EP.1 เศรษฐกิจลำปาง 101

ลำปางเป็นจังหวัดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นบ้านของวัฒนธรรมล้านนาแท้ ๆ ที่ยังคงความเรียบง่ายและเสน่ห์แบบดั้งเดิม แม้ว่าภาพลักษณ์ในปัจจุบัน ลำปางจะเป็นเมืองที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ แต่เบื้องหลังกลับมีประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความรุ่งเรืองและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในหลายยุคสมัย จากอดีตที่เคยเป็นจุดยุทธศาสตร์การค้าไม้ในภาคเหนือสู่การปรับตัวเป็นเมืองรองที่มีความหลากหลายด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน 

การก่อร่างเศรษฐกิจลำปาง

เมื่อมองย้อนกลับไป 100 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจลำปางเริ่มต้นจากความรุ่งเรืองในอุตสาหกรรมค้าไม้ ช่วงปี 2460 ลำปางเป็นศูนย์กลางการค้าไม้ที่สำคัญที่สุดในภาคเหนือ โดยเฉพาะเมื่อการเข้ามาของรถไฟสายเหนือช่วยเชื่อมเมืองกับพื้นที่ภายนอกทำให้การค้าขายเติบโตอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นชุมชนการค้าใหม่ ๆ ขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น ตลาดจีนหรือ “กาดกองต้า” ที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน รวมถึงชุมชนโดยรอบสถานีรถไฟ 

ในช่วงเดียวกัน เมื่ออุโมงค์ขุนตาลที่เชื่อมเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ก่อสร้างเสร็จสิ้น ทำให้ลำปางกลายเป็นศูนย์กลางการค้าของภาคเหนือ ก่อนที่ความเจริญในลำปางจะเริ่มชะลอตัวลงและขยับไปสู่เชียงใหม่ในเวลาต่อมา จนช่วงปี 2490 ลำปางจึงเริ่มเปลี่ยนบทบาทเป็นเมืองรองทางเศรษฐกิจ

การปรับตัวในยุคเศรษฐกิจใหม่

เมื่อพ้นช่วงปี 2500 จึงเข้ายุคใหม่ทางเศรษฐกิจ การค้าขายสินค้าเกษตรกรรมและการลงทุนในเหมืองแม่เมาะโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีการลงทุนขนาดใหญ่และเกิดการจ้างงานในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ในท้องถิ่น ทำให้เศรษฐกิจของลำปางมีเสถียรภาพมั่นคงมาเรื่อย ๆ แม้ไม่หวือหวา แต่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงตามภูมิทัศน์เศรษฐกิจของประเทศได้ดี 

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งเกิดขึ้นในปี 2540 เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลำปางเองก็หนีไม่พ้นจากวิกฤตครั้งใหญ่นี้ รูปแบบธุรกิจในจังหวัดเริ่มเปลี่ยนแปลงจากธุรกิจดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจแบบใหม่ที่มีความทันสมัยมากขึ้น การเข้ามาของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทุนส่วนกลางทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ขยายตัวขึ้น ผู้ประกอบการในท้องถิ่นบางส่วนปรับตัวและขยายกิจการให้เข้ากับกระแสใหม่เหล่านี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจลำปางเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

เศรษฐกิจลำปางในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน ลำปางไม่มีภาคเศรษฐกิจใดที่มีอิทธิพลโดดเด่นอย่างชัดเจน ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดไม่ได้พึ่งพาภาคใดภาคหนึ่งเป็นพิเศษ หากมองจากการแบ่งสัดส่วนตามภาคเศรษฐกิจ จะเห็นว่าเศรษฐกิจของลำปางมีการกระจายตัวในหลากหลายสาขาในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นเหมืองแร่ อุตสาหกรรม ค้าปลีกค้าส่ง เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว แต่ไม่ได้มีภาคใดเป็นทิศทางหลักของจังหวัด

เมื่อพูดถึงจังหวัดอื่นเรามักจะเห็นภาพได้ง่าย เช่น หากพูดถึงเชียงใหม่ ก็จะเห็นว่าการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แต่หากพูดถึงลำปาง คำตอบของแต่ละคนอาจจะไม่ได้ตรงกัน เนื่องจากข้อเท็จจริงคือภาคเศรษฐกิจลำปางมีความหลากหลายจนยากที่จะชี้ชัดได้ว่าภาคใดเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่สุด แต่หากแบ่งเศรษฐกิจของลำปางในปัจจุบันออกเป็นสามส่วนกว้าง ๆ จะประกอบด้วย ภาคการท่องเที่ยวและการบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม

เมื่อมองจากข้อมูลมูลค่าทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าภาคการท่องเที่ยวและการบริการมีมูลค่าเศรษฐกิจคิดเป็นครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ขณะที่อุตสาหกรรมและเกษตรกรรมคิดเป็นประมาณ 30% และ 10% ตามลำดับ 

ตลอด 100 ปีที่ผ่านมา ลำปางสามารถปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงและสร้างเศรษฐกิจที่มีความสมดุลได้ แม้จะไม่ได้เติบโตอย่างรวดเร็วแต่ก็มีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตลำปางยังมีโจทย์ใหญ่ที่ต้องรับมือจากผลกระทบในการปิดเหมืองเมื่อถ่านหินแม่เมาะหมดลง ซึ่งจะต้องสร้างเศรษฐกิจทดแทนในจังหวัดที่จะควบคู่ไปกับการพัฒนาสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีความยั่งยืน

อ้างอิง

พีระรักษ์ พิชญกุล, 19 พฤศจิกายน 2024

แชร์บทความนี้