ลมหายใจ กลางฝุ่นไฟ ไร้พรมเเดน

 

ไม่มีพรมแดนระหว่างฝุ่น ! แต่ทุกคนในภูมิภาคอาเซียนนี้ล้วนมีลมหายใจเดียวกัน  

เป็นลมหายใจที่ต้องเสี่ยงทุกจังหวะเข้า ออก  เพราะโจทย์ฝุ่น PM 2.5  ระดับภูมิภาคยังคงต้องอาศัยวิธีการและระยะเวลาแก้ปัญหาอีกไม่น้อย  ลำพังข้อตกลงอาเซียน กับ ยุทธการฟ้าใส   คาดเดาไม่ได้ว่าเมื่อใดจะบรรลุ 

 แต่ก็ใช่จะไร้ทางออก !  เมื่อประชาชนของแต่ละประเทศ ยื่นมือมาประสานความร่วมมือฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

            นี่เป็นครั้งแรก  ! ที่หนุ่มสาวจากภาคเหนือของไทยและลาว ใช้ช่องทางออนไลน์ ลุกขึ้นมาสื่อสารสถานการณ์ฝุ่นเพื่อกระตุ้นให้คนของประเทศตนเองตระหนัก   ตื่นตัว ลดการเผาและป้องกันตนเอง

            นี่เป็นครั้งแรก  ! ที่ภาคประชาสังคมแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ได้จับเข่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์จัดการไฟกับชาวกะเหรี่ยง คะเรนนี และคะยา สานสัมพันธ์ลมหายใจสองฝั่งสาละวิน

หลักฐานที่รับรู้มานานว่าฝุ่นควันคือปัญหาร่วมของประเภทในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คือภาพถ่ายจุดความร้อนเหนือแผ่นดินไทย ลาว  พม่า กัมพูชา และเวียดนาม  แต่ก็ใช่ว่าความเข้าใจและความพยายามแก้ไขปัญหานี้จะใกล้เคียงกัน เพราะหากเรา (ชาวไทย) จะมองย้อนไปอย่างน้อย 5 ปีที่ผ่านมา  ความรู้เรื่องฝุ่น PM 2.5 หน้ากาก N95 เครื่องฟอกอากาศ การทำห้องปลอดฝุ่น ทิศทางลม  ปรากฏการณ์ฝาชีครอบ  เป็นเรื่องใหม่มาก

เราได้ผ่านการทำความเข้าใจความตระหนักเหล่านั้นมาพอสมควร   แต่กับเพื่อนบ้านที่เงื่อนไขของประเทศเป็นอีกอย่าง  การสร้างตระหนักและกระตุ้นให้เข้าใจปัญหานี้กำลังเริ่มต้น 

หนุ่มสาวลาวไทยระบุ สื่อสร้างความตระหนัก หวังต่อยอด   

ฤดูฝุ่นปีนี้ มีการต่อยอดพลังหนุ่มสาวโดยใช้โอกาสของ การสื่อสาร เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านคือ ภาคเหนือของประเทศไทย กับ แขวงหลวงพระบาง สปป. ลาว ผ่านการทำ “สถานีฝุ่นลุ่มน้ำโขง ปี 3”  โดยคณาจารย์และนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยสุภาณุวงศ์ สปป.ลาว ร่วมกับสภาลมหายใจภาคเหนือ และไทยพีบีเอส

 การเรียนรู้เครื่องมือดูจุดความร้อน ดาวเทียม ค่าฝุ่น การเข้าใจเทคนิคการสื่อสาร และการประชุมแบบกองบรรณาธิการเพื่อค้นหาประเด็นและเรื่องเล่าจากพื้นที่เพื่อที่จะสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาฝุ่นควันและการเผาไม่ได้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่งและเพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุการเผาของแต่ละประเทศรวมถึงอันตรายจาก PM 2.5 และการป้องกันตัว

“ที่ผ่านมา ไม่ได้มองว่าฝุ่นควันส่งผลกระทบมาก อาจมีที่แสบตาบ้าง ไม่ค่อยใส่ Mask  ก็คิดว่าเป็นอย่างนี้ทุกปี 3-4 เดือนก็หาย ไม่รู้ว่าการจุดไร่ในบ้านเราแล้วควันจะไปถึงที่อื่นด้วย  แต่พอได้มาเรียนรู้ถึง ฝุ่นPM 2.5 ผ่านการลงมือทำสื่อร่วมกับสถานีฝุ่นของประเทศไทย ก็ได้รู้ถึงผลกระทบและผลเสียของฝุ่น มากกว่าเดิม ทำให้คิดว่า ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยป้องกันผลกระทบ และต้องยิ่งเผยแพร่ข้อมูลให้คนได้รู้ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ” กู้ด สอนประสิด นักศึกษาสาขาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ แขวงหลวงพระบาง และอีกบทบาทคือทีมผลิตฝ่ายรายการ โทรภาพหลวงพระบาง บอก

“ผมได้เรียนรู้ว่า ฝุ่นมีอันตรายมาก ไม่ได้เกิดผลกระทบทันทีกับร่างกาย แต่ส่งผลระยะยาวกับสุขภาพ เดิมผมเข้าใจว่าควันที่เกิดจากการจุดไร่นาที่ประเทศของเรา ทำให้เกิดควันและฝุ่นมา แต่พอได้ดูเว็บไซด์ ดูดาวเทียมเป็น เราก็พบว่ามันอยู่ที่กระแสลมที่จะพัดไปมาในภูมิภาคนี้ด้วย  ผมเลยจะทำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันที่ใช้สื่อ และเป็นแอดมินเพจของสาขา ที่เมื่อเกิดสถานการณ์ก็จะได้โพสต์เตือนประชาชน เตือนเพื่อนนักศึกษา ให้ออกไปเตือนพ่อแม่ต่อๆ กันไป   ข้อมูลที่ได้จากการที่เราดูเว็บเป็นทำให้น่าเชื่อถือมากขึ้น ถ้าในอนาคตเราได้สื่อสารในเรื่องนี้อีก ก็อยากเชื่อมต่อกับข้าราชการ ผู้ปฏิบัติงานในหลวงพระบางให้มากกว่าเดิม”   สมสุข นักศึกษาปี 4 มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ ผู้ทำหน้าที่ทั้งเป็นนักข่าว พิธีกร ทำ Live สตรีมมิ่งผ่าน streamyard   

“เมื่อก่อนไม่รู้ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพก็ไม่เท่าไหร่   พอรู้แล้วอึดอัดขึ้นมาเลย (ยิ้ม) ต้องใส่หน้ากาก และบอกคนรอบข้างให้ใส่หน้ากาก บอกพ่อแม่เลี่ยงออกจากบ้านไม่ไปไร่ถ้าฝุ่นเยอะ พ่อแม่ก็เชื่อหนูนะ เพราะตอนทำสถานีฝุ่น หนูทำหน้าที่ตรวจสอบค่าฝุ่นจากเว็บ AQI และ  Purple air  และนำมาทำเป็น DATA ค่าฝุ่นแต่ละแขวงในภาคเหนือของลาว และหนูได้ลงพื้นที่พบชาวบ้าน พบว่า จำนวนมากที่การศึกษาไม่สูง ไม่ได้ใช้โทรศัพท์หรือเข้าสื่อออนไลน์ไม่เป็น ไม่รู้จักฝุ่น PM 2.5 ไม่รู้ว่ามีความร้ายแรง ใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ว่ามีผลร้ายต่อเรา และผลกระทบต่อเมือง บางทีสถานที่ชมวิวสวยๆอย่างยอดภูสีก็มองไม่เห็นตัวเมือง  อยากให้มีการจัดการเพิ่มขึ้น เช่น ถ้าฝุ่นเยอะก็ยังไม่ควรจุดไร่ รอฝุ่นจางก่อน”  บัวคำ นักศึกษาปี 3 ผู้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายข้อมูลสำรวจค่าฝุ่นให้กับสถานีฝุ่นมหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์

 “หนูลงไปถ่ายสกู๊ปตามสถานที่ต่างๆ พบว่า ประชาชนไม่มีความรู้ฝุ่น PM 2.5 ว่าอันตราและไม่รู้ถึงการป้องกันตนเองอย่างไร  อยากให้มีการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้เพิ่ม หาวิธีไม่ให้มีฝุ่นมากขึ้น  อยากเผยแพร่ทั้งตัวเมืองและเขตรอบนอก โดยอาจมีความร่วมมือกับภาครัฐ โทรภาพ และวิทยุ เพราะพื้นที่ห่างไกล สัญญานอินเตอร์เน็ตจะเข้าไม่ถึง” นาที นักศึกษาปี 4 บอก   

“ทั้งอาจารย์ และนักศึกษาที่ร่วมโครงการตื่นเต้นที่กับบทเรียนใหม่ๆ ทั้งด้านเทคนิคการสื่อสาร วิธีการหาข้อมูลใหม่ๆ จากทีมวิทยากร ส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวกับฝุ่นทำให้ตระหนักมากขึ้น  หลายปีที่ผ่านมาเราเจอปัญหานี้ แต่คนรุ่นใหม่ก็มองว่าเป็นปกติ เมื่อมารู้ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทีนี้เวลาพวกเขาไปที่ไหนและเห็นการจุดไฟ ก็จะจับกล้องถ่ายส่งมาให้  และนักศึกษาเหล่านี้เมื่อเขากลับไปบ้าน แขวงของเขา ก็สามารถไปถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับฝุ่น ผลกระทบต่อสุขภาพหรือสร้างความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  และปีต่อไป ก็อาจจะสามารถทำเครือข่ายเพิ่มขึ้น เพราะนักศึกษาเขากลับไปในแขวงของเขา โดยเฉพาะในอีก 4 แขวงคือ   หัวพัน  อุดมไซย หลวงน้ำทา  บ่อแก้ว  ข่าวของเราก็จะกว้าง จะเห็นความหลากหลายมากขึ้น” อาจารย์จันทะพอน หรืออาจารย์ตุ้ย บอก   

“ฝุ่น เป็นตัวเชื่อมที่ดีที่ทำให้เรามีความร่วมมือในการสื่อสาร และต่อยอดความรู้  จากเดิมที่ม.สุภานุวงศ์ และ ม.พะเยามีความร่วมมือทำกิจกรรมร่วมกันและมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับไทยพีบีเอสและสภาลมหายใจภาคเหนือ ก็เกิดไอเดียที่ขยายผลเป็น สถานีฝุ่นลุ่มน้ำโขงร่วมกัน  การได้ฝึกฝนด้านเทคนิคการสื่อสารมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย และความรู้ความเข้าใจเรื่องฝุ่นก็ทำให้เกิดความตระหนัก และตอนนี้ก็มีการต่อยอดอยู่ระหว่างการทำวิจัยร่วมกับ ม.พะเยาเรื่อง การตระหนักรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพจากฝุ่นควัน PM 2.5 ของประชาชนไทยลาวในพื้นที่ชายแดนด้วย”  อ.สิงห์ทอง อาจารย์สาขาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยสุภานุวงษ์ ที่นำนักศึกษา 21 คนมาร่วมสื่อสารสถานีฝุ่นลุ่มน้ำโขงในปีนี้

            ขณะที่ฝั่งของไทยมีการสื่อสารเรื่องฝุ่นอย่างเข้มข้นมาต่อเนื่อง นนทพันธ์ วรศาสตร์ นักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บอกว่า 2 เดือนเต็ม ที่ร่วมสื่อสารกับเพื่อนจากต่างพื้นที่  ทำให้รู้ว่าฝุ่นบ้านเราซับซ้อนมาก การสื่อสารเป็นเครื่องมือให้พวกเราเข้าใจปัญหาฝุ่นควันมากขึ้น ซึ่งในภาคเหนือ ปัญหาแต่ละที่ ที่พวกเขาร่วมกันสื่อสารมา มีความซับซ้อนของพื้นที่แตกต่างกัน และเห็นความพยายามแก้ปัญหาและมีส่วนร่วมของประชาชนชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

            การตื่นตัวแนวราบของเยาวชนลาวไทยครั้งนี้มีความหมายสำคัญ  ด้วยสปป.ลาว นับเป็นพื้นที่จุดความร้อนจำนวนมากในภูมิภาคนี้ และกำลังเป็นพื้นที่ที่โครงสร้างการผลิตเกษตรกรรมเปลี่ยนแปลงมาสู่การปลูกมันสัมปะหลัง และเลี้ยงวัว

 สานสัมพันธ์ ลมหายใจ สองฝั่งสาละวิน

            จากลุ่มน้ำโขง อีกด้านที่ติดพรมแดนไทยคือฟากฝั่งสาละวิน  เขตไฟใหญ่ของอาเซียนตอนบนที่ต้องหาทางแก้ไขหรือบรรเทา และเป็นเขตต้นลมสู่แอ่งเชียงใหม่ ลำพูนและจังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียง ได้รับผลกระทบสูง 

เวที “สานสัมพันธ์ ลมหายใจ สองฝั่งสาละวิน สร้างกลไกฝุ่นควันข้ามแดน” ซึ่งมีตัวแทนทั้งภาคประชาชนภาคเหนือ เช่นแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ โดยสภาลมหายใจภาคเหนือ ร่วมกับประชาชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงฝั่งแม่น้ำสาละวิน รัฐคะเรนนี มาจับเข่าคุยกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านฝุ่นไฟ และเข้าใจบริบทตลอดจนเงื่อนไขในพื้นที่นี้มากขึ้น

             ข้อคิดเห็นจากวงนี้ตรงกันคือ ในระดับนโยบายภาพใหญ่ รัฐบาลไทยประสานงานความร่วมมือกับรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อต้องการให้แก้ปัญหาทุกปีก็จริง แต่ปัญหาไม่ถูกแก้เพราะพื้นที่ที่มีจุดความร้อนเกิดขึ้นส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของรัฐบาลทหารเมียนมา  เนื่องจากสถานการณ์การสู้รบของฝ่ายต่อต้านที่เข้ายึดพื้นที่และพยายามสถาปนาเป็นสหพันธรัฐ มีการรวมกลุ่มแบ่งอำนาจทั้งการดูแลและปกครอง การแก้ปัญหานี้ รัฐบาลไทยน่าจะใช้เปลี่ยนวิธีการประสานงานหรือขอความร่วมมือกับอีกกลุ่มด้วยหรือไม่ ซึ่งสามารถใช้กลไกรัฐท้องถิ่นต่อรัฐท้องถิ่นก่อนได้

             แม้ความชัดเจนฝ่ายรัฐไทยยังไม่คืบหน้าอย่างเป็นทางการ ด้านภาคประชาชนของทั้งสองประเทศ ก็ออกแบบการเชื่อมองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาร่วมกันแล้ว เพราะลมหายใจของเราต่างอยู่ท่ามกลางฝุ่นไฟที่ไร้พรมแดน

ความร่วมมือแก้ระดับชาติ G to G คืบแค่ไหน ?

ปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดนไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นถึงปัญหานี้มาตั้งแต่ช่วงปี 1997-1998 กรณีไฟใหญ่จากอินโดนีเซียสร้างผลกระทบต่อสิงคโปร มาเลเซีย บรูไน และภาคใต้ของไทย  แต่เพิ่งจะบรรลุความตกลงว่าด้วยหมอกควันพิษข้ามพรมแดนในปี 2002 โดยมีกลไกการทำงานคือการประชุมรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อม Conference of Parties หรือ COP    ขณะที่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงมีแผนปฏิบัติการเชียงรายที่ออกมาในปี 2017 กำหนดเป้าหมายในการลด hotspot ให้ไม่เกิน 50,000 แห่งในปี 2020 แต่ขณะนี้นอกจากจะไม่ลดตามเป้า ยังเพิ่มมากขึ้นอีก   หากดูจากพฤติกรรมการเกิดไฟต้นตอฝุ่นในประเทศเพื่อนบ้าน  ฝุ่นที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้านจากการเผาพื้นที่นา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อย โดยเฉพาะการเผาพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมา ที่ไทยนำเข้าปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2562 และการเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเพื่อการส่งออกของประเทศลาว นี่คือสิ่งที่ยากที่เราจะควบคุมและจัดการ

ความเคลื่อนไหวระดับรัฐ เมื่อปลายปี 2566 ไทยเปิดข้อเสนอในการประชุมประเทศภาคีต่อข้อตกลง

อาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 18 (COP-18) ร่วมกับสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) คือ  ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR SKY Strategy) และขับเคลื่อนความร่วมมือเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีแนวคิดที่จะดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และดึงกลุ่มนักธุรกิจเข้าร่วมด้วยการสร้างแรงจูงใจให้หยุดการเผาในที่โล่ง โดยมีข้อสรุปว่า ทุกประเทศยืนยันที่จะร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนต่อไป และในปี 2567 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 19 (COP-19)

นอกจากนั้น มีการยกระดับการหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้กลไกความมั่นคงและความสัมพันธ์ระดับชายแดน เช่น ความร่วมมือการทำเเนวกันไฟระหว่างจังหวัดเชียงราย และแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว  มีประชุมกับกัมพูชา เพื่อจัดตั้ง Hotline ระหว่าง 2 ประเทศ สำหรับประเทศเมียนมา กระทรวงทรัพยากรฯ อยู่ระหว่างการเจรจาโดยใช้กลไกคณะกรรมการชายแดนระดับผู้บัญชาการทหารสูงสุด

อย่างไรก็ตาม กลไกระดับรัฐต่อรัฐและอาเซียน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยังเป็นลักษณะปฏิกิริยาตอบรับสถานการณ์ และยังไม่ได้มองไปถึงรากปัญหา เช่น ต้นตอการเกิดฝุ่นไฟที่สัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ และกลไกการรับมือหรือเกิดความตระหนักของประเทศในภูมิภาคนี้ยังแตกต่างกัน

หากจะหันมามองความหวังของการใช้กฎหมาย ในร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 7 ร่าง มีประเด็นที่เป็นข้อหารือคือการแก้ไขปัญหาสินค้านำเข้าที่มีแหล่งที่มาจากการสร้างมลพิษทางอากาศ

 ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ของพรรคก้าวไกล ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มาก

ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ของภาคประชาชนโดยคุณคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม กับเครือข่ายอากาศสะอาด ก็ได้กำหนดอายุความการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดที่ทำให้เกิดมลพิษข้ามแดน จะต้องมีอายุความ 10 ปี มีโทษปรับอัตราสูง ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ความเร็วลม ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ค่าดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพ ในการตรวจสอบ  ส่วนร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษ  แต่พ.ร.บ.ก็คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่น้อย

ทางออกของเรื่องนี้ จึงไม่ได้หวังรอเพียงการจัดการระหว่างรัฐ  แต่จุดคานงัดที่จะรับมือกับโจทย์ฝุ่นไฟข้ามพรมแดนคือความตระหนักในการป้องกันตนเอง ให้ความรู้ระหว่างประชาชนด้วยกัน และลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนการจัดการบรรเทาสถานการณ์  แม้อาจต้องใช้เวลานาน แต่ว่าก็มีจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นแล้ว . 


ชวนติดตาม

คุณเล่าเราขยาย ตอน ลมหายใจข้ามแดน (19 เม.ย. 67)

แชร์บทความนี้