ใบไม้ยังไม่แห้ง : ฝุ่นไฟ EP.1

3 มกราคม 2568 โดย บัณรส บัวคลี่

สถานีควบคุมไฟป่าแม่ตื่น ลาดตระเวนสำรวจสภาพป่าเหนือเขื่อนภูมิพล ก่อนและหลังปีใหม่ รายงานว่า ป่าส่วนใหญ่ยังเขียว ใบไม้เริ่มแห้ง 5-10% ได้ส่งชุดลาดตระเวนสำรวจภาคพื้นที่ดิน ในภาพคือเส้นทางจากบ้านหินลาดนาไฮ ม.3 ไปบ้านสันป่าป๋วย ม.5 ต.บ้านนา อ.สามเงา จ.ตาก

จากนี้ไปป่าผลัดใบบริเวณเหนือเขื่อนภูมิพล รอยต่อจังหวัด ตาก – ลำปาง – ลำพูน – เชียงใหม่ จะเริ่มเปลี่ยนสีก่อนพื้นที่อื่นๆ

ใบไม้จะเริ่มแห้งจากใต้ขึ้นเหนือ จากสถิติย้อนหลังโซนป่ารอยต่อที่ว่า เกิดไฟใหญ่มากสุดเป็นประจำตั้งแต่ปลายมกราคม และไหม้สูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะไหม้ก่อนป่าที่อยู่โซนบนขึ้นไป

และป่าโซนบนที่จะเริ่มไหม้ต้นฤดูต่อจากป่ารอยต่อเหนือเขื่อน ก็คือ ป่าตอนล่างของลำปาง เช่น อช.แม่วะ และป่าโซนล่างเชียงใหม่ เช่น ป่าออบหลวง แม่โถ ซึ่งมักจะเริ่มไหม้ในกลางกุมภาพันธ์

ไล่ขึ้นไปเป็นลำดับ

และมันก็เป็นเคราะห์กรรมซ้ำเติทจากสภาพนิเวศลมฟ้าอากาศ เพราะ ฝุ่นควันไฟจากป่ารอยต่อผืนใหญ่โซนล่างที่ว่าเป็นต้นลมที่พัดเข้าสู่แอ่งเชียงใหม่ลำพูน … ลมต้นฤดูทางภาคเหนือพัดจากใต้ขึ้นเหนือ

ต้นเเดือนมกราคมเช่นนี้ อากาศทางเหนือยังพอดี พอใช้ได้อยู่ เพราะแหล่งกำเนิดปัจจัยกุมสภาพใหญ่สุด dominant factor ก็คือไฟในป่า ยังไม่เริ่มเผา

จะเริ่มเข้าสู่ภาวะอันตรายเมื่อไหร่…?

1.ความแห้งในป่า ซึ่งจากนี้ไปต้องติดตามจากภาคสนาม ป่าผลัดใบโซนใต้

2. กระแสลมอ้อมใต้ ที่จริงคือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือนั่นล่ะ แต่เขาพัดจากเวียดนามลาว เข้าอีสาน แล้วค่อยวกขึ้นเหนือ แถวๆ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ทำให้คนเหนือรู้สึกว่าเป็นลมมาจากทางใต้ ลมตัวนี้หอบปริมาณมลพิษจากภาคกลางอัดขึ้นมาเติม ผสมซ้ำกับแหล่งกำเนิดใหญ่ป่าโซนใต้ ที่ไหม้พร้อมๆ กันเป็นแสนไร่ในเดือนเดียว

ตอนนี้ลมมันยังเฉียงๆ มาจากน่าน เชียงราย ตรงๆ เป็นส่วนใหญ่

ลมพื้นดิน เป็นปัจจัยหนุนเสริม transport winds ของวิกฤตเหนือ

ที่จริงแล้วภาคเหนือเป็นภูมิประเทศที่พร้อมป่วยไข้ด้วยโรคมลพิษอากาศอยู่เดิม ด้วยความเป็นแอ่งภูเขา ป่าไม้ผลัดใบมาก ซ้ำภูมินิเวศทางอุตุนิยมวิทยา เป็นเขตอับลม ลมอ่อนมาก การยกตัวและระบายอากาศก็มีปัญหา จากชั้นความสูงผสม mixing height ที่เปรียบเสมือนผ้าห่มอากาศกดลง เป็นอาการอ่อนแอปูพื้นอยู่เดิม

วิธีแก้ไขบรรเทาคือ ต้องควบคุมแหล่งกำเนิดให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้

มันเป็นเงื่อนไขความจำเป็นแบบที่คนเหนือต้องปรับตัว เปลี่ยนพฤติกรรมกันให้ได้

เช่นดียวกับที่ชาวโลกทั้งผองต้องปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลกร้อนนั่นแล…. จะอ้างความเคยชินแบบเดิมไม่ได้

ลานีญ่า

ผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาจำนวนไม่น้อยแอบดีใจที่มีข่าวว่าปี 2568 เป็นปีลานีญ่าจะมีฝนมากขึ้น สถิติย้อนหลังก็บอกไว้ ปีสาวน้อยลานีญ่า 64 /65 ฝุ่นน้อยไฟน้อยกว่า 63/66 ซึ่งเป็นปีร้อนนิโย่

ซึ่งนั่นเป็นข้อน่ากังวล ที่จะทำให้การตั้งการ์ดหย่อนลง ประสาราชการที่วัดกันแต่ดัชนีจำนวนจุดความร้อนเป็นสรณะ

เมื่อปี 2564 ที่สถิติลดลง และราชการดีใจน่ะ …ชาวบ้านเดือดร้อนแทบตาย เพราะไฟมากตลอด กุมภาพันธ์-มีนาคม ความเข้มข้นเกิน 100 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ฝนค่อยมาเยอะต้นเมษายนปิดฤดูฝุ่นเร็ว…

ถึงล่าสุดตอนนี้ ปี 2568 แล้ว กรมอุตุนิยมวิทยาไทย ยังไม่ประกาศว่าเราเข้าสู่ภาวะลานีญ่าเลยนะครับ… แค่กำลังจับตา และคาดการณ์ว่าจะเข้า หน่วยงานนานาชาติด้านนี้ ASMC ศูนย์อุตุอาเซียนก็ยังแค่ระดับ a La Niña Watch หน่วยระดับโลก NOAA อเมริกาล่าสุดก็ยังแค่ระดับ watch ให้ความเป็นไปได้ของการเข้าสู่ลานีญ่าที่ 59%

แชร์บทความนี้