ท่องเที่ยวชุมชน อนาคตท่องเที่ยวไทย

อบอุ่นจากรอยยิ้ม ชื่นอกชื่นใจกับมิตรภาพ อดไม่ได้ที่จะคิดถึงเมื่อจากลา นี่คือเสน่ห์ชวนจดจำที่หาได้จากชาวบ้านชุมชนท่องเที่ยว ประกอบกับ ภูเขา ป่าไม้ สายน้ำ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เข้มแข็งของชาวอีสาน หลอมรวมเป็นต้นทุนสำคัญ ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว เกิดโอกาสใหม่ ๆ ซุกยู้เศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นโดยรอบ

ปี 2567 นี้  รัฐบาล หนุน ททท.กับโครงการ “365 วันมหัศจรรย์เที่ยวเมืองรอง” หลังจากเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวถึง 73.32 ล้านคน หรือ ล้านครั้ง สร้างรายได้กว่า 169,608 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวจะเติบโตขึ้น 10 – 15% 

ซึ่งพื้นที่เป้าหมาย เมืองรอง 55 จังหวัดนั้น กระจายอยู่ในภาคอีสาน 55 จังหวัด โดยข้อมูลจากอีสานอินไซต์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นระบุว่า ปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งอีสาน ประมาณ 41 ล้านคน ทำรายได้กว่า 88,299 ล้านบาท ถึงแม้ว่าตัวเลขนี้จะคิดเป็นเพียง 4% ของรายได้การท่องเที่ยวทั้งประเทศ แต่ภาพรวมการท่องเที่ยวอีสาน กลับเติบโตขึ้นถึง 59% 

และที่น่าสนใจ คือ กลุ่มจังหวัดซึ่งมีพื้นที่และเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกัน ได้แก่ ขอนแก่น  เลย ชัยภูมิ และหนองลำภู  มีตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวรวมกันสูงถึง 19,232 ล้านบาท  มีนักท่องเที่ยวรวม ประมาณ 8,066,437 คน โดย ขอนแก่น มีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 11,301 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยว  3,923,536 คน เลย 5,080 ล้านบาท ชัยภูมิ  2,485 ล้านบาท และหนองบัวลำภู จังหวัดเป้าหมายซึ่งนายกเศรษฐาและ ครม.สัญจรลงพื้นที่ไปเมื่อธันวาคมที่ผ่านมา มีรายได้  366 ล้านบาท   โดยครั้งนั้น ครม. มีมติ กำหนดทิศทางการพัฒนาระยะ 5 ปี ให้อีสานตอนบน  เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวนอนุภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะจังหวัดเลย กับหนองบัวลำภู ซึ่งมีทั้ง ภูเขา และแม่น้ำ เชื่อมโยงกัน มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เชิงธรรมชาติ เชิงศรัทธาความเชื่อ และวัฒนธรรม ซึ่งมีจุดยุทธศาสตร์เชื่อมโยง 3 ประเทศ ลาว เวียดนามและจีน 


ข้อท้าทาย ของการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน 

แม้ภาพการท่องเที่ยวอีสานยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่การพัฒนาของกลุ่มท่องเที่ยวเมืองรองอีสานยังต้องเผชิญกับหลายข้อท้าทาย 

“อันแรกเลยคือไกล จากตัวเมืองขอนแก่น เดินทางถึง อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ใช้เวลา 2 ชั่วโมง เราเป็นทางเลือกที่ 3 หรือที่ 4 ด้วยซ้ำ การเข้าถึงยากลำบากคือคนต้องตั้งใจไปมาก

แต่สิ่งที่เราพยายามจะทำให้มันยากแต่มันท้าทายอย่างไร เราก็พยายามดึงศักยภาพทุนทรัพยากรในชุมชน สิ่งสำคัญเรามีผู้คนและการท่องเที่ยวใหม่เรื่อย ๆ เพื่อที่จะทำให้เราเองตื่นเต้น หรือทำให้คนข้างนอกสนใจเรา

สิ่งหนึ่งที่ท้าทายก็คือเราจะสร้างสรรค์อย่างไรให้มันมีพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงที่ทำตามเทรน เราพยายามชวนให้คนในพื้นที่เห็นคุณค่า แล้วก็ไม่ต้องเดินทางไกล แต่คุณได้ประสบการณ์ที่ไม่ต่างจากที่อื่น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของเราก็เริ่มเอาคนใกล้ ๆ มาเที่ยวกับเราได้มากขึ้น” สัญญา มัครินทร์ ผู้ก่อตั้งท่องเที่ยววิถีสีชมพู อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น

เพราะมีอุปสรรคเรื่องการเข้าถึง การเดินทางที่ต้องใช้เวลา จึงต้องมองหาจุดแข็ง งัดของดีเข้ามาสู้เพื่อไปต่อในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นอกจากเรื่องคมนาคมอีกข้อท้าทายคือทรัพยากรด้านบุคากรที่จะมาร่วมมือช่วยผลักดันให้การท่องเที่ยวเติบโต งดงาม บุคลากรมีน้อย ดูแลแหล่งท่องเที่ยวได้

“นักโบราณคดีในประเทศมีแค่ 100 กว่าคนเท่านั้นเอง เฉพาะในเขตอีสานตอนบนมีแหล่งโบราณคดี 2,900 แหล่ง

แต่เรามีนักโบราณคดีดูแลแค่ 5 แหล่ง เพราะฉะนั้นการเข้าถึงทุก ๆ ชุมชนเป็นไปได้ยาก แต่ว่าจริง ๆ ศักยภาพในเรื่องของแหล่งโบราณคดีเรามีมหาศาล ไม่ว่าจะแหล่งประเภทโบราณคดีหรือว่าแหล่งฟอสซิลต่าง ๆ แต่เราไม่สามารถดึงศักยภาพตรงนี้มาใช้ได้เต็มที่เหมือนกัน เพราะเรื่องของ Limit ของบุคลากร” ทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปากร

หลายเหตุ หลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการสรรสร้างการท่องเที่ยวชุมชน การเข้ามาของเทคโนโลยีในปัจจุบันเองก็เป็นทั้งโอกาสและข้อท้าทาย ในการใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือการเข้าถึงเป้าหมายกลุ่มนักท่องเที่ยว 

“ถ้าในยุคนี้ความท้าทายของมันก็คือ ตอนนี้ชุมชนสามารถที่จะสร้าง Story หรือเล่าเรื่องราวได้  ตอนนี้ทุกคนอาจมีสื่อ แล้วก็สามารถเป็นผู้ผลิตสื่อได้แล้ว 

อีสานมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูง อีสานมีจำนวนวัดที่เยอะที่สุดในประเทศไทย ในการท่องเที่ยวเชิงสายมู หรือท่องเที่ยวในเชิงโบราณคดีมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้น จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่แค่เทรนด์ของทางคนไทยอย่างเดียว ในเทรนด์ของทางเอเชีย เกาหลี จีน แล้วก็ญี่ปุ่น

โดยเฉพาะเกาหลีกับจีนเขามีความใกล้เคียงกันกับเราในเรื่องของความเชื่อ เพียงแค่ว่าที่ผ่านมาเราอาจจะยังไม่ได้ถูกสื่อสารไปให้เป็นที่รับรู้ พอเขามาถึงเขาก็อาจจะยังไปในที่อื่น ตรงนี้ที่ท้าทายมากกว่า” สหโชค เพียรการ  Project Coordinator ISAN INSIGHT & OUTLOOK

“ความท้าทายที่ที่เห็นตรงกัน มิติเรื่องของการเล่าหรือการทำตลาด เมื่อก่อนถ้าเราจะเปิดร้านอาหารเปิดโรงแรม ทำท่องเที่ยว เราต้องหาที่โลเคชั่นดี ๆ เข้าถึงง่าย แต่ตอนนี้บางทีการสื่อสารว่ามันเข้าถึงยาก มันจองยาก มันไปยาก ก็อาจจะเป็นอีกมิติหนึ่ง เป็นอีกเสน่ห์ที่ดึงนักท่องเที่ยวไปได้  

ดังนั้นคือความ Challenge มันอยู่ที่เราต้องจัดหมวดหมู่ของเรื่องราว เราต้องเลือกว่าวันนี้ภาคอีสานจะเป็นอะไร ให้ใคร หรือคอนเทนต์ที่มันจะออกมามันก็จะตรงกับตลาด ตรงกับภาพจำ หรือสามารถสื่อสารตัวตนของเราได้จริงๆ 

สิ่งแวดล้อมบริบทโดยรอบของภาคอีสานมันยังรอการ Unbox Experience หรือรอการค้นพบอยู่อีกมาก อาจจะต้องหาวิธีในการสื่อสาร ภาคอีสาน Challenge ตัวเอง นักท่องเที่ยวก็ต้อง Challenge ในการมาภาคอีสานเหมือนกัน เชื่อว่าอย่างนั้น” จักรพงษ์ ชินกระโทก ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม Find Folk  และ Go Green Booking

คนรุ่นใหม่จุดไฟท้องถิ่น สานพลังไอเดีย ปลุกการท่องเที่ยวชุมชน 

“โอกาสของคนกลับบ้านเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนของชุมชนเลยก็ว่าได้ เราน่าจะเคยเห็นภาพชุมชนท่องเที่ยวที่หน้าตาคล้าย ๆ กัน ทีนี้ประสบการณ์ของคนที่กลับบ้านจะมาสร้างความแตกต่างของการพัฒนาในเฟสถัดไป 

การพัฒนาแบบนี้มันควรจะต้องอยู่บนพื้นฐานของเป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ตอบโจทย์ตัวชุมชน แล้วความแตกต่างจะทำให้เราไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น การที่เรามีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น ก็จะทำให้ตัวชุมชนอาจจะค้นพบตลาด หรือสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองได้ชัดเจน  มันอาจจะทำให้เกิด Movement ในอนาคตที่มีความแข็งแรงมากขึ้นของตัวชุมชนเอง แล้วก็สามารถตอบโจทย์ตัว Social Impact ที่ตัวชุมชนต้องการพัฒนาต่อไปได้” ธนาวุฒิ ศุภางคะรัตน์ ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม Siam Rise Travel

“อีสานเรามี 21 ล้านคนโดยประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศคือคนอีสาน แสดงว่าประเทศเราขับเคลื่อนด้วยแรงงานของคนอีสาน อันนี้อาจจะเป็นภาคอุตสาหกรรม แสดงว่าภาคเหนือและภาคใต้ที่มีรายได้มาจากการท่องเที่ยวขับเคลื่อนด้วยแรงงานของคนอีสาน ตอนที่มีการระบาดของโควิด-19 พวกเขาต้องกลับบ้าน มีส่วนหนึ่งที่ยังกลับเข้ามาที่ทำงาน แต่มีค้างอีกประมาณ 400,000 เกือบ 5 แสนคน ที่กลับแล้วกลับเลยโดยสถิติ 

เขาสามารถพัฒนางาน สร้างงานได้ การที่เขาเคยอยู่พื้นที่ภูมิภาคอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งคนที่เคยอยู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่ว่าจะภาคใต้หรือภาคเหนือ แสนกว่าคนที่กลับมาพอเขากลับมาก็มีส่วนหนึ่งที่มาพัฒนาชุมชน ส่วนหนึ่งก็มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ เขาอาจจะไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรง แต่ตัวเขาอาจจะอยู่ใน Chain ของการทำสินค้าที่อยู่ในชุมชน การท่องเที่ยวในเชิงชุมชนก็สามารถที่จะพัฒนาตรงนี้ได้ มันก็จะเพิ่มโอกาสเพิ่มประสิทธิภาพตรงนี้ได้” สหโชค เพียรการ  Project Coordinator ISAN INSIGHT & OUTLOOK

“ถ้าเรามองในมุมว่าเราเป็นชุมชนแล้วก็มีคนกลับบ้าน เราต้องการผู้บุกเบิกไม่ต้องรอ เพราะฉะนั้นใครที่กลับบ้าน กลับไประเบิดความรู้ความสามารถของตัวเองที่บ้านเรา ทำให้มันเผยแพร่ออกไป เดี๋ยวมันก็จะมีคนตามเรามา บ้านที่ 1 บ้านที่ 2 มันก็จะเริ่มกลายเป็นชุมชน หลังจากนั้นเดี๋ยวรัฐเข้าไปช่วย หมอเชื่ออย่างนั้น เพราะฉะนั้นระเบิดความคิดสร้างสรรค์ของตัวเราออกมา 

โรงเรียนก็ต้องปล่อยโอกาสให้เด็กเขาสร้างสรรค์ ปล่อยพลังของตัวเรา กลับบ้านแล้วทำให้บ้านเราเจริญ เดี๋ยวการท่องเที่ยวจะตามมา เพราะว่าการท่องเที่ยวคือหน้าตาและปากท้อง” ทพญ.ศิริจันทร์ พหลโยธิน ผู้ประกอบการบ้านพักหลวงประสิทธิ์ริมคลองบางหลวง

พลังหนุ่มสาวสำคัญต่อการแต่งแต้มพัฒนา เมื่อโอกาสได้มาพร้อมกับคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน มาพร้อมกับใจอยากทำ อยากสร้าง เพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ไปรอดพร้อมกับชุมชน จึงต้องมีแนวทางการจัดการท่องเที่ยวที่สอดรับกัน โดยจะต้องมีคนร่วมทำ หาเพื่อนให้เจอ มองความเป็นไปได้ของชุมชน เชื่อมกำลังเสริมมาร่วมสร้างร่วมเรียนรู้ สร้างสรรค์ไปด้วยกัน

“ทุกคนหอบความหวังกับทักษะบางอย่างเข้าไป แต่พอไปเจอหน้างานเขามีเพื่อนไหม บางเรื่องกลับไปนี่แค่เอาตัวรอดก็ลำบากแล้ว มันก็เลยต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือเหมือนกัน

อันหนึ่งคือต้องหาเพื่อนให้เจอ กับสองต้องชัดเจนว่าตัวเองมองตัวเองในบทบาทไหนของชุมชน ก็เลยคิดว่าถ้าเราจะกลับไปทำอะไรก็สำคัญเหมือนกัน เช็คทุนของตัวเองก่อน แล้วค่อยไปเช็คทุนในชุมชน 

ทำให้ชุมชน Run ได้ด้วยตัวเอง เป็นโจทย์สุดแสนท้าทายตอนนี้ท่องเที่ยววิถีชมพูมันเริ่มจากคนรุ่นใหม่ ซึ่งพอเราทำแล้วชุมชนเองก็ยังรู้สึกว่าเรายังเป็นอื่นอยู่ เพราะแม้เป็นลูกหลานแต่ไปโตที่อื่น 

พอจัดทำท่องเที่ยวปีที่ 3 แล้วเราเริ่มไปทำให้เขามีโอกาสได้มาเป็นเจ้าของร่วม เขาเริ่ม Create เขาเริ่มรับนักท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง ผมว่านี่เป็นสัญญาณที่เขาเริ่มเป็นเจ้าของ พอเขาเป็นเจ้าของเขาก็จะสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะพัฒนาในพื้นที่เขา หรือเชื่อมโยงกับเครือข่ายพื้นที่ สิ่งหนึ่งก็คือทำให้เขาเป็นเจ้าของ ให้เขาได้ประโยชน์ แล้วก็ให้เขาภาคภูมิใจ ที่เขาลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อพื้นที่ของเขา” สัญญา มัครินทร์ ผู้ก่อตั้งท่องเที่ยววิถีสีชมพู อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น

“ทำคนเดียวมันทำไม่ได้ ทำกลุ่มเดียวมันทำไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกับบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนที่อยู่ที่นั่น ไม่ใช่แค่ผู้นำชุมชน ท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานราชการ วิชาการ แม้กระทั่งคุณหมอ สาธารณสุขต่าง ๆ มันเกี่ยวข้อง คำว่าชุมชนคือมันพูดถึงทั้งหมู่บ้าน ทั้งตำบล เพราะฉะนั้นใครที่อยู่ที่นั่นคือต้องไปด้วยกัน 

เพราะฉะนั้นเวลาทำงานที่จะเกิดความยั่งยืน จะเกิดความต่อเนื่อง เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวนี้ ต้องทำไปด้วยกันทั้งหมดทั้งชุมชน ท่องเที่ยวชุมชนมันต้องเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้าชุมชนไหนเป็นเนื้อเดียวกันตั้งแต่แรกมันจะเดินไปแบบไม่ต้องพะว้าพะวงว่าใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ ท่องเที่ยวชุมชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องเกิดในสิ่งที่เราอยากเห็นความยั่งยืนเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน” ดร.ประครอง สายจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ได้เริ่ม จึงได้รู้ ได้ลองทำ จึงได้เห็น

การริเริ่มบุกเบิกไม่ใช่เรื่องง่ายต้องอาศัยการวางแผนออกแบบจากต้นทุนที่มี มองให้ลึก เข้าให้ถึง ดึงจุดขาย ค่อย ๆ สร้างอย่างเข้าใจ พร้อมสานต่อเชื่อมโยงสร้างท่องเที่ยวชุมชนที่ยั่งยืน

“ผู้ระเบิดสำคัญ แต่ว่าผู้สานต่อเราพบว่าการท่องเที่ยวชุมชนหลาย ๆ แห่ง โดยเฉพาะภาคอีสานพอผู้บุกเบิกเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่อื่นก็ดี ปรับเปลี่ยนหน้าที่ตำแหน่งทางการงานก็ดี หรือไม่อยู่แล้วก็ดีการท่องเที่ยวมันมันหายไปเลยในหลาย ๆ แหล่ง  เหมือนกับว่า 5 ปีที่แล้วโด่งดังมาก คนเที่ยวหลักพันหลัก หลักหมื่นต่อวัน สุดท้ายพอแกนนำที่เคยอยู่หายไปไม่อยู่แล้ว มันกลายเป็นเราไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ เพราะฉะนั้นการสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น หรือการวางแผนว่าคนที่จะมาสืบต่อการท่องเที่ยวชุมชนเป็นใคร 

แล้วทำอย่างไรให้ทุกๆ คน สามารถเป็นผู้นำในการท่องเที่ยวชุมชนได้ เข้าบ้านไหนตอบได้ เข้าบ้านไหนนำเที่ยวได้ บ้านนี้ไม่อยู่บ้านนี้พาเที่ยวได้ บ้านนี้ไม่อยู่บ้านนี้พาขับรถอีแต๊กขึ้นได้ นำชมได้เหมือนกัน อันนี้อาจจะเป็นเรื่องที่เราจะวางแผนกันอย่างไร

ให้การท่องเที่ยวชุมชนมันสามารถสืบต่อจาก Generation สู่ Generation และทุก ๆ คนในชุมชนสามารถเป็นผู้นำในการท่องเที่ยวชุมชนได้อย่างแท้จริง” ทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปากร

ลูกหลานรุ่นใหม่กลับบ้านปลุกปั้น สานต่อชุมชนในฝัน พริกโฉมแหล่งท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ปรับให้ได้ ตามให้ทันเทรนด์การท่องเที่ยว จนสามารถสร้างโอกาสจากต้นทุนพื้นที่ ต่อยอดคุณค่าสู่มูลค่าหล่อเลี้ยงชุมชน 

“สิ่งที่เราอยากส่งมอบมันคือ Value คือคุณค่าบางอย่างมันก็ต้องกินได้ ต้องสร้างเงิน เช่นเรื่องของบรรพชีวิน เรื่องของฟอสซิล เราอยากไปถึงเรื่องของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) ก่อนทีจะเชื่อมโยงไปดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลมรดกโลก

ดูแลมรดกทางวัฒนธรรม เมื่อเราดูแลมันดีสิ่งเหล่านั้นมันก็จะกลับมาสร้างมูลค่าให้กับชุมชนได้” จักรพงษ์ ชินกระโทก ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม Find Folk  และ Go Green Booking

“ต้นทุนทางวัฒนธรรมมันไม่เหมือนกับธรรมชาติ ไม่เหมือนกับเหมืองเพชร เหมืองแร่ มันมองไม่เห็นว่ามันจะเป็นมูลค่าอย่างไร ถ้ามีคนสักคนในชุมชนขุดมันขึ้นมา ขุดเรื่อง ขุดราวมาเล่า ขุดเรื่องขุดราวมาขาย ขายเสร็จเอาไอเดียตรงนี้มาพัฒนาเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต่อยอด ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกขายต่อ แสดงว่ามันจะเกิดเป็น Value Chain 

ถ้าเรายังไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไรก็จะมีหน่วยงานส่วนตรงกลางที่จะ Support ข้อมูล เอาข้อมูลเหล่านี้มาประกอบกัน พอสักคนเริ่มทำได้แล้ว ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าพอมันเริ่มเกิดโมเมนตัมคนข้าง ๆ ก็อยากจะทำด้วย ชุมชนข้าง ๆ ก็เริ่มอยากจะทำด้วย 

ต้องเอาคุณค่าขุดมาขายให้มันเป็นมูลค่าก่อน ทำอย่างไรให้ได้เงิน พอมันเกิดโมเมนตัมตรงนี้ หน่วยงานรัฐ หน่วยงานต่าง ๆ เริ่มเห็นแล้วว่าตรงนี้มีอันนี้ เขาก็อยากจะมาสนับสนุนด้วย หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบก็มาช่วยในการ Operation 

คนในชุมชนจะรู้ในการทำผลิตภัณฑ์ของเขา รู้เรื่องราวของพื้นที่ของเขา แต่เขาอาจจะไม่ได้มี Know How ในการจัดการที่ถูกต้อง ดังนั้นหน่วยงานก็จะมาตอบโจทย์ในเรื่องของการจัดการและ Operation ที่ดี สุดท้ายมันถึงจะเกิดเป็น Flow ทั้งหมดได้ มันจะเป็นภาพประมาณนี้” สหโชค เพียรการ  Project Coordinator ISAN INSIGHT & OUTLOOK

ปรับตัวสร้างโอกาส หลายแรงช่วยสนับสนุน จนกว่าจะถึงเวลาผลิดอกออกผล

“ต้องหาเพื่อนที่จริงใจ แล้วก็เคียงข้างด้วย เราต้องทำงานร่วมกับชุมชน ทำงานร่วมกับครูที่จะผลิตลูกหลานของเรา ที่ยึดโยง เชื่อมโยงกับชุมชนระยะยาว แล้วก็ต้องหาคนที่มีอำนาจบางเรื่อง เพราะว่าเราเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยทำบางเรื่องได้ แต่ถ้าเกิดมีอำนาจหรือมีตัวละครที่สามารถจัดการในเชิงโครงสร้างได้  ผมว่ามันจะไปอย่างมีพลัง และมีคนที่ทำจริงแล้วก็เคลื่อนไปด้วยกัน 

การท่องเที่ยวเป็นผลผลิตของการศึกษาด้วย เครื่องมือการศึกษา เราพัฒนาพลเมืองของเราเป็นแบบไหน ที่จะไปสร้างอะไรบางอย่างในชุมชน เราเรียนรู้เรื่องกรุงเทพฯ เรียนรู้เรื่องต่างประเทศเยอะเลย แต่เรื่องบ้านตัวเองในหลักสูตร หรือคนออกแบบประสบการณ์น้อยมาก

เลยคิดว่าเราก็ต้องย้อนกลับไปต้นน้ำเหมือนกัน ครอบครัวหรือโรงเรียนของเรา หลักสูตรก็ต้องยึดโยง เชื่อมโยงกับชุมชน ไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีผู้บุกเบิก และผู้ Creative ในพื้นที่ของเรา” สัญญา มัครินทร์ ผู้ก่อตั้งท่องเที่ยววิถีสีชมพู อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น

“ตั้ง Model ว่า Jurassic Park ภาคภูเวียง ตั้งขึ้นมาก่อนแล้วส่งประกวด Content ในชุมชน หรืออาจจะประชุมรวมกันแล้วสร้างเรื่องราว ทำเป็นภาพยนตร์หรือจะเป็นคลิปสั้น ๆ จากโจทย์ Jurassic Park ภาคภูเวียง แต่ละไอเดียก็จะบังเกิดของใครของมันขึ้นมา อีกอันหนึ่งอุตสาหกรรมข้างเคียงกันก็คือทำเกมส์ ขออันนี้เข้าไปใส่ให้หน่อยได้ไหม เมื่อมีคนรู้จักเดี๋ยวก็มีคนไป 

มันจึงต้องตั้งต้นมีโจทย์ขึ้นมาก่อนแล้วทุกคนช่วยกันระดมแก้เรื่องนี้ สำคัญคือคนที่เขียน Content ส่งประกวดต่างคนต่างคิดกันขึ้นมา แล้วก็ต่างคนต่างทำ อันไหนดูดีที่สุดเราก็จับอันนั้นขึ้นมาร้อยเรียงเป็นเรื่องเป็นราวเล่าไปให้มันไม่รู้จบ เหมือนแม่นาคสมัยก่อนจนป่านนี้ก็ยังเล่ากันได้อีก ภูเวียงภาค 1 ภาค 2 ภาค 3 ค่อย ๆ ไล่ไป เพราะฉะนั้นมันไม่มีอะไร Perfect แต่ขอให้เริ่ม” ทพญ.ศิริจันทร์ พหลโยธิน ผู้ประกอบการบ้านพักหลวงประสิทธิ์ริมคลองบางหลวง 

“ชุมชนท่องเที่ยวในประเทศไทยมีเยอะมากผมว่าถ้านับเป็นจริง ๆ สมมุติว่ามี 10,000 ชุมชนกลม ๆ อาจจะน้อยกว่านั้นหรือมากกว่านั้น Step ถัดมาคือตอนนี้มันเหมือนเรามีลูกแฝดอยู่ 10,000 คนถ้าชุมชนจะเล่าเรื่องเหมือน ๆ กันหมด เวลาเราขายนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวก็จะงงว่าจะเลือก ไปที่ไหนมันก็เหมือน ๆ กัน คล้าย ๆ กัน 

เรื่องของ Soft Power, BCG, นโยบาย, การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือ Geographic อะไรต่าง ๆ จะเป็นตัวที่ทำให้ลูกแฝดแต่ละคนมี DNA ที่แตกต่างกัน ดังนั้นแต่ละชุมชนต้องเลือกบางอย่างที่น่าจะเป็น Unique ที่เป็นตัวตนของเราจริง ๆ แล้วเลือกที่จะเล่าเรื่องนั้นออกมา เพื่อดึงดูดความสนใจ ทำให้ตัวเองมีความแตกต่าง มี DNA ที่แตกต่าง มีหัว มีแขน มีขา ที่ต่างจากรูปแฝดคนอื่น แล้วเราก็จะแข่งขันได้ 

คนกลับบ้าน คนเริ่มทำการท่องเที่ยว หรือคนที่อยากจะพลิกโฉมเปลี่ยนแปลง เพื่อให้มันทันต่อโลกทันต่อสมัย เราต้องปลดล็อค Mindset

คือวิธีคิด แนวคิด สมมุติว่าภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมันใหญ่มาก Runway ของการเป็นผู้นำคือ Mindset มันต้องใหญ่ เพราะว่า Trend โลกมันใหญ่ขึ้นทุกวัน กระแสการเที่ยวมันเปลี่ยนไป เมื่อ Mindset ของเรามันใหญ่ ดังนั้น Mindset ของคนในชุมชนทุกคนที่ร่วมกันทำการท่องเที่ยวก็ต้องใหญ่เหมือนกันกับเรา เพื่อที่จะให้เครื่องบินลำใหม่ ๆ องค์ความรู้ใหม่ ๆ มันลงได้ พอมันลงได้มันก็จะไปต่อได้ 

คนกลับบ้านไม่ได้สู้ว่าทำอย่างไรให้ตัวเองรอดอย่างเดียว แต่ต้องสู้กับ Mindset ของครอบครัว พ่อ แม่ พี่ น้อง อีกว่ากลับมาแล้วจะทำอะไรต่อ ดังนั้นการที่ทำให้ทุกคนเห็นเป้าหมายตรงกัน หรือ Mindset ของคนในครอบครัว กำลังใจรอบข้าง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะปลดล็อคการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้ 

อันที่ 2 คือ Skill Set เป็นเรื่องที่ฝึกได้ มันคือ Skill ใหม่ ๆ เป็นการท่องเที่ยวใหม่ ๆ เราต้องเข้าใจ  ต้องรู้ ต้องตระหนักมาก ๆ โดยเฉพาะชุมชนที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก เป็นยูนิตที่เล็กที่สุดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความเป็นพลวัตสูง Dynamic สูง

ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไรมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบก่อนเพื่อน น้ำท่วม ไฟไหม้ ข่าวต่าง ๆ นักท่องเที่ยวช็อคก่อนเพื่อนเลย เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ว่าจะเกิดอะไร อ่อนไหวมาก เปราะบางมาก ในขณะเดียวกันก็เป็นแมว 9 ชีวิตที่ฟื้นเร็วมาก เพราะว่าทันทีที่นักท่องเที่ยวมาแล้ว มาพร้อมกับเม็ดเงินที่กระจายไปยังเศรษฐกิจฐานรากได้เร็ว 

เอาตัวเองไปอยู่ในที่ที่มันมี Skill Set ที่เหมาะสมกับความเป็นเรา แล้วมันจะสามารถทำให้เราสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งจริง ๆ พร้อมที่จะเดินไปข้างหน้าเป็นอนาคตของตัวเอง ความยั่งยืนต้องเริ่มจากตัวเองก่อนที่จะขยายไปยังชุมชน ก่อนที่จะเป็นอนาคตของประเทศร่วมกัน” จักรพงษ์ ชินกระโทก ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม Find Folk  และ Go Green Booking

วันนี้นิเวศน์การท่องเที่ยวเติบโตแล้ว หลายอย่างพร้อมแล้ว เห็นตรงกันว่าเราต้องการคนเริ่ม เริ่มขุดเรื่องราวในพื้นที่หา Story หาความแตกต่าง แล้วก็พาชุมชนไปสู่การท่องเที่ยว ที่ทั้งตัวคนทำยั่งยืนและชุมชนก็ได้ยั่งยืนด้วย มีคุณค่าเพื่อสร้างไปสู่มูลค่า และนี่น่าจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวประเทศไทย พาเม็ดเงินกลับสู่ประเทศ และพาประเทศไทยไปสู่หน้าตาที่เราอยากจะให้ยั่งยืนจริง ๆ เราจะโตอย่างไรอยู่ที่คนกลับบ้าน รวมไปถึงคนที่จะมองภาพการท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นของชุมชนอย่างมีส่วนร่วม

ร่วมกันโหวตภาพอนาคต “การท่องเที่ยวชุมชนอยู่ตรงไหนกับอนาคตท่องเที่ยวไทย” 

ชมย้อนหลังรายการฟังเสียงประเทศไทย ตอน ท่องเที่ยวชุมชนอนาคตท่องเที่ยวไทย 

แชร์บทความนี้