16 ปี คนแม่เมาะ พลัดถิ่น : ชีวิตเปลี่ยน สิทธิสูญหาย เอกสารสิทธิในที่ดินยังรอคำตอบ

ถิ่นฐานบ้านเรือน ที่ลงหลักปักฐาน หาอยู่หากินกันมาเนิ่นนาน แต่ต้องทิ้งเรือน ทิ้งไร่ผืนใหญ่ มาพักพิงอาศัยในผืนดินใหม่ เหลือบ้าน 1 หลัง ที่ดิน 1 ไร่ พร้อมคำมั่นสัญญาว่าพวกเขาจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนนั้น

แต่จนถึงวันนี้ ผ่านมากว่า 16 ปี และนี่คือชะตากรรมของพวกเขา

คน 4 หมู่บ้าน ที่แม่เมาะ
“จุดเปลี่ยนชีวิต”  ของชาวแม่เมาะกลุ่มนี้ เริ่มต้นขึ้น เพียงเพราะมีบ้านพักอาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้า  ทำให้พวกเขาต้องโยกย้ายจากถิ่นฐานบ้านเกิด ไปอาศัยอยู่ยังพื้นที่แห่งใหม่ ที่ได้รับการจัดสรรจาก กฟผ.แม่เมาะ

มติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549  ให้มีการอพยพราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ ครั้งที่ 6 จำนวน 4 หมู่บ้าน  คือ บ้านห้วยคิง บ้านห้วยเป็ด บ้านหัวฝาย และ บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง   รวม 493 ครัวเรือน  และเห็นชอบในการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับราษฎร

การโยกย้ายจึงเริ่มขึ้นในปี  2551 จากผู้คนที่เคยมีบ้านพักอาศัยของตนเอง และมีที่ดินทำมาหากินคนละหลายไร่  ต้องมาอยู่ในพื้นที่จัดสรร เหลือที่ดินเพียง 1 ไร่ และบ้าน 1 หลัง  ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กว่า 16  ปี พวกเขาก็ยังไม่ได้รับสิทธิในที่ดินดังกล่าว  แม้จะมีมติ ครม.ระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับชาวบ้าน

วิถีชีวิตของพวกเขาได้เปลี่ยนไปตลอดกาล         
มะลิวรรณ นาควิโรจน์  ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ  หนึ่งในผู้อพยพครั้งที่ 6 เล่าว่า  การอพยพครั้งที่ 6  เนื่องจากชาวบ้านได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ และระบบทางเดินหายใจ  การต่อสู้จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2544  และเดินหน้ามาต่อเนื่อง จนมีมติ ครม.ในปี 2549

“การต่อสู้เรียกร้องครั้งนี้ผ่านมายาวนาน เป็นการรบไปเจรจาไป จนในที่สุดชาวบ้าน 493 ครอบครัวได้อพยพมาอยู่พื้นที่แห่งใหม่ในปัจจุบัน  เป็นพื้นที่ที่ กฟผ.เช่าจากกรมป่าไม้ไว้ 30 ปี  เมื่อปลูกบ้านเสร็จ ในปี 2551 ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับเอกสารสิทธิ์  จนปัจจุบันผ่านมา 16 ปี ยังไม่มีการเพิกถอนป่าและการออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้าน  นั่นเป็นเพราะหน่วยงานของรัฐไม่ได้ทำตามมติ ครม.ที่มีกำกับเอาไว้”

ที่ผ่านมาพวกเธอติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด เปลี่ยนรัฐบาลครั้งใดก็ไปยื่นหนังสือทุกครั้ง  จนรู้สึกว่าทำไมต้องมีวิบากกรรมอะไรขนาดนี้ เพราะอยู่บ้านเก่าก็มีโฉนด พออพยพย้ายมาก็สัญญาว่าจะออกโฉนดให้  แล้วทำไมถึงไม่ทำ  ทำไมรัฐแก้ปัญหาไม่จบ?!


วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไป
“วิถีชีวิตของพวกเราเปลี่ยนไปทั้งหมด  กว่าจะปรับตัวเข้ากับพื้นที่ใหม่เป็นเรื่องยากมาก  เดิมชาวบ้านเป็นเกษตรกร หากินตามป่าตามดอย แต่พื้นที่อพยพมาเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ไม่สามารถไปทำมาหากินได้  ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีรายได้จากเบี้ยยังชีพเพียง 700 บาท  อยู่บ้านเดิมเราไม่เคยเจอปัญหาแบบนี้ แต่ถ้าไม่ได้รับผลกระทบ ใครจะอยากทิ้งบ้านเกิดมา” 

สิทธิที่สูญหาย   
เงินค่าชดเชยที่ได้ เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้วเงินก็หมด  คนที่ไม่มีสมบัติเดิมติดตัว ก็ต้องการขายบ้าน ขายที่ดิน  แต่ก็ทำไม่ได้  ต้องใช้วิธีทำสัญญาซื้อขาย ขายทะเบียนบ้าน ย้ายออกและย้ายเข้าแทน  นอกจากนั้น เราเสียสิทธิมากมาย ในเรื่องการประกอบอาชีพ มีการตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ  มีปัญหาในสิทธิที่ควรได้ สิทธิที่จะการันตีการขอสนับสนุนเงินทุนที่จะมาหมุนเวียน  รวมถึงการขอ มอก.  ทั้งที่มีการตั้งกลุ่มอาชีพมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังเป็นอาชีพที่ไม่มีอะไรรองรับได้เลย ทั้งที่งานของเราเทียบเท่ามาตรฐานได้

ถ้าได้รับเอกสารสิทธิ์ เราก็จะได้รับสิทธิที่ดีกว่าเดิม  ซึ่งสามารถนำไปการันตีกับธนาคาร หรือนำมาเปลี่ยนเป็นเงินทุนหมุนเวียนได้   เราไม่รู้ว่าจะมีอายุอีกเท่าไร แต่อยากให้จบในรุ่นของเรา เพื่อไม่ให้ลูกหลานเดือดร้อน

ชีวิตที่ไร้ความมั่นคง
เราไม่ได้รับความมั่นคงอะไรเลย  แม้แต่ที่ดินที่ปลูกบ้านก็ยังเป็นที่ป่า  ถ้าป่าไม้จะจับเราเรื่องบุกรุกป่าก็สามารถทำได้  เพราะ กฟผ.แม่เมาะหมดสัญญาเช่าพื้นที่ป่าไปตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 65 แล้ว   หน่วยงานภาครัฐ และส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่กระตือรือร้นที่จะดำเนินการให้  จนชาวบ้านต้องออกมาเรียกร้องกับคณะกรรมาธิการที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร
“ที่ผ่านมาเรียกร้องและทวงถามมาตลอดทุกรัฐบาล  ร้องไปครั้งก็มารังวัดมาสำรวจ แต่สุดท้ายก็หายไปกลางอากาศ  พอเปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนนโยบายที จนในที่สุดมีความคืบหน้าเมื่อเราไปยื่นคณะกรรมาธิการที่ดิน แม้กระทั่งการได้ยื่นร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน  ซึ่งได้มาลงพื้นที่ติดตามและบอกว่าให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน จนป่านนี้ 6 เดือน 2 รอบแล้วก็ยังไม่จบ”

บุคคลที่ถูกละเลย
มะลิวรรณ ว่า  มาอยู่ตรงนี้โครงสร้างพื้นฐานยังลำบาก  น้ำประปาเป็นหินปูน น้ำขาดแคลน  ต้องขอรถขนบริการน้ำมาให้  ทุกวันนี้ขอให้ขุดบ่อเสริม ขุดประปาใหม่ ทราบว่าอนุมัติมาแล้วแต่ก็เงียบไป  ยังไม่มีน้ำประปา หรือน้ำบาดาลมาเสริมใช้ในชุมชนเลย  เรากลายเป็นบุคคลที่ถูกละเลย
 “การอยู่อย่างเลื่อยลอย การอยู่อย่างไม่มั่นคง  เป็นเรื่องที่แย่มากสำหรับโครงการพัฒนาแห่งรัฐ  ที่อวดอ้างว่าเป็นต้นแบบแห่งการอพยพโยกย้าย  แม่เมาะโมเดล  เป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่  ขอถามหน่อยว่าน่าอยู่อย่างไร เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านยังอยู่ยาก พลังงานเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ แต่แล้วทำไมต้องให้ผู้เดือดร้อนจากพลังงานต้องมาอยู่อย่างอนาถาแบบนี้  มันไม่เป็นธรรม”

การต่อสู้ครั้งนี้เป็นที่ประจักษ์ว่าไม่มีคำว่า “ท้อ” สำหรับพวกเขา เพราะคำนี้กลายเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวให้จะต้องสู้ต่อไป  แม้จะก้าวเดินไปเพียง 10 คน แต่ทำให้ให้คนเป็นร้อยเป็นพันได้ประโยชน์ ไปด้วย พวกเขาก็จะทำ

สุดท้ายพวกเขาได้กล่าวไว้ว่า  “แม้จะมีคนหยุดเดิน แต่เราจะไม่หยุด  พวกเราเดินมาไกลเกินกว่าจะท้อ”   จุดหมายปลายทางของเอกสารสิทธิ์จะเป็นเช่นไร ก็ยังคงรอคำตอบต่อไป

อ่านเรื่องประกอบ ย้อนรอยบทเรียนมลพิษโรงไฟฟ้า-นิคมอุตสาหกรรม
แชร์บทความนี้