงสาร ได้เดินต่อพัฒนาพื้นที่ในทุกภารกิจนะคะ โอกาสมาถึงดงสารแล้วค่ะ ขอเพียงเปิดใจรับและพร้อมไปด้วยกันค่ะ”

อ.สายฝน ปุนหาวงศ์ กล่าวให้กำลังใจชาวบ้าน ใช้นำองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพ เพื่อพัฒนาหมูบ้านอย่างเป็นระบบทุกคนมีส่วนร่วม

อ.สายฝน ปุนหาวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย

การวิจัยและสร้างการยอมรับต้นแบบเทคโนโลยีคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว

การติดตั้งเทคโนโลยีครั้งนี มีกระบวนการวิจัยใช้ศาสตร์ต่าง ๆ บูรณาการแก้ไขปัญหา เริ่มจากด้านมนุษย์เข้าไปเป็นพวกกลมกลืนวัฒนธรรมเดียวกัน ต่อด้วยศาสตร์ด้านวิทย์แนะนำเสนอความรู้ใหม่ ทดลองใช้แบบง่าย จนสามารถพัฒนาเป็นต้นแบบเทคโนโลยี โดยคณะอุตสาหกรรม ฯ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถด้านการตลาดจาก UBI

ผลจากการใช้เทคโนโลยี ทำให้ข้าวงอกทุกเมล็ด ต้นข้าวแตกกอ ออกรวงเยอะมีอัตราเกิดเมล็ดถึง 150 – 250 เมล็ดต่อรวง นี่ไม่ใช่ความสำเร็จทั้งหมด เพราะยังต้องจัดการกับพันธุ์ข้าวปน เช่น ถอนต้นข้าวปน เกี่ยวข้าวแปลงที่สมบูรณ์อยู่กลาง ๆ หรือแม้แต่ตีข้าวแบบสมัยก่อนแทนการใช้รถสีเฉพาะพันธุ์ข้าว

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้คือ ชาวบ้านตระหนักกับปัญหา พร้อมที่จะเรียนรู้การปลูกพันธุ์ข้าวมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าว จนสามารถรวมกลุ่มเพื่อเป็นระบบและกลไกขับเคลื่อนงานต่อไป พร้อมทั้งเปิดโอกาสใหม่ สัมผัสกับบรรยากาศการท่องเที่ยวชุมชนวิถีชาวบ้านกับ “พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต” โดย Local Alike เร็ว ๆ นี้

มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ CiL. คือการจัดสวัสดิการ “การเรียนรู้” เพิ่มทุนมนุษย์ และกระบวนการวิศวกรสังคม ในการปฏิบัติการแก้จนโมเดลคลังเมล็ดพันธุ์ข้าว ด้วยระบบเกษตรมูลค่าสูง บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ และที่ทำการปกครองอำเภออากาศอำนวย โดยได้รับทุนวิจัยจาก บพท.

ที่มา : www.1poverty.com

เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

แชร์บทความนี้