เรื่อง /ภาพ อัจฉราวดี บัวคลี่
ต้นเมษายน 2567 สายการบินลาวทะยานฝ่าฝุ่นเหนือท้องฟ้าเมืองเชียงใหม่ พาฉันไปยังหลวงพระบาง สปป.ลาว อีกครั้งเป้าหมายคือ ติดตามสถานการณ์ฝุ่นควันข้ามพรมแดน หลังเคยเขียนสารคดีเปิดประเด็นฝุ่นควันว่าเป็นปัญหาร่วมของคนในภูมิภาคนี้ไปเมื่อ 17 ปีที่แล้ว และก็ไม่ผิดหวัง หลวงพระบาง ต้อนรับเราด้วย “สีม่วงเข้ม คุณภาพอากาศ 257 US AQI ค่า PM 2.5 อยู่ที่ 207 ไม่ถูกสุขภาพมาก”
จับแท็กซี่เข้าเมือง ทักทายโชว์เฟอร์ ถามไถ่ถึงสภาพอากาศที่หม่นเทา เขาตอบว่า เป็นมาตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว เป็นช่วงจุดไร่ เราถามเขาว่าไม่ใส่หน้ากากหรือ เขายิ้มตอบว่า ไม่ใส่ สังเกตด้วยสายตา ผู้คนตั้งแต่สนามบิน ตลาด ถนนคนเดิน ทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว จะไม่ค่อยใส่หน้ากากกันเท่าใดนัก แม่ค้าขายของหน้าท่าเรือบอกว่า
“มันก็เป็นขาวๆ เทาๆ เพราะเป็นช่วงจุดไร่ ที่จะเริ่มตอนเดือนสี่แรม (ประมาณกุมภาพันธ์) ก็จะเป็นแบบนี้ตั้งแต่เดือน 3 เดือน 4 บางปีก็จะขาวไม่เห็นฝั่งตรงข้าม แม่ก็แสบหูแสบตานะ หายใจไม่อิ่ม บางทีก็เอาหน้ากากอนามัยมาใส่แต่มันก็ร้อน อึดอัด ก็เลยไม่ใส่ แล้วพอเดือน 5 มีลม มีฝน ก็จะหาย”
ชีวิตในดงฝุ่นที่หลวงพระบาง
มาหลวงพระบางในช่วงค่าฝุ่นพีคสูงในครั้งนี้ เพราะมีนัดกับ อาจารย์สิงห์ทอง อาจารย์ตุ้ยและนักศึกษา สาขาสื่อสารมวลชน คณะภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ ที่จะลงพื้นที่ เก็บข้อมูลวิจัย “การตระหนักรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพจากฝุ่นควัน PM 2.5 ของประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือของไทย และลาว” ซึ่ง อาจารย์แนน รองศาสตราจารย์ ดร.ภัทรา บุรารักษ์ จาก มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นหัวหน้าทีม
“จุดเริ่มต้นคือเราเดินทางไปที่หลวงพระบางในช่วงที่ไม่มีฝุ่น แต่พอเดินทางกลับมาก็เกิดฝุ่นที่แทบทำให้ทั่วทั้งพื้นที่มืดครึ้ม เราจึงเกิดความผูกพัน ขณะที่ตัวเราอยู่ที่เชียงราย เราจะพบข่าวฝุ่นสูงที่แม่สายทุกปี แต่เราแทบไม่เห็นข่าวถึงชีวิตเล็กๆ น้อยๆ ของผู้คนที่อยู่ในม่านฝุ่น เราเห็นข่าว เห็นการเรียกร้อง และการปกป้องสุขภาพของหน่วยงานต่างๆ แต่เมื่อพิจารณาในระดับลึกก็ยังพบว่าผู้คนยังมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ไม่ดีนัก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม” อาจารย์แนนบอกถึงจุดเริ่มต้นของการลงพื้นที่วิจัยครั้งนี้ และบอกด้วยว่า
“เมื่อมีประสบการณ์และผูกพันกับสองพื้นที่ จึงเกิดความสงสัยว่าผู้คนในสองประเทศ รับรู้และมีปฏิกิริยาเกี่ยวกับ PM 2.5 อย่างไร ? เนื่องจากบริบทและความอุดมสมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารมีความแตกต่างกัน แต่มีการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและมีการทำเกษตรกรรมคล้ายคลึงกัน ๆ กัน ประกอบกับเรามีความร่วมมือกับอาจารย์ด้านสื่อที่มหาวิทยาลัยที่นั่นด้วย จึงเลือก แขวง หลวงพระบาง สปป.ลาว และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นโครงการวิจัยขนาดเล็กก่อนเนื่องจากงบประมาณจำกัด”
อ.สิงห์ทอง (ซ้ายสุด) จาก ม.สุภาณุวงศ์ และ อ.ภัทรา (ถือร่ม) จาก ม.พะเยา ร่วมกันพาทีมอาจารย์และนักศึกษาสำรวจความตระหนักรู้ด้านสุขภาพจาก PM2.5 ที่หลวงพระบาง ประเทศ สปป.ลาว และแม่สาย ประเทศไทย
เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง คือเป้าหมายแรก ด้วยเป็นเขตชนบทที่อยู่ใกล้เมือง และปีที่ผ่านมา เป็นพื้นที่เกิดเหตุไฟป่าลุกลามใหญ่ที่ภูท้าวภูนางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตมรดกโลกด้วย เรานำรถขึ้นแพขนานยนต์ข้ามโขงเพื่อไปยังหมู่บ้านเชียงแมน จานเหนือ จานใต้ บวมเลา โคกสว่าง บางจุดรถเข้าถึง บางจุดเราอาศัยรถมอเตอร์ไซด์ของนักศึกษาเข้าหมู่บ้าน
ประชาชนที่เมืองจอมเพชร ถ้าในเขตเทศบาล ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย ทำสวน หาปลา ลูกหลานจะไปทำงานที่ประเทศไทย หรือบางส่วนข้ามฟากไปทำงานที่นครหลวงพระบาง แต่หากเลยไปในเขตชนบท จะทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์
ปีที่ผ่านมา ( 2023 ) ราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของลาว ออกประกาศเตือนประชาชนให้ระวังมลพิษทางอากาศ เนื่องจากพบค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 สูงถึง 209 ในระดับที่เป็นอันตรายในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะในแขวหลวงพระบางซึ่งทีภูมิประเทศเป็นหุบเขา ในช่วงเวลานั้น ที่เมืองจอมเพชร เกิดเพลิงไหม้ภูท้าวภูนาง ซึ่งเป็นป่าป้องกัน เขตป่ามรดกโลก กลุ่มควันสร้างผลกระทบข้ามโขงมายังเขตนครหลวงพระบางซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ในปีนี้ (2024) ซึ่งเป็นปีท่องเที่ยวลาว พื้นที่เมืองจอมเพชรจึงเป็นพื้นที่เฝ้าระวังใกล้ชิด ห้ามให้เกิดไฟ โดยมีคำสั่งแจ้งผ่านโทรโข่งบ้าน
จันสม แม่หลวงบ้านเชียงแมน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองจอมเพชร มีลูกบ้าน 300 กว่าครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ค้าขาย ทำสวน แต่เป็นชุมชนที่อยู่ใกล้เขตภูเท้าภูนาง บอกว่า ในหมู่บ้านจะไม่ได้จุดไร่ถางป่ามากเพราะประกอบอาชีพค้าขาย แต่หากป่าที่ภูเท้าภูนางไหม้จากการเข้าไปจุดไฟ หากินในป่า ก็จะได้รับผลกระทบหลายอย่าง ทำให้เกิดเป็นหวัด ไอ เจ็บคอ ก็พยายามรณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนไม่จุดป่า หรือสูบบุหรี่ทิ้งจนทำให้เกิดไฟไหม้ลาม และเมื่อเกิดควันมากก็ประกาศให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยง ซึ่งปีนี้คาดว่าจะไม่มีไฟไหม้ เพราะเมืองเข้มงวดมาก ให้มีคำสัญญาในแต่ละบ้านไม่ให้เกิดไฟ และตั้งแต่ต้นปี ก็จะไปร่วมกันทำแนวกันไฟในเขตป่า และที่ใกล้วัดทุกเดือน
เมื่อถามถึง PM 2.5 แม่หลวงจันสม บอกว่า รู้ว่าเป็นฝุ่นที่มีอันตรายร้ายแรง แต่ที่บ้านเชียงแมน ไม่มีเครื่องวัดฝุ่น ทำให้ไม่รู้ว่าจะมีค่าฝุ่นเท่าใด
ทีมวิจัย ลงพื้นที่บ้านบวมเลา เมืองจอมเพชร
จากบ้านเชียงแมน เราเข้าไปลึกในเขตชนบทของเมืองจอมเพชร เป็นทั้งชาวลาวลุ่ม ขมุ และม้ง ที่บ้านจานเหนือ จานใต้ บวมเลา โคกสว่าง ส่วนใหญ่เราจะพบกับผู้สูงอายุ และเด็ก ประชาชนที่นี่ส่วนใหญ่จบ ป.6 ก็ออกมาทำสวน ทำไร่
เมื่อถามถึง PM2.5 ประชาชนที่นี่จะไม่รู้จักหรือเข้าใจนัก การรับรู้เรื่องฝุ่นควัน ก็คือควันไฟที่เกิดจากการจุดไร่ แต่ต่างได้รับผลกระทบคือแสบตา คัน เป็นหวัด กำนันหมู่บ้านบวมเลา ขอให้เราโหลดแอพพลิเคชั่นที่จะพอให้รู้ค่าคุณภาพอากาศ เพราะแม้จะไม่มีเครื่องติดตั้งที่หมู่บ้าน แต่ก็เพื่อให้พอคาดคะเนได้ว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับใด เราได้พบกันคุณยายที่เพิ่งกลับจากการพ่นยารักษาหอบหืดจากโรงพยาบาลในเมือง และให้ดูคลิปว่า อะไรคือ PM 2.5 และมีอันตรายต่อสุขภาพอย่างไร
คำไซ จากส่วนการศึกษา เมืองจอมเพชร บอกว่ารู้จัก PM2.5 ว่าเป็นฝุ่นและเป็นมลพิษ จากการเผยแพร่ทางโทรทัศน์ โดยเขตชนบทของลาวมีการจุดไร่ ถางป่า เพราะประชาชนต้องทำมาหากิน แต่เวลาจุดจะทำแนวป้องกันไม่ให้ลาม และจะจุดในช่วงปลายกุมภาพันธ์ จนกระทั่งปลายเมษายน ฝนตกก็จะหาย ที่ผ่านมาทางการก็จะมีการแจ้งเตือนเมื่อค่ามลพิษสูง และอยากให้มีการเพิ่มเติมมาชี้แจงอธิบายประชาชนในเขตชนบทให้รู้วิธีป้องกันฝุ่นละออง
คำหมั้น ส่วนศึกษาเมืองจอมเพชร บอกว่าในส่วนของการศึกษา ได้พยายามให้ความรู้กับเยาวนในโรงเรียน แนะนำการปฏิบัติตัวใส่หน้ากากอนามัย และอยากให้มีเครื่องวัดค่าคุณภาพอากาศมาไว้ที่จอมเพชร เพราะเมื่อรู่ค่าฝุ่น ประชาชนจะได้มีสติ ถ้าฝุ่นมากเกินจะได้เตือนให้ประชาชนใส่ผ้าปิดปาก”
จากการพูดคุยกับชาวบ้านที่นี่บอกว่านอกจากการจุดไร่ถางป่าเพื่อทำกินแล้ว มีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวสาลี มันสำปะหลัง และปลูกหญ้าเลี้ยงวัวที่มีบริษัทมาส่งเสริมให้ปลูก แต่ในแขวงหลวงพระบางจะมีบ้างในพื้นที่ห่างไกล เขตชนบท แต่แขวงที่ปลูกกันมากคือ หลวงน้ำทา และไซยบุรี
บัวคำ นักศึกษาที่ลงพื้นที่เมืองจอมเพชรบอกว่า ประชาชนที่จอมเพชรที่ได้พูดคุยส่วนมากจะไม่จบสูง ส่วนใหญ่ ป.6 ไม่ได้ใช้โทรศัพท์ ใช่สื่อออนไลน์ไม่ค่อยเป็น ไม่ค่อยมีความรู้ถึงความร้ายแรงของฝุ่น PM 2.5 ก็รู้สึกเป็นห่วงพวกเขาที่ยังไม่รู้ว่าฝุ่นมีผลร้ายต่อสุขภาพ อยากให้มีการประชาสัมพันธ์มากกว่านี้
นักศึกษาจาก ม.สุภานุวงศ์สำรวจความตระหนักด้าน PM2.5 ประชาชนในเขคนครหลวงพระบาง
ด้าน อ.ภูสิน บอกว่าชาวบ้านยังไม่เข้าใจศัพท์ที่เกี่ยวกับฝุ่นบางอย่างเช่น PM 2.5 คืออะไร เข้าใจว่าที่เห็นขาวๆก็คือควันที่เกิดจากการจุดไร่และยังไม่เห็นว่าระยะยาวจะเป็นอันตรายต่อระบบหายใจของเรา การเฝ้าระวังยังน้อย จะต้องเพิ่มความรู้ความเข้าใจและสื่อสารเพิ่มเติม และอยากให้ส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขเพราะจะกระทบกับภาพรวมของหลวงพระบางที่เป็นเมืองท่องเที่ยว วิวทิวทัศน์จะได้สวยงามไม่หม่นเทา
วันรุ่งขึ้น เป้าหมายการสำรวจเปลี่ยนมาที่ในเขตนครหลวงพระบาง ที่มีทั้งคนหนุ่มสาว ชาวเมือง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเขตมรดกโลก
แม่ค้าที่ตลาดเช้า นครหลวงพระบาง
อ.สิงห์ทอง ทีมวิจัยจาก ม.สุภาณุวงศ์บอกว่า ถ้าในเขตนครหลวงพระบาง ประชาชนวัยหนุ่มสาวจะมีการรับรู้เรื่องฝุ่น PM 2.5 ได้ดี มีการป้องกันผลกระทบเช่นการใส่หน้ากาก ชำระร่างกายเมื่อสัมผัสฝุ่น หรือหลังจากออกไปกลางแจ้งอยู่บ้าง เพราะได้รับสื่อทั้งจากลาวและจากไทย ที่มีการประกาศแจ้งเตือน แต่กับผู้สูงอายุและเด็ก โดยเฉพาะจากฝั่งจอมเพชรจะไม่ค่อยรับรู้ข้อมูลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ แต่รู้ว่าได้รับผลกระทบจากการแสบตา หายใจฝืด ไอ จาม เวลามีฝุ่นควันมาก แต่การรับรู้ว่าจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพยังมีน้อย ขณะที่ผลกระทบในมิติอื่นก็มีที่น่าห่วงคือด้านการท่องเที่ยว ที่พบว่านักท่องเที่ยวลดลง ถ้าผลวิจัยแล้วเสร็จอาจมีข้อมูลอ้างอิง ที่เป็นข้อเสนอแนะที่จะให้ทางส่วนงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญประสานงานแก้ไขปัญหานี้และร่วมกันโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนที่เราต้องร่วมกันแก้ไข
“ถ้าผลกระทบด้านการท่องเที่ยวที่ได้คุยกับผู้ประกอบการที่ตอบแบบสำรวจ คือ ปีก่อนหน้า กรุ๊ปทัวร์ญี่ปุ่นบินมาลง เห็นภาพฝุ่นขาวโพลน รุ่งเช้าเขาบินกลับเลย และปกติเดือนธันวาคม – เมษายนนักท่องเที่ยวไทยจะมาหลวงพระบางมาก แต่ปีนี้ไม่ค่อยมา โดยการท่องเที่ยวของหลวงพระบางเคยบูมมากเมื่อปี 2018-2019 จากนั้นก็เจอโควิด และเริ่มมามีนักท่องเที่ยวมากในปี 2022-2023 แต่ปีนี้ถือว่าน้อยลง เพราะปกติรถจะต้องแน่นเมือง และช่วง 5 โมงเย็นจะมีทัวร์ลงเรือล่องโขงกัน” อ.จันทะพอนบอกและว่าด้านสุขภาพของประชาชน จะแสบตา แสบจมูก กลุ่มที่เป็นภูมิแพ้มีเพิ่มขึ้น ส่วนการป้องกันตัวเองยังไม่มีการณรงค์จริงจังเท่าที่ควร ทางแพทย์ก็ไม่ได้ออกมาเตือนภัยมากนัก ส่วนใหญ่จะคิดว่า จะพบกันปัญหานี้ในช่วงมีนาคมและเมษายน แต่เริ่มเห็นว่าปัญหาได้เพิ่มมากขึ้น ในฐานะคนหลวงพระบาง เห็นเรื่องฝุ่นมาแต่เล็ก เห็นว่าที่ปัญหาเพิ่มขึ้นเพราะเกิดจากการเพิ่มขึ้นของคนและการขยายการผลิตเพิ่ม จากเมื่อก่อนมีการทำไร่ ปลูกข้าว แต่ปัจจุบัน หลายแขวงในภาคเหนือของลาว มีการปลูกมันสำปะหลังมากขึ้น” อ.ตุ้ย จาก ม.สุภาณุวงศ์ ทีมวิจัยกล่าวเสริม
อ.แนน บอกถึงข้อสังเกตุและผลเบื้องต้นจากการลงพื้นที่ว่า ช่องว่างทางความรู้ ความเข้าใจยังมีน้อย เมื่อน้อยการตระหนักถึงอันตรายก็น้อยตาม ส่งผลต่อพฤติกรรมที่จะป้องกันตัวเองน้อยตาม ส่วนความตื่นตัวของหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนที่ลาวต่อเรื่องนี้มีจำกัดและไม่มีพลังมากนัก การเข้าถึงทรัพยากร เช่น หน้ากากที่มีคุณภาพ การรู้ค่าฝุ่นรายวัน ฯลฯ ยังจำกัด ซึ่งหากมีการสื่อสารเรื่องภัยพิบัติ สื่อสารสุขภาพเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น จริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่ห่างไกล โดยเริ่มจากแกนหลัก หน่วยงานรัฐก่อน น่าจะเหมาะกับบริบทของลาว อย่างไรก็ตาม ข้อมูลงานวิจัยยังไม่เสร็จ ยังอยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์ผล แต่ที่เห็นจากการลงพื้นที่ งานที่ควรทำคือ เติมศักยภาพของบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ลาวและหน่วยงานรัฐให้เข้าใจและรู้เรื่องนี้ และขยายให้เป็นนโยบายที่ทำกิจกรรมสำหรับประชาชนต่อ”
เรานั่งรถไปนอกเมือง ไกลจากเขตนครหลวงพระบาง ไปยังปากแม่น้ำอู สวนกับรถบรรทุกสินค้าจากประเทศจีนเป็นระยะ สองข้างทางถนนใหญ่ เราพบการปรับสภาพพื้นที่โดยการเผา พบลานรับซื้อมันสำปะหลังบ้าง ซึ่งในเขตเมืองหลวงพระบางยังถือว่ามีน้อย เพราะสภาพพื้นที่โดยรวมเป็นหุบเขา รถขนส่งขนาดใหญ่เข้าไม่สะดวก แต่กับอำเภอรอบนอกที่เป็นพื้นราบ มีการปลูกและมีโรงงานมารับซื้อ เช่นที่เมืองนาน มีโรงแป้งมันจากประเทศจีนมาตั้ง และแขวงอื่นในภาคเหนือ เช่นหัวพัน หลวงน้ำทา ไซยะบุรี มีการปรับพื้นที่เพื่อปลูกมันสัมปะหลังมากขึ้นอย่างน่าตกใจ
“พื้นที่ทำกินสำหรับประชาชนที่ต้องปลูกข้าวทำไร่ ราชการแบ่งพื้นที่ให้ครอบครัวละ 3 แปลง แปลงละ 1 เฮกตาร์ (1เฮกตาร์ประมาณ 6.25 ไร่) เมื่อก่อนชาวบ้านก็ปลูกข้าวอย่างเดียว และแต่ละปีจะปลูกทีละแปลง อีก 2 แปลงจะพักดินไว้ให้ฟื้นฟูมีจุลินทรีย์ และเพื่อให้ต้นไม้เติบโต และปีถัดไปก็หมุนเวียนปลูกในแปลงที่ 2 และ ที่ 3 ตามลำดับ ปัจจุบันมีการทำการผลิตเพิ่มเติม โดยแปลงที่เคยพักไว้ก็มาปลูกมันสำปะหลังเพิ่มทั้ง 3 แปลง เพราะเป็นการสร้างเศรษฐกิจ และก็ทำตามกันเพราะราคากำลังดี ปีกลายปลูกกันมากและต่อเนื่องมาปีนี้”
ปัจจุบัน มันสำปะหลัง ราคา กิโลกรัมละ 6,000 – 7,000 กีบ แต่ถ้ามีการทำความสะอาด ตากแห้งก่อน ราคาจะเพิ่มขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 10,000 กีบ ทำให้ขยายพื้นที่ปลูกไปทั่วภาคเหนือของลาว โดยเฉพาะในพื้นที่รถยนต์สามารถเข้าถึงสะดวก มีบริษัทมาส่งเสริมและรับซื้อ ข้อดีคือ คนที่ถางไร่ เผาปรับพื้นที่เพื่อปลูกมันแล้ว ปีถัดไปก็จะไม่เผา เพราะเขาจะปลูกราวเดือนเมษายน หรือ พฤษภาคม ไปจนถึงเดือน ธันวาคมและเก็บเกี่ยวจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะเอามันเก่ามาแช่น้ำ ให้ฟื้นตัวเพื่อที่จะปลูกใหม่ ดังนั้นในเดือนมีนาคม – เมษายน ก็จะไม่เผาแล้ว แต่หากว่าปีนี้ได้ผลผลิตเยอะ ราคาดี ก็จะขยายพื้นที่ใหม่และเผาเพิ่ม
เราสนทนาถึงความกังวลต่อความรุนรงของปัญหาฝุ่นควัน เมื่อแนวโน้มของการเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันในภูมิภาคนี้ยังคงอีกยาวไกล และขยายขอบเขตคู่ไปกับความเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรเมื่อราคาพืชเกษตรอย่าง ข้าวโพด มันสำปะหลัง และการเลี้ยงสัตว์เติบโตและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้ แต่เมื่อหันกลับมามองการรับรู้และความตระหนักถึงพิษของ PM 2.5 ที่เล็กจนมองไม่เห็นและยังไม่แสดงผลถึงอันตรายแบบฉับพลันทันใด
การสร้างความเข้าใจและความตระหนักและรู้ถึงแนวทางป้องกันตนเอง จึงเป็นเรื่องจำเป็นและต้องลงมือทำสำหรับประชาชนและกลุ่มเปราะบาง ทั้งไทยและลาว.
อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง : ควันข้ามโขง ฆาตรกรเงียบไร้พรมแดน
อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง : ลมหายใจ กลางฝุ่นไฟ ไร้พรมแดน