สำรวจสะพานชีวิตที่แม่สอด ในวันที่ชายแดนไม่เงียบ

ภาพ เอก เกียรติศักดิ์ แม่สอด

“มุมน่ารัก ครอบครัวชาวบ้านฝั่งเมียวดี ประเทศเมียนมา เดินพาครอบครัวชมวิวแม่สอด-เมียวดี บนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 หลังสถานการณ์ในตัวเมืองเมียวดีเงียบสงบ วันนี้ด่านพรมแดนถาวรแม่สอด 1 ด่านเปิดปกติคนไทยข้ามได้ครับ”

โพสต์เฟสบุ๊คเช้าวันที่ 26 พฤษภาคม 2567  ของคุณเอก เกียรติศักดิ์ แม่สอด..  รายงานสถานการณ์วันแรกของการเปิดด่านพรมแดนแม่สอดหลังจากปิดมากว่าสัปดาห์   ก่อนหน้านี้ หน้าเฟสบุ๊คของเขารายงานความเคลื่อนไหวผลกระทบและสถานการณ์สู้รบของทหารเมียนมากับกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา อย่างต่อเนื่อง

“สะพานมิตรภาพชายแดนไทย -เมียนมาร์”   เป็นสะพานที่ทอดข้ามส่งต่อ “ชีวิต”  และ “เศรษฐกิจ” ของภาคเหนือ เนื่องจากพื้นที่ “แม่สอด” เมืองชายขอบริมแม่น้ำเมย ที่จุดเชื่อมต่อของผู้คนจากหลายชาติพันธุ์จากประเทศเมียนมาที่ดิ้นรนหาโอกาส และความปลอดภัยในชีวิต  ที่นี่ เป็นจุดส่งออกแรงงานข้ามชาติป้อนตลาดแรงงานทั้งในแม่สอดและกระจายไปที่ต่างๆ ทั่วไป และยัง   จุดส่งสินค้าส่งออกสำคัญของไทยอันดับต้นๆ สร้างมูลค่าต่อปีหลายหมื่นล้าน แต่สถานการณ์ก็วูบลดไปทันทีเมื่อเสียงปืนดัง    

กว่า  6 เดือนนับตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ริมชายแดน ไทย-เมียนมา ระหว่างอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับจังหวัดเมียวดีที่มีลำน้ำเมยกั้น  เสียงปืน ระเบิดจากการปะทะสู้รบของทหารเมียนมา และกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ยื้อแย่งชิงอำนาจการดูแลพื้นที่อย่างต่อเนื่อง  โดยล่าสุดมีรายงานว่า กะเหรี่ยงเคเอ็นยู (KNU) และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) ได้ถอยร่นโดยให้เหตุผลว่าลดความสูญเสียของผู้คน  

เราได้เห็นภาพการหาทางให้ชีวิตรอด บางคนข้ามสะพาน ข้ามน้ำ นั่งเรือ หลบภัยสงครามจากฝั่งจังหวัดเมียวดี มาในเมืองแม่สอด จังหวัดตาก   โดยอำเภอแม่สอดได้กำหนดจุดรองรับไว้ 4 จุด คือ วัดอัมราวดี วัดท่าอาจ วัดท่าสายโทรเลข และที่วัดไทยวัฒนาราม ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม

ตลาดในอำเภอแม่สอด ซบเซาอย่างเห็นได้ใช้ จากการสู้รบ ภาพโดย อดิศรา ดารากุลรัศมี นักสื่อสารพลเมืองแม่สอด

ชีวิตที่ไม่ปกติสุข…ยาวนาน

เจแปน อดิศรา ดารากุลรัศมี ชาวแม่สอด จังหวัดตากซึ่งร่วมสื่อสารในฐานะนักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส  เล่าสถานการณ์ในพื้นที่ว่า การสู้รบใกล้บ้านเราบริเวณ เขตชายแดนไทยเมียนมาเป็นการสู้รบระหว่างชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและทหารเมียนมามาอย่างยาวนานมาก คนในพื้นที่อยู่ด้วยความเคยชิน แต่ก็เป็นความเคยชินที่แฝงไปด้วยความวิตกกังวล  เนื่องจากการสู้รบในระยะหลังจะปะทะกันต่อเนื่อง  เช่น ที่ผ่านมาปะทะกัน 7 วันต่อเนื่องช่วงสิ้นปี  บางช่วงสู้รบกันตั้งแต่เช้าจรดเย็น  นานสุดอยู่ที่4-6 ชั่วโมง  แต่บางวันสถานการณ์ชายแดนก็เงียบแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น สงบปกติ  

ภาพ นักสื่อสารพลเมือง อดิศรา ดารากุลรัศมี แม่สอด จ.ตาก

คนในพื้นที่ก็อยู่โดยการคาดเดาไม่ได้ว่าวันดีคืนดี จะมีเสียงปะทะ หรือมีลูกหลงมาที่บ้านหรือไม่ แต่โดยส่วนมากแล้ว ช่วงเวลาที่จะมีการประทะกัน หรือมีเสียงระเบิดเสียงปืน จะเป็นช่วงประมาณหัวค่ำ ถึง 5 ทุ่ม หรือ เที่ยงคืน ซึ่งมันเป็นช่วงที่ชาวบ้านกำลังเข้านอนหรืออาจจะกำลังนอนไปแล้วสักพัก ก็ต้องสะดุ้งตื่น มีผลกระทบกับเรื่องของสุขภาพจิตของคนที่นี่

  

ภาพโดย อดิศรา ดารากุลรัศมี กสื่อสารพลเมือง แม่สอด จ.ตาก

“การใช้ชีวิตปกติหรือไม่ ถ้าปกติคือ 100% ปัจจุบันขอลดเหลือเพียง 60%  เพราะปกติช่วงเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลออกพรรษา คนฝั่งเมียนมาจะข้ามสะพานมาซื้อสินค้าการเกษตร สินค้าในการดำรงชีวิตต่าง ๆ เยอะมาก  ยิ่งหลังช่วงโควิดแล้วคนยิ่งจะเยอะมาก แต่ตั้งแต่สถานการณ์สู้รบเริ่มไม่สู้ดีมาปีกว่า เศรษฐกิจของแม่สอดลดลงไปมาก โดยเฉพาะตลาดพลอย สังเกตุเห็นได้ชัดว่าไม่มีการซื้อขาย ส่วนใหญ่คนเมียนมาจะเข้ามาซื้อสินค้า ผลไม้ ผัก น้ำดื่มจากไทยลดน้อยลง รายได้ของคนในพื้นที่ก็ลดน้อยลง พ่อค้าแม่ขายจากที่เคยแน่นในตลาดมันเบาบางลงไปจริง ๆ  การเดินทางข้ามฝั่งไปค้าขายยังคงมีอยู่ จะมีท่าส่งสินค้า คือท่า16 18 19 20 ที่ยังเปิดปกติ และมีท่าจามจุรี ท่าทรายรุจิรา ที่เปิดเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวให้กับผู้ที่ลี้ภัยทางสงครามด้วย  

เพียงแต่ผู้ประกอบการรายย่อยและเอกชนมีความกังวลผลกระทบสืบเนื่อง เพราะสภาพที่ฝั่งเมียวดี  เมื่อเกิดสงครามก็มีปัญหาในการใช้ชีวิต ประชาชนไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้ตามปกติ มิหนำซ้ำบางคนไม่มีบ้านอยู่เพราะโดยถล่มพังไปแล้ว 

ภายในศูนย์พักพิง ภาพโดย อดิศรา ดารากุลรัศมี นักสื่อสารพลเมือง แม่สอด จ.ตาก

“เมื่อเกิดสถานการณ์รุนแรงใกล้พื้นที่อยู่อาศัย  ชาวบ้านหรือผู้คนในอำเภอแม่สอดทราบข่าวว่ามีผู้อพยพลี้ภัยจากสงครามเข้ามา ก็ให้ความช่วยเหลือบริจาค น้ำดื่ม ข้าวสาร ข้าวกล่อง นม สินค้าอาหารแห้ง สิ่งของจำเป็นให้กับผู้ที่ประสบภัยค่อนข้างเยอะ ราชการเป็นหน่วยงานประสาน คือ ที่ว่าการอำเภอแม่สอดจังหวัดตาก  ซึ่งในปัจจุบันยังเพียงพอต่อความต้องการของผู้ลี้ภัย และทางมูลนิธิต่าง ๆ ผู้ประกอบการเอกชน รายเล็ก รายใหญ่ในจังหวัด และนอกพื้นที่ที่ทราบข่าวมีการโอนเงินบริจาคเข้าบัญชีของกิ่งกาชาดอำเภอแม่สอด”

ทางกองทัพอากาศ นำเครื่องบินรบ f16 บินมาเพื่อดูแลประชาชนในน่านฟ้าประเทศไทย ซึ่งคนในพื้นที่ยังมองอยู่ว่าทางภาครัฐดูแลและปกป้องเขตแนวในพื้นที่ประเทศไทยเข้มงวดเป็นอย่างดีอยู่ ซึ่งรวมไปถึงภาคพื้นดินมีทั้งทหาร ฉก.ราชมนู คอยประจำจุดต่าง ๆ ที่เป็นจุดเสี่ยงภัย แต่อย่างที่รู้ว่าเฉพาะแนวตะเข็บชายแดนของอำเภอแม่สอดค่อนข้างกว้างหลายร้อยกิโลเมตร

สภาพจิตผู้สูงวัยย่ำแย่ 

แจแปนเล่าว่า เขาได้ไปพูดคุยถึงสภาพจิตใจของ  ผู้สูงอายุ ผู้เฒ่า ผู้แก่ ที่อยู่กับสถานการณ์ชายแดนลักษณะนี้ แม้จะอยู่กับมันมาครึ่งค่อนชีวิต แต่เนื่องจากสูงวัยขึ้น  บางท่านก็จะมีความตื่นตกใจ เพราะเสียงระเบิดและการปะทะดัง  และรู้สึกกังวลใจ ม่าสบายใจตามมา  อย่างชาวบ้านบริเวณบ้านหนองตะเคียน ที่มีกระสุนพลัดตกลงมาในชุมชน ซึ่งจุดนั้นเป็นพื้นที่ทับซ้อน ของแผ่นดินระหว่างไทยกับเมียนมาร์สลับ ซับซ้อน เป็นฟันปลา จึงทำให้การสู้รบ อาจมีล้ำพื้นที่ของดินแดนฝั่งไทยมาบ้าง

“ช่วงที่เขายิงกันทุกวัน  กลัวมากเลยนะ กลัวลูกหลง ตอนจะนอนก็หลับไม่ได้  จะงีบหลับได้สักพักหนึ่งก็ได้ยินเสียง  พรุ่งนี้ต้องทำงานแต่เช้า” เสียงสะท้อนจากชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งตรงนี้มองว่ามันมีผลกระทบด้านสุขภาพจิตเพราะปัญหายาวนานและไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่

สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่ม Face book ที่คนแม่สอดใช้ในการสื่อสารในพื้นที่ เช่น กลุ่ม นครแม่สอด ชายแดนแม่สอด จะมีการติดตามข่าวสาร สอบถามสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่อง  ไม่เฉพาะแต่สถานการณ์สู้รบ แต่จะมีทั้งภัยพิบัติต่างๆ เช่น ฝนตกหนัก ดินสไลด์ ฝุ่น PM 2.5   แม้กระทั่งเช้านี้ใครได้ยินเสียงระเบิดบ้างก็มีการตั้งโพสต์ถามกันในกลุ่ม มีการตอบคอมเม้นต์อยู่ตรงจุดไหน สถานการณ์เป็นอย่างไร  ยิ่งถ้าเกิดสถานการณ์จะรีเชคกันมาก แบบนี้คือความวิตกกังวลหรือไม่ ? แน่นอนว่าทุกคนวิตกกังวลอยู่แล้ว คิดแล้วก็ เอ็นดู สงสารขนาดเรายังนอนไม่ได้ในบางครั้ง แล้วชาวบ้านหรือคนที่อยู่ในพื้นที่ฝั่งเมียวดีจะเป็นอย่างไร

ถามว่าคนในพื้นที่อยากจะให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือหรือเยียวยาอย่างไร ? 

แน่นอนว่าอยากให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือนักจิตวิทยาเข้ามาหากลุ่มคนในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ติดพื้นที่ตะเข็บชายแดนชุมชนชายขอบ แม้อำเภอแม่สอดจะไม่ได้รับผลกระทบทางกายภาพก็จริง แต่เราอยู่ใกล้ มันเป็นผลกระทบทางจิตใจ ควรที่จะมีศูนย์ซักอย่างนึงที่คอยเข้ามาพูดคุยเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับคนในพื้นที่  

ด่านการค้าสำคัญกระทบ

ด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก ถือเป็นหนึ่งในด่านชายแดนสำคัญของประเทศไทยในการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากเมียนมา ตัวเลขการส่งออกด่านแม่สอด จ.ตาก (1 ตุลาคม 2565 –  31 มีนาคม 2567) ยอดส่งออก 42,047,434,201.27 ล้านบาท น้ำมันดีเซล ขึ้นแท่นอันดับ 1 ตามมาด้วย โทรศัพท์และอุปกรณ์  น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ผสม และอื่น ๆ ตามลำดับ

ส่วนของด้านยอดนำเข้า 3,884,616,707.97 ล้านบาท แร่พลวง (คลังทัณฑ์บน) คืออันดับหนึ่งในการนำเข้า รองลงมาด้วยพริกแห้ง (FORM D) รองลงมาคือพลวงที่ไม่ได้ขึ้นรูป (Free Zone) รองลงมาเศษอลูมิเนียมเก่า และอื่น ๆ

ปัญหาการขนถ่ายสินค้ามีปัญหาเฉพาะช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่สะพานบนเส้นทางสายเชียง 1 ถูกระเบิด ก็ทำให้ตัวเลขการค้าน้อยลงไป ในส่วนของตัวเลขนำเข้าในช่วงที่ผ่านมา อย่างการนำเข้าข้าวโพด วัวควาย ไม่ได้นำเข้ามาไม่มากจึงทำให้ตัวเลขน้อยลงไปบ้าง

บรรพต ก่อเกียติเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก เล่าว่า การปะทะกันในพื้นที่สะพานแห่งที่ 2 ทำให้การขนถ่ายสินค้าได้รับผลกระทบ  ปัจจุบันสะพานไม่ได้ปิดทั้งแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 เพียงแต่ว่าฝั่งเมียนมาอาจไม่สะดวกเรื่องที่จะให้คนข้ามมา

การสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับฝ่ายต่อต้านซึ่งมีกะเหรี่ยงเคเอ็นยู (KNU) และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) มีมานานแล้ว ตนเองเกิดและเติบโตที่นี่เจอกับเหตุการณ์นี้มาเป็น ระยะ ๆ ยิ่งในช่วงหน้าแล้งจะมีการกระทบกระทั่งกัน แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนก่อน เพราะครั้งนี้การสู้รบเข้ามาในเขตเมือง ซึ่งสาเหตุมาจากกลุ่มฝ่ายต่อต้านเป็นประชาชนชาวเมียนมาด้วย ซึ่งเมื่อก่อนเป็นการสู้รบระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการสิทธิที่จะปกครองตนเอง หลังจากรัฐบาลมินอ่องหลายขึ้นมาแล้ว ประชาชนเมียนมาก็มีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย ออกมาประท้วงและเข้ามาอยู่กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

“ต้องยอมรับว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา หลังจากเมียนมามีรัฐบาล ซูจี ซึ่งเป็นที่ยอมรับ ที่แม่สอดเมียวดีทางด้านการค้าไปมาสะดวกโดยเฉพาะเส้นทางจากเมียวดีถึงอ่าวกุ๊กกิ๊กที่ทางไทยไปทำให้เปิดใช้เมื่อประมาณ ปลายปี 2557 -2558 เส้นทางคมนาคมเส้นนี้เป็นเส้นเอเชีย 1 AS1 เดิมทีตัดขึ้นบนภูเขาตะนาวหน้า แต่เส้นใหม่ตัดลงมาเป็นพื้นที่ที่สามารถวิ่งได้ทุกเวลาซึ่งสมัยก่อน แต่ในช่วง 2557-2558 หลังจากเรามีถนนเอเชีย 1 ใหม่เราสามารถไปมาหาสู่กันได้ทุกวัน และตัวเลขการค้าผ่านแดนแม่สอดเพิ่มปีละแสนล้าน”

ก่อนหน้านั้นเรามีค่ายผู้อพยพ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีอยู่ที่ อ.อุ้มผางและอ.ท่าสองยาง คนที่แม่สอดส่วนหนึ่ง ที่ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์นี้อาจจะมีส่วนหนึ่งที่ตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ส่วนนึงที่เคยอยู่ที่นี่มานานเข้าใจได้ แต่อย่างไรพอมีมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นส่งผลกระทบในทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องของการค้าหรือเรื่องของการท่องเที่ยว 

หลังจากถนนเส้นเอเชีย 1 เดินทางสะดวกมีสะพานแห่งที่สองและสะพานแห่งที่ 1 คนเมียนมา คนย่างกุ้ง มันฑะเลย์หรือเมาะละแหม่ง เป็นนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่แม่สอดมาจับจ่ายใช้สอยหรือการใช้ชีวิตห้างสรรพสินค้าที่แม่สอดขายดีเพราะมีคนเมียนมาร์เข้ามาจับจ่ายใช้สอยรวมถึงเศรษฐกิจแม่สอดที่เป็นด้านการท่องเที่ยวของคนเมียนมาด้วย ไม่ใช่แค่เฉพาะ คนจากเมืองฉันในของประเทศไทย ซึ่งคนเมียนมาเหล่านี้มาเที่ยว จับจ่ายใช้สอย เที่ยวกันที่แม่สอด เรามี border pass ข้ามแดน ได้ 7 วันและเราก็ไปอยู่ที่เมียวดีได้ 7 วัน แต่เนื่องจากเมียวดีไม่มีความปลอดภัย ถ้าทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติการไปมาหาสู่ของทั้ง 2 ฝั่ง ก็จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี และเชื่อว่าในเมียนมาร์หากไม่มีปัญหาสงครามจะมีคนเมียนมาร์มาเที่ยวที่แม่สอดเยอะเห็นได้จากหลังจาก โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาแต่น่าเสียดายที่มีเหตุการณ์สู้รบเกิดขึ้นส่งผลกระทบทางด้านการค้าการท่องเที่ยวไปโดยปริยาย

ด่านชายแดนแม่สอด ภาพ : ประชาสัมพันธ์จังหวัดตาก

สะพานมิตรภาพไทย เมียนมา แห่งที่ 2 ใช้ทั้งสินค้าผ่านแดนและสินค้าข้ามแดน สินค้าข้ามแดนคือสินค้าที่ของไทยเราข้ามแดนส่งไปยังประเทศเมียนมา สินค้าผ่านแดนคือสินค้าที่มาจากประเทศที่สาม ตรงนี้อาจจะได้รับผลกระทบเพราะเนื่องจากสะพานแห่งที่สองปิด แต่เนื่องจากสินค้าข้ามแดนหรือสินค้าผ่านแดนของเรายังมีท่าเรือข้ามฝากซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถที่จะขนถ่ายสินค้าได้ และใช้ท่าเรือธรรมชาติในการขนถ่ายสินค้า เพราะฉะนั้นการค้าชายแดน ในส่วนที่สามารถที่จะข้ามไปฝั่งตรงข้าม และผู้ประกอบการฝั่งเมียนมาสามารถที่จะขนเข้าไปยังเมืองชั้นไหนได้เนื่องจากว่ามีการตัดถนนเส้นใหม่ ที่อำนวยความสะดวก แต่เมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้ระเบิดสะพานก็ได้รับผลกระทบไประยะหนึ่งตัวเลขก็หายไปเกือบ 50%

ปัจจุบันด่านข้ามแดนยังเปิดให้ไปมาระหว่างประเทศได้แต่เนื่องจากว่าผู้ประกอบการเองไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยด้วย เพราะข้ามไปแล้วอาจมีปัญหาซึ่งมีการสู้รบกันในพื้นที่นั้น ซึ่งช่วงนี้ก็จะยุตติการข้ามไปข้ามมาไปก่อน ซึ่ง ประเมินสถานการณ์จากนี้ไปจะมีเหตุการณ์อะไรที่จะรุนแรงขึ้นหรือไม่ ซึ่งการประเมิณสถานการณ์จะดูท่าทีจากข้อมูลหลายฝ่ายเชื่อว่าอาจจะมีการประทะกันในรอบใหม่ในใกล้นี้ ซึ่งเท่าที่ทราบข้อมูลมาฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมาเองก็ไม่ยอมที่จะเสียเมียวดีไป

4 ข้อห่วงใยจากภาคธุรกิจแม่สอด

เส้นทางเอเชีย 1 เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงการค้าไม่ได้เฉพาะของไทยเรารวมถึงประเทศอื่น ๆ ประเทศอาเซียนใช้เส้นทางนี้ในการขนถ่ายสินค้าออกไปเมียนมาเช่นเดียวกัน ซึ่งหากเส้นทางนี้ใช้การไม่ได้จะส่งผลกระทบไปหลายฝ่ายด้วยกัน ซึ่งคิดว่าในเรื่องที่ฝ่ายภาครัฐเองต้องเข้ามาดูว่าเราจะเข้าไปมีส่วนในการแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร

“ในส่วนหอการค้าจังหวัดตาก เนื่องจากว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นเร่งด่วน  เราได้พูดคุยหารือกัน มีปัญหาบางส่วนเร่งด่วนที่หอการค้าเพิ่งทราบอย่างเช่น 1.รถขนส่งของไทยที่ไปตกค้างอยู่ฝั่งเมียนมา หลาย 100 คัน ข้อมูลนี้ มีการแจ้งให้หอการค้าช่วยประสานเพื่อจะให้นำกลับมายังประเทศไทย 2.เรื่องของสินค้าส่งออกเนื่องจากว่า ตอนนี้เส้นทาง As1 ต้นทุนในการขนถ่ายสินค้าค่อนข้างแพงหลังจากสะพานจุดที่หนึ่งพังเสียหายซึ่งตรงนี้ถ้าเราสามารถเจรจาคุยกับหลายฝ่ายและสามารถไปซ่อมสะพานตรงนี้ได้จะทำให้การขนถ่ายสินค้าตรงนี้สะดวกขึ้น”

บรรพตกล่าวด้วยว่า 3. ควรจะทำพื้นที่เป็นที่พักสินค้าของฝั่งไทย เช่น รถบรรทุกสินค้าที่วิ่งเข้ามายังไทยอาจจะมีพื้นที่เป็นเซฟโซนที่จะให้รถเข้าไปจอดได้ และรอที่จะขนถ่ายข้ามแดนเป็นพื้นที่น่าจะอำนวยความสะดวกให้กับสินค้าผ่านแดนได้ด้วย ซึ่งสะพานแห่งที่สองมีพื้นที่ของที่ราชพัสดุและที่ของกรมธนารักษ์ ฝั่งหนึ่ง 1200 ไร่และอีกฝั่งนึงประมาณ 800 ไร่ พี่จะมาช่วยบรรเทาในเบื้องต้นไว้ก่อนหากปัญหาเหล่านี้ได้รับการพิจารณาและแก้ไข

ส่วน 4  ถนนเอเชีย 1  รัฐบาลไทยควรที่จะไปคุยและเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้แต่ละฝ่ายมาคุยกัน ไปทำเป็นถนนเส้นมนุษยธรรมถนนด้านการค้า ทุกฝ่ายรัฐบาลไทยเข้าไปมีส่วนร่วมที่จะให้มีการคุยกัน ก็จะเป็นถนนที่เป็นเซฟโซนอย่างนึงละทุกฝ่ายน่าจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

ปัจจุบันนี้ไม่ได้มีเฉพาะรัฐบาลเมียนมา มีกลุ่มชาติพันธ์และคนไทยเราในจุดที่มีสถานที่การทำงานของทุนจีนในพื้นที่ ทุนจีนเข้ามาลงทุนตลอดแนวชายแดนเป็นหมื่นล้าน ซึ่งทุนจีนเหล่านี้บางส่วนก็เป็นทุนจีนสีเทาทำธุรกิจคาสิโนเพราะฉะนั้นในพื้นที่ตรงนี้ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มชาติติพันธ์และกลุ่มรัฐบาลเมียนมา และมีคนจีนมาอยู่ด้วยซึ่งตรงนี้เราต้องติดตามว่าการบริหารสิ่งเหล่านี้จะดำเนินอย่างไรต่อไปเพราะตัวเล่นที่มีเพิ่มขึ้น  ต้องดูท่าทีของรัฐบาลจีนจะมองอย่างไรจะดำเนินนโยบายระหว่างประเทศอย่างไรซึ่งตรงนี้คิดว่าเป็นภาระที่ทางรัฐบาลไทยควรที่จะเข้ามาดูด้วยแล้วจะดำเนินการตรงนี้อย่างไรต่อไป

ในพื้นที่หลายฝ่ายพยายามเจรจาตั้งแต่ก่อนที่จะมีปัญหา ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ยังคุยกันยังไม่ค่อยเข้าใจในแบบที่ควรจะเข้าใจ ซึ่งตรงนี้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายและกลุ่มประเทศอาเซียนหรือประเทศมหาอำนาจอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเช่นจีนหรืออเมริกาจะเข้ามาช่วยในการแก้ไข เพราะจะเห็นได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกระทบกับเราโดยตรงทั้งผู้อพยพเองหรือการขนถ่ายสินค้าจากประเทศไทยเข้าไปยังประเทศเมียนมา

 การให้ฝ่ายต่าง ๆ มีเวทีที่จะคุยกันได้ก่อนซึ่งมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้าไปมีส่วนในการที่จะให้มีการพูดคุยกันในเบื้องต้น และให้แต่ละฝ่ายเป็นคณะกรรมการร่วมที่จะดูแลในเรื่องเส้นทางมนุษยธรรม หรือในเรื่องการขนส่งสินค้า ในเส้นทางสายเอเชียวันเป็นเส้นทางที่สะดวกที่สุดอยู่แล้วในการส่ง ทั้งความช่วยเหลือด้านการค้าเศรษฐกิจซึ่งตรงนี้เป็นผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่จะได้ร่วมกัน.

บริเวณชายแดน ไทย เมียนมา ที่อำเภอแม่สอด และเมืองเมียวดี กราฟฟิก ข่าว ThaiPBS

รู้จักแม่สอดมากขึ้น ผ่านรายการ The North องศาเหนือ ปรับทิศเศรษฐกิจแม่สอด   พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการค้าชายแดน กลุ่มธุรกิจท้องถิ่นที่นั้นมีความพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการค้า ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

แชร์บทความนี้