สถานีฝุ่นลุ่มน้ำโขงปี 4 กับ 6 ชุดเนื้อหาการสื่อสารจากคนรุ่นใหม่ 5 มหาวิทยาลัยภาคเหนือไทย X 1 มหาวิทยาลัย สปป.ลาว ร่วมกับเครือข่ายสื่อท้องถิ่น ในพื้นที่ภาคเหนือ กำลังเตรียมการที่จะสื่อสารในเรื่องฝุ่นกันอย่างเต็มที่ มีอะไรกันบ้าง ?
ฝุ่นมันฮ้ายโดย….สถานีฝุ่นมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เจาะลึกกับประเด็น “ฝุ่นมันฮ๊าย แต่เราต้องอยู่ด้วยกันให้ได้” ลงพื้นที่จัดวงคุย ร่วมกับชุมชน อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ สนทนากับชุมชนถึงผลกระทบกับการใช้ชีวิตกับฝุ่น-ไฟ รวมถึงการจัดการและการดูแลกันในชุมชน รวมถึงพาไปพูดคุยและชวนฟังข้อเสนอของกลุ่มคนทำงานท่ามกลางฝุ่น
พร้อมทั้งเสิร์ฟสาระความรู้สู้กับฝุ่น โดย ศูนย์ AiroTEC CMRU สนทนาสาธิตการทำห้องปลอดฝุ่น สำหรับหน่วยงานและประชาชน
Campus Dust Station@CRRU กับ สถานีฝุ่นมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายXสื่อท้องถิ่นเชียงราย เจาะลึก 2 พื้นที่ พื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย พื้นที่ติดชายแดน ไม่มีไฟยังไงก็มีฝุ่น ฝุ่นมาธุรกิจตั้งรับ แรงงานปรับตัว
ปัจจุบันปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังคงส่งผลกระทบในวงกว้างในหลายด้าน ทั้งมิติด้าน การค้า เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายซึ่งมีรายได้หลักสำคัญจากการโรงแรมและการท่องเที่ยว นอกจากผู้ประกอบการที่ได้รับ ผลกระทบแล้ว เรายังพบว่ามีกลุ่มคนซึ่งเป็นแรงงานสำคัญในกลไกการขับเคลื่อน ภาคธุรกิจบริการที่ได้รับผลกระทบต่อการ ใช้ชีวิตและวิถีความเป็นอยู่
เจาะลึกสุขภาพกลุ่มผู้เปราะบางพื้นที่ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อำเภอชายแดนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น ทั้งจากการเผาเพื่อการเกษตรและฝุ่นข้ามแดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พบว่ามีคนตัว เล็กๆ ที่ทำหน้าที่ในฐานะ อสม.ที่ดูแลสุขภาพผู้อื่น เป็นหน้าด่านที่สำคัญในการ ดูแลรักษาสุขภาพผู้อื่น แต่ อสม.บางส่วน ได้เผชิญปัญหาสุขภาพและยังไม่มีการดูแลตัวเองและครอบครัวได้อย่างดีพอ ก่อนที่จะไปดูแลผู้อื่น สุขภาพของ อสม.ควรได้รับการดูแลก่อนที่จะไปดูแลผู้อื่นอย่างไร ชวนคุยและหาคำตอบ กับ Campus Dust Station@CRRU
คุยคลุ๊กฝุ่น โดย สถานีฝุ่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เจาะลึกมิติผลกระทบด้านสุขภาพของเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า และ สิทธิสวัสดิการในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 เน้นเรื่องราวเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า เพราะในช่วงสถานการณ์เจ้าหน้าที่ดับไฟเป็นเหมือนกับด้านหน้าที่ต้องเจอกับปัญหา ซึ่งภาระงานขอเจ้าหน้าที่ดับไฟป่ามีความเสี่ยงและอันตราย ซึ่งในระยะสั้นและระยะยาวล้วนส่งผลต่อสุขภาพ และตั้งคำถามถึงสวัสดิการที่ได้รับในการดูแลเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์
พร้อมทั้งขยายประเด็นพูดคุยต่อกับผู้รู้ ผ่านรายการสถานีฝุ่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สถานีฝุ่นมหาวิทยาลัยพะเยา
เจาะลึก มาตรการนโยบายรับมือฝุ่นของท้องถิ่นจังหวัดพะเยา สารคดีเชิงข่าวเจาะลึกศูนย์เด็กเล็กในจังหวัดพะเยาและโมเดลการทำห้องปลอดฝุ่น รวมถึงเสียงจากฝุ่นสัมภาษณ์ขยายประเด็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นในมหาวิทยาลัยพะเยา
สถานีฝุ่นมหาวิทยาลัยแม่โจ้
เจาะลึกประเด็น ผู้ที่ได้รับผลกระทบผ่านนโยบายและมารตรการของรัฐ พูดคุยเจาะลึกกับทีมปฎิบัติการป้องกัน แก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า และฝุ่นควัน PM 2.5 อีกทั้งแชร์ไอเดียและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้
ล่องโขงมองฝุ่น ผลกระทบ จากลมหายใจเดียวกัน โดย สถานีฝุ่นมหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์
เจาะลึกประเด็น ผ่านรายการสื่อสารผ่านฝุ่น ถ่ายทอดเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ สปป.ลาว เพิ่มการสร้างความตระหนักรู้กับผลกระทบจากฝุ่น โดยในปีนี้ ทางสถานีฝุ่น ม.สุภานุวงศ์ จะพัฒนารูปแบบการสื่อสารข้ามพรมแดน ผ่านเพจ Mass communication, Faculty of languages, Souphanouvong university ม.สุภานุวงศ์ และ เพจสถานีฝุ่น แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารข้ามแดนในแบบเครือข่ายสื่อสารร่วมกับมหาวิทยาลัยในภาคเหนืออีก 5 แห่ง คือ ม.เชียงใหม่, ม.พะเยา, ม.ราชภัฎเชียงใหม่, ม.ราชภัฎเชียงราย และ ม.แม่โจ้
สถานีฝุ่น โดยการสนับสนุนของ สสส. wevo สภาลมหายใจภาคเหนือ และไทยพีบีเอส ดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยปีนี้ยังคงมุ่งเป้าหมายในการสื่อสารประเด็นสถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหา
ความพิเศษของสถานีฝุ่นในปีนี้ คือ นอกการขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 5 แห่งในภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ยังมีความร่วมมือของสถาบันการศึกษาของเพื่อนบ้าน อย่าง มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ นครหลวงพระบาง สปป.ลาว และสื่อในท้องถิ่น เชียงรายสนทนา เชียงของทีวี เป็นข่าวเชียงราย wevoสื่ออาสา สถานีฝุ่น สภาลมหายใจภาคเหนือ เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารประเด็นภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อสื่อสารเฝ้าระวัง แจ้งเตือน และให้ความรู้ประชาชนให้อยู่รอดปลอดจากฝุ่น ขยายการสื่อสารผลักดันผ่านประเด็นร่วม เจาะลึกถึงผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือผ่าน “คน” ทั้งมิติ ผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่ออาชีพการงาน การทํามาหากิน การใช้ชีวิตประจำ ผลกระทบในเชิงเศรษฐศาสตร์ และผลกระทบของผู้ที่ต้องรับนโยบาย
นอกจากนี้ สถานีฝุ่นยังคงร่วมมือกับสื่อสาธารณะที่มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยไทยพีบีเอสได้สนับสนุนพื้นที่ออกอากาศและเผยแพร่เนื้อหาของสถานีฝุ่นผ่านช่องทางต่างๆ และเชื่อมการทำงานกับเพื่อนนักข่าวพลเมืองที่ เผชิญปัญหาร่วม
ความร่วมมือระหว่างสถานีฝุ่น สถาบันการศึกษา สื่อท้องถิ่น นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส และ สสส. ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการสื่อสารประเด็นปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ โดยมีการผลิตเนื้อหาที่หลากหลายและน่าสนใจ เช่น รายการออนไลน์ สารคดี อินโฟกราฟิก และบทความ เพื่อให้ชาวเหนือเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและเข้าใจสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น
กว่าจะได้มาซึ่ง 6 ชุดเนื้อหาเรามีกระบวนการ ON LINE meeting news roomsผู้เกี่ยวข้องกับประเด็นหลายส่วน
น.พ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวกับผู้ร่วมอบรมว่า การรวมตัวของเครือข่ายสื่อสารสถานีฝุ่นได้ดำเนินการเป็นปีที่ 4 มีความก้าวหน้าในการออกแบบสื่อสารแบบเครือข่ายออนไลน์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ กะทัดรัด คล่องตัว สลับหมุนเวียนใช้ห้องส่งจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้ง 5 แห่งและจากห้องส่งมหาวิทยาลัยสุภานุวงษ์ สื่อสารข่าวสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหามลพิษฝุ่น pm2.5 ที่เป็นปัญหาร่วมกันของพวกเราในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จะมีนักศึกษารุ่นใหม่ที่ได้ประสบการณ์เรียนรู้ข้อปัญหาผ่านการปฏิบัติการสื่อสารด้วยตัวเองเพิ่มขึ้นมาอีกรุ่น เป็นรุ่นที่ 4 และจะเกิดการสะสมข้อมูลข่าวสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ระหว่างประชาชนไทยและลาวโดยตรง
ดังที่ได้กล่าวแต่ต้นว่า ปัญหามลพิษฝุ่นควัน pm2.5 เป็นปัญหาร่วมกันของพวกเราในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพราะเราอยู่ในขอบเขตการแพร่กระจายร่วมกัน กินพื้นที่ไกลพอสมควร หากวัดระยะทางจากรัฐฉาน ผ่านภาคเหนือของไทย และสปป.ลาว ข้ามไปยังพรมแดนเวียดนาม เป็นระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตรที่มลพิษฝุ่นควันสามารถเคลื่อนย้ายข้ามไปข้ามมา แหล่งกำเนิดในเขตนี้ ทั้งไทย เมียนมาร์ ลาว หรือ เวียดนาม ก็ข้ามไปข้ามมาทำอันตรายผู้คนโดยไม่มีพรมแดน การจะแก้ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ใหญ่และยากไม่น้อย แต่ก็จำเป็นที่ต้องทำมิฉะนั้นความเสียหายที่เกิดทั้งสุขภาพผู้คน คุณภาพชีวิต ผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมที่จะยิ่งหนักหนาสาหัสขึ้น เป็นเรื่องที่ดีที่เกิดมีความร่วมมือของประชาชนกับประชาชนข้ามโขง
ภายใต้กระบวนการ WS เราชวนกันมองประเด็น พร้อมทั้งหาแง่มุมการสื่อสาร โดยระดมความเห็นภายใต้หัวข้อ
“ผลกระทบจากฝุ่น” แง่มุมไหนที่เราอยากสื่อสาร ?
แล้วคุณละ คิดว่า ถ้าเราพูดถึงผลกระทบจากฝุ่น แง่มุมไหนที่อยากสื่อสาร
เปิดห้องข่าวเติมประเด็น กับ บัณรส บัวคลี่ : เจาะลึกถึงผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือผ่าน “คน”
ปีนี้เป็นปีแรกที่สังคมไทยและวงการการสื่อสารเริ่มตื่นตัวมาก จริง ๆ เริ่มตื่นกันมาหลายปีแล้ว แต่ตื่นแบบค่อย ๆ ตื่น ปี2568 เนื่องจากว่าฝุ่นควันเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ และภาคอื่นๆ ที่ไม่เคยเกิดและเคยเกิด ไม่ค่อยถูกสนใจ เมื่อเกิดขึ้นกระแสสังคมของกรุงเทพฯ ทําให้รัฐบาลเต้น ทั้ง ๆ ที่ค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ ประมาณ 100 กว่า μg ที่ถือว่าสูง เมื่อเทียบกับของทางภาคเหนือที่ผ่านมา 300 – 400 μg ไมโครกรัม ก็เคยมาแล้ว แต่ว่าเสียงดังไม่เท่าคน กทม. ซึ่งภาวะดังกล่าว ทำให้สื่อทุกสื่อเริ่มให้ความสนใจ
ประเด็นของปีนี้ Agenda สื่อสารร่วม “ผู้ได้รับผลกระทบ” ซึ่งส่วนใหญ่ผลกระทบ คนจะนึกถึงแค่ว่าเป็นเรื่องของสุขภาพจริง ๆ ก็ใช่ แต่อยากจะฉายภาพให้เห็นว่าปัญหาฝุ่นทั้งหมดมันใหญ่มากและมีมิติที่หลากหลาย
กลุ่มคนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ปัญหาวิกฤตฝุ่น เปรียบเป็นศาลา 1 ศาลา ผู้ได้รับผลกระทบจะเป็นเสาหลัก 1 เป็นเสาที่ขาดไม่ได้ ซึ่งมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
เมื่อ 5 ปีก่อนปักกิ่ง ประเทศจีน มีฝุ่นมากมาย เพราะจีนกําลังก้าวสู่สังคมแบบอุตสาหกรรม แบบเดิมสกปรกไปสู่ประเทศที่ก้าวหน้าพัฒนา เป็นประเทศมหาอํานาจใหม่ ที่กระบวนการผลิตที่สะอาด ก่อนหน้านี้จีนจึงกําจัดสิ่งที่เป็นแบบดั้งเดิม เช่น ถ่านหินไปสู่โรงไฟฟ้าแบบใหม่ ไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนกว่า คือการยกระดับสังคมไปอีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นการผลิตใดๆ ของสังคม ที่สังคมพูดกันตอนนี้อย่างเรื่องไร่อ้อยเป็นการผลิต มีการปิดโรงงาน ปิดไร่อ้อย เพราะดันไปรับซื้ออ้อยไฟไหม้ แล้วเอาให้โรงงาน อ้อยก็คือการผลิตไม่ใช่แค่การปลูกสนุกสนานของชาวไร่ เพราะอ้อยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต อ้อยน้ำตาล ซึ่งเราเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่ใหญ่เบอร์ 2 ของโลก และอุตสาหกรรมนี้มีมาตรฐานการผลิตขนาดใหญ่ มีมาตรฐานการผลิตแบบแบบปล่อยเผาบ้าง อะไรบ้างส่งออกเป็นต้นทุน แล้วถ้าบังคับให้ไม่ให้เผาอย่างเดียวก็ต้นทุนสูง ราคาขายอ้อยในตลาดโลกของเราก็ต้องสูงตาม คนที่อยู่ในวงการนี้มีใครบ้าง คือมีชาวไร่อ้อย ที่หนักเลยเพราะเป็นคนปลูกและก็เป็นคนเผา โรงงานถือว่าเป็นนายทุนผู้แปรรูปส่งออกน้ำตาล และมีภาครัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม สํานักงานอ้อย คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ที่เป็นคนกํากับนโยบายถกเถียงกันต่อรองกัน ชาวไร่อ้อยก็อยากได้ราคารับซื้อดีๆ คนส่งออกก็อยากได้ราคาน้อยๆ ทำอย่างไรให้มีราคากลางก็ต้องมีภาครัฐมาเป็นคนกลาง ดูว่าต้นทุนมันจริงขนาดไหน ถ้าอยู่กันไม่ได้รัฐก็มีหน้าที่ไปของบประมาณภาษีมาอุดหนุน สมการนี้ ดูเหมือนจะมี 3 กลุ่มคนในเรื่องนี้
แต่นับจากนี้ไป สมการนี้จะต้องมีตัวที่ 4 คือ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบหรือคํานึงถึงผลกระทบกับสังคม
ทําไมต้องมีตัวที่ 4 เพราะว่ากฎหมายใหม่บอกมา พ.ร.บ. อากาศสะอาดที่กําลังจะคลอดจากสภา ซึ่งเขาบอกว่ามาตรการใด ๆ ของรัฐจะต้องมีกลไกที่คํานึงถึงผลกระทบ จะต้องดูแลผลกระทบ ต้องมีสมการที่ 4 คือผู้ได้รับผลกระทบ แปลว่านิยามของคําว่า ผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นเสาที่ 4 หมายถึงโครงสร้างของสังคม ส่วนอื่น ๆ ที่อยู่ดี ๆ ก็ได้รับผลกระทบจากนโยบาย ซึ่งภาพตัวแทนของคนกลุ่มนี้อาจจะเป็นหมอ แต่เขาอยู่ในห้องแอร์และคอนเซินเรื่องอากาศ ตัวแทนของกลุ่มนี้คือลูกเล็กเด็กแดง เพราะฉะนั้นคํานิยามของคําคํานี้จึงเป็นคําที่กว้าง กว่าคนทั่วไปที่เดินถนนแล้วเจอฝุ่นมากระทบและน้ำมูกไหล
สิทธิในอากาศสะอาดเป็นเรื่องที่ประชาชนมีสิทธิ และต้องสามารถทํามาหากินได้ภายใต้อากาศที่ดี ชุมชนและประชาชนได้รับสิทธิ ก็ต้องให้เกิดความคุ้มครอง และเป็นกลุ่มเปราะบางต้องได้รับการเข้าถึง ด้านสาธารณสุข ได้รับความคุ้มครองให้เกิดสิทธิได้รับการดูแลจริง คือคนที่เปราะบาง รัฐต้องดูแลคนกลุ่มนี้จริงจัง เช่น ต้องมีเงื่อนไขมาตรฐานให้เข้าถึงจริง จะต้องได้รับสิทธิในการตรวจคัดกรอง ได้รับมุ้งกันฝุ่น ได้รับห้องปลอดฝุ่น ได้รับหมอที่ไปตรวจรับรอง ถัดไปสิ่งที่จะได้รับรู้และเข้าถึงข้อมูล สิทธิที่รับรู้ แปลว่าการรู้ข้อมูล ถ้ารัฐจะตัดสินใจอะไรต่าง ๆ ก็ต้องเปิดให้มีส่วนร่วมต่อไป
มีมาตราเกี่ยวกับสิทธิมากมาย เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมมันก็ซับซ้อน แค่คํา ๆ นี้ คําเดียวเราสามารถที่จะสื่อสารประเด็นเกี่ยวกับเรื่องปัญหาเรื่องความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในมลพิษฝุ่นควันได้อย่างมากมาย นี่เป็นยุคที่เราพยายามพัฒนาการแก้ปัญหาขึ้นมาถึงระดับที่เรามองเห็นแล้วว่าโครงปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่ ที่ขาดไปก่อนหน้านี้ คือเรื่องของผู้ได้รับผลกระทบ
สโคปของเรื่องนี้กว้างไกล และสําคัญมากสําหรับการออกแบบนโยบายแก้ปัญหาของประเทศไทย ก่อนหน้านี้ นโยบายการแก้ปัญหาของประเทศไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้คํานึงถึงสมการผู้ได้รับผลกระทบ โดยอาจมองว่าก็กำลังทำเพื่อผู้ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว แต่ต่อไปจะต้องบอกกล่าวเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสิทธิตามกฎหมาย แล้วก็มีสิทธิการมีส่วนร่วมในการรับรู้ความเข้าใจ
อีกประเด็นมิติของคนแต่ละคนมีสิ่งแวดล้อมในเรื่องของทรัพยากรหรือต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ชีวิตไม่เท่ากัน อยากจะชวนไปดูเทียบกับคนที่คือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบคนตัวเล็กที่สุด ส่วนกลุ่มที่น่าสงสารเช่นกัน คือ คนในป่า ที่เขายากจนเหมือนกัน ก็น่าเห็นใจ แต่ต่อให้ไม่มีอะไรทําเขายังออกไปในป่าไปเก็บผักได้ ขณะที่คนขับรถ grab อยู่ในเมืองแต่ก็ลำบากกว่า สมมุติถ้าป่วยขึ้นมา หารายได้ไม่ได้ แต่เน็ตมือถือก็ต้องจ่าย รถมอเตอร์ไซค์ก็ต้องผ่อน
ทำอย่างไรที่จะต้องดูแลคนเหล่านี้ให้เกิดความเป็นธรรม ศัพท์นี้เรียกว่าความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันก็เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิและมันเกี่ยวข้องกับเรื่องผู้ได้รับผลกระทบ
ในการสื่อสารผ่าน “สถานีฝุ่น” ปีที่ 4 นี้ยังเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าการแสดงความคิดเห็น คือเปิดรับทั้งเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมถึงการเสนอเนื้อหามาร่วมเผยเเพร่อีกด้วย โดย ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ และเว็บไซต์ของสถานีฝุ่น
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สถานีฝุ่นได้สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม โดยช่วยกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหามลพิษทางอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น และส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตาม ปัญหาฝุ่นควันยังคงเป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญต่อไป สถานีฝุ่นจะยังคงมุ่งมั่นในการทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ และเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน
เตรียมพบกับ ความร่วมมือการสื่อสารข้ามพรมแดนในนาม “สถานีฝุ่นลุ่มน้ำโขงปี 4” เริ่ม กุมภาพันธ์ นี้
อ่านเพิ่มเติม
สื่อชุมชนภาคเหนือกับพลังสื่อสารเปลี่ยนอนาคต
พลังสื่อสู้ฝุ่น เปิด “สถานีฝุ่น ปี 2” สร้างสื่อสาธารณะสู้ภัยฝุ่นควัน