เรื่องที่แดงขึ้นเป็นข่าวใหญ่เมื่อต้นเดือนเมษายน 2567 กรณีพบการลักลอบบขนย้าย “กากแคดเมียม” จากจังหวัดต่าง ไปยังโกดังที่ สมุทรสาคร ชลบุรี กรุงเทพมหานคร และที่สุดจะต้องขนกลับไปฝังกลบ ที่จังหวัดตากนั้น
สำหรับ คนแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก นี่เป็นเหมิอนหนังฉายซ้ำ ขุดเอาความทรงจำที่ต้องจำทนอยู่กับผลพวงของแคดเมียมมากว่า 20 ปี โดยความทรงจำและผลกระทบนี้ ยากที่จะขุดหลุมฝังให้ลบเลือน
ย้อนไปประมาณ 20 ปีที่แล้ว (ปี 2547) หลังพบมีการสัมปทานทำเหมืองสังกะสีในพื้นที่ อ.แม่ตาว จ.ตาก แต่เกิดการรั่วไหลของสารเคมีโดยเฉพาะแคดเมียม ปนเปื้อนแถบลุ่มน้ำห้วยแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ตอนนั้นสังคมยังคิดว่าแคดเมียมเป็นเรื่องไกลตัว
ต่อมามีการเปิดเผยข้อมูลและงานวิจัยว่า มีการปนเปื้อนสารแคดเมียมในพืชผลการเกษตรของชาวบ้านที่ลุ่มน้ำแม่ตาวจริง ๆ โดยเฉพาะอาหาร เช่น ข้าว กระเทียม และถั่วเหลือง ที่มีค่าแคดเมียมเกินกว่าค่ามาตรฐาน และยังปนเปื้อนในลำห้วยแม่ตาว ที่ชาวบ้าน 3 ตำบลคือ ต.พระธาตุผาแดง ต.แม่ตาว และต.แม่กุ ใช้ดื่มกิน ทำให้สารแคดเมียมนั้นเข้าสู่ร่างกาย ก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่นภาวะไตวาย และเข้าไปสะสมอยู่ในกระดูก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนและอาจมีอาการปวดกระดูกอย่างมากโดยเฉพาะที่กระดูกสะโพก ซึ่งเป็นอาการของโรคอิไต – อิไต โดยคนกลุ่มนี้จะมีอาการกระดูกเปราะ แตกหักง่าย
ในเวลานั้นโรงพยาบาลแม่สอดและสาธารณสุขอำเภอแม่สอด ตรวจร่างกายประชาชนกว่า 7,000 คน พบมีสารแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ในเลือด กระดูก และปัสสาวะ ในระดับสูงกว่าปกติถึง 844 ราย ไตวายและไตเสื่อม 40 ราย ไตเริ่มเสื่อม 219 ราย เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ 24 ราย ทำให้ในเวลานั้นได้มีการออกบัตรผู้ป่วยแคดเมียมให้กับชาวบ้าน
ย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์ปมแคดเมียมที่แม่ตาว
- ปี 2525 บริษัท ผาแดงอินดัสทรี ได้รับสัมปทานเหมืองผาแดง เพื่อดำเนินการธุรกิจเหมืองแร่และผลิตโลหะสังกะสี
- ม.ค.2547 สถาบันบริหารจัดการน้ำนานาชาติ เปิดเผยผลการเก็บข้อมูลและวิจัยการปนเปื้อนของสารแคดเมียมในดินและพืชผลการเกษตร บริเวณห้วยแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ตั้งแต่ปี 2545-2546 ว่า มีการปนเปื้อนสารพิษแคดเมียมในพืชผลการเกษตร เกินกว่าค่ามาตรฐาน
- 9 ต.ค.2550 ต่ออายุประทานบัตรจาก เดินหน้ากิจการเหมืองแร่สังกะสีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปอีก 25 ปี
- ปี 2552 ชาวบ้านทั้ง 3 ตำบลที่ได้รับผลกระทบกว่า 1,000 คน ฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ผ่านสภาพทนายความเรียกค่าเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท
- 14 ส.ค.2556 ศาลปกครองพิษณุโลกพิพากษาให้ชาวบ้าน 3 ตำบลใน อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ชนะคดี ที่ร่วมกันฟ้องร้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และอีกหลายหน่วยงาน โดยให้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
- 6 มิ.ย.2562 ศาลฎีกาแผนกสิ่งแวดล้อม พิพากษาให้บริษัท ผาแดงอินดัสตรี จ่ายชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้านที่ได้รับความเจ็บป่วยจากสารแคดเมียม 20 คน เป็นเงินตั้งแต่ 20,200-104,000 บาท
- ส.ค.2566 เริ่มมีการขนย้ายกากแคดเมียม ที่บรรจุในถุง บิ๊กแบ็ก จาก อ.เมืองตาก จ.ตาก ไปยัง จ.สมุทรสาคร
- 6 เมษายน 2567 ได้มีการพบกองกากแคดเมียมที่มาจากโรงงานที่สมุทรสาคร
สารพิษตกค้าง กับกระบวนการแก้ปัญหาที่ไม่ต่อเนื่อง
ผ่านมาแล้ว 20 กว่าปี วันนี้ชาวบ้านใน ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียมปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ยังทิ้งรองรอยและบาดแผลของความเจ็บป่วยไว้บนร่างกายของพวกเขา แม้จะได้รับการเยียวยา จากบริษัทเอกชน แต่ก็ไม่คุ้มกับสุขภาพที่เสียไป ทุกวันนี้คนแม่ตาวยังคงได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ปราณี หาญพรม หนึ่งในผู้ป่วยแคดเมียม บ้านแม่ตาวแพะ ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า แคดเมี่ยมทำให้กระดูกบาง และปวดหัวเข่า ตอนนี้ได้รับยาแคลเซี่ยมจากหมอแต่อาการก็ไม่ดีขึ้น ยังมีอากาศปวดอยู่เหมือนเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการนำปัสสาวะไปตรวจและพบสารแคดเมี่ยมถึง 10% ซึ่งอยู่ในปริมาณที่มาก ต่อมาได้มีการให้ค่าชดเชย รายละ 2,000 บาท เพียงหนึ่งครั้ง หลังจากนั้นก็ไม่ได้อีกเลย
ป้า แล ป้องปุ๋ม ยังคงมี มีอาการปวดเอว มีปัสสาวะขุ่นและแดง ซึ่งหมอได้แจ้งว่าเกิดจากสารแคดเมี่ยม ในเวลานั้นที่ได้ทำการตรวจมีเพียง 7% เท่านั้น หมอจึงจ่ายยาแคลเซี่ยมให้รับประทาน แต่หลังกินได้ไม่นานหมอแจ้งว่าไม่มีแคดเมี่ยมแล้วซึ่งหยุดจ่ายยา ทุกวันนี้ยังมีอากาศปวดอยู่เหมือนเดิม แต่ล่าสุดที่ได้เข้าไปตรวจร่างกายหมอได้แจ้งว่า ไตเสื่อมแล้ว ส่วนค่าชดเชยก็ได้เพียงครั้งเดียว 2,000 บาท ประมาณเมื่อ 10 กว่าปีแล้ว
นอกจากผลกระทบด้านร่างกายที่ชาวบ้านใน ต.พระธาตุผาแดง ต้องเผชิญแล้ว ยังมีผลกระทบในการประกอบอาชีพ อาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่คือการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าว การแก้ไขที่พอจะเห็นเป็นรูปธรรม คือ การส่งเสริมแกมบังคับให้ชาวบ้านเปลี่ยนพื้นที่จากพื้นที่นา ไปเป็นพื้นที่ไร่ เปลี่ยนวิถีชีวิต และวัฒนธรรมดั้งเดิมจากการเป็นชาวนา ทำนาข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงของประเทศ ไปเป็นชาวไร่อ้อย เพื่อส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเอธานอล
พื้นที่นาจำนวนกว่า 13,000 ไร่ที่มีสารแคดเมียมปนเปื้อน ถูกแปรเปลี่ยนให้ไปทำไร่อ้อยได้เพียง ไม่ถึง 2,000 ไร่ เนื่องจากติดขัดปัญหาพื้นที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งไม่มีตลาดรองรับ ต่อมาเมื่อรัฐบาลเลิกจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับชาวบ้าน เราจึงเห็นพื้นนาที่เคยว่างเปล่ากลับกลายมาเป็นผืนนาข้าวที่เขียวขจีอีกครั้ง โดยชาวบ้านให้เหตุผลว่า เมื่อรัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลืออะไร ชาวบ้านก็ต้องดิ้นรนเพื่อปากท้องของตนเองและคนในครอบครัว
อุดม ขัดต๋า หนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบกล่าวว่า ได้รับผลกระทบทางด้านการเกษตร จากการปลูกข้าว 10 กว่าไร่ ซึ่งในตอนนั้นมีการสั่งห้ามทำการเกษตรในพื้นที่แม่ตาว ซึ่งในตอนนั้นได้มีการจ่ายค่าชดเชยให้กับกลุ่มเกษตรกรเพียงครั้งเดียวหลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการชดเชยใด ๆ อีกเลย ซึ่งเกษตรกรก็ได้รับความเดือดร้อนมาจนถึงทุกวันนี้เพราะยังมีสารแคดเมี่ยมปนเปื้อนอยู่ในดิน อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนให้ดีขึ้นกว่านี้
บทเรียนจาก “มหากาพย์แคดเมียมแม่ตาว”
ผลกระทบจากสารแคดเมียมปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในพืชผลการเกษตร นำมาสู่การฟื้นฟูและเยียวยา และการออกกฎกระทรวงกำหนดให้ลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
แต่ในมุมกลับกัน ชาวบ้านต่างส่งเสียงกลับมาว่า ที่ผ่านมาภาครัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา แม้ช่วงแรกมีการระดมทุกหน่วยงานมาตรวจสอบ แต่ได้รับเงินเยียวยาจำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นประมาณ 3-4 ปีที่ถัดมา ก็ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาเหลียวแล ขณะที่ปัญหาในพื้นที่ยังคงปรากฏและแฝงอยู่ กับความเจ็บป่วยของชาวบ้าน
ญาณพัฒน์ ไพรมีทรัพย์ กล่าวว่า เรื่องทั้งหมดก็เงียบหลังจากที่มีคําพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพฯใต้ หลังจากที่ทางบริษัทจ่ายเงินเยียวยาไปตามคําพิพากษา ก็ไม่มีอะไรที่จะคืบหน้า ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่เกิดการขนกากแคดเมียม เรื่องก็เลยกลับมาเป็นที่สนใจ คนก็ตื่นตัวกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมันไม่ควรที่จะเป็นเช่นนี้ มันควรที่จะได้รับการแก้ไขอย่างตรงไปตรงมาแต่แรก และสามารถตรวจสอบเรื่องของความโปร่งใสในการแก้ไข
ที่ผ่านมาการฟื้นฟูในด้านทางสิ่งแวดล้อมยังไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่งก่อนหน้านี้มีทีมวิจัยลงมาในพื้นที่หลายทีมหลายอันทำแล้วไม่สามารถนำมาปฏิบัติจริงได้ หลายอันสามารถนำมาใช้ได้จริงในพื้นที่แต่ขาดการสนับสนุนในเรื่องงบประมาณต่าง ๆ จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง การชดเชยและการเยียวยาก็ไม่ต่อเนื่องและสมเหตุสมผล
ถ้าถามว่าสถานการณ์ดีขึ้นไหม?
“ในเมื่อไม่มีใครไปทําอะไรแล้วมันจะดีขึ้นได้อย่างไร
ในเมื่อไม่มีใครเอาแคดเมี่ยมออกให้เรา เราก็ยังอยู่บนความเสี่ยงแบบนี้ไปตลอด”
คุณ ญาณพัฒน์ ไพรมีทรัพย์ หนึ่งในกลุ่มชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแคดเมียมที่อ.แม่ตาว กล่าวว่า รัฐบาลต้องทบทวนการแก้ไขปัญหานี้และทบทวนนโยบายยุทธศาสตร์เหมืองแร่ก็ต้องทบทวนด้วย สิ่งสำคัญที่ต้องเน้น คือ ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วม
ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา
- ประเด็นที่ 1 รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายเรื่องของยุทธศาสตร์แร่ว่ามันคุ้มค่าไหม มันคุ้มทุนกับสิ่งที่จะเป็นภาระของประเทศชาติ และภาระกับลูกหลานหรือไม่
- ประเด็นที่ 2 ทบทวนกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา มีอะไรที่สําเร็จ มีอะไรที่ไม่สําเร็จ ปัญหาอุปสรรคคืออะไร
- ประเด็นที่ 3 ต้องดึงภาคส่วนของผู้ที่เป็นเจ้าของปัญหาและผู้ที่ได้รับผลกระทบ เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด แล้วค่อย ๆวางแผนและนําไปสู่การเริ่มต้น จากน้อยไปจนสามารถฟื้นฟูพื้นที่ได้ทั้งหมด
- ประเด็นที่ 4 กระบวนการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างว่า คําพิพากษาที่ผ่านมาเราเคารพในการตัดสินของศาลเพียงแต่ว่า มันมีหลักเกณฑ์ หลักการในการพิจารณาความเสียหายของแต่ละบุคคลอย่างไร ผลกระทบจากสารแคดเมียมซึ่งจะไปทําลายในเรื่องของไตและกระดูก มันควรที่จะมีเกณฑ์อะไรในการพิจารณา มันควรที่จะคิดพิจารณาในเกณฑ์ ความเสียหายแต่ละช่วงอย่างไรบ้าง
“สิ่งที่สำคัญที่สุดเราต้องเริ่มจากการฟื้นฟู และการตรวจสุขภาพ รวมไปถึงจะต้องมีระบบการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ น้ำ ดิน และพืช ที่จะต้องมีระบบการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น โดยต้องมีตัวแทนของชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในสัดส่วนที่เท่าเทียบกับบุคคลจากภายนอก และควรทำการตรวจสอบเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น 3 ปี หรือ 5 ปี และสิ่งที่สำคัญคือต้องดึกองค์กรที่ตัวกลางในการเข้ามาเป็นผู้ตรวจ เนื่องจากชาวบ้านยังมีความกังวลในเรื่องของข้อมูลตัวเลขและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ว่าที่ผ่านมาข้อมูลนั้นมีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือเราต้องมีการจัดทำแผนเรื่องของระบบฟื้นฟูขึ้น เพื่อมาดูแลสุขภาพของคนในชุมชนที่นี่”
คุณ ญาณพัฒน์ ยังมองว่า ปัญหาลักลอบขุดกากแคดเมียมออกนอกพื้นที่ ต.หนองบัวใต้ อ.เมืองตาก ที่ผ่านมานั้น สะท้อนการทำงานที่บกพร่องของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนโนบายของรัฐบาลในสมัยนั้น
ส่วนการนำแคดเมียมออกไปและกลับมาฝังกลบอีกครั้ง เป็นคำถามที่หลาย ๆ คนสงสัยว่า “วันนี้ประเทศไทยเรามีแผนรับมือและป้องกันสารพิษอันตราย ดีพอแล้วหรือยัง” อะไรการันตีว่าปัญหาที่ชาวบ้านแม่ตาวต้องเผชิญในอดีตมาจนถึงปัจจุบันร่วม 20 ปีจะไม่เจอปัญหาแบบนี้ซ้ำอีกในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งคนแม่ตาวเองก็ไม่อยากเห็นคนที่อื่น ๆ เจอกับผลกระทบแบบที่พวกเขาเจอ.
รับชมเนื้อหาเพิ่มเติม
อนาคตประเทศไทย: 20 ปีที่คนแม่ตาวต้องทนอยู่กับแคดเมียม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ปัญหาการจ่ายค่าชดเชย ผู้ได้รับผลกระทบสารแคดเมียมปนเปื้อนแม่น้ำแม่ตาว จ.ตาก
https://www.thaipbs.or.th/news/content/182466
จนกว่าจะตายจากกัน! ผู้ป่วยแคดเมียม ลมหายใจสุดท้ายที่แม่ตาว