อิหยังวะ “เทคไทบ้าน” ทักษะชนบทดิจิตอล เชื่อม Local to Global  แบบไร้รอยต่อ

“โอกาส” เป็นสิ่งที่หลายคนพยายามไขว่คว้า และเมื่อได้รับมาอาจจะพาคุณไปสู่จุดเปลี่ยนของชีวิต แต่คำว่า “โอกาส” กลับเป็นสิ่งที่หายากยิ่งสำหรับคนต่างจังหวัด เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความเป็นท้องถิ่น และความเป็นเมือง ผลักผู้คนในต่างจังหวัดออกไปห่างไกลจากโอกาสเหล่านั้น

ผู้คนจากท้องถิ่นที่ไปเติบโตและประสบความสำเร็จในเมืองใหญ่หลายคนจึงพยายามพา “โอกาส” ที่อยู่แสนไกลกลับมายังถิ่นฐานบ้านเกิดของพวกเขาที่คนเมืองใหญ่เรียกมันว่า ต่างจังหวัด หรือ บ้านนอก เช่นเดียวกับ กุล-กุลชาติ เค้นา ชายผู้มีความฝันที่จะพาความบ้านนอกของบ้านเกิดเขา ไปสู่ความเป็น Global ผ่านเทคโนโลยีและทักษะชนบทดิจิทัล ที่เรียกว่า เทคไทบ้าน

ชวนคุยและทำความรู้จักเทคไทบ้านไปกับ กุล-กุลชาติ เค้นา

จุดเริ่มต้นจากคำถาม สู่การเป็น เทคไทบ้าน ณ ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น

กุลชาติ เค้นา มีอาชีพหลักเป็น UX/UI Designer หรือ นักออกแบบเว็บไซต์ ที่หลายปีก่อนทำงานในเมืองใหญ่ก่อนเขาตัดสินใจกลับบ้านที่อำเภอภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ด้วยคำถามในใจบางอย่าง และมาเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น ผู้ก่อตั้ง Farm Kits และ เทคไทบ้าน ทำงานแบบ Digital Nomad หรือคนที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำงานจากที่ไหนก็ได้ทั่วโลก

กุลชาติเล่าว่า การที่รวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่เมืองใหญ่ ทำให้โอกาสหลาย ๆ อย่าง มาไม่ถึงต่างจังหวัด โดยเฉพาะในสายงานของเขาที่เป็นนักออกแบบเว็บไซต์ เป็นดีไซน์เนอร์ หรือคนทำงานด้านเทคโนโลยี จะเข้าถึงกิจกรรมหรือความรู้เหล่านี้ได้ต้องอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น

“จุดเริ่มต้นของการทำเทคไทบ้าน จริง ๆ คือเราเป็นคนทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์มาก่อน แต่ก่อนที่เราจะกลับบ้านเรามีคำถามอยู่ว่า ทำไมการจัดกิจกรรม พวก TECH MEETUP กิจกรรมดี ๆ ที่เกี่ยวกับพวกโปรแกรมเมอร์ ดีไซน์เนอร์ ทำไมถึงมีจัดอยู่แค่ในเมืองใหญ่ ๆ เราก็เลยตั้งใจมาจัด TECH MEETUP จัดเสวนาต่าง ๆ เกี่ยวกับ โปรแกรมเมอร์ ดีไซน์เนอร์ อยู่ภูผาม่าน อยู่กลางทุ่งนา พาโอกาศเหล่านี้มาสู่ต่างจังหวัดบ้าง ให้ไทบ้านได้เข้าถึงได้เรียนรู้เทคโนโลยี ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของ เทคไทบ้าน”

แล้วทำไม ไทบ้าน ถึงจำเป็นต้องเรียนรู้เทคโนโลยี?

หากย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ถ้าพูดถึงความรู้ด้านเทคโนโลยีกับคนต่างจังหวัด โดยเฉพาะกับคนรุ่นพ่อแม่ ความรู้หรือทักษะด้านเทคโนโลยีดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว และไม่จำเป็นสำหรับพวกเขาเหล่านั้น แต่ปัจจุบันในยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่าง Generation มหาศาล ระหว่างคนที่ใช้เทคโนโลยีกับคนที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยี ฉะนั้นแล้วจึงจำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจเทคโนโลยีเพื่อเอามาใช้ในชีวิตประจำวันเราให้ยกระดับดีขึ้น ทำให้คนรุนพ่อแม่ต้องมีทักษะด้านเทคโนโลยี เพื่อให้เข้าใจและลดช่องว่างระหว่างวัยกับคนรุ่นลูก พร้อมกับนำเทคโนโลยีมายกระดับคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่นแบบพวกเขา

“จริง ๆ ไทบ้านหรือชาวบ้านไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเลยนะ กินง่าย อยู่ง่าย นอนทุ่งนา เหมือนเดิม แต่จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อการอยู่รอดในยุคปัจจุบัน อย่างเด็กจบใหม่ก็อาจจะยังไม่รู้เลยว่าจะต้องไปทำอะไร และเราไม่สามารถรู้เลยว่าทักษะที่ตลาดต้องการคืออะไร มันจึงจำเป็นที่จะต้อง up skill หรือมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้โปรแกรมตัดต่อวิดีโอ เรื่องการสื่อสาร การเก็บข้อมูล ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีแบบพื้นฐานเลย ยังไม่รวม AI ที่มาใหม่อีก ซึ่งสามารถแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านได้มากมายมหาศาล ไทบ้านจึงควรจะเอาทักษะพวกนี้มาช่วยทำให้วิถีชีวิตง่ายขึ้น กินอยู่ง่ายใช้ชีวิตแบบเดิม มีวิถีชีวิตเหมือนเดิม เพียงแค่เราเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นแค่นั้น” กุลชาติกล่าว

เทคไทบ้าน จะพาท้องถิ่นทำอะไร ไทบ้านจะเรียนรู้ทักษะอะไร ?

กุลชาติ มองเห็นว่าในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะท้องถิ่นต่างจังหวัดไม่มีคนทำเรื่องการฝึกทักษะดิจิตอลให้กับคนในชุมชนเลย ไม่ว่าจะเป็นในระดับ ตำบล อำเภอ ก็ไม่มีใครผลักดันเรื่องนี้ เช่น ถ้ามีเด็กคนหนึ่งสนใจเรื่องทักษะด้านการออกแบบเว็บไซต์ หรือความรู้ด้านเทคโนโลยี เขาก็ต้องไปเรียนพิเศษหรือไปตามแคมป์วิชาการของมหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ  ซึ่งจะเห็นว่าเป็นองค์ความรู้ที่เข้าถึงได้ยาก ฉะนั้นท้องถิ่นเองจะต้องมีจุดนี้ให้เด็กเยาวชนเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจจะเริ่มจากคนบางกลุ่มแบบที่เขากำลังพยายามทำ

“หลักสูตรที่ผมกำลังทำอยู่ผมเรียกว่า  หลักสูตรทักษะชนบทดิจิตอล ซึ่งจะมีทั้งหลักสูตรการใช้ Canva ในการทำพรีเซนต์หรือสื่อต่าง ๆ ที่สอนโดยคนที่ทำงานใน Canva เลย หรือจะเป็นทักษะการถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์มือถือจากช่างภาพมืออาชีพ หรือทักษะการเป็น Content Creator จากศิลปิน นักร้อง หรือนักสร้างสรรค์ Content ที่เขาทำเรื่องนี้เป็น ถ่ายทำวิดีโอตัดต่อเป็น เล่าเรื่องแบบไหน ทักษะการทำหนังสั้น ทักษะการใช้ ai ทักษะการสร้างเว็บไซต์เพื่อธุรกิจขนาดเล็ก และสุดท้ายคือทักษะการเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งผมจะเป็นคนสอนเอง

ซึ่งเทคไทบ้านจะมีหน้าที่หาคนมาให้ทุนการศึกษาสำหรับเด็ก ๆ ในพื้นที่ที่สนใจจะมาเรียน เทคไทบ้าน จะทำ MOU ร่วมกับโรงเรียนว่าโรงเรียนจะต้องส่งเด็กมา up skill กับเทคไทบ้านทั้ง 12 เดือน เดือนละหนึ่งครั้ง และเปิดให้ชาวบ้านในพื้นที่ สีชมพู ภูผาม่าน เข้าเรียนรู้ได้ด้วย พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเข้ามาฟังได้ฟรี มาดูว่าทักษะอนาคตนั้นมันเป็นแบบไหน ซึ่งมันทำให้เราพบว่ามีความเป็นไปได้ในการที่จะเชื่อมกับคนในชุมชนและ up skill ให้กับเด็กในพื้นที่จริง ๆ”

แล้วเทคโนโลยีจะพาความเป็น Local ก้าวสู่ความเป็น Global ได้อย่างไร

ก่อนหน้านี้ความเป็น local และ Global ถูกแบ่งด้วยเส้นแบ่งภูมิประเทศและวิถีคิดบางอย่างของสังคมนิยม กุลชาติ เล่าว่า ตอนนี้มันไม่มีเส้นแบ่งเพราะว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่า Internet เป็นเหมือนตัวที่สามารถทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า  local to global และเป็นสิ่งที่สามารถส่งต่อได้เพราะมันไม่มีเส้นแบ่งแล้ว

“ความเป็น local ทุกที่เลยมีอัตลักษณ์ ซึ่งในมุมของผมมองว่า อัตลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ หรือ อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมนั่นแหละ เป็นสิ่งที่ทำให้คนในระดับ global สนใจ local เหมือนที่เราสนใจประเทศอื่น วัฒนธรรมเขาสวยงาม วิถีคิดเขาดี เมืองเขาสะอาด ซึ่งคนอื่นเขาก็สนใจเหมือนที่เราสนใจนั่นแหละ เช่น ทำไมอาหารอีสานมันถึงอร่อย ทำไมการกินอยู่แบบวิถีชีวิตบ้าน ๆ มันถึงรู้สึกดี การที่ได้มาเรียนรู้หรือใช้ชีวิตตามวิถีแบบนี้ ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ ซึ่งพอมันมีอินเตอร์เน็ตมันก็ไม่มีพรมแดนแล้ว เพราะมันมีการสื่อสารแบบไร้พรมแดนจากเรื่อง local มันก็กลายเป็นเรื่อง global ได้เลย

และจริง ๆ ความเป็นท้องถิ่นในมิติด้านศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร การกิน การท่องเที่ยว มันมีคนทำแบบนี้เยอะแล้วแต่ยังไม่เคยมีใครทำชัด ๆ ว่าการนำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงกับชุมชนแล้วทำให้มันเกิด impact ได้ยังไม่ค่อยมี ฉะนั้นในระดับพื้นที่จำเป็นจะต้องมีคนที่เอาเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงกับหลาย ๆ อย่างในชุมชน แล้วส่งต่อออกไปให้ข้างนอกรับรู้ ให้มันเกิด impact  กับชุมชนจริง ๆ  ฉะนั้นแล้วคนรุ่นใหม่ในชุมชนเอง โดยเฉพาะคนที่มีความรู้ทางสายเทคโนโลยี หรือ creator มีหน้าที่ทำให้ชุมชนมันฉายแสง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ”

local และ global ต่างกันไหม หรือแท้จริง คือสิ่งเดียวกัน ?

โลกาภิวัตน์ ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมทั่วโลกได้เชื่อมถึงกันกับความเป็นท้องถิ่นที่หลายคนมองว่าห่างไกล ทำให้ความเป็นท้องถิ่นกับความเป็น global นั้นแทบจะเป็นสิ่งเดียวกัน กุลชาติบอกว่า การเกิดขึ้นของหลายสิ่งหลายอย่างในยุคโลกาภิวัตน์นั้น ทำให้ท้องถิ่นมีโอกาสมากขึ้น และทำให้ความเป็น local และ global แทบจะแยกขาดออกจากกันไม่ได้ เพราะทุกอย่างเชื่อถึงกัน และเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวกัน

“ความเป็น local และ global มันเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวกันเพราะ local และ global ใช้อากาศเดียวกันหายใจ ซึ่งมันไม่มีพรมแดน ทำให้ local และ global คือสิ่งเดียวกัน ตราบที่เรายังอาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกันและใช้อากาศในบรรยากาศเดียวกันหายใจ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ เพราะทุกอย่างเชื่อมถึงกันหมดเลย เหมือนกับภาวะโลกร้อนตอนนี้แหละ ไม่ว่าจะเป็น local หรือ global ทุกคนต่างมีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วยกันหมด”

ลอง ผิด เพื่อให้ได้สิ่งที่ ถูก แล้วพา ไทบ้าน ไปสู่ สากล

การลงมือทำเทคไทบ้านของกุลชาติ อาจจะเกิดจากการตั้งคำถามในใจถึงโอกาสของคนต่างจังหวัดที่ห่างไกลศูนย์กลางที่ถูกขีดขึ้นจากการพัฒนาและอำนาจทางการปกครอง และทำให้โอกาสต่าง ๆ กลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยากสำหรับคนต่างจังหวัดแบบเขา แบบลูกหลานเขา แบบพ่อแม่พี่น้องเขา นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เขาพยายามสร้างโอกาสให้กับทุกคนในบ้านเกิดของเขาด้วยตัวเอง จากการลงมือทำสิ่งเล็ก ๆ ลองผิดลองถูก ผ่านความผิดพลาดและล้มเหลวต่าง ๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการที่เรียกว่า เทคไทบ้าน ขึ้น ซึ่งกุลชาติยังทิ้งท้ายการสนทนากันในครั้งนี้ว่า เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนี้จะสำเร็จหรือไม่ แต่เขาแค่หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โอกาสมันเริ่มต้นจากท้องถิ่นที่ไม่ใช่แค่ส่วนกลาง และพาท้องถิ่นไปสู่ global ได้

“การทำ เทคไทบ้าน นั้นจริง ๆ มันเป็นเรื่องใหม่ และผมก็ไม่สามารถตกผลึกมาเล่าแบบชัด ๆ ได้ เพราะว่าสิ่งที่ทำอยู่มันค่อย ๆ หล่อหลอมมาเรื่อย ๆ และเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมันก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่ามันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่ผมคิดว่าระยะเวลาที่ทำเรื่องนี้มามันทำให้เห็นชัดว่า เราไม่ยอมแพ้ในการที่จะผลักดันเรื่องการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระดับชุมชน ซึ่งผมคิดว่าโมเดลให้ทุนการศึกษาเด็ก แล้วให้เด็กเรานั้นมาพัฒนาทักษะเพื่อให้เก่งขึ้นมันสามารถไปทำอยู่ไหนก็ได้ นี่คือโมเดลที่ผมกำลังทำอยู่ เพื่อทำให้คนในท้องถิ่นมีองค์ความรู้ที่เรียกว่า ทักษะชนบทดิจิตอล เพื่อพาวิถีท้องถิ่นแบบที่ผมอยู่ไปสู่ global ในแบบวิถีของ เทคไทบ้าน”

กุลชาติ เค้นา Digital Nomad ผู้ก่อตั้ง Farm Kits และ เทคไทบ้าน

writer : Puttisun Ganyapan

แชร์บทความนี้