ชวนพี่น้องภาคเหนือชวนพลเมืองจับตาพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ดินสไลด์ ภาคเหนือ เพื่อเป็นการป้องกันภัยให้ทันท่วงที องศาเหนือ ทีมสื่อพลเมือว ปักหมุดรายงานผ่านแอพพลิเคชัน C-Site เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำท่วมกับ Thai PBS
ถ่ายภาพ วีดีโอ พร้อมเขียนแคปชั่น ระบุวัน เวลา สถานที่ รายงานเหตุการณ์น้ำท่วมหรือเฝ้าระวังในพื้นที่ของท่าน และจุดประสานความช่วยเหลือ
จุดไหนสถานการณ์น่าเป็นห่วง ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน สามารถแจ้งข่าวสารได้ทาง แฟนเพจ #องศาเหนือ หรือทางแฟนเพจ นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)
สัปดาห์นี้ภาคเหนือเฝ้าระวังในหลายพื้นที่
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คาดการณ์ ในช่วงวันที่ 3-6 สิงหาคม 2567 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาและลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
ในขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM รายงานคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย ประจำวันที่ 1 สิงหาคม 2567 เวลา 08.00 น.
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในระยะสั้น : ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ ปางมะผ้า ปาย สบเมย) เชียงราย (อ.แม่ฟ้าหลวง เชียงของ แม่สาย แม่จัน เวียงแก่น เทิง) น่าน (อ.ปัว ท่าวังผา บ่อเกลือ สองแคว) อุตรดิตถ์ (อ.ท่าปลา) และตาก (อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด) พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง : ภาคเหนือ จ.ตาก (อ.พบพระ แม่ระมาด แม่สอด) พื้นที่เฝ้าระวังดินถล่ม : ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ แม่สะเรียง สบเมย) ตาก (อ.แม่ระมาด ท่าสองยาง) และน่าน (อ.สองแคว บ่อเกลือ ปัว)
ระบบเตือนภัยล่วงหน้า “น้ำหลากและดินถล่ม“
รายงานจาก Early Warning System ผลการเปรียบเทียบปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมง ของวันที่ 30 – 31 กรกฎาคม 2567 (เวลา 15:00 น.) จากระบบของ Southeast Asia Flash Flood Guidance System (SEAFFGS) แสดงให้เห็นว่ามีปริมาณฝน ตกบริเวณ ภาคเหนือบางส่วน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน ภาคกลางบางส่วน ภาคตะวันออกบางส่วน
ภาคตะวันตกบางส่วน และภาคใต้บางส่วน มีปริมาณฝนสะสมประมาณ 20 – 35 มม./วัน ส่วนบริเวณจังหวัด
เชียงราย ตาก อุทัยธานี นครราชสีมา ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ปริมาณฝนสะสมประมาณ 35 – 60 มม./วัน
แผนที่แสดงการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำหลากดินถล่ม วันที่ 31 กรกฎาคม 2567
จากข้อมูล SEAFFGS วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ในอีก 12 ชม. 24 ชม. และ 36 ชม. ในภาคเหนือพบพื้นที่เสี่ยง อ.ขุนตาล อ.พญาเม็งราย อ.เทิง จ.เชียงราย / อ.ปัว อ.บ่อเกลือ จ.น่าน / อ.น้ำปาด อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ / อ.ท่าสองยาง จ.ตาก / อ.นครไทย อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก
สถิติการเกิดดินถล่มในประเทศไทย
ข้อมูลปี พ.ศ. 2513 – 2554 พบว่าเหตุการณ์ดินถล่มมีแนวโน้มการเกิดที่สูงขึ้น
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ เคยกล่าวไว้ในงานแถลงข่าว “ดินถล่มและระบบเตือนภัยในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 10 ส.ค.61 จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2547 นั้นภัยพิบัติดินถล่มนั้นเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนใต้ของจีนมากถึง 80% และมีกรณีดินถล่มที่รุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่ ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน หลายครั้ง แต่ก็ไม่เกิดความสูญเสียเพราะไม่มีคนเข้าไปอาศัยในพื้นที่ดังกล่าว
“เราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม เมื่อย้อนอดีตจะพบว่าไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ กัน ประเทศไทยมีพื้นที่รอถล่มอยู่จำนวนมาก ทั้งภูเขาและพื้นที่มีความเจริญหรือขุดดินขายล้วนอันตราย จากสถิติที่เก็บข้อมูลจะเห็นว่าจำนวนครั้งการเกิดดินถล่มมีการกระโดดขึ้นในปี 2545 ขึ้นมาเรื่อยๆ
จากการศึกษายังพบว่าดินถล่มตามธรรมชาตินั้นมีช่วงเวลาเกิดประมาณ 5-6 ปี ซึ่งในปี 2561 นี้ก็อยู่ในคาบของการเกิดดินถล่มพอดี โดยปัญหาดินถล่มส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ เพราะหินที่ทำให้เกิดดินถล่มบ่อยนั้นคือหินแกรนิต ซึ่งการกระจายอยู่ทางภาคเหนือและภาคใต้ ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นลักษณะทางธรณีวิทยาไม่เอื้อให้เกิดดินถล่ม
ซึ่งนักวิจัยยังพบสัมพันธ์ค่อนข้างชัดเจนระหว่างดินถล่มกับแนวรอยเลื่อนมีพลัง เพราะมีการเปลี่ยนสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ที่มีความชันสูง ดินสลายตัวเร็วกว่าตำแหน่งอื่น ส่วนการตัดต้นไม้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ฝนที่ไม่มากนักเกิดการถล่มได้ แต่ฝนตกหนักและมีต้นไม้เยอะก็เสียหายได้เพราะเป็นธรรมชาติ เพียงแต่ตัดต้นไม้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการถล่มเร็วขึ้น บางครั้งเป็นการไหลลงไปในร่องน้ำที่ทางวิชาการเรียกว่า น้ำขุดเอาดินออกมา
ข้อมูลแผนที่พื้นที่อ่อนไหวต่อการเกิดดินถล่มในประเทศไทย โดย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2564 กล่าวถึง พื้นที่อ่อนไหวต่อการเกิดดินถล่มในประเทศไทย 54 จังหวัด 517 อำเภอ 2,845 ตำบล ลำดับที่มีพื้นที่ความเสี่ยงภัยดินถล่มมากที่สุด คือ จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มสูงมาก-ปากกลาง 15,840 ตร.กม. มี 24 อำเภอ 140 ตำบล ซึ่งเป็นหมู่บ้านเสี่ยงดินถล่ม 1,492 หมู่บ้าน
ภาคเหนือกับสถานการณ์ “น้ำท่วมซ้ำซาก” ที่ต้องอยู่ให้ได้ หรือต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน ?
ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในภาคเหนือของไทย เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและการจัดการน้ำที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มักจะมีฝนตกหนักและต่อเนื่อง อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นการให้สถานการณ์รุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัด เช่น เชียงราย, พะเยา, และพิษณุโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร
โดยข้อมูลจาก GISTDA จัดทำรายงานประจำปีและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ปี 2554-2563 โดยมีการ GIS: การใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ช่วยในการวิเคราะห์และแสดงข้อมูลพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก
https://disaster.gistda.or.th/flood/repeat
คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย กรกฏาคม – ธันวาคม ปี 2567
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย กรกฏาคม – ธันวาคม ปี 2567
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดว่าใน 3 – 6 เดือนข้างหน้าประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนมากกว่าค่าปกติในภาพรวม ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2567 ในพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก และหลังจากนั้นในช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะมีเริ่มมีฝนลดลง แต่ปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติในพื้นที่ภาคใต้
จากแผนภูมิ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดว่าจะมีฝนมากกว่าปกติ 14-20% ในภาคเหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก อย่างไรก็ตามหากมีพายุหมุน(ไต้ฝุ่น) เข้าสู่ประเทศไทยอย่างจัง หรือมีจำนวนหลายลูกในช่วงท้ายของฤดูฝน อาจก่อให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในวงกว้างคล้ายคลึงกับที่เกิดในปี 2553 ได้
สถานการณ์ในแต่ละพื้นที่จากเครือสื่อพลเมือง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
วันที่ 25 ก.ค.67 ทีมข่าวพลเมืองจังหวัดตาก คุณ ชวลิต วิกุลชัยกิจ ปักหมุดสื่อสารผ่าน App C-site รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ชายแดน อ.พบพระ จ.ตาก https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000041870 ซึ่งมีฝนตกต่อเนื่องมากกว่า 3 วัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเมยเพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะในพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มต่ำ
นายธันย์ปวัฒน์ ภูริวัฒนเมธา นายอำเภอพบพระ พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยงานท้องถิ่น ลงพื้นที่ตรวจสอบและช่วยเหลือผู้ประสบภัย (อุทกภัย) โดยมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 50 รายจาก 14 ครัวเรือนในพื้นที่ต่างๆ เช่น บ้านมอเกอไทยและบ้านหมื่นฤาชัย บ้านห้วยแล้ง ต.ข่องแคบ อ.พยพระ จ.ตาก
นายสมศักดิ์ ก่อกิจไพบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมื่นฤาชัย กล่าวว่า น้ำได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนจำนวน 14 ครัวเรือน ขณะที่นายธนะพัฒน์ พรนัตภูรีนนท์ ผู้ใหญ่บ้านมอเกอร์ไทย รายงานว่าบ้านเรือนจำนวน 3 ครัวเรือนได้รับผลกระทบจากน้ำที่ล้นตลิ่ง เจ้าหน้าที่ได้ทำการอพยพผู้ประสบภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย และกำลังสำรวจความเสียหายของพืชไร่ที่ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกต่อเนื่อง
นายธันย์ปวัฒน์ ภูริวัฒนเมธา นายอำเภอพบพระ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วมในตำบลพบพระ จังหวัดตาก ซึ่งมีน้ำเมบล้นตลิ่งและท่วมบ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะในบ้านหมื่นฤาชัย หมู่ที่ 5 ที่ได้รับผลกระทบถึง 14 ครัวเรือน และบ้านมอเกอร์ไทย หมู่ที่ 1 ที่มีน้ำท่วมถึง 3 ครัวเรือน ในการตรวจสอบนี้ นายธันย์ปวัฒน์ ได้ร่วมกับฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และผู้นำท้องถิ่น เพื่ออพยพชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไปยังที่สูง และสั่งการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ รวมถึงสำรวจพืชไร่พืชสวนที่อาจได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน.การดำเนินการนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายจังหวัด
ทั้งนี้นายอำเภอพบพระ ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมเบื้องต้นไปยังนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังได้ประสานงานกับอำเภอข้างเคียงที่อยู่ลุ่มน้ำเมย ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลผ่านพื้นที่ต่างๆการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งในภาวะฉุกเฉินนี้ รวมถึงการจัดตั้งมาตรการเฝ้าระวังและการอพยพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำท่วมที่รุนแรงในช่วงเวลานี้
ขณะเดียวกัน (26ก.ค.67) เวลา 04.00 น. https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000041871 สายตรวจวาเล่ย์ ออก ว.4 พื้นที่รับผิดชอบ และตรวจสอบสภาพน้ำ ในลำน้ำเมย บริเวณท่าข้ามชั่วคราวบ้านมอเกอไทย หมู่ 1 และ บ้านวาเล่ย์เหนือ หมู่ 3 ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกลงมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จากการตรวจสอบบริเวณท่าข้าม พบว่ามีปริมาณน้ำในลำน้ำเมยเพิ่มขึ้นล้นตลิ่งสูงประมาณ 100 ซม.เข้ามาท่วมบ้านเรือนชาวบ้านจำนวนหลายหลังและท่วมบริเวณที่ลุ่มแปลงเกษตรนาข้าว/ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามแนวลำน้ำเมย. สายตรวจวาเล่ย์ได้ทำการช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของขึ้นพื้นที่สูง ยังไม่ทราบความเสียหายแต่อย่างใด มีแนวโน้มว่าน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากยังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องและมีแม่น้ำแม่กาล่าจากประเทศพม่าไหลมาหนุนช่วงล่าง ทำให้น้ำเมยไหลช้าและเพิ่มขึ้นอน่างรวดเร็วกว่าปกติ จะได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ริมเมยแม่สอด ทีมข่าวพลเมืองจังหวัดตาก คุณ ชวลิต วิกุลชัยกิจ https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000041872#news_slideshow สื่อสารเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา บริเวณริมแม่น้ำเมย ชายแดนไทยเมียนมา อ.แม่สอด จ.ตากฝนตกหนักติดต่อกันต่อเนื่อง ทำให้แม่น้ำเมย ที่กั้นพรมแดนแม่สอดเมียวดี ชายแดนไทยเมียนมา ล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมตลาดริมเมย ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด
โดยขณะนี้ รายงานจาก เอก เกียรติศักดิ์ แม่สอด กล่าวถึง ระดับแม่น้ำเมยลดระดับลงแล้ว ในส่วนที่ตลาดริมเมยถึงแม้น้ำจะลดลง แต่หลงเหลือความเสียหายไปทั่วตลาดริมเมยขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งฟื้นฟู คาดว่าจะมีฝนตกหนักเกิดขึ้นอีกในพื้นที่พร้อมเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่อง
การรายงานด้านความช่วยเหลือจากภาคพลเมือง https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000041956#news_slideshow เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.เพื่อเด็กและเยาวชนฯได้มอบให้โครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ.จังหวัดตาก ผู้ประสานงานภาค ผู้แทนมูลนิธิฯ พร้อมด้วยหัวหน้าโครงการ ได้ลงพื้นที่บ้านแม่ออกผารู ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง โดยมีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนันตำบลแม่หละและรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่หละ กำลังพลเจ้าหน้าที่ทหาร ให้การต้อนรับและได้ร่วม มอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 50 ครัวเรือน โดยมีครอบครับเด็ก ซี.ซี.เอฟ.จำนวน 7 ครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบต้องอพยพและย้ายสิ่งของในบ้านขึ้นไปอาศัยบ้านญาติ จากการสอบถามผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้านได้เล่าว่า ครั้งนี้น้ำท่วมหนักมากในรอบ 10 ปี เพราะที่ผ่านมาน้ำท่วมไม่ขึ้นสูงขนาดนี้จึงก่อให้เกิดความเสียหายกับชาวบ้านในวงกว้าง
ทางด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดน้ำป่าทะลัก ดินสไลด์ หลายจุดแม่ฮ่องสอน https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000041885 26 ก.ค. 2567 ทีมข่าวพลเมืองจังหวัด คุณสร้อยแก้ว คำมาลา กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนหลายอำเภอ ประสบภัยน้ำป่าไหลหลากอย่างหนัก ทั้งดินสไลด์ น้ำท่วมถนน ต้นไม้ล้มขวางถนน สัญจรไม่ได้ และแม่น้ำหลายสายก็มีปริมาณสูงขึ้น
ในขณะแม่น้ำสาละวิน มีระดับน้ำที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เครือข่ายสื่อแม่ฮ่องสอนในพื้นที่อำเภอสบเมย-อำเภอแม่สะเรียง ได้รายงานว่า ฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืนมาหลายวันแล้ว จึงทำให้น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะตำบลแม่สามแลบ อ.แม่สะเรียง ตำบลเสาหิน อ.แม่ลาน้อย ซึ่งมีลำห้วยหลายสาย ทำให้น้ำป่าทะลัก ดินสไลด์ และแม่น้ำสาละวินขึ้นสูง ส่วนอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ตำบลหมอกจำแป่ ตำบลห้วยผา ซึ่งมีป่าเขาสูงและมีแม่น้ำ-ลำห้วย หลายสาย ประสบปัญหาทั้งดินสไลด์ ต้นไม้หักโค่นบนถนน ซึ่งทางการของจังหวัดแม่ฮ่องสอนทุกอำเภอได้ประกาศเตือนให้ชาวบ้านที่มีบ้านเรือนในพื้นที่เสี่ยงให้มีความระมัดระวัง อนึ่ง จากเหตุการณ์เช้าวันนี้เกิดต้นไม้หักโค่นบนถนนหลายจุด เช่น ถนนหลวง 105 (แม่สะเรียง-แม่สอด) ถนนหลวง1095 แต่ทางการได้เร่งดำเนินการแก้ไขอย่างค่อนข้างรวดเร็ว จนทำให้จุดที่ประสบปัญหารถราสามารถสัญจรได้แล้วในช่วงบ่ายนี้ แต่อย่างไร เนื่องจากฝนยังคงตกอยู่ คาดว่าปริมาณน้ำหลากจะยังไม่ลดลง จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่และผู้สัญจรในพื้นที่แม่ฮ่องสอนระมัดระวัง
ติดเครื่องมือมอนิเตอร์พร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก พายุ ดินโคลนถล่ม เฝ้าระวังพร้อมแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยตลอด 24 ชม.
1.DPM Reporter แอพพลิเคชั่นสำหรับจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทย และเครือข่ายภาคีด้านสาธารณภัย ของกรมป้องกันสาธารณภัยเพื่อใช้รายงานข่าว และบริหารข่าวสารด้านสาธารณภัย โดยในแอพพลิเคชั่นมีการแบ่งฟังชั่นใช้งาน จะมีแผนที่ข่าวรายงานพื้นที่เสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติในทุกรูปแบบ แยกเป็นหัวข้อต่างๆ ประกอบด้วย
1.รายงานแจ้งข่าวสารารณภัย
2.รายงานประจำวัน ทั้งน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ไฟไหม้
3.รายงานสรุปสาธารณภัยประจำวัน
4.ห้องแชทสนทนา
5.แจ้งเตือนพื้นที่ใกล้เคียง
ios โหลดที่นี่ : https://apps.apple.com/th/app/dpm-reporter/id977297308#?platform=iphone
Android โหลดที่นี่ : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.depthfirst.dpm.reporter&hl=en&gl=US
2.Thai DisAster Alert อีกหนึ่งแอพพลิเคชั่นจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะทำหน้าที่รายงานสภาพอากาศ รายงานคุณภาพอากาศ พยากรณ์อากาศ รายงานปริมาณน้ำในเขื่อน ข่าวสารเตือนภัย แจ้งเหตุการณ์ ซึ่งจะมีฟังชั่นที่แตกต่างจาก “DPM Reporter” โดยแอพพลิเคชั่น Thai DisAster Alert จะคอยแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำท่วม ข่าวภัยพิบัติ พื้นที่อุณหภูมิในและภูมิภาค
ios โหลดที่นี่ : https://apps.apple.com/th/app/thai-disaster-alert/id1558404227
Android โหลดที่นี่ : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.ddmp.nd&hl=th&gl=US
3.WMSC แอพพลิเคชั่นจากกรมชลประทาน ทำหน้าที่รายงานข้อมูลจากศูนย์ประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำเรียลไทม์ และเฝ้าระดับน้ำในอ่างกักเก็บน้ำ โดยเฉพาะตรวจสอบระดับน้ำผ่านกล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นจะมีฟังชั่นแบ่งย่อย ดังนี้
1.รายงานสถานการณ์น้ำประจำวัน
2.ข้อมูลน้ำในอ่าง โดยมีกราฟแสดงปริมาตรในอ่างขนาดใหญ่
3.ข้อมูลน้ำฝน
4.ข้อมูลน้ำท่า
5.กล้องติดตามสถานการณ์น้ำ
6.ข้อมูลการเกษตร
7.กรมชลประทาน Social Networ
ios โหลดที่นี่ : https://apps.apple.com/th/app/wmsc/id881559159?l=th
Android โหลดที่นี่ : https://play.google.com/store/apps/details?id=io.cordova.wmsc.app.rid.go.th
4.Water4Thai แอพพลิเคชั่นจากสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล สถานการณ์น้ำในประเทศไทย ปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำ และสภาพอากาศ โดยสามารถเลือกพื้นที่ทั้งประเทศหรือเป็นรายจังหวัดในหัวข้อต่างๆได้ ดังนี้
1.ข้อมูลปัจจุบันเรื่องการเกิดฝนตกหนัก ข้อมูลจาก สบอช.
2.สถานการณ์น้ำรายวัน ข้อมูลจาก สบอช.
3.สภาพอากาศ ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา
4.ปริมาณน้ำฝน ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา
5.ระดับน้ำในลำน้ำ ข้อมูลจากกรมชลประทาน
6.ระดับน้ำในคลอง กทม. ข้อมูลจากกรุงเทพมหานคร
7.CCTV ลุ่มน้ำ ข้อมูลจากกรมชลประทาน
8.ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ข้อมูลจาก กฟผ.(EGAT)
9.น้ำทะเลหนุนสูงสุดประจำวัน ข้อมูลจากกรมอุทกศาสตร์
ios โหลดที่นี่ : https://apps.apple.com/th/app/water4thai/id548984244
Android โหลดที่นี่ : https://water4thai.en.uptodown.com/android
5.ThaiWater แอพพลิเคชั่น “คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ” ติดตามสถานการณ์น้ำ จากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยแอพพลิเคชั่นทำหน้าที่มอนิเตอร์สถานการณ์น้ำ ภาวะฝน อากาศ และพายุ ปริมาณน้ำในเขื่อน พร้อมรายงานปริมาณฝนตกตลอด 24 ชม. โดยเฉพาะฟังชั่นคาดการณ์ฝนและคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยได้ล่วงหน้า
ios โหลดที่นี่ : https://apps.apple.com/th/app/thaiwater/id1097487200?l=th
Android โหลดที่นี่ : https://play.google.com/store/apps/details?id=mobile.nhc.thaiwater&hl=th
4 ขั้นตอน เฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่มนั้น
1️ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ธรณีพิบัติภัย
2️ ประสานงานอาสาสมัครเครือข่ายในพื้นที่เสี่ยงภัย
3️ ออกประกาศเฝ้าระวังภัยดินถล่ม
4️ ตรวจสอบเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย เพื่อหาสาเหตุประเมินสถานการณ์ และให้คำแนะนำแนวทางการป้องกันภัยและลดผลกระทบจากธรณีพิบัติภัย
ขณะเกิดเหตุ
1️ หนีเอาตัวรอดโดยวิ่งไปยังจุดปลอดภัยตามเส้นทางอพยพที่กำหนดไว้
2️ ไม่ควรอพยพข้ามลำน้ำ เพราะสะพานข้ามลำน้ำอาจขาดหรือชำรุด ทำให้ถูกน้ำพัดไป
3️ หากพลัดตกน้ำ ให้หาต้นไม้ใหญ่ยึดเกาะและปีนให้พื้นน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนีเพราะอาจกระแทกกับเศษหิน ดิน ซากต้นไม้ ที่ลอยมากับน้ำได้
4️ ไม่เข้าใกล้หรือกลับเข้าไปในบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เพราะอาจเกิดดินถล่มซ้ำได้