เขียนโดย Rocket Media Lab
สาระสำคัญ
- ในงบปีประมาณ 2566 มีงบก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งมากที่สุด 19,821,418,900 บาท คิดเป็น 37.13% ซึ่งเป็นงบที่ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ มากที่สุด 17,713,177,600 บาท คิดเป็น 89.36%
- กระทรวงมหาดไทยมีงบเกี่ยวกับน้ำท่วมมากที่สุด 23,171,261,300 บาท หรือคิดเป็น 43.41% เป็นงบก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งมากที่สุดรวม 17,713,177,600 บาท คิดเป็น 76.44% อีกส่วนหนึ่งเป็นงบที่ระบุว่าเกี่ยวกับระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนรวม 4,751,943,500 บาท คิดเป็น 20.51% ในจำนวนนี้ โครงการที่มีสัดส่วนงบประมาณมากที่สุดคือ โครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน 4,569,123,600 บาท ซึ่งกระจายอยู่ใน 45 จังหวัด
- กระทรวงกลาโหมมีงบประมาณเกี่ยวกับน้ำท่วมสูงกว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการขุดลอกลำน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั้งหมดอยู่ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ จังหวัดที่ได้รับงบจัดการน้ำท่วม จากกระทรวงกลาโหม กระจายอยู่ใน 37 จังหวัด
- ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา งบกลางเกี่ยวกับน้ำท่วมของปีงบประมาณ 2566 สูงเป็นอันดับที่ 3 มีการเบิกจ่ายงบกลางเกี่ยวกับน้ำท่วมเพื่อใช้ไปกับ การก่อสร้าง/ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน แหล่งเก็บกักเก็บน้ำ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากที่สุด 8,171.60 ล้านบาท อันดับ 2 เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 จำนวน 1,046,460 ครัวเรือน โดยกระทรวงมหาดไทย 6,258.54 ล้านบาท อันดับ 3 งบฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหาย เช่น ซ่อมแซมถนน โดยกระทรวงคมนาคม 3,786.55 ล้านบาท
น้ำท่วมเป็นภัยพิบัติที่ประเทศไทยเผชิญซ้ำซากมาเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษ มีการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนับตั้งแต่มหาอุทกภัย 2554 ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 23,839.21 ล้านบาท พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 11,798,241 ไร่ และการออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่มีเป้าหมายเพื่อรวมศูนย์การบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ (ปี พ.ศ. 2561 – 2580) โดยระหว่างปี 2557 ถึง 2559 มีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำโดยตรงกว่าแสนล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันยังมีการใช้งบกลางเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ฟื้นฟูความเสียหาย ก่อสร้างและซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างที่ใช้ควบคุมป้องกันและระบายน้ำนับแสนล้านบาท เฉพาะปี 2555 ใช้งบกลางรวม 1.2 แสนล้านบาท ส่วนปี 2560-2566 ใช้งบกลางรวมกันถึง 97,832.80 ล้านบาท
ปี 2567 เกิดอุทกภัยใหญ่อีกครั้งและกำลังสร้างความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ข้อมูล ณ วันที่ 4 ส.ค.- 2 ก.ย. 2567 ในระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่น้ำท่วมของ GISTDA พบว่า มีพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด 1,231,323 ไร่ ผู้ได้รับผลกระทบ 241,875 ครัวเรือน ใน 11 จังหวัด โดยจากรายงานข่าวน้ำท่วมในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา น่าสังเกตว่าทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและแนวทางที่ใช้รับมือกับน้ำท่วมอาจไม่แตกต่างจากเมื่อสิบปีก่อนหน้ามากนัก ไม่ว่าจะเป็น คันริมตลิ่งกั้นน้ำพังทลาย น้ำป่าไหลหลากโดยระบบการเตือนภัยล่วงหน้าไม่ทันการณ์ การระบายน้ำออกจากเขื่อนเป็นระยะ การติดตั้งกระสอบทรายริมแม่น้ำให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงแนวคิดเรื่องการสร้างเขื่อนใหม่ในลุ่มน้ำภาคกลาง
Rocket Media Lab ชวนย้อนไปทำความเข้าใจงบประมาณที่เกี่ยวกับน้ำท่วม จาก ‘งบประมาณลงพื้นที่จังหวัด (Area) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566’ จากเว็บไซต์ของสำนักงบประมาณ ซึ่งแจกแจงรายงานแสดงแผนการจัดสรรงบประมาณในมิติจังหวัด เพื่อวิเคราะห์ว่า มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างไร โดยการเลือกที่จะพิจารณาการใช้งบน้ำท่วมจากปีงบประมาณ 2566 เนื่องด้วยเป็นงบประมาณและโครงการที่จะส่งผลต่อการป้องกันน้ำท่วมของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2566 ไปจนในถึงอนาคต โดยเฉพาะในปี 2567 ที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง
ประเทศไทยป้องกัน-จัดการน้ำท่วมอย่างไร
จากงบประมาณปี 2566 ทั้งหมด 3,185,000,000,000 บาท (3.185 ล้านล้านบาท) ซึ่งประกาศใช้เมื่อ 1 ต.ค. 2565 ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Rocket Media Lab ใช้การจำแนกงบในมิติจังหวัดของสำนักงบประมาณ ซึ่งจำแนกงบประมาณเป็นรายโครงการของ 77 จังหวัด จากนั้นคัดกรองเฉพาะโครงการที่มีคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม เช่น น้ำท่วม ประตูระบายน้ำ ผักตบชวา ซ่อมแซม ทรบ. (ทางระบายน้ำ) ซ่อมแซมบานระบาย รับน้ำป่า อาคารระบายน้ำ แก้มลิง ซึ่งพบว่ามี 6,511 โครงการ เป็นงบประมาณ รวม 53,377,557,500 บาท (53,377.55 ล้านบาท) จากนั้นนำมาจัดหมวดหมู่และวิเคราะห์ได้ดังนี้
หากพิจารณาโครงการที่เกี่ยวกับน้ำท่วม ตามลักษณะงานออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1) การก่อสร้าง 2) การบำรุงรักษา 3) การวางแผน 4) การเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล และ 5) การบริหารจัดการ พบว่า งบประมาณที่เกี่ยวกับน้ำท่วม ประจำปีงบประมาณ 2566 เป็นงบประมาณก่อสร้างมากที่สุดคิดเป็น 76.99% หรือเกิน 3 ใน 4 ของงบประมาณทั้งหมด จำนวน 41,093,465,100 บาท รองลงมาเป็นงบที่เกี่ยวกับการบำรุงรักษา 21.77% จำนวน 11,621,051,300 บาท งบประมาณส่วนที่เหลือสามารถจำแนกได้เป็น งบด้านการวางแผน 0.46% จำนวน 247,422,200 บาท งบที่เกี่ยวกับการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล 0.40% จำนวน 211,766,700 บาทและงบด้านบริหารจัดการ 0.38% จำนวน 203,852,200 บาท
เมื่อจำแนกตามกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมเป็นประเภทต่างๆ พบว่า ในงบปีประมาณ 2566 มีงบก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งมากที่สุด 19,821,418,900 บาท คิดเป็น 37.13% ซึ่งเป็นงบที่ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ มากที่สุด 17,713,177,600 บาท คิดเป็น 89.36% รองลงมาคือจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 1,547,197,000 บาท คิดเป็น 7.81% ตามมาด้วยกระทรวงคมนาคม 468,389,000 บาท คิดเป็น 2.36% และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 78,405,300 บาท คิดเป็น 0.40% เมื่อพิจารณาว่าจังหวัดใดได้งบก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งมากที่สุดพบว่า อุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณนี้มากที่สุด 1,309,936,300 บาท ซึ่งเป็นการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แม่น้ำชี มูล และโขง รองลงมาคือ บึงกาฬ 58,609,700 บาท สร้างเขื่อนริมตลิ่งแม่น้ำโขง ตามมาด้วย เชียงราย 942,947,400 บาท ซึ่งครึ่งหนึ่งอยู่ที่แม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย 934,003,300 บาท ที่ทั้งหมดเป็นเขื่อนริมแม่น้ำโขง และสุดท้าย กรุงเทพมหานคร 789,566,400 บาท ซึ่งนอกจากการก่อสร้างเขื่อนริมคลองเปรมประชากรแล้ว งบส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำทั่วประเทศ
จะเห็นได้ว่างบก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ซึ่งเป็นงบก้อนใหญ่ที่สุดในงบน้ำท่วมปีงบประมาณ 2566 เฉพาะที่เป็นโครงการการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขงมีสูงถึง 4,137,040,200 บาท หรือคิดเป็น 20.87% ของงบการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งทั้งหมด ในขณะที่หากพิจารณาเฉพาะ 4 อันดับแรกคือจังหวัดอุบลราชธานี บึงกาฬ เชียงราย และหนองคาย ก็จะพบว่างบฯ โครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งที่ริมแม่น้ำโขงนั้นสูงถึง 2,673,634,000 บาท จากงบทั้งหมด 3,244,956,700 บาท
อันดับ 2 งบก่อสร้างระบบระบายน้ำและประตูระบายน้ำ 6,899,685,800 บาท หรือคิดเป็น 12.93% ของงบน้ำท่วมทั้งหมด โดยเป็นงบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สูงถึง 82.30% ภายใต้แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ มีเป้าหมายเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่เขตเศรษฐกิจ จังหวัดที่มีงบประมาณส่วนนี้มากที่สุดเป็นการลงทุนก่อสร้างระบบระบายน้ำและประตูระบายน้ำขนาดใหญ่ เช่น ประตูระบายน้ำกลางคลองพลเอกอาทิตย์ โครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา 120,000,000 บาท ประตูระบายน้ำห้วยน้ำฆ้อง อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี 108,000,000 บาท รองลงมาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 15.24% ซึ่งจังหวัดที่ใช้งบประมาณมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร 732,860,700 บาท คิดเป็น 10.62% ของงบประมาณในหมวดนี้ งบประมาณเกือบทั้งหมดเป็นโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ
อันดับ 3 งบการก่อสร้างฝาย 5,441,606,500 บาท คิดเป็น 10.19% ของงบน้ำท่วมทั้งหมด ซึ่งรวมการก่อสร้างฝายประเภทต่างๆ เช่น ฝายชะลอน้ำ ฝายต้นน้ำ ฝายถาวร ฝายน้ำล้น กระจายอยู่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4,710,984,600 บาท คิดเป็น 86.57% กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 381,976,200 บาท คิดเป็น 7.02% จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 272,936,200 บาท คิดเป็น 5.02% กระทรวงมหาดไทย 67,892,400 บาท คิดเป็น 1.25%และกระทรวงกลาโหม 7,817,100 บาท คิดเป็น 0.14% โดยจังหวัดที่มีงบประมาณก่อสร้างฝายมากที่สุด คือ สงขลา 448,123,700 บาท คิดเป็น 8.24% อุทัยธานี 403,472,200 บาท คิดเป็น 7.41% นครพนม 282,546,400 บาท คิดเป็น 5.19% เชียงใหม่ 264,523,400 บาท คิดเป็น 4.86% และอุบลราชธานี 261,325,000 บาท คิดเป็น 4.80% ส่วนจังหวัดที่มีงบประมาณก่อสร้างฝายน้อยที่สุด คือ ฉะเชิงเทรา 400,000 บาท คิดเป็น 0.01% ชลบุรี 400,000 บาท คิดเป็น 0.01% จันทบุรี 1,216,000 บาท คิดเป็น 0.02% กาฬสินธุ์ 1,500,000 บาท คิดเป็น 0.03% และระยอง 2,401,000 บาท คิดเป็น 0.04%
อันดับ 4 งบระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนของกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการ 4,751,943,500 บาท คิดเป็น 8.90% ของงบน้ำท่วมทั้งหมด ซึ่งระบุว่าเป็นการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ โดยไม่ระบุรายละเอียดว่าด้วยวิธีการใด ภาคกลางมีงบประมาณมากที่สุด 1,882,276,800 บาท 39.61% รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 941,781,800 บาท คิดเป็น 19.82% ตามมาด้วย ภาคใต้ 899,694,300 บาท คิดเป็น 18.93% ภาคเหนือ 439,333,300 บาท คิดเป็น 9.25% ภาคตะวันตก 335,087,300 บาท คิดเป็น 7.05% และภาคตะวันออก 253,770,000 บาท คิดเป็น 5.34% จังหวัดที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ สิงห์บุรี 464,437,200 บาท คิดเป็น 9.77% สมุทรสาคร 369,833,100 บาท คิดเป็น 7.78% นครปฐม 294,682,600 บาท คิดเป็น 6.20% นราธิวาส 228,019,300 บาท คิดเป็น 4.80% และชลบุรี 202,353,300 บาท คิดเป็น 4.26% ส่วนจังหวัดที่ได้รับงบฯ น้อยที่สุด 5 อันดับแรก พิจิตร 4,000,000 บาท คิดเป็น 0.08% สุพรรณบุรี 14,702,000 บาท คิดเป็น 0.31% มุกดาหาร 16,228,900 บาท คิดเป็น 0.34% อุบลราชธานี 19,946,100 บาท คิดเป็น 0.42% และกระบี่ 22,592,000 บาท คิดเป็น 0.48%
อันดับ 5 งบขุดลอกและกำจัดวัชพืช 4,349,199,000 บาท คิดเป็น 8.15% ของงบน้ำท่วมทั้งหมด กระทรวงที่มีงบประมาณการขุดลอกและกำจัดวัชพืชตามแหล่งเก็บน้ำต่างๆ เช่น คลอง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน 2,114,719,200 บาท คิดเป็น 48.62% รองลงมาคือ กระทรวงกลาโหม 1,079,405,300 บาท คิดเป็น 24.82% ระบุว่าเป็นการขุดลอกลำน้ำ และแหล่งน้ำในจังหวัดต่างๆ ดำเนินการโดยกองบัญชาการกองทัพไทย ตามมาด้วย กระทรวงมหาดไทย 504,760,500 บาท คิดเป็น 11.61% ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 456,705,500 บาท คิดเป็น 10.50% กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า 187,575,500 บาท คิดเป็น 4.31% ซึ่งเป็นงบเกี่ยวกับการขุดลอกร่องน้ำภายในประเทศ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6,033,000 บาท คิดเป็น 0.14%
อันดับ 6 เป็นงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงซ่อมแซมเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ 3,938,058,900 บาท คิดเป็น 7.38% ของบน้ำท่วมทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ซ่อมแซมคลองส่งน้ำของฝาย ซ่อมแซมหินเรียงท้ายฝาย ซ่อมแซมคอนกรีตดาดคลอง เกือบทั้งหมดเป็นงบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการโดยกรมชลประทาน 3,766,002,700 บาท คิดเป็น 95.63% ซึ่งภาคเหนือมีงบประมาณมากที่สุด 1,014,640,300 บาท คิดเป็น 25.76% รองลงมาคือจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 108,657,600 บาท คิดเป็น 2.76% อันดับ 3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8,784,700 บาท คิดเป็น 0.22%
อันดับ 7 การขุดคลองระบายน้ำ 2,953,650,200 บาท คิดเป็น 5.53% ของงบน้ำท่วมทั้งหมด งบประมาณส่วนนี้เป็นงบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นโครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล – บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพียงโครงการเดียวเท่านั้น
อันดับ 8 การซ่อมแซมประตูระบายน้ำ ทางระบายน้ำ คลองส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ 2,372,886,800 บาท คิดเป็น 4.45% ของงบน้ำท่วมทั้งหมด งบประมาณเกือบทั้งหมดเป็นงบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2,141,780,200 บาท คิดเป็น 90.26% รองลงมาคือ จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 146,353,000 บาท คิดเป็น 6.17% ตามมาด้วย กระทรวงคมนาคม 54,655,800 บาท คิดเป็น 2.30% ที่เหลือเป็นกระทรวงมหาดไทย 17,357,000 บาท คิดเป็น 0.73% และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 12,740,800 บาท คิดเป็น 0.54% โดยภาคกลางได้งบประมาณมากที่สุด 935,836,100 บาท คิดเป็น 39.69% ภาคเหนือมีงบประมาณส่วนนี้น้อยที่สุด 96,535,200 บาท คิดเป็น 4.09%
นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ที่มีงบประมาณรายโครงการที่น้อยกว่า 1 พันล้านบาท รวม 2,442,361,300 บาท คิดเป็น 4.58% ได้แก่ ติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเตือนภัย ซึ่งประกอบด้วยงบบำรุงรักษาโทรมาตรและค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) สำหรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 699,594,400 บาท คิดเป็น 1.31% งบสร้างและปรับปรุงเครื่องสูบน้ำ 559,138,600 บาท คิดเป็น 1.05% และงบประมาณอื่นๆ เช่น การจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล ค่าป้องกันและซ่อมแซมเนื่องจากอุทกภัย
จากข้อมูลงบน้ำท่วมจากปีงบประมาณ 2566 สะท้อนให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ เป็นหลัก โดยเฉพาะเขื่อนป้องกันตลิ่งที่กระจายอยู่ตามแม่น้ำสาขาทั่วประเทศ และแม่น้ำโขงซึ่งไหลผ่านหลายจังหวัด งบสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งนี้เพิ่มขึ้นจากงบประมาณศึกษาการก่อสร้างหรือการบำรุงรักษาเขื่อนป้องกันตลิ่ง ของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่ปี 2554 – 2564 ซึ่งมีการใช้งบประมาณเฉพาะส่วนนี้ 5.9 พันล้านบาท เป็น 19,821.41 ล้านบาท โดยที่กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับงบประมาณหลัก ขณะที่กระทรวงคมนาคมมีสัดส่วน 2.36% เท่านั้น ขณะเดียวกันพบว่างบประมาณบำรุงรักษาระบบเตือนภัยต่างๆ มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณด้านอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นผลจากเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ (พ.ศ. 2561 – 2580) ก่อนแล้ว ซึ่งระบุว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การจัดระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง การจัดการพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ชะลอน้ำ รวมทั้งการบรรเทาอุทกภัยในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ในระดับลุ่มน้ำและพื้นที่วิกฤต (Area based) ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ ลุ่มน้ำสาขา/ลดความเสี่ยงและความรุนแรงลงไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 ผลการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทฯ น้ำ ช่วงปี 2561 – 2565 มีการใช้งบประมาณการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 148,047.69 ล้านบาท ซึ่งเขื่อนป้องกันตลิ่ง 243 กิโลเมตร (จากเป้าหมายทั้งหมด 243 กิโลเมตร) ได้รับงบประมาณมากที่สุด 35.03% การเพิ่มประสิทธิภาพอาคารบังคับน้ำและสถานีสูบน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่เฉพาะจุด 33.58% ระบบป้องกันชุมชนเมือง 26.99%
มหาดไทยครองงบประมาณจัดการน้ำท่วมมากที่สุด
กระทรวงมหาดไทยมีงบประมาณเกี่ยวกับน้ำท่วมมากที่สุด 23,171,261,300 บาท หรือคิดเป็น 43.41% ของงบน้ำท่วมปีงบประมาณ 2566 มากที่สุด โดยมีงบก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งมากที่สุดรวม 17,713,177,600 บาท คิดเป็น 76.44% อีกส่วนหนึ่งเป็นงบที่ระบุว่าเกี่ยวกับระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนรวม 4,751,943,500 บาท คิดเป็น 20.51% ในจำนวนนี้ โครงการที่มีสัดส่วนงบประมาณมากที่สุดคือ โครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน 4,569,123,600 บาท ซึ่งกระจายอยู่ใน 45 จังหวัด ทั้งหมดระบุรายละเอียดเพียงว่าเป็นการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม การก่อสร้างและควบคุมงานก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนในแต่ละพื้นที่ ยังมีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชน กระจายอยู่ในแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ โครงการพัฒนาพื้นที่ตามผังเมืองอีก 182,819,900 บาท ซึ่งแบ่งเป็นการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบ 63,000,000 บาท ซ่อมแซม 89,601,000 บาท และก่อสร้างระบบ 30,218,900 บาท นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยยังมีงบประมาณขุดลอกและกำจัดวัชพืชรวม 504,760,500 บาท และยังมีงบประมาณก่อสร้างฝายอีก 67,892,400 บาท ใน 20 จังหวัด
อันดับ 2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 22,786,861,500 บาท คิดเป็น 42.69% ของของงบน้ำท่วมปีงบประมาณ 2566 โดยแบ่งเป็น
- งบก่อสร้างประตูระบายน้ำ ใน 38 จังหวัด รวม 6,085,167,100 บาท ซึ่งทั้งหมดดำเนินการโดยกรมชลประทาน ภายใต้แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภาคกลางได้รับงบประมาณมากที่สุด 1,648,413,200 บาท ภาคตะวันตกได้น้อยที่สุด 215,000,000 บาท
- งบก่อสร้างฝายและเขื่อน 4,710,984,600 บาท ใน 42 จังหวัด โดยมีเป้าหมายเพื่อก่อสร้างและพัฒนาแหล่งน้ำ มีโครงการฝายหัวงานและอาคารประกอบ พื้นที่รับประโยชน์ 1,200 ไร่ โครงการฝายยางบ้านวังสาธิตตำบลเนินแจง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี ใช้งบประมาณมากที่สุด รวม 340 ล้านบาท
- งบปรับปรุงซ่อมแซมเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ 3,766,002,700 บาท งบประมาณนี้เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ เช่น ระบบท่อส่งน้ำฝาย หินเรียง ทางระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ผนังคอนกรีต ใน 67 จังหวัด โดยมี 3 จังหวัดที่มีงบประมาณรวมมากกว่า 200,000,000 บาท ได้แก่ แพร่ (381,234,900 บาท) ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงฝายแม่ยมรวม 373,184,900 บาท เชียงใหม่ (360,692,400 บาท) บุรีรัมย์ (277,220,000 บาท)
- งบขุดคลองระบายน้ำ โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล – บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพียงโครงการเดียว 2,953,650,200 บาท
- งบที่เกี่ยวกับการซ่อมแซมประตูระบายน้ำ ทางระบายน้ำ คลองส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ รวม 2,141,780,200 บาท ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่ระบุว่ารวมอยู่ในเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ จังหวัดที่มีงบประมาณมากที่สุดได้แก่ นครปฐม นครพนม และสุโขทัย ตามลำดับ
- การขุดลอกตะกอนดินและกำจัดวัชพืชในแหล่งน้ำ เช่น แก้มลิง คลอง คลองระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำ คลองส่งน้ำ รวม 2,114,719,200 บาทใน 74 จังหวัด ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการขุดลอกแหล่งน้ำรวมถึงขุดลอกตะกอนดิน 1,792,662,300 ใน 67 จังหวัด และงบประมาณกำจัดวัชพืช 322,056,900 บาท จังหวัดที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดได้แก่ พิษณุโลก 188,611,600 บาท ซึ่งเป็นงบขุดลอกบึงราชนก โซน 5 ปริมาตรเก็บกักเพิ่มขึ้น 4.1 ล้านลูกบาศก์เมตร ตำบลวังพิกุล อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก 150 ล้านบาท
- งบประมาณอื่นๆ รวม 1,014,557,500 บาท คิดเป็น 4.45% ได้แก่ ติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเตือนภัย งบสร้างและปรับปรุงเครื่องสูบน้ำ ค่าป้องกันและซ่อมแซมโครงการเนื่องจากอุทกภัย ก่อสร้างระบบเก็บกักและระบายน้ำ อื่นๆ ศึกษา สำรวจ ออกแบบ แผนที่ ระบบกักเก็บและระบายน้ำ ปรับปรุงและวิเคราะห์ข้อมูลและฐานข้อมูล บำรุงรักษาเครื่องมือและจัดทำระบบติดตามสถานการณ์น้ำ บริหารจัดการ ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง
อันดับ 3 งบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่เกี่ยวกับน้ำท่วมรวม 2,789,366,300 บาท คิดเป็น 5.23% โดย มีงบประมาณก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งมากที่สุด 1,547,197,000 บาท คิดเป็น 55.47% กระจายอยู่ใน 35 จังหวัด จังหวัดที่มากที่สุดคือสมุทรสาคร 150,290,000 บาท รองลงมาเป็นงบเพื่อการขุดลอกคลอง อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ หนอง คลองระบายน้ำและกำจัดวัชพืชมากที่สุดรวม 456,705,500 บาท ต่อมาเป็นงบก่อสร้างฝายและเขื่อน 272,936,200 บาท กระจายอยู่ใน 15 จังหวัด เป็นจังหวัดในภาคเหนือมากที่สุด อันดับต่อมาเป็นการซ่อมแซมประตูระบายน้ำ ทางระบายน้ำ 146,353,000 บาท ตามด้วยงบการขุดเจาะบ่อบาดาล 141,117,000 บาท งบปรับปรุงซ่อมแซมเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ 108,657,60 บาท งบก่อสร้างระบบระบายน้ำและประตูระบายน้ำ 101,400,000 บาท
อันดับ 4 งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มี 20 จังหวัด รวม 1,164,120,700 บาท โดยกรุงเทพมหานครได้รับงบประมาณมากที่สุดถึง 70.34% เมื่อจำแนกประเภทของการดำเนินการพบว่า งบประมาณก่อสร้างระบบระบายน้ำและประตูระบายน้ำมากที่สุด 1,051,821,300 บาท คิดเป็น 90.35% ซึ่งเป็นงบเกี่ยวกับการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร 666,788,300 บาท โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี 266,755,100 บาท ส่วนอื่นๆ เป็นการก่อสร้างรางระบายน้ำ ใน 15 จังหวัด งบประมาณมากเป็นอันดับ 2 เป็นงบประมาณก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง 78,405,300 บาท ซึ่งเป็นการก่อสร้างเขื่อนริมคลองเปรมประชากร กรุงเทพมหานคร ส่วนที่เหลือเป็นงบซ่อมแซมประตูระบายน้ำ ทางระบายน้ำ คลองส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ 12,740,800 บาท คิดเป็น 1.09% ปรับปรุงซ่อมแซมเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ 8,784,700 บาท งบค่าใช้จ่ายงานสูบน้ำนอกเขตกรมชลประทานและการบำรุงรักษา 6,335,600 บาท และงบขุดลอกและกำจัดวัขพืช 6,033,000 บาท
อันดับ 5 กระทรวงกลาโหม รวม 1,155,266,400 บาท คิดเป็น 2.16% มีงบประมาณด้านการขุดลอกลำน้ำระดับตำบลมากที่สุด 1,079,405,300 บาท กระจายอยู่ใน 37 จังหวัด เช่น งานขุดลอกลำน้ำตำบลเขาพังไกร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งหมดอยู่ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือประชาชน อันดับ 2 เป็นงบด้านการระบายน้ำ ซึ่งเป็นงบประมาณโครงการปรับปรุงและก่อสร้างระบบระบายน้ำในหน่วยทหารของกองทัพบก จังหวัดราชบุรี 68,044,000 บาท และงบการก่อสร้างฝายใน 5 จังหวัดรวม 7,817,100 บาท
อันดับ 6 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีงบประมาณที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำท่วมรวม 1,123,699,400 บาท คิดเป็น 2.11% โดยใช้งบประมาณไปกับการสร้างและปรับปรุงประสิทธิภาพของฝายประเภทต่างๆ มากที่สุด 381,976,200 บาทใน 49 จังหวัด เช่น ฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน ฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร ฝายต้นน้ำแบบคอกหมู รองลงมาเป็นงบประมาณเกี่ยวกับสร้างและปรับปรุงเครื่องสูบน้ำ 353,585,000 บาท ซึ่งเป็นงบประมาณค่าเครื่องสูบน้ำและสายสูบน้ำ ของกรมทรัพยากรน้ำ ในกรุงเทพมหานคร ตามมาด้วยงบประมาณติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเตือนภัย 323,750,000 บาท เช่น ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบเตือนภัย ล่วงหน้า (Early Warning) สำหรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ค่าพัฒนาระบบตรวจวัดปริมาณน้ำ และงบประมาณเกี่ยวกับบริหารจัดการ เช่น ค่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำนักงาน 50,808,800 บาท ขณะที่งบประมาณบำรุงรักษาเครื่องมือและจัดทำระบบติดตามสถานการณ์น้ำ รวม 9,356,200 บาท และงบปรับปรุงและวิเคราะห์ข้อมูลและฐานข้อมูล 4,223,200 บาท
อันดับ 7 กระทรวงคมนาคม มีงบประมาณเกี่ยวกับน้ำท่วมรวม 710,620,300 บาท คิดเป็น 1.33% โดยมีงบประมาณก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งมากที่สุด 468,389,000 บาท คิดเป็น 65.91% ซึ่งงบประมาณที่มากที่สุดเป็นค่าก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางเรือเดิน ในแม่น้ำป่าสัก จังหวัดอยุธยา 400,513,000 บาท ขุดลอกและกำจัดวัชพืช 187,575,500 บาท โดยเป็นงบประมาณการรขุดลอกร่องน้ำและแม่น้ำใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยาและงบซ่อมแซมประตูระบายน้ำ ทางระบายน้ำ คลองส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ 54,655,800 บาท ซึ่งเป็นการระบายน้ำผ่านถนน
อีกสองหน่วยงานซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใช้งบประมาณสำหรับการจัดทำและจัดการข้อมูลคือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี 309,103,300 บาท คิดเป็น 0.58% และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม งบประมาณที่เกี่ยวกับน้ำท่วมของสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นงบประมาณที่มุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการและการจัดการระบบข้อมูล ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวม 309,103,300 บาท มีงบประมาณของโครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำ ในภาคต่างๆ รวม 153,299,400 บาท รองลงมาเป็นงบประมาณด้านบริหารจัดการรวม 121,100,000 บาท เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานบริหารจัดการองค์กรลุ่มน้ำ ตามมาด้วยงบประมาณศึกษาแผนการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นค่าจ้างที่ปรึกษา รวม 24,998,700 บาท เช่น โครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการ เพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะ (Area Based) ชีตอนกลาง และงบโครงการจัดทำแพลตฟอร์มกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านน้ำ 9,705,200 บาท ส่วนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับงบ 154,758,300 บาท คิดเป็น 0.29% ทั้งหมดเป็นงบประมาณด้านระบบตรวจวัด วิเคราะห์ พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ เช่น ระบบวิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณน้ำจากดาวเทียม THEOS – 2 และกลุ่มดาวเทียมรายละเอียดปานกลาง
กระทรวงอื่นๆ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม 10,000,000 บาท คิดเป็น 0.02% และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 2,500,000 คิดเป็น 0.005% โดยเป็นงบการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งและปรับปรุงภูมิทัศน์ ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
จากงบประมาณที่จำแนกเป็นรายกระทรวงพบว่า กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับงบประมาณแก้ปัญหาน้ำท่วมรวมกันถึง 86.1% ของงบประมาณทั้งหมด ขณะที่งบอีกส่วนหนึ่งกระจายให้กับหน่วยงานระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันแล้วน้อยกว่างบประมาณจากส่วนกลางถึงสิบเท่า
น่าสังเกตว่า กระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบกองทัพ มีงบประมาณเกี่ยวกับน้ำท่วมสูงกว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการขุดลอกลำน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั้งหมดอยู่ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ จังหวัดที่ได้รับงบจัดการน้ำท่วม จากกระทรวงกลาโหม กระจายอยู่ใน 37 จังหวัด
นอกจากนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาระบบติดตามข้อมูลหรือรวบรวมข้อมูล ทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับผิดชอบสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้รับงบประมาณน้อยกว่ามาก
งบกลางช่วยน้ำท่วมสูงลิ่วทุกปี
นอกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่จัดสรรให้กับหน่วยงานต่างๆ แล้ว งบที่เกี่ยวกับน้ำท่วมยังมีงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ซึ่งจัดสรรเพิ่มเติมจากงบประมาณของหน่วยงานรับงบประมาณ ภายใต้รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่มีเป้าหมายในการสร้างความคล่องตัวในกรณีที่ต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้ ผ่านการอนุมัติให้ใช้จ่ายโดยคณะรัฐมนตรีปีงบประมาณ 2560 – 2566 โดยงบกลางแต่ละปีจะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเฉพาะกรอบวงเงินเท่านั้น จากการรวบรวมข้อมูลจาก งบประมาณรายจ่ายงบกลางของไทย: การจัดสรรและการบริหารงบประมาณ 3/2565 และ รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของสำนักงบประมาณของรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างปีงบประมาณ 2560-2566 มีวงเงินอนุมัติรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับน้ำท่วมรวม 97,832.80 ล้านบาท ดังนี้
ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา งบกลางเกี่ยวกับน้ำท่วมของปีงบประมาณ 2566 สูงเป็นอันดับที่ 3 เมื่อพิจารณารายละเอียดจากเอกสารที่นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีมติอนุมัติพบว่า ในปีงบประมาณ 2566 มีการเบิกจ่ายงบกลางเกี่ยวกับน้ำท่วมเพื่อใช้ไปกับ การก่อสร้าง/ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน แหล่งเก็บกักเก็บน้ำ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากที่สุด 8,171.60 ล้านบาท อันดับ 2 เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 จำนวน 1,046,460 ครัวเรือน โดยกระทรวงมหาดไทย 6,258.54 ล้านบาท อันดับ 3 งบฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหาย เช่น ซ่อมแซมถนน โดยกระทรวงคมนาคม 3,786.55 ล้านบาท อันดับ 4 การปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ เช่น ประตูระบายน้ำ ทางระบายน้ำ รวม 3,092.72 ล้านบาท อันดับ 5 โครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วนในพื้นที่เจ้าพระยาใหญ่ในปีพ.ศ. 2566 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการหน่วงน้ำเก็บกัก โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 723.54 ล้านบาท งบประมาณที่เหลือ เป็นการจัดหาเครื่องจักรกลเพื่อเตรียมความพร้อมแก้ไขและบรรเทาอุทกภัย กระทรวงกลาโหม 395.50 ล้านบาท งบสำหรับโครงการฝายชั่วคราวกั้นแมน้ำปิง (โครงการหนองขวัญ) 300 ล้านบาท ขุดลอกแหล่งเก็บน้ำ 144.94 ล้านบาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชน 80 ล้านบาท
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลอนุมัติงบกลาง กรณีอุทกภัย 3 ครั้งในวันที่ 25 มิ.ย. 2567, 13 ส.ค. 2567 และ 3 ก.ย.2567 รวม 22,967.75 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ในฤดูฝนและกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง การซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย และฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
น่าสังเกตว่า นอกจากงบกลางที่เกี่ยวกับน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ยกเว้นในปี 2564 จะเห็นว่างบประมาณบางส่วนเป็นงบประเภทเดียวกับงบประมาณประจำปีด้วย ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างและปรับปรุงแหล่งเก็บน้ำ การปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ รวมถึงการขุดลอกแหล่งน้ำ ซึ่งมีงบประมาณรวมกันถึง 16,694.85 ล้านบาท
ภาคและจังหวัดที่ได้รับงบฯ น้ำท่วมมาก-น้อยที่สุด
เมื่อพิจารณารายภาค โดยแยกกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการของกระทรวงต่างๆ พบว่า ในงบประมาณปี 2566 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีงบประมาณมากที่สุด 16,468,301,200 บาท คิดเป็น 30.85% ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีมีงบประมาณมากที่สุด อันดับ 2 ภาคกลาง 14,849,846,000 บาท คิดเป็น 27.82% ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีงบประมาณมากที่สุด อันดับ 3 ภาคใต้ 7,385,179,500 บาท คิดเป็น 13.84% จังหวัดสงขลามีงบประมาณมากที่สุด อันดับ 4 ภาคเหนือ 5,473,598,300 บาท คิดเป็น 10.25% จังหวัดเชียงรายมีงบประมาณมากที่สุด อันดับ 5 ภาคตะวันตก 2,668,006,600 บาท คิดเป็น 5% จังหวัดกาญจนบุรีมีงบประมาณมากที่สุด อันดับ 6 ภาคตะวันออก 2,606,632,900 บาท คิดเป็น 4.88% จังหวัดชลบุรีมีงบประมาณมากที่สุด ส่วนกรุงเทพมหานคร มีงบประมาณ 3,925,993,000 บาท คิดเป็น 7.36%
10 จังหวัดที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด ได้แก่
- พระนครศรีอยุธยา 3,995,064,900 บาท
- อุบลราชธานี 1,937,382,800 บาท บาท
- สงขลา 1,484,633,300 บาท
- นครพนม 1,477,460,600 บาท
- บึงกาฬ 1,385,701,200 บาท
- เชียงราย 1,328,967,500 บาท
- หนองคาย 1,313,610,300 บาท
- เลย 1,266,597,500 บาท
- เชียงใหม่ 1,134,179,700 บาท
- นครศรีธรรมราช 1,052,184,400 บาท
10 จังหวัดที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด ได้แก่
- สมุทรปราการ 89,661,400 บาท
- หนองบัวลำภู 107,144,800 บาท
- สมุทรสงคราม 117,479,700 บาท
- ภูเก็ต 142,755,900 บาท
- สระแก้ว 145,205,400 บาท
- ตราด 172,180,400 บาท
- กาฬสินธุ์ 179,259,000 บาท
- ระนอง 236,343,500 บาท
- กระบี่ 242,600,000 บาท
- แม่ฮ่องสอน 244,435,200 บาท
ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินสำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณน้ำฝนรายเดือนเฉลี่ย 30 ปี พื้นที่น้ำท่วมในอดีตย้อนหลัง 10 ปี ระยะห่างจากลำน้ำ ความลาดชันของพื้นที่ สภาพการใช้ที่ดิน การระบายน้ำของดิน และพื้นที่ชลประทาน ระหว่างปี 2558 ถึง 2565 พบว่า ภาคกลางมีพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมากที่สุด 54.55% อันดับสอง ตะวันออกเฉียงเหนือ 19.17% อันดับ 3 ภาคเหนือ 9.81% อันดับ 4 ภาคใต้ 8.94% อันดับ 5 ภาคตะวันออก 4.82% อันดับ 6 ภาคตะวันตก 2.01% และกรุงเทพฯ 0.70%
จังหวัดที่มีพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา และกำแพงเพชร ขณะที่ 5 จังหวัดที่ได้งบประมาณเกี่ยวกับน้ำท่วมปี 2566 มากที่สุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี สงขลา นครพนม และบึงกาฬ นอกจากนี้ ยังพบว่าพระนครศรีอยุธยาไม่เพียงแค่ติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของทั้งงบประมาณและพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเท่านั้น แต่ในปี 2566 ยังเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่น้ำท่วมมากที่สุดด้วย 415,582.96 ไร่
อีกจังหวัดหนึ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ เลย ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณน้ำท่วมปี 2566 มากเป็นอันดับ 9 แต่เมื่อดูข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ไม่พบว่ามีการบันทึกไว้ พื้นที่น้ำท่วมในปี 2565-2566 มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดของงบประมาณปี 2566 จังหวัดเลยมีงบประมาณเกือบครึ่งหนึ่งเป็นงบสร้างเขื่อนป้องกันริมตลิ่งแม่น้ำโขง
ดูข้อมูลที่ https://rocketmedialab.co/database-flood-budget/
สรุป
แม้จะเป็นงบประมาณเพียงปีเดียว แต่ข้อมูลงบประมาณปี 2566 อาจทำให้เราเห็นภาพโครงการ วิธีดำเนินการ รวมไปถึงพื้นที่ที่มีการดำเนินการ ในการป้องกันน้ำท่วมในประเทศไทยในปัจจุบันที่อาจจะเสร็จสิ้นไปแล้วหรือกำลังดำเนินการอยู่ ว่าเป็นอย่างไรและส่งผลอย่างไรต่อการป้องกันน้ำท่วมในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ ปี 2567 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง การวางแผนป้องกันน้ำท่วมจากปีงบประมาณ 2566 นั้นมีประสิทธิภาพแค่ไหนเมื่อพิจารณาจากการงบประมาณ โครงการ วิธีดำเนินการ รวมไปถึงพื้นที่ที่มีการดำเนินการ เปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน
และยังอาจจะสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันว่าให้ความสำคัญกับการป้องกันด้วยการก่อแนวกำแพงป้องกันให้สูงขึ้น พยายามควบคุมกำกับทิศทางของกระแสน้ำ ปรับปรุงการทางระบายน้ำ ขณะที่น้ำท่วมสัมพันธ์โดยตรงกับความผันผวนของสภาพอากาศ ดังเช่น ปรากฏการณ์ลานีญาที่นำมาซึ่งปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติ ลักษณะการกระจุกตัวของฝนที่เปลี่ยนไป ลำน้ำหลายสายมีสิ่งกีดขวางเพิ่มมากขึ้น เช่น การก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง และพื้นที่ป่าที่ลดลง หรือเหตุน้ำท่วมปี 2567 ที่เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเมินว่า ภาคเหนือเสียหายจากอุทกภัยเทียบเท่ากับเหตุน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 โดยมีปัจจัยที่ซับซ้อนกว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติ อย่างกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้ภูมิประเทศเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น น้ำท่วมแพร่หนักมาก ทั้งที่ฝนไม่มาก หรือการที่เกิดระเบิดฝน (Rain Bomb) ซึ่งมีลักษณะตกสั้นๆ แต่ตกหนักในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งถี่มากขึ้น เช่นที่เกิดขึ้นล่าสุดในจังหวัดตราด และภูเก็ต
นอกจากนั้น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังเคยเปรียบเทียบการจัดการปัญหาน้ำท่วมในต่างประเทศและเสนอแนวทางสำหรับประเทศไทยเมื่อปี 2564 ไว้ว่า ไทยต้องให้ความสำคัญกับ 1) ผังเมือง/ผังน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่เมือง เพื่อควบคุมการใช้ที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้สอดคล้องกับพื้นที่และทิศทางการไหลของน้ำ 2) การคาดการณ์สถานการณ์และเส้นทางการไหลของน้้าที่ชัดเจน 3) ระบบเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงที่ต้องทันต่อสถานการณ์และทั่วถึง อย่างการส่งข้อความในมือถือแทนการแจ้งผ่านเสียงตามสาย 4) การพัฒนา/ฟื้นฟู/บำรุงรักษาพื้นที่รองรับน้้าและพื้นที่ชะลอน้้าให้มีมากขึ้นและพร้อมใช้งาน 5) การเตรียมพื้นที่รองรับกรณีมีผู้ประสบภัย
จึงน่าสนใจว่าแนวทางตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2561 จะยังใช้รับมือและจัดการกับปัญหาน้ำท่วมได้อย่างประสิทธิภาพหรือไม่ และการใช้งบประมาณเรื่องน้ำท่วม ผ่านโครงการ วิธีดำเนินการ รวมไปถึงพื้นที่ที่มีการดำเนินการ ในแบบปัจจุบันจะสามารถป้องกันเหตุน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน