สานสัมพันธ์ ลมหายใจ สองฝั่งสาละวิน สร้างกลไกฝุ่นควันข้ามแดน

สถานการณ์ฝุ่นไฟในพื้นที่แม่ฮ่องสอน จากรายงานสรุปสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 จ.แม่ฮ่องสอน เผชิญกับจำนวนวันที่ค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 2 เมษายน 2567 กว่า 45 วัน ซึ่งวันนี้พื้นที่ ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน PM2.5 = 151.6 มคก./ลบ.ม. ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน PM2.5 = 119.3 มคก./ลบ.ม. และต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน PM2.5 = 128.1 มคก./ลบ.ม. ค่ามาตรฐาน PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ต่อเนื่อง

29 มี.ค.67 ที่ผ่านมา สภาลมหายใจภาคเหนือร่วมกับ Wevo สื่ออาสา,สถานีฝุ่น,ไทยพีบีเอส,The North องศาเหนือ,สสส.และองค์กรเครือข่ายร่วมกันจัดเวทีเสวนา “ลมหายใจ…สองฝั่งสาละวิน” แลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์กับเพื่อนที่ข้ามฝั่งมาจากรัฐกะเหรี่ยงและกะเรนนี เพราะไฟป่าสาละวินเป็นเขตไฟใหญ่ในอาเซียนตอนบน  การจัดเวทีครั้งนี้จึงเป็นการหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไข ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ของประชาชนสองฝั่งสาละวิน โดยมีวิทยากรที่มีประสบการณ์ตรงมาพูดคุยปัญหา อุปสรรคและสถานการณ์ชายแดนตะวันตกไทยกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน 

โดยมี ผศ.ดร.พลภัทร เหมวรรณ  รองผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมเสวนาและ คาดหวังว่าจะเกิดความร่วมมือในอนาคตต่อไปด้วย

นายบัณรส บัวคลี่ ประธานฝ่ายยุทธศาสตร์ สภาลมหายใจภาคเหนือ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดเวทีเสวนาลมหายใจสองฝั่งสาละวินว่า เวทีนี้จะเป็นเวทีแรกและจะเกิดขึ้นต่อๆ ไปเพื่อให้เกิดความร่วมมือกับทุกคน ทุกกลุ่มในภูมิภาคนี้เพื่อให้เห็นปัญหาใหญ่ร่วมกัน ที่แก้ไขเฉพาะประเทศไทย หรือฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายเดียวไม่ได้ โดยได้รับการอนุเคราะห์จากพันธมิตรหลายฝ่าย ทั้งศูนย์ไทยพีบีเอสภาคเหนือ

ทำไมเราต้องสนใจไฟ-ฝุ่น ในพื้นที่สาละวิน ?

พื้นที่สาละวินเป็นเขตไฟใหญ่ของอาเซียนตอนบนที่ต้องหาทางแก้ไขหรือบรรเทาและเป็นเขตต้นลมสู่แอ่งเชียงใหม่ ลำพูนและจังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียง ได้รับผลกระทบสูง

พื้นที่ป่าสาละวิน มีพื้นที่ตั้งแต่ริมน้ำสาละวิน มาถึงชายแดนแม่สะเรียง รัฐกะเหรี่ยง ดูจากไฟที่สะสมปีหนึ่ง 5 ล้านไร่เป็นอย่างต่ำ บางปีเกือบ 10 ล้าน ปัญหาใหญ่คือทางลมตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมจะมีลมตะวันตกมากขึ้นทำให้ตลอดแนวชายแดนจะได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดน การจัดเวทีนี้ก็เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และเกิดความร่วมมือในอนาคตด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินเผยปี 66 มีจุดความร้อนเกิดขึ้น 1,012 จุดพื้นที่เผาไหม้กว่า 3.3 แสนไร่

ปีทีผ่านมา 2566 ในพื้นที่พบจุดความร้อน 1,012 จุดพื้นที่เผาไหม้ 333,979 ไร่ บริเวณเขตฯสัตว์ป่าสาละวินปี 66 สถานการณ์ไฟป่าในป่าเต็งรัง 93,398.41 ไร่ พบจุดความร้อน 200 จุด พื้นที่เผาไหม้ 73,199.55 ไร่,ป่าเบญจพรรณ 457,145.45 ไร่ เกิดจุดความร้อน 783 ไร่ พื้นที่เผาไหม้ 260,640.66 ไร่ สาเหตุการเกิดไฟมีทั้งจากไฟข้ามแดนและไฟในพื้นที่ เพราะคนในพื้นที่มีอาชีพทำเกษตร เก็บหาของป่า

นายอาคม  บุญโนนแต้  หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ตั้งอยู่พื้นที่ต.เสาหินและต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่รับผิดชอบมีถึง 596,875 ไร่ ทิศเหนือสุดติดรัฐกะเรนนี  รัฐคะยา ,ทิศใต้เขตอุทยานแห่งชาติสาละวินและตะวันออกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวม และทิศตะวันตกติดกับรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา โดยก่อนประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯก็มีชุมชนเผ่าปกาเกอะญอและไทใหญ่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว

“ทั้งป่าเต็งรังและป่าผลัดใบจะเกิดจุดความร้อนมากโดยเฉพาะป่าเบญจพรรณ  ซึ่งเป้าหมายการลดพื้นที่เผาไหม้ของรัฐบาลและกระทรวงฯในปี 67 ป่าอนุรักษ์ต้องลดให้ได้ 50% ซึ่งเขตป่าสาละวินต้องไม่เกิน  506 จุด จากเดิม 1,012 จุดพื้นที่เผาไหม้จาก 339,979 ไร่ต้องลดลงเหลือ 169,989 ไร่ โดย ทั้งนี้จุดความร้อน 1 จุดแต่พื้นที่เผาไหม้ไม่เกิน 168 ไร่ อะไรที่ไหม้ 10-20 ไร่จุดความร้อนจะไม่ปรากฏขึ้นมาอันนี้ก็ต้องยอมรับความจริง และล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 29 มี.ค.67 เกิดจุดความร้อนในเขตป่าฯสาละวิน 40 จุด สาเหตุหลักๆ คือราษฎรขอชิงเผาเตรียมพื้นที่เตรียมเกษตร ก็ได้ร่วมกันทำแนวกันไฟไม่ให้ลุกลามแต่ก็มีบางจุดที่แนวกันไฟไม่พอ และทำให้เกิดจุดความร้อนเพิ่มและได้เพิ่มกำลังเข้าไปดับ และอธิบดีกรมอุทยานฯได้ส่งเฮลิคอปเตอร์มาช่วย”หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน กล่าว;jkปัญหาไฟป่า จริงๆ มีตั้งแต่ปี 35-36 กรมป่าไม้ที่ยังไม่แยกจากกรมอุทยานฯ ปัญหาไฟป่าไม่ได้ลดน้อยลง แต่ในอดีตไม่มีดาวเทียมตรวจสอบและไม่มีเครื่องวัดpm2.5 ทำให้ชาวบ้านเคยชิน แต่ปัจจุบันpm2.5 มันส่งผลกระทบไม่เฉพาะพื้นที่แต่มันส่งผลกระทบวงกว้าง ด้วยเหตุนี้เขตฯสาละวินได้เริ่มประชาสัมพันธ์ตั้งแต่เดือนพ.ย.ใช้วิธีเดินเคาะประตูบ้านให้ความรู้และได้ผลพอควร นอกจากนี้ก็มีการลาดตะเวนเชิงคุณภาพคือใกล้พื้นที่ทำกินและชุมชน พูดคุยกับชาวบ้านเก็บข้อมูลคนหาของป่าและประชาสัมพันธ์ตามแนวชายแดนด้วยคาดถึงสิ้น 31 พ.ค.67 จะทำให้จุดความร้อนลดลงได้ 30-35% ต่ำกว่าเป้าของรัฐบาลก็ถือว่าทำได้ดีที่สุดแล้ว

หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวอีกว่า จุดความร้อนในปี 67 ตั้งแต่ม.ค.-ก.พ.ไม่เกิดไฟแม้แต่จุดเดียว แต่พอ 1 มี.ค.เริ่มเกิดจุดความร้อนอยู่ห่างฝั่งพม่านิดเดียวและเป็นไฟข้ามแดน  แล้วก็มาเกิดไฟข้ามแดนเป็นกลุ่มไฟเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งเป็นพื้นที่สูงชัน มีค่ายทหารพรานอยู่ การเข้าถึงลำบากและไม่มั่นใจมีวัตถุระเบิดฝังหรือไม่ จึงส่งจนท.เข้าไป 60 คนจึงต้องทำแนวกันไฟระยะทาง  12 กม.และการใช้ไฟชนไฟแก้ปัญหาไฟป่าลุกลาม

“เดือนมี.ค.นี้เกิดไฟต่อเนื่อง มีการลักลอบเผา ตอนนี้ 400 กว่าจุด  ปัญหาอุปสรรคในการทำงานคือสภาพอากาศร้อนจัด กลางวันแทบทำงานไม่ได้และสภาพภูมิประเทศสูงชัน พื้นที่ที่เกิดไฟริมแม่น้ำสาละวิน รถยนต์ไม่สามารถส่งกำลังได้ต้องส่งกำลังทางเรือ ความเหนื่อยล้าของเจ้าหน้าที่จากการปฏิบัติงานติดต่อกันหลายวัน และพื้นที่ตามแนวชายแดนบางจุดเป็นพื้นที่อันตรายไม่สามารถเข้าถึงได้และต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งเสบียง ชุดปฐมพยาบาล อุปกรณ์ยังชีพในป่าสำหรับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่า”  นายอาคม  กล่าว


 เจ้าหน้าที่เราเป็นคนในพื้นที่ มีเครือญาตทั้งสองฝั่ง ก็เป็นข้อดีส่วนหนึ่งที่ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือทั้งรัฐกะเหรี่ยงและกะเรนนี  ข้อมูลพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่เขตป่าสาละวินมีทั้งหมด 1,691 ราย 4,392 แปลง เนื้อที่รวม 33,909 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6.18% มีการสำรวจข้อมูลหมดแล้วและกระทรวงมหาดไทยได้มาสำรวจและอยู่ขั้นตอนประกาศให้ทำกิน เพราะตอนนี้อยู่กันแบบหวาดระแวง แต่เมื่อประกาศพรก.ให้ราษฎรทำกินถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์ ตอนนี้กังวลอย่างเดียวคือหากราษฎรไปเผาพื้นที่ทำกินแล้วลามเข้าพื้นที่ป่า เมื่อเกิดประเด็นปัญหาเป็นคดีจะเสียสิทธิ ซึ่งตอนนี้ยังไม่เกิด และเวลาดาวเทียมสำรวจหากพบเป็นพื้นที่บุกรุกใหม่ ก็ให้ดำเนินคดี แต่ตอนนี้ที่ตรวจสอบก็ยังเป็นพื้นที่ทำกินเป็นแปลงหมุนเวียน ซึ่งราษฎรก็ให้ความร่วมมือเพราะกลัวเสียสิทธิ์


มีประเด็นหนึ่งคือเรื่องการสู้รบและมีชาวบ้านอพยพมาช่องทางบ้านเสาหิน 3 พันกว่าคน ในเขตอุทยานฯ แต่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็มี โดยจัดที่พักพิงให้  และก็เป็นเครือญาตของราษฎรในพื้นที่รวมทั้งเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งข้อดีคือปีนี้จุดความร้อนที่จะข้ามแดนมาฝั่งไทยลดลงมาก ก็เกิดจากส่วนนี้ด้วยเหมือนกัน  อย่างไรก็ตามยังเหลือเวลาอีก 2 เดือนแต่อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติงบฯกลาง ให้ตั้งจุดเฝ้าระวัง 60 จุด จ้างราษฎรเฝ้าระวังและลาดตระเวนซึ่งเป็นราษฎรที่เก็บหาของป่า จุดละ 3 คน ซึ่งตอนนี้มีหลายชุมชนไฟป่ายังไม่เกิดโดยจะจัดจ้างถึง 31 พ.ค.67 คาดว่าจะทำให้จุดความร้อนลดลงได้ 30-35%

จุดความร้อนตามแนวชายแดนไทย-พม่า มีผลต่อสถานการณ์หมอกควันคนภาคเหนือทั้งฝั่งรัฐฉาน ฝั่งตรงข้ามอ.แม่สาย ฝั่งกะเรนนีตรงข้ามแม่ฮ่องสอนและเมืองชเวโกโกและอีกหลายพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยงตรงข้ามจ.ตาก

ผศ.ดร.สุรัชนี ศรีใย  Visiting Fellow at ISEAS-Yusof Ishak Institute ชวนมองภาพสถานการณ์ชายแดนตะวันตก ไทย-เมียนมาร์กับการแก้ไขปัญหาร่วมฝุ่นควันข้ามแดน ที่ Hit the Point

เชียงใหม่และภาคเหนือประสบภัยฝุ่นควันอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 5 ปีที่เห็นผลชัดเจน ส่วนประเด็นที่อยากแลกเปลี่ยนคือจะมีวิธีจัดการอย่างใด ซึ่งพบว่าจุดความร้อนตามแนวชายแดนไทย-พม่า มีผลต่อสถานการณ์หมอกควันคนภาคเหนือทั้งฝั่งรัฐฉาน ฝั่งตรงข้ามอ.แม่สาย ฝั่งกะเรนนีตรงข้ามแม่ฮ่องสอนและเมืองชเวโกโกและอีกหลายพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยงตรงข้ามจ.ตาก
จุดความร้อนที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงกับการสู้รบในพื้นที่ของกองกำลังที่ควบคุมพื้นที่ซึ่งมีหลายกลุ่ม โดยในส่วนของตะเข็บชายแดนพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของกองกำลังกองทัพพม่า แต่อยู่ในควบคุมของกองกำลังหลายกลุ่ม ดังนั้นจุดความร้อนในพื้นที่ รัฐบาลไทยจะแสวงหาความร่วมมือกับรัฐบาลทหารพม่าแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร เพราะไม่ใช่ผู้ควบคุมพื้นที่

กลุ่มชาติพันธ์หลายกลุ่มได้มีการพัฒนาทางการเมือง พร้อมไปกับการต่อสู้กองทัพ เพื่อนำไปสู่แนวทางสหพันธรัฐ คือ องคาพยบ เพื่อการบริหาร และการปกครอง ดูแลเขตพื้นที่ของตนเอง

ฉายทามไลน์ KNU เป็นปีกทางการเมือง ของรัฐกะเหรี่ยง ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบและมีแนวทางที่เป็นประชาธิปไตย เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ ที่อาจเพิ่งเกิดใหม่หลังรัฐประหาร ตามโครงสร้างของรัฐกะเหรี่ยง มี 12 กระทรวงที่ทำหน้าที่ กำกับดูแลกิจการต่างๆ ในพื้นที่ควบคุมทั้งเจ็ดเขต ครอบคลุมประชากร 1.25 ล้านคน

ตัวละครใหม่ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร คือ IEC รัฐบาลรักษาการของรัฐคะเรนนี ที่เกิดขึ้นใหม่หลังรัฐประหาร ซึ่งมีโครงสร้าง ประกอบไปด้วย 12 กระทรวง แต่ปัจจุบันมี 8 กระทรวงที่สามารถก่อตั้งได้ ภายในระยะเวลา 8 เดือน ทำให้เห็นถึงพลวัตรทางการเมืองของเมียนมาที่เปลี่ยนไป

ส่วนใหญ่การพูดคุยประเด็นฝุ่นข้ามแดน ในประเทศไทยมีการทำงานแบบรัฐต่อรัฐ G2G ซึ่งอาจมีข้อจำกัดบางประการ คือ ความไม่ยืดหยุ่นต่อรูปแบบ ถ้าเรามีมายด์เซ็ททำงานแบบรัฐต่อรัฐ อาจไม่ได้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

ความเชื่องช้าในการกำหนดนโยบายต้องบูรณาการจากหลายภาคส่วน มีการพูดคุยกันเมื่อเดือนมกราคม 2567 รัฐสภาผ่านร่างแรกของพรบอากาศสะอาด แต่ยังไม่เห็นภาพรูปธรรมว่าจะเกิดอะไรขึ้น #เรื่องฝุ่นรอไม่ได้นานขนาดนั้น เพราะส่งผลต่อสุขภาพประชาชน

สิ่งสำคัญของรัฐไทยควรจะเห็นบริบทที่เปลี่ยนไปของประเทศเมียนมา รัฐบาลทหารเมียนมา อาจไม่สามารถเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือ หรือไม่เป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพได้ในพื้นที่ คืออยู่ในการควบคมของกลุ่มชาติติพันธุ์

“หลังรัฐประหารไทยไทยรับบทนางแบกมาโดยตลอด”

โจทย์คือเราต้องหาแนวร่วม ควรจะมีกลไกอื่นเสริมหรือเปล่า หากไม่สามารถรอได้

ข้อเสนอ คือ รัฐควรจะพิจารณาแนวทางเบื้องต้นเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาฝุ่นควันโดยพิจารณาให้การสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมในการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมของประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าเราจะขยับขึ้นมาพูดถึงภาคประชาสังคมที่มีชุดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของปัญหาในภาพกว้างมากขึ้นและมีเครื่องมือในการจัดการกับสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถทำควบคู่ไปด้วยโดยพิจารณาถึงกลไกการทำงานแบบ ฝ่ายบริหารในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามด้วย ต้องพูดถึงตัวฝ่ายบริหารในพื้นที่เช่นเคนเอ็นยู ไอเอ็นซี มีความพร้อมและเป็นหุ้นส่วนได้เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

ประเด็นเรื่องงบกลางควรจะนึกถึงการบูรณาการ สามารถที่จะเอางบมาใช้ในเรื่องของการสร้างองค์ความรู้การเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรทั้งสองฝั่งไม่ใช่เฉพาะฝั่งไทยฝั่งเดียวเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ฝั่งตรงข้ามเพราะสุดท้ายแล้วถ้าฝั่งตรงข้ามแข็งแรงเราก็ได้ประโยชน์เช่นกัน อาจสามารถทำจากฝั่งภาคประชาสังคมได้ในเบื้องต้นและองค์กรที่มีชุดความรู้อยู่แล้วในระยะเริ่มต้น

สุดท้ายรัฐไทยต้องคิดทบทวนว่าความมั่นคงจริงๆแล้วมันคืออะไร การจัดการความมั่นคงรูปแบบใหม่เพื่อจัดการกับประเด็นข้ามผมแดนเช่นความมั่นคงด้านสุขภาพและสาธารณสุข มนุษย์ไม่สามารถมั่นคงได้หากสุขภาพและสาธารณสุขเราไม่มั่นคง ต้องนึกถึงการจัดการความมั่นคงรูปแบบใหม่ในบริเวณชายแดนด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ความมั่นคงชายแดนเพียงอย่างเดียว เพราะมีประเด็นอื่นๆ ที่สามารถที่จะนึกถึง และต้องการแนวทางในการแก้ไขโดยเฉพาะเรื่องของฝุ่นควัน เพราะทุกคนได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ท่ามกลางดงไฟสาละวิน มีโอเอซิสปลอดเผา

ประเด็นฝุ่นข้ามพรมแดนที่ต้องทำความเข้าใจ ซึ่งฝั่งตรงข้ามมีการปรับเปลี่ยน เช่น Salaween Peace park ทางแก้อย่างยั่งยืนอีกอย่างที่เป็นไปได้คือ การอนุรักษ์ป่า ในเขตของรัฐกะเหรี่ยง หรือ SPP เป็นการอนุรักษ์ป่า SALWEEN PEACE PARK (SPP)ของชุมชนรัฐกะเหรี่ยงเพื่อดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับป่า และ UNDP ได้มอบรางวัลปี 2020 เป็นรางวัล the Equtor Prize แก่ SPP สร้างความมั่นคงและรักษาระบบนิเวศน์
“สิ่งนี้คือตัวอย่างที่แสดงศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ได้รับรางวัลจากองค์กรระหว่างประเทศ และไทยสามารถเรียนรู้ได้เหมือนกัน บริเวณนี้มีจุดความร้อนน้อยมากและเป็นไฟที่สามารถควบคุมได้ด้วย การดำเนินนโยบายฝุ่นควันข้ามแดน G to G โดยเฉพาะกับประเทศพม่าแบบรัฐต่อรัฐมีข้อจำกัดเช่น ความไม่ยืดหยุ่นต่อรูปแบบการประสานความาร่วมมือกับพื้นที่ตรงข้าม ความเชื่องช้าในการกำหนดนโยบายที่ต้องบูรณาการหลายภาคส่วน แต่เรื่องฝุ่นรอไม่ได้ การที่รัฐบาลทหารพม่าไม่สามารถเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพได้ในพื้นที่ที่อยู่ในการควบคุมของกลุ่มชาติพันธุ์ 

 Mr.Pual Sein Twa ผอ.พื้นที่อนุรักษ์อุทยานสันติภาพสาละวิน รัฐกะเหรี่ยง Karen National Union (KNU) กล่าวว่า  อุทยานสันติภาพสาละวินเป็นเหมือนป้อมปราการของกะเหรี่ยงและเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่า และวัฒนธรรมระหว่างคนและสัตว์ป่าด้วย จึง มีกฎ ข้อปฏิบัติพื้นที่เป็นสัดส่วน เป็นพื้นที่อนุรักษ์และแบ่งสรรจัดส่วนในการใช้ประโยชน์ด้วย

พื้นที่อนุรักษ์อุทยานสันติภาพสาละวิน ในการอนุรักษ์ป่าไม่สามารถเกิดได้เฉพาะคนกลุ่มเดียวต้องแสวงหาความร่วมมือคนในพื้นที่ มีการพูดกฎหมายจารีตในการกำหนดพื้นที่เพื่อให้ SPP Park ในพื้นที่ทำกินของรัฐกะเหรี่ยง และเขตพันธุ์รักษาสัตว์ป่า   ซึ่งพื้นที่อนุรักษ์อุทยานสันติภาพสาละวินเป็นการบูรณาการร่วมกันของคนในพื้นที่ ไม่ใช่ของฝ่ายใด หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น


“มันมีอุปสรรคและข้อท้าทายที่เป็นแรงขับเคลื่อนคือการสู้รบที่เกิดมากว่า 70 ปี ซึ่งชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าเนื่องจากรัฐบาลรวมศูนย์ ไม่ให้ชาติพันธุ์ดูแลทรัพยากรในพื้นที่ของตนเอง ไม่ยอมรับในวิถีที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องการ ขณะที่รัฐบาลรวมศูนย์ทรัพยากรธรรมชาติแล้วยังใช้ประโยชน์ทั้งๆ ที่ทรัพยากรธรรมชาตินั้นอยู่ในพื้นที่อยู่อาศัยของชาติพันธุ์ เมื่อรัฐบาลทหารพม่าพยายามควบคุมพื้นที่และใช้กำลังต่อสู้กัน และเมื่อควบคุมพื้นที่ได้ก็เอาทั้งการทำเหมืองแร่และสร้างเขื่อน โดยกลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีเสียงต่อต้าน และออกนโยบายเรื่องที่ดินว่าใครจะสามารถทำได้ กลายเป็นคนในพื้นที่กลับเป็นคนผิดกฎหมายของรัฐบาลกลางทั้งๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นมาก่อน”Pual Sein Twa กล่าว


นอกจากนี้ผลกระทบจากโลกร้อนที่เกิดขึ้น เชื่อมโยงกับพลรัฐหลังรัฐประหารชัดเจนขึ้นในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งหนีภัยสู้รบ ขาดความมั่นคงทางอาหาร เพราะต้องหนีเข้าป่าและต้องยังชีพด้วยการตัดไม้ ทำกินในพื้นที่ป่า จึงเป็นปัญหาอุปสรรคที่เชื่อมโยงกัน จึงทำให้รัฐกะเหรี่ยงเห็นความจำเป็นที่ต้องอนุรักษ์ป่าเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
พื้นที่อนุรักษ์อุทยานสันติภาพสาละวินจะมีบอร์ดที่มาจากการเลือกตั้ง มาเป็นตัวแทนที่อยู่ในธรรมนูญของ KNU โดย 5 คนนั้นมีผู้หญิงด้วย โดยพื้นที่นี้มีพื้นที่ป่าย่อย และมีโครงสร้างการบริหารที่แตกต่างกับประเทศไทย และยังมีกลุ่มที่ปรึกษาที่เป็นผู้อาวุโสและได้รับความนับถือจากคนในท้องถิ่นให้คำแนะนำ แต่ไม่ใช่กลุ่มที่ตัดสินใจโดยตรง เป้าหมายหลักของอุทยานสันติภาพสาละวินมี 3 อย่างคือ สันติภาพและความยุติธรรม เป็นสันติภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด, การรักษาความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความอยู่รอดทางวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมและความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ทำกินของรัฐกะเหรี่ยง  ซึ่งโครงสร้างของพื้นที่อนุรักษ์อุทยานสันติภาพสาละวินจะมีการตรวจ ติดตามและตั้งคณะทำงานติดตาม ลาดตระเวนทั้งเรื่องไฟป่า และป้องกันการตัดไม้ในพื้นที่ด้วย และประชาสัมพันธ์แนวทางอนุรักษ์ป่าของ SPP ให้คนในพื้นที่ทำตามแนวปฏิบัติดังกล่าวด้วย

Pual Sein Twa กล่าวด้วยว่า สาละวินไม่ใช่สำคัญแค่รัฐกะเหรี่ยง แต่นำไปสู่ระดับสากล ทั้งพันธกรณี สิ่งแวดล้อม เป้าหมายที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และบรรเทาปัญหาโลกร้อน ความยากจน การรักษาระบบนิเวศน์ที่สามารถขยายพื้นที่ไปยังพื้นที่ใกล้เคียง และจำเป็นต้องคุยกับภาคีร่วมในประเทศไทยเพื่ออนุรักษ์ป่าให้เกิดความยั่งยืน และมีความท้าทายหลายอย่างที่จะต้องร่วมมือกัน ซึ่งการเกิดเวทีครั้งนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

คะเรนนีเผยจุดความร้อนในเขตพื้นที่ส่วนใหญ่เกิดจากการสู้รบ ทำให้ประชาชนต้องย้ายถิ่นฐานและสร้างแหล่งทำกินใหม่

AH MOO HTOO ตัวแทนกลุ่มสิ่งแวดล้อมคะเรนนี(Karenni Evergreen); องค์การยุวชนกะเหรี่ยง(Karen Youth Organisation กล่าวว่า  เป็นครั้งแรกที่มาแลกเปลี่ยนที่นี่  ปัจจุบันก็มีปัญหาไฟป่าด้วย ไทยกับคะเรนนีก็มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีทั้งเรื่องเศรษฐกิจและวัฒนธรรม  แต่ปัจจุบันสถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่งจึงมีผู้อพยพมาจากที่อื่นด้วย หลังรัฐประหาร 3 ปีต่อเนื่องก็เกิดการสู้รบในพื้นที่ จึงมีการตั้ง KSCC ขึ้นมา


ถ้าพูดถึงทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ก็มีเยอะมาก พอๆ กับปัญหาไฟป่าในพื้นที่  การอนุรักษ์ป่าไม้จะมีหลายรูปแบบทั้งวัฒนธรรมที่นับถือผี และการฟื้นฟูป่าไม้  โดยชนเผ่าพื้นเมืองให้มีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง 


สำหรับ Thawthi โข่ซึ่ งเป็นพื้นที่ติดกับประเทศไทย ปัจจุบันมีกิจกรรมหลายอย่างหลักๆ การเก็บข้อมูลสัตว์ป่า พืชพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่  สำหรับสาเหตุไฟป่าในพื้นที่ ก็เกิดจากคนในชุมชนทั้งเผาป่า และบางครั้งเกิดจากความประมาทในการทิ้งบุหรี่ทำให้เกิดไฟ จากการประเมินปี 2021-2023 คนต้องอพยพจึงไม่สามารถปลูกป่าและทำมาหากินได้ จากการประเมินจุดความร้อนที่เกิดส่วนใหญ่มาจากการสู้รบ บางครั้งไฟป่าก็เกิดจากการทิ้งระเบิดของทหารพม่าทำให้เกิดไฟไหม้ป่าลุกลาม 
“จากประสบการณ์ในพื้นที่ ไม่สามารถป้องกันไฟป่าและปลูกป่าได้ จากปัญหาการสู้รบที่ยังเกิดขึ้นซึ่งสถานการณ์ไฟไหม้เกิดจากการโจมตีทางอากาศมากที่สุด ถ้าเป็นประเด็นไฟป่าและจุดความร้อน ก็ยังไม่มีนโยบายชัดเจน คงต้องพึ่งทางไทยที่มีความรู้และประสบการณ์มากกว่ามาช่วยสนับสนุน และยังไม่มีประสบการณ์เรื่องไฟป่าและการควบคุมไฟป่า ซึ่งทางเราก็ยังต้องรวบรวมข้อมูลอยู่ และไฟป่าไม่ใช่ปัญหาของใครคนใด คนหนึ่ง มันจะต้องมีส่วนร่วม และการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญด้วย อย่างกรณีของไทยจะมีภาพจุดความร้อน ทำให้รู้ว่าไฟเกิดขึ้นที่ใด และเข้าไปดำเนินการได้ จุดนี้เรายังต้องเรียนรู้ต่อไป เพราะการป้องกันไฟป่า ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องการเผาและไม่เผา เป็นสิ่งที่ต้องอธิบายให้ความรู้กับคนในพื้นที่ของเราด้วย” AH MOO HTOO กล่าว

สภาลมหายใจแม่ฮ่องสอนรับเป็นตัวกลางเชื่อมระดับแกนนำกับรัฐในประเทศเพื่อนบ้านหวังแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันข้ามแดนให้เกิดเป็นรูปธรรม

นายประเสริฐ ประดิษฐ์  สภาลมหายใจแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า เดิมปัญหาหมอกควัน ไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือเราเข้าใจเป็นปัญหาภายในระหว่างระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนในพื้นที่ แต่ตอนนี้มีปัญหาหมอกควันข้ามแดนด้วย ด้วยตนมีเครือข่ายวัฒนธรรมทั้งในแม่ฮ่องสอน คะยาและรัฐฉาน และได้ทราบว่าการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนสามารถแก้ไขได้ถ้าเข้าใจบริบทพื้นที่ เคยบอกผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอนแล้วว่าการแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันข้ามแดนจะใช้วิธีรัฐบาลต่อรัฐบาลไม่ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องการปกครองในพื้นที่ของพม่า เป็นพื้นที่พิเศษที่มีชาติพันธุ์ปกครองพื้นที่อยู่


“เราอย่าทิ้งความจริง อย่าคิดแค่ G to G เพราะตอนนี้หมอกควันไฟป่าข้ามแดนจากพม่าเกี่ยวข้องกับรัฐกะเหรี่ยง KNU คะยาและรัฐฉาน ซึ่งรัฐกะเหรี่ยงมี 2 กลุ่มที่ดูแลพื้นที่และมีอำนาจตัดสินใจคือคะเรนนีและกะเหรี่ยงแดง(ดาวแดง) ส่วนรัฐฉาน เจ้ายอดศึกดูแลตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำมาถึงไตแลง และเพิ่งประกาศห้ามเผาไป 2-3 วันซึ่งเป็นกฎหมายละเมิดก็เจอดี แต่เฉพาะฝั่งตะวันออกสาละวินตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำมาถึงตรงข้ามบ้านรักไทย ส่วนพื้นที่หัวเมืองคือ SSS มีพันเอกมหาจ่า มหานุดูแลอยู่ เมื่อทราบพื้นที่และความเข้มแข็งของแต่ละชาติพันธ์ยกเว้นไทใหญ่ซึ่งไม่มีปัญหา ผมเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสร้างความร่วมมือ เพราะมีทางวิชาการมาเกี่ยวข้องด้วยเนื่องจากเกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ บางทีจุดความร้อนต่ำ pm2.5 สูง แต่บางครั้งจุดความร้อนสูงแต่ pm2.5 ต่ำ เพราะมีหมอกควันข้ามแดน”นายประเสริฐ กล่าว


ในเดือนมี.ค.จมีลมตะวันตกพัดเอาหมอกควันข้ามแดนเข้ามา ดังนั้นการชิงเผาควรจะดูทิศทางก่อนทั้งลมตะวันตกหรือตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนการเผาไร่ คะยาจะเผาเดือนมี.ค. ส่วนรัฐฉานเผาปลายเดือนมี.ค.ถึงเม.ย.เพราะพื้นที่สูง การห้ามเผาห้ามได้เฉพาะฝั่งตะวันออกของสาละวิน เมื่อรู้แล้วควรจัดเวทีที่นำแกนนำที่มีอำนาจตัดสินใจได้มาพูดคุย ซึ่งดาวแดงเป็นเครือญาติของตนสามารถขวนมาคุยได้ รวมทั้งดอยไตแลง และ SSS ระดับแกนนำมาคุยได้ที่แม่ฮ่องสอน เพราะเรามีเครือข่ายและกลไกอยู่แล้ว และการเผาก็คือพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งปัญหาเพื่อนบ้านมีทั้งพืชเชิงเดี่ยว พื้นที่ทำกิน 


อ.ประเสริฐ กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน เราแก้กันมาหลายสิบปี ผมเคยใช้ทฤษฎีชาวบ้านจัดการไฟป่าโดยใช้สันดอยกับลำห้วย ซึ่งใช้ได้แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ ถ้าหากการแก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ ถ้าเราเข้าใจภูมิปัญญา เข้าใจชาวบ้านหากินกับป่า ส่วนหนึ่งต้องการไฟ อีกส่วนไม่ต้องการไฟ ทำไมไม่ลองให้ชุมชนจัดการเอง อย่าเอางบฯเป็นตัวตั้ง บางเรื่องไม่จำเป็นต้องใช้เงินแต่ใช้ภูมิปัญญา อย่างแนวกันไฟชาวบ้านทำไม่ต่ำกว่า 5 เมตรและต้องไปกวาดบ่อยๆ ทุก 5-6 วันที่ต้องซ้ำ แต่พอมาทำแนวกันไฟมีงบฯ ไปทำแล้วทิ้ง มันก็เปล่าประโยชน์เอาเงินไปทิ้งเปล่าๆ สุดท้ายอย่าลืมว่า ธรรมชาติเป็นตัวกำหนด ถ้าเมื่อไหร่ฝนมา หมอกควันและไฟป่าจบลงทันที ธรรมชาติต้องแก้ด้วยธรรมชาติ วันนี้ต้องฝากไว้กับธรรมชาติด้วย

แชร์บทความนี้