เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 28 มีนาคม 2568 กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว รายงานว่า จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น มาจากประเทศเมียนมา บริเวณเมืองมัณฑะเลย์
เวลา 13.20 น. ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร มีทิศทางจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.ปางมะผ้าจ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 326 กม. และ เวลา 13.32 น. ขนาด 7.1 ความลึก 10 กิโลเมตร มีทิศทางจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 286 กม. เกิดขึ้นที่รอยเลื่อนสะกายหรือสะแกง ในเมืองสะกาย ประเทศเมียนมา เหตุการณ์ครั้งนี้ คนในอาคารสูงของ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสานรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน รู้สึกได้เป็นวงกว้าง โดยมีรายงานอาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่อง
ในอดีตรอยเลื่อนสะกายเคยเกิดแผนดินไหวใหญ่ ในช่วงต้นรัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ขนาด 8.0 ในด้านตะวันตกนของเมืองมัณฑะเลย์ ที่ทำให้เจดีย์สำคัญพังถล่ม และแรงสะเทือนรับรู้ถึงภาคเหนือและกทม.

รู้จัก “แผ่นดินไหว” และสาเหตุ
แผ่นดินไหว เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน อันเนื่องมาจากการปลดปล่อยพลังงานเพื่อระบายความเครียด ที่สะสมไว้ภายในโลกออกมาอย่างฉับพลัน เพื่อปรับสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่ โดยสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว แบ่งได้ 2 ชนิด ดังนี้
เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ การทดลองระเบิดปรมาณู การกักเก็บน้ำในเขื่อน และแรงระเบิดของการทำเหมืองแร่ เป็นต้น
เกิดจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดแผ่นดินไหวในปัจจุบัน ได้แก่ การเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนเปลือกโลก (Fault) การเคลื่อนที่ของหินหลอมเหลวใต้ภูเขาไฟ ที่ใกล้ระเบิด หรือ การตกกระทบผิวโลกของลูกอุกกาบาต เป็นต้น
อย่างไรก็ตามประเทศไทยพบกลุ่ม “รอยเลื่อนมีพลัง” 16 จุด ที่ยังมีโอกาสทำให้เกิด “แผ่นดินไหว”
รอยเลื่อนใกล้ฉัน รู้จัก “กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง” 16 จุด ในประเทศไทย ที่อาจจะทำเกิดแผ่นดินไหว
“กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง” จำนวน 16 รอยเลื่อน โดยกรมทรัพยากรธรณีได้อัปเดตข้อมูลล่าสุดในปี 2566 ซึ่งพบมากในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศไทยดังนี้
กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต เป็นกลุ่มรอยเลื่อนตามแนวระนาบ ที่วางตัวขนานกับกลุ่มรอยเลื่อนระนองแบบเหลื่อมซ้าย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด เมื่อปี 2558 ใน จ.พังงา ขนาด 4.5
รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย ที่มีความสำคัญมากต่อประชาชนในกรุงเทพมหานคร พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว จ.กาญจนบุรี ขนาด 6.4
รอยเลื่อนเถิน พาดผ่าน จ.ลำปาง และ จ.แพร่ กลุ่มรอยเลื่อนนี้แสดงลักษณะธรณีวิทยาโครงสร้าง และธรณีสัณฐานที่แสดงถึงการเลื่อนตัวครั้งใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ที่ จ.แพร่ ขนาด 6.6
รอยเลื่อนปัว พาดผ่าน จ.น่าน จัดเป็นรอยเลื่อนปกติ เป็นรอยเลื่อนที่มีการวางตัวเป็นแนวยาว ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2478 บริเวณรอยต่อของประเทศไทย-สปป.ลาว ขนาด 6.5
รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน จ.พะเยา จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง มีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร แสดงลักษณะของผารอยเลื่อนหลายแนวและต่อเนื่องเป็นแนวตรง ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2562 ที่ จ.ลำปาง ขนาด 4.9
รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ พาดผ่าน จ.เพชรบูรณ์ และ จ.เลย วางตัวในทิศเหนือ-ใต้ ขนาบสองข้างของแอ่งที่ราบเพชรบูรณ์ โดยเอียงเทเข้าหากลางแอ่งทั้งสองด้าน ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2533 ที่ จ.เพชรบูรณ์ ขนาด 4.0
รอยเลื่อนเมยพาดผ่าน จ.ตาก และ จ.กำแพงเพชร มีแนวการวางตัวในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2518 ที่ จ.ตาก ขนาด 5.6 ประชาชนรู้สึกได้หลายหลายจังหวัดในภาคเหนือ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร
รอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่าน จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ เป็นรอยเลื่อนที่มีพลังสูง ทำให้เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งสำคัญเมื่อปี 2550 ขนาด 6.3 ในสปป.ลาว ส่งผลกระทบถึง จ.เชียงราย ผนังอาคารหลายหลังเสียหาย กรุงเทพมหานครสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในอาคารสูง
รอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.เชียงราย มีการเลื่อนตัวแบบรอยเลื่อนปกติ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2562 ที่ จ.เชียงใหม่ ขนาด 4.1 ประชาชนรู้สึกได้ทั่วจังหวัด
รอยเลื่อนแม่ลาว เป็นรอยเลื่อนที่มีการวางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้พาดผ่าน จ.เชียงราย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2557 ที่ จ.เชียงราย นับว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในรอบกว่า 50 ปี ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน
รอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน จ.เชียงราย มีลักษณะธรณีสัณฐานที่บ่งบอกถึงความมีพลัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ทำให้เกิดแผ่นดินไหวมาแล้ว 5 ครั้ง ล่าสุด ปี 2554 ที่ จ.เชียงราย ขนาด 4.1 หลายอำเภอ รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน
รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่าน จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก ในอดีตมีการเลื่อนตัวหลายครั้ง ทำให้ธรณีสัณฐานเด่นชัดในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง คือ ทางน้ำแบบหุบเขารูปแก้วไวน์ และทำให้แผ่นดินไหวขนาดเล็กและขนาดปานกลางบ่อยหลายครั้งในพื้นที่รอยต่อ แค่ครั้งสำคัญคือ เมื่อปี 2556 ที่เมียนมา ขนาด 5.1 ประชนชนหลายจังหวัดในภาคเหนือรับรู้ถึงแรงสั่น
รอยเลื่อนระนอง พาดผ่าน จ. ระนอง จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.พังงา ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2549 ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขนาด 5.0 ประชาชนในหลายท้องที่รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนพื้นดิน
รอยเลื่อนเวียงแหง มีลักษณะการเลื่อนแบบรอยเลื่อนปกติ พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ที่ จ.เชียงใหม่ ขนาด 6.8
รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.อุทัยธานี และ จ.ตาก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อปี 2526 ที่ใกล้บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ขนาด 5.9 สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ถึงกรุงเทพฯ
รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่าน จ.อุตรดิตถ์ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อปี 2541 บริเวณอำเภอท่าปลา ขนาด 3.2 ประชาชนรู้สึกได้ในหลายอำเภอ