“ย่ำขาง”
เปลวเพลิงสีเหลืองวาบโฉนเมื่อน้ำมันสมุนไพรสัมผัสเหล็กแดงร้อนจัด เสียงฉู่ฉ่ากับสะเก็ดไฟจากน้ำมันแตกกระเด็นเป็นสายเส้น ตลบกลิ่นสมุนไพรหอมฟุ้งอบอวล กับความร้อนที่ถูกส่งถ่ายจากผ่าเท้าถึงแผ่นหลัง เพื่อคลายปวดเมื่อย …นี่คือภาพการ ‘ย่ำขาง’ ที่ไม่ว่าคนชนชาติใด ถ้าได้เห็นเป็นครั้งแรกก็ย่อมตื่นตาต้องใจ ประหวั่นถึงอันตรายและความปลอดภัย มีคำถามกับสรรพคุณการเยียวยาวว่าจะได้ผลดีจริงอย่างที่ล่ำลือหรือไม่
แต่วันเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ‘ย่ำขาง’ คือภูมิปัญญาด้านสุขภาพที่อยู่คนล้านนา มาหลายร้อยปี และปัจจุบันได้รับการรับรองจากรัฐ ว่าเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาแพทย์พื้นถิ่นที่ให้คุณด้านการรักษา หากใช้อย่างถูกวิธี
‘อยู่ดีกิ๋นลำ’ ตอนที่ล่าสุด ขอชวนทุกท่านมาร่วมสำรวจ ‘ย่ำขาง’ ไฟ น้ำมัน การเยียวยา ศาสตร์แห่งการรักษาของคนล้านนา ทั้งในเรื่องกรรมวิธีการรักษา ปรัชญาแนวคิด รวมไปถึงคุณค่าและความหมาย จากพ่อครูภูมิปัญญาที่ใช้เวลาทั้งชีวิตในการทำการรักษา และส่งต่อองค์ความรู้ พ่อครูอรรณพ จันทรบุตร
ย่ำขาง มรดกจากคนรุ่นพ่อ
“น่าจะราวเมื่อปี 2533 ครับ พ่อบุญชู จันทรบุตร พ่อของผมกับมิตรสหายพ่อครูแม่ครูภูมิปัญญาได้ร่วมกันตั้งชมรมหมอพื้นบ้านล้านนา และก็มีการปรึกษาหารือกันว่าเราจะทำยังไงให้ความรู้ภูมิปัญญาที่คุณค่าคงอยู่ต่อไป แล้วก็มีการนำพับสา ใบลาน บันทึกต่างๆ มาดูกัน ในหมวดหมอเมืองหรือแพทย์พื้นบ้าน ปรากฏว่ามีเรื่อง ‘ย่ำขาง’ อยู่ด้วยก็เลยนำมาศึกษาร่วมกัน เรียกว่ากางตำรากันดูว่าจะทำย่ำขางต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง มีใบผาน (ใบมีดไถนา) น้ำมันไพล คาถารักษา และวิธีการขั้นตอนต่างๆ ตอนนั้นพ่อครูก็ได้นำเนื้อหามาถกแถลงพูดคุยกันเป็นข่วงพญา (ระดมความคิดเห็น) เกิดเป็นการนำ ‘ย่ำขาง’ ที่อยู่ในตำรับตำรา และอาจจะยังพอมีหลงเหลืออยู่ไม่มากนักเรียกว่าใกล้สูญหาย กลับมาสืบสาน เรียนรู้ และใช้งานอย่างจริงจังกันอีกครั้ง”
“สำหรับตัวผมเอง เรียกว่าเกิดมาก็เห็นผู้หลักผู้ใหญ่คนเฒ่าคนแก่เขาทำกันอยู่แล้ว ก็ได้เห็นกับตาเจอกับตัวว่าคนที่เขาเจ็บไข้ ปวดเหมื่อย บางรายหนักข้อถึงขั้นเดินเหินลำบาก พอมาย่ำขางมาแหกรับการรักษาแบบพื้นบ้านล้านนา แล้วเขาดีขึ้นจริงๆ ก็เลยคิดได้ว่า นี่คือของดี เป็นเรื่องที่ดีได้ช่วยคน เราควรรับหน้าที่สืบทอดต่อไป ชีวิตผมก็คลุกคลีอยู่กับเรื่องนี้มาตลอด จนเมื่อผู้อาวุโสพ่อครูต่างๆ ท่านก็เริ่มอายุมากสุขภาพไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน เราก็เข้ามารับหน้าที่สานต่อ”
ใจ ไฟ น้ำมันกับการเยียวยา
“การรักษาต่างๆ ของหมอเมืองที่ผมรับมาทำต่อ ถือเป็นความภาคภูมิใจ พอภูมิใจ และใส่ใจก็ยิ่งลุ่มลึก ศึกษาละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ทั้งขอคำชี้แนะจากพ่อครู และศึกษาทดลองด้วยตนเอง แล้วก็พยายามดูว่าแต่ละสิ่งที่ประกอบกันขึ้น ให้คุณอย่างไร ความหมายที่แฝงอยู่คืออะไร ตั้งคำถามกลับไปกลับมา เช่น ตำราบอกต้องใช้น้ำมันงา แล้วทำไมใช้น้ำมันอื่นไม่ได้ น้ำมันมะพร้าวได้ไหมนะ แล้วมันให้ผลลัพธ์แบบไหน ตรงนี้แหละกลายเป็นหลักสำคัญ ที่ช่วยให้เราสอนลูกศิษย์ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือต่างชาติ ได้ชัดเจน เพราะเราบอกได้อธิบายกระจ่าง อย่างน้ำมันงา พอโดนความร้อนแล้วใช้นวด ใช้ย่ำ มันดีกับผิว ดีกับกระดูก แบบนี้เป็นต้น”
“ส่วนประกอบของการย่ำขาง จะมีน้ำปูเลย หรือที่คนไทยกลางเรียกว่า ‘ไพล’ มีสรรพคุณลดการเจ็บปวด และอักเสบ ต่อมาก็คือ น้ำมันงา สรรพคุณ เสริมกระดูก และผิว สมัยก่อนเวลากระดูกหัก ครูบาอาจารย์เขาจะใช้น้ำมันงาพร้อมคาถาต่อกระดูก ช่วยเสริมให้กระดูกติดกัน มีสมุนไพรแล้วก็มีความร้อน จากเหล็กใบผาน ความร้อน หรือไฟ เป็นธาตุพื้นฐานของคนเรา ที่มีธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ช่วยขับลม กระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดี สุดท้ายคือต้องมีคาถารักษา เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีครูมีศิษย์ ต่างครูบาอาจารย์ก็ใช้คาถา ไม่เหมือนกันนะครับ อีกที่หนึ่งอาจจะใช้คาถาดับพิษไฟ ของเราก็ใช้คาถาพระโมคคัลลานะ คนจะทำการรักษาได้การต้องรับขันครู ไหว้ครู มีครูบาอาจารย์คอยเป็นพึง ฝึกปรือจนกว่าจะเชี่ยวชาญ”
“ย่ำขางนี่จะดีกับคนที่มีอาการลิ่มเลือดอุดตันในสมอง ภาษาหมอเข้าเรียกเป็น Stroke เพราะช่วยไล่เลือดไล่ลม กับคนที่มีอาการปวดเรื้อรังในส่วนของกล้ามเนื้อ และเอ็น”
ใบผาน และความเชื่อ
“ศาสตร์ย่ำขาง มีความลึกซึ้งมากครับ เริ่มจากตัวใบผาน ใบไถ คนโบราณเขาถือว่าเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะทำหน้าที่พลิกกลับดิน เอาดินดีขึ้นมาเพื่อใช้เพาะปลูก อนุมานได้ว่าจะช่วยพลิกชีวิต คนที่ตกอับพลิกขึ้นมา พลิกความเจ็บปวดลงไป เอาสิ่งที่ดีที่งามเกิดขึ้น เป็นความหมายว่าจะพลิกทุกสิ่งชนะทุกอย่างนะครับ คนโบราณจึงถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์และมีไว้บูชา การย่ำขางนิยมใช้เหล็กผาน ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว เพราะถือว่าได้ผ่านพิธีกรรมเลี้ยงผีนา เลี้ยงพระแม่โพสพพอข้าวสุกก็มีพิธีเลี้ยงผีตาราง และไปทำบุญตานข้าวใหม่ การนำใบผานที่ใช้งานแล้วจึงเชื่อมโยงทั้งเรื่องคุณค่าความเชื่อ จิตวิญญาณ และคุณค่าทางใจของการหาอยู่หากินของคนเมือง”
ภารกิจส่งต่อ สู่คนรุ่นถัดไป
“ผมรับไม้ต่อจากพ่อครูแม่ครูรุ่นพ่อ รุ่นอา ก็หวังใจว่าที่เราเปิดรักษา และสอนคนที่สนใจมาเรียนไปด้วย จะช่วยให้ศาสตร์ ‘ย่ำขาง’ และการรักษาของหมอเมืองยังคงอยู่ อยากให้เราทุกคนมองว่า สิ่งที่ผมกำลังทำ และพ่อครูแม่ครูหลายท่านกำลังพยายามทำมันคือวิถีชีวิตและวัฒนธรรมสุขภาพ ที่ช่วยสร้างสังคม ไม่อยากให้จำกัดอยู่แค่การเป็นแพทย์พื้นบ้าน โดยพื้นฐานเรื่องสุขอนามัย อันนี้เราต้องทำให้ได้มาตรฐาน อาคารสถานที่ต้องสะอาดสะอ้าน ภาชนะห่อหุ้ม ที่นอน หมอน เสื้อผ้า ต้องเปลี่ยนให้เขา ต้องตามไปกับยุคใหม่ ไม่ใช่ว่ายังคร่ำครึ
คุณค่า ความเชื่อ ความหมายจิตวิญญาณ การไหว้ครู ยกขันครู การใช้คาถา แม้ไม่รู้ความหมายแต่แรกก็ต้องครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะนี้คือการส่งต่อภารกิจ ส่งต่อคุณค่าที่ดีงามของเรา การทำงาน การเรียนรู้จึงต้องลุ่มลึก และผสมผสาน ปรับใช้ แพทย์ปัจจุบัน ก็ไม่ใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบ หมอเมืองก็ต้องเพิ่งพาแผนปัจจุบันและเรียนรู้ ที่จะเข้าใจโลกทัศน์แบบนั้นด้วย คือต้องไปด้วยกันครับ ทำงานสอดกันไปเพื่อสุขภาพของผู้คน และสังคมของเราครับ”