ผม อาคม สุวรรณกันธา ผมเริ่มต้นในสายงานภาคเอกชน ช่วงเริ่มของการเปิดพรมแดนยุคสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย จีน สปป.ลาวและเมียนมา ได้สัมผัสได้ดูดาวกลางแม่น้ำโขงที่มืดมิด บนเรือสินค้าล่องขาขึ้นจากเชียงแสนสู่ท่าเรือจิ่งหง แห่งเขตปกครองพิเศษสิบสองปันนาเมื่อปี 2543
จากนั้นคือประสบการณ์ในการบุกเบิกการเดินทางในเส้นทางการค้าทางบกอย่างทะลุปรุโปร่งทั้งในเส้นทาง R3B จากแม่สาย–เชียงตุง-เชียงรุ่ง -คุนหมิง ในปี 2547 และเส้นทาง R3A จากเชียงของ–หลวงน้ำทา-เชียงรุ่ง-คุนหมิงหรือ คุนมั่น -กงลู่ ก็เปิดใช้ในปีต่อมา
โครงสร้างคมนาคมโลจิสติกส์ทั้งหมดคือโครงการเรือธงทางตอนเหนือของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นโครงการย่อยโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง Greater Mekong Subregion (GMS) ที่ยึดยุทธศาสตร์การพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) เชื่อมโยงไทย-พม่า และ ลาว-จีน
2 ทศวรรษเต็ม ๆ ที่มีสถานการณ์ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบนหรือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจแห่งนี้ทั้ง การขยายอิทธิพลของจีนภายใต้ยุทธศาสตร์ Lancang-Mekong Economic Belt ในการสร้างเขื่อนไปถึงการ “ระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขง” เพื่อล่องเรือ 500 ตัน ผ่านไทยไปหลวงพระบางในห้วงบุกเบิก
จากกระแสน้ำโขงที่ขุ่นคลั่กเชี่ยวกราก ไหลกระแทกแก่งโตรกหินที่มีลมหายใจของก้อนหินเลือนหาย
กลับกลายเป็นกระแสน้ำที่ใสไหลเอื่อย ผิวน้ำที่ราบเรียบหากแต่เบื้องล่างยังไหลลึกมิเคยเปลี่ยน
หลังจากเปิดพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจได้ทศวรรษ ในปี 2554 เกิดเรื่องราวของโจรสลัดน้ำโขงกรณี “หน่อคำ”ปล้นเรือจีน 2 ลำ
นับเป็นอาชญากรรมสะเทือนครั้งใหญ่บนสายนทีแห่งนี้ ทำให้ความคึกคักลดฮวบลง แม้ภายหลังจะมีเรือลาดตระเวนร่วม 4 ประเทศในแม่น้ำโขงกระทั่งทางการจีนได้ปิดท่าเรือกวนเหล่ย ช่วงสถานการณ์โควิด และเปิดให้มีการนำเข้าส่งออกได้ในปลายปี 2565
ปี 2556 นับเป็นจุดเปลี่ยนที่ทรงพลังของมหาอำนาจจีน ที่ประกาศการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) ที่ส่งผลกระเทือนทางเศรษฐกิจผ่าน “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” และ “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งยุคศตวรรษที่ 21” จนครบทศวรรษในปี 2566 ที่ผ่านมา
ห้วงท้ายปี 2564 รัฐบาลก็ประกาศเดินหน้าพัฒนาโครงการ ‘ระเบียงเศรษฐกิจ’ ที่จะสร้าง “พื้นที่เศรษฐกิจ” ใหม่ ๆ กระจายไปทั้ง 4 ภาคของไทย นอกจากจะมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ยังมุ่งดึงเอาอัตลักษณ์ความโดดเด่นหรือจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ขึ้นมาเป็นจุดขาย รวมทั้งมองถึงมิติการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขยายโอกาสการค้าการลงทุน
ในที่นี้จะเน้นที่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC) เป็นเบื้องต้น เป็นพื้นที่ที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และลำพูน โดยมุ่งพัฒนาเป็น “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการที่ต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมล้านนา” ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่
“คนเมือง” คือฉายาเรียกคนที่มีพื้นถิ่นบ้านเกิดทางเหนือ เรียง “ระเบียง” ว่า เติ๋น คือส่วนที่เชื่อมต่อกับชานด้านหน้าของตัวเรือน เป็นพื้นที่กึ่งอเนกประสงค์ รวมถึงเป็นที่รับแขก
“ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ” Northern Economic Corridor คือเติ๋นเศรษฐกิจของคนเมืองที่ไม่อยากให้เป็นเพียงยุทธศาสตร์นโยบายทางเศรษฐกิจในพื้นที่แล้วคนในพื้นที่ไม่รู้ถึงผลกระทบ และการมีส่วนร่วม
ด้วยระเบียงเศรษฐกิจนี้มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ต่อภาพรวมทั้งภาคเหนือ ไม่รวมถึงการมองถึงประเทศเพื่อนบ้านชายแดนในพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจที่ใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุกทางเศรษฐกิจเหนือลุ่มน้ำโขง
เราจะเห็นปรากฎการณ์การคืบคลานของทุนจีนที่มาตามยุทธศาตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ไมว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว การไหลบ่าของสินค้าที่ท่วมภูมิภาค ที่รุกหนักทางภาคการเงิน พลังงานไฟฟ้า การเกษตรและป่าไม้ เหมืองแร่ การพัฒนาระบบและนโยบายด้านการขนส่งโลจิสติกส์
ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ อยู่ระหว่างการตั้งไข่ หลังมีการประกาศมาในห้วง 2 ปี เกิดแผนแม่บทที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เกิดโครงการเรือธง (Flagship Projects) 4 โครงการตามศักยภาพของแต่ละจังหวัด
1.เชียงราย:ประตูสู่ความร่วมมือและเชื่อมร้อยอารยธรรมลุ่มน้ำโขง
2. เชียงใหม่ : เมืองแห่งสุขภาพและสุขภาวะของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ
3. ลำพูน:เขตอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และสุขภาพภาคเหนือ
4. ลำปาง: นิคมอุตสาหกรรมสีเขียว และศูนย์กลางโลจิสติกส์
รวมมูลค่าโครงการที่จะปั้นรวมกว่า 140,000 ล้านบาท หากผนวกกับแผนการลงทุน Mega Projects ของภาคเหนือ อาทิ รถไฟทางคู่ (เด่นชัย-เชียงใหม่/ เด่นชัย-เชียงของ) สนามบินเชียงใหม่แห่งที่สองจะมี มูลค่ารวมกว่า 350,590 ล้านบาท
ประเมินว่าจะเกิดผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหลักรวม 500 ราย ใน 4 จังหวัดภาคเหนือ เกิดผลิตภัณฑ์และบริการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 500 ผลิตภัณฑ์ ย่านสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น เกิดเทศกาลสร้างสรรค์ดึงนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 30 ล้านคน เกิดการจ้างงานกว่า 2.9 ล้านตำแหน่งต่อปี
ตั้งเป้าให้เกิดรายได้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ระเบียงเพิ่ม 221,868 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มการเติบโตของ จีดีพีรวม 4 จังหวัดเป็น 1 เท่า มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2577
ยังไม่รวมประเด็นที่จะมีการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่างเกิดขึ้นอีก 1 แห่ง ที่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง 1 และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ประชุมมาแล้ว 10 ครั้ง
ผลจากการวิจัยของผมที่ได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หัวข้อการเชื่อมโยงความต้องการกลไกการสื่อสารของโครงการการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจชายแดนภาคเหนือ (NEC) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NEEC) ในปี 2566 ที่ผ่านมาพบประเด็นที่น่าสนใจสำคัญคือ
ส่วนใหญ่เห็นว่ากลไกการสื่อสารถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยังมีน้อย เนื่องจากยังไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานบริหารกลางในการกำหนดยุทธศาสตร์การสื่อสาร (บอร์ดระเบียงเศรษฐกิจทั้งของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จึงทำให้การกระจายข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชน สังคมไม่ทั่วถึงและยังไม่เป็นรูปธรรม ตลอดจนการสื่อสารการรับรู้ในต่างประเทศ
ประเด็นหลักเสนอให้มีการผลักดันบอร์ดบริหาร เพื่อให้เกิดกลไก Stakeholder Engagement ผ่านการสื่อสารเพื่อให้เกิดการรับรู้และการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่าง ๆ โดยกลไกการสื่อสารที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่
นอกจากนั้นคือการสร้างเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมและทำให้โครงการได้สร้างผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านการพัฒนาท้องถิ่นในอนาคต
โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือหากเร่งรัดให้เกิดขึ้นจะแรงกระเพื่อมสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรฐกิจของภาคเหนือให้เติบโตไปข้างหน้า แน่นอน คนเมืองไม่อยากตกขบวนหรือหลุดจากวงโคจรของการพัฒนาโดยเฉพาะภาคธุรกิจ SMEs ภาคประชาสังคม ที่ต้องการเตรียม “เติ๋น” ต้อนรับดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวในทศวรรษต่อไป
นักเขียนถิ่นเหนือ : อาคม สุวรรณกันธา
คนเชียงใหม่ อดีตผู้สื่อข่าวผู้คร่ำหวอดในแวดวงการพัฒนาข้ามพรมแดน ปัจจุบันมีบทบาทหลายสถานะ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดเชียงใหม่ ประธานคณะทำงานย่อยจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ SMEs จังหวัดเชียงใหม่ และฝ่ายต่างประเทศ สภาลมหายใจภาคเหนือ