คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ภายใต้โครงการพัฒนาและยกระดับจังหวัดสกลนครสู่พื้นที่วิจัยยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคมด้วยวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี จัดงานถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งมอบเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร และมอบสิ่งของช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบาง ที่บ้านโคกก่อง ตำบลโคกก่อง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา
นายวีรรัตน์ ธีรมิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร มาเป็นประธาน และ ผศ.ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร รายงานที่มาและความสำคัญของโครงการวิจัย ฯ โดยมี นายอำเภอเมืองสกลนคร เกษตรอำเภอเมืองสกลนคร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกก่อง บริษัท วาต้า ไทยเทรดดิ้ง จำกัด บริษัท สกลโฮมเซ็นเตอร์ จำกัด กรรมการกลุ่มแปลงใหญ่ปลูกมันฝรั่งบ้านโคกก่อง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และกลุ่มครัวเรือนเป้าหมาย เข้าร่วมงาน
มหาวิทยาลัยนำเทคโนโลยีต้นแบบการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร จำนวน 2 ชุด มาส่งมอบให้กับกลุ่มแปลงใหญ่ปลูกมันฝรั่งบ้านโคกก่อง เพื่อลดค่าใช้จ่าย ทดแทนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องสูบน้ำไร่ละ 200 – 300 บาท ให้สมาชิก 100 คน ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะแก้ไขปัญหาด้านศัตรูพืช การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ามันฝรั่งที่ไม่ผ่านมาตรฐานของโรงงาน
อีกทั้ง โครงการวิจัย ฯ ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ (Decision Support System : DSS) ในการส่งต่อให้ความช่วยเหลือด้านสงเคราะห์ จากฐานข้อมูล พบว่า มีผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย และผู้เปราะบาง ในบ้านโคกก่อง หมู่ที่ 2 จำนวน 10 ครัวเรือน จึงมีหน่วยงานภาคีมอบเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยเหลือจำนวน 10 ชุด และได้รับความช่วยเหลือผ้าห่มจากบริษัท สกลโฮมเซ็นเตอร์ จำกัด จำนวน 10 ชุด เพื่อบรรเทาปัญหาในการดำรงชีพเบื้องต้น
ภายหลัง ทีมนักวิจัยและกรรมการกลุ่มแปลงใหญ่ปลูกมันฝรั่งบ้านโคกก่อง ได้แนะนำกระบวนการผลิตมันฝรั่ง องค์ความรู้เทคโนโลยีที่นำมาใช้ และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ให้กับหน่วยงานภาคี พร้อมกับสาธิตการใช้เทคโนโลยีต้นแบบการบริหารจัดการน้ำ โดยมีนักศึกษาวิศวกรสังคม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นผู้ให้ข้อมูลประโยชน์และการใช้งาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ด้านวิจัย นวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานครั้งนี้ว่า มหาวิทยาลัยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยเลือกอำเภอเมืองสกลนครเป็นหนึ่งพื้นที่ปฏิบัติการโมเดลแก้จน โครงการอารยเกษตรแก้จนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย เกิดการส่งเสริมอาชีพ “ปลูกมันฝรั่ง” โดยใช้แนวคิด Pro-Poor Value Chain คือ นำครัวเรือนเป้าหมายผู้มีรายได้น้อย และผู้เปราะบาง เข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่ากับกลุ่มแปลงใหญ่ปลูกมันฝรั่งบ้านโคกก่อง พัฒนาและยกระดับด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เหมาะสมตามบริบทพื้นที่ โดยมีเป้าหมายให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20
ปฏิบัติการโมเดลแก้จนครั้งนี้ มีผู้ได้รับผลประโยชน์มากกว่า 200 ครัวเรือน ประกอบด้วย กลุ่มเป้าหมาย คนในพื้นที่ และผู้ประกอบการรับซื้อ ใช้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีมากกว่า 5 อย่าง ขับเคลื่อนงานร่วมกับศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดสกลนคร และภาคีเครือข่ายตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 45 หน่วยงาน เมื่อปี พ.ศ. 2567
ผศ.ดร.ก้องภพ กล่าวต่อว่า การยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือนในมิติเศรษฐกิจ แรงยกที่สำคัญ ที่เกิดผลกระทบให้มีรายได้เพิ่มหรือลดต้นทุน คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับภาคธุรกิจ ซึ่งปฏิบัติการโมเดลแก้จนได้ร่วมมือกับ บริษัท วาต้า ไทยเทรดดิ้ง จำกัด พัฒนาและยกระดับการปลูกมันฝรั่ง เกิดการจ้างแรงงานรายวันครัวเรือนเป้าหมาย คือ การจ้างปลูก และเก็บมันฝรั่ง และสามารถขยายผลพื้นที่การปลูกมันฝรั่ง ไปยังตำบลพังขว้าง และตำบลขมิ้น อำเภอเมืองสกลนคร เพื่อทดลองเป็นแปลงต้นแบบการปลูกมันฝรั่ง
นายวีรรัตน์ ธีรมิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า โครงการวิจัย ฯ และการขับเคลื่อนงานโมเดลแก้จน ร่วมกับภาคีเครือข่าย สอดคล้องกับการส่งเสริมการบูรณาการ กลไกการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัด ประจำปี พ.ศ. 2568 เพื่อสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม และลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้เปราะบาง และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ทั้งยังสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ (No Poverty)
นายวีรรัตน์ กล่าวต่อว่า ปฏิบัติการโมเดลแก้จน โดยการส่งเสริมอาชีพ “ปลูกมันฝรั่ง” โดยใช้แนวคิดนำครัวเรือนเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยและผู้เปราะบางเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าในกลุ่มแปลงใหญ่ปลูกมันฝรั่งบ้านโคกก่องจากการพัฒนาและยกระดับด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี นั้น มีส่วนแก้ไขปัญหาความยากจนรายครัวเรือนแบบมีคุณภาพยกระดับรายได้ครัวเรือน เกิดอาชีพในชุมชน เศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น เกิดสวัสดิการดูแลกันและกัน สร้างชุมชนเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน
นายบัญญัติ ทอนฮามแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกก่อง กล่าวว่าตำบลโคกก่องตั้งอยู่พื้นที่ได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ และทางทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เป็นที่ราบลุ่มติดกับหนองหาร มีลำน้ำพุง และลำน้ำก่ำไหลผ่าน เหมาะสำหรับการเพาะปลูกการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกมันฝรั่ง มีตัวแทนจากบริษัทมารับซื้อผลผลิต ซึ่งชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ปลูกมันฝรั่งบ้านโคกก่อง มีสมาชิกทั้งหมด 100 คน และในปี พ.ศ. 2567 – 2568 มีเกษตรกรลงทะเบียนปลูกมันฝรั่ง มีพื้นที่มากกว่า 1,200 ไร่
นายบัญญัติ กล่าวคาดการณ์ถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนในตำบลจากการปลูกมันฝรั่งในปีนี้ มีมูลค่ามากถึง 20 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้กับประชาชนเป็นโอกาสให้กับผู้มีรายได้น้อย ได้มีงานทำโดยการรับจ้างรายวัน ในช่วงระยะเวลา 3-4 เดือน เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนด้านรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม
ข่าว : แตงโม สกลนคร
ภาพ : ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
โครงการวิจัย : อารยเกษตรแก้จนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย