ปัญหาประมงชายฝั่งทะเลใต้มีหลายอย่าง เช่น ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ปัญหาเศรษฐกิจของชุมชนชาวประมงชายฝั่ง และปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเกี่ยวพันกันเป็นองค์รวม โดยโจทย์ใหญ่ที่เป็นสาเหตุและต้องหาแนวทางแก้ไขเร่งด่วนคือ “การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง” ให้เกิดความเป็นธรรมและยั่งยืนเพราะเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากกับการดำรงอยู่ร่วมกันของชุมชนชาวประมงกับทรัพยากรในชุมชน
ปัญหาที่พบในเรื่องของความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล สามารถสรุปได้ว่าเกิดจาก
1) การลดลงของทรัพยากรอันเนื่องมาจากการจับสัตว์น้ำเกินกำลังผลิต เช่น การใช้เครื่องมือประมงที่มีผลกระทบต่อทรัพยากร โดยที่เครื่องมืออวนรุนประกอบเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ เป็นการทำลายแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ
2) การใช้เครื่องมือประมงในลักษณะที่ทำลายล้างยังไม่มีการยกเลิกให้ทำได้นอกเขต 3,000 เมตร ส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลง เกิดจากระบบนิเวศทางทะเลเสียหาย
3) กฎหมายไม่ได้ออกแบบมาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านและไม่เอื้อต่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม กฎหมายประมงรวมศูนย์การตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรมากนัก
4) รัฐไม่ได้มีนโยบายลดเครื่องมือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรทางทะเลลดลง นอกจากนั้นเครื่องมือทำลายล้างเปลี่ยนแปลงไปอย่างทันสมัย
อีกทั้งเมื่อสังคมพัฒนาสู่การเป็นทุนนิยมได้ก่อปัญหาสำคัญตามมาให้กับหมู่บ้านชาวประมงเดิม คือชาวประมงไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจแบบใหม่ได้ ด้วยต้นทุนในการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ผนวกกับเทคโนโลยีแบบใหม่ที่มีราคาที่สูงเกินกว่าจะรับได้ และการเข้ามาของเรือประมงพาณิชย์ที่มีเทคโนโลยีแบบใหม่ได้เข้ามากอบโกยทรัพยากรในพื้นที่ไปในระดับสเกลที่ใหญ่กว่าเพื่อการส่งออก ส่งผลให้เกิดการทำลายทรัพยากรทางทะเลที่มีอยู่เดิมจำพวกปะการัง สัตว์น้ำ พืชพรรณต่าง ๆ รวมถึงทำให้ระบบนิเวศเดิมเปลี่ยนแปลงไป พร้อม ๆ กับการทำลายวิถีการทำประมงแบบเดิมลงไปด้วย
ชาวประมงมีความจำเป็นต้องหาอาชีพอื่นทำมากขึ้น เพราะการทำประมงแบบเดิมไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอต่อความอยู่รอด นอกจากนี้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารที่เคยมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ให้ต้องมีปัญหาขาดแคลนทรัพยากร
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความยั่งยืนของการทำประมงและสร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรทางทะเลต่อไป
บทความนี้ต้องการแสดงให้เห็นปัญหาที่เกิดจากการจัดการทรัพยากรชายฝั่งเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้เกิดความเป็นธรรมและยั่งยืน รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรให้เป็นแหล่งอาหารและช่องทางเศรษฐกิจของชาวประมงอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมได้
ปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลภาคใต้
การทำประมงชายฝั่งภาคใต้ในปัจจุบัน มีการนําสัตว์น้ำในทะเลขึ้นมาใช้ประโยชน์จํานวนมหาศาลอย่างต่อเนื่องยาวนาน ภายใต้ฐานคิดที่ว่าสัตว์น้ำในทะเลเป็นของสาธารณะจึงเกิดการทําประมงอย่างเสรีขึ้นตามน่านน้ำต่าง ๆ ประกอบกับกฎหมายด้านการประมง ได้แก่ พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ที่มีการบังคับใช้มานานและยังไม่มีการปรับแก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์ ทําให้การจัดการด้านการประมงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังพบว่าเรือประมงจํานวนมากไม่มีทะเบียน ไม่มีใบอนุญาตทําการประมง หรือใช้เรือประมงที่ทําการสวมทะเบียนเรือ รวมถึงใช้เครื่องมือการทําประมงไม่ตรงกับใบอนุญาตที่ได้รับจากกรมประมง ส่งผลให้เกิดปัญหาการนําสัตว์น้ำมาใช้ประโยชน์ในปริมาณมากจนเกินกว่าที่ธรรมชาติจะผลิตขึ้นมาทดแทนได้
อย่างในกรณีเมื่อปี พ.ศ.2535 เป็นช่วงเวลาแห่งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวปัตตานี เนื่องจากปัญหาการทำประมงโดยใช้อวนรุนและอวนลากโดยประมงพาณิชย์ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถทำมาหากินกับการประมงเพื่อยังชีพแบบเดิมได้อีกต่อไป
ในช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์ปัญหาของชุมชนประมงพื้นบ้านชายฝั่งภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากกระแสการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการขยายตัวอย่างมากของเรือประมงพาณิชย์ที่เข้ามาดำเนินกิจการในพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำประมงของชาวประมงพื้นบ้านโดยเฉพาะการทำให้ทรัพยากรทางทะเลเสื่อมโทรมและยังมีการบุกรุกเข้าไปในเขตชายฝั่งซึ่งเป็นเขตทำกินของชาวประมงพื้นบ้านทำให้พื้นที่บริเวณชายฝั่งเสียหายตามไปด้วย เนื่องจากเรือประมงพาณิชย์ไม่เพียงจับสัตว์น้ำตัวเล็กตัวน้อยไปเท่านั้นแต่ยังทำลายทรัพยากรชายฝั่งที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนด้วย เช่น ปะการังและหญ้าทะเล ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความยั่งยืนของการจัดการทรัพยากรของการประมงชายฝั่งทางภาคใต้ของไทย ชุมชนชาวประมงเดิมจำเป็นต้องทำการปรับตัวเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น ต้องมีการติดต่อกับทุนภายนอกที่เข้ามามากขึ้น ส่งผลให้การทำประมงแบบดั้งเดิมเริ่มประสบความล้มเหลว
เนื่องจากรายได้หลักของครัวเรือนชาวประมงมาจากความสมบูรณ์ของท้องทะเลเป็นหลัก ความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ การทำประมงที่ขาดการควบคุม การทำลายป่าชายเลนเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่เลี้ยงกุ้งเพื่อการค้า และการปล่อยน้ำเสียจากชุมชนและจากการเลี้ยงกุ้งลงทะเลโดยไม่บำบัด ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบอย่างมากต่อชุมชน สะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาการจัดสรรทรัพยากรและการจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรของชาวประมงบางส่วนที่อาจส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เมื่อผนวกกับการที่พื้นที่ชุมชนชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารอยู่แล้ว ทำให้ชุมชนชายทะเลต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารของครัวเรือนไว้ ดังพบว่า ชาวประมงจำเป็นต้องออกทะเลไปหากินไกลจากฝั่งมากขึ้น
จากแต่เดิมอยู่ในเขตรัศมีไม่เกิน 3 กิโลเมตร ปัจจุบันต้องออกเรือไปไกลมากขึ้นถึงอย่างน้อย 10 กิโลเมตร ซึ่งการออกทะเลลึกมากขึ้นต้องลงทุนซื้อเรือใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ต้องซื้อเครื่องมือประมงมากขึ้นเพื่อให้คุ้มกับการออกทะเลไกล ๆ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยขึ้นอยู่กับขนาดเรือ จำนวน และชนิดเครื่องมือ นอกจากนี้ยังต้องจ้างคนงานร่วมออกทะเลมาเพิ่ม ดังนั้นหากครัวเรือนไม่มีการสะสมทุนที่มากเพียงพอก็จะไม่สามารถลงทุนเพิ่มได้ เมื่อปรับตัวไม่ได้รายได้ก็ลดลงหรือมีหนี้เพิ่ม จำเป็นต้องหันไปหารายได้จากแหล่งอื่น ครัวเรือนชาวประมงท้องถิ่นจึงเกิด “ภาวะล่มสลายในอาชีพประมง”
หรือในกรณีชุมชนรอบอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ประสบกับความท้าทายทางด้านต้นทุนในการทำประมงและการลดลงของทรัพยกรทางทะเล ทำให้ชาวประมงส่วนหนึ่งหันมาทำมาหากินที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเช่นการขับเรือบริการนักท่องเที่ยว โดยปัจจุบันเรือประมงในชุมชนกว่า 20 ลำในชุมชนได้เปลี่ยนมาให้บริการเรือท่องเที่ยว
งานศึกษาของ ปองเพชร ธาราสุข และคณะ ศึกษาการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนของอาชีพในครัวเรือนประมงพื้นบ้านชายฝั่งในจังหวัดตรัง แสดงให้เห็นปัจจัยที่มีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนในอาชีพของครัวเรือนประมงพื้นบ้านชายฝั่งในจังหวัดตรัง โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างครัวเรือนประมงพื้นบ้านชายฝั่งที่อาศัยอยู่ในอำเภอสิเกา อำเภอกันตัง อำเภอหาดสำราญและอำเภอปะเหลียน จำนวน 240 ครัวเรือน มีจำนวนเรือประมงทั้งสิ้น 1,343 ลำ มีครัวเรือนประมงประมาณ 5,129 ครัวเรือน มีจำนวนเรือประมงที่ไม่มีเครื่องยนต์ 563 ลำและได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาประเทศที่เน้นการผลิตเพื่อการค้า มีการใช้เครื่องมือประมงประเภททำลายล้าง เช่น อวนรุนและอวนลากทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว
จังหวัดตรังจึงได้พยายามฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งให้กลับสู่ความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2552 มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น 294,481.61 ไร่ มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ แต่ยังได้ผลไม่ชัดเจนนักและยังไม่เพียงพอกับความต้องการในการดำรงชีพของครัวเรือนประมง สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนประมงพื้นบ้านชายฝั่งยังมีความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหาร หรือในงานศึกษาของมือรัน เจะนิและคณะ ชี้ให้เห็นว่าวิถีประมงเดิมต้องอาศัยความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าชายเลนและชายฝั่งทะเลที่ปราศจากมลพิษและปราศจากการทำประมงด้วยเครื่องมือที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำและเป็นการดูแลรักษาเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำจึงจะทำให้ห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำคงความสมบูรณ์ สัตว์น้ำเหล่านี้จะเป็นแหล่งอาหารและที่มาของรายได้สำคัญของชุมชนชายฝั่งและระบบการทำการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกันไม่ว่าจะเป็นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
จากสภาพการณ์ดังกล่าวได้พบการร่วมมือกันสร้างข้อเสนอจากเครือข่ายของชาวประมงพื้นบ้าน โดยมีความพยายามผลักดันให้เครือข่ายเหล่านี้มีบทบาทมากขึ้นในการดูแลผลประโยชน์ของชาวประมงท้องถิ่นในภาคใต้ เช่น ในงานศึกษาของ อยับ ซาดัดคาน ที่ศึกษาบทบาทของกลุ่มเครือข่ายประมงพื้นบ้านในการอนุุรักษ์และฟื้นฟููสิ่งแวดล้อมอ่าวท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลาจัดตั้งขึ้นมาหลังจากเหตุการณ์สำคัญ คือ ภัยคุกคามจากภายนอกที่เกิดจากการทำประมงอวนรุนและอวนลากที่ผิดกฎหมายซึ่งได้ทําลายเครื่องมือประมงพื้นบ้าน ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ และระบบนิเวศในทะเล ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเป็นอยู่ของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ชาวประมงพื้นบ้านจึงได้รวมกลุ่มกันโดยมีหลักการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมผ่านระบบสิทธิชุมชนและผลประโยชน์ของชาติ โดยชาวประมงพื้นบ้านมีแนวคิดเรื่องการจัดการทรัพยากรชายฝั่งเพื่อความยั่งยืน และชูประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนและอัตลักษณ์ความเป็นประมงพื้นบ้าน
ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลาส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามจึงมีระบบคุณค่าและความเชื่อที่มีพื้นฐานจากหลักการทางศาสนาอิสลามเป็นสำคัญ โดยมีความเชื่อว่าทะเลเป็นทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน เป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าสร้าง การใช้ประโยชน์จากทะเลจึงต้องกระทำด้วยความเคารพ ต้องเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของท้องทะเล รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในทะเลต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม คุ้มค่า และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
ในภาคส่วนของท้องถิ่นนอกจากจะมีการพัฒนาของกลุ่มเครือข่ายประมงพื้นบ้านที่รวมตัวกันเพื่อให้ความสนใจกับปัญหาที่เป็นผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวปะมง ยังมีการตั้งกลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน การจัดตั้งกองทุนเครื่องมือประมง กลุ่มออมทรัพย์ ร้านค้าชุมชน เป็นต้น มีการศึกษาข้อมูลทางวิชาการและดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและการพัฒนาชายฝั่ง เช่น การสร้างบ้านสัตว์น้ำการทำระเบิดชีวภาพ การปลูกป่าชายเลน การทำธนาคารปูม้า และการทำปะการังเทียม ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็มีการรวมตัวกันต่อสู้เรียกร้องให้ภาครัฐได้เข้ามาดูแลช่วยเหลือและป้องกันการรุกล้ำของประมงพาณิชย์ที่ทำประมงแบบทำลายระบบนิเวศ มีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังการทำประมงแบบล้างผลาญ และยังมีการเรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุนกองทุนให้แก่ชาวประมงพื้นบ้านที่ขึ้นทะเบียนไว้กับประมงเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพประมงในภายภาคหน้า สนับสนุนเครื่องมือทำประมงที่ถูกกฎหมายให้แก่ชาวประมง เพื่อส่งเสริมและหนุนเสริมให้เกิดแรงจูงใจในการทำประมงที่ไม่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการที่รัฐควรให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ทำประมงอย่างถูกกฎหมาย เช่น ให้สินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการประมงที่ต้องการประกอบอาชีพประมงต่อไป และรับซื้อเรือประมงคืนในราคาที่เป็นธรรมจากผู้ประกอบการที่ต้องการเลิกประกอบอาชีพประมง และควรส่งเสริมการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยและรวบรวมฝูงปลา โดยการสร้างบ้านปลาหรือซั้ง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนจัดเป็น Fish Aggregating Devices (FADs) โดยใช้วัสดุที่หาได้ในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งสามารถลดต้นทุนและมีผลทางอ้อมในการป้องกันไม่ให้เรือประมงพาณิชย์เข้ามาทำการประมงใกล้ชายฝั่ง
แนวทางการจัดการทรัพยากรทางทะล
การรวมกลุ่มของชาวประมงเพื่อสร้างเป็นเครือข่ายดังกล่าวนี้ ในแง่หนึ่งเป็นการพยายามปรับตัวของชาวประมงท้องถิ่นที่มีความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติของทรัพยากรในพื้นที่ การทำประมงดั้งเดิมที่พวกเขาทำมาอย่างต่อเนื่องนั้นได้หล่อเลี้ยงครอบครัวและชุมชนของพวกเขาจนกระทั่งความเปลี่ยนแปลงจากตลาดที่เข้ามาสู่พื้นที่ทำให้พวกเขาต้องทำประมงเพื่อการค้ามากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงมากหากต้องการแข่งขันพวกเขาจึงต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและการจัดการทรัพยากรทางทะเลจึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาให้ความสำคัญเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ดำรงอยู่และเป็นการสร้างแนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรร่วมกับการรักษาวิถีชีวิตชุมชนชาวประมงพื้นบ้านให้อยู่รอดต่อไป ในที่นี้จะเสนอแนวทางสำหรับการจัดการทรัพยากรทางทะเลที่สามารถทำได้ดังนี้
- ควรส่งเสริมการจัดการทรัพยากรที่ดินและการจัดการทรัพยากรมนุษย์ในมิติการใช้ประโยชน์และการสร้างความยั่งยืนในอาชีพ เช่น
- 1.1 การเพิ่มความพร้อมของเครื่องมือประมงและการลดระยะทางในการจับสัตว์น้ำลงในมิติการเข้าถึงทรัพยากร
- 1.2 การเพิ่มเครื่องมือประมงให้สามารถทำประมงได้ทุกฤดูกาลและการส่งเสริมของกรมประมงควรตอบสนองความต้องการของครัวเรือนประมงพื้นบ้านผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม
- 1.3 ควรมุ่งเน้นความตระหนักรู้ของคนในชุมชนต่อทรัพยากรป่าชายเลนและทะเล ส่วนการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ต้องให้ครัวเรือนประมงพื้นบ้านมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการกำหนดแนวปะการังเทียมในมิติการใช้ประโยชน์
- 1.4 การเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและลดสัดส่วนการซื้ออาหาการซื้ออาหารจากตลาดและ/หรือร้านค้าลง
2 .ควรควบคุมจำนวนเรือประมงให้มีความเหมาะสมกับสถานภาพของทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชาวประมงท้องถิ่นที่จะช่วยลดการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้จะสามารถช่วยในการทำความเข้าใจการอนุรักษ์ทรัพยากรของสัตว์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความยั่งยืนของการใช้ประโยชน์ในการทำการประมง
3.ควรส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารของครัวเรือน โดยครัวเรือนต้องมีรายได้ที่เพียงพอ ซึ่งรายได้ในปัจจุบันของครัวเรือนมี สัดส่วนมากกว่าค่าใช้จ่ายมากเนื่องจากรายได้หลักมาจากภาคประมงมีความเสี่ยง ดังนั้นครัวเรือนต้องมีการวางแผนการเงินของครัวเรือนสำหรับอนาคตที่ไม่แน่นอน โดยการ
3.1 ส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือน โดยความร่วมมือกับกลุ่มนักวิชาการ ในการวิจัยหาแนวทางให้การทำบัญชีมีความต่อเนื่องและประเมินผลให้เห็นข้อดีอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
3.2 จัดโครงการอบรมเรื่องการออมและการลงทุนทั้งในส่วนของเยาวชน ผ่านโรงเรียน หรือชุมชน ตลอดจนการอบรมให้แม่บ้าน พ่อบ้านที่สนใจ โดยความร่วมมือกับกลุ่มนักวิชาการ
3.3 ชาวประมงส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันประเภทที่ดิน การเข้าถึงเงินทุนของสถาบันการเงินทำได้ลำบาก และการสนับสนุนด้วยการให้กู้ยืมเงินเพื่อการขยายฐานการประกอบอาชีพ (micro-lending) เพื่อสนับสนุนให้ชาวประมงขนาดเล็กได้ขยายเรือประมงและเครื่องมือประมง (โดยใช้เรือประมงเป็นหลักค้ำประกันเช่นเดียวกับการให้สินเชื่อรถยนต์) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุนไปพร้อม ๆ กับการให้ความรู้และเสริมสร้างความรู้ในการจัดการและการบริหารเงินทุน.
เรียบเรียงจาก บทความ เรื่อง “แนวทางการจัดการทรัพยากรชายฝั่งเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน” ภายใต้โครงการวิจัย “การสังเคราะห์ความรู้จากงานวิจัยตามแผนยุทธศาสตร์ ววน. เพื่อการสื่อสารสาธารณะ” โดย สกสว.