มหา’ลัยไทบ้าน เปิดหลักสูตรชนบทดิจิทัล เรียนฟรี 1 ปี  12 เดือน 12 วิชา

“ทั้ง 12 กิจกรรม ให้เรียนฟรี ทั้งมี workshop ออนไลน์ โดยผู้เชี่ยวชาญในวงการ อย่างนัก Content Creator  นักตัดต่อ นักพรีเซ็นต์ นักออกแบบ คนทำเว็บ คนทำงานด้านศิลปะ ในภู อ.ภูผาม่าน และ อ.สีชมพู”…

กุลชาติ เค้นา  โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาเทคไทบ้าน สาธยายถึงรายวิชาที่เขาและคณะทำงานร่วมออกแบบสไตล์บ้าน ๆ แต่ทว่าน่าสนใจและใช้ได้จริง เพื่อเป็นแหล่งความรู้และส่งต่อให้กับผู้สนใจที่ลงสมัครเรียนกับมหา’ลัยไทบ้าน ซึ่งไม่มีการตัดเกรดให้คะแนนใด ๆ นอกจากความพึงใจ ความม่วนซื่นและการนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันเป็นผลตอบแทน

กุลชาติ เค้นา

เดินทางเข้าสู่ปีที่ 3 แล้วกับการเปิดหลักสูตร “มหา’ลัยไทบ้าน” กุญแจสำคัญของพื้นที่เรียนรู้ และขับเคลื่อนการศึกษาบนฐานชุมชน เพื่อลดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำ ร่วมแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงทักษะความเข้าใจ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นทักษะขั้นพื้นฐานของชีวิตที่ต้องปรับให้เข้ากับสังคมยุคปัจจุบัน ที่ฟาร์มคิด อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น

“เราอยากให้คนในพื้นที่รับรู้ในสิ่งที่เราผลักดันแล้วอยากทำให้คนในพื้นที่เข้าถึงเราจริง ๆ เราพยายามผลักดันเรื่องนี้โดยตลอดแล้วมันเข้าถึงเฉพาะคนในวงการศึกษา วงการเทคโนโลยี ซึ่งคนในพื้นที่จริง ๆ แทบจะไม่ได้มีการเชื่อมโยง การรับประโยชน์จากการมีสิ่งนี้จริง ๆ   มีหลักสูตรเกิดขึ้นอยากทำงานกับคนในพื้นที่”  

กุลชาติ เค้นา  โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาเทคไทบ้าน  เล่าถึงการเปิดพื้นที่นำร่องทำงานหลักสูตร มหา’ลัยไทบ้าน ที่ใช้เป็นกลไกการทำงานร่วมกับชุมชนตลอดหลักสูตร ทั้ง 12 กิจกรรม ให้เรียนฟรี ทั้งมีworkshop ออนไลน์ โดยผู้เชี่ยวชาญในวงการอย่างนัก Content Creator  นักตัดต่อ นักพรีเซ็นต์ นักออกแบบ คนทำเว็บ คนทำงานด้านศิลปะ ในภู อ.ภูผาม่าน และ อ.สีชมพู

มหาลัยกับไทบ้าน

 “มหาลัย” มันมีนัยยะสำคัญ คือ ต้องมีองค์ความรู้ที่เป็นทักษะสำคัญที่เอาไปต่อยอดในอนาคตได้ กับคำว่า “ไทบ้าน” คือทำอย่างไรให้ไทบ้านเข้าถึงง่าย เป้าหมายเราปีนี้ “มหา’ลัยไทบ้าน” คือ องค์ความรู้ที่ส่งต่อให้กับคนไทบ้านได้เข้าถึงจริง ๆ

สาขาชนบทดิจิทัลมันสำคัญ คือ เพื่อนในวงการศึกษาขับเคลื่อนหลากหลายมิติ ศิลปะ ดนตรี วัฒนธรรม ธรรมชาติ แต่ยังไม่มีใครขับเคลื่อนเรื่องเทคโนโลยีในชุมชน ซึ่งเป็นสายงานที่ตรงกับผมอยู่ รู้สึกว่านี่เป็นคีย์สำคัญที่จำเป็นมากจะต้องมี หลักสูตรที่หลากหลายมากพอ โดยเฉพาะเรื่องทักษะดิจิทัลในชุมชน ถ้ามีจะทำให้เกิด Impact ในชุมชน คือลดความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีที่มันมีปัญหาอยู่ปัจจุบัน”

หลักสูตร มหา’ลัยไทบ้าน  เพื่อคนท้องถิ่นได้เรียนรู้จากฐานทรัพยากรธรมชาติ วิถี และสิ่งแวดล้อมในชุมชน 

“ห้องเรียนธรรมชาติและชุมชนปีนี้เหมือนเรายังชวนผู้เรียนไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติและชุมชน ชวนผู้เรียนและผู้ที่สนใจมาเรียนรู้ใช้สถานการณ์ในชุมชน เรื่องของสิ่งที่ชุมชนกำลังเป็นห่วง และกำลังผลักดันกัน คือ เรื่องศิลปะถ้ำ เราจะใช้ศิลปะตัวนี้เป็นตัวเคลื่อนชุมชน โดยเรามี 3-4 หลักสูตร หลักสูตรที่เป็นไฮไลท์ของปีนี้ คือศิลปะถ้ำ นำและขับเคลื่อนชุมชน  โดยการชวนครู ชาวบ้าน นักเรียนในชุมชน มาเห็นคุณค่าศิลปะในพื้นที่  ที่มีหนาแน่นอยู่ประมาณ 16 พื้นที่ เพื่อให้เขารับรู้ หรือเขาจะขยับงานในศิลปะชุมชน พาชุมชนตื่นตัวเรื่องนี้ อนุรักษ์นำไปสู่เรื่องการปกป้อง ออกแบบผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในชุมชน และผลักดันให้พื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเชิงอนุรักษ์โบราณสถานไปด้วย”

สัญญา มัครินทร์ หรือ สอยอ ผู้ที่ลาออกจากครูมาเป็นทั้งเรียน นักพัฒนา ร่วมออกแบบหลักสูตรการศึกษา ห้องเรียนธรรมชาติและชุมชน ที่ชวนครู ชุมชน นักท่องเที่ยว และคนที่สนใจ ร่วมออกแบบสร้างประสบการณ์เรียนรู้ได้นำไปต่อยอดพัฒนาท้องถิ่น

3 หลักสูตร ห้องเรียนธรรมชาติและชุมชน

1.หลักสูตรหนุ่มสาวคืนถิ่นกับการท่องเที่ยวชุมชน ชวนคนมารับรู้เรื่องการกลับบ้าน การสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือสร้างมูลค่าในชุมชนได้อย่างไร

2.หลักสูตรการเจริญสติ เรียนรู้ด้านในผ่านการใช้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนเป็นเครื่องมือ

3.หลักสูตรเปิดเทอมใหญ่มหาลัยไทบ้าน เป็น open hous ครั้งสุดท้าย ชวนคนมาแลกเปลี่ยน เอ็มเพาเวอร์ชุมชน  ชวนคนนอกมาพลัดกันเรียนเปลี่ยนการสอน

นราธิป ใจเด็จ

“พื้นที่ตรงนี้กับการเปิดหลักสูตรเป็นนิเวศที่สร้างชุมชน เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง และจริงใจ  มอส. เราสร้างคน แต่ยังไม่ไปถึงพาชุมชนสร้างนิเวศ ให้เกิดการเรียนรู้ และการอยู่รอดได้ การเข้ามาครั้งนี้เรารู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ได้เรียนรู้ ร่วมกับมหาลัยไทบ้าน จะทำอย่างไรที่เรามีทรัพยากรในมือสามารถสร้างการอยู่รอดได้ กินได้ สามารถสร้างเด็กและเยาวชน สร้างเป็นผู้นำ ต่อยอดในสิ่งที่เขาอยากจะทำจริง ๆ

นราธิป ใจเด็จ หรือ นาย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) เล่าถึงความสำคัญของการสร้างนิเวศการเรียนรู้บนฐานชุมชน เป็นอีกเครื่องมือที่กระจายอำนาจการศึกษา การเข้าถึงทักษะ พัฒนาคนทำงานในพื้นที่ได้อย่างมีศักยภาพ

การเดินทางของ “มหา’ลัยไทบ้าน” เป็นอีกบทบาทของเครือข่ายคนรุ่นใหม่ นักคิดนักพัฒนา นักออกแบบได้ร่วมสร้างประสบการณ์ พัฒนามาเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ให้กับคนไทบ้าน หรือคนพื้นที่ที่สนใจ ได้ร่วมศึกษา ได้เข้าใจ เข้าถึงทักษะจำเป็นเหล่านี้โดยง่าย  

ติดตามรายละเอียดตารางเรียนหลักสูตร หรือกิจกรรม เพิ่มเติมได้ที่ เทคไทบ้าน – Tech Thaiban

แชร์บทความนี้