“เลี้ยงผี” กับวิถีคนล้านนา

การเลี้ยงผีเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวลำปางซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเชื่อในการนับถือผีบรรพบุรุษหรือที่เรียกว่า ‘ผีปู่ย่า’ การนับถือผีบรรพบุรุษยังสามารถแบ่งต้นตระกูลของผีออกไปได้อีกเป็น ‘ผีมด’ ‘ผีเม็ง’ และ ‘ผีมดซอนเม็ง’

การฟ้อนผีซึ่งเป็นพิธีกรรมหนึ่งในประเพณีเลี้ยงผี แพร่หลายอย่างมากในเมืองลำปางในยุคสมัยของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตซึ่งครองราชย์ในช่วงปี พ.ศ. 2441 – 2465 มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เป็นประเพณีความเชื่อท้องถิ่นที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ด้วยนัยยะในการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษและขั้นตอนพิธีการที่เสริมสร้างความร่วมมือและความสามัคคีกันในครอบครัว ชุมชน และสังคม

ปัจจุบันในเมืองลำปาง การเลี้ยงผีเริ่มเห็นได้น้อยลงตามกาลเวลา คนเฒ่าคนแก่ที่กระจ่างแจ้งในเรื่องลำดับพิธีต่างทยอยล้มหายตายจากและไม่มีผู้สืบทอดต่อ ทำให้การฟ้อนผีเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากแล้ว ส่วนการเลี้ยงผีระดับเมืองที่ยังจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีจะเป็นงานไหว้สาสักการะเจ้าอารักษ์พ่อเจ้าหลักเมืองนครลำปาง ในช่วงประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อหลักเมืองและสืบชะตาเมืองลำปางในเดือนพฤษภาคมถัดจากวันฉัตรมงคลของทุกปี

000

สำหรับการเลี้ยงผีในระดับหมู่บ้านหรือระดับบ้านมักทำในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ตามปกติแล้วกำหนดการเลี้ยงผีจะขึ้นอยู่กับการกำหนดของสายตระกูลหรือฐานะทางเศรษฐกิจของลูกหลาน อาจทำพิธีกรรมทุกปีหรือทุก ๆ 3 ปี โดยจะเลือกเอาวันที่ถือว่าดีที่สุดและไม่เป็นวันเสียประจำเดือน มักจะไม่เลี้ยงผีปู่ย่าในวันพุธและวันพระ ลักษณะคือจะมีการสร้างปะรำพิธีหรือที่เรียกว่า ‘ผาม’ ขึ้นมา จากนั้นจึงบอกกล่าวเครือญาติเดียวกันมาร่วมงาน มีวงดนตรีปี่พาทย์บรรเลงและมีการเข้าทรงผีปู่ย่าผ่านลูกหลานในตระกูลเพื่อลงมารับเครื่องเซ่นสังเวย มีการฟ้อนรำร่วมกัน มีการละเล่นในพิธีกรรม พิธีมักจัดขึ้น 2 – 3 วัน โดยรายละเอียดและขั้นตอนในพิธีกรรมของตระกูลผีมด ผีเม็ง และผีมดซอนเม็ง ก็แตกต่างกันออกไป

การเลี้ยงผีในแต่ละสายตระกูล

 ผีมด

การเลี้ยงผีมดจะทำใน 3 ลักษณะ คือ  เลี้ยงประจำปี เลี้ยงในพิธีแต่งงาน และเลี้ยงแก้บน ซึ่งการเลี้ยงผีมดประเพณีนั้นจะเลี้ยงได้ 2 แบบ คือ ‘การเลี้ยงดักหรือเลี้ยงตำหอ’ และ ‘การเลี้ยงแบบฟ้อนผีปู่ย่า’ 

‘เลี้ยงดัก’  หมายถึง การเลี้ยงแบบไม่มีการฟ้อนหรือไม่มีดนตรีวงปี่พาทย์ เลี้ยงเฉพาะกลุ่มตระกูลผีสายเดียวกัน ‘เลี้ยงตำหอ’ หมายถึง การยกขึ้นไปเลี้ยงบนหอผีปู่ย่า ไม่มีการสร้างผาม เป็นการบอกเฉพาะคนในตระกูลสายผีเดียวกันและเพื่อนบ้านที่สนิทกันเท่านั้น โดยเริ่มจากบ้าน ‘เก๊าผี’ คือผู้ที่เป็นหัวหน้าตระกูลซึ่งได้รับความเคารพจากญาติพี่น้องของตระกูลและเป็นผู้ที่มีอาวุโสเป็นผู้กำหนดวันเวลาในการเลี้ยงและแจ้งให้ลูกหลานทราบโดยทั่วกัน การเลี้ยงผีมดจะทำเครื่องสังเวยเป็น 2 ชุด ชุดแรกสำหรับเลี้ยงผีเรือนบนบ้านของเก๊าผี ชุดที่ 2 นำไปเลี้ยงที่หอผีปู่ย่า หลังจากนั้นก็เชิญผีปู่ย่าลงทรงผู้ที่เป็นร่างทรงหรือผีเก๊าเพื่อบอกกล่าวให้พรแก้ไขปัญหาข้อข้องใจของลูกหลาน ถึงเวลาก็จะออกจากการประทับทรง ลูกหลานก็นำสำรับอาหารมากินร่วมกันถือเป็นการพบปะสังสรรค์กันในวงศ์ตระกูล

ส่วน ‘การเลี้ยงแบบฟ้อนผีปู่ย่า’ พิธีการฟ้อนผีมดจะจัดขึ้น 2 วัน วันแรกเรียกว่า ‘วันข่าว’ หมายถึง  วันจัดเตรียมพิธี เครื่องเซ่นไหว้  และการสร้างผามของผีมดที่เรียกว่า ‘ผามเปียง’ ช่วงบ่ายจะมีนักดนตรีมา ถือว่าเสียงดนตรีที่บรรเลงแสดงถึงการบอกว่าพิธีการเลี้ยงผีปู่ย่าจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ เป็นการป่าวประกาศให้เพื่อนบ้านในชุมชนรับทราบถึงงานฟ้อนผีมด ส่วนวันที่สองเรียกว่า ‘วันฟ้อน’ เป็นวันที่ทำพิธีเชิญผีปู่ย่ามาประทับทรงเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าและมีการฟ้อนรำไปจนถึงช่วงบ่าย ต่อมาจะเป็นการละเล่นของผีปู่ย่า โดยเริ่มจาก ‘กำลัง’ ซึ่งเป็นลูกหลายฝ่ายชายที่มีหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับผีบรรพบุรุษเชิญผีเก๊าตีฆ้องรอบผาม  3  รอบ  เพื่อบอกเวลาให้ผีปู่ย่ารับรู้รับทราบว่า ถึงเวลาที่ผีปู่ย่าจะลงมาเล่นตามที่ลูกหลานได้จัดเตรียมไว้ 

การละเล่นประกอบการฟ้อนผีมด เช่น ‘ปัดต่อปัดแตน’ ซึ่งหมายถึงการออกไปหาต่อและแตนในป่าของคนโบราณเพื่อเอามาทำน้ำผึ้ง แสดงถึงภูมิปัญญาในการหาของป่าเพื่อการยังชีพ ‘ยิงนก ยิงหนู’ แสดงถึงวัฒนธรรมการหาของป่าของคนโบราณ ‘ทอดแห’ แสดงถึงวิธีการหากินนอกจากทางบกแล้วยังมีการหากินทางน้ำด้วย ‘หว่านฝ้าย ยิงเสือ’ แสดงถึงการปลูกดอกฝ้ายในอดีตมักจะปลูกที่ราบเชิงเขาซึ่งมีเสือชุกชุมเวลาออกไปทำไร่ปลูกฝ้าย  มักจะเจอเสือจึงยิงเสือเพื่อเอาชีวิตรอด ‘คล้องช้าง คล้องม้า’ แสดงถึงการใช้ช้างและม้าเป็นพาหนะในการเดินทางในอดีตของคนโบราณ ‘ถ่อเรือ ถ่อแพ’ แสดงถึงการที่ลูกหลานออกไปทำมาค้าขายยังต่างถิ่นเมื่อกลับมาบ้านก็เอาข้าวของมาถวายผีปู่ย่า

เมื่อเสร็จสิ้นการละเล่น ลำดับสุดท้ายเป็นฟ้อนล้างผาม ผีปู่ย่าจะเริ่มทยอยออกจนหมดทุกคนจึงเป็นเสร็จพิธี กำลังจะช่วยกันรื้อผาม พอรุ่งเช้าก็ช่วยกันเก็บกวาดบ้านจนเสร็จถือว่าเป็นการเสร็จจากประเพณีการฟ้อนผีมด ซึ่งแต่ละบ้านหรือแต่ละตระกูลก็อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามข้อบัญญัติของผีปู่ย่าแต่ละตระกูล เช่น  บางบ้านไม่ใช้หัวหมูเป็นเครื่องเซ่นไหว้แต่ใช้ปลาแห้ง การละเล่นบางบ้านเล่นจนครบ บางบ้านเล่นเพียงบางอย่าง เปลี่ยนแปลงตามสมัยนิยม แต่ยังยึดมั่นกับรูปแบบพิธีกรรมเดิมอยู่

 ผีเม็ง

ชาวลำปางมักจะรู้จักกันดีในสายตระกูลของการนับถือผีเม็ง ซึ่งในจังหวัดลำปางมีตระกูลที่นับถือผีเม็งมากกว่า 30 ตระกูล ประเพณีการเลี้ยงผีเม็งจะเกิดขึ้นได้หลายแบบเช่นเดียวกับการเลี้ยงผีมด คือ การเลี้ยงประจำปี การเลี้ยงแก้บน และการเลี้ยงแต่งงานหรือที่เรียกได้อีกอย่างว่า ‘เลี้ยงลูกขึ้น’ 

การเลี้ยงประจำปีของผีเม็งจะมีทั้งการเลี้ยงดักและเลี้ยงแบบฟ้อนที่เรียกว่า ‘ฟ้อนผีเม็ง’ เช่นเดียวกับผีมด ถือเอาความพร้อมของลูกหลานในตระกูล ซึ่งเป็นพิธีกรรมใหญ่ที่ใช้เวลาในการจัดถึง 3 วัน  สำหรับการเลี้ยงแก้บน เมื่อญาติพี่น้องในตระกูลเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นก็จะมีการบนผีบรรพบุรุษให้หายจากอาการป่วยนั้น  ในปัจจุบันการเลี้ยงแก้บนอาจจะไม่ขึ้นอยู่กับการเจ็บไข้ได้ป่วยเพียงอย่างเดียว อาจเป็นการบนขอให้ประสบผลจากการงานหรือขอให้ร่ำรวย จึงมีการเลี้ยงแก้บนเกิดขึ้น จะเลี้ยงแบบฟ้อนหรือเลี้ยงดักแล้วแต่การบน  ส่วนการเลี้ยงแต่งงานหรือเลี้ยงลูกขึ้นเป็นการเลี้ยงผีบรรพบุรุษของฝ่ายชายที่มาสู่ขอฝ่ายหญิงที่เรียกว่า ‘การเสียผี’  ก่อนพิธีแต่งงาน ส่วนมากจะนิยมเลี้ยงดักและจะต้องมาเลี้ยงที่บ้านเก๊าผีของฝ่ายหญิง ประเพณีการเลี้ยงผีเม็งมีพิธีกรรมที่มีระเบียบแบบแผน ข้อกำหนด ข้อปฏิบัติและข้อห้าม โดยเฉพาะบทบาทของผู้หญิงที่ต้องทำหน้าที่เป็นร่างทรงหรือที่เรียกว่า ‘ม้าขี่’ 

ดร.อนุกูล ศิริพันธ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ได้บันทึกรายละเอียดการฟ้อนผีเม็งของบ้านท่ามะโอ  เป็นกรณีศึกษาพิธีกรรมผีปู่ย่าสายตระกูลผีเม็ง ของพ่อหนานศรี  วรรณศรี ซึ่งเป็นการเลี้ยงแก้บนให้กับตนเอง ตามบันทึกกล่าวว่า การฟ้อนผีเม็งจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน วันแรกเป็นวันเตรียมงาน  วันที่สองเป็นวันประกอบพิธี วันที่สามเป็นวันล้างผาม ก่อนหน้างานญาติพี่น้องในสายตระกูลเดียวกันจะมาช่วยเตรียมงาน โดยฝ่ายหญิงจะช่วยเรื่องอาหารและเครื่องบูชา ส่วนฝ่ายชายจะช่วยเตรียมสถานที่หรือการสร้างผามที่เรียกว่า ‘ผามจ๋อง’ และจัดเตรียมอุปกรณ์อื่น ๆ ในการประกอบพิธีกรรม ในการเชิญผีสายตระกูลอื่น ๆ ที่เป็นผีสายตระกูลผีเม็งซึ่งไม่ได้เป็นเครือญาติกันแต่รู้จักกันในสังคม เรียกว่า ‘การขวั่ยผีปู่ย่า’ เป็นการนำเอาดอกไม้ธูปเทียนไปบอกที่บ้านเก๊าผีของสายตระกูลอื่น ๆ และถือเป็นการเชิญแขกให้มาร่วมพิธีตามวันที่กำหนดไว้

 ผีมดซอนเม็ง

การนับถือผีมดซอนเม็งเกิดจากสองสายตระกูล คือ ตระกูลสายผีมดและตระกูลสายผีเม็งแต่งงานกันจึงนำพิธีกรรมของทั้งสองตระกูลมาผสมผสานกัน  แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกันของทั้งสองสายตระกูล โดยจะเห็นได้ชัดเจนจากพิธีเลี้ยงผีมดซอนเม็ง การเลี้ยงผีมดซอนเม็งนั้นเหมือนกับการเลี้ยงผีมดและผีเม็งที่จะเกิดขึ้นในโอกาสต่าง ๆ คือ เลี้ยงตามประเพณี เลี้ยงในพิธีแต่งงาน ซึ่งในกรณีของการเลี้ยงผีมดซอนเม็งจะขึ้นอยู่กับฝ่ายหญิง ถ้าฝ่ายหญิงเป็นตระกูลสายผีเม็งฝ่ายชายก็ไปเลี้ยงตามพิธีของผีเม็ง ถ้าฝ่ายหญิงอยู่ในตระกูลสายผีมดฝ่ายชายก็ไปเลี้ยงตามพิธีของผีมด และเลี้ยงแก้บนโดยพิธีที่เรียกว่า ‘ปักเสาผาม’ ซึ่งจะมีการฟ้อนเกิดขึ้น

การฟ้อนผีมดซอนเม็งนั้นจะใช้เวลา 3 วัน  คือ ‘วันข่าว’ ‘วันฟ้อน’ และ ‘วันล้างผาม’ โดยจะเริ่มจากบ้านเก๊าผี เมื่อมีการกำหนดวันเวลาแล้ว กำลังและลูกหลานจะไปบอกกล่าวผีปู่ย่าสายตระกูลอื่น ๆ  ทั้งสายตระกูลผีเม็ง สายตระกูลผีมด และผีเจ้านายที่รู้จักและคุ้นเคย

‘วันข่าว’ หรือวันจัดเตรียมงานจะเป็นวันสร้างผาม ซึ่งจะแตกต่างจากผีมดที่เรียกกันว่า ‘ผามเปียง’ ของผีมดซอนเม็งนั้นจะนำแบบอย่างของผีเม็งมา 3 ส่วนที่เรียกว่า ‘ผามจ๋อง’ และของผีมด 1 ส่วนที่เรียกว่า ‘ผามเปียง’ นำมาสร้างต่อกันโดยให้ผามจ๋องอยู่ด้านในและผามเปียงอยู่ด้านนอก การฟ้อนผีมดซอนเม็งนั้นผามจะไม่มีเสากลาง เพราะผ้าจ๋องจะห้อยจากไม้ไส้ไก่บนขื่อของผาม พิธีเริ่มจากการบรรเลงเพลงมอญ ม้าขี่ของต้นตระกูลจะไปโหนผ้าจ๋องกลางผามเชิญผีปู่ย่าประทับทรงลงมาฟ้อนรำ จนถึงเวลาช่วงเย็นจึงเสร็จพิธี โดยดนตรีจะบรรเลงส่งผีปู่ย่าออกทรง หลังจากเก็บของเสร็จแล้วลูกหลานจะช่วยกันเตรียมงานสำหรับวันถัดไป

‘วันฟ้อน’ ลูกหลานจะมาช่วยกันทำอาหารแต่เช้าและจัดเตรียมสถานที่ หลังจากทุกอย่างเสร็จสิ้นพร้อมแล้วจะเป็นพิธีเชิญผีปู่ย่าเข้าผามโหนผ้าจ๋อง แล้วจึงเชิญผีปู่ย่าที่มาร่วมงานประทับทรงฟ้อน ฟ้อนจนถึง ช่วงเที่ยงผีปู่ย่าก็จะทยอยกันออกจากทรง  ช่วงบ่ายจะเป็นช่วงที่มีการเล่นของผีปู่ย่า เริ่มจากการเล่นของผีตระกูลผีมด ที่เรียกว่า ‘ปัดต่อ ปัดแตน’ ‘ยิงนก’ และ ‘คล้องช้าง  คล้องม้า’ ลำดับสุดท้ายคือผีปู่ย่าและกำลังจะช่วยกันถอนต้นห้าหรือต้นหว้า ผีปู่ย่าจะเอาผ้าคล้องคอให้ลูกหลานมาช่วยกันฟ้อนรำในผาม เรียกว่า ‘ฟ้อนล้างผาม’ แสดงถึงพิธีได้เสร็จแล้ว

วันถัดมาเป็น ‘วันล้างผาม’ พอรุ่งเช้าก็จะมีพิธีเลี้ยงผีผ้าจ๋องและทำการรื้อผาม หากเป็นผีเม็งจะเลี้ยงยำหัวกล้วย แต่ในกรณีของผีมดซอนเม็งจะเลี้ยงลาบแกงอ่อมตามปกติ ลูกหลานช่วยกันเก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นอันเสร็จสิ้นการฟ้อนผีมดซอนเม็ง ซึ่งแสดงถึงการแลกเปลี่ยนผสมผสานวัฒนธรรมของทั้งสายตระกูลผีมดและผีเม็ง

ความแตกต่างของการฟ้อนผีมด ผีเม็ง และผีมดซอนเม็งนั้น กล่าวโดยสรุปคือมีความแตกต่างกันตั้งแต่การเชิญผีปู่ย่าในพิธีฟ้อนผี การละเล่นในวันฟ้อน การสร้างผาม เครื่องเซ่นไหว้ และจำนวนวันในการเลี้ยง ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วในเมืองลำปางจะเป็นการเลี้ยงผีเม็งเสียเป็นส่วนมาก

การเลี้ยงผีถือเป็นพิธีกรรมที่มีระเบียบแบบแผน ในปัจจุบันถือเป็นพิธีขนาดใหญ่ที่ใช้วัตถุปัจจัยมาก อีกทั้งผู้ที่สามารถจัดเตรียมพิธีต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องเริ่มเหลือน้อยลง ลูกหลานส่วนมากไม่ทราบแล้วว่าต้นตระกูลของตนเองเป็นสายตระกูลใด มีข้อปฏิบัติในการเลี้ยงผีบรรพบุรุษอย่างไร ทั้งยังไม่เคยเห็นพิธีเลี้ยงผีจริง ๆ เนื่องจากเป็นพิธีที่ส่วนตัวและหาดูยากแล้ว สำหรับการเลี้ยงผีในระดับเมืองที่ยังสามารถเห็นได้นั้นจะต้องรอถึงช่วงมกราคมถึงพฤษภาคมที่เป็นช่วงของการเลี้ยงผี ปัจจุบันการเลี้ยงผีในเมืองลำปางถือว่าเหลือน้อยมากและจะน้อยลงไปอีกในอนาคต การบันทึกและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สามารถเผยแพร่ให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้จึงจะทำให้คนรุ่นหลังยังคงเรียนรู้และปฏิบัติตามได้ต่อไป ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดไปตามสมัยนิยมก็ตาม

เขียนโดย กนกกาญจน์ มานพ

ภาพถ่ายโดย สรวิชญ์ หงษ์พาเวียน

ภาพปกโดย ณัฐการ คำแสน

สามารถติดตามเรื่องราวสำคัญของลำปางและอ่านเพิ่มเติมที่ เพจ https://www.facebook.com/lamlong.lampang

แชร์บทความนี้