เปิดม่านฝุ่น ฤดูนี้ใครทำอะไร ผ่านวง Monthly Forum 2  CREATIVE HUB FOR PUBLIC CMU

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ไทยพีบีเอส โดย ศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อสาธารณะภาคเหนือ NORTH REGIONAL CREATIVE HUB FOR PUBLIC มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดศูนย์ข้อมูลและบรรณาธิการเนื้อหา “วงหลอมรวมเนื้อหา” Monthly Forum ครั้งที่ 2 เมื่อวัน พฤหัสบดี ที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมบัวเรศ คำทอง ชั้น 5 อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย 2 เพื่อผลักดันประเด็นการสื่อสารสาธารณะจากท้องถิ่น พร้อมทั้งเครือข่ายร่วมระดมเนื้อหาที่สำคัญสำหรับคนภาคเหนือตอนบน เพื่อออกแบบการสื่อสารสาธารณะ

โดยครั้งนี้มีตัวแทนจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภายใต้โครงการความร่วมมือเครือข่ายสถาบันการศึกษาเพื่อการสื่อสารสาธารณะ วาระภัยพิบัติภาคเหนือ (ฝุ่นควัน) สถานีฝุ่นลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมทั้งเครือข่ายเชิงประเด็น ตัวแทนภาคภาคเอกชน เครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น ทีมสื่อพลเมือง ผู้ผลิตอิสระภาคเหนือ Local correspondentภาคเหนือตอนบน สื่อท้องถิ่น รวมถึงภาคประชาสังคมที่มี agenda มาคุยกัน ภายใต้ 2 หัวข้อหลัก

1.ประเด็น : เปิดม่านฝุ่น ฤดูนี้ใครกำลังจะทำอะไร ? พร้อมชวนตั้งโจทย์การสื่อสารรอบนี้

2.ปรับทิศคิดต่อ ระดมประเด็นสาธารณะในเหนือ 2568 อะไรคือโจทย์งานสื่อสารในพื้นที่ภาคเหนือ?

อาจารย์ ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้แทนมหาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากเรากำลังจะมีกฎหมายอากาศสะอาด หรือ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่จะคลอดในเดือนมกราคมต้นปีหน้า เราจึงต้องการใช้สื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหา โดยตนมองบทบาทสื่อโดยตั้งเป็น 2 แกน คือ แกนตั้งและแกนนอน

โดยแกนตั้งเพื่อให้สื่อเป็นตัวหนึ่งที่มีบทบาทผลักดันกฎหมาย เป็นการสื่อสารระดับที่หวังผลระดับนโยบาย รวมถึงกลไกระดับจังหวัด ใช้สื่อแก้ปัญหาผลกระทบในพื้นที่ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันตัวกฏหมาย แต่เขี้ยวเล็บของกฏหมายจะทำให้กฏหมายสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ต้องมีกระแสจากข้างล่างคือพื้นที่ส่งต่อไปยังกลไกรัฐสภาทั้ง สส. สว. ไม่อยากให้กฏหมายผ่านแล้ว เราต้องมาเริ่มต้นว่าเราจะแก้อย่างไร ดังนั้นเป้าหมายแนวตั้งอีกประการ คือ กลไกระดับจังหวัดซึ่งปัจจุบันมีหน้าที่ต้องทำการแก้ไข เตรียมการ มีทิศทาง มีแนวทางในการที่จะทำให้เกิดการแก้ปัญหา โดยการใช้ฐานข้อมูลในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับภาคเหนือ และเท่าที่ดูข้อมูลอย่างภาคอีสาน มันมีมลพิษทางอากาศหนักกว่าภาคเหนือด้วยซ้ำ เกินค่ามาตรฐาน 6 เดือน นานกว่าภาคเหนือ และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

ส่วนแกนนอนคือ การสื่อสารแนวราบกับประชาชนด้วยกันเอง ย่อยสื่อสารในระดับพื้นที่ ไม่ว่าการจะลดจุดความร้อนในพื้นที่ การใช้ไฟ ใช้ไฟอย่างไรให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด หรือการระดมสรรพกำลังทั้งจากภาคเอกชนในการสนับสนุนพื้นที่ไปจนถึงกลุ่มเปราะบาง ในระหว่างนี้จะเตรียมการอย่างไร สำหรับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาชนที่ดูแลผู้เปราะบางต่างๆ จะทำงานเชิงรุกกันอย่างไร ซึ่งสามารถโยงกับเชื่อมโยงกับ ฐานข้อมูล BIG DATA ตอนนี้มี พ.ร.บ.ร่างกฎหมายที่กำลังใกล้คลอด แต่ยังมีบางส่วนที่ความเห็นยังไม่ตรงกัน ดังนั้นจึงอยากเติมในเรื่องการสื่อสารทำอย่างไรที่จะทำให้การขับเคลื่อนทั้งในแนวตั้งและแนวราบ ทำอย่างไรให้เกิดการผลักดันระดับนโยบาย ผลักดันกฎหมาย วิธีการแก้ปัญหาในกลไกของรัฐ ซึ่งก็ลุ้นให้ พ.ร.บ.ออกมาครบ 32 ประการก่อน

ดังนั้น สื่อจึงมีความสำคัญมากที่จะผลักดันให้ความเห็น ข้อมูล กับสังคมว่าข้อดีข้อเสียของพรบ.มีอะไรบ้าง สื่อมีหน้าที่ทำความเข้าใจร่วมกันในสังคม ขณะเดียวกันสื่อก็ยังเป็นคนกำหนดประเด็นด้วย ดังนั้น สื่อจึงเหมือนคนส่องตะเกียง ทำหน้าที่เป็นตะเกียงส่องไปข้างหน้าว่า ปัญหา PM 2.5 จะมีทางออกอย่างไรบ้าง

ขณะเดียวกันบทบาทของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการทำข้อมูล Big DATA เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างขึ้นมาเพื่อคู่กันไปกับงานสื่อสารทำให้คนเข้าใจปัญหา และใช้เพื่อหาทางออก เป็นสรณะในการแก้ปัญหาในฤดูกาลฝุ่นครั้งนี้ เดินคู่ขนานกันไป

บัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจ กล่าวว่า วิกฤติฝุ่นนั้นใหญ่มากและปัญหามันเกิดมานานมาก การคลอดกฏหมายอากาศสะอสาด ที่เกี่ยวข้องกับ SECTER ต่าง ๆ ของเมืองไทยที่แทบจะทั้งประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหานี้ ในสถานการณ์ใหญ่มันหมายถึงจุดที่มีการต่อรอง ไม่ลงรอยกันของของ Conflict of interest ซึ่งมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นเรื่องที่การสื่อสารหรือที่คนทำการสื่อสารจะต้องมองเห็นลึกลงไปอีกให้ได้ว่า 

นับแต่ปี 2550 เป็นยุคแรกของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปี 2554 ที่เกิดภาพเขาหัวโล้น จ.น่าน ซึ่งนับเป็นยุคสองของปัญหา เริ่มมีการตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น สื่อกระแสหลักเล่นจริงจัง มีการกล่าวหาว่าใครทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน คนเมืองหรือคนดอย ชี้โทษกันไปมา

จนมาถึงยุคที่คนตื่นตัวมากขึ้น กระทั่งปัจจุบัน นับแต่ปี 2564-2565  ยุคนี้รู้แล้วว่าต้องแก้ไขร่วมกันทั้งหมด แต่ก็ยังเกิดความขัดแย้ง มีความเห็นที่แตกต่าง กฎหมายอากาศสะอาด มันจะเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่างเพื่อให้ฝุ่นน้อยแล้ว แต่คนก็ยังมีคัดค้านบ้าง เพราะมันมีผลกระทบกับทุกคน ต่างคนต่างมีเหตุผล ไม่ยอมกัน

พรบ.อากาศสะอาด เป็นผลพวงหนึ่ง ผลพวงแห่งการผลักดันทางสังคมว่าต้องแก้ไขเรื่องนี้ คือ ต้องมีกฏหมายเฉพาะ มีฉันทามติ รวมเป็นร่างที่ 8 จาก 7 ร่าง แต่พอจะจบกฏหมายใกล้คลอดมันมี conflict อยู่ในนั้นเพราะ เนื้อหาสาระของปัญหานี้ คือต้องแก้เชิงโครงสร้าง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมี Conflict of interest 

Conflict of interest คืออะไร ? ยกตัวอย่าง ต้องมีการยกระดับเทคโนโลยีผลิตปล่องและรถยนต์ Conflict of interest คือวาระแห่งชาติเดิมต้องแก้เครื่องยนต์ยูโร 4-5 น้ำมันยูโร ก็มีการต่อต้านคัดค้าน ก็เลื่อนมาแต่จริงๆ มัน คือ Conflict of interest ระหว่างค่ายรถยนต์และฝ่ายนโยบาย ชาวนาที่อยุธยาก็บอกว่ามายุ่งทำไม ผมต้องเผา ต้องรีบ ทำนาปรังให้ทัน นี่เป็น Conflict of interest สิ่งที่คณะกรรมาธิการกำลังทำอยู่ เหมือนกฏหมายอากาศสะอาดทั่วโลก พอประกาศไปแล้ว เจตจำนงคือการเปลี่ยนการผลิต เปลี่ยนวิธีการ เปลี่ยนอะไรต่างๆ  สู่แบบใหม่ที่ปล่อยอากาศพิษให้น้อยลง ทันที่ที่เราบังคับกฏหมาย เรากำลังจะมี Conflict of interest ที่จะเกิดทันทีคำถามคือแล้วจะไกล่เกลี่ยนอย่างไร คนอยู่ตรงกลางต้องเป็นกลางจริงๆ Conflict of interest จะยังไม่จบ

แต่สิทธิในการหายใจ มันเป็นคำถามของทุกคน เราจะหาทางออกอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะต้องเปลี่ยนโครงสร้างแบบทั้งสิ้น ข้อท้าทายของกฎหมายอากาศสะอาด ข้อนี้คือ 1. กลไกราชการ 2. ความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้าง พรบ.จะไปจัดการความเหลื่อมล้ำ 3. จะสร้างความเป็นธรรมให้กับทุนและโลก ประชาชนทั่วไป ซึ่งทันที่ที่ออกมามันมีอานุภาพจริงหรือเปล่า ขนาดไหน แค่ไหน

วาระของสภาลมหายใจภาคเหนือ : จับตาสถานการณ์ปีนี้ที่จะมีเรื่องใหม่

1.มีกฏหมายอากาศสะอาดมาให้แล้ว แต่ในเชิงการใช้ เราไม่ได้ใช้ปีนี้

2.มีการยืนยันแล้วว่าจะมีฝนตก จากปรากฏการณ์ลานีญา ปัญหาฝุ่นจะเบาลง อาจเท่ากับปี 64

3.วาระแห่งชาติใหม่

4.แผนปฏิบัติการปี 2568

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ตัวแทนสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ตนทำงานเรื่องฝุ่น PM2.5 มานับสิบปี  สิ่งที่มองเห็นในตลอดที่ผ่านมา คือ มันเป็นปัญหาทางโครงสร้าง  เรามักจะไล่ดับไฟเมื่อถึงฤดูฝุ่น ที่เป็นอย่างนั้นเพราะทำตาม พรบ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เขาก็เลยต้องทำอย่างไร เราออกแบบวิธีแก้เรื่องฝุ่นแบบนี้มาตลอด แต่เราไม่ได้ทำเชิงรุก การบูรณาการไม่ได้เกิดขึ้นจริง สื่อคงจะต้องทำงานให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แทนที่จะเป็น พรบ.เชิงรับ ให้เป็นกฎหมายเชิงรุก ให้เกิดการดูแลแหล่งกำเนิดไฟหรือฝุ่นทุกแหล่ง ซึ่งการสะท้อนปัญหาเรื่องโครงสร้างมันเป็นเรื่องยาก มันเหมือนเราจะต้องปอกหอมทีละกลีบ ยิ่งปอกก็ยิ่งเห็นปัญหาที่ลึกขึ้น เช่น มันไปพันกับ พรบ.ป่าไม้ ยกตัวอย่างเช่น เชียงใหม่ ไฟไหม้หลักเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 50 เปอร์เซ็นต์ เกิดในป่าสงวน 43 เปอร์เซ็นต์  เกิดนอกป่าแค่ 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  และอีกส่วนก็มาจากฝุ่นควันเพื่อนบ้าน

ทำไมเกิดขึ้นในป่า เราจะแก้อย่างไร  ไม่มีทางแก้ได้ ถ้าไม่ปลดล็อกกฎหมาย คือ กฎหมายที่กดทับลงมาทำให้ชาวบ้านไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน พอไม่มิสิทธิทำกิน คุณปลูกต้นไม้ก็ไม่ได้ ถูกตัด ก็เลยต้องปลูกข้าวโพด เพราะข้าวโพดเป็นพืชอายุสั้น ใช้เวลาไม่กี่เดือน พอหน้าแล้งก็เผา หน้าฝนดินถล่ม  มันกลายเป็นวงจรแบบนี้ แต่ถ้าที่ดินทำกินของชาวบ้านมั่นคง ปัญหามันจะเปลี่ยน

ปีนี้สภาลมหายใจวางจังหวะปลดล็อค คือ การ co management ยุคหลังนี้เราพบหัวหน้าอุทยานรุ่นใหม่ๆ ซึ่งดีมาก เขายอมรับว่าดูแลไม่ไหว เช่น หัวหน้าอุทยานดอยสุเทพ ออบขาน เขาเก่งทำงานกับชาวบ้านดีมาก  เขาเชื่อว่าต้องเปลี่ยนความขัดแย้งจากการไล่จับ มาเป็นร่วมมือ แต่ต้องเคารพกติกา เจ้าหน้าที่รัฐต้องเคารพกติกา ไม่รังแกชาวบ้าน ชาวบ้านก็ต้องเคารพกติกา ป่าไม้ก็ต้องเคารพกติกา ทำอย่างไรให้ชาวบ้านมามีส่วนร่วมและมีแผนของตนเอง

คุณ พัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำงานของเราไปไม่ถึงชุมชน เราไปถึงแค่ ป่าไม้ นายกเทศมนตรี กำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่ไม่เคยเข้าถึงชาวบ้าน ปีนี้สภาท่องเที่ยวเลยพยายามจะเข้าถึงชาวบ้านให้มากที่สุด จึงขอร้องบริษัทที่มีผลได้ผลเสียมาทำ DSR กับชุมชน ซึ่งได้ลงพื้นที่ที่เมืองงาย เมืองนะ อ.เชียงดาว และ แก่งก้อลี้ ดอยสะเก็ด มีการลงนามกับผู้ว่า มีการป้อนทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อนำมาทดแทน การทำมาหากิน จากการหาของป่า ส่งเสริมให้เกิดการปลูกป่า  เป็นพ่อแม่บุญธรรมให้ผืนป่านั้น เราเชื่อว่า ทรัพยากรในประเทศไทยถูกจัดสรรไม่ยุติธรรม ไม่เกิประสิทธิภาพเพียงพอและมันกระจุกตัว  และสุดท้ายคนในพื้นที่ไม่สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างจริงจัง

การ CSR จะทำให้คนที่ทำงานในบริษัทได้เข้าใจชาวบ้านมากขึ้น เข้าใจว่าทำไมการไม่ให้สิทธิ์ชาวบ้าน ชาวบ้านจะไม่กล้าปลูกพืชไม้ยืนต้น

ส่วนการปลูกต้นไม้ร่วมกันเป็น พ่อแม่บุญธรรมให้ผืนป่านั้น เราก็จะมีการลงไปติดตามกับคนในพื้นที่ว่าป่ารอดไหม จะไม่ได้เป็นกิจกรรมจบภายในปีเดียว

ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้แทนศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ กล่าวว่า ACAir ทีมการสื่อสารเชิงรุก เกิดจากอาจารย์หลายคณะ ทั้งวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์  หลายๆ ด้านมาช่วยกัน ตนเป็นนักวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่มาทำงานกับชุมชน  ต้องบูรณาการส่วนวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน

โดยเริ่มทำงานมาตั้งแต่ปี 2562 ทำหลายกิจกรรมตั้งแต่ค่ายเยาวชน ต้นกล้าท้าหมอกควัน การแจกแมส หน้ากากอนามัย กิจกรรมสร้างสื่อสู้ฝุ่น รวมถึงสร้างนวัตกรรมหลายอย่าง เช่น  มุ้งสู้ฝุ่น ระบบการจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลและการพยากรณ์คุณภาพอากาศ และเปิดหลักสูตรการอบรมหลายหลักสูตร ฯลฯ  ซึ่งมีทั้งได้ผลดี และยังจะต้องปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

การระดมความเห็นเชิงประเด็นสำหรับปีหน้า (จากผู้เข้าร่วมประชุม) ทิศทางประเด็นภาคเหนือตอนบน 2568 เช่น ปัญหาภัยแล้ง การแย่งน้ำ แย่งทรัพยากร คาร์บอนเครดิต ปัญหาเศรษฐกิจชายแดน แม่สอดจีนเทามิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์เยอะมาก ข้ามชายแดนมาทำในไทยบ้าง โคลักลอบน้ำเข้า หมอกควันชายแดน

พะเยา ปัญหาฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ วัยรุ่น ฝุ่นไฟป่า ทางรถไฟรางคู่ไปน่าน
ลำปาง ประเด็นสุขภาพจากฝุ่น ที่ผ่านมาการแก้ไขต่างๆ ไม่ตอบโจทย์ คนไม่เข้าถึงข้อมูล และการหยิบใช้ข้อมูลไม่เป็น ขนาดผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เขาก็อาจไม่เข้าใจ สกิลการเข้าถึงไม่ถึง
เติ้ล การจัดการภัยพิบัติ
เชียงรายสนทนา สถานการณ์ชายแดน ฝุ่น ภัยพิบัติ
แม่ฮ่องสอน ปัญหาชายแดน ภัยพิบัติ ฝุ่น วัฒนธรรม

แชร์บทความนี้