ฟังเสียงประเทศไทย อนาคตวิถีคน ปลา และลุ่มน้ำโขง 

แม่น้ำโขงนับเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ยาวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความยาวรวมกว่า 4,900 กิโลเมตร และมีความหลากหลายทางชีวภาพ และเพราะเป็นแม่น้ำนานาชาติ ที่มีประเทศผู้ใช้ประโยชน์หลายฝ่าย นั่นทำให้แม่น้ำโขงมีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และนี่คือโจทย์สำคัญทั้งต่อวิถีชีวิตผู้คน ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่จำเป็นต้องมีแนวทางปกป้องแม่น้ำ 

ฟังเสียงประเทศไทย ฟังเสียงคนท้องถิ่น ได้ชวนตัวแทนผู้มีส่วนจัดการและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันตั้งต้นสนทนามองภาพอนาคตแม่น้ำโขง พร้อมหาทางออกในการลดผลสะเทือนจากการเปลี่ยนแปลงบนสายน้ำโขงแม่น้ำนานาชาติของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สายนี้ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 8 กันยายน 2567 ณ โรงเรียนวังม่วง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย  

 

เพื่อที่จะพูดคุยถึงสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลง ผลกระทบ สรรพสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศของชุมชนในพื้นที่อนุภาคแม่น้ำโขง ภายใต้ระบบนิเวศของน้ำโขงที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ผ่านการสร้างกระบวนการพูดคุยอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่ เพื่อที่จะร่วมกันแสดงความคิดเห็น ร่วมกันหาทางออก ร่วมกันสื่อสาร ฟังเสียงประเทศไทยชวนเริ่มต้นสนทนาจากการเปิดระดมคำสำคัญ “เมือนึกถึง “แม่น้ำโขง” นึกถึงอะไร” ผ่านมุมมองของผู้เข้าร่วมเวที และคนทางออนไลน์ โดยให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนขยายความจากคำที่ร่วมระดมเข้ามา 

“นึกถึงปลา เพราะว่าปลาแม่น้ำโขงรู้สึกว่ามันหายไปเยอะ โดยเฉพาะปลาบึกทางเขตเราไม่มีเลย ถ้ามีก็น้อยมาก” ชาญชัย ดาจันทร์ ทีมวิจัยไทบ้าน ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย 

“ความหลัง ถ้าพูดถึงแม่น้ำโขงทุกวันนี้มองอนาคตไม่เห็นแล้ว ตอนนี้นึกถึงความหลังที่เคยมีมา ไม่ว่าจะเป็นความสมบูรณ์ทางด้านอาหาร ว่าเป็นกิจกรรมตั้งแต่เด็ก นั่นคือความสุขแล้ว นั่นคือความมั่นคงทางด้านอาหาร จริง ๆ ที่ต้องแบกหาปลาตั้งแต่แม่น้ำโขงขึ้นบ้านไปทำปลาร้า ซึ่งมันให้ความรู้สึกว่าถึงแม้เราจะอยู่บ้านเรา ก็ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไร แม่น้ำโขงมีครบหมดแล้ว ทั้งพืชผัก ทั้งอาหาร แล้วก็ของบริโภค อุปโภค คิดถึงมากที่สุดก็คือความหลัง” ชัยวัฒน์ พาระคุณ ชาวบ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย 

“คิดถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำภาคอีสาน มันมีความหลากหลายทางชีวภาพ ปู ปลา หรือว่าทางความเชื่อของภาคอีสาน เช่นพญานาค น้ำโขงทำให้เรานึกถึงสิ่งเหล่านั้น” นักเรียน โรงเรียนวังม่วงพิทยาคม 

“ถ้าพูดถึงเรื่องแม่น้ำโขงหลัก ๆ คิดถึงเรื่องเขื่อน แล้วก็การกัดเซาะของตลิ่ง ในปัจจุบันมีการสร้างเขื่อนกั้นที่บริเวณแม่น้ำโขงทางตอนบน แล้วก็ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนในครั้งนี้” นักศึกษาวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 

“หนูนึกถึงวิถีชีวิตที่อาศัยและพึ่งพาแม่น้ำโขง ทุกคนในพื้นที่เขาจะเห็นน้ำโขงเป็นชีวิตและจิตใจ เพราะว่าเขาพึ่งพาอาศัยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน” นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

นี่เป็นส่วนหนึ่งจากคำสำคัญที่ระดมมาจากผู้เข้าร่วมเวที หลังจากที่ทุกท่านได้ค่อย ๆ ใคร่ครวญ และบอกเล่าออกมาผ่านคำสำคัญ ทั้งผู้ชมทางบ้าน และทุกท่านในวงเสวนา ทำให้ได้เห็นทั้งสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง ผลกระทบ ความผูกพัน คุณค่าและศักยภาพของทรัพยากรลุ่มแม่น้ำโขงหลากหลาย ตลอดจนปัจจัยเกี่ยวข้องในเรื่องนี้  

“ส่องซอด” อนาคตวิถีคน วิถีปลา ลุ่มน้ำโขง ในอีก 20 ปี ข้างหน้า 

เพื่อให้ได้มีเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ฟังเสียงประเทศไทยจะชวนทดลองสำรวจความคิดเบื้องต้น จากการฟังฉากทัศน์ “มองภาพอนาคต วิถีคน วิถีปลา ลุ่มน้ำโขง” ในอีก 20 ปี ข้างหน้า นั่นคือปี พ.ศ. 2572 ที่ประมวลข้อมูลมาเป็นเครื่องมือในการสนทนา 3 ฉากทัศน์ แต่แท้จริงแล้วอาจมีมากกว่านั้น เพราะอาจจะมีเหตุปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม สถานการณ์น้ำ สถานการณ์ทางการเมือง เทคโนโลยี ความรู้ สังคม และพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะไม่มีผิดหรือถูก พร้อมให้ทุกคนไตร่ตรองถึงฉากทัศน์ จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์ที่มองว่ามีความเป็นไปได้ในอีก 20 ปี ในรอบที่ 1  

จากนั้นมีการเติมข้อมูลเพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการแลกเปลี่ยนจาก VTR ข้อมูลความหลากหลายและสถานการณ์แม่น้ำโขง และข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ร่วมวงเสวนา 3 ท่านร่วมขยายภาพในแต่ละฉากทัศน์ ว่าแต่ละฉากทัศน์นั้น มีจุดแข็ง สถานการณ์ และข้อท้าทายอย่างไรบ้าง  

ฉากทัศน์ A   พายเรือปริ่มน้ำ ประคับประคองสถานการณ์ 

“สถานการณ์น้ำโขงปัจจุบันตามที่เราเห็นก็คือเขื่อน มีเขื่อน มีสภาวะแวดล้อมที่มันเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำหรือแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำถูกทำลาย เพราะว่าน้ำเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และพันธุ์ไม้น้ำก็สูญเสียไป ปลาหลายชนิดที่เคยพบก็ไม่พบแล้วจากการสำรวจลุ่มน้ำโขง

ของโครงการ MRC ที่ทางกรมประมงได้ทำ ผมอยู่มากับแม่น้ำโขง 13 ปี ตั้งแต่รับราชการมา เห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก ช่วงหลังในฤดูน้ำหลากน้ำก็มาทีเดียว 2 เมตรเลย มีผลกระทบต่อด้านการเกษตรกรรมแน่นอน  

ทางด้านกรมประมงก็ไม่ได้ยิ่งนอนใจ เรามีโครงการต่าง ๆ ที่มาช่วยเหลือ เพื่อประคับประคองไปให้ได้ เช่นโครงการปลาหน้าวัด โครงการนี้เราอาศัยความเชื่อเ พราะว่าเราจะล่อสัตว์น้ำไว้ที่หน้าวัด ซึ่งเป็นเขตอภัยทาน ถือว่าเป็นการอนุรักษพันธุ์สัตว์น้ำไปด้วย ทั้งนี้โครงการจะมีอบรมเยาวชน เพราะเราคิดว่าเยาวชนคือต้นกล้าในวันนี้จะต้องเติบโตในวันหน้า และเป็นคนที่จะทำหน้าที่เป็นแกนนำในการอนุรักษ์ต่อไป เพื่อให้เขาเห็นวิถีชีวิตของสัตว์น้ำ เราจะมีการเพาะพันธุ์ให้น้องได้เห็นว่ากว่าจะมาเป็นสัตว์น้ำ บางชนิดไม่ต้องเพาะพันธุ์ทำได้เลยแล้วก็ปล่อยลงไปในแหล่งน้ำนั้น  

เราก็มีโครงการลุ่มน้ำโขง มันคือบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำโขง โดยการใช้ชุด ‘Mobile hatchery’ พ่อแม่พันธุ์ที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ต้องมาจากน้ำโขง

ซึ่งทางศูนย์มีพ่อแม่พันธุ์จากน้ำโขงเยอะเลย อย่างเช่นปลาอีตู ปลาบึก นอกจากนั้นศูนย์ ๆ ก็มีที่ริมโขง โดยส่วนใหญ่จะเน้นการใช้ปลาแม่น้ำโขงมาทำการเพาะพันธุ์ แล้วใส่ชุด ‘Mobile hatchery’ แล้วปล่อยเป็นลูกปลาวัยอ่อนลงไป เพื่อเพิ่มความหลากหลายในแหล่งน้ำ  

การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเราต้องเลือกชนิดพันธุ์ ต้องมีวัตถุประสงค์ในการปล่อย 1.เพื่อคงความหลากหลาย 2.เพื่อเพิ่มความหลากหลาย 3.เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่กรมประมงที่ทำก็คือปล่อยสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เพื่อให้ได้อยู่ ได้กิน ปลาโตจับได้มันเป็นมูลค่าเช่น ปลาบึก ถ้าจับได้ก็เป็นมูลค่าขายได้หลายบาท  

มีโครงการเพราะปลาเอิน (หรือปลาบึก) ของหนองคาย ใช้จากพ่อแม่พันธุ์เลย ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนฉีดกระตุ้นหรือว่าอะไรเลย คือใช้สัตว์น้ำที่กำลังวางไข่ แต่ทีนี้กฎหมายเราอยู่ในประเทศ กฎหมายเราข้ามประเทศไม่ได้ ดังนั้นลำน้ำโขงไทย-ลาว ยังสามารถทำมาหากินกันได้ พอถึงฤดูปลาขึ้นมาวางไข่เราก็รับซื้อพ่อแม่พันธุ์มารีดไข่ออกแล้วก็รีดน้ำเชื้อผสมกัน ทำไมเราต้องทำอย่างงั้นเพราะคนไทยชอบกินปลามีไข่ มันแซ่บ ทีนี้ถ้าเราไปตัดวงจรตรงนี้ลูกพันธุ์ก็ไม่มี เราก็เลยเอามาผสมพันธุ์ให้ แล้วจัดโครงการปล่อยปลาเอินคืนถิ่นโขง  

ชนิดอื่น ๆ ทางศูนย์เลยมี ‘ปลาหว้าหน้านอ’ เป็นพ่อแม่พันธุ์ทั้งหมด 14 ตัว ตอนนี้กำลังเร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยง วันนี้เรายังไม่ประสบผลสำเร็จ แต่เราก็ยังมุ่งมั่นที่จะทำให้มันคงอยู่ในระบบนิเวศ ทางศูนย์เก็บไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 เพราะเราต้องการเก็บพ่อแม่พันธุ์เพื่อมาทำการเพาะพันธุ์ช่วย มันจะต้องมีการกัดกร่อนพันธุกรรมแน่นอน

แต่เราต้องถามตัวเราก่อนว่าพื้นที่ไหนต้องอนุรักษ์ พื้นที่ไหนต้องการความหลากหลายไว้ตรงนั้นเราจะไม่ไปแตะ แต่พื้นที่ตรงไหนที่เรายังให้มีสัตว์น้ำชนิดนั้น ๆ อยู่พื้นที่นั้นต้องมีการปล่อยเพิ่มเข้าไป เพราะไม่เช่นนั้นมันจะหายไปจากลำน้ำเลย เราก็จับปลาตัวนี้เข้าโครงการสัตว์น้ำหายากและใกล้สูญพันธุ์เพื่อดำเนินการผลิตให้ได้

และการศึกษาวิจัยชิ้นนี้เราก็มุ่งมั่นเต็มที่ว่าเราต้องทำให้ได้ เพราะเหลือที่เราที่เดียวแล้วศูนย์อื่นไม่มี ปลาบึกทางศูนย์เราก็มีแต่เราไม่ปล่อย เพราะว่ามันไม่ใช่พันธุ์ที่มาจากแม่น้ำโขงโดยตรง พื้นที่ที่เราปล่อยต้องเป็นพื้นที่ข้างในที่มีการปล่อยมาก่อนหน้านั้น อย่างเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่น้ำโขงเราไม่ปล่อยเพราะว่าถ้าเราปล่อยปลาบึกชุดที่เราเพาะซึ่งเป็นรุ่น F2 ก็คือรุ่นลูกจากพ่อแม่พันธุ์น้ำโขง มันก็จะเป็นการกัดกร่อนพันธุกรรมของสายน้ำอย่างมาก เรามีองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ซึ่งเราก็จัดตั้งที่บริเวณรุ่มน้ำโขง เพราะเราคาดหวังไว้อย่างยิ่งว่าองค์กรนี้ขับเคลื่อนไปได้ จะรูปแบบปู่ ย่า ตา ยาย สู่ลูกหลาน อยากให้องค์กรนี้พัฒนาเข้าไป แต่ไม่ใช่แค่หน่วยงานภาครัฐ ทุกท่านต้องช่วยด้วย หน่วยงานภาครัฐแค่ตั้งต้นไว้เฉย ๆ มีการสนับสนุนงบประมาณให้ แต่ว่าพอถึงเวลาท่านต้องขับเคลื่อนเองไปให้ได้ ถ้ามีปัญหามาคุยกัน” ทวีศักดิ์ สกุณา ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเลย กรมประมง 

ฉากทัศน์ B  ขึ้นฝั่ง เผชิญการเปลี่ยนแปลงใหม่ 

“ในเมื่อแม่น้ำโขงพึ่งพาอาศัยไม่ได้เต็มที่เหมือนแต่ก่อน การขึ้นฝั่งมันก็ลำบากเพราะว่าบางคนก็ไม่มีที่ดินที่จะทำกิน และความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงมันบอกไม่ถูกกับคนที่อยู่ลำน้ำโขง แต่ในเมื่อมันเปลี่ยนเราก็ต้องได้ขึ้นมาเพื่ออาศัยฝั่ง ผู้คนรอบตำบลบ้านม่วง จ.หนองคาย ขึ้นฝั่งมาก็มีอาชีพกีดยาง แล้วก็ตัดกล้วย มีสวนกล้วย 

ถ้าพูดถึงความอุดมสมบูรณ์บนภูเขามันก็อุดมสมบูรณ์ แต่มันติดที่เอกสารสิทธิ์ของชาวบ้าน อุทยานแห่งชาติ และกรมป่าไม้ ก็มีปัญหา พี่น้องที่ทำมาหากินกับน้ำโขงไม่มีที่ดินจะทำกินก็มีปัญหาครอบครัว การกรีดยางไม่ใช่ว่าเราจะกรีดแบบสบาย ๆ เหมือนนั่งทำงานอยู่ในห้องแอร์ ต้องแข่งกับเวลา แล้วก็แข่งกับฝน เวลาฝนตกก็ต้องรีบไปหยอดน้ำกรด มันก็เลยเกิดปัญหาครอบครัวมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะเวลาลูกกลับจากไปเรียนหนังสือก็ไม่ได้ถามสักคำเพราะว่าต้องรีบไปกรีดยาง ต้องไปหยอดน้ำกรดเมื่อฝนมา ภูมิอากาศก็เปลี่ยนไป รายได้เศรษฐกิจก็หายไป ปกติสามีจะหาปลาเป็นรายได้หลักถ้าสามีเป็นพานปลา อาชีพเสริมก็จะมีแม่บ้านที่คอยเก็บอาหารมาแปรรูป วิถีชีวิตแลกข้าวบ้าง ให้พี่ให้น้องบ้าง แบ่งปันกันภายในครอบครัว 

ถ้าพูดถึงการขึ้นฝั่งขึ้นฝั่ง ขึ้นฝั่งครอบครัวมันแตกแยก มันไม่เหมือนแต่ก่อน แฟนต้องไปทำงานต้องไปทำงานต่างถิ่น ครอบครัวมันก็ล่มสลาย ถ้าพูดถึงรายได้มันก็ลดลงไม่มีรายได้ เพราะว่าทุกวันนี้เงินมันเป็นต้นเหตุที่เราต้องใช้ส่งลูกเรียน

ในเมื่อผักที่มีอยู่ตามน้ำโขงวันนี้เราต้องขึ้นมาซื้อที่ตลาดกินมันก็ต้องใช้เงิน เมื่อปลาหาไม่ได้ก็พึ่งปลาตลาดมันก็เป็นรายจ่ายของเรา รายรับของเราแทบจะไม่มี มันก็เลยทำให้มีหนี้สิน เพิ่มภาระให้ครอบครัวมากขึ้น 

ถามว่าอยากได้แม่น้ำโขงกลับคืนไหม ก็อยากได้ เพราะความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงก็เท่ากับเซเว่นทุกวันนี้” ก้านก่อง จันลอง ชาวบ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย 

ฉากทัศน์ C สร้างจินตนาการใหม่ มุ่งแก้ปัญหาใจกลาง 

ก่อนอื่นต้องเล่าถึงจินตนาการเดิมก่อนที่เราจะมีจินตนาการใหม่ แผนการพัฒนาแม่น้ำโขงมันเกิดขึ้นในสมัยสงครามเย็น เกิดเมื่อประมาณปีค.ศ.1950 คือเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมีความต้องการอยากจะทำประเทศให้ทันสมัย ทาง ‘US Bureau of Reclamation’

ก็มาสำรวจแล้ววางแผนที่ไว้ว่าเราจะพัฒนาเขื่อนตรงไหนบ้าง เมื่อ 70 ปีที่แล้ว แล้วเราก็เอาแผนเมื่อ 70 ปีที่แล้ว มาปฏิบัติในปัจจุบัน  

ทีนี้ผมอยากจะเชิญชวนให้ทุกท่านช่วยกันคิดเรื่องของจินตนาการใหม่ เพราะว่า 70 ปีผ่านไป ตอนนี้เทคโนโลยีในการสร้างพลังงาน ในการผลิตพลังงานมันก็เปลี่ยนไป เรามีปัญหาเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ เราต้องการแนวคิดใหม่ เราต้องการจินตนาการใหม่ที่เราต้องมองแม่น้ำแบบใหม่ ผมคิดว่าแม่น้ำโขงสามารถเป็นแม่น้ำแห่งความหลากหลาย ความอุดมสมบูรณ์ ที่พูดถึงเรื่องอยากให้แม่น้ำโขงกลับไปเป็นเหมือนเดิม เป็นแม่น้ำที่มีความยืดหยุ่น สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมีอากาศ เป็นร้านสะดวกซื้อของชาวบ้าน มีการพัฒนาที่สมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ แล้วก็เป็นแม่น้ำแห่งความสุข 

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นไปได้ ยกตัวอย่างหลาย ๆ ประเทศ เอาประเทศที่เป็นคนมาวางแผนที่ในการสร้างเขื่อนให้เราเลยเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาตอนนี้หลาย ๆ

พื้นที่ในสหรัฐ อย่างแม่น้ำ ‘คลาแมธ’ รัฐออริกอน มีการรื้อเขื่อนออกเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำและวิถีชีวิต อันนี้เป็นตัวอย่างของประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ให้สิทธิสถานะทางบุคคลแก่แม่น้ำ อีกอันในประเทศยุโรปมีโครงการนะครับ EU สหภาพยุโรป มีการฟื้นฟูแม่น้ำและวิถีวัฒนธรรม

เราต้องอาศัยจินตนาการแบบนี้เพื่อที่เราจะต้องอยู่รอดต่อไปในอนาคต เพราะว่าการพัฒนาที่ผ่านมามันอาจจะมีผลกระทบแล้วตอนเนี้เรามีทางเลือกอื่น เราก็ควรจะเลือกทางเลือกที่ดีกว่าเดิม เพราะว่าเรามีความรู้ความเข้าใจที่มากขึ้น แล้วก็มีเทคโนโลยีที่มากขึ้น” ผศ. ดร.อภิสม อินทรลาวัณย์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 

“สร้างจินตนาการใหม่ มุ่งแก้ปัญหาใจกลาง”  

หลังจากได้ฟังทั้งข้อมูล ความคิดเห็นจากวิทยากรที่มาแลกเปลี่ยนแล้ว ลองมาโหวตอีกครั้ง ว่า 20 ปีข้างหน้าเรามองฉากอนาคตวิถีคน วิถีปลา น้ำโขง เป็นเห็นภาพไหน ฉากทัศน์ที่เลือกเปลี่ยนไปจากรอบแรก หรือยังคงยืนยันเลือกฉากทัศน์เดิม อย่างไรบ้าง จากชุดประสบการณ์แต่ละคนไม่เหมือนกัน  

พบว่าผลโหวตฉากทัศน์รอบแรกผู้เข้าร่วมเห็นด้วยกับ ฉากทัศน์ A ร้อยละ 22.22% ฉากทัศน์ B ร้อยละ 26.36% และฉากทัศน์ C ร้อยละ 51.39% และหลังจากเติมข้อมูลจาก VTR และฟังข้อมูลขยายภาพฉากทัศน์จากผู้ร่วมเสวนา 3 ท่าน ทำให้ผู้เข้าร่วมเห็นด้วยกับฉากทัศน์ A ร้อยละ 20% ฉากทัศน์ B ร้อยละ 27.50% และฉากทัศน์ C ร้อยละ 52.50% สะท้อนให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับฉากทัศน์ C ทั้งก่อนและหลังรับฟังข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนที่หลากหลายเพิ่มเติม 

ทั้งจากมุมมอง จากประสบการณ์ของแต่ละคน อาจจะมองฉากทัศน์ก่อนและหลังของการได้รับข้อมูลเปลี่ยนไป ทีมที่ทำงานในเครือข่ายหรือทำงานในพื้นที่มานานอาจจะมีอีกมุมหนึ่ง หรือคนทำงานในกลุ่มของภาครัฐที่รับผิดชอบอาจจะเห็นอีกมุมหนึ่ง ในมุมของนักวิชาการก็อาจจะมีอีกมุมมองหนึ่ง ในการที่จะเห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็อาจจะมีความแตกต่างกันไป

“ฉากทัศน์ B  หนูคิดว่าใน 20 ปีข้างหน้า ประเทศเราคงมีความพยายามที่จะพัฒนาให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว รัฐบาลเราใน 20 ปีข้างหน้าจะเป็นประชาธิปไตยเหมือนสหรัฐหรือยัง ถ้ายัง แล้วยังไม่มีการต่อต้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือการสนับสนุนการสร้างเขื่อนของรัฐบาล มันก็คงผลกระทบมันก็ยังจะเกิดขึ้น แล้ววิถีชีวิตของคนในชุมชนมันก็ต้องดิ้นรนเพื่อที่จะให้ชีวิตอยู่รอดไป” นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

 

“ฉากทัศน์ C  จินตการของผมก็คือว่าถ้าประเทศเราพัฒนาแล้ว ก็อยากให้ทำลายเขื่อน เหมือนอย่างสหรัฐอเมริกา” ชาญชัย ดาจันทร์ ทีมวิจัยไทบ้าน ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย 

“ฉากทัศน์ C อีก 20 ปีข้างหน้าสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศน่าจะแย่ลงเรื่อย ๆ มันจะเป็นตัวบีบให้จำเป็นต้องทำอะไรบางอย่าง และเมื่อวันนั้นไม่ว่ากลไกภาครัฐจะเป็นยังไงก็ตามมันต้องเลือก นั่นเป็นสิ่งที่ผมอาจจะมองแง่ร้าย แต่ว่ามันทำให้มันต้องมีฉากทัศน์ใหม่ขึ้นมาแก้ถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่” ดร.จตุภูมิ ภูมิบุญชู อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

“หนูตอบฉากทัศน์ C หนูไปสะดุดตรงคำว่ามุ่งแก้ปัญหาใจกลาง หนูคิดว่าถ้าเราไม่มุ่งเข้าไปแก้ปัญหาเลย ปัญหามันก็จะตามเราไปไม่ว่าจะปีไหนมันก็ยังตามเราไปตลอด” นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

“มองว่าโลกไม่ถอยหลังแน่นอน เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ เรื่องของปัญหาที่มันชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนไม่สามารถจะอยู่กับปัญหาจำเจได้นานหรอกค่ะ เชื่อมั่นว่าอย่างนั้น ปัญหามันเห็นชัดเจนขึ้น แม้กระทั่งหน่วยงานเองไม่กล้าพูดเรื่องเขื่อนแม่น้ำโขงว่าเขื่อนด้วยซ้ำ งานวิจัยในปีแรก ๆ ที่มีปัญหาใช้คำว่าสิ่งกีดขวางแม่น้ำโขงในรายงานของของหน่วยงาน

จนกระทั่งปัญหาผ่านไปแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ก็เรียนรู้ว่าระดับน้ำโขง 3 วันขึ้น 3 วันลง จนกระทั่งวันนี้ 1 วันขึ้นเช้า เย็นลง พวกเราพยายามต่อสู้เรื่องนี้มา 15 ปีเห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะ แล้วเราเห็นหน่วยงานแก้ไขปัญหาตามที่เราร้องเรียน เช่น เตือนภัยเราได้มั้ย เขาก็ตั้งกลุ่มไลน์แล้วเตือนเราเช้า เตือนเราเย็น นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เราเห็นว่าหน่วยงานก็ยอมรับว่าแม่น้ำโขงมันเปลี่ยนไปจริง ๆ ระดับน้ำโขงไม่ได้ลงหน้าแล้ง มันไม่ได้ขึ้นหน้าฝน อย่างเดียว มันขึ้นลงรายวัน อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจน  

เทรนด์เรื่องโลกร้อน เทรนด์เรื่องพลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด ซึ่งเราจะต้องตีให้ตกให้ได้ว่าพลังงานจากเขื่อนไม่ใช่พลังงานสะอาด มันทำลายอะไรตั้งเยอะตั้งแยะ ต้องช่วยกันส่งเสียงให้ดัง ในเวทีวันนี้ก็เช่นเดียวกัน 

ทางนักวิชาการก็บอกว่าฝากความหวังของพวกเรา ให้พวกเราเกาะกลุ่มกันให้แน่น ทำเครือข่ายให้แน่น พวกเราอย่าเพิ่งเหนื่อย รุ่นเราเหนื่อยแต่เราต้องส่งต่อพลังนี้

ปัญหานี้ สถานการณ์นี้ แนวคิดในการแก้ไขปัญหานี้ ให้กับเด็ก ๆ ที่กำลังนั่งฟังพวกเราอยู่ นั่นคือความหวัง ถึงแม้มันจะไม่จบที่รุ่นเรา อันนี้เรื่องของการสื่อสารที่โลกใบนี้มันเป็นใบเดียวกัน แม่น้ำนานาชาติที่มันผ่าน 6 ประเทศทำไมมันจะเป็นแม่น้ำสายเดียวกันไม่ได้  

เทรนด์ที่ที่คิดว่ามีความหวังอยู่ตลอดเวลาก็คือเรื่องของความยั่งยืน ซึ่งจะต้องเอามาวางบนโต๊ะให้ชัด ๆ ว่า ‘SDG’ ความยั่งยืนเป็นความยั่งยืนของใคร เขื่อนในไม่น้ำโขงใครรวย ใครจน การสื่อสารช่วยเราได้เยอะ พวกเราต้องช่วยกันพูดในเรื่องนี้ เรื่องของความยั่งยืน 

17 ข้อใครได้ใครเสียของคน 60 ล้านคน หรือว่าของ 4-5 บริษัท อันนี้ต้องช่วยกันสื่อสารชัด ๆ แล้วก็สถานการณ์ปัญหาที่หนักขึ้น หลายเรื่องที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลง เช่นก่อนหน้านี้การประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ ‘MRC’ จัดมา 13-14 ครั้ง เพิ่งมีโอกาสไปรับฟังกับเขา พูดเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดเลย มีพ่อคนหนึ่งมาจากจำปาสัก สปป.ลาว มานั่งหลับ เราจึงประท้วงกันในเวทีว่าคุณต้องสื่อสารในภาษาถิ่น MRC 4 ประเทศต้องสื่อสารทั้งภาษาไทยภาษาลาว ภาษากัมพูชา และภาษาเวียดนาม ไม่ใช่พูดแต่ภาษาอังกฤษ ครั้งที่ 14 ล่าสุดเขาจ้างล่ามแปลให้เรา นี่ก็คือกำลังใจเล็ก ๆ ที่เราเห็นว่ามันมีอะไรเปลี่ยนแปลงอยู่  

เราเห็นการเปลี่ยนแปลงการแก้ไขกฎหมายที่กรมคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงยุติธรรมกำลังพูดเรื่องแผน National Action Plan on Business and Human Rights ‘NAP’ กำลังพูดเรื่องการลงทุนของนักธุรกิจข้ามพรมแดนที่มันส่งผลกระทบ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ เราเห็นเรื่องกฎหมายเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษชน ซึ่งทางนักวิชากาหลาย ๆ ส่วนก็กำลังพยายามช่วยกันอยู่ ถ้าพวกเราไม่ถอดใจเสียก่อน ถ้าพวกเราที่เป็นเจ้าของปัญหายังยืนยันแล้วก็ค้นต่อไป สู้ต่อไป เรามีเพื่อนเยอะขึ้น มั่นใจว่าพวกเราไม่ได้อยู่กับปัญหาเดิม ๆ แน่นอน  

และท้ายที่สุดรัฐบาลตอนนี้ การสื่อสารที่มันมีทุกแวดวง ที่มันสามารถพูดออกมาปุ๊บแล้วรู้กันทั่วโลกเลยมันเกิดขึ้นแล้ว เชื่อมั่นว่าเทรนด์ในเรื่องของการจัดการน้ำอย่างมีธรรมาภิบาลร่วมกัน จะเป็นเทรนด์ที่มาแน่นอนแล้วก็เด็ก ๆ เหล่านี้จะเป็นพลังที่สำคัญในการติดตามนโยบายที่พวกเราคาดหวัง ก็เลยเลือก C ทั้ง 2 ครั้งเลย” อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ประธานสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) 

“ผมเลือก C ทั้ง 2 รอบ แต่สิ่งที่ผมมอง ผมจะมองในแง่ร้าย เพราะว่าในอนาคตแม่น้ำโขงมันจะต้องเปลี่ยนไปแบบคนในปัจจุบันอาจจะไม่เห็น เพราะปัจจุบันแม่น้ำโขงมันไม่ได้เป็นของชุมชนแล้ว มันไปอยู่ในส่วนกลาง ถ้าจะเปลี่ยนแปลงอะไรมันต้องอยู่ที่ส่วนกลางเท่านั้น ซึ่งตอนนี้เรามองว่าคนที่สามารถควบคุมแม่น้ำโขงได้คือคนที่มีอำนาจ อำนาจทั้งทรัพยากร อำนาจในการตัดสินใจ

ซึ่งอำนาจตรงนี้มันไม่ได้อยู่กับชุมชน กับพื้นที่แล้ว ถ้าจะให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ก็ต้องมีการร่วมกัน ทั้ง CSO, NGO ภาควิชาการ สถาบันการศึกษา หลาย ๆ ส่วน 

สมมุติเรื่องแม่น้ำโขง ทำเป็นแบบใยแมงมุมดูเลยว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แล้วมีการมานำเสนอพูดคุย แล้วนำไปแก้ปัญหาร่วมกัน ผมว่าอันนี้จะเป็นการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับสูง แม้กระทั่งมีกลุ่มมีอำนาจหรือว่ากลุ่มทุนต่าง ๆ ผมคิดว่าเขาจะต้องหันมาฟังตรงนี้ เพราะว่ามันเป็นพลังที่เยอะพอสมควร มันต้องการเสริมพลังกัน” ชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่รักษ์เชียงคาน 

“อันนี้อาจจะเป็นความคิดของเด็กรุ่นใหม่ หนูเลือกฉากทัศน์ B เพราะว่าประเทศไทยมีความร้อนอยู่แล้ว ในอนาคต 20 ปีข้างหน้า อุณหภูมิอาจจะสูงขึ้นมากกว่านี้ เพราะว่าประเทศไทยอยู่กับเส้นศูนย์สูตรอาจจะทำให้น้ำแห้งหรือว่าน้ำลดปริมาณลงไปมาก บางพื้นที่ปลาอาจจะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่

คนก็เลยต้องเปลี่ยนอาชีพ หรือว่าต้องขึ้นไปกรีดยาง หรือตัดกล้วย อาจจะไปทำงานอยู่ในเมือง งานโรงงาน คือมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามปี ไปตามอนาคตที่จะเกิด” นักเรียน โรงเรียนวังม่วงพิทยาคม 

ได้ฟังที่ลูก ๆ เลือกฉากทัศน์ B วิถีชีวิตของคนมันก็ต้องเปลี่ยน ก็เหมือนแม่น้ำโขงที่มันเปลี่ยน แต่ความดิ้นรนของเราก็ต้องดิ้นรนเพื่อชีวิตรอดของครอบครัว ในอนาคตข้างหน้าเรายังมองไม่เห็น แต่ว่าวิธีแก้ไขปัญหาเราก็ยังพอจะสู้ต่อไปเพื่อเด็ก ๆ แต่ถ้าเลือกได้เราก็ไม่อยากขึ้นฝั่ง เพราะการขึ้นฝั่งเราต้องใช้แรงงาน ต้องใช้ความพยายามของเราถ้าเราไปทำงานต่างถิ่นที่ไม่ใช่บ้านเกิดของเรา เราก็ต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว  

ถ้าพูดถึงว่าให้มีน้ำโขงที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมือนแต่ก่อน ก็อยากได้กลับคืนมาทั้ง 100% ความคิดทุกวันนี้ก็คิดว่าแม่น้ำโขงกลับมาไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเงินเป็นสิ่งที่เราต่อสู้ไม่ไหว อำนาจของเงินชาวบ้านไม่มีปัญญาที่จะต่อสู้ได้ แต่ก็จะพยายามพาเด็ก ๆ ทำในตัวนี้” ก้านก่อง จันลอง ชาวบ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย 

อยากจะพูดถึงเรื่องของความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางน้ำ เราจะพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่งแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะมันมีความเชื่อมโยงกันอยู่ เริ่มต้นที่เรามีการสร้างเขื่อนขึ้นมา เพราะเรามองว่าเราต้องการความมั่นคงทางพลังงาน ปัจจุบันอยากให้ข้อมูลว่าประเทศเรามีความมั่นคงทางพลังงานเยอะมาก การไปสร้างเขื่อนมันมีผลกระทบ ซึ่งเห็นชัดเจนทางผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางสังคม มันมีทางเลือกอื่นที่เราจะได้มาซึ่งความมั่นคงทางพลังงาน โดยที่เราไม่ต้องสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงทางน้ำ  

ยกตัวอย่างเช่น เราเซ็น MOU กับประเทศลาวเพื่อที่จะนำเข้าพลังงาน ตอนนี้น่าจะประมาณ 12,500 เมกะวัตต์ ซื้อเขามาแล้ว 5,500 เมกะวัตต์ เราก็ยังต้องซื้อเขาอีก ถ้าเราไม่อยากจะผิดสัญญา เห็นหลายประเทศแทนที่จะสร้างเขื่อนใหม่เราก็เอาโรงไฟฟ้าทุ่นรอยน้ำโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) เอาไปใส่ในโรงไฟฟ้าที่เขามีอยู่แล้ว อย่างเช่นพวกเขื่อนที่เขามีอยู่แล้วเราก็เอาทุ่นไฟฟ้าตรงนี้ไป integrate เข้าไปในในระบบ มันก็จะมีความถูกลงกว่าเดิมโดยที่ไม่ต้องสร้างอันใหม่ ถ้าจะตอบโจทย์เรื่องของความมั่นคงทางพลังงานมันมีทางเลือกอื่น ๆ อีกมากมาย 

โดยเฉพาะเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ การที่เราไปสร้างอันใหม่เข้ามา เราก็ทำลายทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำลายพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งทั้งโลกพยายามจะรักษาพื้นที่สีเขียวนี้อยู่ หลายประเทศเขาพยายามฟื้นฟูแม่น้ำ แล้วก็ฟื้นฟูวิถีชีวิต พยายามให้น้ำไหลเป็นธรรมชาติเหมือนเดิม   

คือการที่เราจะปรับตัวเข้าสู่ธรรมชาติมันง่ายกว่าที่จะเอาธรรมชาติมาปรับตัวกับเรา ไม่แน่ใจว่าเราจะชนะธรรมชาติได้หรือเปล่า เพราะว่าการพัฒนาที่ผ่านมาจะเห็นว่าสาเหตุที่เรามีปัญหาทุกวันนี้ ก็เพราะวิธีคิดหรือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เรามองแค่ธรรมชาติเป็นทรัพยากร อาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่าธรรมชาติคือสินทรัพย์ที่เรามีอยู่ ซึ่งเราควรจะต้องรักษาไว้ 

ประเทศพัฒนาแล้วเขาทำแบบนี้หมดเลย ถ้าเราอยากจะเป็นประเทศพัฒนา หลายคนก็บอกว่าเราอยากเป็นประเทศพัฒนาก็ลองดูว่าประเทศที่เขาพัฒนาแล้วเขาทำอย่างไร อันนี้ก็ลองไปดูตัวอย่างแล้วกัน” ผศ. ดร.อภิสม อินทรลาวัณย์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 

ผมก็เป็นตัวแทนในหน่วยงานภาครัฐ ต้องนำนโยบายมาใช้ อย่างเช่นโครงการส่งเสริมอาชีพที่จัดฝึกอบรมแถวลุ่มน้ำโขงที่ผ่านมา ซึ่งก็มีเกษตรกรเข้าร่วมประมาณพันกว่าราย จัดอบรมเสร็จก็สนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำให้ได้ไปเลี้ยงต่อ ผมก็หวังว่าทางกรมก็คงจะพิจารณางบประมาณในปีถัดไป ให้มีโครงการแบบนี้ต่อเพื่อยกระดับ อาจจะที่เลี้ยงแล้วก็แปรรูปมาช่วยเกษตรกรลุ่มน้ำโขง หรือมีโครงการอื่น ๆ ที่พอพัฒนาขึ้นไปได้เพื่อให้เยาวชนได้ตระหนักรู้ว่า ทรัพยากรน้ำโขงกำลังจะหายไป เราควรเน้นการอนุรักษ์ส่งเสริมหรือมีส่วนร่วมในการ  ปลูกไคร้น้ำ หรือพันธุ์ไม้น้ำอื่น ๆ เพื่อช่วย หวังว่ามันจะอยู่ได้ระยะยาว แต่ว่าโครงการแบบนี้มันก็จะเป็นระยะสั้น อยู่ได้แค่ 1-2 ปี ถ้าขาดการสนับสนุนต่อเนื่องก็อาจจะหยุดลงไป” ทวีศักดิ์ สกุณา ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเลย กรมประมง 

“ในความคิดเห็นว่ามันมีความสำคัญทั้ง 3 ฉากทัศน์เลย A คือหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามา ว่าเราจะทำอย่างไรให้มีปลาคงอยู่ เหมือนกรมประมงเขามีการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อที่จะให้คงอยู่ สองก็คือ B เชื่อว่าเราจะต้องปรับตัวเพราะปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว ปลาเริ่มสูญพันธุ์ วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงเริ่มเปลี่ยนไป  

เมื่อก่อนเราเคยมีสวนผัก วิถีชีวิตเคยเห็นการที่มีปลูกผักตอนหน้าหนาว มีแปลงผักสวยงาม ลงไปเล่นน้ำตอนเด็ก ๆ มีเก็บผักขึ้นมาทานได้โดยที่เราไม่ต้องไปซื้อหา พอวิถีชีวิตตรงนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ก็อยากที่จะให้ทุกคนปรับเปลี่ยนตามไปด้วย พร้อมกับฉากทัศน์ C คืออยากให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันเป็นพลังขับเคลื่อนตัว เพื่อที่จะให้ภาพจินตนาการในอนาคตที่เราจะทำลายฉากกั้นตรงนี้ ให้น้ำโขงกลับมามีชีวิต อยากฝากให้น้อง ๆ คนรุ่นใหม่ เราก็จะต่อสู้ไปพร้อม ๆ กัน แล้วก็ฝากความหวังไว้ที่เยาวชนชนคนรุ่นใหม่ ที่จะผลักดันให้มัน 10-20 ปี เพื่อให้จุดประสงค์ของเราเพื่อที่จะคืนชีวิตให้กับแม่น้ำโขง ประสบความสำเร็จในอนาคตต่อไป” พัชรินทร์ รวมรส ปลัดอำเภอสังคม จ.หนองคาย 

“จริง ๆ เราอยู่กับลุ่มน้ำโขงมาตั้งแต่เริ่มจำความได้เลย เห็นความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำโขง ทั้งอาหาร ทั้งระบบเศรษฐกิจ เราเห็นว่ามันสมบูรณ์มาก หลังจาก 7-8 ปีที่ผ่านมาความอุดมสมบูรณ์มันเริ่มลดลงแล้วเราเห็นระบบของรัฐบาลการเปลี่ยนแปลงที่เราคาดไม่ถึงเลย ทั้งการพัฒนา

มองฉากทัศน์ C เราอยากหยุดหยุดการพัฒนาบ้าง เพราะการพัฒนามันเยอะแล้ว เราเพียงพอแล้ว เราอยากให้มีที่มันเคยมียังคงอยู่บ้าง อย่าเพิ่มเติมเลย ความมั่นคงของเราตอนนี้ในชุมชนเรามั่นคง เราอยากให้มีงานวิจัยของ หน่วยงานไหนก็ได้ มาทำวิจัยเกี่ยวกับความสุขของคนในชุมชน กับความสุขของคนที่จะมาแบบพัฒนา ของเราเต็มร้อยค่ะตอนนี้เรามีความสุข ถ้าคุณไม่เพิ่มขึ้นมาอีก ทั้งระบบเศรษฐกิจ ทั้งวิถีชีวิตของเรา เรามีเต็มร้อยแล้วไม่ต้องเพิ่มหรอก สิ่งที่เราไม่ต้องการขอให้หยุดก่อน ชะลอนิดหนึ่ง รับฟังเสียงจากชุมชนเล็ก ๆ บ้างว่าความสุขระดับเต็มร้อยของเรา กับความสุขที่คุณจะเพิ่มมามันทำให้ เราสุขจริงไหมหรือสุขแบบทุกข์ ๆ สุขทั้งน้ำตาอะไร” ชาวบ้านบ้านคกเว้า ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย 

“การที่เราจะสู้กับนายทุน เราเปรียบเป็นหมดแดงที่จะไปกัดกับช้าง สมมุติว่าปล่อยให้แต่คนรุ่นแก่ ๆ กัด ถ้าลูกหลานไม่ช่วยจะสำเร็จไปไม่ได้ ฉะนั้นมดแดงกัดช้างต้องกัดหลาย ๆ ตัว ถ้ากัดอัน 1-2 ตัว ไม่ระคายผิว 

อีกอย่างหนึ่งต้นไคร้ ที่จะปลูกเสริมที่สภาพแวดล้อม เพราะว่าต้นไคร้เปรียบเหมือนบ้านปลา ตอนนี้ผมก็ปักช้ำไว้ประมาณ 800 กว่า พร้อมปลูกแล้ว รอน้ำแห้งประมาณเดือนเดือนพฤศจิกายนนี้ ถ้าน้ำแห้งไปแล้วก็จะเริ่มปลูกเลย”ชาญชัย ดาจันทร์ ทีมวิจัยไทบ้าน ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย 

“ลุ่มน้ำโขงของเราผู้มีบารมีสูงทำลายเอา คนรากหญ้าอย่างเราคอยเจ็บตัวไปเรื่อย ๆ ไปจนตลอดลูกหลาน ถ้าเราไม่พร้อมอกพร้อมใจกันจริง ๆ ไม่ชนะเขา ฟังดูแล้วคล้ายกับคนหาเสียง คนหนึ่งหาเสียงเฉย ๆ แต่อีกคนเอาเงินทุ่มให้เลย เสียงมันก็ไปทางเงินตามทีเคยดูคลิปมา ผมอยากให้ชาวพี่น้องเราสามัคคีกัน ช่วยกันจริง ๆ” บัวลา ตะวัน พรานปลาบ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย 

ท่ามกลางฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากมาย เพื่อร่วมกันฟังข้อมูล สื่อสาร ส่งเสียง ผ่านการ “มองภาพอนาคต “วิถีคน วิถีปลา ลุ่มน้ำโขง” ในอีก 20 ปี ข้างหน้า ผ่านการเปลี่ยนแปลงและเตรียมรับมือผลกระทบ ตลอดจนร่วมหาทางออกให้กับผู้คน ทรัพยากรและแม่น้ำโขงสายน้ำนานาชาติแห่งนี้ เพื่อให้ข้อมูลชุดนี้นำไปสู่การส่งเสียง การสื่อสาร แล้วในท้ายที่สุดจะเป็นพลังที่จะนำมาสู่การแก้ไข หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตกับอนาคตทั้งวิถีคนวิถีปลา อย่างไรก็ตามเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรและเราจะทำให้เกิดภาพเหล่านี้ร่วมกันได้อย่างไร ยังเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันจัดการ 

แชร์บทความนี้