ตลาดนำการผลิต : โอกาสทางเศรษฐกิจของพืชหลังนากับการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดศรีสะเกษ

โมเดล “แก้ปัญหาความยากจนด้วยการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับพืชสมุนไพรมูลค่าสูง จังหวัดศรีสะเกษ” กำลังสร้างความหวังใหม่ให้กับคนจนในพื้นที่ ด้วยแนวทาง “Pro-poor Value Chain” ที่เน้นการมีส่วนร่วมของคนจนในห่วงโซ่มูลค่าอย่างแท้จริง โดยครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองแก้ว, ตำบลจาน, และตำบลตะดอบ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยยกระดับการผลิตและแปรรูปถั่วเหลือง พร้อมสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่หลังฤดูข้าว เพื่อช่วยลดความยากจนและเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนยากจนอย่างยั่งยืน อีกทั้งเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของพื้นที่และภาคีเครือข่ายระดับครัวเรือนยากจน ชุมชน ท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด และประเทศ

Pro-poor Value Chain : พัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้คนจนมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่มูลค่า

แนวทางที่เน้นการสร้างคุณค่าให้กับคนจน (Pro-poor) ไม่ใช่แค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการเพิ่มรายได้เท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้คนจนมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่มูลค่า โดยโมเดล “แก้ปัญหาความยากจนด้วยการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับพืชสมุนไพรมูลค่าสูง จังหวัดศรีสะเกษ” ภายใต้โครงการวิจัยที่เน้นการผลิตแบบ “Pro-poor Value Chain” นำร่องครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองแก้ว, ตำบลจาน, และตำบลตะดอบ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ผ่านการดำเนินงานหลักแบ่งเป็นส่วนสำคัญ คือ การค้นหาสอบทานครัวเรือนยากจนพบจำนวน 117 ครัวเรือน การสำรวจเครือข่ายทางสังคมในชุมชนและเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ท้องถิ่น การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการทำงานยกระดับศักยภาพในการผลิตและสินค้าแปรรูปถั่วเหลือง เช่น เทมเป้ ผงปรุงรส และหมูยอเจ การใช้นวัตกรรมรูปแบบซับซ้อนในกระบวนการผลิตแบบ OEM ร่วมกับ Partner บริษัทปัจชีวี (ศรีสะอโศก) ซึ่งเน้นครัวเรือนยากจนที่มีศักยภาพ กลุ่มคนจนที่มีพื้นที่ทำกินของตนเอง คนจนไม่มีที่ดินทำกินในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ คนจนที่มีทักษะด้านดิจิทัลเรียนรู้การพัฒนาระบบ และคนจนที่สนใจการแปรรูปอาหาร เป็นการทำงานที่มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูก “พืชเศรษฐกิจใหม่มูลค่าสูง” หลังฤดูข้าว โดยใช้เทคโนโลยีการแปรรูปและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ช่วยลดความยากจนและเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนยากจนในจังหวัดศรีสะเกษ

“ถั่วเหลือง” พืชเศรษฐกิจใหม่กับโอกาสของ “เศรษฐีน้อย” ที่ “หัวไวใจสู้”

การแก้ปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่ในจังหวัดศรีสะเกษ ไม่ใช่แค่การให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาแบบองค์รวมที่เน้นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับครัวเรือนยากจน ผ่านการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจถั่วเหลืองที่เหมาะสมกับพื้นที่และบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนยากจน โดยใช้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและการสนับสนุนจากเครือข่ายทางสังคมในพื้นที่ สู่การพัฒนารูปธรรมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจนในระดับท้องถิ่น ผศ.ดร.อนุวัฒน์ ศรีสุวรรณ์ ทีมวิจัยฯสะท้อนให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดศรีสะเกษ เน้นด้านการเพาะปลูก การแปรรูป และผลิตภัณฑ์ แต่ปัญหาและอุปสรรค์ในการทำงานที่สำคัญคือการเผชิญกับภัยแล้ง ส่งผลให้ชาวนาและครัวเรือนยากจนปลูกข้าวโดยใช้น้ำจากฤดูฝนเพียง 1 รอบต่อปี ดังนั้น ทีมวิจัยได้พยายามค้นหาพืชที่เป็นโอกาสใหม่หลังฤดูปลูกข้าวเข้ามาทดลอง ซึ่งพบว่าถั่วเหลืองถือเป็นพืชใหม่ที่น่าสนใจด้านความต้องการของตลาด จึงผลักดันและทดลองปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายทางสังคม คือ วิสาหกิจชุมชน ผู้นำชุมชน และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ได้แก่ หน่วยงานเทศบาล และเกษตร นำร่องในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลหนองแก้ว ตำบลจาน และตำบลตะดอบ

ผศ.ดร.อนุวัฒน์ กล่าวว่า “ปีแรกเน้นแค่การปลูกถั่วเหลือง แต่พบว่าครัวเรือนยากจนไม่รู้จักวิธีการปลูกและการดูแล ทั้งๆ ที่ถั่วเหลืองมีความน่าสนใจทั้งเป็นพืชที่มีความต้องการของตลาดสูง ลงทุนต่ำ สามารถขายได้ทั้งเมล็ดพันธุ์และแปรรูปเป็นอาหารต่างๆ การทำงานเชิงพื้นที่จึงใช้การทำความเข้าใจและเชิญชวนผู้นำชุมชนหรือคนที่มีศักยภาพในชุมชนเข้าร่วมนำร่องให้เห็นตัวอย่าง

กระทั่งปัจจุบันเกิดการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีสมาชิกแล้ว 30 ครัวเรือน และปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่ 60 ไร่” สอดคล้องกับ นางสุบิน สาริกา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สนง. เกษตรอำเภอราษีไศล ชี้ว่า การปลูกถั่วเหลืองเป็นโอกาสของเกษตรกรและครัวเรือนยากจนที่มีศักยภาพ หรือกลุ่ม “หัวไวใจสู้” เนื่องจากถั่วเหลืองปลูกง่าย ลงทุนต่ำเพียงไร่ละ 4,000 บาท/ไร่ และในพื้นที่มีรถแทรกเตอร์ให้ใช้ มีน้ำจากบ่อน้ำใต้ดิน หรือใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การปลูกถั่วเหลืองใน 1 ไร่สามารถให้ผลผลิตมากสูงสุด 300 กิโลกรัม/ไร่ และให้มูลค่าสูงถึงไร่ละ 10,000 บาท จะเห็นว่า มูลค่าการลงทุนเชิงพื้นที่จำนวน 60 ไร่ รวมๆ ราว 240,000 บาท จะเป็นโอกาสของครัวเรือนยากจนในพื้นที่ต่อปีราว 600,000 บาท ซึ่งนางสุบิน กล่าวว่า ถ้าครัวเรือนยากจนมุ่งมั่นและปลูกถั่วเหลืองได้เต็มที่ก็อาจจะกลายเป็น “เศรษฐีน้อย”

วิถีการผลิตแบบเดิม ความท้าทายทางภูมิศาสตร์ และสภาพภูมิอากาศ      

การลงพื้นที่ภาคสนามและพูดคุยกับครัวเรือนที่เข้าร่วมปลูกถั่วเหลือง พบว่า การปลูกถั่วเหลืองในช่วงหลังฤดูกาลปลูกข้าวนาปีถือเป็น “ทางเลือกใหม่” ของครัวเรือนยากจนและเกษตรกร จังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ไม่เคยปลูกในเชิงธุรกิจอย่างจริงจังในพื้นที่นี้มาก่อน ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายสำหรับครัวเรือนยากจนและเกษตรกรที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจพฤติกรรมของพืชชนิดนี้ สอดคล้องกับ นายจิรพันธ์ สมจิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแก้ว กล่าวถึง ข้อจำกัดสำคัญเชิงภูมิศาสตร์พื้นที่แถบนี้เป็นที่สูงต่ำสลับและอยู่ห่างไกลจากแม่น้ำมูลซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านจังหวัดศรีสะเกษ เกษตรกรและชาวนารวมทั้งครัวเรือนยากจนส่วนใหญ่ใช้น้ำในฤดูฝนทำเกษตรกรรมปีละครั้งเท่านั้น ช่วงว่างเว้นจากการทำนาไม่มีรายได้อื่นจุนเจือครอบครัว อย่างไรก็ตาม แม้องค์การบริหารส่วนตำบลและทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จะมองเห็น “โอกาสใหม่” ในการสนับสนุนให้ครัวเรือนยากจนปลูกถั่วเหลือง แต่กลับพบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากครัวเรือนยากจนที่คุ้นเคยกับวิถีการผลิตแบบเดิม (ปลูกข้าวปีละครั้ง) และไม่รู้จักวิธีการดูแลถั่วเหลืองมาก่อนยังคง “ลังเลใจ” และไม่เชื่อมั่นว่าจะสามารถปลูกและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น อบต. และทีมวิจัยฯ ได้ใช้กลยุทธ์แบบ “ทำให้ดูทำให้เห็นก่อนแล้วค่อยขยายผล” กล่าวคือ เน้นการเชิญชวนผู้นำชุมชนและครัวเรือนยากจนที่มีศักยภาพ (กลุ่มหัวไวใจสู้) เข้าร่วมปลูก ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี และปีนี้อยู่ระหว่างรอเก็บเกี่ยวผลผลิต และปัญหาสำคัญที่เกษตรกรต้องเผชิญคือความผันผวนของภูมิอากาศและความแห้งแล้ง ส่งผลให้น้ำที่ใช้ในการปลูกถั่วเหลืองไม่เพียงพอ อย่างไรก็ดี อบต. ได้หาช่องทางในการจัดการปัญหาขาดแคลนน้ำโดยขอเครื่องสูบน้ำโซล่าเซลล์จากกระทรวงพลังงานให้ผู้ปลูกถั่วเหลืองได้นำไปสูบน้ำในบ่อขุด  

การจัดทำระบบข้อมูลกับนวัตกรรมเทคโนโลยี และความเป็นไปได้ในเชิงอุตสาหกรรม

ดร.ภาคภูมิ ชินพฤทธิวงค์ ทีมวิจัยฯ กล่าวถึง ความพยายามในการทำงานโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการทำงานเชิงพื้นที่ โดยการวิเคราะห์เกี่ยวกับพื้นที่และรูปแบบการผลิตของครัวเรือนยากจน ผ่านการจัดเก็บข้อมูลและการจัดการข้อมูลการเพาะปลูกในพื้นที่นำร่องโครงการฯ อย่างน้อย 5 ขั้นตอน ได้แก่ รวบรวมข้อมูลเชิงพื้นที่และภูมิศาสตร์ ข้อมูลด้านการเพาะปลูก ข้อมูลการเก็บเกี่ยวผลผลิต ข้อมูลการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และข้อมูลตลาดและการขาย ซึ่ง ผศ.ดร.จิรนันต์ รัตสีวอ ทีมวิจัยฯ กล่าวสะท้อนต่อถึง การนำเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ทางอาหารมาใช้ในการแปรรูป เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงพาณิชย์ให้กับครัวเรือนยากจน ได้แก่ เทมเป้ ผงปรุงรส และหมูยอเจ แต่ข้อจำกัดและความท้าทายด้านการแปรรูป คือ ครัวเรือนยากจนไม่มีความรู้และศักยภาพในการแปรรูปมาก่อน จึงต้องค่อยๆ ให้เวลาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจ และใช้วิธีการทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีทั้งแกนนำผู้นำชุมชน ครัวเรือนที่มีศักยภาพ และครัวเรือนยากจนสมาชิก ส่งผลให้ครัวเรือนยากจนมี “พี่เลี้ยง” ช่วยเหลือ และได้เห็นความต้องการเชิงรูปธรรมมากขึ้นจากการแปรรูปอาหารจากถั่วเหลือง “คนจนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าปลูกถั่วเหลืองแล้วจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแบบไหน การนำเทคโนโลยีอาหารมาช่วยทำให้เขาเห็นการแปรรูปเชิงรูปธรรม แต่ยังมีข้อจำกัดเหมือนเดิม เพราะยังไม่เห็นตลาดและคนบริโภค กระทั่งได้สินค้าออกมาและมีคนซื้อคนสนใจจำนวนมาก อีกทั้งคนจนได้เห็นว่าสินค้าบางอย่างแม้ในชุมชนไม่นิยมบริโภคแต่สำหรับคนนอกและกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพเขามีความพร้อมและความต้องการ แม้คนจนจะไม่เคยทานและไม่ซื้อแต่พวกเขาเริ่มเห็นความเป็นไปได้ในการผลิตถั่วเหลืองเชิงอุตสาหกรรม” ผศ. ดร.จิรนันต์ รัตสีวอ กล่าวสะท้อน

“ก็รู้อยู่ว่าถั่วเหลืองมีความต้องการของตลาดสูงมากแต่จะให้มาปลูกมันใช่หรอ…?”

คุณมาณิกา คำสังวาล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองเข้ากรรม แกนนำผู้นำชุมชนที่เข้าร่วมนำร่องพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองในที่ดินของตนเอง 1 ไร่ กล่าวถึง ความท้าทายของครัวเรือนยากจนและเกษตรกรในพื้นที่ด้านวิถีการผลิตใหม่ยังคงมี “ความกลัว” และไม่กล้าแบกรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากการนำร่องปลูกถั่วเหลืองอยู่ในช่วงเริ่มต้นปีที่ 2 แต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีที่ 1 ที่ผ่านมา โดยแกนนำได้เพิ่มความสนใจมากขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่ตำบลหนองแก้ว จำนวนทั้งสิ้น 30 ไร่ และพื้นที่นำร่องอื่นอีกรวมทั้งสิ้น 60 ไร่ โดย คุณมาณิกา สะท้อนให้เห็นภาพการทำงานของเครือข่ายสมาชิกแบบร่วมกันคิดวางแผน แยกกันปลูกในพื้นที่ของตนเอง รวมกันแปรรูปและขายผ่านกลไกของวิสาหกิจชุมชน ถือเป็นโอกาสใหม่ของครัวเรือนยากจนและเกษตรกรในการปลูกพืชหลังนาระยะสั้นช่วง 3-4 เดือน ขณะที่ อบต. มีเป้าหมายในการผลักดันให้ครัวเรือนยากจน ทั้งที่มีที่ดินเป็นของตนเองและไม่มีที่ดินได้เข้าถึงโอกาสในการปลูก โดยการขอใช้ที่ดินส่วนบุคคลของคนที่ปล่อยพื้นที่ว่างเปล่า เป็นรูปแบบการขอความช่วยเหลือจากเครือข่ายทางสังคมระดับชุมชน อีกทั้ง เจ้าของที่ดินที่อนุเคราะห์จะได้รับประโยชน์เป็นซากต้นถั่วเหลืองบำรุงดินเป็นผลตอบแทน “ก็รู้อยู่ว่าถั่วเหลืองมีความต้องการของตลาดสูงมาก จะให้มาปลูกมันใช่หรอ แต่ก็ตัดสินใจเข้าร่วมและทดลองปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ พอได้ลองปลูกและพัฒนาการแปรรูปก็เห็นว่าเป็นไปได้” คุณมาณิกา กล่าว

ทลายข้อจำกัดและเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ/ศักยภาพให้กับครัวเรือนยากจน

การลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการแปรรูปถั่วเหลือง พบว่า วิสาหกิจชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล และทีมวิจัยฯ มีความพยายามในการนำร่องแปรรูปสินค้าจากถั่วเหลือง โดยใช้วิทยาศาสตร์ด้านอาหาร รวมทั้งการจับมือกับบริษัทปัจจัยชีวี (ศรีสะอโศก) เพื่อยกระดับการผลิตแบบ OEM ที่ได้รับมาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค แม้ความคาดหวังด้านปริมาณและความต้องการบริโภคสูง แต่ปริมาณการผลิตถั่วเหลืองยังมีน้อยและจำกัดจึงทำให้การผลักดันด้านตลาดยังไปไม่สุดทาง อย่างไรก็ตาม กระบวนการทำงานพัฒนาและแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ได้ฉายให้เห็นจุดเริ่มต้นและความพยายามในการผลักดันโมเดลแก้จน เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับครัวเรือนยากจนที่อยู่ในพื้นที่แห้งแล้งไกลแหล่งน้ำ ซึ่ง การเข้าร่วมรับฟัง เวทีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ติดตามผลการขับเคลื่อนงานขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 พบว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ผ่านการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และความร่วมมือกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

พลังความรู้ทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเชิงพื้นที่

ผศ.ดร.สหัสสา พลนิล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้กล่าวถึง ระบบข้อมูลที่แม่นยำกับการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาความร่วมมือ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่ผ่านกระบวนการ ได้แก่ การสร้างกลไกความร่วมมือระดับจังหวัดแบบ Collaborative Governance การพัฒนาระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนแบบชี้เป้าระดับพื้นที่ (Practical Poverty Provincial Connect) การพัฒนาระบบส่งต่อความช่วยเหลือ การสร้างโมเดลแก้จน (การปลูกถั่วเหลืองและการแปรรูปเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลแก้จนดังกล่าว) และการเชื่อมโยงงานวิจัยเข้าสู่แผนพัฒนาระดับท้องถิ่นและจังหวัด นอกจากนั้น ผศ.ดร.ประจวบ จันทร์หมื่น ทีมวิจัยฯ กล่าวถึง โมเดลกองทุนสวัสดิการ 5 ด้าน สำหรับครัวเรือนยากจนที่ดำรงชีพบนพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและความยากจน คือ การผลักดันให้เกิดสวัสดิการระดับครัวเรือน การศึกษา ที่อยู่อาศัย อาชีพและรายได้ เงินหมุนเวียน และสุขภาพ และ รศ.ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวว่า “เรามีหน่วยงานลงพื้นที่ทำงานวิจัยค้นหาสาเหตุความยากจนเชิงพื้นที่และขับเคลื่อนแผนแม่บทแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นการทำงานแก้ไขปัญหาความยากจนโดยใช้หลักวิชาการ ผลงานวิจัย และนวัตกรรมภายใต้การวิจัยของ อว. ที่ร่วมมือกันและทำอย่างมีเป้าหมายร่วมกับพี่น้องประชาชน” 

ขณะที่ นางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวง อว. กล่าวถึงการติดตามผลงานวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และกล่าวชื่นชมถึงการขับเคลื่อนงานเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ หน่วยงานภาครัฐทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น รวมทั้งภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและฝ่ายการเมืองจังหวัดศรีสะเกษ ที่ตั้งใจและพยายามทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกันด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านงานวิจัยและนวัตกรรม

หมายเหตุ : นำเสนอประเด็นโดย หน่วยบริหารจัดการข้อมูลเพื่อสื่อสารและเผยแพร่ (นขส.), ข้อมูลจากการลงพื้นที่ภาคสนามในโครงการ “การพัฒนาระบบกลไกกระบวนการสื่อสารฯ”, มูลนิธิปัญญาวุฒิ, ภายใต้การ สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), และขอขอบคุณข้อมูลจากผลการขับเคลื่อนงานวิจัย: การแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดศรีสะเกษ, โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ.

เรียบเรียง : พงษ์เทพ บุญกล้า และธีรนันท์ ขันตี

แชร์บทความนี้