ฟังเสียงประเทศไทย : ผังเมืองรวม กทม. กับการมีส่วนร่วมของประชาชน

จะเป็นอย่างไร ถ้าเมืองของเรา มีสภาพแวดล้อมดี ไม่มีโรงงานมาตั้งอยู่ข้างบ้าน สาธารณูปโภคก็ครบคัน เดินทางไปไหนมาไหนก็สะดวก แถมยังมีพื้นที่สีเขียวมากพอให้คนได้ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้ด้วย  

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ ถ้าเราออกแบบ “ผังเมืองรวม” ให้ดี เพื่อรองรับการพัฒนาหรือความเจริญที่จะเข้ามา ควบคู่ไปกับการวางแผนคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองได้อยู่ดี มีสุขไปด้วย

แต่การจะมีผังเมืองรวมที่ดี ตอบโจทย์ทุกอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมืองยิ่งใหญ่ ยิ่งมีปัญหาเยอะ ยิ่งต้องละเอียดรอบครอบ นี่จึงเป็นความหวังของประชาชน คนเมืองกรุง ในช่วงเวลาที่ กทม. กำลังดำเนินการจัดทำผังเมืองรวมฉบับใหม่ขึ้นมาแทนที่ของเดิมที่เราใช้กันมากว่า 10 ปี 

แต่ทว่า การจัดทำผังเมืองรวมฉบับใหม่ของ กทม. ที่กำลังดำเนินการอยู่ตอนนี้ ดูเหมือนจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน จนเกิดเสียงคัดค้าน เรียกร้องให้ กทม. ยุติการจัดทำผังเมืองรวมและทบทวนเจตนารมณ์ของการวางและจัดทำผังเมืองรวมใหม่อีกครั้ง ปมปัญหานี้เกิดจากอะไร และทางออกของการจัดทำผังเมืองรวมหลังจากนี้ควรจะไปทางไหน หาคำตอบทั้งหมดนี้ได้จากบทสนทนาวงฟังเสียงประเทศไทย

ขอ 3 คำ ให้กับผังเมืองรวม กทม.

ก่อนที่จะพูดคุยกับแบบลงลึกถึงปัญหาของการจัดทำผังเมืองรวมใหม่ เราชวนผู้เข้าร่วมจำนวน 30 ท่าน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน กับคำถามที่ว่า ขอ 3 คำ ให้กับผังเมืองรวม กทม. และนี่คือความคิดเห็นบางส่วนที่เราถอดมาให้อ่านกัน

สมภพ ปฐมนพ ชาวบ้านชุมชนสุภาลัย พระราม 2 เล่าว่า  อยากให้กรุงเทพฯ เป็นบอร์ดของประเทศไทย มีพื้นที่ที่มีฝุ่นน้อย การเดินทางสะดวกสบาย ผู้คนที่อยู่อาศัยมีอากาศที่บริสุทธิ์จริง ๆ 

บ้านผมโดนเวนคืน ถนน ฉ.4 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ผ่ากลางหมู่บ้าน หมู่บ้านผมไปขอจัดสรรที่ดินกับคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน เมื่อปี 2559 ผมมาซื้อบ้านหลังนี้ตอนปี 2561 แต่เมื่อกลางปีที่แล้ว มีประกาศราชกฤษฎีกา รู้สึกช็อค เพราะเราไม่รู้เรื่องมาก่อนเลยว่ามีการทำผังเมือง หรือมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาก่อนหรือเปล่า เรื่องนี้อยากถาม กทม. 

ณภัค สุริยะชน ชาวบ้านจากพื้นที่ริมคลอง กม.11 ย่านพหลโยธิน เล่าว่า ตอนนี้พื้นที่กำลังจะถูกพัฒนาเป็นย่านธุรกิจ มีโครงการจะเป็น Smart City พื้นที่ตรงนั้น เมื่อก่อนคนต่างจังหวัดมองว่าเป็นเมืองศรีวิไลซ์ อยากอยู่ดีกินดี ก็มาบุกเบิกพื้นที่ จู่ ๆ ก็มีการรถไฟมาขอบัตรประชาชน และพวกเราก็โดนหมายศาล ถูกไล่รื้อ เวนคืนเมื่อปี 2563 เราโดนข้อหาบุกรุก เดิมที่เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนั้นเป็นป่ากระถิน บึงน้ำ ไม่มีใครอยู่ ไม่ได้เจริญ พอชาวบ้านเข้าไปบุกเบิก ควาเจริญมาถึง พวกเรากลับถูกข้อหาบุกรุก 

ตอนที่ถูกหมายศาล มีเครือข่ายสลัมสี่ภาค และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มาให้ข้อมูล เรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งหลายคนอยู่มา 30-40 ปี ไม่รู้มาก่อนเลย เพิ่งจะมารู้ว่ามันมีกระบวนการ เนื่องจากรัฐบาลของเราไปจด MOU เพื่อจัดบ้านมั่นคงให้กับชาวบ้านที่ไม่มีที่อยู่อาศัย อย่างย่านจตุจักร พหลโยธิน บางซื่อ จะถูกทำให้เป็นเมือง Smart City ซึ่งถ้าคุณจะพัฒนาเมือง เราไม่ขัดขวางความเจริญ แต่เราขออยู่คู่ความเจริญ อีกอย่างชาวบ้านที่อยู่ที่นั้นก็เป็นแรงงานที่ขับเคลื่อนเมือง เราไม่อยากจะให้ตัดหรือผลักให้คนไปอยู่นอกเมือง กระทบกับการทำมาหากิน การทำให้ครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือให้ลูกมีการศึกษาที่ดีขึ้น อยากฝากรัฐบาลว่า นโยบายแต่ละพรรคก่อนหาเสียง เป็นนโยบายที่ดี แต่ไม่อยากให้มันเป็นแค่นโยบายหาเสียง อยากให้มันจับต้องได้ เป็นรูปธรรมจริง ๆ

เจนรบ มนตรี คนกรุงเทพฯ มองว่า อยากให้กรุงเทพ รถไม่ติด เนื่องจากตนเองเป็นคนที่ต้องอยู่บนท้องถนนค่อนข้างเยอะในแต่ละวัน รถติดเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ฝุ่นก็เยอะขึ้นเรื่อย ๆ บ้านผมอยู่แถวพหลโยธิน ย่านนั้นรถบรรทุกจะเยอะมาก ถ้าติดสามเลน ไปไหนไม่ได้เลย ฟุตบาทก็ไม่มี บางทีมอเตอร์ไซค์ก็ขึ้นไปวิ่งบนทางเท้า ถึงจะติดป้ายแล้ว หรือตำรวจกวดขันแล้วก็ยังพบเห็นได้ทั่วไปอยู่ดี ปัญหานี้ควรจะจริงจังมากขึ้น 

นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค มองในฐานะตัวเองเป็นคนสมุทรปราการ แต่ได้ทำงานกับชุมชนแออัด และชุมชนที่ถูกไล่รื้อ ทำให้เห็นปัญหาว่า ผังเมืองที่เขาจัดทำ ไม่ได้คำนึงสีที่เขาวางบนกระดาษ แต่ละสีกระทบกับชุมชน คนยากจนซะส่วนใหญ่ เราขาดการมีส่วนร่วม เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชน กทม. จะไปถามคนที่ไม่ได้เดือดร้อน แต่คนเดือดร้อนไม่มีโอกาสได้ออกมาพูดหรือแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อหาทางแก้ไข แต่กลับกลายเป็นว่า ผังเมืองสีนั้นถูกไปจับที่บ้านใคร หรือไปลงตรงไหน ตรงนั้นก็มีปัญหา ยกตัวอย่าง คนที่มีที่ดินในเมือง อยู่มาเป็นครอบครัวใหญ่ เป็นร้อยปี เป็นที่ดินของเขาเอง พอเอาสีแดงไปจับ เป็นแหล่งเศรษฐกิจ หรือเป็นอะไรไม่รู้ แต่เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นปัญหา ทั้งที่เขาอยู่มาก่อนที่เมืองจะโต การทำแบบนี้ 

หลายครั้งจะเห็นว่า การมีส่วนร่วมของรัฐ หรือ กทม. จะมีส่วนร่วมเฉพาะนายทุน กับข้าราชการเท่านั้น ไม่มีพวกเขา อันนี้สำคัญมาก เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องเป็นกลุ่มที่เดือดร้อน ต้องถามเขาด้วยว่าอยากให้บ้านเขาเป็นสีอะไร ไม่ใช่คุณเอาสีไปใส่ให้เขา

เนืองนิช ชิดนอก เครือข่ายสลัมสี่ภาถ มองว่า ทุกการพัฒนาเมือง หรือไม่ว่าจะทำโครงการอะไรก็แล้วแต่ ส่วนใหญ่ทำเพื่อแก้ไขปัญหา และการจะแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เราควรจะรับฟังความคิดเห็น โดยต้องมาจากคนที่เจอปัญหา จึงจะแก้ไขได้ เช่น คำว่าชุมชน มันคือคนตัวเล็ก ๆ ส่วนใหญ่เหมือนถูกซ้ำเติม ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่างโครงการถนนส่วนใหญ่มันตัดผ่านบ้านเราไป ทั้งที่สามารถตัดผ่านหมู่บ้านใหญ่ ๆ ได้ แต่ไม่ตัด ดันเลี้ยว ให้คนที่คิดว่าสามารถรื้อง่าย ออกจากพื้นที่ตรงนั้น โดยที่คุณไม่รู้เลยว่า ปัจจัยของเขา การรื้อย้ายบ้าน ถึงจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ เขายากมาก เพราะนั้นคือทั้งชีวิตของเขา

จึงมองว่าการใช้ชุมชนร่วมคิด ต้องชุมชนมีส่วนร่วมในการช่วยกันคิดวางแผนจากคนที่เจอ ไม่ได้หมายว่าคนที่เงินมากกว่าเราจะไม่ต้องมาร่วมคิดนะ แต่สัดส่วนการร่วมคิดจะต้องมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ มันถึงจะช่วยแก้ไขปัญหาโครงสร้าง และปัญหาของประเทศได้ เพราะถ้าคนกลุ่มหนึ่งยังเผชิญปัญหาอยู่ ก็ยังมีคัดค้าน เรียกร้องอยู่ เหมือนประชาธิปไตย จะเจริญได้อย่างไร แต่ถ้าทุกคนได้ร่วมคิด ร่วมกันทำ เอาแต่ละมุมมองมาหาทางออกร่วมกัน ก็จะแก้ไขปัญหานั้นได้ ประเทศก้าวหน้า ประเด็นของผังเมืองก็เช่นเดียวกัน

โอกาส และข้อท้าทายของผังเมืองรวม กทม. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 

สิ่งที่ทำให้ เรื่อง “ผังเมือง” ร้อนแรงขึ้น เพราะ มีคำถามตัวโต ๆ ว่า ประชาชนอยู่ตรงไหนของสมการนี้ และนี่คือ ผังเมือง ที่เอื้อต่อนายทุน หรือคิดขึ้นมาเพื่อพลเมือง ทุกกลุ่ม ทุกผู้คนกันแน่ 

ถ้าถามว่า ผังเมืองคืออะไร ?​ คำตอบในทางเทคนิค “ผังเมือง” เป็นหนึ่งในเครื่องมือการวางแผน และพัฒนาเมือง เพราะเมือง ต้องการ การกำหนดทิศทาง ในการพัฒนาที่เดินไปข้างหน้า ขณะเดียวกัน ก็ต้องควบคุม และกำกับดูแลไปพร้อม ๆ กัน 

ผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร ที่บ่งชี้ การจัดการประโยชน์ที่ดิน  พื้นที่ 1,568.7 ตร.กม. เป็นเครื่องมือ ในการพัฒนาเมืองหลายระดับ

พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 แบ่งผังเมืองออกเป็น 2 ประเภท  

  1. ผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ ประกอบไปด้วย ผังนโยบายระดับประเทศ ระดับภาค และระดับจังหวัด 
  2. ผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ผังเมืองรวม และผังเมืองเฉพาะ 

โดยไม่ว่าจะเป็นผังไหน ก็ต้องเชื่อมโยงกัน เพื่อพัฒนาบ้านเมือง ที่น่าอยู่ และอยู่ได้ ให้กับ ประชากร ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 10 ล้านคน 

เรากำลังอยู่ใน “ผังเมือง” แบบไหน ?​

ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครที่ใช้อยู่ในตอนนี้ คือ ผังเมืองรวม  ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 3 ประกาศใช้ มาตั้งแต่ วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เป็นผังเมืองรวม ที่กรุงเทพมหานคร จัดทำขึ้น โดยยึดตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ซึ่งในกฎหมายระบุว่า ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ และสิ่งแวดล้อม ทุก ๆ 5 ปี เพื่อประเมินว่า ผังเมือง ยังรองรับการพัฒนา ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อยู่หรือไม่ 

หากว่าสภาพการณ์ได้ เปลี่ยนแปลงไปแล้ว อย่างเช่น เมืองขยายตัว มีจำนวนประชากรมากขึ้น โครงการพัฒนาต่าง ๆ ของภาครัฐ และเอกชน  มีจำนวนมากขึ้น ระบบขนส่งมวลชน มีการขยายเพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ ถือสิ่งการพัฒนาที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว 

ดังนั้น กรมโยธาธิการ และผังเมือง หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องดำเนินการปรับปรุงจัดทำผังเมืองรวม ขึ้นใหม่ ให้เหมาะสม

พระราชบัญญัติ ผังเมือง พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562  มีการปรับเปลี่ยนหลายอย่าง โดยเฉพาะ การให้จัดทำผังย่อยเพิ่มขึ้น คือ ผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับผังน้ำ ที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินการวาง และจัดทำผังเมืองรวม กรุงเทพมหานคร ทำให้ต้องรื้อ และดำเนินการวาง และจัดทำผังเมืองใหม่

เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564 คณะกรรมการผังเมือง มีมติให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินการวาง และจัดทำผังเมืองใหม่ ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 
กรุงเทพมหานครก็ได้เริ่ม ตามที่ ระบุไว้ 18 ขั้นตอน ซึ่งขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนที่ 5 คือการรับฟังความคิดเห็น และปรึกษาหารือ กับประชาชน รอบสุดท้าย ก่อนที่จะประกาศแสดงรายการ เกี่ยวกับการวาง และจัดทำผังเมืองรวม และเปิดโอกาสให้คนที่ไม่เห็นด้วย คัดค้านได้จนถึง วันที่ 30 สิงหาคม ของปีนี้

ประชาชน อยู่ตรงไหนของผังเมืองรวมนี้

กระบวนการวาง และจัดทำผังเมืองรวม ตาม พ.ร.บ.การผังเมือง  พ.ศ. 2562 มีการรับฟังความเห็นของประชาชน ก่อนจัดทำร่างผังเมืองแล้ว ทั้งหมด 5 ครั้ง แต่ ภาคประชาชน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีสักครั้งที่ภาคประชาชนรับทราบ และเข้าไปมีร่วม มากไปกว่านั้นในรายละเอียดของตัวผังเมืองรวม เมื่อหลายคนได้เห็นแล้ว ต่างก็มีคำถามไปในทิศทางเดียวกันว่า “ผังเมืองนี้ จัดทำมาเพื่อเอื้อนายทุน ใช่หรือไม่?”  เพราะผังเมืองดังกล่าว ดูเหมือนจะเน้นการพัฒนามากไป จนลืมมองคุณภาพชีวิตของประชาชน

หลังปีใหม่ที่ผ่านมา กทม. จัดเวทีประชุมรับฟังความเห็นและปรึกษาหารือ กับประชาชน เกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวม กรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4  สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายภาคประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ ได้แสดงจุดยืนร่วมกัน คัดค้าน คว่ำร่างผังเมืองรวม ของกรุงเทพมหานคร และเรียกร้องให้รับฟังความเห็น ปรับปรุงขั้นตอน กระบวนการ และเนื้อหาใหม่  โดยเน้นย้ำว่า จะต้องให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมร่างผังเมืองรวม ตั้งแต่ต้น

ทำไหมผังเมืองรวม ฉบับนี้ ถูกคัดค้าน?​

เริ่มจากสีผังเมือง ที่มีสีเข้มขึ้น  ใน 9 โซน เช่น ย่านคลองเตย  เขตทวีวัฒนา ปัจจุบัน เป็นสีน้ำเงิน นั่นหมายถึง พื้นที่ส่วนราชการ สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ แต่ในผังเมืองรวม ฉบับนี้ถูกปรับสีแดง คือ พื้นที่พาณิชยกรรม เพื่อพัฒนาธุรกิจหลักการให้บริการของท่าเรือ 

อีกตัวอย่าง คือ เกาะกลางรัตนโกสินทร์ โซนเยาวราช บางลำพู  ปัจจุบันเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย แต่ผังใหม่จะปรับให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นสูง และพื้นที่พาณิชยกรรม

นอกจากนี้ ยังมีการขยายถนน 148  สาย ที่ทางกทม. เสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเมืองหลวง นั่นหมายความว่า หลายพื้นที่จะถูกเวนคืน

อีกทั้ง ยังมีเรื่องของ FAR Bonus ที่เป็นมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมา มอบสิทธิประโยชน์ให้เอกชน และประชาชน เพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวม ต่อพื้นที่ดิน ได้มากถึง ร้อยละ 20 แลกกับการสร้างพื้นที่ส่วนหนึ่ง มาเป็นประโยชน์สาธารณะ ทำให้เกิดคำถามว่า ใครกันแน่ ที่ได้ประโยชน์จากสิ่งนี้

แน่นอนว่า “ผังเมือง” เป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับผังเมือง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพราะผังเมือง เป็นเครื่องมือ ที่ช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนา

ส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจ และสังคม ตามวิสัยทัศน์ ของกรุงเทพมหานคร ที่ตั้งเป้าไว้ว่า จะเป็นเมืองชั้นนำระดับโลก  เป็นเมืองน่าอยู่ และเมืองที่เติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ ดังนั้นต้องกลับมาตั้งเป้าหมายร่วมกันว่า เป้าหมายในการมีผังเมืองของเราคืออะไร 

4 มุมมอง ผังเมืองรวม กทม.

ผังเมืองรวม ที่ถูกเขียนขึ้นมาใหม่ถูกตั้งคำถามใหญ่ ทั้งจากฝั่งประชาชน และจากนักวิชาการหลายท่าน ถึงหัวใจสำคัญของการมีผังเมืองรวม เพื่อให้ประเด็นนี้มองเห็นภาพของสถานการณ์ปัญหา ความกังวลใจ และเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนคาดหวังไว้กับการมีผังเมืองรวม รายการฟังเสียงประเทศไทยเชิญตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการวางและจัดทำผังเมืองรวม ภาคประชาชน และนักวิชาการมาพูดคุยเรื่องนี้ 

  • ชูขวัญ นิลศิริ รองผู้อำนวยการสำนัก สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง 
  • คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค 
  • อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค 
  • ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม 

ปมปัญหา ผังเมืองรวม กทม. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4

คมสันติ์ จันทร์อ่อน มองประเด็นผังเมืองว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่คนที่มีที่ดินคุยสนุก แต่คนในสลัมเป็นคนไม่มีที่ดิน ถ้าผังเมืองถูกเปลี่ยน และพื้นที่นั้นมีสลัมอยู่ ก็จะมีแนวโน้มที่จะโดนไล่รื้อ เพราะความต้องการใช้ที่ดินเริ่มเข้ามา อย่างเช่น ก่อนหน้านี้พื้นที่ตรงนี้เป็นเขียวหลาย สามารถทำประโยชน์ได้เยอะ เขาจะมีแนวโน้มโดนไล่รื้อได้มากขึ้น ถัดมากลุ่มพี่น้องคนจนเมืองที่จะได้รับผลกระทบอีกกลุ่มคือ กลุ่มห้องเช้า จากที่เคยได้เช่าห้องราคาถูก ผังเมืองเปลี่ยนสี การใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนไป พอหมดสัญญาเดิม ผมเดาว่า การต่อสัญญาใหม่ครั้งถัดไป ค่าเช่าเขาขึ้นแน่ และถ้าเขาถูกไล่รื้อ พี่น้องชุมชนแออัด เวลาทำที่อยู่อาศัย เขาจะไปซื้อที่ดินสีเขียว และสีเขียวลาย เพราะราคาถูก เขาไม่สามารถไปซื้อที่ดินสีอื่นได้ 

แต่หลังจากซื้อแล้วก็เจอปัญหาอีกว่า เขาไม่สามารถสร้างบ้านตามกำลังทรัพย์ได้ แต่เขียวลายมีเงื่อนไขต้องสร้างบ้านเดี่ยวเท่านั้น และต้องมีพื้นที่พอประมาณ ก็ทำให้เขาไม่สามารถสร้างบ้านได้อีก เพราะเงินไม่พอ ซึ่งมันไม่ใช่จริตของคนจนเมืองที่จะต้องจ่ายเงินไปกับพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถ้าฝั่งตะวันออกจะสามารถซื้อได้แถวหนองจอก ส่วนฝั่งตะวันตกตอนนี้ซื้อได้ก็ต้องหลุดไปทางจังหวัดนครปฐม ไม่สามารถซื้อในกรุงเทพได้ เพราะผังเมืองมันเปลี่ยนไปหมด ไม่สามารถซื้อในกรุงเทพได้ 

ผังเมืองอยากจะพัฒนาให้เป็น smart City แต่ระบบอื่น ๆ ยังไม่รองรับ แต่พยายามจะทำที่ดินให้ smart ก่อนโดยระบบพื้นฐานอื่นยังไม่มี เป็นไปได้ยาก ที่อื่นเขาจัดการระบบคมนาคมแบบเชื่อมโยงเข้าเมืองง่าย ออกเมืองง่าย แต่ตอนนี้อะไรก็ยังไม่ลงตัว ตั้งแต่เตรียมพัฒนาเมือง และก็การรองรับแรงงานที่อพยพจากชนบทเข้าเมือง การรองรับเรื่องนี้ไม่ได้เตรียมเอาไว้  

คมสันติ์ จันทร์อ่อน

ด้านอิฐบูรณ์ อ้นวงษา มองปัญหาของเรื่องนี้ว่า จากที่ได้ติดตามแบบผังต่าง ๆ ที่ร่างขึ้นมา พอมีโอกาสได้ขยายภาพรายละเอียดขึ้นมา เราพบว่ามีที่อยู่อาศัยบางจุด มีสีสองสี สะท้อนให้เห็นว่ายังไม่มีความละเอียด หมายความว่า การตีเส้นไม่ได้มองจากข้อเท็จจริง ทางกายภาพของที่อยู่อาศัย แต่วาดจากกระดาษ หรือในคอมขึ้นมา  

อีกประเด็นคือ เรื่องข้อมูลที่ปล่อยออกมาว่า จะมีการเพิ่มขอบเขตถนนขึ้นมา จาก 6 เมตร มาเป็น 12 เมตรบ้าง และ 18 เมตรบ้าง มีการสอบถามว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีการเวนคืนหรือไม่ จะส่งผลกระทบอะไรออกมา แต่ที่เราได้รับการสื่อสารก็ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่ บอกว่าจะเวนคืน บางแหล่งบอกว่าไม่มีการเวนคืน นั่นหมายถึงว่าข้อมูลที่มีการสื่อสารให้พี่น้องประชาชนตามกฎหมายผังเมืองยังมีคำถามอยู่เยอะ ซึ่งประชาชนกำลังสะท้อนออกไปว่าสิ่งที่กำลังกำหนดออกมา หรือว่าสิ่งที่เราจะร่วมกันกำหนดมีพื้นที่ได้มากน้อยแค่ไหน 

ซึ่งกฎหมายบ้านเรายังไม่ถึงขั้นที่จะรองรับได้ทั้งหมด แต่สิทธิผู้บริโภคของสหประชาชาติ รับรองสิทธิไว้ข้อหนึ่งว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการรับรองอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่งเสริมต่อคุณภาพชีวิตของตัวเอง ดังนั้นตัวผังเมืองมีความจำเป็นที่จะต้องมี เพราะเมืองมีประชาชน มีประชากรเข้ามาร่วมกันอยู่มากขึ้น ความแออัดมากขึ้น ผลกระทบที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ กทม. มีน้ำท่วม และขยะ ตามมาด้วยเรื่องอากาศ PM 2.5 ที่ประสบปัญหาอยู่ตอนนี้ คำว่าน้ำท่วมหมายถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานใต้ดินระบบระบายน้ำทิ้งจากบ้าน หรือจากคอนโดไหลไปทางไหน คอนโดเพิ่มขึ้นมาในพื้นที่เราคอนโดนั้นมีห้องอยู่ร้อยห้อง มีรถเพิ่มขึ้นอีก 50 คัน รถจอดอยู่ที่ไหน ฝั่งหนึ่งอยากให้มีการขยายถนน แต่อีกฝั่งบอกว่าพอแล้ว เพราะไม่มีพื้นที่จะขยายต่อ มีการปะทะความคิดกันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหัวใจของการวางผังเมือง จึงต้องถูกออกแบบมา เพื่อรองรับกับสิทธิผู้บริโภค ซึ่งสหประชาชนรองรับไว้ว่า ให้คนทุกคนสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

Image Name

เป้าหมายของการวางและจัดทำผังเมืองรวม กทม.

ชูขวัญ นิลศิริ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวางและจัดทำผังเมืองรวม กทม. ในครั้งนี้ อธิบายว่า กทม. วางเป้าหมายการพัฒนาไว้ 5 ด้าน ประกอบไปด้วย

  1. เป็นมหานครของการส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม อันโดดเด่นของ กทม. 
  2. เป็นมหานครที่มีความคล่องตัว สะดวกสบายในเรื่องของการเดินทาง Mass Transit หรือระบบขนส่งสาธารณะ 
  3. เป็นศูนย์กลางของการบริหารการปกครองของประเทศ รวมทั้งสถาบันต่าง ๆ 
  4. ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 
  5. ส่งเสริมระบบถนนสายรอง สายย่อย เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง เหมือนอย่างประเทศที่เจริญแล้ว เพราะประเทศที่เจริญแล้วมีถนนประมาณ 20% ของพื้นที่ แต่ กทม. มีไม่ถึง 10% ดังนั้นปัญหาเรื่องของรถติด เป็นปัญหาหลักที่เราพยายามส่งเสริมให้คนมาใช้ระบบรถไฟฟ้า และใช้ที่ดินรอบรถไฟฟ้าให้มากขึ้น 

ถ้าดูอย่างศูนย์กลางเมืองบางรักก็ยังคงเป็นสีแดง ในส่วนของรอบวงแหวนรัชดา กาญจนาภิเษก ก็ยังเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก อาจจะเป็นที่อยู่แบบอาคารสูง เป็นส่วนที่คนเข้ามาทำงานในเมือง แต่ส่วนที่อยู่นอกเมืองเอง เขาก็ยังมีการกระจายศูนย์ออกไปในย่านต่าง ๆ รอบกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะฝั่งทางตะวันออกอย่างมีนบุรี ลาดกระบัง บางนา ศรีนครินทร์ ทางฝั่งตะวันตกก็มีบางขุนเทียนไล่ลงมาเป็นบางแคและตลิ่งชัน ตรงนี้ผังเมืองรวมพยายามที่จะวางไว้เพื่อให้เกิดย่านที่เรียกว่า Housing Balance เกิดแรงงานควบคู่ไปกับที่อยู่อาศัย ดังนั้น Concept ของผังเมืองรวม ไม่ใช่เป็นศูนย์กลางเดียวเราเป็นลักษณะของศูนย์กลางใหญ่และมีส่วนกลางระดับรอง ๆ ที่กระจายตัวออกไปในพื้นที่นอกรอบ 

นักวิชาการชี้ ผังเมืองรวม กทม. ใหม่ ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเมือง 

ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร  มองว่า ความจริงเห็นใจสำนักผังเมืองของ กทม. ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพ มีหลายเรื่องที่อยู่ในนี้ ในแง่ของกายภาพมีหน่วยงานอื่นที่ต้องส่งข้อมูลมาเยอะ สำนักผังเมืองไม่สามารถที่จะไปควบคุมได้ แต่จะอธิบายว่าจากประสบการณ์ที่เข้ามารับฟังความคิดเห็นหลายครั้งตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็เกิดคำถามขึ้นมาในใจว่ามันควรจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า แล้วก็ได้ส่งคำถามออกไปแต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ บางคำตอบเข้าใจว่าอาจจะตอบไม่ได้ในตอนนั้น เพราะอยู่ในกระบวนการการตีความอาจจะไม่ตรงกันระหว่างหลายภาคส่วน แต่ว่าหน้าที่หลักของสำนักผังเมืองก็ต้องดำเนินการ

กลับไปย้อนดูรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้มีหลายมาตราที่ระบุถึงสิทธิประชาชนและชุมชน มีเรื่องหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำผังเมืองรวมให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการรักษา แต่เท่าที่ดูในผังเมืองรวม กทม. ก่อนปี 2562 ที่ทำมา ผมคิดว่ายังไม่ตอบโจทย์ มันมีเรื่องของการพัฒนาค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่ก่อนหน้านี้ท่านรองได้พูดถึง แต่บางวิสัยทัศน์หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ต้องมีอะไรที่เพิ่มเติมหรือเปล่า แต่เรายังไม่ได้รับคำตอบ หรือเห็นภาพชัด 

เนื่องจากว่าสถานการณ์โควิดจะเห็นว่าคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนแออัด นั่นคือประเด็นสำคัญผังเมืองรวม คือการทำผังชี้นำ เพื่อการพัฒนา ระบุแผนที่การใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งมันกว้างมาก มีข้อกำหนดหลายอย่างแต่ว่าข้อกำหนดเหล่านั้นสามารถทำให้ตอบโจทย์ชุมชนแออัดได้หรือไม่ ผมคิดว่าน่าจะได้ แต่จะทำอย่างไร ซึ่งคงต้องรอทางสำนักผังเมือง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรับแก้ แต่ก็คิดว่า ทำไมไม่ปรับแก้ตั้งแต่แรก หรือว่าเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่แรกไม่ดีกว่าหรอ เพราะว่าในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดว่า พ.ร.บ.ผังเมือง ปี 2562 ให้รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

ยื้อเวลา หรือพอแค่นี้ ขยายเวลารับฟังความคิดเห็น ผังเมืองรวม กทม. ใหม่

ชูขวัญ นิลศิริ กล่าวว่า การขยายเวลาออกไปอีก 6 เดือน เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้น และอยากให้ประชาชนมีเวลาพิจารณาผังเมืองรวมอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่า ส่วนไหนที่เหมาะสม และก่อให้เกิดผลกระทบจะได้เสนอความคิดเห็นเข้ามา 

ช่วงที่เราขยายเวลาออกไป เราจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นในรายเขต ทั้ง 50 เขต โดยจะลงไปแต่ละเขต จัดฟังความคิดเห็นในวันหยุดที่ประชาชนสะดวก เชิญทั้งประชาชนทั่วไป และผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้ง สส. และ สก. ผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยจะเปรียบเทียบรายละเอียดให้เห็นเลยว่าผังเมืองรวมมีการเปลี่ยนแปลงตรงส่วนไหนบ้าง อย่างผังเมืองรวมปัจจุบันมี 6 ผัง เราจะมีรายละเอียดทั้ง 6 ผังให้ประชาชนได้ดู และซักถาม ว่าเห็นด้วย หรืออยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร เช่น ถนนต่าง ๆ ที่มีในนี้ มันเป็นแค่ร่าง ยังไม่เป็นกฎหมาย ยังไม่ต้องกังวล ถ้าประชาชนมองแล้ว ว่าไม่มีความเหมาะสม หรือไม่มีความเป็นไปได้ ผู้บริหารเรายินดีที่จะทบทวน และดำเนินการเอาออกได้ ดังนั้นมันอยู่ที่ความคิดเห็นของประชาชนด้วย

ด้านอิฐบูรณ์ อ้นวงษา มองประเด็นนี้ว่า ตามหลักรัฐธรรมนูญ กฎหมายกำหนดไว้ หลักการแรก รัฐเป็นนโยบายพื้นฐานที่ต้องมีการจัดทำผังเมือง และบังคับใช้ผังเมืองนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ หลักการที่สอง การจัดทำผังเมืองต้องสอดคล้องความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ 

กทม. ประกอบไปด้วยเขตทั้งหมด 50 เขต 100 ย่าน แต่ละย่านในเขตนั้นมีองค์ประกอบแตกต่างกัน อย่างเช่น ย่านสะพานควาย ซอยอารีย์ มีกระทรวงอยู่ด้วย เข้าไปในซอยอารีย์ มีชาวบ้านติดป้ายหน้าบ้านว่า เราไม่ต้องการให้อาคารขนาดใหญ่มาอยู่ในซอย เราไม่ต้องการการขยายถนน 

แต่ถ้า ผังเมืองบอกว่า เราต้องขยายถนน เพื่อรองรับการพัฒนา แต่ชาวบ้านบอกว่าพอแล้ว เพราะการขยายถนน นำมาสู่อาคารใหญ่เข้ามาในซอย อันนี้คือสิ่งที่ชาวบ้านพยายามแสวงหาพื้นที่การสื่อสาร 

จุดเริ่มต้นของการจัดทำผังเมืองที่ดีขนาดนี้ คือ ทำสิ่งที่เราอยู่กับมัน ต้องยอมรับว่า เรามีผังเมืองก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็รู้สึกอึดอัดกับมัน แต่ต้องทนอยู่กับมัน สิ่งที่จะเริ่มได้คือ แบ่งและแชร์ ประสบการณ์และบทเรียนที่เราอยู่กับผังเมืองตรงนั้น ว่าเราอยากจะปรับปรุง ยอมรับ หรือจะแก้ไขมันอย่างไร ก่อนที่จะเอาร่างผังเมืองใหม่ ที่คิดว่าดีแล้วมาชี้นำ ต้องตั้งต้นตั้งแต่ตรงนี้

สิ่งที่กำลังตั้งคำถามกับ กทม. ตอนนี้ คือ ระยะเวลาที่ขยาย ที่น่าจะชวนมาคุยเรื่องกติกาและเนื้อหาพร้อมกับรายละเอียดที่จะไปตั้งวงคุยกับชาวบ้าน การกำหนด 50 เขตที่จะไปคุย ต้องคุยกันว่าเราจะโฟกัสในย่านตรงไหน ค่อยนำมาสู่การพัฒนาหลังจากชาวบ้านให้ความเห็นไปแล้ว กทม. ที่เป็นผู้รับงานตรงนี้ไป จัดทำร่างผังเมืองรวมขึ้นมา อันนี้คือสิ่งที่ชาวบ้านพยายามสื่อสารมาโดยตลอด

การวางผังเมืองต้องเป็นไปเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า การวางและจัดทำผังเมืองต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นความต้องการในแต่ละพื้นที่ก็จะต้องมาตกลงกันก่อนว่าเขตหรือย่านในพื้นที่ไหน จะพัฒนาอย่างไร และค่อยทำไปตามขั้นตอน

นอกจากนั้นยังมีกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ. 2560 ที่เกิดมาตามหลังผังเมืองรวมที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นกฎหมายที่เรายอมรับก็อยากจะใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างเต็มที่ ในกฎหมายนี้เขียนมาตรา 9 ไว้ว่า จะต้องมีการรับฟังความเห็นก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวม หลังจากนั้นต้องเอากลับมารับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง จะเห็นได้ว่ามันมีความปราณีต 

ถ้าถามว่ามันจะทันไหม ถ้าเราออกแบบผังเมืองแล้วสามารถใช้ร่วมกันได้ยาวนานไปอีก 100 ปี มันก็คุ้มค่าที่เราจะลงทุนและเสียเวลาไปกับมัน ปัจจุบันเรามีคนรุ่นนี้ที่กำลังสร้างเมืองของเราร่วมกัน ซึ่งมีทั้งคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ที่มาอยู่ร่วมกัน น่าสนใจที่เราน่าจะมาร่วมกันสร้างออกแบบเมืองของเราไปด้วยกันและใช้มันไปยาวนาน นี่จะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สิทธิผู้บริโภคคือการทำผังเมือง เพื่อความสุขของคนทุกระดับ เพื่อการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ร่วมกัน เมืองที่มีทางคนรวย คนจน คนชนชั้นกลางคนมีที่ดิน และไม่มีที่ดินอยู่ได้

การออกแบบการพูดคุยในแต่ละเขต ในแต่ละพื้นที่อย่างปราณีต ซึ่งมันไม่ต้องมีแพทเทิร์นแบบเดียวกัน เราจะได้ผังเมืองที่ดีและใช้อยู่ร่วมกันได้ อันนี้คือความคาดหวังของเรา

การมีส่วนร่วมของ ปชช. ต่อผังเมืองรวม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำสังคม คนรวยคนจนอยู่ร่วมกันได้

คมสันติ์ จันทร์อ่อน ให้ข้อเสนอประเด็นนี้ว่า  ตนเองมีความกังวลเรื่องการมีส่วนร่วมของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากว่ากรุงเทพมหานคร พูดถึงประชากรแฝงบ่อย แต่ไม่ให้ความสำคัญ ดูจากการขึ้นทะเบียนชุมชนแออัด ตอนนี้น่าจะรู้ว่าเขาไม่ได้ขึ้นทะเบียนชุมชนแออัดให้ทุกชุมชนที่มีอยู่ ชุมชนเดิมอาจจะได้ขึ้นทะเบียน แต่ชุมชนใหม่ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไม่สามารถจดทะเบียนได้ เนื่องจากติดข้อระเบียบ

ปัญหาคือ กรุงเทพมหานครไม่ได้ใส่ใจจากชุมชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเลย นอกจากไม่ใส่ใจแล้ว ข้อมูลข่าวสารก็ไม่ให้ด้วย ยกตัวอย่าง โควิดที่ผ่านมาไปขอแอลกอฮอล์เขายังไม่ให้ ดังนั้นชุมชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรุงเทพฯ จดหมายที่จะเชิญไปร่วมให้ความคิดเห็นเหล่านี้มาไม่ถึงแน่นอน แต่ถ้าชุมชนไหนที่ได้ขึ้นทะเบียน อาจจะได้รับหนังสือเชิญให้ไปเข้าร่วม

สิ่งที่ผมกังวลอีกข้อคือ เรื่องเนื้อหาตัว พ.ร.บ.ผังเมือง เนื่องจากว่าสีอาจจะมีการแต้มเปลี่ยนกันไปได้แต่เนื้อหาถ้ายังเหมือนเดิมก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้คนทุกชนชั้นอยู่ร่วมกันได้ทำอย่างไรให้คนไม่ต้องไปกระจุกอยู่ในชั้นใน กระจายออกมาชั้นนอก คนยาก คนจน สามารถอยู่ที่มักกะสันได้โดยไม่ถูกบีบบังคับให้ย้ายออกไปด้วยการอ้างถึงประโยชน์การใช้ประโยชน์ที่ดินสูงสุดโดยไม่ได้มองเรื่องความแตกต่างการใช้วิถีชีวิตและเศรษฐกิจที่มันแตกต่างกัน

ด้าน ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร มองเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนว่า มีการพูดกันมาตั้งแต่เริ่มต้นการรับฟังความคิดเห็น มีคำถามออกมาหลายรอบ เพราะว่าตีความไม่ตรงกัน จากที่กล่าวไปก่อนหน้านี้เรื่องรัฐธรรมนูญ ผมขอยกตัวอย่างให้ดูอีกข้อ คือเรื่องของแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 72 รัฐพึงดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรพลังงานดังต่อไปนี้ 

  1. วางแผนการใช้ที่ดินของประเทศให้เหมาะสมกับกับสภาพพื้นที่และศักยภาพของที่ดินตามการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งอันนี้เราเห็นในการวางผังเมืองมาโดยตลอด 
  2. จัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับและบังคับใช้บังคับการให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพโดยพัฒนาเมืองให้เจริญและสอดคล้องความต้องการของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 

ดังนั้นถ้ามองมาในเรื่องของผังเมืองรวม กทม. ก็มาถึงจุดที่การปรับปรุงผังเมืองครั้งที่ 4 ประชาชนหลาย ๆ ภาคส่วน รวมทั้งสมาคมด้วย เริ่มส่งเสียงและตั้งคำถามว่ามันสอดคล้องจริงหรือไม่ สิ่งที่เป็นประเด็นตั้งแต่กระบวนการไปรับฟังความคิดเห็นมา น่าจะเป็นส่วนที่ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมน้อย ได้แต่รับฟังและสะท้อนไปให้ แต่ไม่มี feedback กลับมา 

การรับฟังความคิดเห็นปกติทุกครั้งจะต้องมีการสรุปว่า จะรับฟังความเห็นที่ผ่านมามีประเด็นอะไรบ้าง มีใครถามเรื่องอะไรบ้าง มีคำตอบอะไรบ้าง และจะรับฟังต่อหรือยังไงก็ว่าไปแต่ว่าสิ่งนี้ไม่มีเลยหรือแม้กระทั่งการไปทำตามกระบวนการจากขั้นที่ 5 ที่ทำ ณ ปัจจุบัน เดี๋ยวจะต้องมีขั้นตอนที่ประกาศ 90 วันและให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการนั้น โดยให้ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปมีส่วนร่วม ทุกคนก็กลัวหมดและคิดว่าไม่น่าจะสอดคล้องกัน ซึ่งเราได้ให้ความเปลี่ยนไปหมดแล้วแต่ยังไม่ได้เห็นภาพว่ามันจะไปต่อยังไง ดังนั้นกระบวนการเป็นเรื่องสำคัญ

ย้อนกลับไป ยังมีอีกหลายตัวที่ติดกระดุมผิดเม็ดแรก เรื่องการเพิ่มความหนาแน่นในเมือง เริ่มมีการศึกษามากขึ้น ว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็นพื้นที่พัฒนามากขึ้นก่อให้เกิดความร้อนขึ้นมา ทำไมถึงไม่มีการพูดถึงหรือไปอยู่ในผังเฉพาะ ก็ยังไม่ทราบ ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราต้องส่งเสียงออกมา

ดังนั้นควรจะมีการวางผังหารือในระดับย่อย แล้วค่อยขึ้นมา เพื่อที่จะช่วยให้เห็นภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ได้ชัดเจน แต่มีข้อแม้นิดเดียวประชาชนจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเหมือนมีน้ำใกล้ ๆ กัน อาจจะครึ่งแก้วเท่ากันไม่ใช่ไม่มีเลยแล้วมาโวยวายก็ไม่ถูก ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้

ชูขวัญ นิลศิริ อธิบายเพิ่มเติมจากข้อเสนอเรื่องการทำผังย่านว่า กทม. ทำผังเมืองรวมฉบับนี้มาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปีนี้เป็นเวลา 7 ปีแล้ว ที่ผ่านมาในช่วงปี 2560 ได้ทำตามพระราชบัญญัติการผังเมืองตัวเก่า ปี 2558 ตอนนั้นทาง กทม. เคยรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนไปแล้วทั้งหมด 41 ครั้งและได้ออกมาเป็น 4 แผ่นผัง คือ แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นผังสี ผังถนน ผังที่โล่ง และผังสาธารณูปโภค ตอนนั้นเราทำได้ 4 แผนผัง 

หลังจากมีพระราชบัญญัติการผังเมืองตัวใหม่ออกมาปี 2512 ทำให้เราต้องทำแผนผังเพิ่มอีก 2 แผนผัง เราก็เสียเวลาที่ต้องทำเพิ่มอีก 2 แผนผัง แล้วก็เริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ แต่ว่ากระบวนการที่เคยรับฟังความคิดเห็นไปแล้วใน 4 แผนผัง เราถือว่าส่วนหนึ่งประชาชนเคยรับทราบ ซึ่งทาง กทม.เคยติดประกาศ 15 วัน และจัดประชุมใหญ่ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2512 ไป 1 ครั้ง ส่วนแผนผังที่เรามาแก้ไขตอนหลัง 2 อัน เราก็ถือว่าเราเอา 4 แผนผังเดิมที่เคยประชาพิจารณ์ไปแล้วมาทบทวน เพื่อให้มีกายภาพสอดคล้องกับปัจจุบันมากขึ้น ไม่ได้เป็นการพลิกจากที่เราเคยทำไปแล้ว เป็นแค่การทบทวนบางพื้นที่เท่านั้น 

ถ้าถามว่า กทม. ทำการมีส่วนร่วมน้อยไปไหม เราทำมาเยอะมากกว่าที่กฎหมายกำหนด กฎหมายกำหนดว่าไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง แต่เราทำมามากกว่าทุกครั้ง ทุกผังที่เราดำเนินการมา แต่ถ้าจะให้ลงย่อยไปถึงระดับชุมชนหรือเป็นเขตจะต้องใช้เวลา ดังนั้นถ้าทุกคนรอได้ ถ้าผังเมืองรวมจะประกาศช้าออกไปอีก 5-6 ปี นี่ขนาดว่าเราทำตามแทนที่กำหนดไว้ ผังเมืองรวมยังล่าช้าออกไปถึง 3 ปีกว่าจะทำครบ 18 ขั้นตอน ถ้าเรารอได้อีกและทนใช้ผังเก่าที่ล้าสมัยตั้งแต่ปี 2556 ไปได้ กรุงเทพมหานคร ก็ยินดีที่จะดำเนินการ 

ผังเมืองรวมที่เราใช้อยู่ ยังเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ผ่านมานั้น บางที่อาจจะล้าสมัยไปแล้ว เพราะว่าตอนนี้ระบบรถไฟฟ้าไปเยอะแล้ว เกือบจะครบทุกพื้นที่ แต่ผังเราข้างนอกบางครั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยอยู่ และในตัวถนนเองถ้าใครดูผังเก่าที่เป็นของสำนักการโยธาฯถนนใหญ่ ๆ 138 เส้นยังเหมือนเดิม 

ตอนนี้ กทม. พยายามทำในส่วนของ 50 เขต ถ้าทำแล้วไม่เพียงพอ ก็มาคุยกันอีกรอบ แต่ถ้าจะลงไปถึงรายย่านแบบที่สภาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคเสนอมา 6 เดือน อาจจะไม่พอที่เราจะทำได้ครบ เพราะว่าแต่ละย่านมีพื้นที่เยอะ มีหลายย่านตอนนี้ เราพยายามลงไปพื้นที่ที่มีผู้ได้รับผลกระทบตามแนวถนน หรือกลุ่มผู้ที่อยู่ในชุมชนแออัดที่มีการแก้สีอย่างที่คลองเตย

ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร เสริมต่อ ถ้าถนนสำคัญจะตัดก็ต้องตัด แต่สิ่งสำคัญก็คือว่าไม่ต้องเวนคืนประชาชนได้หรือไม่ เวนคืนแล้วเป็นธรรมได้หรือไม่ เพราะทุกคนมีปัญหาตรงนี้ การไปตัดถนนบนที่ดินที่เขามีอยู่ อาจจะมีอยู่ 50 วา ตัดไปแล้ว 40 วา เหลือ 10 วา ทำอะไรได้ ค่าที่ดินให้กลับมายังไม่สามารถสร้างบ้านได้ จะเอาไปขายให้ใคร เพราะฉะนั้นต้องเอาโฉนดที่ดินลงมาปะ มีกรอบอยู่ก็ต้องลงรายละเอียดให้ประชาชนได้รับรู้ ต้องมีความเป็นธรรม

อีกเรื่องคือเรื่องผังชี้นำ ปี 2556 ที่มีแผนผังสาธารณูปโภค สาธารณูปการ แผนที่ชี้นำหรือยัง สวนสาธารณะในฝั่งธนก็ยังไม่มี พื้นที่ที่มีการบำบัดน้ำเสียครบเลย ทำไมถึงไม่วางตำแหน่งในจุดที่ควรจะทำ กทม. มีเงินซื้อที่ เพื่อเอาตรงนั้นมาทำบำบัดน้ำเสีย ไม่ใช่ไปเปลี่ยนสีเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย หนาแน่นปานกลาง แล้วค่อยไปทำ ถ้าไม่ทำตอนนี้งบก็แพงขึ้น อย่าให้มีเพนพ้อยกับภาคประชาชน สิ่งนั้นทำได้เลย เราต้องการผังที่มีคุณภาพชีวิตของประชาชนก่อนขยายความหนาแน่น ผมเชื่อว่าประชาชนรอได้ 

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา ตั้งคำถามว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งเกิดในปี 2562 ใกล้เคียงกับตัวกฎหมายนี้ แต่การทำงานของการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับเมืองผ่านมูลนิธิ เราเคยทำเรื่องฟ้องคดีอาคารสูงในซอยร่มฤดี ศาลปกครองชั้นสูงสุดมีคำสั่งให้รื้อถอนส่วนที่อาคารเกิน เพราะถือว่าผิดกฎหมายต่อการควบคุมอาคาร ตอนนั้นมีผังเมืองอยู่แล้ว และตอนนี้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 72 (2) นอกจากจะเขียนไว้ว่าให้มีการวางผังเมืองแล้ว ยังเขียนไว้ว่า ผังเมืองให้มีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นผังเมืองที่ใช้อยู่ในขณะที่เรากำลังหาวิธีการทำผังเมืองใหม่ เพราะว่าเราอยากจะมีผังเมืองที่ดีขึ้นและใช้ไปอีก 100 – 200 ปี ขณะเดียวกันผังเมืองที่ต้องทนอยู่ก็จะมีคำถามว่าการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง ที่ปล่อยให้มีอาคารขนาดใหญ่ไปอยู่ในซอยที่วางอยู่ในผังเมือง:ซึ่งห้ามไม่ให้มีอาคารขนาดใหญ่เกินขอบเขตกฎหมาย 

ผังเมืองปัจจุบันเราคาดหวังการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความสุขของประชาชนแต่สิ่งที่เกิดขึ้น ปัญหาที่ยังคาอยู่ หาทางออกไม่ได้ สิ่งเหล่านี้มันเกิดจากอะไร การบังคับใช้กฎหมายหรือช่องโหว่ของกฎหมาย รายละเอียดเหล่านี้เรายังต้องเอามาเคลียร์กัน 

ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีอยู่ 2 จุดขึ้น 1. ทำผังเมือง 2. บังคับใช้ผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3. ระหว่างการวางผังเมืองต้องทำสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ จึงจะครบองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญ ไม่นั้นจะมีช่องโหว่ที่ทำให้คนตั้งคำถาม หรือประชาชนรู้สึกทางแคลงใจว่าทำไมถึงไม่รู้เรื่อง ทำไมถึงถูกเวนคืน บางคนรู้เรื่องก็ในวันที่มีกฤษฎีกาเวนคืนมาหาครอบครัวแล้วมาคุยกันว่าจะย้ายหรือจะขายบ้านอย่างไร 

เพราะฉะนั้นนี่คือโอกาสของพวกเราทุกคนที่ กทม. ได้เปิดโอกาสให้กับเราแล้ว เพียงแต่ว่านอกจากบริษัทหรือบริษัทที่รับจ้างมาทำตรงนี้แล้ว เรายังมีนักวิชาการที่เก่ง ๆ อยู่ในบ้านเมืองนี้อีกมากมาย ที่กทม. ในฐานะเป็นองค์กรกลางจะดึงมาร่วมออกแบบในกระบวนการสร้างความคิดเห็นการวางผังเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า เรามีนักวิชาการที่สามารถมาร่วมออกแบบกระบวนการการมีส่วนร่วม และประคองความคิดเห็นของประชาชนที่มีความรู้น้อยให้สามารถให้ความเห็นในเรื่องของความต้องการของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มั่ว และเราจะได้บ้านหรือเมืองที่ดี

Image Name

คมสันติ์ จันทร์อ่อน กล่าวว่า ถ้าไม่มีผังเมืองรวมเลย คนจนจะอยู่ลำบาก อย่างน้อยต้องมีกติกา เพราะคนที่มีเงินจะมีโอกาสมากกว่า จะใช้ทรัพยากรที่มีเทลงไปหมด ผังเมืองเป็นแนวคิดที่ดี แต่จะใช้อย่างไรให้คนทุกฐานะ ทุกอาชีพอยู่ร่วมกันได้ 

อีกเรื่องที่น่าห่วงก็คือ FAR Bonus ที่เปิดให้นักลงทุนสามารถใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่กฎหมายดันเขียนเพื่อให้นายทุนขอโบนัสได้ง่ายขึ้น ข้อ 1 ข้อ 2 เงื่อนไขที่ตั้งมา สำหรับการจัดที่อยู่อาศัยให้คนยากคนจน หรือผู้สูงอายุอันนี้เป็นเรื่องที่ดี แต่คิดว่านักลงทุนไม่เลือกหรอก ซึ่งจริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาควรทำอยู่แล้ว ไม่ควรจะเป็นโบนัส เรื่องระบบระบายน้ำ การมีที่จอดรถเชื่อมสาธารณะ ควรเป็นสิ่งที่เขาควรทำ แต่ทางกฎหมายดันเขียนว่า ถ้าเกิดคุณทำ คุณจะได้โบนัส

กติการ่วม ความเป็นอยู่ของประชาชน หัวใจสำคัญของการมีผังเมืองรวม

ชูขวัญ นิลศิริ กล่าวว่า ผังเมืองรวมประกอบไปด้วยหลักการอยู่ 3 อย่าง คือ ความปลอดภัยสุขลักษณะอนามัย และเพื่อสังคม การที่คนหมู่มากอยู่รวมกันถ้าไม่มีกติกาของการใช้ประโยชน์ที่ดินก็จะเกิดความวุ่นวาย อย่างเช่น บ้านเราอยู่ดี ๆ ก็มีโรงงานมาตั้งอยู่ใกล้ ๆ ก่อให้เกิดผลกระทบ แต่การที่ผังเมืองเราแยกกันใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นย่าน เป็นที่อยู่อาศัย และมีกิจกรรมที่ไม่มีโรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือที่อยู่อาศัยที่เป็นสีเหลือง ไม่มีคอนโดเข้ามาอยู่ร่วม อันนี้คือการที่ผังเมืองรวมกำหนด ส่วนย่านที่เป็นโรงงานเราก็กำหนดไว้ในพื้นที่สีม่วง ดังนั้นถ้าไม่มีผังเมืองรวมเลยการใช้ประโยชน์ที่ดินจะสับสนุ่นวาย การอยู่ของประชาชนก็จะไม่มีความผาสุข

คมสันติ์ จันทร์อ่อน มองว่า มันควรจะเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นมาให้คนทุกกลุ่มอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ และไม่ต้องมาเบียดเบียนกัน ขีดเส้นระบายสีออกมาแล้วคนจนทำมาหากินในเมืองได้ นักธุรกิจสามารถดำเนินการธุรกิจอสังหาในเมืองที่ไม่กระทบกัน ดังนั้นตัวกฎหมายที่ถูกเขียนด้วยมนุษย์ก็ควรจะคุยกันให้ลงตัว เมืองกรุงเทพฯ ที่มันมีความหลากหลายต้องคุยให้มาก ไม่อย่างนั้นผลประโยชน์ก็จะตกไปอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร ให้ความเห็นว่า ผังเมืองต้องมีอยู่แล้ว เพราะว่าเป็นการจัดระเบียบในการให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข คุณจะพัฒนา หรืออนุรักษ์อะไรต้องสมดุล ต้องมีกติการ่วมกันผังเมืองก็เป็นกติกาอันหนึ่ง เพียงแต่เป็นกติกาที่เขียนไว้ เพื่อรอนสิทธิ์บุคคล ประชาชน แต่รอนสิทธิ์อย่างมีเหตุผลเพราะต้องบังคับใช้ ดังนั้นผังเมืองเป้าหมายเกิดการทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ ให้มีคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกระดับอยู่ในนั้นด้วย 

ปิดท้ายที่อิฐบูรณ์ อ้นวงษา กล่าวว่า เรื่องของผังเมืองรวมไม่มีไม่ได้ การวางผังเมืองในยุคโบราณมีการทำมาอย่างต่อเนื่อง ตอนนั้นไม่ได้ใช้ว่าการวางผังเมือง แต่เราใช้ว่าสร้างบ้านแปลงเมือง แสดงว่าศาสตร์นี้ใช้กันมาอย่างยาวนาน ทำขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนที่เข้ามาร่วมกันใช้พื้นที่ในเมือง ทำเมืองให้น่าอยู่ และอยู่เย็นให้เป็นสุข แม้แต่ยุคกษัตริย์สมัยก่อน การทำผังเมืองให้ไม่ว่าคนชนชาติไหนเข้ามาอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ทะเลาะกัน แต่ถ้าหลักสมัยใหม่เรื่องของสิทธิผู้บริโภคที่สหประชาชาติรับรองไว้ คือการทำให้ผู้บริโภคอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีนี่คือคำสมัยใหม่ 

โหวตฉากทัศน์ –

หลังจากได้ฟังมุมมองจากวิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้ว ทางรายการมีฉากทัศน์ที่เป็นสารตั้งต้นของการพูดคุยในวันนี้ มาให้คนในวงได้ลองโหวตเลือกกันทั้งหมด 3 ฉากทัศน์

ผังเมืองรวมเป็นเครื่องมือชี้นำและกำหนดลำดับการพัฒนาพื้นที่ โดยโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการเติบโตของเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางของประเทศ รัฐพยายามปรับปรุงผังเมืองให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การขยายตัวของพื้นที่เมือง ความหนาแน่นของประชากร ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงนโยบายการพัฒนาต่างๆ เป็นหลัก

ส่งผลให้ภาพรวมของผังเมืองเอื้อประโยชน์ตรงให้ภาคธุรกิจสามารถแสวงหาประโยชน์สูงสุดจากการใช้ที่ดิน แต่สีของผังที่เปลี่ยนไปส่งผลโดยตรงกับกลไกตลาดส่งผลให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อระบบสาธารณูปโภค และราคาที่อยู่อาศัยของคนจนและคนชั้นกลางในเมือง ทำให้รัฐบาล และ กทม. ต้องมีนโยบายและงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อรองรับ ดูแลคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะคนกลุ่มเปราะบาง

ในกระบวนการได้มาซึ่งผังเมือง แม้ไม่ละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยกทม. เป็นหน่วยงานหลักในการรับฟังความคิดเห็น และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม เข้าถึงข้อมูล ด้วยวิธีการ ช่องทาง และเครืองมือที่เหมาะสม แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านวิธีคิดการออกแบบที่เน้นการเติบโต ทำให้ผังเมืองไม่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่แตกต่างหลากหลายของเมืองใหญ่อย่าง กทม.ได้ทั้งหมด

ผังเมืองรวม คือแผนแม่บทที่กำหนดกรอบแนวและแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งต้องคำนึงถึงการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันของผู้คนและเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่การกำหนดรูปแบบการพัฒนาจากบนลงล่างอาจไม่ใช่รูปแบบที่ถูกยอมรับภายใต้บริบทโลกใหม่ ขณะที่สิทธิของประชาชนในย่านชุมชนท้องถิ่น ในการคงไว้ซึ่งวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และทรัพยากร ถูกให้ความสำคัญทั้งจากรัฐ ท้องถิ่น และประชาชนไม่น้อยไปกว่าสิทธิของเจ้าที่ดิน

เพื่อให้กระบวนการวางผังเมือง ช่วยให้เกิดความเข้าใจ และยอมรับในแผนการพัฒนา รวมทั้งตอบความต้องการและปัญหาที่แท้จริงของชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น 50 เขตของ กทม. ร่วมกับประชาชน และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเมืองและชุมชน ระดมองค์ความรู้ และข้อมูลในการจัดทำผังเมืองระดับย่อยของย่าน เป็นข้อเสนอสู่การจัดทำผังเมืองรวม ที่ควบคู่ไปกับการวางผังนโยบาย ของกระทรวงมหาดไทย

รัฐต้องมีการพัฒนากฎหมาย หรือแก้ไขระเบียเพื่อรองรับ ซึ่งกระบวนการอาจต้องใช้เวลา และอาศัยแรงผลักดันของประชาชนที่เห็นความสำคัญของการร่วมออกแบบเมือง

รัฐบาลกลางและประชาชน เห็นความสำคัญของปัญหาผังเมือง ที่ควรต้องเห็นความสำคัญของที่อยู่อาศัยของผู้คนในทุกระดับ และการวางแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เกิดการจัดสรรทรัพยากร อย่างทั่วถึง เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ ใช้โอกาสนี้หยุดกระบวนการเดิม ทบทวนรูปแบบ วิธีการ และแนวคิดการทำผังเมืองใหม่ โดยเริ่มต้นจากการหาเป้าหมายของเมืองกรุงเทพฯ ในฐานะ Complex city ที่มีความสลับซับซ้อน โดยเป็นกระบวนการที่มีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย

ประชาชน ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบเมือง นักผังเมือง และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ระดมจินตนาการใหม่ในการออกแบบการจัดการและการใช้ประโยชน์ที่ดิน เชื่อมความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยให้เกิดการลงทุน และนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการพัฒนาเมือง โดยคำนึงถึงชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และมี strategic plan แผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และระบบตรวจสอบผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่สอดรับไปในทิศทางเดียวกัน

เมืองที่มองเห็นชีวิตผู้คน จะต้องอาศัยการยอมรับ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม

สำหรับกระบวนการโหวตฉากทัศน์ในวงนั้นจะมีด้วยกันทั้งหมด 2 ครั้ง คือก่อนที่ผู้เข้าร่วมทุกท่านจะได้รับฟังชุดข้อมูลจากวิทยากร และหลังจากได้ฟังชุดข้อมูลที่วิทยากรได้แลกเปลี่ยนไปแล้ว โดยผลลัพธ์ที่ได้มานั้น 

ในรอบแรกก่อนที่ทุกท่านในวงจะได้ฟังชุดข้อมูล มีคนโหวตให้กับฉากทัศน์ที่ 2 มากที่สุด 68% แต่ในรอบที่สองนั้น ผลโหวตได้เปลี่ยนไป ฉากทัศน์ที่ 3 กลายเป็นฉากทัศน์ที่มีคนโหวตเลือกมากที่สุด 64%

แล้วถ้าเป็นคุณ หลังจากได้อ่านชุดข้อมูลทั้งหมดแล้ว คุณเลือกภาพอนาคตของผังเมืองรวม กทม. ที่อยากให้เกิดขึ้น ในฉากทัศน์ไหน โหลตเลือกที่ด้านล่างนี้ได้เลย

แชร์บทความนี้