บทวิเคราะห์ น้ำไม่ท่วมตัวเมืองนครพนม แม้รับอิทธิพลพายุ กับ มวลน้ำเหนือ

เป็นข้อถกเถียงและพูดกันบ่อยครั้งเมื่อถึงฤดูน้ำหลากช่วงหน้าฝน ว่า “น้ำจะท่วมตัวเมืองนครพนมหรือไม่” แม้คนในนครพนมเองก็ยังไม่เคยเผชิญกับน้ำท่วมในตัวเมือง หนักสุด คือ เมื่อปี 2561 ที่พอจะเห็นน้ำเอ่อล้นมาตามท่อระบายน้ำ ซึ่งยังไม่ถึงขึ้นวิกฤติ หรือได้รับความเสียหายมากในพื้นที่เศรษฐกิจตัวเมือง

หากลำดับเหตุการณ์ ปี 2567 เมื่อต้นเดือนกันยายน จังหวัดที่หนักสุดของไทย คือ จ.เชียงราย ที่รับผลกระทบอย่างหนัก จากน้ำป่าที่ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ของอิทธิพล “พายุยางิ” จากเชียงรายไหลผ่านพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงทางภาคเหนือ ลงผ่านสู่แม่น้ำโขง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็ว ส่งผลให้จังหวัดริมโขง เช่น เลย หนองคาย บึงกาฬ และ นครพนม ได้รับผลกระทบน้ำโขงหนุนสูงและเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ แต่โชคดีที่ มุกดาหาร และ อุบลราชธานี ยังไม่เกิดวิกฤติเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังมวลน้ำจากลำน้ำชีที่จะไหลสมทบเข้าแม่น้ำมูล ซึ่งอาจะทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กันยายน 2567)

จังหวัดนครพนม จังหวัดริมแม่ฝั่งโขง หากจะบอกว่าน้ำไม่ท่วมเลยก็อาจจะไม่ใช่เสมอไป แน่นอนว่าฤดูฝนช่วงน้ำหลากพื้นที่ราบลุ่มจะไม่เกิดน้ำท่วมก็จะไม่ใช่ หรือแม้กระทั่งพื้นที่ริมโขงที่เป็นลุ่มต่ำ ทุกปีน้ำจะเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนบนของจังหวัด เช่น อ.บ้านแพง อ.นาทม อ.ศรีสงคราม และ อ.นาหว้า ที่อยู่ใกล้กับลำน้ำสาขา อย่าง ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน และ ลำน้ำยาม ซึ่งลำน้ำเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากระดับแม่น้ำโขงที่เพิ่มสูงขึ้น ไหลหนุนเข้ามายังลำน้ำสาขา ทำให้ลำน้ำสาขาไม่สามารถระบายออกสู่แม่น้ำโขงได้เต็มประสิทธิภาพ ภาพของน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรจึงมีให้เห็นเหมือนทุกปี เช่นเดียวกับปี 2567 นี้ ซึ่งพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 70,000 ไร่ น้ำท่วมบ้านเรือนกว่า 20 หลังคาเรือน (เฉพาะพื้นที่ตอนบนของจังหวัด) ส่วนพื้นที่ตอนล่างที่น่าจับตาเฝ้าระวังเช่นกันเมื่อถึงฤดูฝน คือ พื้นที่ อ.ธาตุพนม เพราะมีลำน้ำสาขา เช่น ลำน้ำก่ำ รับน้ำมาจากเทือกเขาภูพานจังหวัดสกลนคร แต่ปีนี้ โชคดีที่ลำน้ำก่ำไม่ได้เอ่อเข้าท่วมพื้นที่ในแถบใกล้เคียงของ อ.ธาตุพนม

ขยับมาพื้นที่ในตัวเมืองนครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด เมื่อมีข่าวน้ำท่วมเผยแพร่ออกไปตามสื่อต่าง ๆ แน่นอนว่าได้รับผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวหยุดการเดินทางเข้ามายังพื้นที่ เพราะเข้าใจว่าน้ำท่วม จ.นครพนม แท้ที่จริงแล้วข่าวน้ำท่วมที่ถูกส่งออกไปนั้น เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่รอบนอกซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับลำน้ำสาขา หรือพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำโขงเท่านั้น จึงเกิดการถกเถียงพูดคุยกันสื่อสังคมออนไลน์ของจังหวัด เพราะเกรงว่าน้ำโขงจะไหลทะลักเข้าท่วมเขตพื้นที่ตัวเมือง บางความคิดเห็น บอกว่า เกิดมาไม่เคยเห็นน้ำท่วมในตัวเมืองและคาดว่าปีนี้น้ำก็ไม่ท่วมแน่นอน, เกิดมา 50 กว่าปี ไม่เคยเห็นน้ำท่วมในเมือง ปีนี้ก็คงไม่ท่วม หรือ บางคนบอกว่า รอให้น้ำท่วมภูเขาทองก่อน น้ำถึงจะท่วมเมืองนครพนม (ภูเขาทอง เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่อยู่บนที่สูง สามารถมองลงมาเห็นตัวเมืองนครพนมและภูเขาริมโขงฝั่ง สปป.ลาว) ซึ่งสงครามการถกเถียงกันนั้นปรากฎว่า น้ำก็ไม่ท่วมเมืองนครพนมจริง ๆ เพราะระดับน้ำโขงได้ลดลงเกือบเมตรอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของ Monitoring.mrcmekong.org วันที่ 18 กันยายน 2567 ระดับน้ำโขงพีคสูงสุด 11.87 เมตร และข้อมูลล่าสุดของ วันที่ 21 กันยายน 2567 ระดับน้ำโขง ลดลงอยู่ที่ 11.30 เมตร (อยู่ในเกณฑ์ปกติ)

งานนี้เลยต้องดึงนักวิชาการมาให้ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการรับมือเตรียมพร้อมในช่วงฤดูน้ำหลากของปีถัด ๆ ไปด้วย โดย ดร.สุริยา คำหว่าน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม บอกว่า ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดนครพนม มีความยาวที่ติดแม่น้ำโขงประมาณ 175 กม. แม่น้ำโขงไหลผ่าน 4 อำเภอ คือ อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมือง และ อ.ธาตุพนม ในฝั่งลาวก็มีแม่น้ำสาขาด้วยในแขวงคำม่วน และภูมิศาสตร์ของนครพนมที่สำคัญ คือ ตอนบนมีแม่น้ำสาขาที่สำคัญ คือ แม่น้ำสงคราม และตอนล่าง คือ แม่น้ำก่ำ ลักษณะแบบนี้ทำให้นครพนมมีลักษณะเป็นเส้นทางคมนาคมที่อิงกับแม่น้ำมาตั้งแต่อดีต ดังนั้น จ.นครพนม จะปฏิเสธไม่ได้ที่เป็นเมืองสำคัญกับแม่น้ำ

พื้นที่รับแม่น้ำโดยเฉพาะผลกระทบจากแม่น้ำโขงที่มีความยาวประมาณ 175 กม. ยากที่จะคาดเดาว่าตรงไหนน้ำจะเข้าไปท่วมบ้าง หรือตรงไหนจะไม่ท่วมบ้าง แต่หลัก ๆ ที่นครพนมจะต้องระวัง คือ แม่น้ำสาขาตอนบน ซึ่งเป็น น้ำสงคราม น้ำอูน และ น้ำยาม พื้นที่แถวนั้นท่วมอยู่แล้วเพราะอยู่ใกล้กับลำน้ำสาขาจากการหนุนของแม่น้ำโขงเข้าไป ทำให้ศักยภาพของการระบายน้ำออกมาจากพื้นที่ลดลง ส่วนพื้นที่ตอนล่าง คือ น้ำก่ำ ในแถบ อ.ธาตุพนม ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดทุกปี เพราะเท่าที่ดูข้อมูลมีหลายจุดที่น้ำอยู่ในระดับสีแดง เราเห็นแล้วว่าปีนี้มี 7 อำเภอ ที่รับผลกระทบ คือ อ.นาหว้า อ.นาทม อ.ศรีสงคราม อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมือง และ อ.ธาตุพนม (4 อำเภอติดโขง และ 3 อำเภอที่ติดกับน้ำสาขา)

หากถามว่าน้ำโขงจะทะลักเข้าพื้นที่ในตัวเมืองเหมือน จ.หนองคาย ก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะหลายปีที่ผ่านมาระบบการระบายน้ำในตัวเมืองมีการพัฒนาค่อนข้างดี มีการขุดท่อขนาดใหญ่บริเวณกลางเมือง มีการวางจุดเครื่องสูบน้ำในหลายจุด อย่างไรก็ตามต้องระมัดระวังเรื่องการระบายน้ำ เราต้องระวังน้ำจาก 2 กลุ่ม คือ น้ำที่มาจากแม่น้ำโขง กับ น้ำที่มาจากฝน แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูลมาว่า เราอาจต้องระวังตั้งแต่วันที่ 15-24 กันยายน 2567 เนื่องจากจะมีปริมาณน้ำฝน ดังนั้น ถ้าช่วงนี้มีฝนลงมาหนัก ๆ มันอาจจะไม่ท่วมขึ้นมาล้นตลิ่ง แต่อาจจะเห็นแค่ภาพที่น้ำรอการระบายจากตัวเมือง เพราะทางจังหวัดมีการเตรียมพร้อมของหน่วยงานอยู่แล้ว

ดร.สุริยา ยังบอกอีกว่า เราอาจจะไม่เห็นภาพน้ำท่วมแบบพื้นที่อื่น ๆ เช่น การท่วมแบบฉับพลัน คือ เราไม่ได้อยู่พื้นที่รับน้ำใกล้กับที่สูงที่เป็นภูเขา เพราะบริเวณพื้นที่ของนครพนมอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งเป็นพื้นที่ราบ น้ำที่ไหลบ่าเข้าท่วมเหมือน จ.สกลนคร เราก็อาจจะไม่เห็นภาพแบบนั้น หรืออาจจะแค่เห็นภาพของน้ำท่วมเป็นจุด ๆ เช่น จุดในเมืองที่เป็นระดับต่ำและระบายน้ำออกไม่ทัน ส่วนน้ำที่เป็นสีโคลนนครพนมไม่พบสถานการณ์แบบนั้นแน่นอน และอีกอย่างหนึ่งที่มีการพูดถึง คือ ลักษณะของตลิ่งนครพนม นครพนมมียุคของการพัฒนาสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขง เขื่อนพวกนี้มีการถูกสร้างมาหลายรุ่น หลายยุคสมัย ไม่ต่ำกว่า 50 ปี ในการพัฒนาเมือง และการสร้างเขื่อนแต่ละครั้งมีการทับถมดินขึ้น ทำให้บริเวณตลิ่งของนครพนมสูงขึ้นตามไปด้วย ตอนนี้เรายังเห็นน้ำในแม่น้ำโขงที่ห่างจากตลิ่งพอสมควร คิดว่าส่วนหนึ่งที่น้ำไม่ท่วมมาจากการสร้างเขื่อนป้องกันตามแนวตลิ่ง เลยทำให้ริมตลิ่งสูงขึ้น

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรมิญช์ พันธุรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ผู้ให้ความสนใจและติดตามด้านการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม คาดการณ์ระดับของแม่น้ำโขง (19 ก.ย.67) หากมีพายุเข้ามาในระหว่างนี้ และตกที่ฝั่ง สปป.ลาว รวมทั้งลุ่มแม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็นต้นน้ำไหลลงแม่น้ำโขง ที่อาจทำให้ระดับแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นมาอีกครั้ง แต่อาจจะเป็นภาพแม่น้ำโขงนครพนมคงระดับไปจนถึงต้นเดือนตุลาคม จากนั้นระดับน้ำโขงจะลดลง ส่วนบริเวณที่จะเห็นว่ามีน้ำมากในจุดเดิม ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเวิ้งทุ่งนา ข้างถนนเลี่ยงเมือง หรือพื้นที่ราบลุ่มน้ำของห้วยฮ่องฮอ และ ถนนทัศนปทุม ในตัวเมืองนครพนม

นายเสกสันต์ ไชยบูลย์ ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยานครพนม ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีฝนรวมที่สะสมมาตั้งแต่ต้นปี 2567 ในเขต อ.เมืองนครพนม นับได้ 1,986 มม. ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือ (อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.นาทม และ อ.ศรีสงคราม) กลุ่มนี้ฝนจะเยอะ ส่วนโซนตอนล่าง (อ.ธาตุพนม อ.นาแก อ.วังยาง และ อ.ปลาปาก) กลุ่มนี้ฝนจะน้อย พอมาเฉลี่ยกันแล้วภาพรวมทั้งจังหวัด จะอยู่ที่ 1,333 มม. หากเทียบกับปี 2566 ในห้วงเวลาเดียวกัน ปริมาณฝนใน อ.เมืองนครพนม อยู่ที่ 2,143.1 มม. ส่วนการเฉลี่ยทั้งจังหวัด อยู่ที่ 1,610 มม. (มากกว่าปี 2567) ส่วนในแง่ผลกระทบของตอนเหนือ จะได้รับผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรค่อนข้างเยอะ สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เสียหายปีนี้ก็ไม่ต่างจากปีที่แล้ว เพราะปีที่แล้วฝนที่มาจากร่องมรสุมพาดผ่าน (ไม่ใช่พายุ) แช่อยู่นาน เลยทำให้ฝนตกนาน น้ำไม่มีที่ไปจึงเอ่อท่วมเช่นเดียวกันกับปีนี้

สำหรับปริมาณฝนที่เหลือ (ที่เป็นหน้าฝนจริง ๆ) จากนี้ไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม 2567 ฝนจะน้อยลง หรือไม่มีเลย อาจจะมีเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ปริมาณฝนจะไม่มาก ส่วนค่าเฉลี่ยฝนในเดือนกันยายนของทุกปี ปกติจะอยู่ที่ 200 กว่า มม. แต่เดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ 278 มม. มากกว่าค่าปกติของเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา แต่ถ้ารวมตลอดทั้งปีปริมาณฝนยังถือว่าน้อย ดังนั้น เมื่อดูจากปริมาณของน้ำฝนแล้ว การที่น้ำจะท่วมในเขตตัวเมืองได้ ฝนต้องตกเป็นบริเวณกว้าง หากเป็นแบบนี้น้ำไม่ท่วมเมืองแน่นอน เว้นเสียแต่ว่าจะมีพายุเข้ามาเสริม ซึ่งเราคาดเดาไม่ได้

#น้ำท่วม2567 #นครพนม

ด้าน นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม เปิดเผยว่า จากที่คาดการณ์ของพายุยางิ คิดว่ามวลน้ำต้องมาที่นครพนมแน่นอน ซึ่งก็เป็นไปอย่างที่คาดไว้ แม้ระดับน้ำโขงจะสูงถึง 12 เมตร (จุดวิกฤติ) แต่คำว่า “จุดวิกฤติ” หมายถึงบริเวณด้านล่างใต้ลานพญานาค ซึ่งถ้าจะนับจุดที่น้ำเอ่อเข้าท่วมตัวเมืองนครพนมจริง ๆ น้ำจะต้องท่วมเพิ่มสูงเป็น 15 เมตร (13 เมตร เริ่มปิดประตูระบายน้ำ) มันต้องมีมวลน้ำที่มากถึงจะท่วมถึงระดับนั้น อย่างไรก็ตาม ทางเทศบาลเมืองนครพนม ได้มีการเตรียมตัวโดยประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งศูนย์เผชิญเหตุร่วมกัน อาทิ จังหวัดนครพนม ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 22 มณฑลทหารบกที่ 210 องค์การบริหารส่วนจังหวัด และงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อเตรียมบรรจุทรายลงในกระสอบ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีระดับน้ำสูงขึ้นได้เตรียมพร้อมบรรจุกระสอบทรายไปแล้วกว่า 2,000 กระสอบ และบิ๊กแบ็คจากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 22 อีก จำนวน 20 ใบ เพื่อเตรียมรับมือกับมวลน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น และหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาจริง ๆ เทศบาลมีแผนเตรียมอพยพประชาชนอยู่แล้ว

ภาพ/บทความ : พัฒนะ พิมพ์แน่น

แชร์บทความนี้