คุยกับ รศ.ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ : จินตนาการถึงภาคใต้ในความหมายใหม่  ในวันที่โลกและท้องถิ่นไม่ได้เป็นเส้นขนาน

กระแสการกลับมาของท้องถิ่น ถูกพูดถึงมากขึ้นหลังโควิด 19 ช่วงที่ผ่านมา ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนทั้งในสังคมทำให้ผู้คนหันกลับมามองท้องถิ่นมากขึ้น  ด้วยพลวัต พลังและการมีอยู่จริงของท้องถิ่นสามารถยกระดับให้ท้องถิ่นมีมาตรฐานขึ้น

LocalThaiPBS    พูดคุยกับ รศ.ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีอยู่ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ กับคำนิยามตนเองว่าเป็น “นักปฏิบัติการทางสังคม”  จากประสบการณ์ที่ทำงานร่วมกับชุมชนในหลายมิติพร้อมชวนมองโอกาสของภาคใต้ ในสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังจะมาถึง  และบริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  สะท้อนมุมมองน่าสนใจว่า

“โลกหลังโควิด ไม่ใช่โลกที่จะเป็นโลกาภิวัตน์อย่างเดียว หรือโฟกัสท้องถิ่นอย่างเดียว แต่จะเป็นโลกที่ Global กับ Local มาพบเจอกันมากขึ้น เป็นท้องถิ่นที่ได้มาตรฐาน สากลยอมรับ เป็นโลกาภิวัตน์ที่ยึดโยงกับสังคมท้องถิ่นด้วยระบบคุณค่า ซึ่งจะทำให้เกิดพื้นที่ตรงกลางทางเลือกใหม่ ๆ” 

รศ.ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์

โลกหลังโควิด ไม่ใช่โลกที่จะเป็นโลกาภิวัตน์อย่างเดียว

“ในความเป็นท้องถิ่นวันนี้ เมื่อดูปรากฏการณ์ในช่วงหลายปีมานี้ ผมคิดว่าท้องถิ่นเองก็สามารถที่จะสร้างสมประสบการณ์ สร้างความเข้มแข็ง สร้างขีดความสามารถในการที่จะยกระดับการจัดการตนเอง ทำให้เป็นกลไกหนึ่งในการที่จะมารองรับหรือว่าไปตอบสนองต่อคุณค่าและประสบการณ์ใหม่ ๆ ของผู้คนที่โหยหาความเป็นท้องถิ่นมากขึ้น”

“มีใครบางคนบอกผมว่า เราควรที่จะหาเวลาไปชื่นชม และสัมผัสความงามของสายลม แสงแดด ดอกไม้ ยอดหญ้าหรือผีเสื้อบ้าง เราควรจะละสายตาจากจอสมาร์ทโฟน หรือเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ แล้วไปสัมผัสกับธรรมชาติที่เราคุ้นเคย หรือที่เราสัมผัสได้ในชีวิตจริง ผมจึงมองว่าแม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทางไหน วันนี้เราอาจจะบอกว่าเราอยู่ในรูปของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าโลกที่มันเชื่อมต่อกันด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์คต่าง ๆ หรือเรามีเทคโนโลยีสมัยใหม่ เรามีวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่ผมคิดว่าถึงที่สุดแล้วผู้คนในสังคมก็ยังอยากที่จะดำรงชีวิต หรือสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ที่ยึดโยงและสัมผัสกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวให้มากทั้งในปัจจุบันและในอนาคต”

นิยามตัวเอง “นักปฏิบัติการทางสังคม”

“วันนี้ถ้าเราจะคาดหวัง หรือเราจะวาดหวังการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงของสังคม เราต้องอาศัยความรู้ ต้องอาศัยการสร้างเสริมองค์ความรู้ ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ ต้องอาศัยนวัตกรรมทางสังคม เป็นเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่ว่าการที่จะเปลี่ยนแปลงแบบนั้นได้ เราก็ต้องริเริ่มนโยบายใหม่ ๆ ของการขับเคลื่อนด้วย ในขณะเดียวกันเราต้องแปลงไปสู่การปฏิบัติการที่เป็นจริงในเชิงพื้นที่ด้วย เพราะมองในมองในแง่นี้ ผมน่าจะเป็นนักปฏิบัติการทางสังคมที่เชื้อเชิญผู้คน นักวิชาการ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย คนทำงานภาคประชาสังคม หรือภาคองค์กรชุมชน มาร่วมกันปฏิบัติการและสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็ก ๆ ที่เรายืนอยู่เพื่อไปให้ถึงสิ่งที่เราใฝ่ฝัน เราปรารถนาอยากเห็นสังคมใหม่ ๆ ที่มีความเข้มแข็ง มีความมั่นคงมีความยั่งยืน”

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ อธิการบดีม.ทักษิณ เล่าถึงแผนการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยทักษิณที่จะเป็นพื้นที่ของการเชื่อมต่อความรู้ การสานพลังท้องถิ่น และความเป็นสากลหรือโลกาภิวัฒน์   ในสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังจะมาถึง “โลกหลังโควิด-19 จะเป็นโลกที่ผู้คนโหยหาความเป็นท้องถิ่นมากขึ้น จะเป็นโลกที่คนอยากได้ประสบการณ์ชีวิตใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่ประสบพบเจอมาก่อน เมื่อเป็นแบบนี้ผมคิดว่าภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีความรุ่มรวยทางสังคม และวัฒนธรรมมหาศาล เป็นพื้นที่ที่จะเปิดให้คนได้มาสัมผัส มาเติมเต็มประสบการณ์ชีวิตหรือแสวงหาคุณค่าใหม่ ๆ ที่จะทำให้อยู่ในสังคม ในวิถีใหม่ได้ เพราะฉะนั้นอันนี้คือคือโอกาสที่สำคัญมาก สามารถเป็นคุณค่าใหม่ที่จะเติมเต็มความต้องการ ความคาดหวัง และประสบการณ์ใหม่ ๆ ของผู้คน “

ท้องถิ่นกับบทบาทมหาลัยในการเป็น “ศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อสาธารณะ” : จุดนัดพบของคนทำสื่อสร้างสรรค์

มหาวิทยาลัยทักษิณ เราใช้คำว่า  University of Glocalization  คือคำว่า  Global + Localเราประเมินว่าโลกหลังโควิด ไม่ใช่โลกที่จะเป็นโลกาภิวัตน์อย่างเดียว หรือโฟกัสท้องถิ่นอย่างเดียว แต่จะเป็นโลกที่ Global กับ Local มาพบเจอกันมากขึ้น  เป็นท้องถิ่นสากลยอมรับ เป็นโลกาภิวัตน์ที่ยึดโยงกับความเป็นสังคมท้องถิ่นด้วยระบบคุณค่า การมาเจอกันทำให้เกิดพื้นที่ตรงกลาง ทำให้เกิดนวัตกรรมสังคม ทางเลือกใหม่ๆ ของการเคลื่อนตัวหรือการพลวัต เป็นท้องถิ่นที่มีการปรับปรน เปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับยุคสมัย และสามารถไปตอบสนองต่ออารมณ์หรือรสนิยมความต้องการของผู้คนมากขึ้น

“ทำอย่างไรที่จะทำให้โลกรู้จักภาคใต้ในมุมมองใหม่ จินตนาการใหม่ ในความหมายใหม่ ที่ไม่ได้น่ากลัวเหมือนเมื่อก่อน หรือของดีภาคใต้ไม่ได้มีแค่ยางพารา กับปาล์ม  หรือการพัฒนาภาคใต้จะเป็นแบบไหน  จะเป็นเศรษฐกิจพึ่งตัวเองที่เรารุ่มรวยด้วยเศรษฐกิจพื้นถิ่นที่คนมองไม่เห็นหรือไม่  เราต้องทำให้เกิดมุมมองใหม่ในเรื่องเหล่านี้  ต้องอาศัยการสื่อสารสาธารณะเชิงสร้างสรรค์”

“ผมเห็นด้วยบทบาทการเป็นศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อสาธารณะ (Regional Creative Hub for Public) ด้านการเป็นศูนย์การพัฒนาเนื้อหา การผลิตและศูนย์เรียนรู้สื่อสาธารณะ และในมุมมองผม  วันนี้ผมเห็นหลายๆ หน่วยงาน มีโครงการให้คนหนุ่มสาว ไปเชื่อมผู้ประกอบการในท้องถิ่น และเอากิจกรรมต่างๆ มา  Pitching  hackathon   ในระหว่างทางมี Training  มีกระบวนการ Re-skill, Up-skill มีการแข่งขันระดับภาคจนไปถึงประเทศ”

“เป็นไปได้ไหมที่ทำให้ศูนย์สื่อสร้างสรรค์เพื่อสาธารณะ เรามีการ Pitching  hackathon การสื่อสาร เชิงสร้างสรรค์ ที่ให้คนในมหาวิทยาลัยไปเชื่อมคนท้องถิ่น  หรือสื่ออิสระในท้องถิ่นที่มีอยู่และหนุนไปด้วยกัน  ใครอยากทำอะไรในมิติภาคใต้ใหม่  ในขณะเดียวกันคนที่สนใจก็จะต้องผ่านหลักสูตร NON Degree online การเรียนรู้ออนไลน์ก่อนจะฝึกปฎิบัติการจริงจากมืออาชีพ  ถ้าแบบนี้ทำให้เกิดการเชื่อมต่อและมาเจอกัน  ทำให้ศูนย์สื่อสร้างสรรค์กลายเป็นจุดนัดพบของคนที่ทำสื่อสร้างสรรค์  เป็นจุดนัดพบของคนที่มีเนื้อหาดีๆ แต่ทำสื่อไม่เป็น เป็นจุดนัดพบของคนทำการเทคนิคที่อยากรู้เรื่องเนื้อหา ให้พวกเขามาเจอกันและทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และจินตนาการที่ผมคิด  ปีหนึ่งจะมีงานมหกรรมให้คนทำสื่อสร้างสรรค์ภาคใต้มาเจอกัน  มาช็อป มาแชร์ไอเดีย มาคุยเรื่องทิศทางสื่อภาคใต้ เป็นการยกระดับทางวิชาการเป็นมหกรรมของภาคใต้”

จินตนาการถึงภาคใต้ในความหมายใหม่

“ในความเป็นท้องถิ่นวันนี้ เมื่อดูปรากฏการณ์ในช่วงหลายปีมานี้ ผมคิดว่าท้องถิ่นเองก็สามารถที่จะสร้างสมประสบการณ์ สร้างความเข้มแข็ง สร้างขีดความสามารถในการที่จะยกระดับการจัดการตนเอง ทำให้เป็นกลไกหนึ่งในการที่จะมารองรับหรือว่าไปตอบสนองต่อคุณค่าและประสบการณ์ใหม่ ๆ ของผู้คนที่โหยหาความเป็นท้องถิ่นมากขึ้น”

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ มองว่าภาคใต้ยังมีทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นจุดแข็งสำคัญ ยังมีการเชื่อมโยงกันของระบบนิเวศแบบเขา ป่า นา เล (ภูเขา ป่าไม้ ท้องนา และทะเล) แต่ระบบการศึกษาในปัจจุบันยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ขาดความรู้และความภาคภูมิใจที่จะปกป้องทรัพยากรในบ้านเกิดของตัวเอง

“ภาคใต้เป็นพื้นที่ ที่มีความเชื่อมโยงทางภูมินิเวศเขา ป่า นา เล มีครบแล้ว ไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล เราไปในพื้นที่หนึ่งก็จะเห็นทะเล เห็นภูเขา เห็นแม่น้ำ น้ำตก มีทัศนียภาพที่สวยงาม แต่ว่าส่วนหนึ่งของความงามที่เราพูดกันอยู่นี้ เมื่อมันถูกทำให้หายไป การถูกทำให้หายไปมาจากหลายสาเหตุ เช่นนโยบายการพัฒนาจากส่วนกลางที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลง หรือสร้างการพัฒนาที่อยู่บนฐานคิดหรือกระบวนทัศน์การพัฒนาแบบเดิม เช่นเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรม การมุ่งเน้นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แล้วส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในแง่วิถีชีวิตของผู้คนในสังคม สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไป”

“ในขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ ๆ หรือระบบระบบการสื่อสาร แม้กระทั่งระบบการศึกษาค่อย ๆ ทำให้ลืม ไม่ได้ตระหนักหรือไม่ได้ให้ความสำคัญ ขาดความภาคภูมิใจในความเป็นท้องถิ่น ในความเป็นรากเหง้าของเราเอง เราไปชื่นชมสิ่งที่อยู่ไกลออกไป เรารู้จักต้นไม้พันธุ์พืชทั่วโลก แต่เราถามว่ามีพันธุ์พืชท้องถิ่นอะไรบ้างในบ้านเรา หรือพืชท้องถิ่นเหล่านี้มันมีคุณค่าในเชิงระบบนิเวศอย่างไร เรากลับไม่ได้ถูกปลูกฝังหรือถูกส่งเสริมผ่านระบบการศึกษาเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นนโยบายการพัฒนาจากส่วนกลางที่ไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของคนในพื้นที่หรือเป็นนโยบายการพัฒนาที่เป็นกระบวนทัศน์แบบเดิม”

“ในขณะที่วันนี้เราพูดถึงเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน พูดถึงเรื่อง SDGs แต่ในทางปฏิบัติเรื่องเหล่านี้มันถูกทำให้กลายเป็นเพียงแค่วาทกรรมเชิงนโยบาย มากกว่าเทียบแปลงไปสู่การปฏิบัติการที่เป็นจริง หรืออาจจะมีประเด็นเรื่องความยั่งยืนแต่ก็ไม่ต่อเนื่อง ทีนี้เราจะทำยังไงให้เกิดความยั่งยืนในเชิงนโยบาย มีระบบของการปฏิบัติการที่เป็นจริงและต่อเนื่อง และมีส่วนร่วมของหลาย ๆ ภาคส่วน ภาคชุมชน ภาคท้องถิ่น ภาคประชาสังคมเองก็ตาม เราจะดึงกลุ่มเหล่านี้ เข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร”

“สังเกตดูในหลาย ๆ พื้นที่ ภาคท้องถิ่น ภาคชุมชนหรือภาคองค์กรชุมชนเองก็เข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์ในการดูแลรักษาทรัพยากรหรือสร้างกิจกรรมที่ยั่งยืนในพื้นที่มากขึ้น เพราะเขารู้ว่าถ้าเขามาริเริ่มกิจกรรมในเชิงการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบนี้มันสามารถไปตอบสนองต่อความต้องการของคนทุกคนในชุมชน ในหมู่บ้าน หรือในท้องที่ของเขาได้ เขาก็ลงมือเพราะฉะนั้นอันนี้เราก็ต้องทำให้เห็นว่าในกระบวนการที่ชุมชนท้องถิ่นริเริ่มสร้างกิจกรรมกระบวนการพัฒนา เป็นกิจกรรมและกระบวนการที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ในภาพรวมกับคนทุกคนในพื้นที่ ในท้องถิ่นนั้น ๆ นี่คือจุดที่สำคัญ ที่เราจะค่อย ๆ ลดเรื่องความเหลื่อมล้ำ หรือว่าความไม่เป็นธรรมในสังคม การพัฒนาที่ดี การพัฒนาที่ยั่งยืน หัวใจสำคัญประการหนึ่งคือจะต้องเป็นการพัฒนาที่ผู้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและได้รับผลประโยชน์อย่างเสมอหน้ากันในสังคม”

“วันนี้เราต้องเปิดภาพให้เห็นถึงภาคใต้ในมุมมองใหม่ ในความหมายใหม่ ในประสบการณ์และแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ภาคใต้มีความงดงาม มีสุนทรยศาสตร์ มีสุนทรียภาพ มีความรื่นรมย์อันมากมายมหาศาล ถ้าเราค่อย ๆ คลี่ออกมาแล้วทำให้ผู้คนเห็น ภาคใต้จะเป็นอีกสถานีหนึ่งที่คนอยู่ใกล้และไกลออกไป จะหลั่งไหลกันเข้ามา แล้วก็ได้มีโอกาสสัมผัส ชื่นชมกับคุณค่าคุณค่าที่จะเติมเต็มประสบการณ์ คุณค่าที่จะเติมเต็มความหมายใหม่ให้กับชีวิตให้ความเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นในอนาคต”

แชร์บทความนี้