#ฟังเสียงประเทศไทย ได้เปิดพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตัวแทนประชาชนต่อความหวังในการเลือก สว. 2567 นี้ ในทั้ง 4 ภูมิภาค รวมทั้งภาคเหนือ เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา เวลา 13.15-16.00 น. หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้มีการจัดเสวนาฟังเสียงประเทศไทยในหัวข้อ “เลือกตั้ง สว. 2567” โดยชวนคนเหนือ มุ่งเน้นฟังเสียงสะท้อนความหวังและความต้องการของประชาชนภาคเหนือ เกี่ยวกับคุณสมบัติและบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่พวกเขาอยากเห็น
การเสวนาครั้งนี้ถูกจัดขึ้นอย่างมีขั้นตอนที่ชัดเจน เพื่อให้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ โดยมี 5 ขั้นตอนหลัก
- การเลือกฉากทัศน์: ในขั้นตอนแรก ผู้เข้าร่วมจะได้ใช้มือถือสแกนและเลือกฉากทัศน์หรือภาพความน่าจะเป็นที่ถูกวิเคราะห์และจัดเตรียมโดยทีมงาน มีทั้งหมด 3 ฉากทัศน์ที่ให้เลือก
- การเติมข้อมูล: ทีมงานจะนำเสนอคลิปวิดีโอความยาวประมาณ 5 นาที เพื่อเติมข้อมูลพื้นฐานให้กับผู้เข้าร่วม จากนั้นจะมีวิทยากร 3 ท่าน มาเสริมข้อมูลเพิ่มเติมอีกประมาณ 15 นาที
- การเลือกฉากทัศน์รอบที่สอง: หลังจากได้รับข้อมูลเพิ่มเติม ผู้เข้าร่วมจะได้เลือกฉากทัศน์อีกครั้ง โดยสามารถเลือกฉากทัศน์เดิมหรือเปลี่ยนใหม่ได้ตามความเข้าใจและมุมมองใหม่ที่ได้รับ
- การประเมินผล: ขั้นตอนนี้เป็นการแสดงผลการเลือกฉากทัศน์ของผู้เข้าร่วมทั้งหมดว่าเลือกฉากทัศน์ใด และจะมีการแสดงผลสรุปในตอนสุดท้าย
- การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น: ผู้เข้าร่วมจะได้สนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับฉากทัศน์ที่ตนเลือก รวมถึงเหตุผลที่ทำให้เลือกฉากทัศน์นั้นๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
สว. แบบไหนที่คนเหนืออยากเห็น ?
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายได้ร่วมเชิญชวนคนในวงได้ร่วมแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ประชาชนในภาคเหนืออยากเห็น จากการรวบรวมความคิดเห็นเหล่านี้ได้ถูกสกัดมาเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ 5 ประโยค
- ซื่อสัตย์ จริงใจ สุจริต เสียสละ มาดูแลประเทศ ประชาชนต้องการเห็น สว. ที่มีความจริงใจในการทำงาน มีความสุจริตและเสียสละในการดูแลประเทศ และมีความเข้าใจในความต้องการและปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง
- ประชาธิปไตย มีความรู้ และแก้ปัญหาประเทศได้ สว. ที่ประชาชนต้องการควรมีความรู้และเข้าใจในหลักการประชาธิปไตย มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
- เป็นนักการเมืองของประชาชน สว. ควรเป็นนักการเมืองที่แท้จริงของประชาชน มีความตั้งใจในการรับใช้และสนับสนุนประชาชนโดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง
- เป็นตัวแทนที่หลากหลาย ไม่ตกอยู่ภายใต้ใคร สว. ควรเป็นตัวแทนที่หลากหลาย มีความหลากหลายในทุกด้าน และไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมหรืออิทธิพลของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
- รู้ปัญหาท้องถิ่น สว. ควรมีความเข้าใจและรู้จักปัญหาท้องถิ่นอย่างละเอียด
ผศ.ดร.ปรีดา จันทร์แจ่มศรี กล่าวว่า สว. เปรียบเสมือนตัวกรองที่ต้องตรวจสอบกฎหมายให้มีความชัดเจนและครอบคลุมทุกบริบทของประชาชน สว. ยังเปรียบเสมือนคันเร่งและเบรกของรถ ที่ต้องประคับประคองให้ประเทศเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องและสู่เป้าหมายร่วมกัน
คุณไข่ (คนเชียงของ) กล่าวว่า สว. ควรเป็นคนที่มีความรู้และความเข้าใจในปัญหาท้องถิ่น ต้องกล้าที่จะต่อสู้และนำปัญหาขึ้นมาถกเถียงและขับเคลื่อนให้ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง โดยไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคการเมืองหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
อีกหนึ่งเสียง คือ คุณชูศักดิ์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของ สว. ในฐานะตัวกรองที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและนำเสนอกฎหมายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชน สว. ควรมีการพบปะประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
คุณเจี๊ยบ กล่าวว่า สว. ควรมีพฤติกรรมที่เป็นต้นแบบและใส่ใจในปัญหาที่ต้องรับผิดชอบ ควรรู้จริงเกี่ยวกับปัญหาและเป็นตัวแทนของประชาชนในการนำเสนอและแก้ไขปัญหา
และยังมีผู้เข้าร่วมเสวนาท่านอื่นๆ ได้เสริมว่า สว. ควรมีบทบาทในการคลายล็อกข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมาย ควรมีความซื่อสัตย์และยุติธรรมในการทำหน้าที่ และต้องสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
สมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจนักการเมือง เพื่อให้การทำงานของนักการเมืองอยู่ในครรลองที่ถูกต้อง สว. ยังมีบทบาทเหมือนดุลพวงมาลัยและคันเร่งที่ต้องขับเคลื่อนสังคมในทิศทางที่เหมาะสม
นอกจากนี้ สว. ยังเป็นองค์กรที่คอยกำกับดูแลและกลั่นกรองกฎหมาย รวมถึงตรวจสอบนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล สว. ควรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามารถในการให้คำแนะนำและปรึกษาเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองตามรัฐธรรมนูญ และต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน
ผู้เข้าร่วมเสวนายังเน้นย้ำว่า สว. ควรมีความยุติธรรมและซื่อสัตย์ เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง การทำงานของ สว. เป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ที่จะทำให้เสียงของประชาชนได้รับการรับฟังและมีผลกระทบต่อการบริหารประเทศอย่างแท้จริง
– 3 มุมมอง วิเคราะห์เกมการเลือก สว. ชุดใหม่ 2567 –
นอกจากตัวแทนคนภาคเหนือ ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแล้ว เรายังมีวิทยากรอีก 3 ท่าน ที่เป็นตัวแทนภาคประชาชน ตัวแทนนักวิชาการ ประชาชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง รวมทั้งนักวิชาการ ที่ศึกษาเรื่องระบบของการเลือก สว. จากนานาประเทศ และอดีต สว. ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มาร่วมให้ข้อเสนอและช่วยวิเคราะห์เกมการเลือก สว. ในครั้งนี้
- ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย และเป็นนักพัฒนาสังคมที่มีบทบาทสำคัญในพื้นที่ภาคเหนือ
- อาจารย์ ดร. เนรมิตร จิตรรักษา อาจารย์ประจำสังกัดคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
- รศ.ดร.วีระ เลิศสมพร อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
ครูแดงกับกลไก ที่อาจไม่มีคนเชียงรายเป็น สว.
ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคาดหวังและความกังวลต่อการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในรอบนี้ ครูแดงได้แสดงมุมมองอย่างชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง สว. และการยึดโยงกับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ
ครูแดงเริ่มต้นด้วยการพูดถึงความหวังที่ยังคงมีต่อ สว. แม้จะมีกติกาการเลือกที่ซับซ้อน แต่ก็แสดงความห่วงใยต่อกระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะการที่แต่ละกลุ่มวิชาชีพอาจไม่ได้รับการเลือกตั้งในทุกจังหวัด ซึ่งอาจทำให้การยึดโยงกับประชาชนลดน้อยลง
“ถ้าดูกระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้ พี่เป็นห่วง แต่ละกลุ่มวิชาชีพอาจจะได้ไม่ทั่วกันทุกจังหวัด ในยี่สิบวิชาชีพ ยังไม่มีผู้แทนของจังหวัดเชียงรายได้เข้าไปเป็น สว. ดังนั้นการยึดโยงกับประชาชนอาจจะห่างไปหน่อย” ครูแดงกล่าว
ครูแดงย้ำว่าการเลือกตั้งในรูปแบบเดิมที่ประชาชนเลือก สว. โดยตรงจากแต่ละจังหวัดจะทำให้การสื่อสารและการเชื่อมโยงกับประชาชนเป็นไปได้ง่ายขึ้น “ประชาชนเชียงรายเลือกพี่ ถ้ามีปัญหาอะไรก็มาคุยได้โดยตรง แต่ประชาชนจังหวัดอื่น ๆ ก็สามารถสื่อสารได้เพราะถือว่าเป็นสมาชิกวุฒิสภาของประเทศ แต่เลือกโดยคนของแต่ละจังหวัด”
นอกจากนี้ ครูแดงยังพูดถึงความสำคัญของการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและมีส่วนร่วมจากประชาชน “การเลือกโดยแต่ละจังหวัดมีความเป็นธรรม และประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง อย่างเช่นครั้งแรก กทม ได้ถึง 18 คน ซึ่งกทม มีประชากรสิบกว่าล้าน สามแสนประชากรที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เลือก สว ได้หนึ่งคน กรุงเทพเลือกได้ตั้งสิบแปดคน จังหวัดเล็ก ๆ ที่ไม่ถึงสามแสนคน ก็ได้หนึ่งคน ก็ยุติธรรมดีทุกจังหวัดมีตัวแทนของตนเอง”
ครูแดงยังเน้นถึงบทบาทของ สว. ที่ไม่เพียงแต่ต้องดูแลประชาชนในจังหวัดของตน แต่ต้องมองภาพรวมของประเทศและเชื่อมโยงกับสากล “การกลั่นกรองกฎหมายก็ต้องเชื่อมโยงกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศด้วย หลักกติกาสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นภาคีไปลงนามเป็นภาคีเอาไว้”
ความยึดโยงและความสามารถของ สว. ในการตอบสนองปัญหาพื้นที่
อาจารย์ ดร. เนรมิตร จิตรรักษา ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการยึดโยงและความสามารถของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในการตอบสนองต่อปัญหาพื้นที่และความคาดหวังของประชาชน อาจารย์เนรมิตรได้แสดงมุมมองว่า ความยึดโยงของ สว. กับพื้นที่ยังคงมีความซับซ้อนและมีความท้าทายในการดำเนินการ
อาจารย์เนรมิตรกล่าวว่า “ความยึดโยงของพื้นที่และกลุ่มอาชีพในระบบการเลือกตั้ง สว. ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เราต้องมองสองชั้น: ชั้นแรกคือภาพลักษณ์ของอาชีพ และชั้นที่สองคือการยึดโยงกับพื้นที่ ตัวแทนของพื้นที่ควรสะท้อนภาพลักษณ์ด้านอาชีพ เช่น ภาคเหนือมีปัญหาเรื่องพีเอ็ม 2.5 และหมอกควัน ดังนั้นตัวแทนกลุ่มสิ่งแวดล้อมควรมีบทบาทโดดเด่นในการแก้ปัญหา”
อาจารย์เนรมิตรยังเน้นถึงความสำคัญของการเลือกตั้งที่มีความยุติธรรมและมีตัวแทนจากกลุ่มอาชีพที่เด่นชัดในแต่ละจังหวัด “ถ้าเราต้องการให้การยึดโยงกับพื้นที่เด่นชัด ควรมีตัวแทนจากกลุ่มอาชีพที่โดดเด่นในแต่ละจังหวัด และควรมีสักสามสี่กลุ่มอาชีพที่เด่นของแต่ละจังหวัด”
ในการเสนอแนวทางแก้ไข อาจารย์เนรมิตรกล่าวว่า “ถ้าเรายึดเจตนารมณ์ของการเลือกตั้งและพยายามให้แต่ละจังหวัดชูคนเด่นในกลุ่มอาชีพที่สะท้อนปัญหาและยึดโยงกับจังหวัดนั้น เราจะสามารถส่งคนที่เป็นตัวแทนจริง ๆ ของพื้นที่ไปสู่ระดับประเทศได้”
อาจารย์เนรมิตรยังกล่าวถึงแนวคิดในการเลือกตั้ง สว. ในอดีตที่เน้นการเลือกตัวแทนจากจังหวัด “สมัยนั้นการเลือก สว. โดยให้ประชาชนเลือก แต่ไม่ให้ สว. ใช้ไมโครโฟนหาเสียง ทำให้เห็นภาพเด่นของแต่ละคนที่มีศักยภาพในแต่ละจังหวัด ซึ่งแนวคิดนี้สามารถใช้ในปัจจุบันเพื่อให้กลุ่มอาชีพเลือกคนที่มีศักยภาพและสะท้อนปัญหาของจังหวัดได้”
อาจารย์เนรมิตรสรุปว่า “เพื่อให้ระบบการเลือกตั้ง สว. ยังคงเดินต่อไปและสามารถแก้ไขปัญหาได้ เราควรส่งคนที่เป็นตัวแทนจริง ๆ และมีความโดดเด่นในกลุ่มอาชีพของแต่ละจังหวัดขึ้นไปสู่ระดับประเทศ”
กระบวนการได้มาซึ่ง สว. วิธีใหม่ที่ซับซ้อนและพิสดารพันลึก
รศ.ดร. วีระ เลิศสมพร ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับบทบาทและอนาคตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในสังคมไทย โดยตอบคำถามถึงความจำเป็นของ สว. ในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงวิธีการที่เหมาะสมในการออกแบบระบบการเลือกตั้ง สว.
อาจารย์วีระเริ่มต้นด้วยการเน้นถึงความจำเป็นของ สว. ในปัจจุบัน โดยกล่าวว่า “ณ ขณะนี้ สว. ยังคงจำเป็นอยู่ เพราะกติกาเป็นเช่นนี้ แต่อนาคตข้างหน้าอาจจะมีความคิดอื่นและมีการขับเคลื่อนว่าไม่ต้องมีก็ได้ แต่ตอนนี้ผมคิดว่าคงห่างไกลอยู่”
ในการกล่าวถึงกระบวนการเลือกตั้งที่ผ่านมา อาจารย์วีระกล่าวว่า “ประเทศไทยเราผ่านกระบวนการหลายวิธีในการได้มาซึ่ง สว. ทั้งการแต่งตั้งและการเลือกตั้ง ตัวเองจำได้ว่าตอนเลือก สว. ครั้งแรก ตื่นตัวมาก มันเป็นช่วงที่ความตื่นตัวสูงมากในการเลือกตั้ง สว. ครั้งแรกของประเทศไทย”
อาจารย์วีระยังพูดถึงกระบวนการเลือกตั้ง สว. ในปัจจุบันที่มีความซับซ้อนและมีการทดลองหลายสิ่งหลายอย่าง “ณ ขณะนี้เรากำลังจะผ่านกระบวนการได้มาซึ่ง สว. วิธีใหม่ที่ซับซ้อนและพิสดารพันลึก ไม่มีสิ่งใดที่ดีที่สุด คงต้องทดลองกันต่อไป”
ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจารย์วีระกล่าวถึงความเป็นไปได้ในการได้เสียงสนับสนุนจาก สว. “มีโอกาสในการได้ 67 เสียง คิดเป็น 1 ใน 3 จาก 200 เสียง เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีส่วนร่วมของประชาชน แต่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็ต้องดูผลหลังจากที่ผ่านกระบวนการเลือกกันแล้ว”
ในส่วนของอนาคต อาจารย์วีระกล่าวว่า “ผมคิดว่าพลังของประชาชนจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งจิตส่งใจหรือความรู้สึกไปยัง สว. ชุดใหม่ ขอให้ท่านทำหน้าที่ของท่านให้สมบูรณ์และพัฒนาต่อไป ไม่แน่ว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างเมื่อเขาได้รับตำแหน่งแล้ว”
-ถอดรหัส เลือก สว. คนไทยได้อะไร ผ่าน 3 ฉากทัศน์-
หลังจากที่ได้อ่านมุมมองที่หลากหลายแล้ว เรามี 3 ฉากทัศน์ที่เป็นตุ๊กตาตั้งต้นของการพูดคุยในครั้งนี้มาให้ทุกคนได้ลองเลือก และลองเติมมุมมองของตัวเองว่า ถ้าเป็นคุณ คุณอยากจะเห็นกระบวนการเลือก สว. แบบไหน
ฉากทัศน์ที่ 1 (แกงอ่อม)
ข้อจำกัดและความไม่ชัดเจนของกติกาการเลือกตั้งตัวแทนประชาชนที่ได้ชื่อว่า “ซับซ้อนที่สุดในโลก” ทำให้คนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่รู้สึกว่า ตนเองถูกกีดกัน ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา(สว.)ในครั้งนี้ ส่งผลโดยตรงกับจำนวนและคุณภาพของผู้สมัครในแต่ละพื้นที่ เปิดช่องให้กลุ่มการเมืองจัดตั้งผู้สมัครเพื่อเลือกตัวแทนของตนเอง ทำให้ภาพรวมสว.หน้าใหม่ไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพ ขณะที่ความรู้สึกโดยรวมของสว. แม้ไม่มีคำถามเรื่องคุณภาพแต่ไม่ได้เกิดความรู้สึกยึดโยงกับผลประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม
ผ่านไปไม่นาน ประชาชนเริ่มตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของสว. ถึงบทบาทในการสนับสนุนหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญและร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ขณะที่โอกาสในการแก้ปัญหาวงจรอุบาทว์จากการยุบพรรคตัดสิทธิ์ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งแทบไม่เหลือ เนื่องจากสว.เสียงข้างมากยังยืนยันที่จะรักษาโครงสร้างอำนาจเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น ส่วนสว.เสียงข้างน้อยพยายามสร้างกลไกยึดโยงกับประชาชน ไม่สามารถต้านทานได้ ทำให้การเมืองไทยที่เริ่มฟื้นตัวยังคงเผชิญภาวะลุ่มๆดอนๆ ต่อไปอีกหลายปี
ฉากทัศน์ที่ 2 ( ขนมจีนน้ำเงี้ยว)
ภาคประชาชนและภาควิชาการและภาคส่วนต่างๆ เห็นความสำคัญที่จะผลักดันให้มีตัวแทนของประชาชนทุกภาคส่วน สมัครเข้ารับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา อีกด้านเพื่อป้องกันการบล็อกโหวตจากกลุ่มการเมืองที่ต้องการรักษาโครงสร้างอำนาจเดิมไว้ แต่อย่างไรก็ตามผลของเงื่อนไขที่ซับซ้อนและความไม่ชัดเจนของกติกาสรรหาฯ ยังมีตัวแทนผลประโยชน์ทางการเมืองหลุดรอดเข้ามาได้ กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการทำหน้าที่สว.โดยเฉพาะการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องใช้เสียงอย่างน้อย1 ใน 3 ของทั้งหมด
การเมืองในรัฐสภาเข้มข้นขึ้น เนื่องจากมีสว.ที่ประกาศตัวว่าเป็น เสียงของประชาชนเข้าไปร่วมสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย ร่วมผลักดันกฎหมายและติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของผู้ทำหน้าที่สว. ขณะที่ภาคประชาชนสร้างกลไกเพื่อเชื่อมต่อทำงานกับกลุ่มสว.ภาคประชาชน เพื่อนำปัญหาและข้อคิดเห็นต่างๆจากพื้นที่ไปอภิปรายและผลักดันเสนอและแก้ไขกฎหมายร่วมกับพรรคการเมืองที่เป็นแนวร่วม ทำให้มีความหวังที่จะเห็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะเกิดขึ้นจากความร่วมมือของประชาชนกับรัฐสภาไทย
ฉากทัศน์ที่ 3 (ลาบ)
การเมืองไทยเข้าสู่กระแสสูง เกิดความตื่นตัวทางการเมืองในหมู่ประชาชน เนื่องจากสถาน การณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะฝ่ายเสรีนิยมรณรงค์ผลักดันให้การเมืองหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ และได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ขณะที่เวทีการสรรหาสมาชิกวุฒิสภากลายเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ทั้งฝ่ายโครงสร้างอำนาจเดิมและฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง พยายามช่วงชิงที่นั่งสว.เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและผลักดันให้การเมืองไทยไปในทิศทางที่ต้องการ
หลังการสรรหา สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ประสานกับภาคประชาชนและพรรคการเมืองผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอย่างแข็งขัน ขณะที่ฝ่ายโครงสร้างอำนาจเดิมพยายามเดินเกมการเมืองยืดเยื้อ เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นความขัดแย้งที่บานปลายขยายตัวลงไปถึงระดับประชาชน รัฐบาลเกิดปัญหาเสถียรภาพจนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่
เป็นไปได้ทุกฉากทัศน์
ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และคาดการณ์ถึง 3 ฉากทัศน์ที่ประเทศไทยอาจจะเผชิญหลังจากการได้ สว. ชุดใหม่ โดยมีการวิเคราะห์และเสนอแนวทางในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า
ครูแดงเริ่มต้นด้วยการตอบคำถามเกี่ยวกับ 3 ฉากทัศน์ที่ประเทศไทยอาจจะเผชิญหลังจากการเลือกตั้ง สว. ครูแดงกล่าวว่า “พี่มองว่าเป็นไปได้ทั้งสามฉากทัศน์ เพราะว่ามันขึ้นอยู่กับว่า สว. ที่ได้มาเนี่ยมีคุณสมบัติแบบไหน ถ้าเป็นกลุ่มก้าวหน้า ก็อาจจะรวมตัวกันเพื่อที่จะแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จแล้วก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของกฎหมายระดับชาติ”
ครูแดงยังได้พูดถึงความขัดแย้งและความตื่นตัวของประชาชนที่อาจเกิดขึ้น “ความตื่นตัวของประชาชนมีมากขึ้น หรืออาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง แต่ใจพี่เองคิดว่าคนไทยเราบอบช้ำกันมาเยอะแล้ว น่าจะเปิดใจกว้างกันมากขึ้น รับฟังกันมากขึ้น เคารพในความเห็นที่แตกต่าง และนำประเทศชาติไปสู่หนทางที่มีความเป็นธรรม ประชาชนอยู่ดีกินดี และมีส่วนร่วมในโครงการใหญ่ ๆ ในนโยบายหลัก ๆ ของประเทศ”
ครูแดงยังกล่าวถึงความยากลำบากในการรวมกลุ่มของผู้สมัครจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ “การจัดกลุ่มในระดับจังหวัดและกลุ่มอาชีพเดียวกันจะมีโอกาสคุยกันไหม การเลือกไขว้จะมีโอกาสคุยกันยังไงที่จะสื่อสารกันได้ และมีข่าวว่าอย่างอำเภอที่สมัครไม่ครบ 3 วิชาชีพ 3 สาขาอาชีพต้องสอบตกไปเลย”
ครูแดงยังได้เล่าถึงความยากลำบากของผู้สมัครในกลุ่ม NGO ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคและความไม่มั่นใจ “เท่าที่พี่รู้จัก NGO หลายท่านลงสมัคร แต่ปิดตัว ไม่กล้าเปิด บางคนสมัครที่เชียงใหม่ก็ไม่เปิดตัว ไม่รู้ว่าจะผ่านอำเภอไหม ทำให้ผู้สมัครไม่มีความมั่นใจเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น แม้แต่ในสายอาชีพของตัวเอง”
ประชาชนต้องช่วยกันสปอร์ตไลท์ คนที่โดดเด่น
อาจารย์ ดร. เนรมิตร จิตรรักษา มองความหวังและทิศทางของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในอนาคต โดยเฉพาะในฉากทัศน์ที่ 2 ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและกลุ่มอาชีพ
อาจารย์เนรมิตรเริ่มต้นด้วยการแสดงความหวังที่จะเห็นฉากทัศน์ที่ 2 เกิดขึ้น “ผมอยากเห็นเป็นฉากทัศน์ที่ 2 เพราะถ้าผ่านระดับอำเภอจังหวัดขึ้นมา กลุ่มมันจะชัดขึ้น ถ้าแต่ละจังหวัดช่วยกันโปรโมทความโดดเด่นสปอร์ตไลท์ไปหากลุ่มอาชีพกับคนที่มีความโดดเด่น”
อาจารย์เนรมิตรได้กล่าวถึงความสำคัญของการโปรโมทและการสร้างความโดดเด่นของผู้สมัครจากกลุ่มอาชีพในระดับประเทศ “เมื่อถึงจังหวะเลือกระดับประเทศ เราต้องพยายามช่วยกันสร้างสปอร์ตไลท์ให้กดดันกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มที่จะเลือกไขว้ อย่างไรก็จะต้องมีตัวแทนโดดเด่นจากความเป็นอาชีพเข้าไป”
อาจารย์เนรมิตรยังได้เน้นถึงความสำคัญของการมี สว. ที่มาจากกลุ่มอาชีพโดยแท้จริง “ถ้ามันเข้าไปในลักษณะของความเป็น สว. ที่มาจากกลุ่มอาชีพ โดยไม่ได้มาจากการ block Vote แต่จากศักยภาพและต้นทุนทางชีวิตของคนในกลุ่มอาชีพนั้น ๆ ผมคิดว่านี่คือความเป็น สว. ภาคประชาชน”
อาจารย์เนรมิตรยังกล่าวถึงความสำคัญของการยึดโยงกับประชาชน “สว. ที่มาจากกลุ่มอาชีพจะรู้สึกว่าเขามาจากอาชีพและมีศักยภาพในความเป็นอาชีพ ซึ่งจะส่งพลังต่อไปในการทำหน้าที่ของเขาในฐานะ สว.”
ในส่วนของการสอดรับกับฉากทัศน์ที่ 2 อาจารย์เนรมิตรกล่าวว่า “ถ้าเราสามารถทำให้มี สว. ภาคประชาชนหรือ สว. กลุ่มอาชีพที่แท้จริงได้ มันจะยึดโยงกันอย่างนี้และจะสอดรับกับคำนิยามของ สว. ในฉากทัศน์ที่ 2 ที่มีต่อภาคประชาชน นี่คือความหวัง”
การเลือกตั้ง อันลุ่มๆ ดอนๆ
รศ.ดร. วีระ เลิศสมพร ได้บอกเล่าเกี่ยวกับฉากทัศน์การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และอนาคตของประเทศไทย โดยได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความซับซ้อนและความท้าทายที่ประเทศไทยอาจเผชิญในอนาคต
อาจารย์วีระเริ่มต้นด้วยการตอบคำถามเกี่ยวกับฉากทัศน์ที่ 1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับความซับซ้อนในการเลือกตั้ง สว. “ผมคิดว่าเป็นไปได้หมด ฉากที่ 1 ถ้าผมจำไม่ผิดนะครับ ก็ใช้คำว่าความซับซ้อน อันนี้คือตัวเรื่องของการเลือก สว. ครั้งนี้นะครับจะอลหม่านกันพอสมควร”
อาจารย์วีระยังกล่าวถึงข่าวล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง “กกต. ได้แถลงข่าวเรียบร้อยแล้วว่าไม่เลื่อน หลายคนอาจจะโล่งอกแล้วก็เดินหน้ากันต่อดู แต่ว่าก็จะมีมุมเล็กๆมุมหนึ่งดูเกินต่อไปว่าถ้าเกิดศาลรัฐธรรมนูญท่านวินิจฉัยว่าขัดขึ้นมาเนี่ย มันจะยุ่งในระดับหนึ่ง”
เมื่อถูกถามถึงฉากทัศน์ที่ 3 ซึ่งเกี่ยวข้องกับความตื่นตัวทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล อาจารย์วีระกล่าวว่า “ความตื่นตัวทางการเมืองเราเห็นอยู่แล้ว มันก็มีความเป็นไปได้ที่มันจะอาจจะออกมาในรูปฉากทัศน์ที่ 3 แต่ถ้าเป็นฉากทัศน์ที่ 3 เนี่ยมันส่งผลถึงเสถียรภาพของรัฐบาลในภาพใหญ่เลย”
อาจารย์วีระยังเน้นว่าความอ่อนไหวและความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่ “ผมมองว่ามันก็จะมีความห่างระดับหนึ่งอยู่ เพราะเป็นองคาพยพที่จะมาตรวจสอบและก็กลั่นกรองกฎหมาย ตรงนี้เนี่ยก็ยังไม่น่าเป็นหัวมานะต่อเสถียรภาพของรัฐบาล”
สุดท้ายอาจารย์วีระสรุปถึงความไม่แน่นอนในอนาคตของประเทศไทย “ลุ่มๆ ดอนๆ นี่แหละครับ แล้วก็ยังไงแน่ ยังไม่รู้จะออกทางไหนนะครับ”
วิชัย เชษฐบดี ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้และอนาคตของการเมืองไทย เรื่องแรกที่วิชาพูดถึงคือการตัดสินใจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ไม่เลื่อนการเลือกตั้ง “เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ กกต. ไม่เลื่อน ทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดการเดิม”
เรื่องที่สอง วิชัย ได้พูดถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเลือกตั้งครั้งนี้ “ทุกภาคส่วนจะได้มีส่วนร่วม เพราะเมื่อถึงเมืองทองธานี ทุกกลุ่มจะได้รับเลือกสิบคน และสำรองอีกห้าคน ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ทำนา ทำสวน ทุกคนจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในวุฒิสภา”
สุดท้าย วิชัย ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความเข้มงวดของ กกต. ในการสกัดบล็อกโหวต “ผมคิดว่าสว. ชุดนี้จะเป็นชุดที่เปลี่ยนแปลงการเมืองไทยครั้งใหญ่ เพราะ กกต. เข้มงวดมากในการสกัดบล็อกโหวต เราจะได้คนที่มีคุณสมบัติสามประการ หนึ่งมีความรู้ สองมีความเชี่ยวชาญในงานที่ทำมาไม่น้อยกว่าสิบปี และสามมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์”
ท้ายที่สุดยังเสริมว่า “ถ้าผ่านชุดนี้ไปได้ ผมว่านี่คือจุดแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทยครั้งใหญ่”
ต่อมาคุณปรีชา ได้ให้เกี่ยวกับมุมมองและความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้ และกติกาที่เกี่ยวข้องโดยเริ่มต้นด้วยการแสดงความสนใจในฉากทัศน์ที่ 1 เนื่องจากกติกาการเลือกตั้งที่ห้ามหาเสียงและอนุญาตให้แนะนำตัวเองเท่านั้น “ผมสนใจฉากทัศน์ที่ 1 เพราะว่ากติกาคราวนี้ห้ามหาเสียง ให้แนะนำตัวเองได้ ผมอยากจะพูดมากนะ เรื่องอนาคต เรื่องอะไรทั้งหลาย ก็พูดไม่ได้”
เขายังได้ให้ความคิดเห็น “จังหวัดเชียงรายมีอำเภอเมืองเท่านั้นที่ค่อนข้างจะต้องมาเลือกกลุ่มกันเอง แต่ก็มีน้อย ผมแปลกใจนะว่าทำไมเลือก สว. คราวนี้สมัครน้อยจัง แต่ก็มีคนมาเยอะอยู่ แต่ปรากฏว่าจะมาเลือกกันเองให้เหลือ 5 คนตามกติกามีอยู่ 2 กลุ่มเท่านั้น คือกลุ่มสายปกครอง กับกลุ่มของการศึกษา และกลุ่มของผู้สูงอายุ”
ในตอนท้าย คุณปรีชาได้กล่าวถึงความสับสนและความหมิ่นเหม่ของกติกาในการเลือกตั้ง “ตอนนี้ไปไขว้ ถ้ากลุ่ม 5 คนไปจับกลุ่มร่วมกับกลุ่ม 1 คน ก็จะทำให้ได้เปรียบเสียเปรียบกัน กลุ่มหนึ่งคนก็จะได้หลายคะแนน กลุ่ม5 คนจะได้น้อย”
คุณสมบูรณ์ ได้กล่าวถึงความซับซ้อนของกติกาในการเลือกตั้งครั้งนี้ “กติกาครั้งนี้ห้ามหาเสียง ให้แนะนำตัวเองได้ ผมอยากจะพูดมากนะ เรื่องอนาคต เรื่องอะไรทั้งหลาย ก็พูดไม่ได้” และเน้นถึงความยากลำบากในการทำความเข้าใจกติกา “กติกาก็รู้สึกว่าซับซ้อนมาก และเดี๋ยวนี้ก็เป็นปัญหาหลายๆ ที่ เขาก็ฟ้องศาล ศาลก็รับฟ้อง”
เขายังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนในการเลือกตั้ง “ผมมองว่า ทุกท่านที่คัดเลือกกันมา บทสุดท้ายก็อยู่ภายใต้ของนักการเมืองอยู่ดี ว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนไหม ไม่เปลี่ยนแน่นอน” เขายังได้พูดถึงการสมัคร สว. ของบางคนที่ไม่ได้มีความรู้หรือประสบการณ์ “เกณฑ์ลุงป้าน้าอามาสมัคร สว. ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้เรื่องอะไรสักอย่าง อันนี้ก็เป็นข่าวอยู่”
คุณทวีป เล่ามุมมองและความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยเน้นถึงการเลือกฉากทัศน์ที่หนึ่งและเหตุผลที่เขาไม่เลือกฉากทัศน์อื่นๆ “ผมชอบทั้งสามเมนูเหมือนท่านวิทยากรเพราะว่าเป็นเมนูที่เป็นออริจินัลของทางภาคเหนือของเราเลย แต่ว่าพิธีกรบอกว่าจะต้องเลือก” เขาตัดสินใจเลือกฉากทัศน์ที่หนึ่ง ซึ่งเป็นแกงอ่อม
เมื่อถูกถามถึงเหตุผลที่ไม่เลือกฉากทัศน์ที่สาม นายทวีปกล่าวว่า “ไม่เลือกฉากทัศน์ที่สาม เพราะว่าด้วยเหตุผลว่า วันนี้เราตระหนักถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา เราไม่อยากจะให้มันไปสู่จุดนั้นอีกแล้ว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ก็จะมองภาพอนาคตเป็นภาพที่เป็นความหวัง”
สำหรับฉากทัศน์ที่สอง นายทวีปเห็นว่าเป็นภาพอนาคตที่ดี แต่มีข้อจำกัดบางอย่าง “น้ําเงี้ยวก็เป็นอาหารที่เป็นต้นตํารับของอาหารเหนือของเรา ซึ่งผ่านการบ่มเพาะด้วยภูมิปัญญามาอย่างเลิศละ ฉะนั้นมันเหมือนกับเป็นภาพอนาคตในฉากทัศน์ที่สอง ในความเห็นของผมว่าเราอยากให้ไปถึงจุดนั้น จุดที่เป็นยึดโยงกับประชาชน แต่บทบาทหน้าที่ของ สว. ที่ถูกออกแบบกับบทบาทหน้าที่ของ สส. จะต่างกันอย่างเด่นชัด”
นายสหภาพ สีพวงมาลัย นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมุมมองและความคิดเห็นของเขาในฐานะตัวแทนของคนรุ่นใหม่ เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในครั้งนี้
“สำหรับผมในความคิดของคนรุ่นใหม่นะครับ เราไม่มีทางเลือกในกลุ่มอาชีพและมีสิทธิ์เข้าร่วมมากแค่ไหนในการเลือกตั้ง สว. ในครั้งนี้ครับ” นายสหภาพแสดงความกังวลเกี่ยวกับการที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีทางเลือกหรือสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง สว.
ทางด้านชินกร ตัวแทนชาวไทยภูเขา แสดงความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า “สว. เป็นกรรมการของกรรมการอีกทีหนึ่ง ตัว สว. เองเป็นกรรมการ แต่ ณ วันนี้เราต้องการกรรมการที่มีความหลากหลายเข้ามาเป็นกรรมการ”
เขายังได้กล่าวถึงความคาดหวังในการมีตัวแทนจากชาวไทยภูเขาในอนาคต “ผมอยากจะเชิญพี่น้องชาวไทยภูเขาลงมาเป็น สว. บ้าง แต่มองแล้วมองไม่ค่อยเห็นภาพหรือว่าอนาคตเท่าไหร่ เพราะผมไม่แน่ใจว่ามันจะสำเร็จหรือเปล่า”
นายชินกรได้เสนอแนวทางในการเลือกตั้ง สว. ที่แบ่งเป็นสามรูปแบบ “รูปแบบที่ 1 คือเลือกมาจากประชาชน จังหวัดละ 1 คน เราได้ 77 คน จากนั้นเราก็มาไขว้ต่อในเรื่องของกลุ่มอาชีพ รูปแบบที่ 2 คือกลุ่มอาชีพ ให้คน 200,000 คนที่ไปขึ้นทะเบียนในแต่ละกลุ่มอาชีพไปเลือกกันเองมา รูปแบบที่ 3 คือกลุ่มระบบราชการ ทุกกระทรวงทบวงกรม มีปลัดกระทรวงและ ผบ.ทบ. มาเป็น สว. เพื่อที่จะได้มีความหลากหลายอย่างที่พวกเราต้องการ”
นายชินกรยังได้เสนอว่าควรมีการออกแบบระบบการเลือกตั้งให้ไม่ทับซ้อนกัน “ผมมองว่าเราน่าจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มแล้วเอากลุ่ม 3 กลุ่มนี้มารวมกัน ไม่จำเป็นต้องแค่ 200 คน อาจจะ 250 300 ก็ได้”
สุดท้ายนายชินกรได้กล่าวถึงความสำคัญของการมีสิทธิ์และส่วนร่วมในการเลือกตั้ง “ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนไม่มีใครเป็นคนไปกำหนดกลุ่มอาชีพ กกต. หรือส่วนกลางกำหนดมา ดังนั้นมันก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เรารู้ว่ามันยังมีอีกหลายกลุ่มที่เสียสิทธิ์ในการเลือก สว. ในครั้งนี้”
“สวัสดีครับ ผมก็อาจจะเป็นหนึ่งเสียงของวัยรุ่นตอนปลาย หรือว่ามนุษย์ที่กำลังจะเข้าวัยกลางคนนะครับ ที่พยายามอาศัยอยู่ที่บ้านเกิด โดยอาจจะต้องพยายามใช้ชีวิตต่อไปอีกหลายปี” เสียงของเติ้ล พูดถึงชีิวิตของเขา เขาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สว. และการมีตัวแทนจากจังหวัดและกลุ่มอาชีพต่างๆ “ส่วนตัวผมเลือกแกงอ่อม สมมุติว่าเราไม่ได้บุคคลจากจังหวัดของตัวเอง หรือว่ากลุ่มอาชีพของตัวเอง อาจจะได้คนทำงานไม่ทั่วถึง แล้วก็อาจจะไม่สามารถเข้าถึง สว. ได้ แล้วก็จะเกิดคำถามที่ว่าจะเป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างไร”
คุณ กิตติ ทิศสกุล นักธุรกิจจากเชียงราย ได้ให้มุมมองและความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และความต้องการของประชาชนในการเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย “กระบวนการของ สว. ที่จะมาอะไร มันเขียนไปแล้ว มันแก้ไขอะไรก็คงไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือ เราอยากเห็น สว. เข้ามาแก้ไขปัญหา สิ่งแรกที่อยากเห็นเลยบริบทของ สว. ที่ต้องทำที่กฎระเบียบที่เขาต้องทำอะ ซึ่งเป็นเรื่องของกลั่นกรองกฎหมายตรวจสอบรัฐบาลเลือกตั้งของคณะกรรมการองค์กรอิสระ แม้กระทั่งในเรื่องของการรับฟังประเด็นปัญหาของภาคประชาชนที่เข้าไปไปแก้ไขปัญหา”
อาจารย์อี๊ด จากเชียงราย กล่าวว่า “จริงๆ แล้วเรื่องการเลือก สว. ครั้งนี้ ทุกคนพูดมาหมดแล้วนะครับ แต่ผมอยากจะพูดในอนาคตนะครับว่า มันควรจะเป็นอย่างไร”
เขาได้เน้นถึงความสำคัญของการยึดพื้นที่เป็นหลักในการเลือกตั้ง “มันต้องยึดพื้นที่เป็นหลักก่อนนะครับ ประเทศไทยไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง เช่นเดียวกับเชียงรายก็ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ต้องคน 18 อำเภอ ฉะนั้นตรงนี้ถ้าเรายึดหลักนี้ได้ มันก็จะเลือกในพื้นที่หนึ่งคนไว้ก่อน ก็ได้ 77 คน อันนี้เป็นตัวแทนของจังหวัดแล้ว”
อาจารย์อี๊ดยังได้เสนอวิธีการเลือกตัวแทนในแต่ละจังหวัดโดยไม่ใช้การเลือกตั้งที่ใช้เงินเยอะ “อาจจะใช้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ เช่น เยาวชนก็มีสภาเด็ก ตัวแทนของท้องถิ่น ท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นตัวแทนในการเลือก”
สำหรับขั้นตอนการเลือก สว. อาจารย์อี๊ดได้เสนอการเลือกกลุ่มวิชาชีพที่ชัดเจนและให้แต่ละกลุ่มเลือกตัวแทนเอง “กลุ่มวิชาชีพที่เราอยากจะเห็น มีกี่กลุ่มและก็แบ่งให้ชัดเจน แล้วให้เขาไปเลือกกันเอง เพราะเขาจะรู้เองว่ากลุ่มไหน อาชีพไหนที่เขาควรจะเลือกเป็นตัวแทนเขา”
นักวิเคราะห์การเมือง ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมุมมองและความคิดเห็นของเธอเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และความเป็นตัวแทนของผู้ที่ได้รับเลือกในครั้งนี้ “มีสองประเด็นนะคะ ประเด็นแรกเรื่องความเป็นตัวแทนนะคะ คือถ้าพูดจริงๆ เนี่ย ไอ้กติกาที่เกิดขึ้นครั้งนี้เนี่ย ซึ่งเป็นกติกาที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 107 นะคะ แล้วในมาตรา 107 เนี่ย ออกไปเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การได้มาซึ่งวุฒิสมาชิก”
เธอได้กล่าวถึงกระบวนการร่างกติกานี้ว่าไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน “ไม่มี สสร. การเกิดขึ้นอันนี้มาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. เพราะฉะนั้นไม่ได้มี สสร. มีส่วนในการไปร่างกติกาประหลาดเหล่านี้”
ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวบทปิดท้ายวง โดยให้ความเห็นเกี่ยวกับผลการโหวตของการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในรอบนี้ โดยเน้นถึงความหวังและความฝันของประชาชนที่ต้องการเห็น สว. ที่มาจากภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคส่วนต่างๆ
”ผลการโหวตในรอบหนึ่งและรอบสอง “รอบ 1 ก็ตาม รอบ 2 ก็ตาม เสียงส่วนใหญ่เลือก scenario ที่ 2 ซึ่งเป็นความหวังความฝันว่าเราจะมี สว. ภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคส่วนต่างๆ เข้ามา เป็นมุมมองเชิงบวกแล้วก็สร้างสรรค์มากมากนะคะ ซึ่งความต่างของรอบหนึ่งกับรอบสองเนี่ยไม่มากเท่าไหร่”
ครูแดงยังได้เล่าถึงภาพของ สว. ภาคประชาชนชุดแรกที่เธอจดจำได้ “พี่เองยังจดจำภาพของ สว. ภาคประชาชนชุดแรกนะคะ มีนักวิชาการเช่นอาจารย์แก้วสันต์ อติโพธิ อาจารย์พนัส ทัศนียนนท์ ซึ่งเป็นนักกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เก่งกาจมากนะคะ อาจารย์เจมส์ ศักดิ์ปิ่นทอง ภาคประชาสังคม อย่างครูประทีป หลายคนเลย พอมาเป็น สว. แล้ว อาจารย์ไกรศักดิ์ จุณหะวัณ ก็เป็นนักวิชาการด้วย”
เธอได้เล่าถึงการทำงานร่วมกันของ สว. ในช่วงเวลานั้น “พอเป็น สว. แล้วเราก็รวมตัวกันอีกนะคะ ทุกวันพฤหัสบดีจะมีการประชุมซักซ้อมสถานการณ์ แล้วก็วันรุ่งขึ้นที่จะประชุมเนี่ย เราจะนำเสนออะไร ใครจะนำเสนออะไร พี่ว่า เหมือนกับว่าคนที่มันมีธาตุเดียวกันน่ะ ก็จะไหลเข้ามาหากัน คนที่มีศีลเสมอกัน ก็จะเข้ามารวมตัวกัน ทำให้ประเทศชาติมีความหวัง”
ครูแดงสรุปว่า “ภาพฉากทัศน์ที่ 2 ค่ะ จึงเป็นฉากทัศน์ที่งดงามเชิงบวก แล้วก็ดีใจที่ทุกท่านในห้องนี้ ส่วนใหญ่แล้วเลือกฉากทัศน์ที่ 2”
อาจารย์เนรมิตร จิตรรักษา มีมุมมองและความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับผลโหวตในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างความหวังและทิศทางที่ประเทศไทยควรจะไป
อาจารย์เนรมิตรเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงผลโหวตในรอบแรกและรอบสอง “ในมุมมองจากผลโหวตนะครับ โดยทัศนะเราจะพบว่า ผลโหวตรอบแรกเนี่ย คือจากการที่เราได้ยินฉากทัศน์ทั้ง 3 แล้วก็อาจจะพอหลังจากที่เรามีการพูดคุยแล้วก็มีการโหวตอีกครั้งนึง เราจะเห็นได้ว่าในมุมมองผม ฉากทัศน์แรกเนี่ยมันลด แล้วลดแล้วสวิงมาที่สามด้วยซ้ำ หรือมันจะแบ่งมาที่สองด้วย”
อาจารย์เนรมิตรได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน “ฉากทัศน์แรกเนี่ย เรามองอย่างในสถานการณ์ที่ในมุมมองผมว่า เหมือนกับเห็นภาพมืดหรือฝุ่นตลบเลย สร้างความสับสน แล้วมันเป็นภาพจริงที่กำลังเกิดขึ้นชัดเจนด้วย”
เมื่อพูดถึงฉากทัศน์ที่สอง อาจารย์เนรมิตรได้เน้นถึงความสำคัญของการมีความหวัง “ที่มันขึ้น ถ้าเรามองอย่างมีความหวัง เมื่อกติกาเป็นอย่างนี้ ถ้าอยากจะให้มีกลุ่มอาชีพ กลุ่มอาชีพต้องไปช่วยกันผลักดันให้มีดาวเด่น แล้วทำให้คนที่ตัดสินใจสุดท้ายในการเลือกไขว้ อย่างไรเสียกลุ่มอาชีพแต่ละกลุ่มก็ต้องมีดาวเด่นขึ้นไป”
อาจารย์เนรมิตรยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเคารพผู้ที่เข้ามาสมัคร “เราต้องเคารพว่าผู้ที่สมัครยอมเสียเงินสองพันห้าร้อยบาท หรือสมัครลงไปตั้งแต่ระดับอำเภอจังหวัดหรือระดับชาติเข้าไปสู่นั้นได้ ถ้าเราเคารพในความเป็นคน ในความตั้งใจ ในความที่เขาอาสาเข้ามา”
ในส่วนของการเลือกตั้งและการสร้างความหวัง อาจารย์เนรมิตรได้เสนอว่า “ถ้าเราได้อย่างนี้ สว. ที่มาจากความรู้สึกว่าเขามาจากอาชีพโดยแท้ เขามาจากการยึดโยง มาจากศักยภาพ ถ้าจำภาพ สว. เลือกตั้งยุคแรก เราจะเห็นภาพอย่างนี้ คนเด่นๆ ในจังหวัดที่มาได้ ไม่ต้องใช้เงินหาเสียงมาก แต่มีภาพความโดดเด่น”
อาจารย์เนรมิตรยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการมีตัวแทนจากกลุ่มข้าราชการ “ถ้ายังต้องมี สว. ผมเห็นด้วยว่ากลุ่มอาชีพเนี่ย ที่จริงกลุ่มข้าราชการเนี่ย ผมว่าให้เลือกแบบคนที่ข้าราชการก็ให้เลือกกลุ่มข้าราชการเลย ผมอยากเห็นตำรวจ ทหารชั้นประทวนชั้นผู้น้อยมีโอกาสขึ้นไปเป็น สว. แล้วเขาเป็น สว. เขาก็จะมีศักยภาพ พวกนายตำรวจอาจจะต้องเกรงใจด้วยนะ”
รศ.ดร.วีระ เลิศสมพร เริ่มต้นด้วยการสรุปผลโหวตที่เปลี่ยนไปในรอบล่าสุด “เห็นอะไรจากผลโหวตที่เปลี่ยนไปเป็นข้อมังครับ แท่งกลางนั่นแหละครับขึ้นมา 41.9 เปอร์เซ็นต์ ก็ตรงกับใจของตัวเองนะครับ เรียนไปถึงน้อง ๆ ว่าเนี่ยแหละครับคือการที่น้องได้มาสัมผัสเวทีแห่งนี้ เราจะเห็นว่ามันจะมีความซับซ้อน พิสดารนู่นนี่นั่นหรือความท้อแท้หรือความรู้สึกว่าเอ๊ะนี่คือการเมืองของเรา กรณีของการเลือก สว. เป็นอย่างนี้หรือ”
อาจารย์วีระได้เน้นถึงความสำคัญของการมองเชิงบวกและมีความหวัง “ขอให้น้อง ๆ มองไปในเชิงบวกว่ามีความหวัง รับรู้สิ่งที่เราคุยกันในวันนี้ทุก ๆ ท่าน แล้วก็พัฒนาตนเองในการที่จะศึกษาการเมืองไทย การเมืองไม่ใช่มีแค่ สว. มันมีหลายเรื่อง หลายสิ่งหลายอย่าง แต่ที่สำคัญคือการพูดคุยกับคนรอบข้างอย่างสันติ”
อาจารย์วีระยังได้เล่าถึงประสบการณ์ของเขาในการมองโลกทางการเมือง “ที่ผมจำความได้ก็ยังคงเป็นคนหนุ่มคนหนึ่งที่มองโลกสดใส ตอนที่มีการล้างอำนวยสองห้าสี่ศูนย์อยู่ในกระบวนการมาโดยตลอด ถึงทุกวันนี้ความคิดอาจจะเปลี่ยนไปว่านี่แหละคือการเมืองในโลกความเป็นจริง แต่เราจะไม่ทิ้งความหวัง”
สุดท้าย อาจารย์วีระได้เสนอแนวทางการพัฒนาการเมืองไทย “เราทำหน้าที่ของตัวเอง ถ้าเป็นอาจารย์ก็ไปพูดคุยสนทนากับนิสิตนักศึกษาในห้องเรียน ให้ความรู้เพิ่มเติมแต่จะไม่ครอบงำเขา ให้เขาได้คิดเป็นแล้วก็เป็นผู้ใหญ่ในอนาคต และสำคัญคือให้เขาออกไปคุยกับคนรอบข้างได้อย่างดี ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่ง เรื่องการพัฒนาการเมืองไทยก็จะดียิ่งขึ้น”
แล้วถ้าเป็นคุณ หลังจากได้อ่านชุดข้อมูลทั้งหมดแล้ว ฉากทัศน์ไหน ที่คุณอยากให้เป็น โหวตเลือกด้านล่างนี้ได้เลย ?
สามารถฟังวงเสวนาเพิ่มเติมได้ที่ The North องศาเหนือ