สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานกองทุนสนับสุนการวิจัย (สกว.) และ สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส เล็งเห็นถึงความสำคัญและโอกาสในการติดตามปัญหาและผลกระทบจากปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive Alien Species) ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ตามแหล่งน้ำต่างๆ กว่า 16 จังหวัด
จึงจัดกิจกรรม Hackathon วิกฤตปลาหมอคางดำ : แลเลสาบสงขลา เพื่อระดมความคิดเห็น แนวทางการแก้ไขปัญหาและการจัดการปลาหมอคางดำในประเทศไทย โดยใช้แนวคิด Hackathon มาใช้ ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2567 ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา
โดยเปิดให้ผู้ที่มีความสนใจจากหลากหลายกลุ่มทั้งนักสร้างสรรค์ นักคิด นักออกแบบมาเข้าร่วมโครงการซึ่งมีทั้งหมดผู้เข้าร่วมกว่า 50 คน แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มไอเดียในการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ทั้งในรูปแบบการสื่อสาร และเครื่องมือการแก้ปัญหา ชวนทุกท่านไปอ่านที่มาที่ไปของไอเดียแต่ละทีมด้วยกัน
เรารักษ์เลสาบ
(ทีม We Save Lagoon)
แพลตฟอร์มที่ช่วยให้คนในชุมชนรอบทะเลสาบได้มีส่วนร่วมกันป้องกันและอนุรักษ์ทะเลสายบอย่างยั่งยืนด้วย Line OA และ Web App ซึ่งจะเน้น 3 ด้านหลักๆ คือ การป้องกัน (Preventive) การสร้างคุณค่า (Value) และการสร้างความยั่งยืน (Sustainability)
แพลตฟอร์มนี้ประกอบด้วย 6 เมนูหลักสำคัญที่เข้าใจง่าย และสิ่งที่ทำให้แพลตฟอร์มนี้แตกต่างจากที่อื่นคือตรงส่วน “เช็คลมฟ้าอากาศและน้ำขึ้นน้ำลง” ที่ผู้ใช้งานสามารถเช็คสภาพภูมิอากาศได้ และเป็นจุดดึงดูดให้คนเข้ามาใช้งาน
“ผมคิดว่าชุมชนในพื้นต้องมีส่วนร่วมช่วยกันแก้ปัญหา ถ้าเรามีแพลตฟอร์มตัวนี้ตั้งต้นไว้แล้วให้คนที่เข้ามาใช้งานได้เริ่มรับรู้จากตัวอย่างปลาหมอคางดำ รายงานเข้ามาในอนาคตอันใกล้อาจจะมีภัยจากเอเลี่ยนสปีชีส์ตัวอื่นเข้ามาไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ก็สามารถใช้ได้” – วรนล ฐิตินันทกร ตัวแทนจากกลุ่มทีมเรารักษ์เลสาบ
วิสาหกิจคางดำ
(ทีม MCD)
แก้โจทย์ปัญหาปลาหมอคางดำด้วยกลไกของท้องถิ่น เสนอตั้งวิสาหกิจชุมชนเป็นตัวกลางในการรับซื้อปลาหมอคางดำ นำมาแปรรูปให้เป็นน้ำหมักปุ๋ยสำหรับสวนปาล์มในพื้นที่ ซึ่งมีความต้องการใช้ปุ๋ยเป็นจำนวนมาก
“นอกจากการแก้โจทย์เรื่องนี้โดยให้ประชาชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม อยากให้มองอีกมุมนึงคือ
เอเลี่ยนสปีชีส์ชไม่ได้มีแค่ปลาหมอคางดำยังมีปลาดุกอุยหรือหอยเชอรี่ ฉะนั้นสุดท้ายคือเราจะสามารถปรับตัวอยู่กับมันได้อย่างไร อาจจะกำจัดได้ไม่หมดแต่สามารถปรับตรงไหนให้ปลาหมอคางดำไม่ทำร้ายธรรมชาติอย่างอื่น” – อนันตญา จันทร์ลิ้ม ตัวแทนจากกลุ่มทีม MCD
นิทรรศการนกน้ำเพลินตา สมิหลาคางดำ
(ทีมปลาหมอตายเพราะปาก)
ไอเดียตั้งต้นมาจากปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำยังเป็นเรื่องไกลตัวและเข้าถึงยาก ทีมจึงทำนิทรรศการขึ้นมา โดยมีเป้าหมายคือให้ความรู้ การเตรียมพร้อมรับมือกับปลาหมอคางดำที่จะรุกรานในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา และการฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ซึ่งนิทรรศการจะแบ่งเป็นทั้งหมด 4 โซน ได้แก่
1. มาลองแล พื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับปลาหมอคางดำ
2. start up พื้นที่แบ่งปันข้อมูลและแก้ไขปัญหา
3. ผลัดกันแหลง พื้นที่ปลอยไอเดีย
4. หรอยจังฮู้ ตลาดปลาหมอคางดำ เชิญชาวบ้านมาขายของจากแปรรูปปลาหมอคางดำ
“กลุ่มเราเรียนนิเทศศาสตร์มาเลยจะเน้นด้านการสื่อสารเป็นหลัก ทำอย่างไรให้คนรู้เรื่องราวของปลาหมอคางดำในพื้นที่ทะเลสาบสงขลามากขึ้น โดยทำเป็นนิทรรศการเหมือนแบงค็อกดีไซน์วีคให้น่าสนใจและเป็นจุดท่องเที่ยวด้วยและ มีคนในท้องถิ่นเป็นพาร์ทเนอร์ในการประชาสัมพันธ์” – ณิชากร เชื้อแสดง ตัวแทนจากกลุ่มทีมปลาหมอตายเพราะปาก
เลเราต้องดี หมอคางดำต้องไป
(ทีมอุบไว้ก่อน)
นวัตกรรมการสื่อสาร เพื่อให้ทะเลสาบสงขลาปลอดปลาหมอคางดำ โดยเชื่อมโยงผู้คนและระบบนิเวศผ่านมิติความมั่นคงทางอาหาร มีเป้าหมายสำคัญคือคนในพื้นที่สามารถแยกปลาหมอคางดำกับปลาพื้นถิ่นได้ เกิดความร่วมมือในการแก้ปัญหาและการอนุรักษ์
“ตั้งต้นมาจากทำอย่างไรให้คนในพื้นที่ตื่นตัวมากขึ้น เลยสำรวจดูว่าวิถีชีวิตของคนในพื้นที่เป็นแบบไหนซึ่งจะมีวงน้ำชา ที่เขามานั่งพูดคุยกัน จะเชิญชวนนักวิชาการมาให้ความรู้ พูดคุยการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยกลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นชาวประมงในพื้นที่” – ภิญญาพัชร์ มงคลพัฒนศักดิ์ ตัวแทนจากกลุ่มทีมอุบไว้ก่อน
DNA_Alert
(ทีม Alien Buster)
พัฒนาชุดตรวจ eDNA ตรวจเช็คความหนาแน่นของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ สามารถใช้ได้ตั้งแต่ช่วงก่อนการระบาดเพื่อเฝ้าระวัง ชี้เป้าพื้นที่ระหว่างการระบาดเพื่อให้ใช้มาตรการที่เหมาะสม และหลังการระบาดอย่างครบจบทั้งวงจร
“ไอเดียคือการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่าอีดีเอ็นเอ มาใช้ในการมอนิเตอร์ควบคุมก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ หรือช่วยเสริมการตัดสินใจกับการใช้มาตรการที่จะจัดการกับปลาหมอคางดำ” – ศรัณย์พร เกิดเกาะ ตัวแทนจากกลุ่มทีม Alien Buster
Fishing Hunter
(ทีมหด)
เกมที่ให้ประสบการณ์เสมือนในการเป็นผู้ดูแลทะเลสาบสงขลาจากปลาหมอคางดำ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะไปลงมือจับปลาหมอคางดำด้วยตัวเองได้ เกมนี้จึงจำลองให้เห็นว่าการจับหรือไม่จับปลาหมอคางดำนั้นจะส่งผลต่อระบบนิเวศน์และสัตว์พื้นถิ่นอย่างไร โดยใช้ทะเลสาบสงขลาเป็นต้นแบบ
“กลุ่มเราอาจจะไม่เก่งเรื่องของเทคนิคหรือนวัตกรรม แต่มีความรู้ด้านสื่อที่สามารถต่อยอดได้ เลยอยากทำเป็นคลังความรู้เกี่ยวกับปลาหมอคางดำ เพราะในปัจจุบันคนรู้จักแต่ยังแยกระหว่างปลานิลไม่ออกเลยจะทำเป็นอินโฟกราฟฟิค มีแคมเปญให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมลงมือเกี่ยวกับปลาหมอคางดำ อาจจะเป็นชวนมาจับทำเมนูหรือว่าเอาปลาหมอคางดำไปต่อยอดอย่างอื่นได้” – วรวลัญช์ พูลเกิด ตัวแทนจากกลุ่มทีมหด
นโยบายการจัดการปลาคางดำแบบเบ็ดเสร็จ
(ทีมโต๊ะ 9)
มาตรการลดภาษีให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากเนื้อปลาหมอคางดําสด เช่น เนื้อปลาบดแช่เยือกแข็งโรงงานแปรรูปลูกชิ้นส่วนปลาหมอคางดำไซส์เล็กก็แปรรูปเป็นโปรตีนไฮโดรไลซ์ วัตถุดิบอาหารสัตว์ เมื่อตลาดมีความต้องการใช้ปลาหมอคางดําทุกขนาดก็จะ เป็นแรงจูงใจให้ชาวประมงในท้องถิ่นและชุมชนช่วยกันทําการประมงจับปลาหมอคางดํา
โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงได้แก่ ระยะแรก กําหนดนโยบายสนับสนุนให้เกิดแรงจูงใจในการทําประมงและใช้ประโยชน์ ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติ Set Zero บางแหล่งน้ำ ให้ความรู้กับชุมชน พัฒนาชุดตรวจปลาหมอคางดำเหมือน ATK ปลาหมอคางดําระยะกลาง จัดตั้งอาสาประมงประจำหมู่บ้าน แข่งขันจับปลาหมอคางดำทุก 3 สัปดาห์ ระยะยาว ฟื้นฟูแหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบ
“ในกลุ่มของเรามองปัญหาในภาพกว้างว่ามันมาจากไหนจะป้องกันอย่างไรไม่ให้ปลาหมอคางดำระบาดในทะเลสาบสงขลา โดยมองจากพื้นที่ที่เรามีประสบการณ์มองในภาพรวมว่าทำอย่างไรจะได้ผลดีขึ้นกว่านโยบายของภาครัฐที่เขาทำมาก่อนหน้านี้อย่างเช่นพวกการรับซื้อ ทำให้ chain มันครบจบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ” – สิริพงศ์ วงศ์พรประทีป ตัวแทนจากกลุ่มทีมโต๊ะ 9
สนใจฟังการนำเสนอของแต่ละทีมเพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/100081516573872/videos/973655414444412