ห้องเรียนสีชมพู : ความรู้ ความรัก และนักสำรวจ

ที่นี่ชุมชนดงลาน เป็นชุมชนที่มีพื้นที่ที่ติดกับป่าสงวนแห่งชาติดงลาน มีพื้นที่ค่อนข้างไกลจากตัวเมือง จ.ขอนแก่น ด้วยระยะทางกว่า 146 กิโลเมตร เพื่อมาถึงหมุดหมายปลายทาง ที่ไร่ภัทราวรินทร์ คาเฟ่ & แคมป์ ที่บ้านซำขาม ต.ดงลาน อ. สีชมพู พื้นที่ที่มีต้นทุนศักยภาพทางธรรมชาติ ด้วยแหล่งทรัพยากร แหล่งท่องเที่ยว ระบบนิเวศและวิถีชุมชน ที่อุดมด้วยพืชผลทางการเกษตร และแวดล้อมด้วยภูเขา โดยเฉพาะภูเขาหินปูนที่มีภาพเขียนสีประวัติศาสตร์ และพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม

2 วัน 1 คืน กับกิจกรรมนักสืบเยาวชนเรียนรู้วิถีสีชมพูสำรวจนิเวศสิ่งแวดล้อม ที่มีเยาวชนจากโรงเรียนสีชมพูศึกษา โรงเรียนผาขามวิทยายน โรงเรียนหนองตาไก้ศึกษา โรงเรียนภูเวียงวิทยาคาร โรงเรียนภูผาม่าน และเยาวชนกลุ่มเด็กนอกระบบ รวมทั้งปราชญ์ชุมชน ที่ร่วมเรียนรู้ผ่านการทำค่ายนักสืบธรรมชาติ และการสื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์พลเมือง ที่ผ่านกระบวนการห้องเรียนธรรมชาติ สำรวจสิ่งมีชีวิตในลำน้ำ ในช่วงวันที่ 23 – 24 พฤศจิกายน 2567 ในพื้นที่ ต.ดงลาน อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น

“ดีใจที่ได้มาเรียนรู้บ้านเรา รู้สึกว่าธรรมชาติบ้านเราสวยมาก พืช สัตว์ สภาพแวดล้อม บ้านเราควรแก่การอนุรักษ์ เป็นกิจกรรมที่สนุกสนานมากเลยค่ะ ได้พบกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ต่างโรงเรียนต่างจังหวัด นอกจากนี้ได้สำรวจสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่อยู่ในแหล่งน้ำ น้ำตกนางคอย เป็นระบบนิเวศเล็ก ๆ ที่อุดมสมบูรณ์ โดยการที่เราไม่ไปทำร้ายสัตว์น้ำ สัตว์ป่า ไม่ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ และบริเวณรอบ ๆ และอนุรักษ์ระบบนิเวศเล็ก ๆของเราไว้ค่ะ” จุฬาลักษณ์ วันทะนีนักเรียนโรงเรียนสีชมพูศึกษา ที่ร่วมเดินทาง สำรวจ สังเกต ตั้งคำถาม ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง จากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในแหล่งน้ำ จากกระบวนการนักสืบสายน้ำ ผ่านคู่มือแบบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำโดยพลเมือง

“รู้สึกว่าเป็นกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างสมบูรณ์แบบ ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง มันจะอยู่กับเขาไปอีกนาน แต่อย่างน้อยเขาบอกได้ว่าเขาเคยมาทำนักสืบสายน้ำ เคยเจอสิ่งมีชีวิตอะไรบ้าง แล้วเขาได้ถ่ายรูป ได้เห็นด้วยตาตัวเอง ถ้าเรียนในห้องเราอาจจะแค่เล่าให้เขาฟังว่าสิ่งมีชีวิตมีลักษณะอย่างไร  กิจกรรรมวันนี้ดีมาก” ครูมิ้นต์ รัตนพร คำไสว ครูวิทยาศาสตร์ โรงเรียนผาขามวิทยายน สะท้อนกระบวนการเรียนรู้ ต่อกิจกรรรมการสำรวจนิเวศสิ่งแวดล้อม ที่ตัวเด็กนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง จากการลงสังเกตในลำน้ำตกคอยนาง อ่างเก็บน้ำเขาสัพยา และทั้งสำรวจผาสบนก ผาวัวแกง และผาช้าง ในพื้นที่ดงลานที่เต็มไปด้วยสภาพป่าเขาหินปูน มีพืชพรรณเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญมีความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณพืช เป็นแหล่งอาหาร ที่สำคัญของชุมชน ผ่านการเขียนบันทึก เล่าเรื่อง  ถ่ายรูป ผ่านเครื่องมือ C-site เครื่องมือ  iNaturalist และนอกจากนี้ยังเป็นการติดตั้งเติมเครื่องมือกระบวนการสื่อสารให้คนในชุมชนอีกด้วย

“ได้ความรู้หลายอย่าง และได้แบ่งปันให้ลูก ๆ ได้รู้ปัญหาบ้านเรา ที่กลุ่มรักษ์ดงลานเราเผชิญเรื่องเหมืองหิน ขอบคุณสำหรับการเก็บข้อมูล คาดหวังว่าลูก ๆ จะเอาไปบอกเล่า ให้ทุกคนได้มองเห็นปัญหาบ้านเราในการทำเหมืองหิน จริง ๆ แล้วสิ่งเดียวที่เราใช้ร่วมกันคืออากาศ มันสามารถอนุรักษ์ร่วมกันได้”  อัญชสา หงษ์กลาง เครือข่ายกลุ่มรักษ์ดงลาน

“การสื่อสารเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญจำเป็น สำหรับการทำมีพลังมากนะ เราสื่อสารอย่างไร ก็ต้องเก็บข้อมูลก่อน มันทำให้เด็กเห็นกระบวนการสื่อสาร และค่อยมาตรวจสอบศึกษาข้อมูล กิจกรรมมันเป็นฐานกายเยอะ เด็กได้เห็น ได้เรียนรู้เอง” ครูผึ้ง กัลยา พิทยาภาพงษ์ โรงเรียนหนองตาไก้ศึกษา

“การสำรวจธรรมชาติ ปกติเราจะขึ้นเขาอย่างเดียว แต่เราไม่ได้สำรวจพืช สำรวจสัตว์ นี่เป็นครั้งแรกที่เราไปสำรวจพืช เป็นสมุนไพรที่ยินชื่อแต่ไม่เคยเห็น อย่างขนุนดิน วันนี้ได้ไปเห็นสัตว์ในน้ำ เราไม่รู้ว่าข้างล่างที่มีหินจะมีสัตว์ตัวเล็ก ๆ ในนั้น  เป็นความรู้ใหม่ที่เราได้เป็นการสำรวจธรรม ความอุดมสมบูรณ์ ควรแก่การอนุรักษ์” ครูแดง ยุพิน โทไข โรงเรียนสีชมพูศึกษา

การสำรวจนิเวศรักษาภูเขา บนพื้นที่อารยธรรมโบราณ แหล่งทำกิน ผ่านการเก็บข้อมูลของเยาวชนเรียนรู้วิถีสีชมพูสำรวจนิเวศสิ่งแวดล้อมครั้งแรก ที่ตัวเด็กได้มาเห็น สัมผัส และเรียนรู้พร้อมกับความพยายามของคนในพื้นที่  

“ที่นี่เรียกว่าผาวัวแดง หรือ ผางัวแดงนะครับ เป็นจุดที่ค้นพบภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ มีความสำคัญที่บ่งบอกถึงแหล่งโบราณคดีที่เกิดขึ้นในชุมชน ก็คือใช้การวาดโดยบ่งบอกลักษณะแบบใช้เป็นตัวสี กลุ่มสีสนิมที่ทำเป็นตัวสัตว์แล้วก็มีอาจจะเป็นพิธีกรรมอะไรบางอย่าง แต่ที่ลักษณะชัด ๆ ก็คือรูปวัวครับ ด้วยความลักษณะที่มันเป็นเหมือนกับเพลิงถ้ำกึ่งถ้ำ แล้วก็เป็นพื้นที่เปิดคิดว่ามีศักยภาพในการพัฒนาได้ หรือแม้กระทั่งพื้นที่ตรงนี้เองก็มีร่องรอยพวกไหโบราณ หรือพวกถ้วยโบราณหรือว่าเศษวัสดุที่เป็นอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ถ้าเกิดมาทำดี ๆแล้วก็มีการสำรวจจริง ๆ อาจจะเป็นจุดที่บ่งบอกถึงอารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ของเราได้ครับ”  สัญญา มัครินทร์ หรือที่หลายคนเรียกขานว่า “ครูสอยอ” เล่าถึงแหล่งประวัติศาสตร์ภาพเขียนสีโบราณ

 สัญญา มัครินทร์ เล่าต่อ “ในแง่หนึ่งสำคัญตรงที่ทำให้เด็กในพื้นที่เองได้รับรู้รับรู้ว่าบ้านของเขา นอกจากจะเป็นภูเขาหินปูนที่มีลักษณะพิเศษแล้วก็ยังมีนิเวศอื่น ๆ ทั้งพืชแล้วก็ทั้งภาพเขียนสี แล้วก็องค์ความรู้ที่สามารถจะเรียนรู้ได้ในเชิงภูมิศาสตร์ เชิงประวัติศาสตร์ แล้วก็เชิงวิทยาศาสตร์หรือพืชพันธุ์ต่าง ๆ น่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ใกล้ตัวที่เด็กจะได้เห็นคุณค่าบ้านของเขามากขึ้น  ก็น่าจะเป็นจุดที่สะท้อนถึงความสมบูรณ์ในเชิงมรดกทางวัฒนธรรมในแง่หนึ่งก็สะท้อนถึงมรดกของพืชพันธุ์ที่อยู่กับกลุ่มเขาหินปูน

นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น… การเรียนรู้ร่วมกันของเยาวชนในพื้นที่ และคนในชุมชน กับเวลา 2 วัน 1 คืน ในการสำรวจทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพโดยใช้ Location Base ของนักสื่อสารเยาวชนเรียนรู้วิถีสีชมพูสำรวจนิเวศสิ่งแวดล้อมและคนในชุมชนผ่านกระบวนการวิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen science) จึงเป็นโอกาสสำคัญให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงคุณค่าของพื้นที่ ตลอดจนแสดงถึงศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นที่จะนำไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวิถีและความต้องการของชุมชนภายใต้ห้องเรียนฟ้ากว้าง ห้องเรียนสีชมพูที่เต็มไปด้วยความรู้ ความรักของเหล่านักสำรวจทุกช่วงวัย ซึ่งต่างรอคอยนักค้นหามาเจอกัน

แชร์บทความนี้