ช้างทองดำ
กระแสความสนใจใน “พื้นที่กลาง” กำลังเกิดขึ้นและขยายตัวออกไปในวงกว้าง โดยเฉพาะในภาคประชาชนของชุมชนท้องถิ่น ระดับจังหวัดลงไปถึงหมู่บ้าน พื้นที่กลางเริ่มเป็นที่สนใจของหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น และวงวิชาการที่สนใจเรื่องประชาธิปไตยชุมชน การพัฒนาสังคม ฯลฯ และเชื่อว่าหน่วยงานรัฐในราชการส่วนกลางและภูมิภาคเองก็คงจำเป็นต้องหันมาให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างจริงจังในอนาคตที่ไม่ไกลนัก
สิ่งที่ผู้อ่านอาจแปลกใจเล็กๆ อยู่บ้างเมื่ออ่านบทความนี้ไปโดยลำดับก็ตรงที่ “พื้นที่กลาง” ไม่ใข่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยแต่อย่างใด สิ่งนี้เป็นประดิษฐกรรมทางสังคมที่ถูกสร้างสรรค์โดยภูมิปัญญาในการแสวงหาหนทางจัดการสังคมที่มีมาในประวัติศาสตร์ชุมชนหรือสังคมของไทย (และสังคม อื่นๆ ) มาเนิ่นนานแล้ว แต่ทำไมเราไม่ค่อยรู้จักในวงกว้างนักและมีการนำมาขยายผลใช้ประโยชน์ให้มากกว่านี้
เพื่อเชื้อชวนให้ผู้อ่านหันมาสนใจกับพื้นที่กลาง ผู้เขียนขอนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นและแง่มุมชวนคิดบางประการที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการขบคิดหรือทำความเข้าใจต่อไป โดยเฉพาะเกี่ยวกับความหมาย ลักษณะ ประเภท บทบาท การใช้ประโยชน์ ความเป็นมา ทิศทางการพัฒนาต่อไปในบทความสั้นๆ นี้
ในแง่ความหมายนั้น ผู้เขียนขอให้นิยามคำว่า “พื้นที่กลาง”จากการศึกษาข้อมูลทางวิชาการประกอบกับประสบการณ์การขับเคลื่อนพื้นที่กลางว่าหมายถึง “พื้นที่เปิดที่พลเมืองด้วยกันเอง หรือ ของพลเมืองกับภาคส่วนอื่นๆ ใช้ปรึกษาหารือเพื่อร่วมจัดการชุมชน บ้านเมือง หรือพื้นที่ของตนเอง”
ตามความหมายนี้ พื้นที่กลางจึงอาจจัดประเภทในแง่ผู้มีส่วนร่วมเป็น 2 ลักษณะคือ พื้นที่กลางที่มีผู้เข้าร่วมเป็นภาคประชาชนด้วยกันเอง (อาจมีภาควิชาการ สื่อมวลชนฯลฯ เข้าร่วมด้วย) และพื้นที่กลางที่มีภาคประชาชนร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมกัน พื้นทีกลางอาจถูกเรียกว่า “สภาพลเมือง” “สมัชชาพลเมือง” “สภาประชาชน” “สภาเยาวชน” หรือ ชื่ออื่นๆ ก็ได้ เมื่อพิจารณาความหมายที่นำเสนอข้างต้น จะเห็นได้ว่า พื้นที่กลางมีหลักการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy ) ซึ่งพลเมืองที่แข็งขัน (Active Citizen) ของสังคมอาศัยการพูดคุยแลกเปลี่ยน ต่อรองกันด้วยเหตุผลเป็นเครื่องมือสำหรับจัดการประเด็นสาธารณะของชุมชนหรือสังคม และยังมีหลักการประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) ที่สมาชิกของสังคมเป็นผู้แสดงสิทธิของตนในเรื่องที่เกี่ยวพันกับสาธารณะในพื้นที่สาธารณะ (Public Sphere) ด้วยตนเองหรือไม่ผ่านผู้แทนใดๆ นอกจากนี้ พื้นที่กลางยังเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนหรือมีระบบที่เชื่อมโยงไปถึงทุกคนในชุมชนหรือสังคมนั้นๆ ให้มากที่สุด สมาชิกเหล่านั้นต่างสัมพันธ์กันในแนวราบหรือฐานะเสมอกันให้มากที่สุดเพื่อให้สมาชิกสามารถใช้แสดงความคิดเห็น
ข้อมูล ความต้องการ ฯลฯ ได้อย่างอิสระใจและเปิดเผย เพื่อให้ “เหตุผล” สามารถทำงานของมันได้ดีอย่างเพียงพอ เมื่อเป็นแบบนี้ หากพื้นที่กลางนั้นๆ เป็นที่ๆ สมาชิกมีฐานะต่างกันตามกฎหมาย ระบบการเมืองการปกครองหรือระบบเศรษฐกิจ เช่น มีทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชนมาอยู่ร่วมกัน ผู้แทนของทุกภาคส่วนพึงต้องจัดวางฐานะตนเองในพื้นที่กลางให้มีความเสมอภาคให้มากที่สุด เพื่อที่สมาชิกทุกฝ่ายจะสามารถแสดงออกได้อย่างเสมอภาค ปลอดภัย และมีอิสระที่จะแสดงออกอย่างเพียงพอ
หากถามว่า เราต้องมีพื้นที่กลางไปเพื่ออะไร? เราอาจเห็นว่า พื้นที่กลางอาจถูกใช้ไปเพื่อร่วมกันตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ เช่น กำหนดเป้าหมายร่วมกัน แก้ไขปัญหาร่วมกัน แสดงออกต่อโครงการรัฐ ออกแบบผังเมือง ออกกฎกติกาบางอย่าง ฯลฯ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ เช่น การจัดกิจกรรมประเพณีของชุมชน ฯลฯ แต่หากกล่าวอย่างถึงทีสุดแล้ว พื้นที่กลางสามารถเป็นกลไกร่วมของสมาชิกทุกฝ่ายสำหรับตัดสินใจแบ่งสันปันส่วนประโยชน์ต่างๆ และภาระหรือหน้าที่ต่างๆ ให้แก่สมาชิกขุมชนหรือสังคมนั้นๆ ใครคนไหนจะได้ประโยชน์อะไร ต้องรับภาระความเสี่ยงหรือหน้าที่ต่อชุมชนหรือสังคมอย่างไร เป็นเรื่องที่สามารถเกิดจากการพูกคุยแลกเปลี่ยนต่อรองกันอย่างฉันท์มิตรและเสมอภาคในชุมชนหรือสังคมนั้นๆ ได้ ตัวอย่างเช่น หากผังเมืองที่จะเกิดขึ้น จะทำให้พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่พาณิชย์ อุตสาหกรรม หรือพื้นที่พักอาศัย การได้ประโยชน์จะเกิดขึ้นแก่คนบางฝ่าย แต่คนบางฝ่ายอาจต้องได้รับผลกระทบจากความแออัด มลภาวะ ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ หากมีกลไกพื้นกลางที่ดีและทำหน้าที่ได้ดี จะทำให้การแบ่งสันปันส่วนประโยชน์และภาระเกิดขึ้นได้ผลดีไปด้วย
ผู้เขียนขอย้อนไปกล่าวถึงความเป็นของพื้นที่กลางสักเล็กน้อยเพื่อให้เห็นว่า พื้นที่กลางไม่ใช่ “ของใหม่” ที่สังคมไทยเราไม่คุ้นเคย กลไกพื้นที่กลางเป็นสิ่งที่มีมานานและสามารถสืบสาวไปพบเจอได้ไม่น้อยในอดีต เราสามารถพบได้ว่า ในอดีตราว 50 ปีย้อนหลังขึ้นไป การสรรหาผู้ใหญ่บ้านของหลายหมู่บ้านในเขตอำเภอสอง จังหวัดแพร่ ชาวบ้านไม่ได้อาศัยการออกเสียงเลือกตั้งเลือกผู้ใหญ่บ้าน แต่ใช้การปรึกษาหารือกันเองจนได้ฉันทามติว่าควรจะขอให้ใครที่ได้รับการยอมรับและเคารพนับถือขึ้นมาเป็น แล้วยกพวกไปร้องขอให้รับตำแหน่ง
หรือหากจะย้อนยาวไปถึงศึกษาระบบการจัดการชลประทานโบราณของภาคเหนือ เราก็จะพบระบบการจัดสรรน้ำธรรมชาติจากที่สูงสู่ที่ราบที่เกิดจากการปรึกษาหารือในบรรดาสมาชิกผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลายเพื่อวางกฎเกณฑ์ร่วมกัน ตัดสินใจแก้ไขปัญหารวมกัน ฯลฯ ไปจนถึงสรรหาผู้นำที่มีคุณธรรมสูงมาทำหน้าที่รักษาระบบการจัดการหรือปฏิบัติตามกติกาเหล่านั้น ( เรียกว่า “แก่ฝาย”) หรือผู้ซึ่งทำหน้าที่จัดสรรปันส่วนน้ำเข้าสู่แปลงนาของสมาชิกและกำกับดูแลการร่วมกันออกแรงรับผิดชอบซ่อมแซมดูแลระบบเหมืองฝ่ายของสมาชิก “แก่เหมือง” ต่างใช้วิธีการปรึกษาหารือกันระหว่างสมาชิกในชุมชนจนได้ฉันทามติ ระบบการจัดการเหมืองฝ่ายหรือจัดการทรัพยากรแบบนี้มีหลักฐานชัดเจนว่ามีมานานในชุมชนโบราณของล้านนาโดยแม้แต่ “มังรายศาสตร์” กฎหมายที่ตราโดยพญามังรายมหาราชก็ได้วางกฎเกณฑ์เรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน
ระบบการจัดการชุมชนหรือบ้านเมืองโดยใช้พื้นที่กลางยังมีอีกมากมายในทุกภูมิภาคของสังคมไทย การจัดการป่าของชุมชน แม่น้ำ ลำคลอง วัดวาอาราม วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ฯลฯ ต่างอาศัยพื้นที่กลางเป็นพื้นที่จัดการอยู่มากซึ่งผู้อ่านน่าจะพอเห็นภาพได้ง่ายขึ้นเมื่อกล่าวถึงตัวอย่างเหล่านี้ ข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่ง ที่ควรกล่าวถึงก็คือ ระบบการจัดการโดยพื้นที่ของของชุมชนเช่นนี้ มักจะเดินคู่เคียงกันมากับกฎหมายของชุมชนท้องถิ่นที่เราเรียกว่า “จารีตประเพณีของท้องถิ่น” ซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิบัติซ้ำๆ เป็นเวลานานจนกลายเป็นกฎเกณฑ์ที่คนในชุมชนรู้สึกมีพันธะต่อกันและกันและต่อชุมชนว่าต้องปฏิบัติตาม จารีตประเพณีของท้องถิ่นเหล่านี้ อาจเกิดโดยผลของการปรึกษาหารือสร้างกติกาหรือหลักปฏิบัติบางอย่างขึ้นในพื้นที่กลางแล้วนำกติกานั้นไปบังคับใช้และเมื่อใช้นานๆ เข้าก็กลายเป็นกฎหมายจารีตประเพณีของท้องถิ่นที่เกิดจากความตกลงทางสังคม ( แต่แน่นอนว่ามีจารีตประเพณีของท้องถิ่นจำนวนมากที่เกิดขึ้นโดยที่พื้นที่ทางไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด )
ส่วนประเด็นที่ว่า พื้นที่กลางจะมีอนาคตอย่างไรต่อไปในสังคมไทย ? นั้น ท่านผู้อ่านอาจสังเกตได้ว่า สังคมไทยได้หันมาให้ความสนใจต่อการสถาปนาพื้นที่กลางที่มีลักษณะเป็น “สถาบัน” ที่มีความเป็นทางการ มีความต่อเนื่อง มีกิจกรรมสาธารณะเป็นกิจธุระในการจัดการกันมากขึ้นในช่วงหลังรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา เช่น แนวคิดจังหวัดจัดการตนเองได้เสนอให้มีสภาพลเมืองขึ้นในทุกท้องถิ่นโดยเป็นองค์กรที่สามเพิ่มจากผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น (ซึ่งกระแสความตื่นตัวเรื่องนี้ทำให้เกิดการก่อตั้งสภาพลเมืองขึ้นในจังหวัดต่างๆ ไม่น้อยกว่า 46 แห่งในช่วงก่อนการรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 ) และในร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับ 2557 (ฉบับ ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณเป็นประธานคณะกรรมการยกร่าง) ก็ได้กำหนดให้มีสมัชชาพลเมืองในท้องถิ่นทุกแห่ง หรือในหลายชุมชนหรือพื้นที่ระดับจังหวัด ตำบลหรือภูมินิเวศจำนวนมากได้ขับเคลื่อนพื้นที่กลางของตนเองมาแล้วในชื่อต่างๆ เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่มีขบวนสภาพลเมืองเชียงใหม่และสภาลมหายใจเชียงใหม่ จังหวัดพังงามีสมัชชาของประชาคมพังงาแห่งความสุข จังหวัดสตูลมีขบวนสตูลรักจัง จังหวัดพัทลุงมีขบวนประชาสังคมร่วมจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นโดยการสนับสนุนของอบจ.พัทลุง ภาคใต้มีสภาประชาชนภาคใต้ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายจังหวัดที่ได้ริเริ่มก่อรูปพื้นที่กลางอยู่ เช่น ที่จังหวัดเชียงรายกำลังมีขบวนสมัชชาเชียงรายล้านนาแห่งความสุข จังหวัดแพร่มีขบวนแพร่มูฟ (Phraemove) ในขณะที่ภาคประชาสังคมจังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็กำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ เป็นต้น
กระแสความตื่นตัวสร้างพื้นที่กลางที่กำลังขยายตัวไปอย่างช้าๆ ในหลายจังหวัดหรือพื้นที่เช่นนี้ ผู้เขียนคาดว่าจะเป็นกระแสการเคลื่อนตัวของขบวนความเคลื่อนไหวทางสังคมที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับโครงสร้างในอนาคต เพราะประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่ผู้เขียนได้ศึกษาและหลายพื้นที่ได้ร่วมขับเคลื่อนปฏิบัติการสร้างพื้นที่กลางล้วนผ่านประสบการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาของการบริหารจัดการโดยอำนาจรวมศูนย์กลางเข้มข้นของภาครัฐ จนภาคประชาชนสรุปบทเรียนได้ว่า การจัดการบ้านเมืองในแนวราบโดยอาศัยพลังการรวมตัวสร้างพื้นที่กลางขึ้นมาจัดการตนเอง หรือมีส่วนร่วมในการจัดการบ้านเมืองร่วมกับภาครัฐ และภาคส่วนอื่นๆ นั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เสียแล้วภายใต้โครงสร้างอำนาจในสังคมในปัจจุบัน และบทเรียนเช่นนี้ที่ได้รับสะสมซ้ำแล้วซ้ำอีกมาอย่างยาวนาน ทำให้ภาคประชาขนในพื้นที่เหล่านี้ตื่นตัวที่จะก่อรูปและพัฒนาขบวนพื้นที่กลางกันอย่างเอาจริงเอาจังแม้ปกติจะมีความยากลำบากมากบ้างน้อยบ้างตามแต่บริบทของพื้นที่อยู่ก็ตาม.