อบจ. หรือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ มี 76 แห่งทั่วประเทศ (ยกเว้นกรุงเทพฯ) มีขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมอาณาเขตของทั้งจังหวัด
อบจ. ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
โครงสร้างของอบจ. ประกอบด้วย
1.นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
2.สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ ส.อบจ. ทำหน้าที่เป็นสภา มีอำนาจพิจารณาข้อบัญญัติต่าง ๆ ของอบจ. และ พิจารณาการจัดสรรงบประมาณ
หน้าที่ของ อบจ. มีอะไรบ้าง?
ภารกิจหลักของอบจ. ได้แก่
ด้านการบริหารและกฎหมาย
- ตราข้อบัญญัติ อบจ. ซึ่งเป็นกฎหมายของ อบจ. โดยเฉพาะ ซึ่งอาจกำหนดเรื่องการบริหารจัดการบริการสาธารณะต่าง ๆ หรือกำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของ อบจ.
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
- การจัดทำบริการสาธารณะต่าง ๆ เช่น สร้างถนน สะพาน เส้นทางคมนาคมทางบกและทางน้ำ ท่อขนส่งระบายน้ำ จัดระบบขนส่งมวลชน
ด้านสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม
- คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บำรุงรักษาป่าไม้ ที่ดิน จัดการมลพิษต่าง ๆ
- บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมของท้องถิ่น
- จัดการ ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการศึกษา รวมทั้งการจัดการหรือสนับสนุนการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก
- การส่งเสริมการท่องเที่ยว
ด้านสังคมและความปลอดภัย
- การรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในจังหวัด
- การจัดการขยะและติดตั้งระบบำบัดน้ำเสีย
- การจัดให้มีโรงพยาบาลจังหวัด การรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ
อบจ. ต่างจากจังหวัดและ อปท. อื่นอย่างไร?
อบจ. เน้นทำโครงการขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงหลายพื้นที่ในจังหวัด โดยแบ่งบทบาทกับหน่วยงานอื่นดังนี้
- เทศบาล/อบต. ดูแลพื้นที่เฉพาะในเขตของตน เช่น ถนนในซอย ไฟฟ้าในชุมชน
- จังหวัด (ผู้ว่าฯ) ดูแลนโยบายจากส่วนกลาง และประสานงานภาพรวม
- อบจ. ทำโครงการที่เชื่อมระหว่างท้องถิ่น เช่น ถนนเชื่อมตำบล โรงพยาบาลจังหวัด และสามารถสนับสนุนงบประมาณให้ อปท. อื่นได้
***หากมีภารกิจที่ทับซ้อนกัน จะใช้หลัก “ใครพร้อมทำก่อนได้ทำก่อน” เพื่อประโยชน์ของประชาชน
งบประมาณของอบจ. มี 3 ทาง คือ
1.รัฐจัดสรร แบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
1.1)รัฐจัดเก็บให้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542) ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อน (ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและข้้นตอนการกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542)
ค่าภาคหลวงแร่และปิโตรเลียม (ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542)
1.2)รัฐจัดเก็บแล้วแบ่งให้จาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% (ตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด)
ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อน (ตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด)
ค่าภาคหลวงแร่และปิโตรเลียม (ตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด)
ภาษีธุรกิจเฉพาะ เช่น ธุรกิจธนาคาร ประกันภัย (ตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด)
2.เงินอุดหนุนจากรัฐ
เงินอุดหนุน หมายถึง เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นแหล่งรายได้เสริมที่รัฐบาลให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยเหลือเสริมรายได้ทางการคลังให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และยังมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการคลังระหว่างชุมชนท้องถิ่น โดยอยู่บนหลักการสร้างความเป็นธรรมทางการคลังระหว่างพื้นที่ เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารจะได้รับบริการขั้นพื้นที่ฐานอย่างเพียงพอและสมฐานะ โดยแบ่งเป็น เงินอุดหนุนทั่วไป และเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ในกรณีของอบจ. จะพบว่ามีเงินอุดหนุนจากรัฐในหลายแผนงานด้วยกัน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของอบจ. ในการให้บริการสาธารณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ เช่น ในกรณีของแผนงานการศึกษา อบจ. สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาของโรงเรียนสังกัด อบจ. เป็นหลัก แต่สถานศึกษาที่ไม่ได้สังกัด อบจ. ก็อาจได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก อบจ. ผ่านเงินอุดหนุนที่รัฐให้ผ่านอบจ. อีกที
3.อบจ. จัดเก็บเอง มาจากการจัดเก็บรายได้จาก
ภาษี เช่น ยาสูบ น้ำมัน อากรรังนกอีแอ่น
ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และใบอนุญาต เช่น ค่าธรรมเนียมบำรุงท้องถิ่นจากโรงแรม ค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะมูลฝอย
รายได้จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่าบริการ ดอกเบี้ย
รายได้เบ็ดเตล็ด เช่น การขยายเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง
รายได้จากทุน เช่น การขายทอดตลาด
FYI 💡
อบจ. เปรียบเสมือนแขนขาของส่วนกลาง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาของคนในพื้นที่โดยตรงได้เท่า อบจ. ดังนั้น อบจ. จึงเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับ สส. และ ผู้ว่าฯ การเลือกตัวแทนเข้าไปเป็นนายก อบจ. และ สภา อบจ. จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะบุคคลที่ได้รับเลือกก็จะมีหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะ แก้ปัญหา ดูแลทุกข์สุขของประชาชนในพื้นที่
✍🏼ชวนประชาชนมาร่วมจับตา อบจ. บ้านเรา ไปกับ ‘CEO บ้านฉัน’ 🗳
ไม่ว่าจังหวัดของคุณจะเลือกตั้งไปแล้ว หรือ จะเลือกวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เข้ามาดูข้อมูลผู้สมัคร งบประมาณ และร่วมบอกความต้องการสำคัญที่อยากให้พัฒนาในพื้นที่กันได้
.
โดยมีฟีเจอร์หลัก คือ
💡 ดูผลการเลือกตั้ง และข้อมูลต่าง ๆ ของผู้สมัครในแต่ละจังหวัด
💡 ดูงบประมาณของแต่ละจังหวัด (เหมาะสำหรับดูผ่านคอมพิวเตอร์)
💡 รู้จักจังหวัดของคุณให้มากขึ้น
💡 สิ่งที่คุณอยากเห็นในแต่ละจังหวัด 📣
.
📍เช็คข้อมูลกันได้ที่ https://www.myceo.site