มรภ.สกลนคร เชื่อมงานวิจัยแก้จนกับบุญกองข้าว “นาปรัง”

นักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร หลังจบโครงการวิจัย แต่พื้นที่ดำเนินการเกิดผลกระทบ จึงต้องทำตามข้อตกลงกับชาวบ้านดงสาร ที่ก่อนเข้าร่วมปฏิบัติการโมเดลแก้จนรับปากว่า ถ้าเร็จบรรลุวัตถุประสงค์จะช่วยระดมทุนมาสนับสนุนชุมชน โชคชะตาลิขิตเข้าข้างชุมชนจึงได้มาร่วมงานใหญ่ บุญกองข้าว “สู่ขวัญข้าว เอิ้นขวัญคน”

ประเพณีบุญกองข้าว (นาปรัง) บ้านดงสาร

ประเพณีบุญกองข้าว เป็นงานบุญที่สำคัญเกี่ยวกับการทำนาและข้าว โดยทั่วไปจัดขึ้นในเดือนสาม เนื่องจากบ้านดงสาร ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม จึงเปลี่ยนวิถีการเกษตรเป็นทำนาปรัง หลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังเสร็จ ช่วงประมาณเดือนห้าจะจัดบุญกองข้าว (นาปรัง) 

งานบุญกองข้าว ถือเป็นโอกาสอันดี ที่ชาวบ้านดงสารหรือหมู่บ้านใกล้เคียง ได้มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในการทำนา ทั้งองค์ความรู้ วิธีการทำนาใหม่ ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในฤดูกาลหน้า เช่น พันธุ์ข้าว เทคโนโลยีช่วยลดแรงงาน ราคาและการตลาด แนวโน้มการสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นต้น และเป็นการสืบสานวัฒนธรรมด้านการทำนา ขอขมาพระแม่โพสพ

ในปี 2567 ชาวบ้านดงสารได้กำหนดงานบุญกองข้าว (นาปรัง) ในวันที่ 27 เมษายน 2567 (แรม 4 ค่ำ เดือน 5) จัดโดยคณะกรรมการหมู่บ้านดงสาร และ วิสาหกิจชุมชนนาปรังมูลค่าสูง ซึ่งชาวบ้านได้เชิญนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นำโดย ผศ.ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และทีมปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ฯ โดยอาจาย์สายฝน ปุนหาวงค์ มาร่วมงาน

มนต์ขลังบุญกองข้าวบ้านดงสาร อยู่ที่การ “สู่ขวัญข้าว เอิ้นขวัญคน” ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกมารวมกันกองใหญ่ เพื่อดำเนินพิธีกรรมด้านพราหมณ์และด้านพุทธศาสนา จากนั้นคณะกรรมการวัด/หมู่บ้าน จะนำข้าวไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน (Soft Power) หรือที่หลายคนเคยคุ้นกับคำว่าสร้าง “คุณค่าและมูลค่า” และชาวบ้านได้เชิญ อ.สายฝน ปุนหาวงค์ ร้องเพลงเปิดงาน

อธิบายไปก็ยากที่จะเชื่อ ทั้งนักวิชาการและชาวเน็ตต้องการมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ผมในฐานะผู้ร่วมกระบวนการวิจัยจึงยกงานบุญกองข้าว (นาปรัง) ที่ชาวบ้านกำหนดจัดในช่วงที่โครงการวิจัยจบไปแล้ว แต่ด้วยความรู้แจ้งอาจเป็นเพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมองค์ความรู้ จากนักวิจัยส่วนหนึ่งที่ได้ผลผลิตมากขึ้นจึงคิดถึงกัน

ย้อนความจริงมีอยู่ในงาน “คลัง-เมล็ดพันธุ์-ข้าว”

จะบอกว่าปีนี้โชคดีหรือเป็นผลงานของรัฐบาลดีนะ ตลาดรับซื้อข้าวเปลือกมีราคาปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับปีนี้น้ำท่วมสูงและนานมาก ชาวบ้านบอกว่าส่งผลทำให้ระบบนิเวศน์ปรับสมดุลระหว่างดินและน้ำ แต่จะเป็นปัจจัยอะไรก็แล้วแต่ เกษตรกรทำนาปรังอยู่ที่ “ทุ่งพันขัน” ปีนี้มีความสุขได้ผลผลิตเยอะขายได้ราคาดี มีเงินเข้ากระเป๋าสตางค์มากขึ้น มีบางคนกระซิบเบา ๆ กับผมว่า คนที่มีพื้นที่ทำนาปรังเยอะได้เงินถึง 7 หลัก

หรืออาจเป็นเพราะมีทีมนักวิจัยและนักศึกษาวิศวกรสังคม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เข้ามาปรับแนวคิดให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญ การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวก่อนลงมือหว่านข้าวนะ แต่หลายคนหลายความคิดเอาเป็นว่าปีนี้ มีตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้ได้ผลผลิตมากขึ้น คือ ธรรมชาติ ตลาด งานวิจัย ซึ่งปฏิบัติการวิจัยโมเดลแก้จนได้รับสนับสนุนทุนจากหน่วย บพท.

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2566 กิจกรรมสร้างความเข้าใจและข้อตกลงก่อนดำเดินการวิจัย หรือสัญญาประชาคมว่า ถ้าชาวบ้านให้ความร่วมมือและมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ นักวิจัยจะระดมทุนมาช่วยหมู่บ้าน แล้วแต่จะบอกบุญมาเพื่อฉลองความสำเร็จ

ขออนุโมทนา ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดผลลัพธ์กับการวิจัยที่ได้รับเกินกว่าที่ตั้งไว้ คือ เกิดระบบและกลไกดำเนินการต่ออย่างยั่งยืน กองทุน องค์ความรู้ การเชื่อมโยงภาคีและส่งต่อโอกาสใหม่ เช่น แปรรูปข้าวเม่า และการท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น หัวหน้าโครงการและนักวิจัยจึงสนับสนุนตามสัจจะวาจา นี่คือที่มาของงานบุญกองข้าว (นาปรัง) สัญญาใจระหว่างชาวบ้านกับนักวิจัย

รู้ไหมว่าอะไรคือคุณค่าและมูลค่า…? ระหว่างบุญกองข้าว กับ “คลัง-เมล็ดพันธุ์-ข้าว”

มูลค่า

แน่นอนว่าเป็นเศรษฐกิจคือสิ่งที่เรามองเห็นได้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ได้แก่ การระดมทุนบอกบุญ เงินผูกแขน มหรสพคบงัน การขายสินค้าในงานบุญ นอกจากนี้ยังได้สถาปนาตั้งกองทุน “คลัง-เมล็ดพันธุ์-ข้าว” รวมเงินกองทุนได้ 54,000 บาท 

ซึ่งคาดการณ์ว่างานนี้จะเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท สร้างผลกระทบส่งรายได้เข้ารัฐจากการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% หรือ 7,000 บาท แต่ถ้ามีแรงบริโภคภายในชุมชนเกิดขึ้นหลายรอบ ก็จะเก็บเงินภาษีได้หลายรอบ สิ่งนี้เรียกว่าวัฏจักรเศรษฐกิจชุมชน (Local Economic)

คุณค่า

หลายคนอาจมองว่าคือพิธีกรรม แต่ผมอยากบอกว่าไม่ใช่ทั้งหมด ทุกคนเห็นฝ้ายผูกแขนที่เตรียมไว้ในพานบายศรีไหมจะมีสีขาวล้วน แล้วมองเส้นฝ้ายที่ผูกในข้อมือผมจะมีหลากหลายสี ผมเห็นคุณยายหยิบฝ้ายที่นำมาจากบ้าน แสดงถึงความรักและความห่วงใย เพื่อนำมาผูกให้ผมและอาจารย์ น้ำตาผมเกือบไหลด้วยความปลื้มปิติ

คุณรู้ไหมว่าฝ้ายเหล่านี้เอามาจากไหน อย่างเช่นแม่ของผมท่านชอบไปทำบุญสวดมนต์ ก็จะได้เส้นด้ายที่ผ่านพิธีตามความตั้งมั่น เพื่อเอามาให้บุคคลเป็นที่รัก ลูกหรือหมู่ญาติ กล่าวคือนักวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของทุกครอบครัวในชุมชน

สรุปได้คือบุญกองข้าว (นาปรัง) จะเกิด “คุณค่า” อยู่ที่ปัจเจกชน แต่ละคนจะแสดงความซาบซึ้งหรือความพึงพอใจต่างกัน ก่อเกิดการสร้าง “มูลค่า” การซื้อ-ขายหรือการมอบให้ จะมีมูลค่าตามระดับความซาบซึ้งหรือความพอใจที่จะให้ นี่แหละคือการสร้าง “คุณค่าสู่มูลค่าสูง” ที่ชาวบ้านดงสารมอบให้ผม ขอบคุณทุกคนนะครับ

ที่มา : www.1poverty.com

เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ OnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

แชร์บทความนี้