“เมือบ้านเฮา” เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส สู่การสร้างอีสานบีฟ

เรื่อง : นิสิตสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ภาพเฟซบุ๊ก : สุปินะ กำแก้ว 

: เส้นทางของต้อม อรรถพล สิงพิลา แรงงานอีสานคืนถิ่น

ภาพ : วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

“ย้อนพ่อกับแม่เฮาอายุหลายขึ้นสุมื้อ เลยอยากเมียบ้านมาสานต่อในสิ่งที่พ่อแม่เฮาสร้างไว้” คำพูดอันเรียบง่ายแต่แฝงความหมายอันลึกซึ้งของคุณต้อม สะท้อนความปรารถนาที่ซ่อนอยู่ในใจของแรงงานอีสานนับล้านที่ห่างไกลบ้านเกิด

ทุกวันนี้ แรงงานอีสานมากมายต่างตัดสินใจเดินทางสู่เมืองหลวงด้วยความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า แต่สำหรับหลายคน ภาพความสำเร็จที่แท้จริงกลับเป็นภาพของการได้กลับคืนถิ่นฐาน ได้อยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่ที่ชราภาพ และได้สืบสานมรดกทางครอบครัวให้เติบโตงอกงาม

แม้ว่าเส้นทางการกลับบ้านจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อปัจจัยทางการ “เงิน” ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง การตัดสินใจระหว่างความมั่นคงทางรายได้ในเมืองใหญ่กับการกลับมาเริ่มต้นสร้างอนาคตในบ้านเกิด จึงเป็นสมการในชีวิตที่ต้องชั่งใจ

วิถีชีวิตของคนอีสานมีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรมมาตั้งแต่อดีต แต่ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน ข้อมูลจากรายงาน Regional Letter แบ่งปันความรู้สู่ภูมิภาค ครั้งที่ 4/2566 หัวข้อ “แรงงานอีสานคืนถิ่น กลับไปพื้นที่เศรษฐกิจเดิมมากน้อยแค่ไหน” โดยธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เผยแพร่เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ระบุว่าโครงสร้างการเคลื่อนย้ายแรงงานเดิม ณ สิ้นปี 2563 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน พบว่ามีแรงงานอีสานย้ายไปทำงานนอกภูมิภาคประมาณ 3 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานในภาคกลางประมาณ 2.7 ล้านคน (โดยอยู่กรุงเทพฯ 1.2 ล้านคน) เป็นกลุ่มลูกจ้างในภาคผลิต บริการ และก่อสร้าง ขณะที่แรงงานอีสานที่อยู่ในภาคเหนือและภาคใต้มีเพียง 1.3 แสนคน และ 0.9 แสนคนตามลำดับ ต่างจาก แรงงานในภาคอีสานประมาณ 9.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Self-employed ถึงร้อยละ 70 แม้จะมีโอกาสทางอาชีพและรายได้สูงกว่า แต่แรงงานเหล่านี้ยังคงมีเงินออมไม่มากนัก เพราะการใช้ชีวิตในเมืองมีค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูงและยังต้องส่งเงินอีกส่วนหนึ่งกลับบ้านเกิด เพื่อเลี้ยงดูและให้ครอบครัวเอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 

ข้อมูลจาก ISAN Insight ได้พูดถึงสาเหตุของการย้ายถิ่นของคนอีสาน ในปี พ.ศ.2566 คือ การกลับภูมิลำเนา, ติดตามครอบครัว, ย้ายที่อยู่อาศัย ตามลำดับ แต่หากพิจารณาลึกเข้าใจจะพบว่า การย้ายตามครอบครัว ย้ายที่อยู่อาศัย หางานทำ ล้วนเป็นเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกับอาชีพการงาน รองลงมาคือ เพื่อการศึกษา การมองหาและเพิ่มโอกาสในชีวิต และสุดท้ายถึงเป็นเหตุผลส่วนตัว ครอบครัว

ภาพ : กฤษฎา กุลขัว

โควิด-19 กับปรากฏการณ์แรงงานอีสานกลับบ้าน

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นวงกว้าง ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า แรงงานเป็นภาคส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักและคนส่วนใหญ่อยู่ติดบ้านมากขึ้น ทำให้หลายธุรกิจจำเป็นต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน ขณะที่บางบริษัทที่พยายามประคับประคองธุรกิจ อาจต้องลดต้นทุนด้วยการให้พนักงานพักงานอย่าไม่มีกำหนด โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวและภาคการผลิตที่มีการปิดโรงงานชั่วคราว ซึ่งธุรกิจเหล่านี้พึ่งพาแรงงานอีสานเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคติดต่อรายงานว่า มีแรงงานอีสานประมาณ 8 แสนคนเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ตกงาน และตัดสินใจคืนถิ่นเพื่อไปตั้งหลักที่บ้านเกิด เมื่อกลับไปแล้วแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ได้ปรับตัวไปประกอบอาชีพใหม่ เพื่อหารายได้ระหว่างที่รอสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ขณะที่แรงงานคืนถิ่นบางส่วนปรับตัวได้ยาก และกลายเป็นผู้ว่างงาน (อ้างอิง : บทความ แรงงานอีสานคืนถิ่นปรับตัวอย่างไรในวิกฤติ โควิด-19 โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย)

การเลิกจ้างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกะทันหัน หลายคนต้องตกงานโดยไม่มีเวลาเตรียมตัว โรงงานผลิตสินค้า โรงแรม และธุรกิจบริการต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญในต่างจังหวัดได้รับผลกระทบอย่างหนัก บางคนถูกพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ขณะที่บางส่วนถูกลดชั่วโมงทำงานจนรายได้ไม่พอใช้จ่าย รายจ่ายประจำวันยังคงดำเนินต่อไป ค่าเช่าห้อง ค่าน้ำค่าไฟ และค่ากินอยู่กลายเป็นภาระหนักอึ้ง หลายคนต้องอาศัยเงินเก็บเพียงน้อยนิดเพื่อเอาตัวรอด หรือไม่ก็ต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไป

การกลับบ้านเกิดจึงอาจเป็นทางเลือกสุดท้ายของแรงงานที่ทำงานในเมืองใหญ่ แต่การกลับบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนต้องเผชิญกับค่าเดินทางที่สูงขึ้นจากมาตรการควบคุมโรค หลายจังหวัดกำหนดให้ผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัว 14 วัน โดยไม่มีรายได้เข้ามาระหว่างนั้น สำหรับบางคน การกลับบ้านคือการเผชิญกับความกังวลว่าจะหางานทำใหม่ไม่ได้

ภาพ : กฤษฎา กุลขัว

ภายใต้ความยากลำบากนี้ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกมองข้าม นั่นคือผลกระทบทางจิตใจ แรงงานจำนวนมากที่เคยพึ่งพารายได้จากงานประจำ ต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันจากการไม่มีงานทำ หลายคนรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว รู้สึกผิดที่ไม่สามารถส่งเงินกลับบ้านได้เหมือนเดิม หรือแม้แต่รู้สึกสิ้นหวังกับอนาคตที่ไม่แน่นอน

โควิด-19 ไม่ได้เป็นเพียงวิกฤตด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของแรงงานอีสานที่ต้องดิ้นรนทำมาหากินไกลบ้าน พวกเขาไม่ได้เป็นแค่แรงงานที่ถูกพูดถึงในทางเศรษฐกิจ แต่เป็นคนที่มีครอบครัว มีความฝัน และมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 เกิดปรากฏการณ์ที่ผู้คนย้ายถิ่นออกจากเมืองใหญ่ ส่วนมากเป็นแรงงานที่มีรายได้น้อย เป็นลูกจ้างรายวัน ทำงานในภาคบริการ ซึ่งเหตุผลที่สำคัญ คือ การขาดรายได้ หรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้ไม่สามารถแบกรับค่าครองชีพในเมืองใหญ่ได้ การกลับบ้านเกิดจึงเป็นอีกทางเลือก “หวังมีชีวิตรอด” และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพใหม่

“ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่” แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานอีสานได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก หรือค่าอาหารการกิน แรงงานที่กลับคืนถิ่นยังได้นำเอาความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่สั่งสมมา มาถ่ายทอดสู่ชุมชน เห็นได้จากลูกหลานที่กลับมาต่อยอดธุรกิจครอบครัวด้วยการขยายไปสู่ตลาดออนไลน์ หรือเปลี่ยนจากลูกจ้างมาเป็นเจ้าของกิจการเอง ซึ่งช่วยกระตุ้นการจ้างงานในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังเปิดทางให้แรงงานอีสานมีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่หลากหลายขึ้น และลดการย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมืองใหญ่เหมือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแรงงานคืนถิ่นบางส่วนจะเคยชินกับการทำงานในเมืองใหญ่ แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกเริ่มคลี่คลาย และธุรกิจหลายแห่งกลับมาเปิดดำเนินการตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 แรงงานอีสานคืนถิ่นบางส่วนจึงตัดสินใจหวนคืนสู่เมืองเพื่อทำงานอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์ดีขึ้น มีเพียงครึ่งหนึ่งของพนักงานที่เลือกกลับไปทำงานในเมือง ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่บ้านเกิด

ภาพ : กฤษฎา กุลขัว

ต่อมาในช่วงปลายปี 2563 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้น แม้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมจะไม่รุนแรงเท่ากับระลอกแรก แต่ก็ทำให้แรงงานจำนวนไม่น้อยต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาอีกครั้ง โดยตัวเลขทางการที่ประเมิน ณ สิ้นปี 2563 ระบุว่า มีแรงงานอีสานคืนถิ่นราว 4 แสนคน ซึ่งคาดว่ากลุ่มหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นแรงงานที่เพิ่งกลับเข้าไปทำงานในเมืองได้ไม่นาน ก่อนจะต้องเดินทางกลับบ้านเกิดอีกครั้ง เนื่องจากธุรกิจบางส่วนปิดตัวลงเพิ่มเติม  (อ้างอิง : บทความ แรงงานอีสานคืนถิ่นปรับตัวอย่างไรในวิกฤติ โควิด-19 โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย)

มีงานศึกษาจากสภาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เผยแพร่เมื่อปี 2563 ชี้ให้เห็นว่า ภาคการเกษตรไทยแตกต่างจากเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เนื่องจาก 76 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนเกษตรไทย พึ่งพิงรายได้จากนอกภาคเกษตร และมีครัวเรือนถึง 62 เปอร์เซ็นต์ ที่พึ่งพิงรายได้จากการรับจ้างทั่วไปนอกภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่เข้าไม่ถึงชลประทาน และครัวเรือนที่ขาดทุนจากการทำเกษตร และกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ พึ่งพิงเงินโอนจากญาติที่ไปทำงานต่างจังหวัด 

เท่ากับว่าภาคการเกษตรไม่สามารถรองรับผู้คนที่ตกงานกลับบ้านได้เหมือนดังก่อน หลังโควิด-19 มีครัวเรือนเกษตรกรที่มีแรงงานตกงาน หรือถูกลดเวลาทำงาน ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ย.5 คนต่อ 1 ครัวเรือน (อ้างอิง : บทความ หัวข้อแรงงานคืนถิ่นช่วงโควิด-19 ‘กลับ-ไม่กลับ’ เข้าไปทำงานในเมืองใหญ่)

เส้นทางสู่ความสำเร็จหรือกับดักของสังคมทุนนิยม?

ด้วยระบบทุนนิยมเดิมๆได้กลายเป็นแนวทางการพัฒนาหลักของสังคมมาอย่างยาวนาน ทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่าการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นเส้นทางสู่โอกาส สู่ความสำเร็จ และความก้าวหน้าในชีวิต ส่งผลให้เยาวชนอีสานหลังจบการศึกษาภาคบังคับ เลือกที่จะย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองหลวงเพื่อหางานทำ ก่อให้เกิดการไหลบ่าของแรงงานจากต่างจังหวัดเข้าสู่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากการสำรวจการย้ายถิ่นจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจการย้ายถิ่นของประชากร พ.ศ. 2565 เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่าง ตุลาคม – ธันวาคม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ทำให้คนกลับมาเดินทางและย้ายที่อยู่กันมากขึ้น แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ย้ายไปอยู่ที่ใหม่แต่ไม่ได้ย้ายชื่อในทะเบียนบ้านไปด้วย หรือจะกล่าวได้ว่าเป็นประชากรแฝงในพื้นที่นั้นๆ ผลการสำรวจในปี 2565 พบว่า ผู้ย้ายถิ่นมีจำนวน 8.09 แสนคน คิดเป็นอัตราการย้ายถิ่น 1.2 ของประชากรทั้งประเทศ (69.91 ล้านคน) จากการสำรวจ พบว่า อัตราการย้ายถิ่นของภาคเหนือ และภาคกลาง มีผู้ย้ายถิ่นเข้ามากกว่าผู้ย้ายถิ่นออก ส่วนกรุงเทพมหานคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ มีผู้ย้ายถิ่นเข้าน้อยกว่าผู้ย้ายถิ่นออก

“ถึงเป็นแค่แรงงานของนาย แต่ผมคือหัวใจของบ้าน’’

บางวรรคตอนของผลงานเพลง “เสาหลักของบ้าน แรงงานของนาย” โดยศิลปิน เบียร์ พร้อมพงษ์  ได้ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ในการทำงานรับจ้างในเมืองหลวงสะท้อนความสำคัญและบทบาทของแรงงานที่มาค้าแรงสร้างฝัน ในสังคมไทยปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ทั้งชายและหญิงจำนวนไม่น้อยถูกคาดหวังให้เป็น “เสาหลัก” ของครอบครัว โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทอีสานที่เผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาอย่างยาวนาน ปัญหาความไม่มั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งต้องลงทุนและลงแรงอย่างหนัก แต่กลับได้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า ทำให้คนรุ่นใหม่อีสานถูกผลักดันให้ออกไปแสวงหาโอกาสในเมืองใหญ่ เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตและส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัวที่บ้านเกิด

ที่ผ่านมา ภาคอีสานเป็นแหล่งกำลังแรงงานสำคัญของประเทศ แต่จะมีสักกี่คนที่มองเห็นศักยภาพของพวกเขา ท่ามกลางกระแสคนกลับบ้าน หลายคนเลือกที่จะไม่กลับไปเป็นลูกจ้าง แต่เปลี่ยนวิถีชีวิตมาสร้างธุรกิจของตัวเอง พวกเขากำลังพิสูจน์ว่า ความสำเร็จไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในเมืองใหญ่ แต่อยู่ที่ว่าใครจะกล้ากลับมาสร้างอนาคตของตัวเองที่บ้านเกิด

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเกี่ยวกับการไหลกลับของแรงงานจากภาคอีสานที่เคยไปทำงานในเมืองใหญ่ กลับคืนสู่บ้านเกิดเพื่อสร้างธุรกิจและพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น หนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นคือ อีสานบีฟ ธุรกิจเนื้อวัวพรีเมียม ที่เกิดขึ้นจากแรงงานอีสานคืนถิ่น ซึ่งกำลังเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของภาคอีสาน

ภาพ : วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

อีสานบีฟ เป็นหนึ่งในโมเดลของการกลับคืนถิ่นที่ประสบความสำเร็จ ต้อม อรรถพล สิงพิลา เป็นอีกหนึ่งคนที่มีความฝันอยากจะกลับมาทำงานบ้านเกิดพร้อมพัฒนาชุมชนของตัวเองจึงเกิดเป็นธุรกิจที่มีชื่อว่า ‘อีสานบีฟ’ เนื้อวากิวขายทั้งปลีกและส่ง (E -San Beef)

ภาพเฟซบุ๊ก : สุปินะ กำแก้ว 

ปัจจุบัน ต้อม อรรถพล สิงพิลา  อาศัยอยู่ที่ตำบลเขวาไร่ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม จบปริญาตรีจากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีพ.ศ. 2560 ก่อนที่จะกลับมาทำอีสานบีฟ โดยได้รับการแนะนำจากรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยให้ร่วมออกแบบโครงการ “โรงเรียนนักปฏิบัติการข้อมูลที่ดิน”

ภาพเฟซบุ๊ก : สุปินะ กำแก้ว 

ซึ่งเป็นโครงการอบรมคนรุ่นใหม่ในการทำงานด้านที่ดิน โดยทำงานในโครงการนี้ประมาณ 1-2 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจกลับบ้านเพื่อพัฒนาธุรกิจการเกษตรที่มีอยู่ และสนับสนุนการพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง 

การกลับบ้านครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการกลับมาอยู่ใกล้ครอบครัวเท่านั้น แต่เป็นการกลับมาสานต่อธุรกิจการเกษตรที่มีอยู่ พร้อมกับพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับยุคสมัย ควบคู่ไปกับการดูแลพ่อแม่ที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ

“อยู่บ้านก็มีงานเยอะ พ่อแม่ก็มีอายุขึ้นเรื่อยๆ ใกล้วัยเกษียณแล้ว เลยอยากจะกลับมาสานต่อธุรกิจที่บ้าน และอยากมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง” 

เมื่ออุดมการณ์สวนทางกับค่านิยมในสังคม

“เรียนจบมาตั้งสูง” มักเป็นประโยคที่ถูกพูดถึงเมื่อใครสักคนเลือกเส้นทางที่แตกต่างจากความคาดหวังของสังคม เช่นเดียวกับคุณต้อมที่ตัดสินใจกลับบ้านหลังจากเรียนจบ ท่ามกลางสายตาของคนรอบข้างที่เต็มไปด้วยคำถามและความสงสัย

ในช่วงแรกของการกลับมา ความรู้สึกสับสนและไม่แน่ใจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะปรึกษาใครหรือเริ่มต้นพูดคุยกับใครดี แม้แต่การหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรหาคนอื่นยังต้องลังเล การปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่คุ้นเคย แต่มันกลับเปลี่ยนไปกลายเป็นความท้าทายที่ต้องก้าวข้ามด้วยตัวเอง จนเกิดเป็นธุรกิจ อีสานบีฟ (E-San Beef) 

จุดเริ่มต้นของ ‘อีสานบีฟ (E-San Beef)’ เกิดขึ้นได้อย่างไร

“พอกลับมาบ้านได้ประมาณสองสามเดือน ก็เลยลงเลือกตั้ง ลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น ส.อบต. ก็เลยได้รับความไว้วางใจจากพ่อแม่พี่น้องในชุมชนของเรา ก็เลยคิดว่าจะทำยังไงให้ชุมชนมีบรรยากาศที่น่าเรียนรู้และสร้างบรรยากาศให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในชุมชน ก็เลยก่อตั้งวิสาหกิจขึ้นมา ชื่อว่าวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อโคตำบลเขวาไร่ หรือ อีสานบีฟ”

ภาพเฟซบุ๊ก : สุปินะ กำแก้ว 

การเริ่มต้นธุรกิจอีสานบีฟของคุณต้อม อรรถพล เป็นการเดินทางสู่เส้นทางที่ไม่คุ้นเคย คุณต้อมเปิดเผยในการให้สัมภาษณ์ว่า “ผมเริ่มต้นการทำอีสานบีฟจากศูนย์” การไม่มีพื้นฐานความรู้ในธุรกิจนี้กลับกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้เขาแสวงหาความรู้เพิ่มเติม

โอกาสในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ทำให้คุณต้อมได้รับความรู้และคำแนะนำที่มีประโยชน์ ในช่วงแรกแม้จะเป็นเพียงการรับฟังและเรียนรู้อย่างไม่มั่นใจ แต่การสนทนาเหล่านั้นได้กลายเป็นความรู้ที่มีคุณค่าต่อการดำเนินธุรกิจมาจนถึงปัจจุบัน

ทุกวันนี้คุณต้อมยังคงเรียนรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบทบาทของเขาได้เปลี่ยนจากผู้เรียนรู้มาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่น ประสบการณ์จากการลองผิดลองถูก บทเรียนทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ได้ถูกนำมาแบ่งปันเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง

ภาพเฟซบุ๊ก : สุปินะ กำแก้ว 

มองเห็นต้นทุนอะไรในบ้านตัวเอง ถึงเลือกที่จะกลับบ้านมาทำ ? 

ในชีวิตของเราแต่ละคน การมองเห็นต้นทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านตัวเองเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้หลายอย่าง หากเราตระหนักถึงสิ่งที่มีค่าและสามารถประหยัดได้ อาจจะเป็นเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่ส่งผลดีต่อการเงินของครอบครัว การมองเห็นต้นทุนและการตัดสินใจกลับมาทำสิ่งที่ดีขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นการปรับตัวในชีวิตส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปสู่การช่วยเหลือหรือขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนได้อีกด้วย

เช่นเดียวกับในพื้นที่ของตำบลเขวาไร่ อำเภอโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม คุณต้อมและกลุ่มประชากรในพื้นที่นั้นเริ่มเห็นถึงต้นทุนในการเลี้ยงวัว ซึ่งในปัจจุบันโคเนื้อมีราคาซื้อขายที่ตกต่ำ จึงมองเห็นปัญหานี้ทำให้เกิดความคิดริเริ่มในการปรับปรุงและส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถเพิ่มรายได้จากการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากวัว และลดต้นทุนในการเลี้ยงดู เพื่อลดความยากลำบากและสร้างโอกาสให้กับชุมชนในการพัฒนารายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“ก็ต้นทุนในพื้นที่กลุ่มประชากรของตำบลเขวาไร่ก็เล็งเห็นว่ามันเป็นกลุ่มเป็นก้อนอยากเข้ามาขับเคลื่อน คิดว่าจะทำยังไงส่งเสริมให้กลุ่มคนเลี้ยงวัวได้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ก็คือต้องมาแปรรูปและไปลดต้นทุนในการเลี้ยงดู”

ภาพเฟซบุ๊ก : สุปินะ กำแก้ว 

จากข้อมูลจากรายงานหัวข้อ “วิกฤตโคเนื้อราคาตกต่ำ ความสิ้นหวังของเกษตรกร” โดย thai PBS ที่เผยแพร่เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2567 รายงานลำดับเหตุการณ์และสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับอาชีพเลี้ยงโคเนื้อ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเริ่มจากปี 2563-2564 ประเทศไทยสามารถส่งออกโคขุนไปยังประเทศเวียดนามได้ ก่อนจะเจอปัญหาสารเร่งเนื้อแดง ช่วงปลายปี 2565 ทำให้เวียดนามระงับการนำเข้าโคขุนจากไทย แม้ปัจจุบันจะสามารถส่งออกได้ แต่ก็มีข้อจำกัด ระเบียบที่เข้มงวด ส่งออกได้น้อยลง ราคาวัวในประเทศตกต่ำจนถึงปัจจุบัน

จากสถานการณ์ราคาวัวที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนและหนี้สินสะสมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องขายวัวในราคาขาดทุน หรือเลิกเลี้ยงวัวไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทำไมต้องเป็นภาคอีสาน

“มันก็เป็นบ้านเกิดของเรา ค่าครองชีพมันก็จะสามารถลดต้นทุนเราได้ ปัจจุบันนี้เกษตรกรเป็นหนี้เยอะ ค่าครองชีพก็สูงไม่แตกต่างจากในเมืองเลย” 

สำหรับคนที่เกิดและเติบโตที่นี่ บ้านเกิดคือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด เพราะค่าครองชีพในอีสานช่วยให้สามารถลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้ แต่ขณะเดียวกัน ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรและค่าครองชีพที่สูงขึ้นก็เป็นความท้าทายที่ต้องรับมือ ทำให้การพึ่งพาวิถีดั้งเดิมเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป

โชคดีที่ปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงการค้าไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการขายออนไลน์ที่ช่วยให้เข้าถึงลูกค้าได้กว้างขึ้น รวมไปถึงการขายออฟไลน์ที่ยังคงเป็นช่องทางสำคัญ หรือการมีพาร์ทเนอร์ด้านขนส่งที่ช่วยให้การส่งสินค้ารวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้เปิดโอกาสให้คนอีสานสามารถทำธุรกิจได้จากที่บ้าน โดยไม่ต้องย้ายไปอยู่เมืองใหญ่

“การขายทุกวันนี้ มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาหลายรูปแบบ มีการขายแบบต่างๆ ทั้งขายแบบออนไลน์ ขายแบบออนไซต์ แล้วก็มีพาร์ทเนอร์คือระบบขนส่ง เข้ามาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์เรา”

ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ เกษตรกรหลายรายเริ่มปรับตัว เพื่อรับมือกับวิกฤตราคาโคเนื้อตกต่ำที่เกิดขึ้น พวกเขาพยายามลดต้นทุนการผลิต หาช่องทางการตลาดใหม่ๆ และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเลี้ยงโคเนื้อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต นอกจากนี้ ยังมีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งและต่อรองกับผู้ซื้อได้มากขึ้น

ภาพเฟซบุ๊ก : สุปินะ กำแก้ว 

จุดเด่นของ “อีสานบีฟ” ที่แตกตางจากที่อื่น

อีสานบีฟ เป็นเนื้อวัวที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากเนื้อวัวในภูมิภาคอื่น ด้วยกระบวนการเลี้ยงที่ได้มาตรฐานและเน้นคุณภาพตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ไปจนถึงการดูแลด้านอาหารและสภาพแวดล้อม วัวของอีสานบีฟถูกเลี้ยงด้วยธัญพืชเป็นหลัก ส่งผลให้เนื้อมีรสชาติที่กลมกล่อม นุ่มละมุน และมีไขมันแทรกในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีการรับรองคุณภาพของเนื้อโดยแบ่งเป็นเกรดต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาเนื้อคุณภาพดีสำหรับเมนูหลากหลายรูปแบบ

 “เราพยายามจะสร้างอัตลักษณ์ของท้องถิ่นขึ้นมา เพราะเนื้อของเรามีคุณภาพและได้มาตรฐาน มีกลิ่นและรสชาติที่แตกต่าง ของเราจะมีรสชาติที่อร่อยและเนื้อนุ่มมีมันแทรก มีเกรดในการรับรองถึงเกรดสองเกรดสาม”

ภาพ : วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มมส.

ซึ่งกลุ่มลูกค้า อีสานบีฟ มีหลากหลายตามประเภทของผลิตภัณฑ์ หากเป็นเนื้อเสียบไม้ ลูกค้าหลักมักเป็นนักศึกษา เนื่องจากเป็นอาหารที่รับประทานง่ายและเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ การออกบูธในงานอีเวนต์และการเข้าร่วมงานเชิงพาณิชย์ยังช่วยขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น

สำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อแบบสเต๊กหรือเนื้อแปรรูปอื่นๆ กลุ่มลูกค้าจะเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคน รวมถึงร้านอาหารที่ต้องการเนื้อคุณภาพดีไปใช้ในการปรุงเมนูต่างๆ อีสานบีฟจึงสามารถตอบโจทย์ลูกค้าหลายกลุ่มได้ตามความต้องการที่แตกต่างกัน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เนื้อวัวอีสานได้รับความสนใจมากขึ้น มาจากการสร้างเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและความหลากหลายของสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีรสนิยมต่างกัน บางคนชื่นชอบเนื้อซอยจุ๊ ส่วนบางคนต้องการเนื้อคุณภาพสำหรับสเต๊ก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในหลายจังหวัดเริ่มนำเนื้ออีสานไปจำหน่ายมากขึ้น ทำให้ตลาดขยายตัว อีกทั้ง คนรุ่นใหม่มีสไตล์การบริโภคที่แตกต่างและเปิดรับผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นมากขึ้น เช่น ในจังหวัดมหาสารคามก็มีความนิยมบริโภคเนื้อจากลำชี ซึ่งเป็นตัวอย่างของการเชื่อมโยงวัฒนธรรมการกินกับเอกลักษณ์ของพื้นที่

อีสานบีฟในอนาคต

อีสานบีฟมีแนวคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ซอสหมักเนื้อ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการรสชาติพิเศษและสะดวกต่อการปรุงอาหาร นอกจากนี้ ในด้านการตลาด ปัจจุบันอีสานบีฟสามารถจัดส่งสินค้าได้ทั่วประเทศแล้ว แต่ในอนาคตจะเน้นขยายตลาดผ่านการขายให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเดินทางมาเยี่ยมชมฟาร์มเพื่อสัมผัสประสบการณ์การกินเนื้อวัวคุณภาพจากแหล่งผลิตโดยตรง พร้อมทั้งเรียนรู้กระบวนการเลี้ยงวัวและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับชาวบ้านในท้องถิ่น อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับ การจัดการฟาร์มและวัฒนธรรมการกินเนื้อวัว เพื่อให้ผู้มาเยือนได้เข้าใจถึงเอกลักษณ์ของอีสานบีฟอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

ต้อม อรรถพล สิงพิลา ยังทวนท้ายอีกว่า “อยากให้คนรุ่นใหม่ใช้ทักษะที่มี มาสร้างโอกาสให้กับตัวเองและชุมชน เพื่อให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเข้มแข็งและเกิดรายได้ที่ยั่งยืน”

ภาพเฟซบุ๊ก : สุปินะ กำแก้ว 

จากสถานการณ์สังคมในปัจจุบัน พบว่าแรงงานอีสานรุ่นใหม่มีความมุ่งมั่นในการทำงานและพัฒนาชุมชนของตน เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองและคนในท้องถิ่น แม้จะเผชิญกับความท้าทายต่างๆ แต่พวกเขาก็ยังคงตั้งใจที่จะช่วยกันพัฒนาชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สะท้อนถึงความหวังในการสร้างอนาคตที่ดีขึ้นในถิ่นฐานบ้านเกิด บทความนี้จึงชี้ให้เห็นว่า “โอกาสและความสำเร็จไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเมืองใหญ่” แต่อยู่ที่การมองเห็นศักยภาพของตนเองและการกล้าที่จะสร้างธุรกิจในบ้านเกิด หากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม อีสานอาจไม่ใช่เพียงแหล่งส่งออกแรงงานอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับการทำธุรกิจและสร้างอนาคตให้กับคนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง


เรียบเรียงโดย
: นิสิตสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
นางสาวเจษฎาภรณ์ แห้วดี
นางสาวณัฐธิพร บุญกว้าง 
นางสาวเกษมณี มูลดับ
นางสาวอรวรรณ พลยุทธ
นางสาวชัญญานุช ผดุงสันต์ 
นายนพนันท์ ศรีสมบัติ
นายธรรณธรณ์ หาญกำลัง

แชร์บทความนี้