ย้ำภาคธุรกิจต้องร่วมรับผิดชอบแก้โจทย์ฝุ่นไฟภาคเกษตร    

 

เมืองเชียงราย ริมชายแดนแม่สาย ที่ต้องมีสภาพถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควันข้ามแดนทุกปี

การเติบโตของภาคเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ โดยเฉพาะเกษตรพันธสัญญา ที่ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตแบบมุ่งเป้าหมายการได้ผลผลิตเชิงอุตสาหกรรม กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนรูปแบบและวิถีการผลิตจากเพื่อการค้าบางส่วนเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบและใช้ไฟในการเผาเพื่อปรับและขยายพื้นที่  

ระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) คือ การทำสัญญาระหว่างระหว่างผู้ประกอบการหรือผู้ซื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรฝ่ายหนึ่ง กับผู้ผลิตได้แก่เกษตรกร โดยมีเงื่อนไขในการผลิต จำหน่าย หรือจ้างผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรโดยเกษตรกรตกลงที่จะผลิต จำหน่าย หรือรับจ้างผลิตผลิตผลทางการเกษตรตามจำนวน คุณภาพ ราคา หรือระยะเวลาที่กำหนดไว้ และผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเป็นฝ่ายที่ตกลงที่จะซื้อผลิตผลดังกล่าวหรือจ่ายค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยผู้ประกอบการจะให้การประกันราคาผลผลิตพร้อมทั้งให้การสนับสนุนทุนพันธุ์พืชและเทคโนโลยีที่ทันสมัย กล่าวคือ สัญญาดังกล่าวนับเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งของเกษตรกรว่าจะมีรายได้แน่นอน ทำให้มีความกล้าที่จะลงทุน ลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกร เนื่องจาก มีหลักประกันที่ทำให้มั่นใจว่าเมื่อถึงเวลาแล้วจะสามารถขายสินค้าหรือผลผลิตได้ มีตลาดรองรับผลผลิตและมีราคาที่ตกลงไว้แน่นอนชัดเจน  

แต่เมื่อเกษตรกรได้ทำสัญญาแล้ว ก็ต้องผลิตให้ได้ปริมาณที่ได้ตกลงไว้ แต่ข้อจำกัดด้านเวลา ต้นทุนในการจ้างแรงงานเก็บเกี่ยวหรือเครื่องจักร ทำให้เกษตรกรบางส่วนตัดสินใจใช้วิธีการเผา เพื่อลดต้นทุนแรงงาน กำจัดวัชพืช และลดค่าใช้จ่ายในการใช้สารเคมีการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการเผา ใบอ้อยในการเก็บเกี่ยว หรือการเผาเศษวัสดุข้าวโพดเพื่อเตรียมพื้นที่การเพาะปลูกในฤดูถัดไป ซึ่งการเผาพื้นที่ป่าและพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตรดังกล่าวได้สร้างปัญหาให้เกิดมลพิษทางอากาศต่อเนื่อง

พืชที่มีการเผามากที่สุดคือ ข้าว ข้าวโพด และอ้อย   ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการสนับสนุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ จากการส่งออกของอุตสาหกรรมน้ำตาล และอาหารสัตว์ ด้วยความต้องการอย่างมากของตลาด และการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐทำให้เกษตรกรทำการปลูกพืชทั้งสองชนิดมากขึ้น เช่น กรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกิดจากการที่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมการเลี้ยงปศุสัตว์เติบโตทำให้มีความต้องการอาหารสำเร็จรูป เพื่อสนับสนุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ เป็นการผลิตภาคการเกษตรเพื่ออาหารสัตว์ (Feeds) นำสู่การผลิตอาหารคน (Foods) และเชื้อเพลิงพลังงาน (Fuels)

โดยนโยบายการผลักดันให้มีการทำการเกษตรแบบพันธสัญญาเริ่มเด่นชัดขึ้นอีกในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 2549) โดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจน มุ่งเน้นปรับระบบการผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันทำให้มีการสนับสนุนให้ทำการเกษตรแบบพันธสัญญาเพื่อตอบสนองเป้าหมายของนโยบายดังกล่าว

ร้อยละของจำนวนจุดความร้อนจำแนกตามพื้นที่เกษตร
ที่มา : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), 2563-2566 อ้างถึงใน ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน, 2566

 

 

ขยายพื้นที่ข้ามพรมแดนเกิดมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน

 ความไม่เพียงพอของพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อการผลิตภายในประเทศเพื่อตอบสนองต่อภาคอุตสาหกรรม   ทำให้เกิดการขยายตัวภาคเกษตรกรรมที่มีการย้ายฐานการผลิตจากภาคเหนือของไทยสู่พื้นที่เกษตรกรรมที่สูงตามแนวชายแดนด้วยวิธีการเผาเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า เช่น  ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (พื้นที่ป่าเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปี 2558 จำนวน 1.56 ล้านไร่ และจำนวน 3.16 ล้านไร่ ในปี 2566) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (พื้นที่ป่าเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปี 2558 จำนวน 1.56 ล้านไร่ และจำนวน 5.74 ล้านไร่ ในปี 2566)  

 เอกสารสรุปการศึกษาของกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันทำการศึกษาวิเคราะห์และติดตามพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จุดความร้อน (hotspot) และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) พื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ตอนบนภาคเหนือของประเทศไทย ตอนบนของ สปป.ลาว และรัฐฉาน ของเมียนมา) เอกสารสรุปการศึกษา 3 ระยะ คือ ระหว่างปี 2545-2555 ระหว่างปี 2558-2563 และระหว่างปี 2564-2566 โดยใช้วิธีการทางภูมิสารสนเทศและการแปลภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของการใช้ประโยชน์ที่ดิน (การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) จุดความร้อน และการขยายตัวของฝุ่นละอองขนาดเล็ก

สรุปผลการศึกษาแต่ละระยะ พบว่า การขยายตัวของปรากฏการณ์ข้าวโพดรุกป่าในภาคเหนือเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตป่าบนพื้นที่สูงในภาคเหนือ นับตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา โดยในปี 2545 เริ่มมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพบว่า ปี 2547 ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินโครงการลงทุนในเกษตรพันธสัญญากับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมา และเวียดนาม เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มหันปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้นด้วยแรงจูงใจทางด้านเศรษฐกิจ

สภาพพื้นที่ที่ถูกปรับเพื่อรองรับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในแขวงทางตอนเหนือ สปป.ลาว

ข้อสรุปที่น่าสนใจของการศึกษาครั้งนี้ คือ การขยายพื้นที่เกษตรกรรมข้ามพรมแดนนำสู่มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนได้กลายเป็นปัญหาต่อสุขภาพของประชาชนภาคเหนือ ผลการศึกษาได้เชื่อมโยงการเปลี่ยนบริบทและปริทัศน์เชิงพื้นที่การเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว (ระบบเกษตรกรรมที่เป็นการปลูกพืชชนิดเดียวในบริเวณกว้าง) อุตสาหกรรมการผลิต และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมการผลิตอาหารคนจากเนื้อสัตว์ ที่ธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ผลักภาระสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยส่งผลกระทบกลับมายังสังคมไทย ที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนทางสุขภาพจากการดำเนินการของธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

และจากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับข้อมูลจำนวนจุดความร้อน (hotspot) พบว่า มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน จำนวนจุดความร้อนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนในปี 2547 มีจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปี 2545 มากกว่า 15 เท่า และจำนวนจุดความร้อนมีจำนวนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนในปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงเช่นกัน  

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีความพยายามบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้วิธีเผาเพื่อทำการเกษตร แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สาเหตุหนึ่งเนื่องจากมาตรการทางกฎหมายยังคงเน้นการควบคุมเฉพาะการห้ามเกษตรกรใช้วิธีการเผาในขั้นตอนการทำการเพาะปลูก แต่ไม่มีมาตรการกำหนดหน้าที่สำหรับภาคธุรกิจ เช่น โรงงานน้ำตาล หรือ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ และได้รับประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานของผลผลิตดังกล่าวให้มีร่วมรับผิดชอบในการไม่รับซื้อผลิตผลที่เกิดจากการเผา

ดังนั้น หากรัฐบาลผลักดันให้มีกฎหมายที่กำหนดหน้าที่ต่าง ๆ ให้กับฝั่งภาคธุรกิจซึ่งเป็นฝั่งที่มีอำนาจในการต่อรองเข้ามาเป็นผู้ควบคุมตรวจสอบ ผลผลิตที่ตนรับและนำเงื่อนไขเรื่องวิธีการผลิตที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเป็นมาตรการในการรับซื้อ กฎหมายดังกล่าวอาจส่งผลให้แก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากข้าวโพด ในช่วงปี 2566 เป็นต้นมา มันสำปะหลัง เป็นพืชเกษตรที่มาแรงใน สปป.ลาวโดยมีทั้งโรงงานของไทยและจีนไปตั้งและเปิดลานรับซื้อหลายแห่ง

ข้อเสนอแนะในการรับมือมลพิษทางอากาศจากภาคการเกษตร

เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจากภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้

  • ควรกำหนดเป้าหมาย มาตรการ และกลไกระดับพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษฝุ่นควันขนาดเล็ก เพื่อเป็นทิศทางและการปฏิบัติการระดับพื้นที่เป้าหมายทางการเกษตร เช่น พื้นที่ปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยน้ำตาล และพืชเกษตรอื่น ๆ ซึ่งนำสู่การกำหนดระเบียบการเผาและการลงโทษผู้ที่ละเมิดอันก่อให้เกิดมลพิษ จุดเน้น คือ การสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ในการจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ
  • เนื่องจากต้นเหตุของมลพิษทางอากาศจากภาคเกษตรกรรม คือ การขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรทั้งในส่วนของการผลิตและการเก็บเกี่ยวผลผลิต การเผาเศษวัสดุทางการเกษตรจึงเป็นวิธีการที่จะช่วยลดการใช้แรงงานภาคการเกษตรได้จำนวนมาก ดังนั้น นโยบายเร่งด่วนที่ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน คือ การลงทุนและการพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรที่จะเข้ามาช่วยทดแทนแรงงานภาคการเกษตรที่ขาดแคลน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนดังกล่าว สามารถดำเนินการผ่านการสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนา การลงทุนพัฒนาในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรขั้นพื้นฐาน การอุดหนุนภาคธุรกิจเอกชนสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรแก่เกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังเข้าไม่ถึงเครื่องจักรกลการเกษตร การพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การอุดหนุนเกษตรกรให้เข้าถึงการใช้ประโยชน์เครื่องจักรกลการเกษตรให้มากขึ้นผ่านกลไกตลาด
  • ภาครัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีตลาดสำหรับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อทำให้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทางข้าว อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีราคาและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
  • ควรมีการกำหนดแนวทางที่เข้มข้นต่อการจัดการหน่วยธุรกิจ (บริษัท) ที่มีส่วนรับผิดชอบการเผาพื้นที่เพาะปลูก (ไร่ข้าวโพดและไร่อ้อย) ทั้งในและนอกประเทศ เนื่องจากความเข้มงวดของมาตรการการห้ามเผาในพื้นที่เกษตรกรรมภายในประเทศส่งผลให้ผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมมีการย้ายฐานการเพาะปลูกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านยังไม่มีมาตรการการกำกับดูแลหรือการห้ามเผา ขณะที่ในส่วนของหน่วยงานของไทยก็ไม่ได้มีมาตรการที่จะกำกับ ยับยั้ง หรือห้ามการรับซื้อผลผลิตการเกษตรที่ใช้วิธีการเผาพื้นที่ในการเก็บเกี่ยว
  • กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรต้องระบุในนโยบายหลักขององค์กรว่าจะไม่รับซื้อผลผลิตหรือบริการทางการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรจะต้องทำการตรวจสอบทั้งก่อนทำสัญญา และหลังการทำสัญญาว่าเกษตรกรที่เป็นคู่ค้าได้ทำการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนหรือไม่
  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และ องค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ ในพื้นที่เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการให้ความรู้และแนวปฏิบัติกับเกษตรกรถึงทางเลือกที่สามารถทดแทนการเผาเพื่อเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ เช่น การจัดการแปลงด้วยการใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยว และให้ความรู้เกี่ยวกับการเก็บเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไว้ในแปลงเกษตรในระดับที่เหมาะสมเพื่อปรับปรุงคุณภาพของดิน
  • ควรสนับสนุนการจัดเวทีระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงปัญหาและเป็นกลไกการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษจากภาคการเกษตรของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นทั้งเวทีการเจรจาการแก้ไขปัญหา การเจรจาการค้าสินค้าที่มาจากแหล่งกำเนิดมลพิษ การแลกเปลี่ยนข่าวสาร การสนับสนุนความรู้ การร่วมลงทุน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาระหว่างประเทศไม่อาจก้าวก่ายกิจการภายในของแต่ละประเทศได้ การดำเนินการต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องเน้นการมีศูนย์กลางประสานการแก้ไขปัญหา ทั้งในระดับภูมิภาค อนุภูมิภาค และระดับพื้นที่ย่อยเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในทุกระดับภายใต้ทิศทางเดียวกัน.

เรียบเรียงจาก  บทความ เรื่อง “การเติบโตของภาคเกษตรเชิงพาณิชย์กับปัญหามลพิษทางอากาศ และมาตรการรับมือ”   ภายใต้โครงการวิจัย “การสังเคราะห์ความรู้จากงานวิจัยตามแผนยุทธศาสตร์ ววน. เพื่อการสื่อสารสาธารณะ” โดย สกสว.

แชร์บทความนี้