ถอดรหัส เลือกตั้ง สว. คนไทยได้อะไร
“สว.เป็นองค์ประกอบสำคัญองค์กรหนึ่งขององค์กรนิติบัญญัตินะครับ ฉะนั้นการได้มาซึ่ง สว. ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่นะครับ เราในฐานะพลเมืองชาวไทยทุกคนควรจะได้มีส่วนร่วม สิทธิ์ เสียงของทุกคนควรจะได้มีส่วนในการส่งเสียงให้เห็นถึงว่า การได้มาซึ่ง สว.ในครั้งนี้ ประชาชนทุกคนมีความคาดหวัง ประชาชนทุกคนเฝ้ามองแล้วก็อยากเห็นบทบาทของ สว.ในการขับเคลื่อนประเทศไทย” ผศ. ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการส่งเสียงจากประชาชนในภูมิภาคในการเลือก สว. ครั้งนี้
ฟังเสียงประเทศไทย ฟังเสียงคนท้องถิ่น
ในโอกาสที่ประเทศไทย กำหนดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในปี 2567 ไทยพีบีเอส โดยกองบรรณาธิการฟังเสียงประเทศไทย จึงกำหนดจัด เวทีฟังเสียงประเทศไทย “เลือก สว.” สะท้อนความคาดหวังของประชาชน ซึ่งจะจัดขึ้นใน 4 จังหวัด จากพื้นที่ภูมิภาค
23 พฤษภาคม 2567 เวทีภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น
30 พฤษภาคม 2567 เวทีภาคใต้ จังหวัดพัทลุง
4 มิถุนายน 2567 เวทีภาคกลาง จังหวัดลพบุรี
7 มิถุนายน 2567 เวทีภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย
เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกทั่วประเทศ และดึงดูดผู้คนที่สนใจในประเด็นการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภามาร่วมแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูล ภายใต้ความร่วมมือของ สถาบันพระปกเกล้า สถาบันการศึกษาในภูมิภาค ศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อสาธารณะ เครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น และไทยพีบีเอส ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ประชาชนทั่วไปที่สนใจเรื่องสังคม การเมือง และประชาชนจาก 20 กลุ่มอาชีพ ภายใต้วัตถุประสงค์สำคัญ คือ 1. ให้องค์ความรู้และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ การคัดเลือก สว.ตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย และ 2. ได้รับข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนในการคัดเลือก สว.และคุณสมบัติที่ต้องการ เพื่อนำข้อมูลที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนของประชาชนมาต่อยอดเป็นข้อเสนอและภาพสะท้อนของสังคมไทยต่อไป
“เลือก สว.” สะท้อนความคาดหวังของประชาชน
“เสียงที่มาจากท้องถิ่นเป็นสิ่งที่มีพลัง เป็นเสียงที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการหรือความคาดหวังที่แท้จริงของสังคมไทย ฉะนั้น การจัดเวทีฟังเสียงประเทศไทย จะเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่คนในท้องถิ่น ร่วมกับภาคีเครือข่ายองคาพยพ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนจะได้มาร่วมกันส่งเสียงสะท้อนให้เห็นว่า สว.สำคัญอย่างไร ทั้งในมิติของนิติบัญญัติ และสำคัญอย่างไรในมิติของการขับเคลื่อน
เสียงของพลเมืองประชาธิปไตย อาจจะเป็นตัวที่ทำให้เห็นว่าการได้มาซึ่ง สว. นั้น เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะประชาชนจากท้องถิ่นซึ่งรายการฟังเสียงประเทศไทยที่จะจัดขึ้นจะเป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งซึ่งจะเป็นพื้นที่สื่อสาธารณะที่ทำให้พลเมืองในท้องถิ่น สามารถมีส่วนร่วมในการได้มาซึ่ง สว.ในครั้งนี้”
ผศ. ดร.ศิริศักดิ์ ชี้ให้เห็นทั้งบทบาทความสำคัญของ สว. และความคาดหวังจากประชาชนต่อการ “เลือก สว.” ในหน้าประวัติศาสตร์นี้ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงขั้นตอนการสมัครรับเลือกที่มีความซับซ้อน
“ต้องยอมรับนะครับว่าการได้มาซึ่ง สว.ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดในระยะหลัง ๆ เราคิดว่าการมีส่วนร่วมหรือแม้กระทั่งการสร้างความรู้ความเข้าใจค่อนข้างเงียบ หรือค่อนข้างจะน้อย ถึงแม้เราจะเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ แต่เข้าใจว่าประชาชนโดยส่วนใหญ่ยังมีข้อคำถามหรือมีข้อสงสัย ถึงการได้มาซึ่ง สว. หรือการทำอย่างไรเสียงของเขาหรือตัวเขาเองจะมีส่วนร่วมในการที่จะเป็นส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัคร สว. หรือมีส่วนร่วมในการที่จะได้มาซึ่งตำแหน่ง สว. นี่เป็นส่วนสำคัญที่เป็นเหตุผลให้เราจะต้องมีพื้นที่ให้กับประชาชนได้เข้ามา โดยมีเป้าหมาย หนึ่ง ได้มีความรู้ความเข้าใจ และสองเกิดการมีส่วนร่วม อย่างน้อยเสียงของเขา ซึ่งถึงแม้จะเป็นเสียงที่แตกต่าง แต่เป็นเสียงที่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันพระปกเกล้า ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ในพื้นที่ จะร่วมกันส่งเสียงหรือรวบรวมเสียงเหล่านี้ให้เป็นเสียงที่กึกก้อง แล้วก็เป็นเสียงดังขึ้นให้กับพลเมืองตื่นรู้ ได้มีความรู้ความเข้าใจ แล้วก็ให้ความสนใจ”
ฟังเสียงคนท้องถิ่น คนด่านหน้า
เพราะอย่าลืมว่า สว. มีส่วนสำคัญกับการกำหนดกฎหมายหรือนโยบายสาธารณะที่สำคัญของประเทศ ฉะนั้นเราทุกคนในฐานะที่เป็นพลเมืองชาวไทย จะละเลยสิ่งนี้ไม่ได้ ถึงแม้เราจะมีส่วนร่วมในมิติใดมิติหนึ่งก็ขอให้ได้มีส่วนร่วม ให้เสียงเหล่านั้นได้รับการได้ยินครับ เพราะเสียงคนท้องถิ่นมีความสำคัญ เนื่องจากว่าคนท้องถิ่น คือคนด่านหน้าในประเด็นปัญหาสาธารณะที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะ การออกกฎหมายใด ๆ ในระดับประเทศล้วนแล้วแต่เกิดจากรากเหง้าของปัญหาที่มาจากท้องถิ่น ฉะนั้นเสียงของท้องถิ่น คือเสียงที่มีพลัง คือเสียงที่ขับเคลื่อนประเทศไทย คนที่อยู่เบื้องบนไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว.ต้องรับฟังเสียงจากท้องถิ่น เพราะนี่คือปัญหาที่แท้จริงที่คุณจะนำไปกำหนดเป็นนโยบายและหา Solution ในการแก้ไขและสุดท้ายสิ่งเหล่านั้นก็จะกลับมายังคนท้องถิ่น”
“เพื่อให้ได้ 200 สว. ชุดใหม่จากสาขาอาชีพที่หลากหลาย จึงเป็นที่มาของกลุ่ม 20 อาชีพ มีอาชีพและประสบการณ์ ดังนี้
1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง
2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
3. กลุ่มการศึกษา
4. กลุ่มการสาธารณสุข
5. กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก
6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
7.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้าง ที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน
8. กลุ่มอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน
9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม
10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกลุ่มที่ 9
11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว
12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม
13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม
14. กลุ่มสตรี
15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา
17. กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
18. กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม
19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
20. กลุ่มอื่น ๆ
23 พฤษภาคม 2567 ฟังเสียงประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เพื่อเปิดพื้นที่รับฟังและรวบรวมข้อมูลในการแลกเปลี่ยนของประชาชน เวทีฟังเสียงประเทศไทย “เลือก สว.” สะท้อนความคาดหวังของประชาชนจากทุกภูมิภาค เริ่มต้นเวทีแรกที่ จังหวัดขอนแก่น ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยความร่วมมือของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันพระปกเกล้า พร้อมด้วยเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่นที่จะร่วมเผยแพร่เนื้อหาผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มตลอดการสนทนา
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามถ่ายทอดสดออนไลน์ได้ทาง The Isaan reccord กระติ๊บบาย ซาวอีสาน เป็นเรื่องเลย คนเมืองแถน เลนส์ไทบ้าน Ubon Connect อุบลคอนเนก NKP Focus MSU radio Kalasin PBS The Active นักข่าวพลเมือง Thai PBS News Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคอีสาน และ Thai PBS
เกาะติด เลือกสว. www.thaipbs.or.th/Senate2567